อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม  

อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม  

โดย : ตัวแน่น

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

 

ใครดูถูกดูหมิ่นศิลปะ      อนารยะไร้สกุลสถุลสัตว์

ราวลิงค่างเสือสางกลางป่าชัฏ      ใจมืดจัดกว่าน้ำหมึกดำ

เพียงกินนอนสืบพันธุ์นั้นฤๅ      ชื่อว่าสิ่งประเสริฐเลิศล้ำ

หยาบยโสกักขฬะอธรรม      เหยียบย่ำทุกหย่อมหญ้าสาธารณ์

ภพหน้าอย่ามีรูปมนุษย์      งผุดเกิดในร่างดิรัจฉาน

หน้าติดดินกินขี้เลื้อยคลาน      ทรมานทุกข์ร้อนร้ายนิรันดร์เอยฯ

 

อ่านจบแล้วถึงกับสะดุ้งเฮือก คิดในใจว่ายังโชคดีนะเนี่ยที่เราไม่เคยดูถูกศิลปะ ไม่งั้นมีหวังโดนสาปแช่งให้ไปเกิดใหม่เป็นตัวกินขี้จะซวยไม่ใช่น้อย บทกวีอันมีเนื้อหาทันสมัย ใช้ถ้อยคำดุเดือด และแฝงไปด้วยแง่คิดบทนี้ เป็นหนึ่งในบทกวีนับพันนับหมื่นบทที่ประพันธ์ขึ้นมาโดย อังคาร กัลยาณพงศ์ อัฉริยะบุคคลแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ผู้ซึ่งมีความสามารถรอบด้านในแบบที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน

อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นลูกกำนันในจังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 แรกเริ่มเดิมทีบิดาตั้งชื่อให้ว่า ‘สมประสงค์’ แต่ไม่นานย่าก็จัดการยึดอำนาจเปลี่ยนชื่อหลานให้เป็น ‘บุญส่ง’ ก็เพราะย่าชอบชื่อนี้มากกว่ามีอะไรอ๊ะเปล่า

ตอนเล็กๆ อังคารเป็นเด็กขี้โรค ป่วยกระเสาะกระแสะอยู่ตลอด มีอยู่ครั้งหนึ่งป่วยเข้าขั้นโคม่าอาการหนักขยับเขยื้อนตัวไม่ได้ เอาแต่นอนมองฟ้าทำตาปริบๆ แทบจะซี้แหงแก๋ไปแล้ว โชคดีได้หมอเก่งมาช่วยไว้เลยรอดชีวิตมาได้ แต่ก็อยู่ในสภาพสะบักสะบอมจนต้องเริ่มหัดเดินเหินกันใหม่หมดอีกหน

“ดอกไม้ทิพย์” พ.ศ.2518 เทคนิคชาร์โคล์บนกระดาษ ขนาด 79 x 54 เซนติเมตร

อังคารเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดจันทาราม กับโรงเรียนวัดใหญ่จนจบประถม 4 หลังจากนั้นก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ใหญ่โตและเก่าแก่ ก่อตั้งกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พอเริ่มอ่านหนังสือออก อังคารหลงใหลในวรรณคดีไทย ที่บรรพบุรุษของเรามักแต่งไว้ในรูปแบบของกาพย์กลอน อังคารท่องจำกลอนบทต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และเอื้อนได้ไพเราะเสนาะหูจนมักจะถูกเลือกให้เป็นตัวแทนนักเรียนในการร่ายบทกลอนในงานต่างๆ นอกจากนั้นในเวลาว่าง อังคารยังชอบวาดรูป และปั้นวัด ปั้นเจดีย์ทรายเล่นตามประสาเด็ก

เพราะรักศิลปะมากกว่าจะมานั่งปวดกระหม่อมคิดเลข อังคารจึงเลือกเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง ที่นั่นท่านได้มีโอกาสเรียนศิลปะกับศิลปินชั้นนำของประเทศอย่าง เฉลิม นาคีรักษ์ ช่วงที่อังคารเรียนอยู่เพาะช่างเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี จนวันหนึ่งมีเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร บินมาทิ้งระเบิดตั้งใจจะทำลายโรงไฟฟ้าวัดเลียบและสะพานพระพุทธยอดฟ้า สถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ใกล้ๆ โรงเรียน แต่พลาดเป้าลูกระเบิดลอยละล่องมาตกตูมตามที่เพาะช่างแทน ทั้งครูทั้งนักเรียนทั้งแมวทั้งหมาไม่รู้ใครเป็นใครต่างเตลิดหนีตายกันวุ่นวาย คนที่หนีไม่ทันก็ล้มหายตายจากกันไป ส่วนอังคารที่ดวงยังไม่ถึงฆาตโชคช่วยอยู่ในกลุ่มที่หลบทัน

จากเพาะช่าง อังคารสอบเข้าเรียนต่อที่คณะจิตรกรรม และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2488 นับเป็นรุ่นที่ 4 ของมหาวิทยาลัย รุ่นเดียวกับศิลปินที่ภายหลังมีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง ประยูร อุลุชาฎะ และ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ สมัยนั้น อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังกำกับการสอนอยู่ อังคารจึงได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในลูกศิษย์สายตรงของอาจารย์ศิลป์ด้วยเลย

อังคารเรียนอยู่ที่ศิลปากรได้ประมาณ 2 ปีก็ดันไปมีปัญหากับเพื่อนนักศึกษาจนต้องถูกเชิญออก พอไม่ได้เรียนช่วงนั้นท่านหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำงานศิลปะเล็กๆ น้อยๆ และแต่งกลอนขาย แต่ก็ไม่ได้รายได้อะไรเท่าไร ทำให้มีชีวิตที่ทุกข์ยากลำบากสุดๆ ต้องอาศัยนอนตามวัด ตามสุสาน และเก็บข้าวบูดมากิน อังคารมองสารรูปตัวเองแล้วคิดว่าดูไม่ต่างจากธุลีที่ไม่มีค่าอะไร จึงเซ็งจัดตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจาก ‘บุญส่ง’ ที่เหมือนว่าบุญจะไม่ค่อยส่งแล้ว เป็น ‘อังคาร’ ที่หมายความถึงผงเถ้าถ่านที่เหลือจากการเผาศพ ไม่ใช่อังคารที่เป็นชื่อวัน

อังคาร กัลยาณพงศ์ ในวัยหนุ่ม (ภาพจากหนังสือ ครบรอบ 81 ปี อังคาร กัลยาณพงศ์)

ด้วยความปลง อังคารบวชเป็นพระอยู่สักพักจนกระทั่ง เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ของอังคารที่มหาวิทยาลัยศิลปากรมาชวนให้ไปช่วยโครงการอนุรักษ์ศิลปกรรมไทยโบราณ โดยการตระเวนคัดลอกลวดลายจิตรกรรมฝาผนัง และรวบรวมข้อมูลของโบราณสถานทั่วประเทศ ทั้งที่สุโขทัย อยุธยา ศรีสัชนาลัย เพชรบุรี กำแพงเพชร เอาไว้ให้ครบถ้วน เผื่อวันหน้าวันหลังศิลปะของบรรพชนเหล่านี้เกิดผุพังหายไปจะได้มีหลักฐานบันทึกไว้ ทั่งคู่เดินทางไปยังโบราณสถานทั่วเมืองไทยนับพันแห่งใช้เวลาหลายปี ระหว่างนั้นทั้งอังคารทั้งเฟื้อก็เกือบตายแต่เอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิดหลายต่อหลายหน เช่น เมื่อครั้งที่ไปลอกลายจิตรกรรมของพระปรางค์องค์หนึ่ง ในบริเวณวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากที่เพิ่งเสร็จงานไม่นานพระปรางค์ก็ถล่มลงมา ถ้าทำงานช้าไปอีกนิดคงได้เป็นผีอยู่เฝ้ากองพระปรางค์เก่านั่นไปแล้ว

นอกจากจิตรกรรมฝาผนัง อังคารยังได้รับความไว้วางใจโดยกรมศิลปากรให้เป็นผู้คัดลอกสมุดข่อยสมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ร่วมกับเฟื้อ เพื่อส่งไปเผยแพร่และเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ด้วยประสบการณ์ในการอนุรักษ์ผลงานศิลปะไทยโบราณ และความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก เฟื้อ หริพิทักษ์ ปรมาจารย์ในด้านนี้ ทำให้อังคารมีความเชี่ยวชาญในเรื่องจิตรกรรมไทยอย่างจัดจ้าน จนสามารถต่อยอดผลิตผลงานแนวสร้างสรรค์ที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตนเองได้สำเร็จ อังคารเป็นจิตรกรสมัยใหม่ของไทยที่ไม่ได้อินกับอิทธิพลทางศิลปะของฝรั่งอะไรทั้งนั้น แทนที่จะตามอย่างตะวันตกท่านเลือกที่จะนำความอ่อนช้อยเป็นอิสระของลวดลายที่คิดค้นขึ้นโดยบรรพบุรุษของพวกเราเอง สะท้อนออกมาให้เป็นผลงานศิลปะรูปแบบร่วมสมัยที่ดูสวยงามและเป็นสากลได้อย่างน่าทึ่ง อังคารถนัดในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมด้วยวัสดุโบราณๆ อย่างสีฝุ่น แผ่นทองคำเปลว และแท่งถ่าน หรือที่เรียกว่า ‘ชาร์โคล’ โดยฝีมือปาดชาร์โคลของท่านนั้นว่ากันว่าเป็นที่หนึ่งในปฐพี ตวัดยุกยิกขยุกขยิกแป๊บเดียวก็ออกมาเป็นภาพลายกระหนก พรรณพฤกษา สัตว์ป่าหิมพานต์ ที่ดูที่พลิ้วไหวได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ส่วนในด้านวรรณศิลป์ อังคารเริ่มแต่งกาพย์กลอนได้เองแล้วตั้งแต่สมัยมัธยม ท่านนำบทประพันธ์ในอดีตอย่างของศรีปราชญ์ สุนทรภู่ เจ้าฟ้ากุ้ง มาใช้เป็นครู ก่อนจะต่อยอดไปในรูปแบบสมัยใหม่ทีี่เป็นเป็นอิสระไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ในสไตล์ของท่านเอง

อังคารพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับกวีร่วมสมัยท่านอื่นๆ อยู่เสมอ ในสมัยก่อนสถานที่ที่มักใช้นัดกันคือ ‘บ่อนกวี’ ซึ่งก็คือโต๊ะประจำในร้านมิ่งหลีติดกับรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในขาประจำของที่นั่นคือ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี หรือ ‘ท่านจันทร์’ ที่สนิทชิดเชื้อกับอังคารเป็นพิเศษ ผู้คนที่ผ่านไปมามักพบเห็นกวีคู่นี้ตั้งหัวข้อดวลกวีกันอยู่เสมอ เพราะเหตุนี้หลายๆ คนจึงเรียกอังคารว่า ‘ท่านอังคาร’ คู่กันไปด้วยเลย ทั้งๆ ที่อังคารไม่ได้มีเชื้อเจ้าขุนมูลนายมาจากที่ไหน

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ อังคาร กัลยาณพงศ์ (ภาพจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายอังคาร กัลยาณพงศ์)

อังคารเป็นที่รู้จักเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร และในหมู่กวีด้วยกันจนได้พบกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ‘ส. ศิวรักษ์’ จากคำแนะนำของ อวบ สาณะเสน จิตรกรชื่อดังที่เป็นเพื่อนของบุคคลทั้งคู่ อังคารพาสุลักษณ์เที่ยวชมอยุธยาพร้อมเล่าเกร็ดความรู้นู่นนี่นั่นให้ฟังอย่างละเอียด ที่รู้เยอะก็เพราะได้อานิสงส์จากตอนที่มาขลุกตัวอยู่เป็นปีๆ ตามโบราณสถานกับเฟื้ออีกนั่นแหละ เล่าเรื่องอย่างเดียวคงกลัวลูกทัวร์จะฟินไม่พอ อังคารเลยร่ายกลอนให้สุลักษณ์ฟังซะชุดใหญ่ จนสุลักษณ์ที่ก็ถือว่าเป็นนักคิดนักเขียนระดับสุดยอดของประเทศแล้วยังต้องยอมซูฮกให้ พอได้เจอกวีแท้ๆ ที่มีความสามารถสูงส่งเทียบเคียงได้ยากอย่างนี้ สุลักษณ์ก็ถึงกับเอ่ยปากว่าอยากจะเลิกเขียนกลอนไปเลย

สุลักษณ์ประทับใจในความสามารถของอังคารมาก จึงได้นำบทกวีของอังคารลงตีพิมพ์ในนิตยสารที่ท่านเป็นบรรณาธิการและผู้ก่อตั้งที่มีชื่อว่า สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์ที่ออกวางแผงราวปี พ.ศ. 2506 และเผยแพร่ต่อเนื่องในฉบับต่อๆ มาเป็นประจำ ผลงานของอังคารเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นจนมีทั้งคนชมและคนด่า คนชมก็ชอบลีลากาพย์กลอนที่เป็นอิสระไม่มีรูปแบบตายตัว ใช้คำตรงๆ แรงๆ กระแทกอารมณ์ ส่วนคนด่าก็หาว่าอังคารแต่งกลอนไม่เป็น ฉันทลักษณ์เพี้ยน และใช้คำหยาบคาย อังคารก็ไม่ได้แยแสอะไร มุ่งแต่งกลอนจรรโลงโลกในรูปแบบของท่านเองต่อไป โดยมักมุ่งเน้นเนื้อหาสะท้อนสังคม เช่น ความไม่ยุติธรรมของชนชั้น ที่คนด้อยโอกาสยังไงก็อยู่อย่างยากลำบากวันยังค่ำ ในขณะที่อภิสิทธิ์ชนก็มีแต่จะสบายเอาสบายเอา

ความสามารถของอังคารนั้นสูงส่งล้นเส้นเขตแดน ไม่ได้ต้องตาต้องใจเฉพาะแต่นักปราชญ์ในเมืองไทย ครั้งหนึ่งเมื่อ อลัน กินส์เบิร์ก หนึ่งในกวีสมัยใหม่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในสหรัฐอเมริกา ได้มาเข้าใจจินตนาการและเนื้อหาของบทกวีฝีมืออังคารก็ถึงกับอึ้ง จนขอนำไปแปลเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษให้โลกรู้

ไม่นานต่อมาอังคารยังได้รับรางวัลซีไรต์ หรือ รางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นรางวัลระดับสากล จากผลงานกวีนิพนธ์ที่ชื่อว่า ปณิธานกวี

และในปี พ.ศ. 2532 อังคารก็ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ไม่ใช่สาขาจิตรกรรมวาดภาพอย่างที่เราเคยเข้าใจ เพราะสมัยก่อนตอนที่มีคนมานำเสนอภาพวาดฝีมืออังคาร เขาบอกว่าท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ เราก็หลงคิดว่าท่านได้ตำแหน่งมาจากความสามารถด้านการวาดอยู่ตั้งนาน นับว่าเรานี่ก็ดักดานพอตัว

ด้วยรางวัลเกียรติยศประดับประดามากมาย อังคารไม่ได้ยินดียินร้ายกับสิ่งเหล่านี้สักเท่าไร ท่านมองว่าคนเราเกิดมาต้องใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า สร้างคุณงามความดีและประโยชน์ทิ้งไว้ให้ส่วนรวม อย่าเอาแต่หาความสุขความสบายเข้าตัวให้คนอื่นนินทาว่าเกิดมารกโลก นั้นเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำอยู่แล้ว

อังคาร กัลยาณพงศ์ ในวัยชรา (ภาพจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายอังคาร กัลยาณพงศ์)

อังคารเปรียบเปรยว่ามนุษย์ชอบไปตั้งจุดหมายสูงสุดในชีวิตให้สิ่งอื่น เช่น ตั้งจุดหมายให้ฝูงเป็ด ว่าสุดท้ายพวกมันจะได้กลายเป็นเป็ดพะโล้ แต่ไม่ค่อยคิดจะตั้งจุดหมายชีวิตให้กับตนเอง สำหรับอังคารแล้วจุดหมายสูงสุดของท่านทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆ ไป คือการได้เป็นกวีร้อยเรียงบทประพันธ์อันแฝงไว้ด้วยแง่คิด ที่จะช่วยยกระดับจิตใจมนุษย์ให้ดีงามบริสุทธิ์ อังคารใช้เวลาทั้งชีวิตเดินตามเป้าหมายจวบจนวาระสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ถึงในวันนี้ชีวิตของอังคารจะดับสูญตามกาลเวลา ไปรอเกิดในภพภูมิใหม่เพื่อเป็นกวีในอีกทุกชาติตามที่ท่านมุ่งมั่นตั้งใจ แต่บทกวีจากชาตินี้ของอังคารจะยังคงอยู่เป็นนิรันดร ดังบทกลอนของท่านที่ว่า

 

นิพนธ์กวีไว้เพื่อกู้      วิญญาณ

กลางคลื่นกระแสกาล      เชี่ยวกล้า

ชีวีนี่มินาน      เปลืองเปล่า

ใจเปล่งแววทิพย์ท้า      ตราบฟ้าดินสลายฯ

 

และก่อนจากกันในคราวนี้ ขอส่งท้ายด้วยบทกวีที่อังคารไม่ได้แต่ง แต่เป็นดั่งแรงบันดาลใจให้เราตั้งจุดหมายในชีวิตว่า

 

ดันเกิดมาเสพย์ติดศิลปะ      ไม่ว่าจะภาพสิ่งของคนหรือสัตว์

เจอะทีไรใจร้อนรุ่มซื้อรวบรัด      หน้ามืดจัดกว่าน้ำหมึกดำ

เพียงแขวนบ้านนอนดูเล่นนั้นฤๅ      ยังไม่ถือเป็นสิ่งประเสริฐล้ำ  

ร่วมเผยแพร่เชิดชูสิควรทำ      บิลด์ให้ล้ำนำหน้าทุกวงการ

ภายภาคหน้าหากมีตังค์เป็นกุรุส      จะอุตลุดสร้างพิพิธภัณฑสถาน

เพื่อมุ่งหน้าทำตามปณิธาน      สืบสานศิลป์ไทยให้นิรันดร์เอยฯ

 

(ตัวแน่น, พ.ศ. 2561)

 

Don`t copy text!