สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 2 : อุณากรรณ

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 2 : อุณากรรณ

โดย : สิริทัศนา

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา พระสนมเอกในรัชกาลที่สี่ พระราชชนนีแห่งสมเด็จพระนางเรือล่ม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

Loading

อิเหนา เข้ามาเป็นวรรณคดีไทยในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ใน ‘ตำนานอิเหนา’  

เจ้าฟ้ากุณฑลทรงแต่งเรื่อง ดาหลัง ที่ต่อมาเรียกว่า ‘อิเหนาใหญ่’

เจ้าฟ้ามงกุฏทรงแต่ง ‘อิเหนาเล็ก’ ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า

เหตุผลที่ทรงแต่งเป็นบทละคร เพราะพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดการละคร

 

 

อุณากรรณ

คุณเปี่ยมได้ออกแสดงในละครหลวงครั้งแรกเมื่อไรไม่มีบันทึกไว้ แต่ที่ทราบกันดีคือ ท่านรับบทเป็น ‘อุณากรรณ’ ในเรื่อง อิเหนา ซึ่งเป็นวรรณคดีที่มีเค้าโครงจากเรื่องจริง

อิเหนาเป็นกษัตริย์ชวาตะวันออกที่ผู้คนนับถือ เป็นมหาราชและกลายเป็นตำนาน มีชีวิตอยู่ประมาณสมัยสุโขทัย ที่ชวาเรียกว่าอิเหนา กรัตปาตี หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ปันหยี เมืองสิงหัดส่าหรี และดาหา ก็มีอยู่จริง สิงหัดส่าหรีเป็นอาณาจักรที่เคยรบกับศรีวิชัยด้วย

อิเหนาในชวาเป็นทั้งนิทาน วรรณกรรม ละครสวมหน้ากาก และหุ่นเงาที่เรียกว่าวายังกุลิต ตำนานอิเหนาในชวามีหลายสำนวน แบบที่คล้ายไทยที่สุดเล่าว่า…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เจ้าชายปันหยีแห่งกุเรปัน หมั้นหมายกับเจ้าหญิงจันทรากิระณาแห่งดาหา แต่เจ้าหญิงหายไปในคืนก่อนวิวาห์ และต่อมาปลอมองค์เป็นชาย ใช้ชื่อว่ากุดานาราวังสา

เรื่อง อิเหนา เข้ามาเป็นวรรณคดีไทยในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ใน ‘ตำนานอิเหนา’ สรุปได้ว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยา มีพระราชธิดาด้วยเจ้าฟ้าสังวาลย์ ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้ากุณฑลกับ เจ้าฟ้ามงกุฎ พระพี่เลี้ยงของเจ้าฟ้าราชธิดาเป็นหญิงมลายูจากปัตตานี ได้เล่านิทานเรื่อง อิเหนา ถวาย เจ้าฟ้าจึงทรงแต่งบทละครขึ้นองค์ละเรื่อง เจ้าฟ้ากุณฑลทรงแต่งเรื่อง ดาหลัง ที่ต่อมาเรียกว่า ‘อิเหนาใหญ่’ เจ้าฟ้ามงกุฏทรงแต่ง ‘อิเหนาเล็ก’ ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า เหตุผลที่ทรงแต่งเป็นบทละคร เพราะพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดการละคร

 

ละครรำ

 

หนังสือ บุรโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาควัดท่าทราย แต่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กล่าวถึงละครหลวงเล่นมหรสพสมโภชพระพุทธบาทว่า

 

“ฟายฟ้อนละครใน

บริรักษ์จักรี

โรงริมคิรีมี

กลลับบ่แลชาย

ล้วนสรรสกรรจ์นาง

อรอ่อนลอออาย
ใครยลบ่อยากวาย

จิตเพ้อมะเมอฝัน

ร้องเรื่องระเด่นได้

บุษบาตุนาหงัน

พาพักคุหาบรร

พตร่วมฤดีโฉม”

 

ต่อมาเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงสรวิชิตในสมัยกรุงธนบุรี แต่งคำฉันท์เรื่อง อิเหนา จากต้นเค้า อิเหนาเล็ก ขึ้นต้นว่า

 

 

“ปางนั้น                บรมวงศ์องค์อสัญแดหวา

อุ้มองค์วนิดา      กรตระกองตระการชม”

 

มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่หนึ่ง ทรงฟื้นฟูประเทศในทุกด้าน รวมถึงมหรสพและวรรณคดี ทั้งเรื่อง ดาหลัง และ อิเหนา ที่โปรดฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการรวบรวมกลอนจากกรุงเก่ามาแต่งเสริม ดังหลักฐานเพลงยาวเก่า กล่าวไว้ว่า

 

“อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง

สำหรับงานการฉลองกองกุศล

แต่ก่อนเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์

แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป

หากพระองค์ทรงพิภพปรารภเล่น

ให้รำเต้นเล่นละครคิดกลอนใหม่

เติมแต้มต่อติดประดิษฐ์ไว้

บำรุงใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่สอง ทรงพระราชนิพนธ์ อิเหนา ขึ้นใหม่ เป็นบทละครเพื่อให้เหมาะสมกับการแสดง และนิยมกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน ใน อิเหนา ฉบับรัชกาลที่สองนี้ มีตอนที่นางบุษบาปลอมตัวเป็นชาย ใช้ชื่อว่าอุณากรรณ เป็นบทพระ ที่ผู้รำต้องมีรูปร่างโปร่งระหง และใบหน้างดงาม ให้สมกับเครื่องละครและคำกลอนชมโฉม อย่างเช่นตอนอุณากรรณเข้าเมืองกาหลัง ที่ว่า…

 

“บัดนั้น หญิงชายประชาชาวกรุงศรี

นั่งแน่นสองข้างทางจรลี ครั้นเห็นแขกเมืองขี่ม้ามา

ต่างพินิจพิศโฉมอุณากรรณ ว่างามดังอสัญแดหวา

อันบุรุษสุดสิ้นแดนชวา ทั้งในใต้ฟ้าไม่เทียมทัน

บ้างว่าเปรียบเทวัญนั้นเห็นผิด ดูจริตรูปร่างเหมือนนางสวรรค์

นวลละอองผ่องพักตร์ผิวพรรณ ดังบุหลันวันเพ็ญอำไพ

ที่พวกชายหนุ่มหนุ่มจำนรรจา ถ้าแม้นหาภรรยาอย่างนี้ได้

จะอยู่เคล้าเฝ้าชมภิรมย์ใจ มิให้จากห้องสักนาที

ลางคนบ้างว่าข้าสงสัย จะปลงใจว่าชายก็ใช่ที่

ครั้นจะหมายมั่นว่าเป็นนารี จะมาไยอย่างนี้ผิดที่นัก

แล้วก็เที่ยวรบรุกทุกบ้านเมือง ลือเลื่องเรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์

ชาวบุรีมีจิตคิดรัก พิศพักตร์เสน่หาอาลัยฯ”

 

และตอนอุณากรรณขับลำกับปันหยี ก็ชมโฉมอุณากรรณไว้ว่า…

 

“เมื่อนั้น มิสาระปันหยีสุกาหรา

ทั้งพวกพี่เลี้ยงแลเสนา สรวลสันต์หรรษาทุกคนไป

แล้วสั่งคนเพลงนักเลงเล่น ให้ทำเป็นครึ่งท่อนกลอนปรบไก่

โต้ตอบตามทำนองว่องไว เล่นไปจนเพลาราตรีฯ

กิดาหยันจุดเทียนประทีปทอง ระย้าแก้วเรืองรองรัศมี

แขวนรอบอร่ามรูจี ขับสีพักตราอุณากรรณ

ยิ่งงามผุดผาดประหลาดตา ดังโฉมนางฟ้ากระยาหงัน

นวลละอองผ่องเพียงดวงจันทร์ ผิวพรรณโสภาน่ารัก

ยิ่งพิศยิ่งคิดกินแหนง คลางแคลงหฤทัยไม่ประจักษ์

ท่วงทีขวบอายเห็นคล้ายนัก เหมือนพระน้องรักดังคนเดียว”

หลังจากแสดงบทอุณากรรณไม่นาน คุณเปี่ยมก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในพระองค์ ตำแหน่งเจ้าจอมพระสนมเอก

 

หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ในรัชกาลที่ 4

 

หมายเหตุ* – ขอบพระคุณภาพประกอบ

๒.๑ —ภาพละครรำ ลายเส้นจากหนังสือ The English Governess at the Siamese Court ของนางแอนนา ลีโอโนเวนส์ 

๒.๒ —พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

๒.๓—หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ในรัชกาลที่ 4 ภาพจาก https://board.postjung.com

 

 

Don`t copy text!