สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 11 : ที่นาพระราชทาน

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 11 : ที่นาพระราชทาน

โดย : สิริทัศนา

Loading

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………….

“นาที่ริมคลองมหาสวัสดิ์แปลง ๑

เป็นเนื้อนารวม ๓๐๐ ไร่

คุณตาจัดการทำ ได้ข้าวมาเจือจานกันกินบ้าง”

 

ที่นาพระราชทาน

โครงการขุดคลองมหาสวัสดิ์ เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2400 ช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ดังมีบันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ สรุปความได้ว่า…

เมื่อครั้งพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จยังเมืองนครไชยศรี ทรงพบพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่ง ยอดเป็นปรางค์ ฐานกลมเป็นรูประฆังราษฎรเรียกกันว่าพระปฐม มหาเจดีย์นี้ใหญ่กว่าเจดีย์อื่นในสยาม มีประวัติหลายสำนวน บางตำนานว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทม บ้างก็ว่าสร้างเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ 569 ปีบ้าง 1,000 ปีบ้าง พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทอดพระเนตรฝีมือทำอิฐและก่อ แล้วทรงวินิจฉัยว่าเห็นจะเป็นของทำแล้วเก่าแก่มาหลายครั้งหลายคราว และน่าจะมีพระบรมธาตุประดิษฐานไว้ จึงทรงพระจินตนาไว้ว่า “ถ้าได้สิริราชสมบัติแล้วจะทรงสถาปนาปฏิสังขรณ์ขึ้นไว้ให้จงได้” เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงทำตามพระราชประสงค์ เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นรัชกาล

พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ บันทึกไว้ว่า ระหว่างการบูรณะพระปฐมเจดีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะบูชา สมโภช บำเพ็ญพระราชกุศลและทรงแจกเงินแก่ราษฏร

ในสมัยนั้น ที่พระปฐมเจดีย์มีเหตุอัศจรรย์หลายวาระ เช่น “ปีฉลูสัปตศกเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน แล้วประทับอยู่ ๒ ราตรี ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นพระปาฏิหาริย์ในที่ประชุมพระวงศานุวงศ์ ข้าราชการได้เห็นด้วยกันมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระปีติโสมนัส รับสั่งว่าเหมือนผีหลอก ไม่รู้ที่จะว่าอย่างไรได้ เห็นจะเป็นไฟธาตุกินอยู่ในอิฐปูนถูกน้ำฝนเข้าก็เกิดเป็นรัศมีขึ้น ที่รับสั่งตรัสดังนี้ เพื่อจะมิให้คนที่ไม่ถือศาสนาพากันติเตียนได้ แต่ทองทศทองพิษมีอยู่ในฉลองพระองค์เท่าไร ก็เทออกพระราชทานให้เป็นส่วนพระราชกุศลจนสิ้น”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับไว้คู่กันกับวัดชื่อว่า วังปฐมนคร หรือเอกสารบางฉบับเรียกว่า ‘พระนครปฐม’ เหมือนสมัยอยุธยาที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างใกล้พระพุทธบาท วังปฐมนครเป็นสถาปัตยกรรมแบบตึกยุโรป ประกอบด้วยพระที่นั่ง พระตำหนัก โรงช้าง โรงม้า และอื่นๆ ปัจจุบันเหลือแต่ฐานพระที่นั่ง

วิถีชีวิตริมคลอง สมัยรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 5 ภาพจาก http://sven-erik.org

นอกจากนี้ ยังมีการขุดคลองขึ้นใหม่ เป็นเส้นทางเข้าไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ และเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน อีกทั้งเป็นทางลำเลียงสินค้า ข้าว อ้อย น้ำตาล จากพื้นที่ลุ่มน้ำนครชัยศรี ไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา พระราชทานชื่อว่าคลองเจดีย์บูชา และคลองมหาสวัสดิ์ ดังความตอนหนึ่งในหมายรับสั่งว่า…

“คลองวัดไชยพฤกษมาลา ขุดทะลุออกไปลำแม่น้ำเมืองนครไชยศรีนั้นยังหาได้พระราชทานชื่อคลองไม่ บัดนี้พระราชทานชื่อว่า คลองมหาสวัสดิ์ จะได้คู่กันกับคลองเจดีย์บูชานั้น ให้มหาดไทย กลาโหม กรมพระสัสดี หมายบอกพระราชวงศานุวงศ์ข้าราชการฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง ในพระบวรราชวัง อาณาประชาราษฎรให้รู้จงทั่ว ถ้าจะกราบบังคมทูลพระกรุณาฤๅผู้ที่มีกิจทำเรื่องราวถวายฎีกา แลจะต้องใส่หนังสือประการใด อ้างถึงคลองนี้ก็ให้เรียกว่าคลองมหาสวัสดิ์คลองหนึ่ง คลองเจดีย์บูชา คือคลองเข้าไปพระปฐมเจดีย์คลองหนึ่ง อย่าให้หลงลืมพลั้งพลาดได้ตามหมาย”

คลองมหาสวัสดิ์ขุดจากคลองลัดบางกรวย ที่วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร ไปบรรจบกับฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำนครชัยศรี ในตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีความยาว 684 เส้น เท่ากับ 27.36 กิโลเมตร เมื่อแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดสรรที่ดินรกร้างว่างเปล่าริมคลอง ให้เป็นที่นาพระราชทานแก่พระราชโอรสธิดา จำนวน 47 แปลง ตามร่างพระราชหัตถเลขาพระราชทานนา ในหนังสือ ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ว่า

“ด้วยหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ข้าพเจ้ายอมยกให้ (พระนาม) ให้ (พระนาม) จงเอาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ไปเป็นสำคัญแล้ว ขอให้เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี นำข้าหลวงไปรังวัดแล้ว ทำตราแดงให้เป็นสำคัญ ตามอย่างธรรมเนียมแผ่นดินเมืองเถิด”

ที่นาพระราชทานนี้มีนายกองดูแล สำหรับพระราชโอรสธิดาที่ยังทรงพระเยาว์ เจ้าจอมมารดาและพระญาติช่วยจัดการ ส่วนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ใน ความทรงจำ ว่า “นาที่ริมคลองมหาสวัสดิ์แปลง ๑ เป็นเนื้อนารวม ๓๐๐ ไร่ คุณตาจัดการทำ ได้ข้าวมาเจือจานกันกินบ้าง” ในสมัยนั้น ข้าวสารถังละ 50 สตางค์

ชื่อคลองมหาสวัสดิ์ ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี เมื่อเดือนสิงหาคม ปีระกา ร.ศ. 128 ตรงกับ พ.ศ. 2452 ที่ทรงมีไปถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราวุธ (พระยศในขณะนั้น) ทรงอธิบายเรื่องการขุดคลอง ประวัติคลองแต่ละสาย งบประมาณ และประโยชน์ใช้สอยที่ต่างกัน สำหรับคลองมหาสวัสดิ์นั้น ทรงเล่าว่าขุดขึ้น “เพื่อใช้เป็นเส้นทางหลักในการเสด็จพระราชดำเนินไปพระปฐมเจดีย์และเป็นคลองเปิดที่ให้เป็นนาสำหรับแจกพระเจ้าลูกยาเธอ”

ชุมชนแรกๆ ที่เข้ามาอยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์ ก็คือชาวจีนอพยพจากแมนจู ที่เข้ามารับจ้างขุดคลอง และต่อมาก็ทำไร่ทำสวน และมีกิจการค้าขาย นอกจากนี้ยังมีคนไทยที่ย้ายมาจากริมแม่น้ำนครชัยศรี บริเวณดอนหวาย ดาวคะนอง บางเตย

ริมคลองมหาสวัสดิ์ มีศาลาที่พักคนเดินทางทุก 100 เส้น หรือ 4 กิโลเมตร ศาลาที่ 1-4 มีกระดานเขียนตำรายาติดไว้เป็นวิทยาทาน เรียกว่า ศาลายา ต่อมากลายเป็นชื่อตำบล ศาลาที่ 5 เป็นศาลาทำศพ แล้วเปลี่ยนมาเขียนว่า ธรรมสพน์ ศาลาที่ 7 เรียกกันว่า ศาลาดิน

ชื่อศาลาเหล่านี้ มีอยู่ใน นิราศนราธิป ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงนิพนธ์เมื่อครั้งเสด็จโดยรถไฟผ่านคลองมหาสวัสดิ์ ไปประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ในปี พ.ศ. 2477 ว่า

“ถึงศาลาธรรมะสพน์ใคร่พบขรัว ที่เป็นตัวยั่วเหตุเทศะนา

เสียแรงหวังนั่งในรถไฟมา หรือศาลาทำศพจึ่งหลบองค์

ศาลายาแจกยาหรือขาหมอ ขอสักห่อเถิดพินิศพิศวง

เห็นแต่นาแต่นามพูดตามตรง ถึงแค่นลงรถไฟยาไม่มี

ถึงสุวรรณารามนั่นนามวัด เหมือนนามคลองมหาสวัสดีวิถี

วัดงิ้วรายฉายฉายาสถานี เป็นท่าที่เรือยนตร์ดลสุพรรณ”

ส่วนศาลาดิน ต่อมาเรียกกันว่า บ้านศาลาดิน ในปี พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์บริเวณนี้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ครอบครัวละ 20 ไร่ รวม 10,009 ไร่ ปลูกพืชผสมผสานหลากหลายชนิด และมีนาบัวสวยงามด้วย

……..

 

แหล่งข้อมูล

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ (พระนคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2505)
  • ญาณิชสา ศิริมูลกุล. ที่ดินพระราชทาน ชุมชนบ้านศาลาดิน . ใน. เช้านี้ที่หมอชิต (http://mediastudio.co.th/2017/10/10/207164/) 10 ตุลาคม 2560.
  • คลองขุดในประเทศไทย. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 33 เรื่อง 3.
  • อภิลักษณ์ เกษมผลกูล, พุทธมณฑลวัฒนา 60 ปี นายแพทย์วัฒนา เทียมปฐม คลังปัญญาแห่งชาวพุทธมณฑล (นครปฐม : หน่วยวิชาการเชิงสร้างสรรค์และชุมชนสัมพันธ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2557)

ภาพประกอบ

  • พระปฐมเจดีย์ ภาพจาก http://sven-erik.org
  • วิถีชีวิตริมคลอง สมัยรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 5 ภาพจาก http://sven-erik.org

 

Don`t copy text!