สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 18 : โสกันต์

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 18 : โสกันต์

โดย : สิริทัศนา

Loading

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………….

 

ล้นเกล้าฯ พระชนม์ยังไม่ถึง 30 จึงยังไม่ทรงตัดจุก

เป็นแต่พระราชทานน้ำพระมหาสังข์

แล้วโปรดให้เจ้านายผู้ใหญ่ ที่เราจำได้

กรมเทเวศร์วัชรินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงตัด

 

พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงเข้าพิธีโสกันต์ในปี พ.ศ. 2415 พร้อมกับสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงเล่าไว้ในหนังสือ พระประวัติตรัสเล่า ว่า “เมื่ออายุเราได้ 13 ปี ล้นเกล้าฯ โปรดให้ตั้งพิธีโสกันต์เรากับเจ้าน้องอีก 4 พระองค์ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เราเป็นต้น กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เป็นที่ 2 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เป็นที่ 3 กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา เป็นที่ 4 น้องหญิงนงคราญอุดมดี เป็นสุดท้าย ข้างต้นอายุ 13 ที่สุด 11 ฟังสวด 3 วันโสกันต์วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช 1234 ตรงกับวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2415”

พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระองค์กลาง) ภาพจากเว็บไซต์เรือนไทย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ แต่มิได้ทรงตัดพระเมาฬี ด้วยเหตุที่ว่า “เป็นประเพณีที่ถือกันมาในพระวงศของทูลกระหม่อม ตามพระดำรัสห้ามของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัยยิกาของเราว่า พระชันษายังไม่ถึง 30 ห้ามไม่ให้ตัดจุก นี้มาสมเข้ากับธรรมเนียมในพระวินัยว่า มีพรรษายังไม่ครบ 30 (ที่นับอายุว่า 30) ห้ามมิให้เป็นอุปัชฌายะ และธรรมเนียมข้างวัดอังกฤษว่า ผู้จะเป็นบีชอบ คือเจ้าคณะต้องมีอายุได้ 30 แล้ว ตามธรรมเนียมนี้คงถือว่า คนที่จัดว่าเป็นผู้ใหญ่แท้อายุถึง 30 แล้ว

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ จาก http://sven-erik.org

“ล้นเกล้าฯ พระชนม์ยังไม่ถึง 30 จึงยังไม่ทรงตัดจุก เป็นแต่พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ แล้วโปรดให้เจ้านายผู้ใหญ่ ที่เราจำได้ กรมเทเวศร์วัชรินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงตัด คราวเราโสกันต์ ฤกษ์เช้าย่ำรุ่งแล้วเสด็จอาว์ผู้เคยทรงตัด เสด็จมาไม่ทันสักพระองค์ โปรดให้กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ พระเจ้าบวรเธอครั้งนั้น ที่เปลี่ยนมาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอครั้งนี้ ชั้นที่ 2 ทรงตัดพระองค์เดียว ท่านตัดเรา กรมพระสมมตอมรพันธุ์ และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์แล้ว กรมพระเทเวสร์วัชรินทร์และสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงเสด็จมาทันตัดกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา และน้องหญิงนงคราญอุดมดี กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ ทรงตัดเจ็บมาก บางทีจะเป็นเพราะกรรไกรดื้อ แต่ความรู้สึกว่าไม่เทียมหน้าพี่น้องผู้โสกันต์ไปแล้ว นำให้โทษท่านว่าทรงตัดไม่เป็น เราไม่เคยเห็นท่านทรงตัดที่ในวัง เราก็สำคัญว่าท่านไม่เคย แต่โดยแท้ท่านคงเคยในที่อื่นมามากแล้ว”

ครั้งนั้นมีแห่กระบวนน้อยทางข้างใน มีรายการแจ้งในโคลงวิวิธมาลีโสกันต์ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 5 นั้นแล้ว แต่รายการที่กล่าวถึงในโคลงนั้น โสกันต์คราวปีมะแมก่อนนี้ปีหนึ่ง ครั้งโสกันต์เจ้าพี่กาพย์กนกรัตน์ และกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ครั้งนี้เป็นที่ 3 เปรียบเทียบกับแห่โสกันต์ทางนอก ครั้งรัชกาลที่ 4 แปลกกันมาก แต่หากจะโปรดให้มีแห่เหมือนอย่างนั้น ก็คงไม่ครึกครื้นเหมือน เพราะผิดเวลาใครเขาจะมาเอาใจจอดอยู่ด้วย ทั้งท่านผู้ออกงานก็จะหานางสะและข้าหลวงหญิงชายตามไม่ได้ง่าย และการโสกันต์ยังจะมีติดกันไปทุกปี อย่างไรก็ต้องกร่อย จะให้ลำบากแก่คนมากและเปลืองเงินมากเพื่ออะไร ล้นเกล้าฯ ทรงเลิกแห่นอกเสียนั้น สมควรแท้ ได้รู้มาว่า ครั้งรัชกาลที่ 3 พระเจ้าน้องเธอ พระเจ้าลูกเธอ โสกันต์ในพิธีตราเป็นพื้น มีแห่เฉพาะบางครั้ง พระเจ้าลูกเธอดูเหมือนไม่แห่เลย เทียบกับครั้งนั้นก็ยังได้ออกหน้ากว่า ต่อมาถึงคราวพระเจ้าลูกเธอโสกันต์ โปรดให้แห่ทางในโดยมาก เห็นพระราชนิยมชัด”

กระบวนแห่ เครื่องแต่งพระองค์ และรายละเอียดพระราชพิธีโสกันต์สมัยต้นรัชกาลที่ 5 ปรากฏอยู่ใน โคลงดั้นเรื่องโสกันต์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งเมื่อพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ในปี พ.ศ. 2415

กระบวนแห่ในพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมขุนพิษณุโลกประชานารถ จาก pantip.com

บทพระราชนิพนธ์นี้เป็นร่ายสองตอน โคลงดั้นวิวิธมาลีเก้าสิบสองบท กับโคลงสี่สุภาพสองบท พรรณนาความวิจิตรงดงามของพระบรมมหาราชวัง ความสุขของข้าราชสำนัก และพระราชดำริให้จัดการแห่โสกันต์ พระราชพิธีวันแรกเริ่มตอนเย็น แต่งพระองค์เจ้านายที่จะโสกันต์แล้ว เชื้อพระวงศ์รับพระกรสู่เกยประทับพระเสลี่ยงเข้ากระบวนอิสริยยศ ทรงอธิบายเกี่ยวกับกระบวนแห่ ผู้คน การแต่งกาย อาวุธ และดนตรี เครื่องประโคม กระบวนแต่งเป็นชาวต่างชาติ กระบวนตำรวจ พระราชยานเสลี่ยงและคู่เคียงตามด้วยนางเชิญเครื่อง คุณเถ้าแก่พนักงานฝ่ายใน ขบวนการละเล่นเช่นโมงครุ่ม กระอั้วแทงควาย แทงวิไสย

เมื่อกระบวนแห่โสกันต์ถึงเกยเทียบพระราชยาน มีนางรับพระกรเจ้านายที่โสกันต์ไปยังมณฑลพิธีสงฆ์  เมื่อจบพิธีสวดมนต์แล้วตั้งกระบวนแห่กลับ ปฏิบัติอยู่ 3 วันจึงมีพิธีโสกันต์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้วเสด็จไปยังที่สรง เปลี่ยนเครื่องทรงไปถวายเครื่องบริหารพระสงฆ์ แล้วแห่กลับไปสมโภชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ กลับออกมาแจกเงินแก่ท้าวนางและพนักงานที่ปฏิบัติงานในพระราชพิธี

โคลงดั้นเรื่องโสกันต์ มีเนื้อความส่วนหนึ่ง (สะกดการันต์ตามแบบเดิม) ดังนี้

ร่าย – ศรีสวัสดิวิศาล สถานราชสถิตย์ วิจิตรประไพไพโรจน์ โชติ์ชัชวาลย์ชวลิต ดุสิตมหาปราสาท ราชมหามณฑยรรัตน์ คลังสมบัติโอฬาร ราชอุทยานอุดม เรือนบรมวงศานวงศ์ ตึกอนงค์กำนนน รยบรยงกนนสล้าง รถยาผ้างพื้นชาล บาลใจชมหกแหลง ทกตำแหน่งมอบปุลิต กิจพิทักษทกพาย โคมไฟราบรยบท่วว ม่ววหมู่หญิงคลาคล่ำ หลายส่ำหลายคณา เปรมปรีดาท่ววผู้ รู้แต่งกายอคร้าว บรานร้าวรอนทุกข์ ล้วนเสพยศุขบำเทองเรองร่า สิ่งสวัสดิ์เรื้องเรื้อง สะราญ

 

วยงวงงบรมราชเจ้า      จอมสยาม

ปราสาทรัตนพิมาน      อยาดฟ้า

สรรพสิ่งวิจิตรงาม      ฉลักลวด

กนกรัตนเรื้องจ้า      จับหาว

 

สถลมารคสอาดล้วน      เสลา ปูแฮ

ตึกหมู่แถวเต๊งยาว      ยืดสล้าง

ตำหนักพระวงษา      นุวงษรยบ รยงแฮ

ทกแหล่งเลอศล้ำสร้าง      สืบมา

 

แซ่ซ้องนองเนื่องหน้า      อเนกนนต์

ต่างศุขวายทุกขคลา      คลาดข้อง

หญิงป่วนปะปนกนน      สนุกนิ์รื่น เรองแฮ

บ้างเร่น่งงร้านค้า      รยกขาย

 

ปางทรงดำริห์ให้      แห่โส กนนต์แฮ

พระอนุชในสาย      ศักดิ์ไท้

เพื่อพระเกียรติภิญโญ      เจรอญยิ่ง ยศนา

เปนแบบแบบไว้ใช้      สืบไป

 

จัดการแปลงปล่ยนเยื้อง      อย่างเย

แห่แต่กำหนดใน      นิเวศน์วุ้ง

กะบวนต้นทยบแต่เกย      ผาสุ ฉนวนนา

ตรงลิ่วบ่เลี้ยวคุ้ง      เขตปราง

 

การเล่นทกสิ่งล้วน      ฝ่ายใน สิ้นแฮ

พิณพาทย์รายทางวาง      ช่องเว้น

เรบงอั้วอิกแทงวิไส      ญวนหก

ล้วนแต่หญิงแกล้งเหล้น      อย่างชาย

 

จิงโจ้ยืนรยบร้อย      ริมถนน

เสื้อจีบชายกระจาย      สุกจ้า

ถือปืนท่ววทกคน      พล่องแพล่ง

นายดาบเดอรด้อมถ้า      ถ่องถนน

 

ชายแสงสุริยใกล้      จวบเว ลาแฮ

เจ้าซึ่งโสกนนต์มา      พรั่งพร้อม

ผัดผิวพระภักตรเร      ณูรื่น รายเฮย

หล่าพระญาติห้อมล้อม      แต่งองค์

 

สนับเพลาเชิงเรื้อยสอด      ทรงกระสนน

ภูษิตทรงหางหงษ์      จีบห้อย

ฉลององค์ตาดหิรัญ      เจียรบาด รัดแฮ

เข็มขัดเพ็ชรพร้อยสร้อย      ถักทอง

 

สงงวาลเนาวรัตนเรื้อง      จินดา

วลัยวลีสวมสอง     หัตถ์ข้าง

ปวะหล่ำผูกเครื่องนา      นารูป สัตวแฮ

กรบาทฉลาดแสร้งสร้าง      สบสรรพ์

 

พระนวมประดับล้วน      หลากวิจิตร

บานพับต้นเข็มพันธ์      ผูกแหน้น

ทรงก้ยวประกอบทิศ      งามเลอศ

พิศเพรอศพริ้งแม้น      อะมร

 

ทรงกระบองเพ็ชรน้อย      ราชา วดีเอย

เชื้อพระวงษรับพระกร      สู่ไท้

ขึ้นเกอยกระบวนดา      ดยรดาษ

เสยงกรับรววเร้าให้      ประนม

 

แหล่งข้อมูล

  • พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, โคลงดั้นเรื่องโสกันต์. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2465. (พระเจ้าบรมวงศ์เธฮพระองค์เจ้าประภัศรโปรดให้พิมพ์มื่อปีจอ พ.ศ 2465)
  • สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พระประวัติตรัสเล่า. (นนทบุรี: Mobile-E-Book, 2537)
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ. (พระนคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2505)
  • บุหลง ศรีกนก, นามานุกรมวรรณคดีไทย http://www.sac.or.th

 

ซื้อหนังสือที่ www.naiin.com ไม่ว่าเล่มใดก็ตาม

ทุกยอดการสั่งซื้อจะมีส่วนแบ่งกลับมาเพื่อสนับสนุนเว็บไซต์อ่านเอา

ชุมชนแห่งการอ่านของพวกเรา : )

 

 

Don`t copy text!