สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 17 : วังริมแม่น้ำเจ้าพระยา

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 17 : วังริมแม่น้ำเจ้าพระยา

โดย : สิริทัศนา

Loading

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………….

 

“บิดามีความรักใคร่ในมารดาฉันใด

พระราชกุมารก็จงรักษามารดาฉันนั้น

มารดาเป็นที่อาศัยของบุตรนานเพียงไร

เจริญได้ก็ด้วยอานุภาพของบุตร”

 

ในช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกนั้น เจ้าจอมมารดาเปี่ยมยังมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชยเป็นที่รักที่หวัง สมดังพรที่พระราชชนกพระราชทานไว้ว่า “บิดามีความรักใคร่ในมารดาฉันใด พระราชกุมารก็จงรักษามารดาฉันนั้น มารดาเป็นที่อาศัยของบุตรนานเพียงไร เจริญได้ก็ด้วยอานุภาพของบุตร”

ตามโบราณราชประเพณี พระโอรสเมื่อโสกันต์แล้ว ก็ทรงผนวชสามเณรหนึ่งพรรษา ศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อลาผนวชแล้ว พระองค์อุณากรรณกลับมาประทับที่ตำหนักข้างหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เขตพระราชฐานชั้นกลาง และทรงเข้าศึกษาวิชาทหารตามแบบอังกฤษ

พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย จากเว็บไซต์โรงเรียนราชินี

การฝึกทหารแบบตะวันตกในไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยใช้ครูชาวฝรั่งเศส แต่เมื่อสิ้นรัชกาลแล้วก็ล้มเลิกไป มาเริ่มต้นใหม่ในยุครัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 2 โปรดฯ ให้หัดทหารอย่างอังกฤษ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงหัดทหารปืนใหญ่ประจำป้อมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาในรัชกาลที่ 4 จึงโปรดฯ ให้เกณฑ์ไพร่หลวงมาฝึกหัดเป็นทหารราบ เรียกว่า ทหารราบหน้า โดยใช้แบบแผนอังกฤษและฝรั่งเศสตามครูผู้สอน

มาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงคัดเลือกข้าหลวงเดิมมาเป็นทหารมหาดเล็กรุ่นเด็ก เรียกว่า ‘ทหารมหาดเล็กไล่กา’ เพราะมีหน้าที่ไล่กาที่บินมากินข้าวสุกเวลาทรงบาตร และเข้าฝึกทหารแบบยุโรป

จากนั้นในปี พ.ศ. 2412 โปรดเกล้าฯ ให้คัดมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่อยู่ในวัยหนุ่มมาหัดทหาร พระราชทานเครื่องแบบ และให้ครูทหารราบหน้าเข้ามาฝึกถวายทอดพระเนตรในเวลาบ่ายทุกวัน แล้วจัดตั้งเป็นกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในปีต่อมา โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับตำแหน่งพิเศษเป็นโคโลเนล นายพันเอกพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นเล็บเตอร์เนนท์โคโลเนล นายพันโท ผู้บังคับการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เมื่อยังเป็นนายราชาณัติยานุหาร เป็นแอตยุแตนท์ (ปลัดกรม) และโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกองทหารมหาดเล็กออกเป็นกองร้อย เรียกว่า ‘กอมปานี’ มีถึง 6 กองร้อย

นายกอมปานีรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นตำแหน่งหลวงและตำแหน่งยศเป็นเอ็นไซน์ นายร้อยตรี และโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนพิเศษขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทยให้กับทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ มีหลักสูตร ๒ ปี เรียกว่า ‘คะเด็ตทหารมหาดเล็ก’

พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ทรงอยู่ในกอมปานีที่ 5 รับราชการในตำแหน่งนายร้อยตรี นับได้ว่าทรงเป็นผู้ใหญ่พร้อมที่จะออกวังแล้ว แต่วังสะพานถ่านซึ่งทรงได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงต้องประทับที่วังเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือป้อมมหาฤกษ์ไปก่อน

พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย จาก wikipedia

วังนี้มีเขตด้านเหนือต่อกับวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ด้านใต้จดป้อม รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระราชทานพระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์ พระราชโอรสประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ ธิดาเจ้าพระยานคร (น้อย) พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาเพียง 25 ปี ไม่ทรงมีพระทายาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานวังนี้แก่พระองค์เจ้าอมฤตย์ พระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งต่อมาทรงกรมเป็นกรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย ประทับอยู่มาจนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานวังริมแม่น้ำเหนือป้อมมหาฤกษ์ให้แก่พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าอุณากรรณ

เมื่อพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ลาผนวชสามเณรแล้ว ทั้งสองพระองค์พี่น้องจึงทรงหาแพมาจอดที่ริมน้ำหน้าวังเป็นที่ประทับ  สันนิษฐานว่าพระตำหนักใหญ่น่าจะสร้างด้วยไม้ ตามแบบวังยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และเมื่อแรกพระราชทานมาอาจจะค่อนข้างเก่า

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเล่าถึงความเป็นไปในพระบรมมหาราชวังช่วงนั้นว่า “เมื่อเริ่มรัชกาลที่ 5 ความเปลี่ยนแปลงกระทบถึงเจ้านายที่เป็นพระราชโอรสธิดาของทูลกระหม่อม ทำให้ผิดกับแต่ก่อนหลายสถาน เป็นต้นว่าแต่ก่อนมา เคยรักและเคารพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างเจ้าพี่ที่เป็นหัวหน้า ส่วนพระองค์ก็โปรดเล่นหัวกับเจ้านายน้องๆ เสมอ ครั้นเสด็จเสวยราชย์ พระองค์ต้องทรงประพฤติพระราชกิจของพระเจ้าแผ่นดิน แต่มิใช่เป็นพ่อเหมือนทูลกระหม่อม เจ้านายพวกพี่น้องเธอก็เกิดกลัวเกรง ไม่กล้าเข้าใกล้ชิดโดยวิสสาสะเหมือนแต่ก่อน แม้เจ้านายพี่น้องด้วยกันเองก็ต้องแยกกันไปตามชั้นพระชันษา พระองค์หญิงที่เป็นสาวไปเข้าอยู่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายใน พระองค์ชายที่เป็นหนุ่มต่างก็ออกไปอยู่วังต่างหาก เจ้าจอมมารดากับเจ้าน้องที่ร่วมเจ้าจอมมารดากันก็มักตามไปอยู่ด้วย”

เจ้าจอมมารดาเปี่ยมก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ออกจากพระบรมมหาราชวัง มาพักอยู่กับพระองค์เจ้าอุณากรรณ และพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์เสมอ และทรงพาพระองค์หญิงทั้งสามซึ่งยังทรงพระเยาว์มาเที่ยวเล่นด้วย ได้ทรงว่ายน้ำ และหัดพายเรือแจวเรือ โดยมีพระอภิบาล 2 ท่าน คือ ยายมา และคุณเหม ซึ่งเป็นพี่สาวร่วมบิดามารดากับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ความสนุกสนานที่วังใกล้ป้อมมหาฤกษ์นี้หยุดลง เมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงเข้าพิธีโสกันต์…

 

แหล่งข้อมูล

  • สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พระประวัติตรัสเล่า. (นนทบุรี: Mobile-E-Books, 2537)
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ. (พระนคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2505)
  • ยุวดี ศิริ, (2554, มิถุนายน), “คะเด็ตสกูล” จากมหาดเล็กไล่กา สู่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, ศิลปวัฒนธรรม

 

Don`t copy text!