สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 15 : ผลัดแผ่นดิน

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 15 : ผลัดแผ่นดิน

โดย : สิริทัศนา

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………….

ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ

…ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เหมือนหนึ่งได้ทดแทนพระคุณ

ท่านเห็นว่ายังทรงพระเยาว์อยู่ ให้ช่วยกันทำนุบำรุงกว่าจะทรงพระเจริญขึ้น”

 

ผลัดแผ่นดิน

พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภไปกราบบังคมทูลเจ้านายและเรียนขุนนางผู้ใหญ่แล้ว ก็กลับมาเฝ้าที่พระแท่นดังเดิม จนใกล้สี่ทุ่ม สิ้นกำหนดสวรรคต จึงกราบถวายบังคม พระราชโอรสธิดาและท่านข้างในก็พากันร้องไห้เซ็งแซ่ขึ้นพร้อมกัน ตั้งแต่สี่ทุ่มจนย่ำรุ่ง เสียงดังสนั่นหวั่นไหวในพระบรมมหาราชวัง

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม สั่งให้หมู่องครักษ์และกรมอาสา 8 เหล่า กรมทหารอย่างยุโรปทั้งปวงในพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวัง ตั้งกองจุกช่องล้อมวงทั้งชั้นนอกชั้นใน ให้กวดขันมั่นคงขึ้นกว่าแต่ก่อน แล้วให้สังฆการีไปเชิญเสด็จกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ และอาราธนาพระราชาคณะฐานานุกรมฝ่ายธรรมยุติกา ซึ่งประชุมเยี่ยมฟังพระอาการอยู่ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ 25 รูป มาประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ตรงหน้าพระมหาเศวตฉัตร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองผู้ใหญ่ผู้น้อย

ภาพ : Pantip.com

เมื่อที่ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงกล่าวว่า “เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระชนมายุอยู่ ก็ได้โปรดอนุญาตให้ว่าผู้ที่จะดำรงทรงแผ่นดินต่อไปให้ประชุมปรึกษากันให้พร้อมเพรียง จะเห็นพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ หรือพระเจ้าหลานเธอ องค์หนึ่งองค์ใด ซึ่งทรงพระสติปัญญาวัยวุฒิรอบรู้สรรพสิ่งทั้งปวง ควรจะปกป้องสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรได้ ก็ให้ยกพระองค์นั้นขึ้นเถิด มิได้ทรงรังเกียจที่จะให้แก่พระเจ้าลูกยาเธอฝ่ายเดียว สุดแต่การสโมสรเห็นพร้อมเพรียงกัน ฉันใดจะได้ความสุขทั่วกัน ก็ตามใจพระวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดี บัดนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สวรรคตแล้ว แผ่นดินว่างเปล่าอยู่ ท่านทั้งหลายซึ่งอยู่ในที่ประชุมนี้ จะเห็นเจ้านายพระองค์ใด ที่จะเป็นที่พึ่งแก่พระวงศานุวงศ์ และเสนาบดีอาณาประชาราษฎรได้ไม่เกิดการยุคเข็ญ ก็ให้ว่าขึ้นในที่ท่ามกลางประชุมนี้ อย่าได้มีความเกรงขามเลย”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากลาง กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ ซึ่งมีพระชนมายุยิ่งกว่าพระวงศานุวงศ์ทั้งปวง จึงกล่าวขึ้นในที่ประชุมว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ามีพระเดชพระคุณ ได้ทำนุบำรุงพระวงศานุวงศ์และชุบเลี้ยงมุขมนตรีใหญ่น้อยขึ้นเป็นอันมาก มีพระคุณล้นเหลือ ไม่มีสิ่งใดจะทดแทนพระคุณนั้นได้ ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสผู้ใหญ่ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เหมือนหนึ่งได้ทดแทนพระคุณ ท่านเห็นว่ายังทรงพระเยาว์อยู่ ให้ช่วยกันทำนุบำรุงกว่าจะทรงพระเจริญขึ้น”

ถึงแม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมิได้ทรงสถาปนาพระรัชทายาทอย่างเป็นทางการ แต่ทรงตั้งพระทัยไว้แต่ต้นแล้วว่า ว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเจริญพระชันษาครบ 20 พรรษา และทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามประเพณีแล้ว จะพระราชทานราชบัลลังก์ ส่วนพระองค์เอง จะเสด็จออกเป็นพระเจ้าหลวง คือเป็นที่ปรึกษา คอยประคับประคองพระราชโอรสจนตลอดพระชนมายุ โดยโปรดฯ ให้สร้างวังสราญรมย์ไว้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จออกจากราชสมบัติ โดยทรงฝึกสอนราชศาสตร์แก่สมเด็จพระราชโอรสอย่างกวดขัน

ภาพ : bookforkids-club.blogspot.com

เป็นที่ทราบกันทั้งในหมู่ขุนนาง พ่อค้า ราษฎร ไปจนถึงพระราชาธิบดีต่างประเทศ ว่าสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงเป็นพระรัชทายาทนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต แต่ยังมิได้สถาปนาอย่างเป็นทางการ เพราะขณะนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เพิ่งทรงมีพระชนมายุเพียง 13 พรรษา เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตก ด้วยพระองค์ทรงพระชราแล้ว ถ้าหากเสด็จสวรรคตไปโดยด่วน สมเด็จพระราชโอรสจะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในเวลายังทรงพระเยาว์ เห็นว่าจะเป็นการเสี่ยงภัยใหญ่หลวง ด้วยตัวอย่างที่เคยมีในเรื่องพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นอันตรายด้วยถูกชิงราชสมบัติทุกพระองค์ ไม่มีพระองค์ใดได้อยู่ยั่งยืน สักพระองค์เดียว

นอกจากนี้ยังทรงวิตกอีกประการหนึ่งคือ ถ้าสมเด็จพระราชโอรสต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินก่อนพระชันษา 20 ปี ทรงว่าราชการบ้านเมืองเองยังไม่ได้ ก็จะต้องมีผู้อื่นถืออำนาจว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์ อันไม่เคยมีแบบอย่างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในเรื่องรัชทายาทจึงพระราชทานอนุญาตให้พระราชวงศ์และเสนาบดีปรึกษาถวายราชสมบัติแด่เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแล้วแต่จะเห็นพ้องกัน ด้วยทรงพระราชดำริว่า ถ้าพร้อมใจกันถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระราชโอรสก็จะได้เสวยราชย์โดยมั่นคง ซึ่งการณ์ก็เป็นดังพระราชประสงค์ที่ประชุมพร้อมกันถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจนกว่าจะทรงผนวช และเสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ช่วยในส่วนการพระราชพิธีพระราชวัง

ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรไม่น้อย ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า “รุ่งขึ้นวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม จะทรงสักการพระบรมศพตามราชประเพณี เวลานั้นสมเด็จพระ (จุลจอมเกล้า) เจ้าอยู่หัวกำลังทรงอ่อนเพลียมาก ด้วยประชวรมากว่าเดือน และซ้ำประสบทรงโศกศัลย์สาหัส ไม่สามารถจะทรงพระดำเนินได้ ต้องเสด็จขึ้นพระเก้าอี้หามขึ้นไปจนบนพระที่นั่งภาณุมาศจำรุญที่ทรงพระบรมศพ พอทอดพระเนตรเห็นพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้แต่ยกพระหัตถ์ขึ้นถวายบังคมแล้วก็สลบนิ่งแน่ไป”

………………………………………………………………..

แหล่งข้อมูล

  • เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 4. (พระนคร : โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, 2477)
  • ปรามินทร์ เครือทอง, จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 สวรรคต วันสุดท้ายของกษัตริย์นักปราชญ์. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2543)
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 52 จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พิมพ์พระราชทานในงานศพ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์. (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472)
  • สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ; พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5 พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา ทรงพิมพ์ ในงานฉลองพระชันษาครบ ๕ รอบ. (พระนคร : โรงพิมพ์รัฐภักดี, 2493)

 

 

Don`t copy text!