Love Scene – Sex Scene

Love Scene – Sex Scene

โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม

Loading

Love Scene คือฉากรัก เป็นเรื่องราวของความอบอุ่นอ่อนหวาน ความเข้าใจ การยอมรับ และความรักของตัวละคร ที่อาจจะมีหรือไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศเกิดขึ้นก็ได้ หากมีก็จะมีแค่ในจินตนาการของผู้อ่านโดยที่ผู้เขียนทำเพียงเขียนเปิดทางไว้

ส่วน Sex Scene ก็คือการเขียนถึงฉากความสัมพันธ์ทางเพศของตัวละคร ซึ่งความสัมพันธ์ทางเพศที่เกิดขึ้นนี้จะมีพื้นฐานมาจากความรักหรือไม่ก็ได้ เช่นฉากการมีเพศสัมพันธ์อย่างผิดศีลธรรมผิดต่อคู่สมรสด้วยความโกรธระหว่างศิขรินกับเจนจารีจากเรื่องใต้ร่มไม้เลื้อย ฉากการมีความสัมพันธ์ทางเพศเพียงเพราะต้องการปลดเปลื้องอารมณ์ในเรื่อง ดวงใจระบายสี หรือฉากการมีความสัมพันธ์ทางเพศด้วยการทารุณกรรมบีบบังคับในเรื่อง ลับแลลายเมฆ เป็นต้น

ทั้ง Love Scene และ Sex Scene ไม่ใช่ของต้องห้าม ล้วนเป็นฉากที่จำเป็นต้องเขียนทั้งสิ้น หากฉากนั้นมีความจำเป็นต่อเนื้อเรื่อง หากฉากนั้นมีความสำคัญต่อการเดินหน้าหรือถอยหลังของตัวละคร หากฉากนั้นคือฉากที่จะขับเน้นจุดมุ่งหมาย ความเป็นมาของตัวเรื่องและตัวละคร

การเขียน Love Scene ไม่ทำให้นักเขียนส่วนใหญ่ยุ่งยากใจเท่า Sex Scene เพราะเกรงว่าการเขียนฉากความสัมพันธ์ทางเพศที่ ‘จำเป็นต้อง’ เกิดขึ้นในเรื่องนั้นจะควบคุมไม่อยู่จนก้าวล่วงจากความงามของศิลปะไปสู่ความลามก อนาจาร

เครื่องมือเดียวที่จะช่วยให้เราเขียนได้อย่างชัดเจนกระจะกระจ่าง แต่ไม่ก้าวข้ามเข้าไปสู่ความลามกได้ คือวรรณศิลป์เท่านั้น

เช่นเดียวกันกับงานทัศนศิลป์… ไม่ว่าจะเป็นภาพเปลือยไปจนถึงภาพกิริยาอาการในการร่วมเพศ… ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด หรือภาพเคลื่อนไหว งานเหล่านั้นจะงดงามและอยู่ในขอบเขตของความเป็นศิลปะ ไม่ก้าวข้ามเส้นแบ่งไปสู่ความลามกอนาจาร ก็ด้วยการนำเอาองค์ประกอบทางศิลปะ อย่างสัดส่วน สี แสง และเงา เข้ามาครอบคลุมไว้ให้มิดชิด

ดังนั้นหากต้องเขียน Sex Scene ในเรื่องของเรา ไม่ว่าจะเป็นฉากความสัมพันธ์ทางเพศที่เกิดจากความรักและการยินยอมพร้อมใจ หรือเกิดจากกิเลสตัณหาและการบังคับข่มขืนก็ตามที เราต้องใช้วรรณศิลป์ควบคุมมันไว้ในขอบเขตของศิลปะและความงาม นั่นคือการใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องสละสลวย ใช้คำเปรียบเทียบ ใช้อุปมา ใช้ถ้อยคำแสดงอารมณ์

สิ่งที่ต้องห้ามคือการเขียนถึงอวัยวะ การกระทำ หรือความรู้สึกในฉากนั้นแบบดิบๆ เปลือยๆ โดยปราศจากการใช้ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ครอบคลุมไว้ เพราะถ้อยคำแบบนั้นจะพาเรื่องไปสู่ความอนาจารโดยทันที

หลายท่านมีคำถามว่าเส้นแบ่งของศิลปะและอนาจารนั้นอยู่ตรงไหนเพราะมันเป็นขอบเขตที่เลือนรางเต็มที อันที่จริงคำตอบนี้หาได้ไม่ยากเลย เพราะมันชัดเจนอยู่ในใจของเรานั่นเอง หากผู้เขียนสามารถส่งสิ่งที่เขียนให้ลูกหลานวัยเยาว์ของท่านอ่านได้อย่างภาคภูมิใจและไม่มีความกังวลนั่นแหละคือคำตอบว่างานชิ้นนั้นอยู่ในขอบเขตของศิลปะยังไม่ข้ามเส้นไปสู่ความลามกอนาจาร

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือเรื่องของ ‘เจตนา’ เราต้องดูที่จุดเริ่มต้นว่าผู้เขียนเขียน Love Scene และ/หรือ Sex Scene เพราะจำเป็นต้องมีในเรื่องหรือเขียนเพื่อเป็นจุดขาย

สิ่งนี้ไม่มีข้อห้าม เป็นแค่เพียง ‘ป้าย (Label)’ ให้ผู้อ่านจดจำผู้เขียนในแบบนั้นๆ เท่านั้น… ผู้เขียนทุกคนมีอิสระในการเลือกเส้นทางการทำงานของตัว และมีอิสระที่จะเลือกว่าต้องการให้ผู้อ่านจดจำเราในแบบใด

 

Don`t copy text!