อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ

อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ

โดย : ตัวแน่น

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

 

“พอศิลปินโบกมือบ๊ายบายตายจากไป

เหล่าแฟนคลับก็จะมาคอยสอดส่องดูว่า

ทายาทเอามรดกที่ได้รับไปทำอะไร

ถ้าเอาไปช่วยสานต่อสร้างชื่อเสียงก็จะเป็นที่ชื่นชมเชิดชู

แต่ถ้าเอาไปปู้ยี่ปู้ยำทำเละเทะก็มีหวังโดนสังคมประณามเหยียดหยามยับเยิน “

 

ลองมานั่งมโนเพ้อเจ้อดูเล่นๆ ว่าถ้าป๊ะป๋าหรือหม่าม้าของเราเกิดเป็นศิลปินใหญ่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังตูมตามคับฟ้าคับจักรวาล แล้วจู่ๆ วันดีคืนดีเกิดซี้ลาโลกไป ทิ้งสมบัติบ้า ทั้งผลงาน บ้านช่อง เงินทอง และความรับผิดชอบต่างๆ นานาจิปาถะอีกมากมายก่ายกองไว้ให้ทายาทอย่างเราเอาไปทำอะไรก็ได้แล้วแต่จะนึก ถ้าดวงชะตาดันลิขิตมาให้เป็นอีหรอบนี้แล้วเราจะจัดการยังไง?

ไอ้เรื่องพรรค์นี้เคยเป็นเรื่องไกลตัวในเมืองไทย เพราะในอดีตศิลปะสมัยใหม่ในบ้านเราไม่ได้มีราคาค่างวดอะไร ศิลปินรุ่นก่อนๆ ส่วนใหญ่มักอยู่ในสถานะไส้แห้ง ลูกหลานเมื่อจับพลัดจับผลูได้รับมรดกอันเป็นผลงานศิลปะมูลค่ากระจิ๋วหลิวมา ถ้าชอบชิ้นไหนก็เก็บเป็นที่ระลึกไว้นึกถึงบุพการี เบื่อชิ้นไหนก็เร่ขายหาตังค์มากินหนม  พอไม่ได้มีชื่อเสียง ผลงานไม่ได้มีราคาสูงเด่ ชาวบ้านร้านตลาดเลยไม่สนใจไม่มีใครมาเพ่งเล็ง ทายาทคิดจะทำอะไรก็ทำได้เลยตามสบายไม่ต้องแคร์สื่อ

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ศิลปินไทยรุ่นใหม่หลายต่อหลายท่านเริ่มมีสถานะไส้เปียก พากันขายผลงานได้ในราคาเวอร์วังอลังการ ไปที่ไหนใครๆ ก็รู้จักเดินมาทักขอถ่ายรูปเซลฟี่ดี๊ด๊าไม่น้อยหน้าซุปตาร์กิมจิ เมื่อเป็นแบบนี้ภาระหนักมักมาตกอยู่กับลูกหลาน เพราะพอตัวศิลปินโบกมือบ๊ายบายตายจากไป สาธารณชนโดยเฉพาะเหล่าแฟนคลับผู้ที่บูชาศิลปินผู้ล่วงลับดั่งเทพเจ้า และเชิดชูผลงานราวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็จะมาคอยสอดส่องดูว่าทายาทเอามรดกที่ได้รับไปทำอะไร ถ้าเอาไปช่วยสานต่อสร้างชื่อเสียงของศิลปินให้อยู่ยั้งยืนยง ทายาทก็จะเป็นที่ชื่นชมเชิดชู แต่ถ้าเอาไปปู้ยี่ปู้ยำทำเละเทะก็มีหวังโดนสังคมประณามเหยียดหยามยับเยิน

จะจัดการสมบัติกันอีท่าไหน ยิ่งคิดยิ่งปวดกบาล ว่าแล้วน่าจะลองไปดูตัวอย่างทายาทศิลปินระดับโลกดูดีกว่าว่าที่ผ่านมาเขาทำกันอย่างไรถึงรอดพ้นปากหอยปากปูมาได้อย่างปลอดภัย

เริ่มด้วยเรื่องของ ปาโบล ปีกัสโซ ที่ลาโลกไปในวัย 91 เมื่อปี พ.ศ. 2516 ตอนที่เฮียแกตาย แกไม่ได้เขียนพินัยกรรมระบุว่าจะมอบสมบัติจำนวนมหาศาลที่สะสมมาทั้งชีวิตให้กับใคร สมบัติที่ว่ามีทั้งผลงานศิลปะฝีมือตัวแกเองหลายหมื่นชิ้น อันประกอบไปด้วยภาพเขียนสี 1,885 ชิ้น ภาพลายเส้น 7,089 ชิ้น ภาพพิมพ์ 30,000 ชิ้น ประติมากรรม 1,228 ชิ้น หม้อไหจานชามเซรามิก 3,222 ชิ้น สมุดสเกตช์ 150 เล่ม และของจิปาถะอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน นอกจากนั้นยังมีคฤหาสน์อีก 5 หลัง เงินสด ตราสาร หุ้น ทองคำ อะไรต่อมิอะไรอีกมากมายก่ายกองตีเป็นมูลค่าได้นับหมื่นล้านบาทในสมัยเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว

ในตอนนั้นทายาทที่ถูกแจ็กพอตมีสิทธิ์ได้รับมรดกตามกฎหมายก็คือ ลูกๆ 4 คนที่เกิดจากภรรเมีย 3 คนของปีกัสโซ พอมีเอี่ยวกันหลายคนจากหลากครอบครัวที่มีความหลังไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไร เรื่องวุ่นๆ จึงบังเกิดกว่าจะตกลงแบ่งสันปันส่วนขุมสมบัติกันได้ก็ขึ้นโรงขึ้นศาลกันนานกว่า 6 ปี ใช้ทั้งทีมทนาย นักบัญชี ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะรวมๆ กันกว่าครึ่งร้อยชีวิต เสียเงินเสียทองไปเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ นับพันล้านบาท

 

“รำพีง” พ.ศ. 2511

เทคนิคหล่อทองสำริด ขนาด 73X26 เซนติเมตร

ศิลปิน สมโภชน์ อุปอินทร์

 

ผลสุดท้าย ศาลฝรั่งเศสตัดสินให้ คล็อด ปีกัสโซ หนึ่งในลูกๆ เป็นผู้จัดการมรดก หลังเจรจากันเหล่าทายาทต่างตกลงปลงใจให้จัดตั้งกองทรัพย์สินที่ถือหุ้นร่วมกันขึ้นมาแทนที่จะแบ่งออกเป็นส่วนๆ ให้แต่ละคนเอาไปเก็บไว้ วิธีนี้นับว่าดีไม่อย่างนั้นต่างคนต่างอาจจะเอาสมบัติส่วนของตัวเองไปขายกระจัดกระจายจนเสียราคา หรือบริหารผิดๆ ถูกๆ จนชื่อเสียงที่ศิลปินสั่งสมไว้พังพินาศไปหมด

แต่ก่อนที่ลูกๆ หลานๆ จะได้สมบัติไปนอนกอดให้ชื่นใจ ทางรัฐบาลก็รู้ทัน เรียกเก็บภาษีมรดกซะอ่วม ทางทายาทเลยเจรจาขอยกผลงานศิลปะบางส่วนให้แทนการจ่ายตังค์ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้รับผลงานศิลปะของปีกัสโซมาอย่างเนียนๆ กว่า 3,000 ชิ้นเอาไปจัดเรียงกันให้พรึ่บในพิพิธภัณฑ์ปีกัสโซที่ตั้งขึ้นมาในกรุงปารีสไว้โชว์ของเหล่านี้โดยเฉพาะ

กองทรัพย์สินของปีกัสโซที่จัดตั้งขึ้นมานั้นเปรียบเสมือนบริษัททั่วๆ ไป มีออฟฟิศเล็กๆ อยู่ในปารีสกับพนักงานนับได้ไม่ถึงโหล รายได้ของกองทรัพย์สินนี้มีไหลมาเทมาจากหลายทาง ส่วนหนึ่งมาจากการขายผลงานศิลปะฝีมือปีกัสโซอันเป็นสมบัติร่วมกันของทายาท รายได้อีกส่วนมาจากค่าต๋งที่เก็บจากใครก็แล้วแต่ที่ครอบครองผลงานของปีกัสโซแล้วขายผ่านบริษัทประมูล และแกลเลอรี ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะในเมืองนอกมีกฎหมายที่ระบุว่าศิลปินต้องได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดจากการซื้อขายผลงานศิลปะ แม้ผลงานชิ้นนั้นจะถูกเปลี่ยนมือไปแล้วกี่ทอดก็ตาม และที่สบายอุราทายาทที่สุดก็คือสิทธิในการได้ส่วนแบ่งนี้ครอบคลุมไปอีก 70 ปีหลังจากที่ศิลปินตายไปแล้ว ว่ากันว่าไอ้แค่ส่วนแบ่งงงๆ แบบไม่ต้องทำอะไรเลยนอนอยู่เฉยๆ แล้วบุญหล่นทับนี้แต่ละปีก็มีรายรับอย่างน้อย 300 ล้านบาท

นอกจากรายได้ที่เกิดจากการซื้อขายผลงานศิลปะแล้ว กองทรัพย์สินของปีกัสโซยังได้เงินได้ทองจากการขายลิขสิทธิ์ชื่อปีกัสโซให้บริษัทต่างๆ เอาไปใช้ประโยชน์ เราเลยเคยเห็น จาน หมอน ผ้าห่ม พรม ชุดชั้นใน ที่มีชื่อปีกัสโซแปะอยู่ มีแม้กระทั่งรถเก๋งรุ่นปีกัสโซ ที่ทายาทได้รับค่าลิขสิทธิ์ไปเหนาะๆ 700 กว่าล้านบาทจากบริษัทซีตรอง และก็เหมือนกับแบรนด์ดังทั่วไปที่พอฮิตติดตลาดก็มีพ่อค้าหัวใสใจขุ่นเอาชื่อไปใช้ฟรีๆ โดยไม่ได้บอกกล่าว ทุกวันนี้ชื่อปีกัสโซเลยมีแปะหราอยู่บนของกินของใช้แทบทุกอย่าง ทั้งรองเท้า เสื้อผ้า ยาสีฟัน พิซซ่า ไอศกรีม หรือแม้กระทั่งเบ็ดตกปลา เดือดร้อนถึงทายาทที่ต้องคอยแจ้งความตามจับกันจ้าละหวั่น และไม่ใช่ของก๊อปเท่านั้นที่โดนฟ้อง หนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์อย่างเรื่อง ไททานิก ก็เคยโดนตามเช็กบิลมาแล้ว เพราะในหนังดันมีฉากภาพวาดของปีกัสโซจมทะเลไปกับเรือ ซึ่งเป็นฉากที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทายาท เห็นแล้วบาดตาบาดใจ

เป็นที่น่าชื่นตาบานสำหรับ ปาโบล ปีกัสโซ ผู้วายชนม์ ที่ทายาทน้อยใหญ่ต่างพากันละทิ้งปัญหาไม่ลงรอยส่วนตัวไว้เบื้องหลัง และขยันขันแข็งช่วยกันสร้างชื่อเสียงให้กับตัวศิลปิน ทุกวันนี้ชื่อปีกัสโซนั้นเลยยิ่งดังกว่าสมัยตอนมีชีวิตอยู่เสียอีก เหล่าทายาทของปีกัสโซไม่ได้หวังจะไล่ล่าหาผลกำไรใส่ตัวแต่เพียงอย่างเดียว ผลงานของปีกัสโซจากกองมรดกจำนวนมากมายถูกบริจาคไปให้พิพิธภัณฑ์ต่างๆ และนำไปประมูลเพื่อการกุศลช่วยเหลือโครงการนู้นนี้นั้น สตูดิโอที่ปีกัสโซใช้ทำงานในกรุงปารีสยังถูกทายาทดัดแปลงไปเป็นศูนย์ส่งเสริมความรู้ทางด้านศิลปะให้กับประชาชนอีกด้วย

พอมีชื่อเสียงดี ลิขสิทธิ์ก็ขายดี แถมภาพวาดฝีมือปีกัสโซจากราคาหลักแสนตอนวาดเสร็จใหม่ๆ ก็ทะยานพุ่งปรี๊ดไปแตะหลักร้อยล้านพันล้านได้อย่างชิลๆ กองมรดกที่เคยมีมูลค่าหมื่นล้าน กลับกลายเป็นประเมินค่าไม่ได้ พลิกๆ ดูแล้วขนาดปากกาด้ามโปรดที่เราใช้เขียนเรื่องนี้อยู่ยังยี่ห้อปีกัสโซเลย เขียนลื่นดีจริงๆ แต่ไม่รู้ด้ามนี้ญาติเฮียแกจะได้เปอร์เซ็นต์ด้วยหรือเปล่าเพราะเราไปเหมาเอามาจากเซินเจิ้น

อีกเรื่องที่น่าศึกษา และยิ่งน่านำเอามาเป็นแบบอย่างคือเรื่องของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ ศิลปินระดับโลกที่มีชื่อเสียงไม่น้อยหน้าไปกว่าปีกัสโซ แต่ที่แตกต่างไปจากปีกัสโซคือแวนโก๊ะตอนที่มีชีวิตอยู่นั้นสุดแสนจะอาภัพคับแค้น ผลงานขายไม่ออก เครียดจนเป็นบ้า ตัดหูตัวเอง และในที่สุดก็ยิงตัวตาย ตัวแกมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินทองที่ส่งเสียให้โดยธีโอ น้องชายสุดที่รัก วินเซนต์ไม่มีทายาท พอลาโลกไปธีโอเลยต้องรับมรดกจากพี่ชายหูแหว่งเป็นภาพวาดที่ไม่มีใครสนใจกองเบ้อเร่อเท่อ ธีโอเสียอกเสียใจที่พี่ตายอยู่ไม่กี่เดือนก็ป่วยตายตามไปซะเฉยๆ ทิ้งมรดกให้ตกอยู่กับ โจแอนนา บองเกอร์ ผู้เป็นภรรยา และวิลเล็ม ลูกชายที่อายุยังไม่ครบขวบ โจแอนนามีภาพวาดฝีมือแวนโก๊ะสุมรกเต็มบ้านจนญาติของเธอแนะให้เอาไปเผาทิ้งซะให้หมด ถือเป็นโชคดีของมวลมนุษยชาติที่เธอไม่ได้เชื่อฟังญาติเอาภาพวาดไปทำฟืน

“นู้ด” ประมาณ พ.ศ. 2500 เทคนิคเซรามิก ขนาด 31 x 12 เซนติเมตร
ศิลปิน : ชลูด นิ่มเสมอ

วินเซนต์ แวนโก๊ะ และธีโอ นี่รักกันมาก ทั้งคู่มักเล่าถึงสารทุกข์สุขดิบในแต่ละวันผ่านทางจดหมายที่ส่งไปมาหากันอยู่เป็นนิจ ใครได้ไปอ่านดูจะรู้รายละเอียดถี่ยิบของศิลปินผู้มีชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร จดหมายเหล่านี้พอตกมาถึงมือโจแอนนาแบบครบเซต เธอจึงนำข้อความในจดหมายออกเผยแพร่ควบคู่ไปกับการนำผลงานภาพวาดไปจัดแสดงตามที่ต่างๆ ให้คนเห็นกันถ้วนทั่ว ด้วยผลงานที่มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ผนวกกับประวัติชีวิตอันอภิมหาดราม่ากว่าศิลปินใดๆ ประชาชีเลยเริ่มให้ความสนใจ จนในที่สุด วินเซนต์ แวนโก๊ะ ก็มีชื่อเสียงขจรไกลไปทั่วโลก

เป็นเวลา 30 กว่าปีที่โจแอนนาช่วยโปรโมตผลงานศิลปะของพี่เขยจนโด่งดังและขายภาพวาดออกไปได้บ้างเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ในที่สุด โจแอนนา บองเกอร์ ก็เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2468 ทิ้งผลงานศิลปะกองใหญ่ที่ตอนนี้เริ่มจะมีค่าไว้ให้กับวิลเล็ม ลูกชายคนเดียวของเธอ วิลเล็มผู้รู้คุณค่าจึงนำเอาภาพแวนโก๊ะมาดูแลโดยเอาไปแขวนไว้ตามห้องนอน ห้องครัว ห้องรับแขก ละลานตาไปหมดจนมองแทบไม่เห็นฝาบ้าน อีกส่วนหนึ่งเอาไปให้พิพิธภัณฑ์ยืมจัดแสดง นานวันเข้าพอเริ่มแก่ตัว วิลเล็มก็เรียกลูกๆ หลานๆ มาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรกับสมบัติผลัดกันชมที่ตายไปแล้วก็เอาไปไม่ได้เหล่านี้ดี ถ้าแยกกองแบ่งให้ลูกๆ หลานๆ ทุกคนคงต้องยอมขายภาพบางส่วนออกไปเพื่อหาเงินมาจ่ายภาษีมรดกก้อนใหญ่ คอลเล็กชันที่ปู่ย่าตาทวดอุตส่าห์หวงแหนเก็บรักษามาในที่สุดก็จะกระจัดกระจายมลายหายเกลี้ยง

คิดดังนั้นแล้ววิลเล็มและทายาทจึงตัดสินใจตั้งมูลนิธิวินเซนต์ แวนโก๊ะ ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2505 พร้อมทั้งยกผลงานศิลปะ เอกสาร และของอะไรก็แล้วแต่ที่เคยเป็นของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ ให้เป็นสมบัติของส่วนรวม ไม่เหลืออะไรเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

เห็นทายาทแวนโก๊ะโชว์ป๋า ใจป้ำแจกแหลกแบบไม่มีกั๊ก รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงไม่นิ่งดูดาย คืนสนองโดยการรีบหาพื้นที่และสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาให้ใหม่กลางกรุงอัมเสตอร์ดัม เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษา และจัดแสดงผลงานศิลปะเหล่านี้ให้อยู่รวมกันอย่างถาวรตามที่เหล่าทายาทมุ่งหวังตั้งใจ วันเวลาผ่านไปปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมมากที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ คือปีละราว 2 ล้านคน สร้างรายได้ และชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างเหลือคณานับ

ถึงลูกหลานแวนโก๊ะจะไม่ร่ำรวยเงินทองล้นฟ้า แต่ด้วยความรุ่มรวยน้ำใจ ทำให้พวกเขากลับยิ่งใหญ่และเป็นที่น่าเลื่อมใสกว่าใครๆ บอกตามตรงว่าหลังจากที่เรามโนเพ้อเจ้อไปมา ก็ชักจะอิจฉาเหล่าทายาทศิลปินคนดัง ที่โอกาสในการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มารอพวกเขาอยู่แล้วตรงหน้า เหลือเพียงแต่ว่าจะเลือกเดินทางใด จะเป็นวีรบุรุษของชาติให้คนจะร่ำลือต่อๆ ไปอย่างพี่ตูนบอดี้สแลม จ่าแซมหมูป่า หรือจะเป็นแค่คนมีตังค์คนหนึ่งที่ตายไปแล้วโลกลืม ต้องลองเอาไปคิดดูกันเอาเอง

Don`t copy text!