อาถรรพ์สองยาม…ตัวตายตัวแทน : ตอนที่ 3

อาถรรพ์สองยาม…ตัวตายตัวแทน : ตอนที่ 3

โดย : จินต์ชญา

Loading

โดย : จินต์ชญา

อวตารมาจากคอลัมน์ ‘เรื่องผีที่แม่เล่า’ ในนิตยสาร พลอยแกมเพชร อันลือลั่น จากผู้เขียนหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง ‘ชาววังช่างเล่าเรื่อง (ผี)’ และ ‘ชาววังช่างเล่าเรื่อง (ผีนอกวัง)’

 

เมื่อกลับไปตรงหลักกิโลเมตรที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่

บังหมัดและเพื่อนก็ต้องประหลาดใจสุดขีด…

ถนนตรงนั้นโล่งตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

ไม่มีรอยอุบัติเหตุ รอยเลือด ซากศพ ซากรถอะไรทั้งสิ้น!!!

 

ช่วงเวลาที่ดึกสงัด เงียบสงบ ชีวิตส่วนใหญ่หลับไหลในที่นอน นาฬิกาตีบอกเวลา 12 ครั้ง นั่นคือการเข้าสู่วันใหม่ 24 นาฬิกา หรือเวลาเที่ยงคืน หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่าเวลาสองยาม การบอกเวลาของไทยนั้นมีแบบตะวันตกกับแบบไทย แบบแรกนั้นจะมีหน่วยเป็นนาฬิกา เริ่มตั้งแต่ 0 นาฬิกาเรื่อยไปจนถึง 24 นาฬิกา ตามหลักสากลที่กำหนดว่า 1 วันมี 24 ชั่วโมง 

ส่วนแบบหลังจะมีหน่วยเป็นแบบไทยคือ โมง ทุ่ม ตี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเวลาช่วงไหนของวัน สมัยก่อน นาฬิกาไม่มีใช้แพร่หลาย มีแต่สถานที่สำคัญๆ ที่จะมีใช้ เลยต้องส่งสัญญานบอกเวลาให้ทราบ ใช้เครื่องมือต่างๆ เช่นการตีฆ้องดัง ‘โหม่ง’ ชั่วโมงแรกคือเจ็ดโมง คำนวณตามพระอาทิตย์ขึ้นเวลา 6.00 น. ไม่ได้เอาตามตะวันตก  พอ 7.00 น. ก็ตีฆ้องหนึ่งครั้งเป็นหนึ่งโมงเช้า 8.00 น. ก็ตีสองครั้ง คือสองโมงเช้า ไปเรื่อยๆ พอ 11.00 น. เรียกเวลาเพล ตามพระฉัน 12.00 น. เรียกเที่ยงวัน 13.00 น. กลับมาตีหนึ่งครั้งใหม่ เลยเรียกบ่ายโมง ไปจน 18.00 น. เรียกว่าหกโมงเย็นหรือย่ำค่ำ ตามการคาบเกี่ยวระหว่างกลางวันกับกลางคืน พระจะตีรัวๆ เรียกว่า ย่ำกลอง ช่วงนี้ พระมักตีรัวๆ ให้ชาวบ้านรู้ เพื่อสิ้นสุดการทำงานในชนบท

ส่วนกลางคืนใช้กลองแทน พอเลยย่ำค่ำหนึ่งชั่วโมง ตีกลองหนึ่งครั้ง ดัง ‘ตุ้ม’ เลยเป็นหนึ่งทุ่ม สองทุ่มไปเรื่อยๆ จนสองยาม เปลี่ยนเป็นตีแผ่นโลหะ เข้าใจว่าให้เสียงเบาลง จะได้ไม่รบกวนคนที่ต้องการนอน ใช้คำว่า ‘ตี’ เป็นตีหนึ่ง ไปจนตีห้า พอ 6.00 น. ใช้คำว่าย่ำรุ่งให้เข้ากับคำว่าย่ำค่ำ ฉันจำได้ว่าในสมัยก่อน มีการจ้างยามเดินตีเหล็กตามบ้านเพื่อบอกเวลา และจะได้รู้ว่ายามไม่หลับ แต่สมัยนี้ทุกบ้านมีนาฬิกา ไม่น่าจะมียามมาตีเหล็กแบบนี้แล้ว

ในหนังสือของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเล่าไว้ในหนังสือ บันทึกรับสั่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทาน หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ไว้ว่า เมื่อถึงเวลา 24.00 น. หรือเที่ยงคืนนั้น จะต้องมีการย่ำกลอง 2 ลา หรือ 2 ชุด จึงเรียกเวลานี้ว่าเป็นเวลาสองยาม และที่สถานีตำรวจเวลาอยู่ยามตอนกลางคืนถึงเวลาหกทุ่มต้องเปลี่ยนยามเป็นครั้งที่ 2 จึงเรียกว่าสองยาม

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทหารเรือยิงปืนใหญ่ในเวลาเที่ยงวัน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบเวลาเที่ยง และจะได้ตั้งนาฬิกาของตัวให้ตรงกัน ทำให้กองทัพเรือทำหน้าที่เทียบเวลามาตั้งแต่ครั้งนั้น และยังคงทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเวลามาตรฐานประเทศไทยต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในเขตพระนครก็จะได้ยินเสียงปืนใหญ่ในตอนเที่ยงทุกวัน ส่วนบ้านใครที่อยู่ไกลออกไปจนไม่ได้ยินเสียงปืนก็จะถูกเรียกว่า ‘ไกลปืนเที่ยง’ ซึ่งหมายความว่าอยู่ห่างไกลความเจริญ ไกลจนไม่ได้ยินเสียงปืนใหญ่ในพระนคร    

ในงานพระราชพิธีพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 มีการประโคมย่ำยามเป็นการประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างหนึ่ง จะต้องบรรเลงไปตามขั้นตอนของพระราชพิธี ควบคู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง  เป็นผู้บรรเลงดนตรีเพื่อเป็นสัญญาณในพิธีบางอย่างเพื่อสักการะบูชาหรือยกย่อง ประกอบด้วยตีกลองหรือฆ้องถี่ๆ หลายครั้งเพื่อบอกเวลา สำหรับเปลี่ยนยาม เรียกว่า ย่ำกลอง ย่ำฆ้อง ย่ำยามก็เรียก ยามหนึ่งมี 3 ชั่วโมง รวมวันหนึ่งมี 8 ยาม

ตามคำอธิบายของกรมศิลปากร ‘การประโคมย่ำยาม’ ก็คือการบรรเลงดนตรีเพื่อการสักการะบูชาและเป็นสัญญาณแจ้งให้ทราบถึงเวลาที่จะต้องปฏิบัติงาน โดยมีระยะห่างกันครั้งละ 3 ชั่วโมง เริ่มเวลาหกนาฬิกา ประโคมครั้งที่หนึ่งจนถึงเวลาสามนาฬิกา นับเป็นการประโคมครั้งที่ 8 ครั้งสุดท้ายของแต่ละวัน ซึ่งมีการปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

ในการพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2538  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระประสงค์ที่จะรื้อฟื้นการประโคมดนตรี เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมและขนบประเพณีที่มีมาแต่โบราณ โดยมีพระราชดำริกับนายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) ในขณะที่ถวายการบรรเลงดนตรีไทยในงานพิธีไหว้ครูช่าง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องคู่ของกรมศิลปากร ไปประโคมย่ำยามควบคู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง โดยเริ่มเข้าไปประโคมย่ำยามครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2538 กำหนดให้ประโคมวันละ 5 ครั้ง คือ

ประโคมครั้งที่ 1 เวลา 6.00 น., ประโคมครั้งที่ 2 เวลา 12.00 น., ประโคมครั้งที่ 3 เวลา 18.00 น., ประโคมครั้งที่ 4 เวลา 21.00 น. และประโคมครั้งที่ 5 เวลา 24.00 น.

และหลังจากบำเพ็ญพระราชกุศลครบ 100 วันแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องคู่เข้าไปประโคมย่ำยามเฉพาะเวลา 12.00 น. และเวลา 18.00 น. จนถึงพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ

ต่อมาในการพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี พ.ศ. 2551 กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องคู่ เข้าประโคมย่ำยามร่วมกับวงประโคมของสำนักพระราชวังครั้งแต่วันแรก จนครบ 100 วัน โดยกำหนดให้ประโคมวันละ 7 ครั้ง เพิ่มอีกสองครั้ง คือช่วงเก้าโมงเช้ากับบ่ายสามโมง 

—————————————-     

เล่ามาซะยาว เรื่องอาถรรพ์ช่วงกลางคืนหรือสองยามนี้ ฉันได้มาจากเพื่อนนามสมมุติว่า ‘บังหมัด’ ที่ประสบด้วยตนเอง คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีสิ่งต้องการให้เขามาเป็นตัวตายตัวแทน เมื่อหลายปีก่อน เขากับเพื่อนคนหนึ่ง ขับรถมาตามทางหลวงจากภาคใต้เพื่อเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งก็ขับกันเป็นประจำแต่ไม่เคยดึกขนาดนี้ ส่วนใหญ่จะขับในตอนกลางวันจนถึงพลบค่ำ ไม่เคยขับเลยมาจนดึก แต่คราวนี้มีธุระที่ต้องจัดการให้เสร็จก่อน เลยต้องจำใจผลัดกันขับรถมากลางดึก

เมื่อมาถึงประมาณช่วงอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บังหมัดขับอย่างระมัดระวัง เพราะกลัวช้างป่าที่ชอบโผล่มาจ๊ะเอ๋กับรถยนต์แถวนี้บ่อยๆ

เขาเล่าว่า จำได้แม่นว่ายกข้อมือดูนาฬิกา เป็นเวลาอีกสิบนาทีจะสองยาม รถวิ่งไปไม่เร็วนัก ถนนช่วงนี้ไม่มืดมาก คืนนั้นพระจันทร์เกือบเต็มดวง แถมมีแสงไฟจากหน้ารถสาดออกไปยังถนน…

ทันใดนั้น… มีรถคันหนึ่งแซงรถของบังหมัดออกไปอีกเลนหนึ่งอย่างเต็มๆ แสงไฟสาดไปเต็มถนน มีรถทัวร์วิ่งสวนมาฝั่งตรงข้าม ทำให้รถคันนั้นหักหัวเข้ามาปาดรถของบังหมัดจนต้องหักหลบลงไปตรงริมขอบทาง แต่หักไม่พ้น ทำให้รถที่แซงไปประสานงากับรถทัวร์อย่างจัง เสียงเหล็กปะทะกันดังสนั่น!!!!!

โชคดีที่ตรงนั้นริมถนนไม่สูงมาก รถบังหมัดที่เกือบจะเกิดอุบัติเหตุ หักกลับขึ้นมาบนถนนอย่างปลอดภัย แม้ว่าจะใจหายใจคว่ำอยู่บ้าง จากตรงนั้นก็เลยไปไกลเหมือนกัน

บังหมัดตัดสินใจหยุดรถและกลับรถไปดูฉากอุบัติเหตุ เผื่อมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือจะได้นำไปส่งโรงพยาบาล…

เมื่อกลับไปตรงหลักกิโลเมตรที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ บังหมัดและเพื่อนก็ต้องประหลาดใจสุดขีด…

ถนนตรงนั้นโล่งตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น บังหมัดพยายามวิ่งไปดู ยังเห็นรอยล้อรถตัวเองที่แฉลบลงไปข้างทางและหักขึ้นมาบนถนน

ไม่มีรอยอุบัติเหตุ รอยเลือด ซากศพ ซากรถอะไรทั้งสิ้น!!!

บังหมัดและเพื่อนตัดสินใจวิ่งสี่คูณร้อยมาที่รถ เปิดแน่บโดยไม่พูดกันแม้แต่คำเดียว…

พอมาถึงที่ตัวเมืองปราณบุรี ไฟสว่างไสว มีผู้คนขวักไขว่ บังหมัดจอดรถกินข้าวต้ม ตรงปั๊มน้ำมันที่เป็นแหล่งรวมรถจอดรถพัก ปากคอสั่น…

สอบถามได้ความว่า เคยมีอุบัติเหตุใหญ่ตรงนั้น มีคนตายเกลื่อน จากนั้น พอใครขับรถมาประมาณเวลาสองยาม ก็จะประสบเหตุคล้ายๆ กันนี้เกือบทุกราย…..

จากนั้น…

บังหมัด… ไม่เคยขับรถข้ามช่วงสองยามหรือเที่ยงคืนอีกเลย…

ไม่ยอมขับรถข้ามเวลา… ข้ามมิติ…

 

Don`t copy text!