ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย

ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้ได้ อ่านออนไลน์

ความเชื่อที่ว่าเป็นแบบวาดรูปแล้วจะไม่เป็นมงคลนี้

เริ่มจะมาเสื่อมคลายเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2399

ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 นี้เอง

เวลาไปเดินเตร็ดเตร่ เที่ยวดูภาพวาดตามวังและพิพิธภัณฑ์ในยุโรป ก็มักจะเห็นภาพเหมือนบุคคลสำคัญของที่นั้นๆ แขวนต่องแต่งเต็มห้องเต็มโถงไปหมด บางภาพเห็นคนในรูปแต่งเนื้อแต่งตัวแปลกๆ พอไปเพ่งดูดีๆ หาวันเดือนปีที่วาดก็ถึงกับผงะ ตระหนกตกใจเพราะวาดกันขึ้นมาตั้งแต่สมัยห้าหกร้อยปีที่แล้ว ถ้าเทียบกับบ้านเราก็ประมาณต้นอยุธยานู่น จริงๆ แล้วภาพวาดบุคคลอายุหลายร้อยปีสำหรับบ้านเขาเมืองเขานี่ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะวัฒนธรรมการวาดภาพเหมือนนั้นมีขึ้นมาตั้งแต่สมัยสามพันกว่าปีที่แล้ว ว่ากันว่าริเริ่มกันในอียิปต์ หลังจากนั้นก็เผยแพร่มาในอารยธรรมตะวันตกเริ่มจาก สมัยกรีก สมัยโรมัน กลายเป็นรูปแบบงานศิลปะที่ได้รับการพัฒนาและเป็นที่นิยมต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

กลับมาที่เมืองไทยของเรา เพราะความเชื่ออันมีมาแต่สมัยอดีตกาลนานโพ้นที่ว่าการวาดภาพเหมือนจะทำให้คนที่ถูกใช้เป็นแบบมีสติปัญญาเสื่อมถอยและอายุสั้น อีกทั้งภาพเหมือนบุคคลเมื่อวาดขึ้นมาแล้วอาจจะมีคนคิดมิดีมิร้ายนำไปทำคุณไสย์ใส่ เจ้าของภาพจะซวยกันไปใหญ่ ด้วยเหตุนี้เลยไม่มีใครกล้าจะให้วาดรูปเหมือนของตัวเอง ชาวไทยเราเลยไม่รู้ว่าบุคคลสำคัญของชาติตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ภาพบรรพชนที่เราเห็นทุกวันนี้ บ้างก็เกิดจากคำบอกเล่าต่อๆ กันมา บ้างก็อ้างอิงจากบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อในสมัยนั้น หรือไม่ก็เกิดจากคนยุคหลังมโนรูปร่างหน้าตาเอาเองล้วนๆ

หลงรูป3

‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’

สมัยรัชกาลที่ 5 เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ

ขนาด 125X90 เซนติเมตร  

ความเชื่อที่ว่าเป็นแบบวาดรูปแล้วจะไม่เป็นมงคลนี้เริ่มจะมาเสื่อมคลายเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2399 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 นี้เอง สมัยนั้นเป็นสมัยที่กระแสวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามายังประเทศของเราอย่างล้นหลาม ในหลวง รัชกาลที่ 4 ทรงเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ชาติจะต้องพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พระองค์จึงทรงเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆ รูปแบบต่างๆ ที่เข้ามา รวมถึงทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่มีพระบรมราชานุญาตพระราชทานให้มีการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ (ภาพวาด) ของพระองค์เองขึ้น เพราะเป็นธรรมเนียมใหม่ ศิลปินไทยเองเลยยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการวาดภาพเหมือนบุคคล ในสมัยนั้น พระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 4 จึงถูกวาดขึ้นโดยศิลปินต่างชาติแทบทั้งหมด

วันเวลาล่วงเลยต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์ดำริให้สร้างพระราชวังและอาคารอื่นๆ ขึ้นมาหลายแห่ง สิ่งก่อสร้างใหม่ๆ เหล่านี้มักถูกสร้างขึ้นด้วยกลิ่นอายแบบยุโรป สไตล์การตกแต่งภายในก็เลยต้องยุโรปตามไปด้วย แค่โต๊ะ ตู้ เตียง เก้าอี้แบบฝรั่งเอามาจัดเรียงกันก็ยังดูขาดๆ ไม่เหมือนวังในยุโรป ถ้าไม่มีของกระจุกกระจิกประดับประดา อย่างเช่น แจกัน ไห รูปปั้น และที่ไม่มีไม่ได้เลยคือภาพวาดสีน้ำมันสวยๆ ใส่กรอบดีๆ แขวนไว้บนฝาผนัง ในหลวง รัชกาลที่ 5 จึงมีพระกระแสรับสั่งให้ส่งพระบรมฉายาลักษณ์ (ภาพถ่าย) ของพระองค์เอง พระบรมวงศานุวงศ์ ไปให้ศิลปินที่มีชื่อเสียงในยุโรปวาดพระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมันขนาดใหญ่ขึ้นมาหลายชิ้น

เมื่อร้อยปีที่แล้วการจะสั่งให้ฝรั่งวาดภาพขึ้นมาแต่ละชิ้นก็ยังถือเป็นเรื่องยุ่งยากอยู่ไม่ใช่เล่น นอกจากจะแพงหูฉี่แล้ว ถ้าไปนั่งเป็นแบบให้ศิลปินวาดไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีส่งภาพถ่ายข้ามน้ำข้ามทะเลไปทางเรือ ยุคนั้นกล้องถ่ายภาพก็เพิ่งจะมี ภาพถ่ายก็ยังเป็นแบบไม่มีสีดูขมุกขมัวอยู่ เสื้อผ้าอาภรณ์ เหรียญตรา เพชรนิลจินดาเครื่องประดับราคาแพงต่างๆ ก็จึงจำเป็นต้องส่งตามไปเป็นแบบด้วยแบบไม่กลัวหาย ศิลปินที่ไม่เคยเห็นเครื่องนุ่งห่มแบบไทยจะได้วาดรายละเอียดและสีได้ไม่ผิดเพี้ยน ศิลปินที่มีโอกาสได้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ถวาย เช่น จอง มาริอุส ฟูเก, ธีโอดอร์ ชูมาร์เกอร์, อเล็กซานเดอร์ บาสซาโน, และยังมีศิลปินฝรั่งฝีมือดีอีกหลายท่านที่ยังต้องสืบค้นเพิ่มเติมเพราะไม่ได้เซ็นชื่อเอาไว้บนภาพ

หลงรูป2

พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่  5

โดย ขุนฉายาสาทิศกร

ด้วยพระราชนิยมในงานศิลปะ เมื่อในหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2449 พระองค์ท่านทรงเสด็จฯ ไปประทับให้เขียนภาพที่สตูดิโอของศิลปิน ซึ่งแต่ละครั้งก็ใช้เวลานาน และบางครั้งก็ต้องเสด็จฯ ไปสตูดิโอเดิมๆ หลายหน ศิลปินฝรั่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ไปพบมีหลายท่าน เช่น เอ็ดวาร์โด เยลลี, มิเคเล กอร์ดิจิอานี, และ ชาร์ลส์ เอมีล ออกุสต์ คาโรลุส-ดูรอง นอกจากนั้นพระองค์ท่านยังโปรดเกล้าฯ ให้ว่าจ้างจิตรกรฝรั่งให้เข้ามาทำงานในราชสำนักไทยด้วย เช่น เซซาเร แฟโร

ในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อเป็นการบุกเบิกศิลปกรรมสมัยใหม่ให้กับวงการศิลปะไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสนับสนุนศิลปินไทยให้ได้เรียนรู้เทคนิคการวาดภาพแบบยุโรป อย่างเช่น พระสรลักษณ์ลิขิตที่แสนจะโชคดี ได้ตามเสด็จประพาสยุโรปด้วยทั้ง 2 ครั้ง จึงได้เห็นและจดจำเทคนิควิธีการวาดภาพของศิลปินฝรั่งที่ได้พบเจอ รวมถึงได้ฝึกฝีมือกับ เซซาเร แฟโร ช่วงที่อยู่ในประเทศไทย แถมหลังจากนั้นยังได้ไปเรียนศิลปะต่อที่ประเทศอิตาลีอีก จึงทำให้ในที่สุดท่านจึงสามารถวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 5 ขึ้นมาได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวามาก

ต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิยมในงานศิลปะ เหมือนพระราชบิดา มีการว่าจ้างศิลปินจากยุโรปเข้ามามากมาย หนึ่งในโครงการหลักในสมัยนั้นคือการก่อสร้างและตกแต่งพระที่นั่งอนันตสมาคมที่เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ให้แล้วเสร็จ ศิลปินที่ถูกคัดเลือกให้มาวาดภาพตกแต่งภายในคือ กาลิเลโอ คินี และ คาร์โล ริโกลี ซึ่งนอกจะทำงานหลักในการวาดภาพลวดลายตกแต่งอาคารแล้ว ยังมีโอกาสได้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์อีกหลายชิ้นด้วย

หลงรูป4

ชาร์ลส์ เอมีล ออกุสต์ คาโรลุส-ดูรอง

ขณะวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวง รัชกาลที่ 5

(ภาพจากหนังสือ จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก)

กระแสความนิยมในศิลปะการวาดภาพเหมือนบุคคลที่จุดประกายจากในวังก็ได้เริ่มแพร่หลายไปยังหมู่เจ้านาย ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป เกิดมีผู้สนใจอยากซื้อหาพระบรมสาทิสลักษณ์ หรือภาพเหมือนตนเองเต๊ะท่าเท่ๆ เพื่อไปเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อมีดีมานด์ก็เกิดซัพพลาย ศิลปินไทยหลายท่านจึงเริ่มฝึกฝนและรับจ้างวาดภาพแบบที่ฝรั่งเขาทำกันบ้าง ในยุคนั้นศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงในการวาดภาพบุคคลส่วนหนึ่งเพราะได้รับการว่าจ้างจากในวังนั้นมีพระสรลักษณ์ลิขิต ขุนประเสริฐหัตถกิจ และขุนเทพาพิจิตร เป็นต้น พอมีศิลปินที่มีฝีมือของเราเองเพิ่มขึ้น คนไทยก็เลยไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพาศิลปินต่างชาติมากมายเหมือนแต่ก่อน

หลงรูป1

เซซาเร แฟโร (สูทสีดำ) ขณะวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวง รัชกาลที่ 5

โดยมีพระสรลักษณ์ลิขิต (เสื้อนอกสีขาว) สังเกตและจดจำเทคนิค

(ภาพจากหนังสือ จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก)

ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์อันสวยงามอลังการจากยุคบุกเบิกการวาดภาพเหมือนบุคคลของไทย ปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกเก็บรักษาไว้ตามวังต่างๆ และตามบ้านช่องของเหลนโหลนเจ้านายสมัยก่อนที่ได้รับตกทอดกันมา ชาวบ้านอย่างเราถ้าอยากมีบุญได้เห็นกับตาก็ไปดูได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรุงเทพฯ แถวๆ เชิงสะพานปิ่นเกล้า ที่นั่นมีโชว์ไว้หลายภาพ มีทั้งฝีมือศิลปินฝรั่งและศิลปินไทยอย่างพระสรลักษณ์ลิขิต แขวนประชันไว้ในห้องเดียวกันเลยให้รู้แล้วรู้รอด ฝีมือฝรั่งเจ้าของวิชา และ ฝีมือไทยที่มาเล่าเรียนเอาภายหลัง จะสูสีดู๋ดี๋ครูพักลักจำมาได้มากน้อยแค่ไหน ลองแวะไปดูกัน

Don`t copy text!