สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 4 : อังกฤษ

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 4 : อังกฤษ

โดย : สิริทัศนา

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา พระสนมเอกในรัชกาลที่สี่ พระราชชนนีแห่งสมเด็จพระนางเรือล่ม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

Loading

 “พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ที่หนึ่งในรัชสมัยที่ล่วงมา

ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาถึงเขา (เซอร์จอห์น) อยู่เสมอ

โดยทรงใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่สละสลวย

ทรงเรียกเขาว่า ‘มิตรที่รักและนับถือของฉัน’

อังกฤษ

แม้สยามจะเสียเปรียบในการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง แต่ก็เป็นกุศโลบายสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้อังกฤษหาเรื่องไทยได้  ช่วงนั้นรัชกาลที่สี่ทรงปรับปรุงประเทศทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เทคโนโลยี หนังสือ และการค้า พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คนไทยค้าขายทำงานกับต่างชาติ ให้ต่างชาติเช่าที่ดิน และนำเงินเหรียญนอกมาใช้ในไทยเพื่อความสะดวกในการค้าขาย เพราะสมัยนั้น การ ‘แลกเปลี่ยน’ เงิน ต้องนำเหรียญไปหลอมดึงโลหะมีค่าออกมา ดังความในประกาศอนุญาตให้ใช้เงินเหรียญนอกครั้งที่ 1 ว่า

“ด้วยตั้งแต่เซอยอนโบวริงเข้ามาทำหนังสือสัญญาแล้ว มาจนถึงเดือนอ้ายปีมะโรง นักษัตรอัฐศก มีเรือลูกค้าต่างประเทศเข้ามาค้าขาย ณ กรุงเทพฯ ถึง 103 ลำ เรือลูกค้ากรุงเทพมหานครตกแต่งออกไปค้าขายต่างประเทศถึง 37 ลำ แต่เงินเหรียญเข้ามาซื้อสินค้าลำละสองหมื่นบ้างหมื่นหนึ่งบ้าง ห้าพันบ้าง เงินเหรียญจะใช้ซื้อสินค้ากับลูกค้าที่ในกรุงเทพมหานคร ก็ไม่มีผู้ใดจะรับเอาเงินเหรียญไว้ ด้วยการไม่เคยใช้มาแต่เดิม…”

“…นายห้างอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกัน ซึ่งเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร ต้องเอาเงินเหรียญเข้าไปวานช่างในคลังมหาสมบัติทำเงินตรา…”

“…เงินที่ลูกค้าเข้าไปวานทำหักไว้ชั่งละตำลึงสลึงนั้น เปนค่าถ่านเสียสลึงหนึ่ง ไล่เอาเนื้อทองแดงออกเสียสามบาท สูญเพลิงไปเสียบาทหนึ่ง แต่เนื้อทองแดงที่ไล่ออกไว้แต่สามบาทนั้น ก็พอคุ้มกันกับที่ลงทุนดีบุกชินเอาเลี้ยงเงินให้น้ำเงินใสบริสุทธิ์ ไม่มีเศษกำไรเลย…”

“…ลูกค้าเอาเงินไปวานทำแล้วจะเร่งเอาเงินตราออกมาซื้อสินค้าโดยเร็ว เจ้าของเงินหลายรายต่างคนก็รบกวนจะเอาเงินก่อน ช่างทำเงินก็มีน้อย… การทำเงินพดด้วงมีตรานั้นทำด้วยเครื่องมือไทย ไม่ได้ทำสำเร็จด้วยเครื่องมือเหมือนอย่างชาวประเทศยุโรป การจึงช้าไม่ทันใจลูกค้าทั้งปวง…”

“…จึงมิศแบลผู้ว่าการแทนกงสุลอังกฤษ ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายว่า ลูกค้าพานิชทั้งปวงเอาเงินเข้าไปให้ทำแล้ว ไม่ใคร่จะได้เงินตราออกมา ป่วยการในทางค้าทางขาย ขอให้ประกาศให้ใช้เงินเหรียญเสียในบ้านในเมือง จะไม่ได้ลำบากยากแก่ลูกค้าทั้งปวง และเงินซึ่งจะใช้นั้น ถ้ามากกว่าสิบชั่งขึ้นไปจะขอให้เงินเหรียญ ถ้าต่ำกว่าสิบชั่งลงมาผู้รับเปนราษฎรลูกค้าบ้านนอกไม่รู้จักเงินเหรียญ จะให้เปนเงินตราบาท… มิศแบลขอให้แลกใช้กันครั้งนี้ เงินร้อยเหรียญจะขอเงินแต่สองชั่งตำลึงกึ่ง จึงทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เงินเข้ามาในบ้านในเมือง ก็มีคุณกับแผ่นดินเปนอันมาก ด้วยราษฎรจะได้มั่งมีทรัพย์สินเงินทองบริบูรณ์ขึ้น…”

 

อังกฤษ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

แม้แต่เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ยังยอมรับนับถือในพระปรีชาสามารถที่ทัดเทียมชาวยุโรป ดังที่เลดี้เบาว์ริ่งเล่าไว้ใน บันทึกที่ระลึกถึงเซอร์จอห์น เบาว์ริ่งผู้ล่วงลับ ว่า “พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ที่หนึ่งในรัชสมัยที่ล่วงมา ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาถึงเขา (เซอร์จอห์น) อยู่เสมอ โดยทรงใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่สละสลวย ทรงเรียกเขาว่า ‘มิตรที่รักและนับถือของฉัน’ ”

“พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ที่หนึ่ง” หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะในรัชกาลนั้นมีพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถิตย์ในที่พระมหากษัตริย์ด้วย และเลดี้เบาว์ริ่งเขียนบันทึกนี้ในสมัยรัชกาลที่ห้า จึงใช้คำว่า ‘ในรัชสมัยที่ล่วงมา’

อย่างไรก็ตาม อังกฤษไม่ได้พอใจแค่การทำสนธิสัญญา ในปี พ.ศ. 2405 นั้น เรือรบอังกฤษสองลำเข้ามาทอดสมออยู่ที่สันดอนปากน้ำเมืองสมุทรปราการ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับกรณีนี้ ถึงกรมหมื่นบวรวิไชยชาญว่า

มีเรือกลไฟอังกฤษ 2 ลำ มาทอดอยู่นอกสันดอน แล้วกัปตันกับลูกเรือโดยสารเรือนำร่องเข้ามาแจ้งความที่ด่าน ว่าเรือรบ 2 ลำนี้ คือเรือที่ได้ยิงเมืองตรังกานู 200 นัด แล้วการประสงค์ไม่สำเร็จ จึงกลับไปเมืองสิงคโปร์ แล้วกอมมอโดร์ชื่อ เลอร์ด ยอน เฮ ลงในเรือคุมเรือรบเข้ามา จะต่อว่าความที่ตรังกานูนั้น ให้สำเร็จที่กรุงเทพฯ บัดนี้กอมมอร์โดร์ เลอร์ด ยอน เฮ ใช้ให้ถือหนังสือมาแจ้งความแก่กงสุลอังกฤษ ให้ทราบก่อน ฝ่ายกงสุลอังกฤษก็เสลือกสลนเขียนหนังสือบอกมายังเวรกรมท่าว่า เลอร์ด ยอน เฮ เปนใหญ่ในเรือรบหลายลำ ที่ประจำราชการในทเลอินเดีย… ตัวเลอร์ด ยอน เฮ จะขอเอาเรือรบขึ้นมาที่กรุงเทพฯ นี้ลำหนึ่ง การอย่างไรไม่ทราบ สุดแต่เสนาบดีฝ่ายไทยจะคิดเถิด  กงสุลเพียงแต่บอกให้รู้ตามคำ เลอร์ด ยอน เฮ สั่งมา

ขณะนั้นอังกฤษอยากได้ตรังกานู เพราะที่ตั้งทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายู เป็นรัฐใหญ่ติดกับทะเลจีนใต้ เป็นเส้นทางค้าขายมานาน แต่ติดที่ตรังกานูอยู่ใต้อิทธิพลของไทย จึงไม่ง่ายที่จะยึดครอง

เมื่อเรือรบอังกฤษเข้ามาถึงปากน้ำ เสนาบดีไทยก็ตกใจ และกงสุลอังกฤษได้ไปบอกนายห้างต่างๆ หลายแห่งว่าลอร์ดจอห์น เฮย์ คุมเรือรบในอินเดียหลายลำ มีอำนาจมากกว่ากงสุล นำเรือรบเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งนี้ อาจยิงแบบที่ตรังกานูก็ได้ ให้นายห้างรักษาสิ่งของให้ดี จึงเกิดข่าวลือกันทั่วไป

 

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา
สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ฉลองพระองค์แบบยุโรปในงานต้อนรับลอร์ดจอห์น เฮย์ พ.ศ. 2405

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงตื่นตระหนกด้วย และทรงส่งคนไปสืบตามกงสุลและนายห้าง ได้ความว่า “มิศเตอร์น๊อกคนเดียวไม่สทกสท้าน ขันว่าเลอร์ด ยอน เฮ จะมาว่ากล่าวกดขี่คุมเหงไทยอย่างไร จะไม่ยอมให้ทำ  เพราะการจะเกี่ยวข้องอย่างไร กงสุลจะได้ว่าก่อน ไม่ใช่ธุระของพวกเรือรบ จะมาล่วงบังคับบัญชา ถ้าพวกเรือรบจะขืนว่ากล่าวอย่างไรแก่ผู้ครองฝ่ายไทย มิศเตอร์น๊อกจะทำปรอเตศกล่าวโทษ ว่าข้ามล่วงเกินวิไศรย อำนาจกงสุลไป มีความผิดอยู่”

ทรงอ่านสถานการณ์ว่า อังกฤษจะมาให้ไทยจัดการกรณีสุลต่านตรังกานูมีปัญหากับปาหัง หรือยอมอนุญาตให้อังกฤษตีเมืองตรังกานู นอกจากนั้น อาจให้ไทยใช้ค่าเรือรบ ค่านายห้างที่ขาดทุนแร่ดีบุก ด้วยเหตุตรังกานูรบกับปาหัง หรือจะมาเพื่อออกตัวว่าเรือรบอังกฤษเพียงแต่ช่วยสิงคโปร์เท่านั้น และมาชิมลางลองใจไทย ว่าจะโกรธที่อังกฤษยิงตรังกานูหรือไม่

ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า สองประการหลังมีความเป็นไปได้มากที่สุด “ใน 6 อย่างที่เห็นว่าอย่างที่ 5-6 นั้นจะเปนถูก  จึงได้เขียนเรื่องราวทั้งปวงตามเหตุถ้วนถี่ไปหารือกงสุลอังกฤษ….. ให้กงสุลอังกฤษคิดกับเสนาบดีฝ่ายไทย….. ต่อเมื่อได้มาแต่เมืองลอนดอน จึงจะยอมเปนเสร็จตามที่ปฏิญาณไว้… เพราะกงสุลเปนธุระ เปนพนักงานที่จะว่ากล่าวอะไรๆ กับไทย ด้วยราชการทั้งปวง ที่จะให้พูดกับผู้อื่นมิใช่กงสุลก็ดี มิใช่ผู้รับสั่งมาแต่ลอนดอนก็ดี ไม่ต้องกับหนังสือสัญญา… ท่านเสนาบดีเห็นว่าชอบแล้ว จึงได้คิดเห็นพร้อมกันว่า ถ้าจะไม่ยอมให้เรือรบขึ้นมา จะเอาเรือกลไฟเล็กไปรับตัว เลอรด์ ยอน เฮ ขึ้นมาดังครั้งเซอร์เยมสบรุก ก็จะเปนที่ก่อเหตุให้เกิดวิวาทนอกเรื่องขึ้น ก็เมื่อเขาจะเข้ามาให้ได้แล้ว  ป้อมปากน้ำปากลัดจะจัดการต่อสู้ก็ไม่ทัน… เขาจะขัดขืนเข้ามาให้ได้โดยความขัดใจแล้ว เมื่อมาถึงป้อมใดๆ เขาก็จะให้ทหารขึ้นเอาเหล็กตะปูอุดชนวนปืน แลคัดปืนลงจากราง ทำการต่างๆ อย่างเช่นทำที่เมืองจีน แลอื่นๆ ไปไม่เข้าเรื่อง จึงเห็นพร้อมว่า ให้ทำหนังสือยอมลงไปให้ขึ้นมาโดยดี เมื่อมีเหตุอะไรก็ให้พูดกันฉัน เมืองเปนไมตรี  ได้แต่งให้พระยาพิพัฒนโกษา กับหม่อมราโชทัย รีบลงไปคอยรับอยู่ที่ด่านปากน้ำ เพื่อจะให้ไกล่เกลี่ยเกลี้ยกล่อมเสียให้ดี…”

ลอร์ดจอห์น เฮย์ นายพลเรือเอกแห่งราชนาวีอังกฤษ ผู้บัญชาการฐานทัพอีสต์อินดีสและจีน ที่ผ่านการรบในสงครามฝิ่นและสงครามไครเมียร์ กำลังจะเข้ามาที่กรุงเทพฯ และราชสำนักก็ต้องเตรียมการรับมือ…

—————————-

ภาพประกอบ :

4.1—พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

4.2—สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ฉลองพระองค์แบบยุโรปในงานต้อนรับลอร์ดจอห์น เฮย์ พ.ศ. 2405 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

 

Don`t copy text!