จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน

จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน

โดย : ตัวแน่น

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

“จำรัส เกียรติก้อง คือมือวางอันดับหนึ่งด้านการวาดภาพบุคคลในเมืองไทย

เหตุผลที่ใครๆ ในสมัยนั้นยกให้เป็นมือหนึ่งน่ะหรือ

เดี๋ยวบอกให้รู้แล้วจะร้องอ๋อว่าทำไม”

 

ใครคือศิลปินในดวงใจของศิลปินในดวงใจของเรา? คำถามซับซ้อนสองตลบที่เราใคร่สงสัย กระหายอยากรู้จนต้องรีบไปถามไถ่หาคำตอบจาก จักรพันธุ์ โปษยกฤต ผู้ที่เราและคนแทบทั้งประเทศยอมรับว่าวาดภาพมนุษย์มนาได้สวยงามมีชีวิตชีวาที่สุดในสามโลก ครั้งหนึ่งขณะที่อาจารย์กำลังเมตตานั่งพูดคุยและเลี้ยงดูเราด้วยโอเลี้ยงต้มเองรสชาติหวานหอมที่เราซดแก้วที่หนึ่ง สอง และสามหมดไปอย่างรวดเร็ว พอสบโอกาสเราจึงถามท่านไปว่า ‘ใครคือนักวาดภาพบุคคลที่อาจารย์ว่าเก่งที่สุดครับ?’ พร้อมกับแซวสำทับไปด้วยว่า ‘ห้ามนับตัวอาจารย์เองนะครับ’ อาจารย์จักรพันธุ์แทบจะไม่ต้องนึกก็ระบุชื่อออกมาได้เลยอย่างฉับพลันว่า ‘ผมชอบ จำรัส เกียรติก้อง’ อาจารย์เล่าว่า ตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก อาจารย์ได้เห็นผลงานภาพวาดบุคคลฝีมือจำรัสเป็นหนแรกในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติก็ติดตาตรึงใจมาตลอด จนเป็นแรงผลักดันให้ท่านอยากวาดภาพได้สวยเริ่ดอย่างนั้นบ้าง

จำรัส เกียรติก้อง ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหูคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าเป็นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ใครมีบุญได้จำรัสวาดภาพให้ ต้องตีอกชกท้องป่าวประกาศให้โลกรู้ด้วยความดีใจ เพราะท่านคือมือวางอันดับหนึ่งด้านการวาดภาพบุคคลในเมืองไทย เหตุผลที่ใครๆ ในสมัยนั้นยกให้เป็นมือหนึ่งน่ะหรือ เดี๋ยวบอกให้รู้แล้วจะร้องอ๋อว่าทำไม

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” พ.ศ. 2506 เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 100 x 73 เซนติเมตร

วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ที่อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร ถ้าเป็นสมัยนี้คือเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ เด็กชายลูกครึ่งชื่อจำรัสก็ได้ลืมตามาดูโลก พ่อจำรัสเป็นชาวเยอรมันชื่อนายเกอร์เซน มาลงหลักปักฐานทำงานอยู่เมืองไทยเป็นเภสัชกรประจำห้าง บี. กริม แอนด์ โก ส่วนแม่เป็นชาวมอญชื่อนางฉาย ตั้งแต่เด็กจำรัสใช้นามสกุลตามฝั่งแม่ว่า ‘แกวกก้อง’ พึ่งจะมาเปลี่ยนเป็น ‘เกียรติก้อง’ ให้เพราะพริ้งตอนโตแล้วในสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม

ช่วงที่จำรัสยังเล็กเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พอดี พอสงครามยุติ แดดดี้เกอร์เซนชาวเยอรมันผู้แพ้สงครามก็ต้องหลีกลี้หนีภัยกลับประเทศและไปเสียชีวิตที่บ้านเกิดเมืองนอนตอนที่จำรัสมีอายุเพียงแค่ 4 ขวบ นางฉายแม่เลี้ยงเดี่ยวเลยต้องรับภาระเลี้ยงดูจำรัสกับพี่ชายอีกคนให้เติบใหญ่ขึ้นมาโดยลำพัง

มามี้ฉายใจดียอมปล่อยให้เด็กชายจำรัสผู้ชอบวาดภาพ ขีดเขียนละเลงฝาบ้านซะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมดโดยไม่ถูกไม้เรียวตี พอจำรัสเป็นวัยรุ่น น้าชายชื่อนายลำไยเห็นหลานน่าจะชอบศิลปะเลยแนะให้ไปเรียนโรงเรียนเพาะช่าง ระหว่างเป็นนักเรียนจำรัสได้ไปเห็นข่าวหนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่รายงานเกี่ยวกับ ศิลปินนักวาดภาพชาวอิตาเลียนที่ถูกเชิญมาเมืองไทยเพื่อให้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 7 จากพระองค์จริง เห็นดังนั้นจำรัสจึงตั้งปณิธานไว้ว่าชาตินี้จะต้องวาดภาพให้เก่งสุดๆ จะได้มีโอกาสได้รับความไว้วางใจให้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์จากพระองค์จริงให้ได้ ไม่ใช่เอาแต่วาดในหลวงจากภาพถ่ายที่หาได้ทั่วไปอย่างที่ใครๆ ที่ไหนเขาก็ทำกัน

จำรัส เกียรติก้อง
จำรัส เกียรติก้อง ในวัยหนุ่ม (ภาพจากหนังสือชีวิตและผลงานของจำรัส เกียรติก้อง ศิลปินเอกของชาติ)

หลังจำรัสจบจากเพาะช่างในปี พ.ศ. 2477 ท่านได้เข้าทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนสตรีวิทยา และโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย จำรัสนี่นับว่าป๊อปปูลาร์ในหมู่ลูกศิษย์โดยเฉพาะสาวๆ เพราะใจดีและมีหน้าตาหล่อเหลาระดับน้องๆ ณเดชน์ คูกิมิยะ จะไม่ให้หล่อได้ยังไง ก็ท่านเป็นลูกครึ่งเยอรมัน-มอญ จำรัสเลยไม่ต้องไปดั้นด้นหาคู่ครองที่ไหนไกล ได้ภรรยาเป็นลูกศิษย์ใกล้ตัวนามว่า โกสุม เกตุเลขา เพราะตอนนั้นญาญ่ายังไม่เกิด

และแล้วสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้นอีกในราวปี พ.ศ. 2482 เพื่อความปลอดภัย โรงเรียนมากมายจึงประกาศหยุดการเรียนการสอนโดยไม่มีกำหนด จำรัสซึ่งรับหน้าที่เป็นอาจารย์ก็เลยมีเวลาว่างไปฝึกวาดภาพกับเพื่อนๆ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นี่จำรัสได้พบกับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ซึ่งชื่นชอบผลงานของจำรัสมากจนถึงกับกล่าวชมไว้ในบทความที่ท่านเขียนเผยแพร่อยู่เนืองๆ ทั้งยังยกห้องทำงานส่วนตัวให้จำรัสใช้วาดภาพอีก อาจารย์ศิลป์แนะนำติชมจนจำรัสมีฝีมือในการวาดภาพบุคคลแก่กล้าไปเข้าตาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ผู้ซึ่งทรงบริหารงานอยู่ในกรมศิลปากร พระองค์ชายใหญ่ทรงเห็นแววจึงมีรับสั่งขอให้จำรัสโอนย้ายมารับราชการที่กรมศิลปากร จะได้มีโอกาสทำงานด้านศิลปะที่ท่านรัก

เมื่อมาประจำอยู่ที่กรมศิลปากร จำรัสใช้เวลาว่างจากงานราชการหาลำไพ่พิเศษโดยการรับจ้างวาดภาพเหมือนบุคคล ด้วยสีน้ำมัน และสีชอล์ก พอมีลูกค้าสนใจจำรัสก็มักจะมาขอคำปรึกษาให้อาจารย์ศิลป์เป็นผู้ตั้งราคาให้อยู่เสมอ เราว่าแบบนี้ดีลูกค้าจะได้เกรงใจ เพราะถ้าเสนอราคาแล้วแถมท้ายว่าอาจารย์ศิลป์บอกให้ขายเท่านั้นเท่านี้ หากเราเป็นลูกค้าคงไปต่อไม่ถูก เกรงใจไม่กล้าต่อราคาแหงๆ นอกจากจะรับวาดภาพบุคคล จำรัสยังรับวาดภาพประกอบนิตยสาร และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเก็บไว้ดูเอง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผลงานส่วนตัวของจำรัสที่เก็บรักษาไว้ในบ้านได้วอดวายเสียหายไปหมดกับกองเพลิงจากเหตุไฟไหม้ เหตุการณ์นั้นทำเอาจำรัสและครอบครัวแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยความช่วยเหลือจากเจ้านายและเพื่อนๆ

ในปี พ.ศ. 2492 ได้มีการจัดการประกวดผลงานศิลปะในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก โดยโต้โผใหญ่ของงานนี้คือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้มีพระคุณกับจำรัส จำรัสจึงไม่พลาดร่วมส่งผลงานเข้าประกวดด้วย และในครั้งนั้นจำรัสก็ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากภาพวาดหญิงเปลือยนอนเท้าแขนตะแคงตัวโชว์เรือนร่างอล่างฉ่าง พร้อมแววตาไม่แยแสแม้กำลังนอนแก้ผ้าให้ศิลปินใช้เป็นแบบ

ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติปีถัดมา จำรัสก็ส่งภาพเข้าประกวดอีก ครั้งนี้เป็นภาพที่มีชื่อว่า ‘ชายฉกรรจ์’ ชายในภาพที่ว่านี้ไม่ใช่ชายที่ไหน แต่คือ แสวง สงฆ์มั่งมี สุดยอดประติมากรของชาติไทยผู้ซึ่งเป็นเพื่อนซี้กับจำรัส ภาพวาดสีน้ำมันภาพนี้จำรัสไม่ได้ตั้งใจจะวาดขึ้นมาด้วยซ้ำ แต่อยู่มาวันหนึ่งขณะกำลังจะเริ่มวาดภาพอื่นก็เห็นแสวงเดินเข้ามาในห้องเพื่อพูดคุยกับ สิทธิเดช แสงหิรัญ ประติมากรระดับประเทศอีกท่าน จำรัสเห็นสีหน้าท่าทางอันเจนโลกของแสวงแล้วพลันเกิดแรงบันดาลใจ คว้าพู่กันปาดสีฉุบฉับลงบนผืนผ้าใบอย่างรวดเร็ว ทิ้งทีแปรงกว้างๆ หนาๆ ไว้ให้ดูสนุกสนานเกิดเป็นภาพชายฉกรรจ์สูบไปป์ที่ได้อารมณ์ลงตัวขึ้นมาภายในเวลาแค่อึดใจ ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดในครั้งนั้น และภายหลังก็ได้ตกเป็นสมบัติชิ้นสำคัญของมหาวิทยาลัยศิลปากร มีเรื่องเล่าพิศวงมากมายเกี่ยวกับภาพวาดชิ้นนี้ อย่างตอนที่ถูกยืมเอาไปตั้งหน้าโลงศพ แสวง สงฆ์มั่งมี ตอนที่ท่านเสียชีวิต มีคนไปจ้องภาพแล้วเกิดอาการผีเข้าพาเอาแขกเหรื่อในงานวุ่นวายกันยกใหญ่ พอยกกลับมาแขวนไว้ที่มหาวิทยาลัยก็แสดงอิทธิฤทธิ์ตกลงมากองกับพื้นเองได้หลายครั้งหลายคราแม้จะห้อยไว้แน่นหนาบนฝาอาคาร จนต้องจุดธูปบอกกล่าวชายฉกรรจ์เขาหน่อย เขาถึงจะหายซน

จำรัสได้รับรางวัลอีกครั้งจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติในปี พ.ศ. 2496 โดยได้รับเหรียญเงินจากภาพหญิงไทยอีกทีแต่คราวนี้มีเสื้อผ้าครบครัน และในงานครั้งต่อๆ มาจำรัสก็ยังส่งผลงานศิลปะเข้าแสดงอยู่เสมอๆ แม้ครั้งหลังๆ จะไม่ได้ร่วมประกวดด้วยก็ตาม

 

จำรัส เกียรติก้อง ขณะวาดภาพพระบรมสาทิศลักษณ์สมเด็จย่า (ภาพจากหนังสือชีวิตและผลงานของจำรัส เกียรติก้อง ศิลปินเอกของชาติ)

 

ปณิธานสูงสุดในชีวิตจิตรกรที่จำรัสได้ตั้งไว้ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนอยู่ที่เพาะช่างเริ่มจะมีทีท่าว่าจะเป็นจริง เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระประสงค์ให้จำรัสวาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงผนวช โดยขยายจากภาพถ่ายให้มีขนาดเท่าพระองค์จริง จำรัสตั้งใจวาดอย่างสุดความสามารถอยู่พักใหญ่ เมื่อผลงานเสร็จสมบูรณ์ สมเด็จย่าทรงพอพระทัยมากจนถึงกับรับสั่งให้จำรัสช่วยมาวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์โดยยินดีจะมาประทับให้เป็นแบบ จำรัสซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ กุลีกุจอรีบเข้าวังไปวาดภาพจนสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี

และแล้ววันเวลาที่รอคอยมาเป็นเวลาเกือบทั้งชีวิตก็มาถึง ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้พาจำรัสเข้าเฝ้าฯ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นการส่วนพระองค์ร่วมกับศิลปินอีกสองสามท่าน ในครั้งนั้นในหลวงทรงประทับเป็นแบบให้จำรัสวาดภาพด้วย ทำให้ในที่สุดปณิธานของจำรัสก็ได้กลายเป็นความจริง เราเลยจินตนาการไม่ออกเลยว่าจำรัสจะสามารถคุมจิตให้นิ่งแล้ววาดภาพออกมาสำเร็จอย่างที่เห็นได้อย่างไร เพราะถ้าเป็นเราคงหน้ามืดเป็นลมล้มสลบไปตั้งแต่ยังไม่ทันจะเริ่มวาด หรือถ้ายังครองสติต่อไปได้ก็คงมือสั่นเป็นเจ้าเข้า ขีดเขียนอะไรไม่เป็นรูปเป็นร่าง

เพราะเป็นที่รู้กันทั่วว่าจำรัสเป็นศิษย์เอกของอาจารย์ศิลป์ที่ได้รับรางวัลการันตีมากมาย แถมขนาดเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินยังไว้วางพระราชหฤทัย ถ้าเป็นเรื่องการวาดภาพเหมือนบุคคล ใครๆ ก็ยกให้จำรัสเป็นราชาภาพเหมือนของเมืองไทย

จำรัส เกียรติก้อง (คนขวาสุด) ขณะเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อวาดพระบรมสาทิสลักษณ์จากพระองค์จริง (ภาพจากหนังสือชีวิตและผลงานของจำรัส เกียรติก้อง ศิลปินเอกของชาติ)

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่จำรัสมีสุขภาพย่ำแย่ ป่วยด้วยโรคเบาหวานและโรคตับ จึงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยอายุเพียง 49 ปี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2509

ด้วยความช่างสงสัยอย่างไม่สิ้นสุดจนน่าเขกกบาล ระหว่างที่เราซดโอเลี้ยงแก้วที่สี่ เราถามอาจารย์จักรพันธุ์ต่อไปอีกว่า ‘อาจารย์ชอบผลงานของจำรัสตรงไหนครับ?’ อาจารย์เลยอธิบายว่าผลงานของจำรัสนั้นเด็ดที่แววตากลมโตของคนในภาพ จำรัสจุดลูกกะตาคนได้ดูเป็นประกายสดใสมีน้ำหล่อเลี้ยง เห็นแล้วเหมือนเกลือกกลิ้งได้อย่างบอกไม่ถูก แค่จุดลูกกะตาฟังดูเหมือนจะง่ายแต่ไม่มีใครทำได้เหมือนจำรัส สมัยเป็นนักเรียน ตัวอาจารย์จักรพันธุ์เองก็เคยมีบุญได้ไปยืนดูจำรัสวาดภาพ เลยได้เห็นจังหวะฝีแปรงอันเฉียบขาดของจำรัสกับตา โปรขนาดที่วาดได้เลยไม่ต้องร่าง แม่นยำไม่ต้องแก้ ปาดปื๊ดป๊าดแป๊บเดียวก็ออกมาเป็นภาพได้อย่างน่ามหัศจรรย์ คนดูก็สนุกไม่ต้องยืนจ้องนานให้เมื่อยขาเมื่อยตา

ในฐานะจิตรกรมือพระกาฬด้วยกัน อาจารย์จักรพันธุ์สามารถบอกได้ว่าผลงานของจำรัสภาพไหนวาดจากภาพถ่าย ภาพไหนวาดจากคนตัวเป็นๆ เพราะถ้ามีแบบตัวจริงมานั่งนิ่งๆ ให้อยู่ตรงหน้า จำรัสจะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกของบุคคลผู้นั้นออกมาเป็นภาพวาดที่มีชีวิตจิตใจ จนถูกร่ำลือกันว่าจำรัสมีฝีมือในการวาดภาพคนได้เหมือนกว่าตัวจริงเสียอีก

อารมณ์ ณ เสี้ยวเวลาหนึ่งของบุคคลในอดีต อันรวมถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จย่า ที่เราชาวไทยต่างยังห่วงหา ได้ถูกบันทึกไว้เป็นภาพวาดด้วยฝีมืออันฉกาจฉกรรจ์ของจำรัส ภาพที่จะยังมีชีวิต มีลมหายใจ และจะคงอยู่ตลอดไปให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้ใช้ดูต่างหน้าคลายความคิดถึง

อีกทั้งผลงานศิลปะที่จำรัสฝากไว้คู่แผ่นดิน ยังจะเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินไทยรุ่นหลังได้นำไปใช้เป็นแบบอย่างในการมุ่งมั่นฝึกฝนจนสามารถทาบรอยเท้าครูได้ และถ้าจะให้ดี ศิษย์ต้องพยายามพัฒนาฝีมือให้แก่กล้าล้ำหน้ากว่าครูให้สำเร็จ เมืองไทยจะได้มีศิลปินที่เก่งยิ่งๆ ขึ้นไปอีกอย่างไม่จบไม่สิ้น เราจะใจจดใจจ่อตั้งตารอดูวันที่มีจำรัสหรือจักรพันธุ์จูเนียร์จุติขึ้นมาในบ้านในเมืองของเราอีกที เจ้าประคู้ณ… อย่าต้องให้รอนานนักนะ เดี๋ยวตีนกาขึ้นเต็มหน้า จะไม่กล้าไปขอนั่งให้เป็นแบบ

Don`t copy text!