สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 23 : โปรดเกล้าฯ สถาปนา

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 23 : โปรดเกล้าฯ สถาปนา

โดย : สิริทัศนา

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………………………………….

“มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง

ให้สถาปนาพระนามพระอัฐิพระอัยยิกาขึ้นเป็น

สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

ขอให้พระเกียรติคุณวิบุลยวรยศปรากฏสืบไปกาลนานเทอญ”

 

พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ซึ่งประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ทรงเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่ราชการด้วยกันทั้งสองพระองค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ องค์สุดท้อง ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมพระองค์แรก เป็นต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์ และทรงเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระราชินีในรัชกาลที่ 7

เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมห่วงใยกรมพระสวัสดิ์ฯ เป็นพิเศษ เมื่อครั้งที่ทรงถูกสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ กริ้ว เจ้าคุณจอมมารดาก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษว่า “เลิกโกรธน้องเสียที คอยเป็นที่พึ่งของน้องด้วย…” ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ก็ทรงปฏิบัติตาม และต่อมา ได้พระราชทาน ‘วังนอก’ หรือวังปทุมวัน เนื้อที่ 18 ไร่ ตรงข้ามวังวินด์เซอร์ ให้เป็นที่ประทับของกรมพระสวัสดิ์

ส่วนวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ คือวังเดิมของพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ที่สะพานถ่าน เป็นอาคารทรงนีโอคลาสสิก ก่อสร้างโดย นายช่างโยอาคิม แกรซี แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2422 เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมมาที่วังนี้เสมอ ดังที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันว่า “เรามากินข้าวกับน้องชายโต สองทุ่มแล้วกลับมาเรือน พบคุณยายที่หน้าห้องบัว คุณยายเล่าให้เราฟังว่าไปนอนวังนั่งคุยกับเสด็จลุงจนสามยาม เสด็จลุงเล่าเรื่องฝรั่งปลูกหมาบ้า ฟังก็สนุกดี ขันๆ เราหาวนอน ขึ้นไปนอนเกือบยาม”

เรื่อง ‘ปลูกหมาบ้า’ มีอยู่ว่า…ในยุโรปปีนั้น หลุยส์ ปาสเตอร์ ทดลองวัคซีนแก้โรคกลัวน้ำสำเร็จ โดยฉีดให้ โยเซฟ ไมสเตอร์ ช่วยให้พ้นจากความตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ที่เรียกกันว่า ‘ปลูกหมาบ้า’ เห็นจะมาจากการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ ที่หมอบรัดเลนำมาทำในไทย

ช่วงปัจฉิมวัย เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการจวบจนถึงแก่พิราลัย ณ วังสะพานถ่าน ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2447 สิริอายุ 66 ปี ด้วยเหตุที่ท่านพำนักที่นี่ การบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานจึงจัดที่วัง โดยสมเด็จพรางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ท้าววรคณานันท์ (ม.ร.ว. ปั้ม มาลากุล) จัดทำมาลัยไปเคารพศพตลอดงาน ครั้งนั้น สมเด็จฯ ทรงคิดค้นวิธีกรองมาลัยด้วยกลีบดอกไม้และใบไม้เป็นลวดลายต่างๆ อย่างที่นิยมกันมาถึงทุกวันนี้

พิธีพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาเปี่ยมจัดเป็นงานใหญ่ ที่เมรุสวนมิสกวัน ต่อจากงานพระเมรุพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช (พระยศในขณะนั้น) โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบพัดรองที่ระลึก และมีการประกวดเครื่องโต๊ะที่พลับพลาทรงธรรมและโรงสังเค็ด ผู้ชนะได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เหรียญรางวัลและเครื่องสังเค็ด ทานวัตถุที่ถวายแก่สงฆ์ผู้เทศน์หรือบังสุกุลในงานนี้ออกแบบเป็นรูปหม้อลักจั่น คือหม้อน้ำที่ใช้สำหรับบรรจุน้ำในเวลาเดินทางอย่างที่พระธุดงค์ใช้

เมรุพิธีพระราชทานเพลิงศพ เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม

เมื่อเสร็จการเมรุแล้ว มีพิธีเก็บอัฐิ แห่ไปยังวังสราญรมย์ ต่อมา ได้เชิญสรีรางคารไปบรรจุ ณ วิหารพระอัยกา วัดราชาธิวาสวรวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยประทับเมื่อทรงผนวช

วิหารพระอัยยิกานี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างตามพระราชประสงค์สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรงสถาปนาอนุสาวรีย์ที่บรรจุพระอังคารไว้ เพื่อให้เป็นที่บำเพ็ญราชกุศล แลให้ชักชวนชนเห็นเปนการเจริญบุญวิริยา และได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ก่อนแล้ว

วิหารพระอัยยิกาเป็นทรงจตุรมุข ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะคันธารราษฎร์ขนาดเท่าคนจริง ใต้ฐานพระพุทธรูป  บรรจุพระสรีรางคารพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุณากรรณฯ และสรีรางคารท้าวสุจริตธำรง (นาค) เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมไว้ เบื้องขวาพระพุทธรูปประดิษฐานรูปสลักหินอ่อน สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เบื้องซ้ายของพระพุทธรูปประดิษฐานรูปหล่อสำริด สมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฏ์ และมีแผ่นศิลาจารึกพระพุทโธวาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในภาษามคธ เป็นปัจฉิมวาจาว่า

ยํยํ มรณํ สัต์ตานํ

ตํ อนัจ์ฉริยํ

ยโต เอตํ สัพ์เพสํ มัค์โค

อปัปมัต์ตา โหนตุ

ความตายของสัตว์ทั้ง หลายใด ใดเฮย

ไม่ประหลาดคือใคร ห่อนแคล้ว

เพราะเปนทางที่ไป ทั่วทุก หน้าแฮ

อย่าปรมาทหลงแล้ว ทุกข์สิ้น สู่เกษม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม เป็นสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ดังความในประกาศสถาปนาพระนามพระอัฐิพระอัยยิกาว่า

“มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ได้ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงคุณูปการ และคุณสมบัติ ความดีงามแห่งพระอัยยิกาซึ่งพิราลัยแล้วนั้น ด้วยท่านได้เป็นพระสนมเอก ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราชเจ้า ทรงพระกรุณายิ่งนัก ด้วยมีความซื่อตรงจงรักและสวามิภักดิ์รักษาธรรมสุจริตโดยมั่นคงมาจนตลอดอวสานกาล ทั้งเป็นผู้ประกอบด้วยบุญญาภินิหาร ควรเห็นเป็นมหัศจรรย์ กล่าวคือได้เป็นพระราชชนนีของพระอัครมเหสีถึง 3 พระองค์ คือ

  1. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  2. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
  3. สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

และได้เป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับทั้งสมเด็จเจ้าฟ้าอีกหลายพระองค์ ได้เคยมีอุปการคุณในส่วนพระองค์ กับทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ และพระประยูรญาติมาเป็นอันมาก จึ่งเป็นที่ทรงพระอาลัยระลึกถึงยิ่งนัก ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระอัยยิกาเป็นผู้ทรงพระคุณสมบัติประเสริฐเห็นปานนี้ จึ่งสมควรที่จะทรงสถาปนาพระนามพระอัฐิขึ้นไว้ในพระเกียรติยศอันสูงศักดิ์

จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้สถาปนาพระนามพระอัฐิพระอัยยิกาขึ้นเป็น สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ขอให้พระเกียรติคุณวิบุลยวรยศปรากฏสืบไปกาลนานเทอญ

ประกาศมา ณ วันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2466 เป็นปีที่ 14 ในรัชกาลปรัตยุบันนี้”

วังสะพานถ่าน (ภาพ : เพจตึกรามบ้านช่อง)

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ทรงเป็นพระอัยยิกาของพระมหากษัตริย์และสมเด็จเจ้าฟ้ารวม 18 พระองค์ ดังนี้

ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์

ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ต้นราชสกุลมหิดล

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ไม่มีพระนาม)

ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง       

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ต้นราชสกุลจักรพงษ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์

สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ในวันที่ประสูติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ต้นราชสกุลอัษฎางค์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ต้นราชสกุลจุฑาธุช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

แหล่งข้อมูล :

  •  ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนา เรื่อง สถาปนาพระนามพระอัฐิ พระอัยยิกา, เล่ม 40, ตอน 0 ก, 1เมษายน พ.ศ. 2466, หน้า 1
  • สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (กรุงเทพฯ : บรรณกิจเทรดดิ้ง, 2550)
  • สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2551)
  • _______, สุจริตกุล, พิมพ์ครั้งที่ 1 (กรุงเทพฯ : สายธุรกิจการพิมพ์ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2557)

 

Don`t copy text!