สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 21 : สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

โดย : สิริทัศนา

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………………………………….

 

“ประมาณปี พ.ศ. 2419 พระองค์เจ้าหญิงชั้นลูกหลวง

เข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์

เรียงตามลำดับพระชันษา คือ

พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

พระองค์เจ้าสุขุมาลย์มารศรี

พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี”

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบันทึกเรื่องยศ ตำแหน่งของพระภรรยาเจ้าไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม’ ว่า….

ผู้หญิงมีศักดิ์ ตั้งแต่พระอัครมเหสี จนถึงนางห้าม เจ้าต่างกรม ในเรื่องผู้หญิงนี้ยากที่จะว่าให้เป็นแน่ลงได้ ด้วยในเมื่อเราไม่ใคร่จะได้นับผู้หญิงตามสามี มักจะนับแต่ยศตามบิดาจึงจะกำหนดยากนัก ในที่สุดจนเมียในหลวงมีชื่อเรียกต่างๆ จะกำหนดว่าอย่างไรเพียงใด ก็ไม่มีกำหนด ด้วยตั้งแต่กรุงเก่ามาจนถึงบัดนี้ ยังไม่ได้ยินว่ามีการอภิเษกพระมเหสีอย่างไรสักครั้งหนึ่งเลย เป็นแต่มีอยู่ในหนังสือออกชื่อพระมเหสี แต่พระมเหสีนั้นจะเป็นขึ้นเมื่อไรก็ไม่รู้ เป็นแต่จะเรียกเมื่อไรก็เรียกไม่เห็นมีการตั้งแต่งกันจนสักครั้งเดียว คำที่เรียกนั้นก็มีหลายอย่างในกฎมณเฑียรบาล ที่เป็นของเก่าเห็นเรียกอยู่ตามอย่างเป็นสามชั้น

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์, สมเด็จพระพันปีหลวง (ภาพ : https://aroundsuannan.ssru.ac.th)
  1. ชั้น 1 เรียกว่าพระมเหสี
  2. ชั้น 2 เรียกว่าพระอัครชายา ที่มียศคล้ายกันกับพระมเหสี
  3. ชั้น 3 เรียกว่าแม่อยั่วเจ้าเมือง มียศต่ำลงมาหน่อยหนึ่ง ลางทีแม่อยั่วเจ้าเมืองขึ้นไปเป็นที่ 2 ก็มี แต่มีลูกเป็นสมเด็จลูกเธอทั้งสามชั้น มาภายหลังเป็นอัครมเหสีใหญ่ ราชมเหสีขวาพระมเหสีซ้าย พระราชเทวีก็มี แต่บางทีคนเดียวนั้น ลางทีเรียกว่าเป็นพระมเหสี ลางทีเรียกว่าพระอัครชายา ลางทีเรียกว่าพระราชเทวี ไม่รู้ว่าอย่างไรจะเป็นยศสูงกว่ากัน อย่างไรจะเป็นยศแน่เพราะไม่ได้จาฤกสุพรรณบฏ ตั้งพระอัครมเหสีสักครั้งหนึ่ง จะเทียบว่าเหมือนอย่างแคว้นเมืองต่างประเทศ ให้ชัดตรงทีเดียวนั้นไม่ได้ แต่จะไปเทียบว่าเป็นอื่นๆ นอกจากเป็นกวีน ก็เห็นจะไปเทียบไม่ได้ เพราะความยกย่องของไทยนั้น ก็เข้าใจว่าเป็นเมียหลวงของในหลวง แต่ไม่มีกำหนดว่ามีเท่าใด

“…ถ้าจะหากวีนเมืองไทยนี้ ที่ได้คราวคอรอเนชันแล้ว เห็นจะหาไม่ได้เลย เพราะธรรมเนียมแต่งงาน เจ้านายในเมืองไทยนี้ไม่มี เมื่อว่ากันตามเห็นตรงๆ อย่าว่าแต่เจ้าแผ่นดินเลย ถึงเจ้าฟ้าพระองค์เจ้า ก็ไม่ได้แต่งงานสักครั้งหนึ่งเลย

“ตามลัทธิข้างฝ่ายเรา พวกมีเมียมากที่ถือลูกเมียหลวงเมียน้อย ถือว่าถ้าเจ้านายองค์ใด มีพระราชโอรสพระราชธิดา ด้วยพระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าฟ้าก็ถือว่า เจ้าฟ้านั้นเป็นลูกเมียหลวง พระองค์เจ้าเป็นลูกเมียน้อย แม่ของลูกเมียหลวงก็ต้องเป็นเมียหลวงอยู่เอง ขุนนางก็เหมือนกัน มีเมียหลวงกี่คน ลูกก็เป็นลูกเมียหลวง เมียก็เป็นเมียหลวง จะมีกี่คนๆ ก็ได้ไม่มีกำหนด

“…แต่ตำแหน่งศักดินา สมเด็จพระบรมราชชนนี พระอัครมเหสี พระราชมเหสี พระมเหสี พระราชเทวี พระอัครชายา ฤๅอะไรๆ บรรดาที่เรียกเป็นเมียหลวงใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินนี้ ไม่มีในกฎหมายเหมือนเจ้านายข้างหน้าข้างใน แลพระสนมทั้งปวง...”

ยุคสมัยก่อนรัชกาลที่ 6 พระมเหสีเทวีทรงถวายตัวตามโบราณราชประเพณี ยังไม่มีพระราชพิธีอภิเษกสมรส พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือพระองค์เจ้าทักษิณชานราธิราชบุตรี ทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรส เป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในรัชกาล แต่มีพระชนมายุอยู่เพียงแปดชั่วโมงก็สิ้นพระชนม์ พระมารดาทรงเสียพระทัยจนพระสติวิปลาส

ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 พระนางเธอทั้งสามพระองค์ยังประทับอยู่กับเจ้าจอมมารดาเปี่ยมที่พระตำหนักใหญ่ของพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำกับดูแลการซ่อมแซมด้วยพระองค์เอง เช่นที่จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันบันทึกไว้ว่า

“เสด็จลงตำหนักพระองค์เจ้าสุนันทา กรมหมื่นเนรศตามเสด็จด้วย ทอดพระเนตรแต่งเรือน”

“บ่ายเสด็จลงตำหนักพระองค์เจ้าสุนันทา ทอดพระเนตรงานแก้เฉลียงหลังเก่าให้มีฝา”

“พระราชทานเงินเจ้าหมื่นสรรเพธทำตำหนักพระองค์สุนันทา 15 ชั่ง”

เดิมพระภรรยาเจ้าทั้ง 4 พระองค์ทรงมีพระเกียรติยศเสมอกัน  ในจดหมายเหตุรายวันออกพระนามว่า ‘พระองค์เจ้า’ ทั้งสี่พระองค์ ต่อมาเมื่อมีพระราชธิดาและพระราชโอรส จึงออกพระนามว่า ‘พระนางเธอ’

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (ภาพ : wikipedia)

พระองค์เจ้าสุขุมาลย์มารศรีทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์ก่อน จึงได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศ และเงินปีสูงกว่าพระองค์อื่น จากนั้น 9 เดือนต่อมา พระนางเจ้าสว่างวัฒนาก็ทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรส

“วันพฤหัสบดีแรม 12 ค่ำเดือน 7 ปีขาลสัมฤทธิศก 1240 เมื่อคืนนี้เวลา 3 ยามเศษ พระองค์เจ้าสว่างประชวรครรภ์แต่น้อยๆ เวลาโมงเช้าเสด็จลง ครั้นเวลาบ่าย 3 โมง 16 นาทีกับ 15 วินาที ประสูติพระราชกุมาร สมเด็จกรมพระ กรมหมื่นนเรศ กรมหมื่นพิชิต เทวัญ เข้าไปเฝ้า รับสั่งให้เข้าไปชม แล้วกรมหมื่นนเรศผูกกระโจม อินทสุริยาเชิญเสด็จขึ้นพระแท่นแล้วเสด็จกลับ”

แรกทีเดียว จะพระราชทานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอว่า มหาอุณหิศ แต่ทรงมีพระราชปรารภกับกรมหมื่นนเรศว่า เมื่อเขียนเป็นตัวอังกฤษแล้ว ผู้รู้ดิกชันนารีคงจะอ่านว่า อุณหิศ ที่ไม่รู้ก็อ่านว่า อันหิศ “ถ้ามีผู้ไม่ชอบใจก็จะแปลเล่นต่างๆ เหมือนสมเด็จเจ้าพระยาแปลเล่น”

ด้วยเหตุผลนี้ จึงพระราชทานพระนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวิชรุณหิศ อดิศรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรสมมติเทพยวรางกูร บรมมกุฏนเรนทร์สุริยขัตติยสันตติวงศ์ อุกกฤษฎ์พงษ์วโรภโตสุชาติ ธัญญลักษณวิลาศวิบูลย์สวัสดิ์ ศิริวัฒนราชกุมาร’  พระราชทานทองคำบ่อเมืองกระบินทรบุรี เนื้อ 8 หนัก 5 ชั่ง 1 บาท 1 เฟื้อง 4 ไพ และในการสมโภชเดือน มีทองคำใบพระราชทานอีกหนัก 10 ตำลึง กาทองคำสลักใบ 1 ขันทองสรงพระพักตรลงยา 1 เงินแท่งญวน เงินตรา เสด็จลงตำหนักสมโภชเดือนพร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชการ เจ้านายผู้หญิงวังหน้า เจ้านายผู้ชายวังหลวง

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอประสูติไม่นานก็ทรงพระประชวร จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกไม่เสด็จออกขุนนาง และมีบันทึกในจดหมายเหตุพระราชกิจว่า “เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศประชวรมากไป หมอนั้นแฉะเสียเฉย จึงโปรดให้เปลี่ยนหมอชะเลยศักดิ์ หมอจ๋ายเข้ามาถวายยาก็ค่อยคลายลง”

ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น พระองค์เจ้าสุนันทา ทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ และในเดือนธันวาคม พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย เมื่อพระนางเธอทั้งสามพระองค์ทรงมีพระราชโอรสธิดาแล้ว จึงได้รับพระราชทานพระเกียรติยศและเงินเดือนเท่ากับพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี กับเบี้ยหวัดอีกองค์ละ 20 ชั่ง ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพนักงานผู้รักษาเงินกรมพระคลังมหาสมบัติว่า

“ด้วยเงินประจำเดือนสุนันทากุมารีรัตน์ สว่างวัฒนา เสาวภาผ่องศรี เดิมได้เดือนละ 2 ตำลึง สุขุมาลย์มารศรีเดิมได้เดือนละ 5 ตำลึงนั้น ให้ขึ้น สุนันทา สว่างวัฒนา เสาวภาผ่องศรี อีกคนละ 5 ตำลึง สุขุมาลย์อีกเดือนละ 2 ตำลึง เป็นเดือนละ 7 ตำลึงทั้ง 4 คน ตั้งแต่เดือน 4 ปีขาล สัมฤทธิศกนี้ไป

อนึ่ง ลูกชายหญิงที่เป็นเจ้าฟ้านั้น ให้ตั้งเงินเดือนเท่ากับเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ เดือนละ 3 ตำลึง ดังเช่นสั่งมาแต่ก่อนนั้นเสมอทุกคนไป ไม่ต้องมีใบสั่งออกมาอีก”

แหล่งข้อมูล :

  • พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค 1. (พระนคร : โรงพิมพ์สยามพาณิชยการ, 2476)
  • พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม. (พระนคร : โรงพิมพ์ลี่ยงเซียงจงจริญ, 2511)

Don`t copy text!