สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 12 : วังของพระองค์อุณากรรณ  

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 12 : วังของพระองค์อุณากรรณ  

โดย : สิริทัศนา

Loading

จากอดีตสมัย โดย สิริทัศนา

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………….

ออกวัง หมายถึง แยกจากวังหลวงไปอยู่วังส่วนพระองค์

ส่วนโสกันต์ คือพระราชพิธีโกนจุกพระราชโอรสธิดา

 

วังของพระองค์อุณากรรณ  

พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าจ้าอยู่หัวทรงจัดสรรพระราชทานสำหรับพระโอรส มีวังรวมอยู่ด้วย เพราะเมื่อโสกันต์แล้ว จะต้อง ‘ออกวัง’

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลไทยเป็นไทยไว้ว่า ออกวัง หมายถึง แยกจากวังหลวงไปอยู่วังส่วนพระองค์ ส่วนโสกันต์ คือพระราชพิธีโกนจุกพระราชโอรสธิดา รายละเอียดการจัดพระราชพิธีจะต่างกันตามพระยศเจ้าฟ้า และพระองค์เจ้า ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยไว้ในประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ความตอนหนึ่งว่า

“ก็ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อปีชวดจัตวาศก ศักราช ๑๒๑๔ มีการโสกันต์ในพระบวรราชวังครั้งหนึ่ง มีเขาไกรลาสแลการแห่การเล่นใหญ่กว่าปรกติแต่ไม่เต็มตำรา การคล้ายกันกับเช่นเคยมีในพระบวรราชวังแต่ก่อนมา ภายหลังแต่ครั้งนั้นมาในพระบวรราชวังเมื่อโสกันต์พระองค์เจ้าคราวใดก็มีการแห่เครื่องสูงกลองชนะทุกครั้ง แต่ทำการนั้นในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉิน ไม่ได้ทำเปนการใหญ่ไม่ได้ตั้งเขาไกรลาสแลมีการเล่นนักดูประชุม ถึงกระนั้นการก็เปนอย่างลงในการโสกันต์พระองค์เจ้าแผ่นดินปัจจุบันนี้ แต่ฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง พระเจ้าลูกเธอที่มีพระชนมายุเจริญจนถึงกำหนดจะโสกันต์ยังหามีไม่ จนถึงปีระกาตรีศก”

เขาไกรลาส ในพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ จากเฟซบุ๊ก CHULALONGKORN

“ครั้นมาเมื่อปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๒ พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ยิ่งเยาวลักษณมีพระชนมายุเจริญถึงกำหนดควรจะโสกันต์ พระราชวงศานุวงศ์แลท่านเสนาบดีกราบทูลพระกรุณา ว่าการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่เว้นว่างมานานหาได้ทำไม่ถึง ๕๐ ปีเศษมาแล้ว ผู้ที่ได้เคยเห็นการในครั้งก่อนก็มีน้อยตัวแล้ว ถึงได้เห็นจะจำการก็ไม่ถนัด แต่ผู้ที่ไม่ได้เห็นนั้นมากกว่ามาก ขอพระราชทานให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่ ในการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเปนปฐม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อจะได้เปนแบบอย่างต่อไปภายหน้า ครั้งนั้นจึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่ มีกระบวรแห่แลมีนางเชิญมยุรฉัตร นางเชิญเครื่อง นางสระ แลการเล่นอื่นๆ แต่ไม่มีเขาไกรลาส แลได้มีการพระราชพิธีรับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขึ้นเปนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร แทนพระราชพิธีลงสรงแต่ไม่มีพระมณฑปขึ้นแพในที่สรง”

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร – พระยศตามประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลงพระนามด้วยคำนำพระสกุลยศว่า ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ’ จากเว็บไซต์ sven-erik.org

“การพระราชพิธีทั้งสองนี้ ได้มีในเดือน ๔ ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับเดือนมาร์ชในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๓ เมื่อการพระราชพิธีโสกันต์ได้มีลงเปนอย่างดังนี้แล้ว ครั้นมาเมื่อปีจอจัตวาศก พระเจ้าลูกเธอ ๓ พระองค์คือพระองค์เจ้าหญิงทักษิณชา พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี พระองค์เจ้าหญิงประภัศรมีพระชนมายุเจริญถึงกำหนดควรจะโสกันต์ จึงได้โปรดให้มีการแห่โสกันต์เปนการใหญ่อย่างครั้งก่อนอิกครั้งหนึ่ง ในเดือนยี่ปีจอจัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๓”

“แลในเดือน ๔ ปีจอจัตวาศกนั้น ในพระบวรราชวังได้มีการโสกันต์พระองค์เจ้าอิกครั้งหนึ่งเปนการใหญ่ มีการแห่แลการเล่นแลเขาไกรลาสน้อย คล้ายกับเมื่อปีชวดจัตวาศกโน้นแล

“เมื่อว่าการตามเหตุที่ควร พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าซึ่งมิใช่เจ้าฟ้า ก็ไม่ควรจะมีการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่ แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบวรราชวังได้มีการแห่โสกันต์พระองค์เจ้าเกินธรรมเนียมเก่า ๒ ครั้ง ๓ ครั้งมาแล้ว แลในแผ่นดินปัจจุบันนี้ในพระบวรราชวังก็มีการเกินธรรมเนียมเก่านำหน้าเปนอย่างมาก่อนถึง ๒ ครั้งแล้ว ฝ่ายในพระบรมมหาราชวังจึงต้องทำตามไป การเปนทั้งนี้ก็เพราะการโสกันต์เปนการใหญ่ไม่ได้มีมานานแล้ว ผู้จะใคร่ดูมีมากแลจะคอยเวลาภายหน้าก็ไม่ไว้ใจการว่าจะเปนแน่ที่จะได้ดู จึงกราบทูลขอให้ทำขึ้น”

“บัดนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์พระองค์ใหญ่มีพระชนมายุได้เต็ม ๑๒ ปีแต่ปีประสูติ ถึงกำหนดเวลาควรจะมีการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่ ด้วยได้พระราชทานพระอิศริยยศต่างๆ เสมออย่างพระองค์ ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทุกประการแล้ว ครั้งนี้จึงควรให้มีการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่เต็มตามตำรา ซึ่งมีในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๒ ครั้งนั้น เพื่อจะได้เปนแบบอย่างไปภายหน้า ท่านผู้ที่จ้างเกณฑ์รับราชการใดๆ ในบัดนี้จงมีความยินดีคิดฉลองพระเดชพระคุณทุกท่านทุกนายให้เต็มตามกำลังเทอญ”

พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (ภาพ :
http://sven-erik.org)

“ฝ่ายชนชาวต่างประเทศที่ไม่รู้เรื่องเดิมมา ขอเสียอย่าบ่นต่างๆ ว่าการครั้งนี้ไม่เปนคุณประโยชน์อะไรแก่บ้านเมือง ทำให้คนเปนอันมากป่วยการเสียเวลาด้วยต้องเกณฑ์ทำการต่างๆ แลพากันเพลิดเพลินมาดูการเล่นหลายวันหลายเวลาแลอื่นๆ เพราะการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่เต็มตามตำราโดยธรรมเนียมในสยามเช่นนี้ เปนของเคยมีสืบๆ มาแต่โบราณ ในแผ่นดินหนึ่งก็ไม่มีมากเคยมีแต่ครั้งหนึ่ง ๒ ครั้งเท่านั้น เมื่อจะตัดเสียจะไม่ให้มีเปนแบบอย่างแล้วท่านผู้ที่รู้ขนบธรรมเนียมโบราณก็จะมีความเสียใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนับถือการต่างประเทศมากมาเลิกละทิ้งการธรรมเนียมโบราณเสียสิ้นง่ายนัก ควรจะต้องรักษาแบบโบราณราชประเพณีไว้ไม่ให้เสื่อมสูญจึงจะชอบ” เมื่อมีพระราชพิธีโสกันต์ จะโปรดฯ ให้ชาวต่างชาติ เช่น ทูตฝรั่งเศส เจ้าเมืองมะเกา ไปชมกระบวนแห่ด้วย

ในพระราชพิธีนี้ เจ้านายและขุนนางจะนำสิ่งขอเงินทองมาถวาย พระเจ้าลูกเธอที่โสกันต์เป็นการสมโภช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภว่ามิได้ทรงกะเกณฑ์ หากจะถวายโดยชอบพอคุ้นเคยก็ได้ แต่ไม่ถวายก็ไม่มีความผิด ส่วนผู้ที่เคยถวายสมโภชพระเจ้าลูกเธอ เมื่อมีการโกนจุกก็จะพระราชทานตอบแทน เหมือนที่ชาวไทยทั่วไปถือปฏิบัติกันมา

ตามราชประเพณี พระเจ้าลูกเธอโสกันต์เมื่อพระชนมายุประมาณ 12 ชันษา หรือพิจารณาตามพระรูปพรรณ และพระฤกษ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า พระเจ้าลูกเธอชั้นใหญ่ที่ประสูติตั้งแต่ปีชวด พ.ศ. 2395 ถึงปีมะโรง พ.ศ. 2399 ได้ทันโสกันต์ในรัชกาลที่ 4 ทั้งหมด

พระองค์เจ้าอุณากรรณ พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ในปี พ.ศ. 2399 จึงน่าจะโสกันต์ในรุ่นใหญ่ พร้อมกับพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าที่เป็นสหชาติด้วย โดยจัดพระราชพิธีใกล้เคียงกับเมื่อครั้งโสกันต์พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์  แต่ไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ สันนิษฐานว่าอาจจะจัดเป็นพระราชพิธีเล็กๆ ในช่วงต้นรัชกาลต่อมา

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเตรียมที่เดินพระราชทานพระองค์เจ้าอุณากรรณไว้ โดยทรงซื้อที่ดินบริเวณสะพานถ่าน* ถนนเจริญกรุงจากราษฎรไว้สำหรับสร้างวัง แต่การณ์มิได้เป็นดังที่ทรงตั้งพระทัยไว้…

*ปัจจุบันคือดิโอลด์สยามพลาซ่า

แหล่งข้อมูล

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ (พระนคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2505)
  • จุลลดา ภักดีภูมินทร์, “วังของเจ้านาย”, สกุลไทย. 47, 2440 (กรกฎาคม 2544).

 

 

Don`t copy text!