ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่

ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่

โดย : ตัวแน่น

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้ได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

 

“งานของขรัวอินโข่ง เป็นการผสมผสานศิลปะแบบตะวันตกกับศิลปะไทย

แบบไม่มีใครกลืนใคร เกิดเป็นศิลปะแนวใหม่ที่หาดูไม่ได้ที่ไหนในโลก

เป็นงานศิลปะชิ้นแรกของประเทศสยาม

ที่กล้าก้าวผ่านกฎเกณฑ์ดั้งเดิมของศิลปะไทยแนวประเพณี”

 

นึกดูแล้วตัวเราเองก็คงจะเหมือนอีกหลายๆ คนที่เมื่อสมัยเด็กๆ เคยเดินเตาะแตะครึ่งหลับครึ่งตื่นติดสอยห้อยตามผู้ใหญ่ไปวัดโน้นวัดนี้อยู่บ่อยๆ ตอนเราเป็นเด็กเคยคิดว่าการไปวัดไม่ใช่เรื่องน่าสนุกอะไร ทุกวัดก็หน้าตาคล้ายๆ กัน มีโบสถ์ มีพระ มีกุฏิ มีหมา จนเมื่อเราโตขึ้นจึงเริ่มหันมาเข้าวัดแบบจริงๆ จังๆ เพราะความชอบ อาจจะฟังดูเหมือนเป็นคนธรรมะธัมโมมากๆ แต่ขอสารภาพตามตรงว่าเราไม่ได้ไปสวดมนต์ ฟังเทศน์ นั่งสมาธิอะไรมากมายเหมือนคนอื่นเขาหรอก ที่เราชอบไปวัดเพราะชอบไปดูงานศิลปะที่ประดับประดาเอาไว้ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังนี่ดูเหมือนว่าจะชอบดูเป็นที่สุด

จากการที่เราเองก็ชอบงานศิลปะสมัยใหม่เป็นทุนเดิม ถ้าถามถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ที่เคยไปดูมา ว่าประทับใจชิ้นไหนเป็นพิเศษ โดยส่วนตัวก็คงต้องบอกว่าประทับใจงานจิตรกรรมรูปแบบทันสมัยของบรมครูนามว่า ‘ขรัวอินโข่ง’

ขรัวอินโข่งท่านเกิดเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดวันเดือนปีอะไร ญาติโกโหติกาเป็นใครไม่มีจดเอาไว้ รู้แต่เพียงว่าเป็นคนตำบลบางจาน จังหวัดเพชรบุรี เริ่มบวชเรียนตั้งแต่เด็ก และเป็นพระอยู่ที่วัดราษฎร์บูรณะ หรือ วัดเลียบ ตลอดชีวิตจนมรณภาพ แต่เริ่มเดิมทีตอนเด็กๆ ท่านมีชื่อว่า ‘อิน’ เฉยๆ แต่พอบวชเป็นเณร ท่านไม่ลาสึก อยู่ในวัดไปเรื่อยๆ จนโตกว่าเณรอื่นๆ เลยถูกเรียกว่า ‘อินโข่ง’ เพราะในสมัยก่อนคำว่า ‘โข่ง’ นั้นแปลว่า ‘ใหญ่’ แบบเดียวกับที่เราเรียกหอยน้ำจืดตัวโตๆ ว่า หอยโข่ง ซึ่งก็แปลว่าหอยใหญ่ เป็นต้น ส่วนคำว่า ‘ขรัว’ นั้นเป็นคำที่คนไทยใช้เรียกนำหน้าชื่อพระที่คร่ำเคร่งและมีอายุ พอเณรอินโข่งบวชเป็นพระนานพรรษาเข้า ก็เลยถูกเติมคำว่าขรัวนำหน้า จนกลายเป็นชื่อ ‘ขรัวอินโข่ง’ ในที่สุดด้วยประการฉะนี้

‘ปริศนาธรรม’ สมัยรัชกาลที่ 4

เทคนิคสีฝุ่นบนกระดานไม้

ขนาด 66 x 52 เซนติเมตร

การที่ขรัวอินโข่งได้บวชเรียนตั้งแต่เด็ก ทำให้มีโอกาสได้คลุกคลีกับงานศิลปะตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะในสมัยก่อนตามบ้านช่องทั่วไปไม่มีใครอุตริเขียนรูปมาแปะฝาปะกนบ้าน หรือปั้นรูปประติมากรรมมาตั้งตบแต่งสวนตะขบ ประชาชนคนธรรมดาถ้าอยากดูงานศิลปะต้องไปดูที่วัด ที่ที่ศิลปินทุกแขนงต่างทุ่มเทแรงกายแรงใจแบบจัดหนักร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นมาเพื่อเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาและโชว์ฝีมือไปในคราวเดียว ประติมากรนักปั้นก็พยายามปั้นหล่อพระพุทธรูปให้งดงามที่สุดให้เป็นที่เลื่อมใสแก่ผู้ที่มากราบไหว้บูชา ส่วนตามฝาผนัง จิตรกรนักวาดก็มุ่งมั่นวาดภาพเรื่องราวพุทธประวัติและคำสอนให้วิจิตรวิลิศมาหราที่สุดเพื่อให้เกิดความประทับใจ อีกทั้งยังเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวเนื้อหาสื่อไปถึงคนที่มาดูให้เข้าใจง่ายด้วยภาพ อันเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในยุคสมัยที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ

แต่เริ่มเดิมทีนั้นขรัวอินโข่งเริ่มฝึกฝนฝีมือในการวาดภาพโดยได้รับอิทธิพลจากศิลปินไทยยุคก่อนมาเต็มๆ ผลงานยุคแรกของท่านจึงเป็นแบบประเพณีนิยมที่เราเห็นได้ตามวัดตามวาทั่วไป เน้นการตัดเส้น ภาพดูแบนเป็นสองมิติ ไม่เน้นสัดส่วนที่แท้จริงตามธรรมชาติ ว่ากันว่าขรัวอินโข่งเป็นศิลปินที่คร่ำเคร่งกับงานมาก ท่านไม่ชอบให้ใครมายุ่มย่ามให้เสียสมาธิในการคิดออกแบบงานต่างๆ ด้วยเหตุนี้ขรัวอินโข่งก็เลยล็อกกุญแจประตูกุฏิของท่านจากด้านนอก เพื่อให้ผู้ที่มาพบคิดว่าไม่มีใครอยู่ ส่วนตัวท่านก็ใช้วิธีปีนเข้าออกกุฏิจากทางหน้าต่างด้านหลังแทน

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดบวรนิเวศวิหาร

อาจนับว่าเป็นโชคดีที่สุดในชีวิตของขรัวอินโข่งที่ฝีมือของท่านไปต้องพระทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารและออกผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ พระองค์ท่านโปรดฝีมือของขรัวอินโข่งมากถึงกับพระราชทานมอบหมายให้ขรัวอินโข่งเขียนผนังวัดที่สำคัญหลายแห่งเรื่อยมาจนตลอดรัชกาล งานจิตรกรรมฝาผนังแนวประเพณีนิยมของขรัวอินโข่งที่ยังหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน หาดูได้ที่วัดพระงาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี หรือแม้แต่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ก็มีผลงานของท่าน

การที่ในหลวง รัชกาลที่ 4 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ถึง 27 พรรษา ได้ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาจนแตกฉาน จึงทรงเล็งเห็นว่า พระพุทธศาสนาควรมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับวิทยาการสมัยใหม่ที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ จากที่เคยยกพระพุทธเจ้าให้เป็นผู้วิเศษ มีอภินิหาร เสกของ แปลงร่าง เหาะเหินเดินอากาศได้ ให้มองว่าพระองค์ท่านเป็นบุคคลธรรมดาที่มีความรู้ มีสติปัญญาสูงส่ง ตรัสรู้และมีเมตตาสั่งสอนผู้คนให้ประพฤติดีประพฤติชอบ ทำให้พ้นจากทุกข์ พระธรรมที่เคยถูกยกให้เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ ก็ให้มองว่าเป็นบันทึกคำสั่งสอนที่ถูกถ่ายทอดต่อๆ กันมาเป็นเวลายาวนานรุ่นต่อรุ่น อาจมีความผิดเพี้ยนได้ จึงควรมีการสังคายนาให้เหมาะสมตามยุคตามสมัย ส่วนพระสงฆ์ท่านทรงเห็นว่า พระสงฆ์หลายๆ รูปนั้นหย่อนยานทางพระธรรมวินัย บางคนมาบวชเป็นพระเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ไม่ต้องทำงาน เป็นพระแบบกินๆ นอนๆ ไปวันๆ ต้องปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม หันมาปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชน ด้วยพระประสงค์เหล่านี้จึงก่อให้เกิดธรรมยุติกนิกายขึ้น อันแปลว่า นิกายที่มีพระธรรมเป็นที่ยุติ คือให้ยึดถือพระธรรมเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ในช่วงที่ขรัวอินโข่งมีชีวิตอยู่ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่วิทยาการจากประเทศทางฝั่งตะวันตกทั้งจากยุโรปและอเมริกาได้หลั่งไหลเข้ามายังประเทศสยามของเราอย่างล้นหลาม ลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศที่อ้างว่าตัวเองเจริญกว่า ไปเที่ยวยึดประเทศอื่นมาเป็นเมืองขึ้นก็กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ประเทศมหาอำนาจในยุโรป ประเทศสยามของเราจึงต้องเปิดประเทศเร่งพัฒนาบ้านเมืองอย่างหนักให้ทัดเทียมชาติตะวันตก ฝรั่งจะได้ไม่มีข้ออ้างที่จะหาว่าเราเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนแล้วมายึดบ้านยึดเมืองของเราได้

ณ ขณะนั้นในบางกอกจึงมีชาวตะวันตกเดินสวนไปมากันให้ขวักไขว่ มีทั้งมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนา มีข้าราชการฝรั่งที่ถูกว่าจ้างมาช่วยงานในกรมกองต่างๆ มีหมอยามาเปิดคลินิกรักษาโรค มีพ่อค้ามาเปิดธุรกิจห้างร้านต่างๆ ทั้งห้างขายสินค้านำเข้า สำนักพิมพ์ ร้านถ่ายรูป และอื่นๆ อีกเพียบ ในแม่น้ำเจ้าพระยาก็คลาคล่ำไปด้วยเรือรูปแบบแปลกใหม่จากต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อกับบ้านเรา มีทั้งเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ เรือใบ เรือกลไฟ บ้านเมืองเริ่มดูทันสมัย มีการสร้างถนนหนทาง อาคารบ้านเรือนที่ถูกสร้างด้วยอิฐฉาบปูนในรูปแบบตะวันตกก็ผุดขึ้นมาทั่วเมืองเหมือนดอกเห็ด ลบล้างความเชื่อแต่ดั้งเดิมที่ว่าบ้านเรือนของคนธรรมดาจะต้องสร้างด้วยไม้เท่านั้น เพราะกลัวว่าการสร้างอาคารด้วยอิฐและปูนจะไปเหมือนวัดหรือวัง เป็นการทำตัวเสมอพระเสมอเจ้านาย ถือเป็นเรื่องอัปมงคล

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดบรมนิวาส

ที่เล่าเรื่องมาซะยืดยาวก็เพราะความคิดแบบธรรมยุติกนิกายผนวกกับอิทธิพลจากตะวันตกนี่แหละ เป็นอิทธิพลสำคัญที่ส่งผลให้งานของขรัวอินโข่งในยุคหลังๆ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิง จนกลายเป็นงานที่แหวกแนวไม่เหมือนใคร ถ้าอยากเห็นงานยุคนี้ของขรัวอินโข่งว่าหน้าตาประมาณไหน ลองไปส่องดูฝาผนังโบสถ์วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดบรมนิวาสดูแล้วจะเข้าใจทันที ภาพบนผนังของวัดทั้งสองแห่งนี้ไม่เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับภพภูมิต่างๆ และพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า แต่เน้นวาดภาพเกี่ยวกับพระธรรมคำสั่งสอน ตามหลักของธรรมยุติกนิกายที่ให้ความสำคัญกับพระธรรมเป็นพิเศษ

การจะวาดคำสอนอันเป็นนามธรรมให้เป็นภาพขึ้นมาเป็นรูปธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ยากอยู่ แต่ขรัวอินโข่งก็ออกแบบเรื่องราวและวาดขึ้นมาเป็นภาพได้สำเร็จอย่างชาญฉลาดสุดๆ ในรูปแบบของภาพปริศนาธรรม แถมยังเพิ่มความพลิกแพลงแบบที่ไม่เคยมีศิลปินท่านไหนในบ้านเมืองของเราเคยทำมาก่อนโดยการวาดภาพเป็นแบบสามมิติ มีระยะใกล้ใกล ไม่เน้นตัดเส้นแต่เน้นแสงเงา และเขียนตัวละครให้มีสัดส่วนตามธรรมชาติ แค่นี้ยังไม่พอ ขรัวอินโข่งยังแสดงจินตนาการที่สูงส่งโดยการวาดฉากและตัวละครทั้งหมดเป็นแบบตะวันตก ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยไปเมืองนอกสักครั้ง

การที่ขรัวอินโข่งสามารถวาดภาพเมืองและประชาชนแบบตะวันตกใหญ่โตเต็มฝาวัดได้น่าจะเป็นเพราะท่านได้เห็นชาวต่างชาติ และอารยธรรมจากตะวันตกที่เข้ามาในประเทศของเรา และเชื่อกันว่าการที่ขรัวอินโข่งได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทของในหลวง รัชกาลที่ 4 ทำให้ท่านมีโอกาสได้เห็นเครื่องบรรณาการต่างๆ ที่ถูกส่งมาถวายจากต่างประเทศ มีทั้งภาพพิมพ์และภาพถ่ายต่างๆ ทำให้รู้ว่าบ้านอื่นเมืองอื่นเขาดูเป็นอย่างไร

งานของขรัวอินโข่งในวัดบวรนิเวศวิหารและวัดบรมนิวาส ท่านเลือกที่จะใช้สีครึ้มๆ อย่างสีเขียวเข้มและสีน้ำเงินเข้มเป็นฉาก บรรยากาศสลัวๆ นี้เหมือนจะทำให้คนดูเกิดความรู้สึกล่องลอยว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพที่อยู่ในฝัน รับรู้ได้ถึงอารมณ์ของผู้วาดซึ่งก็ไม่เคยไปอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ ได้แต่คิดฝันภาพทั้งหมดขึ้นมาเอง ความอึมครึมของภาพยังทำให้สัมผัสได้ถึงความหนาวเย็นของเมืองฝรั่ง ท่ามกลางฉากในฝันอันเย็นยะเยือกนั้นถูกแต่งแต้มไปด้วยภาพตึกรามบ้านช่องใหญ่โต ตึกก่ออิฐฉาบปูน มีซุ้มประตูโค้ง มีโดมหลังคา มีรั้วระเบียง แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ในเมืองมีถนนหนทางที่เต็มไปด้วยฝรั่งหัวทอง หัวแดง มีผู้ชายแต่งชุดทหาร ชุดหมอ ชุดกะลาสี ชุดชาวบ้าน ส่วนผู้หญิงก็อยู่ในชุดกระโปรงแบบสุ่มสีสันสดใส ทั้งสีชมพู สีฟ้า สีขาว ดูโดดเด่นขึ้นมาเป็นหย่อมๆ ในภาพ ชาวเมืองเหล่านี้ต่างก็อยู่ในอิริยาบถต่างๆ กัน ทั้งเดินเล่นทอดน่อง นั่งๆ นอนๆ พักผ่อนอยู่ในสวน ขี่ม้า นั่งรถม้า พายเรือ ขุดดิน แจกของ หรือ แห่แหนกันไปมุงดูของแปลกเช่นดอกบัวดอกใหญ่เท่าบ้านที่ผุดขึ้นมาโด่เด่อยู่กลางบึง ส่วนชาวเมืองคนไหนไม่รู้จะทำอะไรก็ชูมือยกนิ้วหันซ้ายหันขวาชี้โบ๊ชี้เบ๊ไปเรื่อย บริเวณรายรอบเมืองถูกโอบล้อมไปด้วยทะเลที่เชี่ยวกรากเห็นคลื่นแตกเป็นฟองฟอด ในทะเลมีเรือกลไฟ เรือสำเภา มีปลายักษ์ และวาฬหน้าตาดุร้ายดำผุดดำว่ายอยู่

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดบรมนิวาส

ภาพวิว ภาพคน ที่มีรายละเอียดยุบยิบวาดสอดคล้องกันไปทั่วทั้งผนัง ทั้งหมดนี้ไม่ได้แค่ดูเพลิน แต่ทุกฉากนั้นต่างถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจให้แฝงไปด้วยคำสอน แต่ถ้าให้เดาเองว่าแต่ละฉากนั้นมีความหมายว่าอย่างไรรับประกันว่ามีงง คงจะไปต่อไม่ถูก ทุกฉากจึงมีคำเฉลยไว้แก้ฉงน อย่างเช่น ฉากทะเลที่เกรี้ยวกราดมีเรือสำเภาพยายามจะเดินทางไปให้ถึงฝั่งที่อยู่ตรงข้าม มีจารึกอยู่ใต้ภาพว่า “ที่นี้มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าเปรียบดังนายสำเภา พระธรรมเปรียบดังสำเภา พระสงฆ์พร้อมด้วยคุณสมบัติถึงฝั่งนั้นด้วยพระธรรมนั้นแล้ว เปรียบดังประชุมชนพร้อมด้วยสมบัติได้ถึงฝั่งนั้น ด้วยสำเภานั้นแล้ว” อ๋อ… อย่างนี้นี่เอง

 

เพราะขรัวอินโข่งมีพื้นฐานมาจากศิลปะแนวประเพณี ไม่ได้ร่ำเรียนทฤษฎีของศิลปะตะวันตก พอมาพยายามวาดภาพในแบบสากลขึ้นมาด้วยตัวเอง มิติ และขนาดของวัตถุในระยะใกล้ไกล เลยยังคงดูงงๆ เบี้ยวๆ บูดๆ ไปซะหน่อย ส่วนเรื่องแสงเงาก็ยังดูแปลกๆ ไม่สมจริง ในรายละเอียดบางจุดก็ยังใช้วิธีตัดเส้นสีดำเหมือนกับงานไทยยุคดั้งเดิม วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้อย่างสีและพู่กันก็ยังเป็นแบบโบราณ สำหรับเราแล้ว ข้อสังเกตเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คุณค่าของงานด้อยลง แต่กลับเป็นเรื่องดีที่และสร้างเสน่ห์ให้กับภาพขึ้นอีกเป็นกอง งานของขรัวอินโข่งเลยกลายเป็นการผสมผสานศิลปะแบบตะวันตกกับศิลปะไทยแบบไม่มีใครกลืนใคร เกิดเป็นศิลปะแนวใหม่ที่หาดูไม่ได้ที่ไหนในโลก จนเป็นที่ยอมรับกันว่างานของขรัวอินโข่งนี่แหละ เป็นงานศิลปะชิ้นแรกของประเทศสยามที่กล้าก้าวผ่านกฎเกณฑ์ดั้งเดิมของศิลปะไทยแนวประเพณี

ถือเป็นรุ่งอรุณของศิลปะสมัยใหม่ที่กำลังจะเจิดจรัสต่อๆ ไปในบ้านเมืองของเรา

 

Don`t copy text!