สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 16 : ปีแรกในรัชกาลที่ 5

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 16 : ปีแรกในรัชกาลที่ 5

โดย : สิริทัศนา

Loading

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………….

“ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411

ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา “

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา

ในปีแรกของรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงเวลาที่พระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังประดิษฐานอยู่ ณ พระมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทุกวัน และเสด็จออกขุนนางวันละสองครั้ง เช้าและค่ำ ทรงมีพระราชอุตสาหะในการประกอบพระราชกรณียกิจ แม้จะประชวรในช่วงแรก และมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ก็ตาม

พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายเมื่อแรกบรมราชาภิเษก ทรงสายสะพายและดาราออสเตรีย กับดารานพรัตน์ และดาราช้างเผือกพิเศษ ครั้งรัชกาลที่ 4 จาก จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน / พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทุกวันที่เสด็จออกขุนนางบนพระมหาปราสาท ข้าราชบริพารและเจ้านายจะพากันไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งรวมถึงเจ้านายเล็กๆ ที่เสด็จไปทางข้างในกับเจ้าจอมมารดา ส่วนพระราชอนุชารุ่นกลางและรุ่นใหญ่ตามเสด็จทางข้างหน้า มีหน้าที่ทอดผ้าสดับปกรณ์รายร้อยกับถวายเทียนพระสงฆ์เมื่อเสร็จพิธีเวลาค่ำด้วย

ทั้งราชสำนักไว้ทุกข์ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมที่มีรายละเอียดมาก เครื่องแต่งตัวไว้ทุกข์ในสมัยโบราณมีหลายแบบและขึ้นกับอาวุโสของผู้วายชนม์ มิใช่เพียงนุ่งห่มขาว แต่ยังมีขาวล้วน ดำล้วนห่มขาว นุ่งผ้าลายพื้นขาวเสื้อขาว งานเจ้านายมีกำหนดแต่งขาวล้วนแต่เวลาชักพระศพและพระราชทานเพลิง วันอื่นๆ แต่งขาวลาย และยังมีการนุ่งผ้าลายสีน้ำเงิน สีม่วง ห่มแพรขาว หรือใส่เสื้อแพรสีกุหร่า

สำหรับการไว้ทุกข์เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต แต่งขาวทั้งราชสำนัก และโกนศีรษะ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยไว้ใน สาสน์สมเด็จ ว่า เป็นประเพณีที่มาจากอินเดีย สมัยพระเจ้าอักบาร์มหาราช ทรงโกนพระเกศาไว้ทุกข์ถวายพระราชชนนี คนไทยทั่วไปในสมัยโบราณ เมื่อไว้ทุกข์ให้ญาติผู้ใหญ่ ก็จะโกนผมด้วย กรณีเจ้านายสิ้นพระชนม์ มีข้อกำหนดว่าให้โกนเฉพาะคนในสังกัดเท่านั้น ผู้ไม่เกี่ยวข้องไม่ต้องไว้ทุกข์ ดังประกาศรัชกาลที่ 4 เรื่องห้ามมิให้ผู้ที่มิได้สังกัดวังหน้าโกนผม เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต

“มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่าในการสวรรคตในพระบวรราชวังครั้งนี้ ข้าราชการแลราษฎรไพร่หลวงสังกัดพรรค์ทาส เชลย บรรดาที่มิใช่สังกัดขึ้นขาวังหน้าทั้งชายทั้งหญิง เว้นแต่ข้าเจ้าที่สิ้นพระชนม์ แลบ่าวนายตายแลที่บิดามารดาตายแลหญิงผัวตายแลแขกที่เคยโกนอยู่โดยปรกติ นอกนั้นอย่าให้พลอยโกนผมเลยเปนอันขาดทีเดียว ถ้าผู้ใดมิทันรู้พลอยโกนผมเกินไปแล้ว ให้ผู้นั้นมาลุแก่โทษต่อจมื่นราชามาตย์โดยเร็ว ถ้าไม่มาลุแก่โทษนิ่งนอนใจเสียมีผู้ส่อนำจับตัวมาได้จะให้ปรับไหมมีโทษแก่ผู้นั้นเปนการล่วงพระราชอาญา ถ้ามาลุแก่โทษแล้วรับตั๋วประทับตราไปเปนสำคัญ”

ในการไว้ทุกข์ถวายพระมหากษัตริย์ ทั้งขุนนาง ชาววังและราษฎรทั่วไปโกนศีรษะกันทุกคน เดือนละครั้งจนสิ้นสุดพระราชพิธีพระบรมศพ ยกเว้นผู้ที่ไว้ผมจุก ผมเปีย ผมมวย

นอกจากนี้ ตามประเพณีโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา ตามคำให้การขุนหลวงหาวัด เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต เจ้าจอมบาทบริจาริกาและข้าราชบริพารฝ่ายในมีหน้าที่อีกประการหนึ่งคือ เป็นนางร้องไห้ ใช้นางในนับร้อยคนร้องตามบทในเวลาประโคมย่ำยาม เพื่อแสดงความจงรักภักดี ขอตามไปปรนนิบัติบนสวรรค์

พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 4 จาก pantip.com

คำให้การขุนหลวงหาวัด อธิบายถึงการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า “แล้วจึงกะเกณฑ์ให้พระสนมกำนัลทั้งปวงมานั่งห้อมล้อมพระบรมศพ แล้วก็ร้องไห้เปนเวลาหน้าที่เปนอันมาก แล้วมีนางขับรำเกณฑ์ทำมโหรี กำนัลนารีน้อยๆ งามๆ ดั่งกินร กินรี มานั่งห้อมล้อม ขับรำทำเพลงอยู่เปนอันมาก แล้วจึงให้ประโคมฆ้อง กลอง แตรสังข์ และมโหรีปี่พาทย์อยู่ทุกเวลา”

ในหมายรับสั่งงานพระเมรุสมเด็จพระศรีสุลาลัย มีบทร้องของนางร้องไห้จดไว้ว่า

“พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย

พระเสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นใด ข้าพระบาทขอตามเสด็จไป พระพุทธเจ้าข้าเอย

พระยอดฟ้า พระสุเมรุทอง พระพุทธเจ้าข้าเอย”

เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดนางร้องไห้ แต่ประเพณีนี้ยังมีต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงยกเลิกไป

หลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หน้าที่ของเจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 ก็สิ้นสุดลง คำเรียกขานเปลี่ยนจากเดิม “เจ้าจอมมารดาเปี่ยม” เป็น “เปี่ยมเจ้าจอมมารดา” เพื่อแสดงว่าเป็นเจ้าจอมในรัชกาลก่อน ภายหลังจึงมาปรับอีกครั้ง เป็น เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ 4

เครื่องยศจากหีบหมากลงยาและพานทองเครื่องยศพระสนมเอก กลายเป็นหีบหมากทองอย่างท้าวนาง และลดเบี้ยหวัดเหลือท่านละ 2 ชั่งต่อปี ยิ่งต้องประหยัดจากเดิมที่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมมัธยัสถ์อยู่แล้ว เช่นฉลองพระองค์ของพระราชโอรสธิดาทรงรับช่วงกันเป็นทอดๆ และเครื่องเสวยซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาฯ ตรัสเล่าในภายหลังว่า เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ว่า โปรดเสวยเซ่งจี๊ แต่ “ฉันน่ะได้กินแต่บะช่อ   พอวันไหนมีพวกพ้องทางบ้านเขาเอาหมูมาให้ แกงบะช่อวันนั้นก็มีหมูมาก ถ้าวันไหนต้องจ่ายเอง ก็มีหมูน้อย มีแต่ต้นหอม”

ในแผ่นดินใหม่ซึ่งมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เจ้าคุณหญิงนุ่ม ธิดาเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินของพระราชโอรสธิดา และเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4 โดยมีพระองค์เจ้าหญิงลม่อม ทรงกำกับดูแลเขตพระราชฐานชั้นใน พระองค์เจ้าหญิงลม่อม ซึ่งชาววังออกพระนามว่า ‘ทูลกระหม่อมแก้ว’ ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 และทรงเป็นผู้อภิบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ทรงพระเยาว์ ทรงยกย่องเป็น ‘เสด็จยาย’ ต่อมาทรงสถาปนาเป็นสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

นอกจากการทำบัญชีทรัพย์สิน ยังมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกาย จากนุ่งโจง และแต่งแหม่มออกงานต้อนรับพระราชอาคันตุกะ แต่งชุดทหารสกอตบังคับม้าตามเสด็จแปรพระราชฐาน มานุ่งผ้าจีบหน้านาง อย่างสมัยรัชกาลที่ 3 กฏระเบียบที่เคร่งครัดกว่าเดิม และความรู้สึกว่าถูกลดยศตำแหน่ง ทำให้เจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 หลายท่านเศร้าหมองและอึดอัด

แม้แต่พระองค์เจ้าเล็กๆ ที่เพิ่งมีพระชันษาย่าง 9 ปี อย่างพระองค์เจ้ามนุษยนาคมาณพ ยังทรงรู้สึกได้ถึงพระฐานะที่ต่างไปจากเดิม ต่อมาเมื่อทรงเจริญวัย เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบันทึกไว้ใน พระประวัติตรัสเล่า ว่า “เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแห่งความเป็นไปของพวกเราเป็นครั้งแรก คนผู้เคยนับถือ และฝากตัวก็จืดจางไป คนที่เราไม่เคยเกรง ก็ต้องเกรง ส่วนลาภก็น่าจะเป็นตามกัน…

“สมัยที่พวกเรามาถึงเข้าบัดนั้น ช่างเป็นคราวที่พวกเจ้านายตกต่ำนี่กระไร…”

………………………………………………………………..

แหล่งข้อมูล

  • สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พระประวัติตรัสเล่า. นนทบุรี: Mobile-E-Books, 2537
  • เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 4. พระนคร : โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, 2477
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ. พระนคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2505
  • สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ. พระนคร : สำนักพิมพ์ศยาม, 2537
  • นนทพร อยู่มั่งมี, ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2551

 

**พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายเมื่อแรกบรมราชาภิเษก ทรงสายสะพายและดาราออสเตรีย กับดารานพรัตน์ และดาราช้างเผือกพิเศษ ครั้งรัชกาลที่ 4 จาก จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน / พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 4 จาก pantip.com

 

Don`t copy text!