การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 3 : จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 3 : จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

โดย : อลิสา กัลยา

อ่านเอา มี นิยายออนไลน์ ให้คุณได้อ่านเพลิดเพลิน มีคอลัมน์หลากหลายให้ได้เปิดโลก และ “การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง” เรื่องราวของคุณแม่ชาวไทยในโอซาก้าที่พบว่าลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาออกมาดูโลกนี้มีเพียงหัวใจแค่ครึ่งดวง จะเต็มไปด้วยความสุข ความทุกข์และความรู้สึกต่างๆ ที่ถาโถมจนทำให้การเดินทางครั้งนี้ประทับใจไม่รู้ลืม

…………………………………………………

-3-

 

หลังจากย้ายการฝากครรภ์ไปยังโบะชิเซ็นเตอร์ (ศูนย์แพทย์และเด็กแห่งโอซาก้า) แล้ว เหลือเวลาอีกเพียงสองเดือนจนกว่าจะถึงกำหนดคลอด

ว่าไปแล้ว ฉันค่อนข้างกลัวการคลอดในญี่ปุ่นมาก เพราะได้ยินมาว่าสูตินรีแพทย์ญี่ปุ่นจะเน้นการคลอดแบบธรรมชาติมากกว่าการผ่าคลอด แม้ว่าจะได้ยินมาเยอะว่าคลอดธรรมชาติมีข้อดีมากกว่าก็ตาม แต่พอเข้าไปอ่านข้อมูลในอินเทอร์เน็ตแล้ว อดไม่ได้ที่จะกลัวความเจ็บปวดระหว่างคลอดลูก พอฉันรู้เรื่องหัวใจลูกในท้อง ฉันเลยแอบดีใจไปเองว่า สงสัยคงไม่ต้องคลอดเองแล้ว คุณหมอน่าจะเลือกวิธีผ่าคลอดมากกว่า

แต่พอฉันถามหมอคิโต้เรื่องการคลอดลูก เธอทำหน้างุนงัน บอกว่า

“ถึงหัวใจเด็กจะผิดปกติ ก็คลอดเองได้นะคะ ทารกในท้องตอนนี้เขาหายใจผ่านรกค่ะ พอคลอดออกมาเด็กถึงจะหายใจเอง คุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วงนะคะ”

ได้ฟังแล้วคิดในใจ อยากบอกหมอคิโต้เหลือเกินว่าที่กังวลน่ะคือตัวคุณแม่เองต่างหาก

สองเดือนที่เหลือ ฉันยังคงใช้ชีวิตประจำเหมือนปกติ ยังทำงานบ้าน ออกไปซื้อของคนเดียวได้

โอก้าซังมักจะบอกอยู่เสมอว่า คนท้องไม่ใช่คนป่วย ยังทำอะไรได้เหมือนเดิม ซึ่งดูเหมือนจะจริง

เพื่อนสาวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งทำฉันทึ่งมาก เมื่อตอนท้องลูกคนที่สาม เธอยังคงปั่นจักรยานคุณแม่

ให้ลูกคนโตนั่งที่นั่งสำหรับเด็กข้างหลัง ลูกคนกลางนั่งเก้าอี้เด็กแบบตะกร้าข้างหน้า

ในสังคมญี่ปุ่นที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ทว่าบทบาทของการเป็นแม่และภรรยากลับเป็นสิ่งแข็งแกร่ง

และบางครั้งเข้มแข็งมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ

โอก้าซังยังพยายามเคี่ยวเข็ญให้ฉันออกกำลังกายเบาๆ ซึ่งสอดคล้องกับที่หมอคิโต้บอกว่า

ให้พยายามออกกำลังบ้าง อาจจะเดินสักวันละ ๑๕-๒๐ นาทีต่อวันก็ได้

นอกจากนี้แล้ว ยังมีความเชื่อหนึ่งซึ่งฉันไม่แน่ใจว่าเป็นความเชื่อทั่วประเทศญี่ปุ่นหรือเปล่า

แต่อย่างน้อยคนโอซาก้าเชื่อกันว่า เวลาคนท้อง สิ่งที่ควรทำบ่อยๆ คือ “ทำความสะอาดห้องน้ำ!”

ฟังดูเป็นเรื่องน่าขำ แต่ผู้คนที่นี่เชื่อกันว่า ทุกห้องน้ำจะมีเทพเจ้าสถิตอยู่

‘เทพเจ้าแห่งห้องน้ำ’ ผู้ซึ่งมีรูปลักษณ์สวยงามและมีบทบาทสำคัญกับหน้าตาของทารกในครรภ์

การทำความสะอาดห้องน้ำให้สะอาดและสวยงามอยู่เสมอเปรียบเสมือนการแสดงความเคารพต่อเทพเจ้า

ส่งผลให้เด็กที่จะเกิดมามีหน้าตาดี

ว่าที่คุณแม่คนอื่นอาจวุ่นวายกับการซื้อของใช้สำหรับเด็กแรกเกิด แต่ฉันแทบไม่ได้เตรียมอะไรมาก

เพราะหมอคิโต้บอกชัดเจนว่า หลังจากเด็กคลอดแล้วคงต้องอยู่โรงพยาบาล ดูอาการอีกสักระยะหนึ่ง

สิ่งของที่ต้องเตรียมจึงมีแค่ของใช้ส่วนตัวสำหรับตัวฉันเองทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด

ลิสต์ของที่ต้องเตรียมยาวเหยียดเต็มกระดาษเอสี่

จะว่าไปแล้ว การคลอดลูกคราวนี้ถือเป็นการเข้าโรงพยาบาลครั้งแรกในชีวิต

ตอนอยู่เมืองไทยฉันไม่เคยป่วยถึงขั้นนอนโรงพยาบาลสักครั้ง ของที่ต้องเตรียมมีตั้งแต่

ชุดนอน รองเท้าแตะ สบู่ แชมพู นาฬิกา รวมไปถึงตะเกียบ แก้วน้ำ

สิ่งที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ให้มีเพียงแค่เตียงนอนเท่านั้น

พอเข้าเดือนกุมภาพันธ์ เดือนกำหนดคลอด ด้วยความเป็นเดือนที่หนาวที่สุดในฤดูกาล

ฉันต้องคอยระวังให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา คนญี่ปุ่นมักนิยมพันผ้าฮารามากิไว้ที่ท้อง

เพื่อให้ท้องอุ่นอยู่เสมอ ฮารามากิยังช่วยพยุงท้อง ทำให้คนท้องรู้สึกสบายตัวมากขึ้นอีกด้วย

หญิงญี่ปุ่นเมื่ออายุครรภ์เข้าเดือนที่ ๕ จะนิยมไปขอพรกับศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงในเรื่องการคลอดอย่างปลอดภัย

ในภูมิภาคคันไซ ศาลเจ้ามินาโตะกาวะ ที่เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโงะ ถือว่ามีชื่อเสียงที่สุด

ฉันเองก็เดินทางไปขอพรที่ศาลเจ้าแห่งนี้เช่นกัน หลังจากขอพรเสร็จแล้ว จะได้รับผ้าขาวยาวหลายเมตรเพื่อนำกลับมาพันท้องที่บ้าน ซึ่งต้องเลือกพันให้ตรงกับ ‘วันสุนัข’ ซึ่งทางศาลเจ้าจะกำหนดว่า

ในหนึ่งปี จะมีวันใดบ้างที่เป็นวันสุนัข ทั้งนี้เพื่อให้คลอดได้ง่าย เหมือนเวลาสุนัขคลอดลูก

สำหรับคนต่างชาติอาจฟังดูแปลกๆ แต่นี่คือความเชื่อญี่ปุ่นมาแต่โบราณที่ให้สุนัขเป็นสัญลักษณ์ของการคลอดลูกอย่างปลอดภัย

และแล้วก่อนกำหนดคลอดได้ ๔ วัน เช้าวันนั้นฉันเริ่มปวดท้องขึ้นมา แต่ยังไม่แน่ใจเพราะอาจจะเป็นเพียงเจ็บท้องหลอก หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาโทรหาพยาบาลที่โบะชิเซ็นเตอร์ ปลายสายบอกให้ฉันลองนับเวลาดู ว่าปวดถี่และสม่ำเสมอ เช่น ทุก ๑๐ นาทีหรือเปล่า ที่จริงแล้วพยาบาลได้อธิบายให้ฉันฟังอยู่หลายครั้งแล้ว แต่พอเกิดขึ้นจริง ด้วยทั้งความตื่นเต้นและความกลัวทำให้ลืมสื่งที่เคยเรียนรู้มาเสียสนิท

จนกระทั่งบ่ายสามโมง จึงเริ่มมั่นใจว่าต้องเจ็บท้องจริงแน่ๆ ฉันโทรเรียกให้โอก้าซังมารับ แล้วบึ่งไปโรงพยาบาลด้วยกัน คุณหมอคิโต้ตรวจเสร็จแล้วบอกว่า ปากมดลูกเปิดได้ ๒ เซนติเมตรแล้ว คงคลอดภายในคืนนี้ พยาบาลพาฉันไปนอนรอที่ห้องคลอดทันที เธออธิบายห้องคลอดอย่างคร่าวๆ พร้อมกำชับว่า ถ้าเข้าห้องน้ำอย่าล็อกประตู เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินในห้องน้ำขึ้นมาจะได้เข้าไปช่วยได้ทันที

ฉันขอตัวเข้าห้องน้ำ พอเดินผ่านเนิร์สสเตชั่นก็เหลือบเห็นกระดานใหญ่สีขาวที่แปะอยู่บนกำแพง เป็นกระดานเขียนชื่อคนไข้ที่รอคลอดวันนี้ ฉันเงยหน้ามองชื่อของตัวเองที่เขียนด้วยตัวคาตาคานะ (ชื่อของคนต่างชาติจะถูกเขียนเป็นตัวคาตาคานะเสมอ) ถัดจากชื่อฉันเป็นชื่อของทารกในท้อง ตอนนั้นฉันและสามียังไม่ได้ตัดสินใจตั้งชื่อของลูกสาว ชื่อของเธอจึงถูกเขียนสั้นๆ ว่า ‘ทากามูระ B’ โดยตัว B ก่อนหน้านามสกุลนั้นย่อมาจาก Baby ถัดจากชื่อลูกสาว ฉันสะดุดกับหมายเหตุข้างหลังสุดที่เขียนด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ ๓ ตัว ‘CHD

CHD คืออะไรน่ะ?” โอก้าซังถามขึ้น

“มันย่อมาจาก Congenital Heart Defect ค่ะ แปลว่าโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด” เธอถอนหายใจเฮือกใหญ่หลังจากได้ยินคำอธิบายจากฉัน

ตั้งแต่แอดมิตตอน ๕ โมงเย็น ถึงประมาณ ๓ ทุ่มเศษๆ อาการเจ็บท้องยังไม่รุนแรงนัก

ฉันยังนอนดูทีวี คุยกับสามีและแม่สามีได้อย่างสบาย จนกระทั่ง ๔ ทุ่ม ความถี่ในการปวดท้องเริ่มมากขึ้น

ปวดท้องยังพอทนได้ แต่รู้สึกปวดหลังส่วนล่างมากกว่า

จนกระทั่งเวลาเกือบเที่ยงคืน อยู่ๆ ฉันก็รู้สึกว่าร่างกายครึ่งล่างเปียกไปหมด

ใช่แล้ว ถุงน้ำคร่ำแตกแล้วนั่นเอง นางพยาบาลเข้ามาดูแล้วบอกว่า

“ปากมดลูกเปิดได้ ๕ เซนติเมตรแล้วนะคะ”

“ห้ะ!? ปวดท้องมาตั้งนาน เพิ่งจะครึ่งทางเท่านั้นเองเหรอ” ฉันอุทานในใจ

แต่ก็คิดว่า อีกไม่นานหมอคงเข้ามาทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เด็กคลอดออกมาโดยเร็ว

เพราะฉันอ่านเจอประสบการณ์การคลอดในอินเทอร์เน็ตอยู่บ่อยๆ ว่า

หากน้ำคร่าแตกแล้ว หมอที่ไทยจะรีบผ่าคลอดเอาเด็กออกมา

แต่ที่ญี่ปุ่นไม่เป็นเช่นนั้น หมอที่นี่ยังคงให้ปากมดลูกเปิดเต็มที่เสียก่อน (ฉันอ่านเจอทีหลังว่า ถ้าน้ำคร่ำแตกแล้วต้องทำการคลอดเด็กภายใน ๒๔ ชั่วโมง) ระดับอาการเจ็บท้องและหลังยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความรู้สึกหมือนหลังจะหักแยกออกเป็นสองท่อน ฉันหวังว่าอย่างน้อยหมอน่าจะให้ยาระงับปวดกับฉันบ้าง ได้รับรู้มาเยอะว่าเวลาคนคลอดที่ไทยมักจะมีการให้ยาแก้ปวดหรือมีการบล็อกหลัง ต่างๆ นานา

ฉันบอกพยาบาลไปว่า ตอนนี้ปวดมากๆ

พยาบาลเดินออกไปสักครู่และกลับเข้ามาพร้อมกับลูกบอลยางขนาดใหญ่สำหรับออกกำลังกาย!!

เธอบอกให้ฉันวางตัวลงบนลูกบอล จะได้ทำให้ความเจ็บลดน้อยลง

เฮ้อ… ญี่ปุ่นนี่มันญี่ปุ่นเสียจริง

ฉันเจ็บท้องต่อไป คิดเป็นเวลา ๕ ชั่วโมงหลังจากนั้น

หมอและพยาบาลผลัดกันเข้ามาดูเป็นพักๆ คืนนั้นฉันเป็นผู้รอคลอดคนเดียว ทั้งวอร์ดเลยเงียบสงบมาก

จนกระทั่งตี ๕ เศษๆ หมอคิโต้เข้ามาวัดปากมดลูกอีกครั้ง

“เอาล่ะ ปากมดลูกเปิด ๑๐ เซนติเมตรแล้วค่ะ เรามาพยายามด้วยกันนะคะ”

อยู่ๆ ความรู้สึกอยากเบ่งก็เกิดขึ้นมา หมอคิโต้บอกว่า เด็กเคลื่อนตัวลงมาพร้อมจะออกมาแล้ว

บรรยากาศในห้องคลอดตอนนี้เหมือนกับฉากคลอดลูกในละครไม่มีผิด พยาบาลเอาสายออกซิเจนมาคาดไว้ที่จมูกฉัน “ใส่ไว้ เผื่อเด็กในท้องจะมีออกซิเจนไม่พอค่ะ คุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ”

ฉันพยายามเบ่งอยู่สัก ๒๐ นาที วินาทีแห่งความอัศจรรย์ก็เกิดขึ้น

จากที่มีหมอรวมพยาบาลอยู่ในห้องเพียงแค่ ๓ คน พอเด็กคลอดออกมา อยู่ๆ ก็มีหมอ ๕-๖ คน กรูเข้ามาพร้อมอุปกรณ์การแพทย์มากมาย หลังจากได้ยินเสียงเด็กร้อง คุณหมอคนหนึ่งอุ้มเด็กไปทำอะไรสักอย่างที่ฉันมองไม่เห็นที่เตียงทารกตรงมุมห้อง

ด้วยความที่หัวใจของลูกไม่ปกติ ก่อนคลอดฉันคิดเสมอว่า พอคลอดเสร็จแล้วลูกคงถูกแยกไปตรวจทันที

เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าลูกตัวเองตอนคลอดเหมือนแม่คนอื่นๆ  ทว่าความโชคดีของฉันยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง หลังจากหมอตรวจลูกได้สักพัก พยาบาลก็อุ้มทารกน้อยตัวย่นๆ มาให้ฉันดู เธอวางเด็กไว้บนหน้าอก แล้วบอกว่า “ทางโรงพยาบาลของเราเน้นเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างแม่และเด็ก พอเด็กคลอดออกมา ทารกจะได้นอนบนอกแม่สักพัก เหมือนจิงโจ้ดูแลลูกในกระเป๋าหน้าท้องตัวเองน่ะค่ะ”

ฉันเคยอ่านเจอจากหนังสือสักเล่ม เขียนไว้ว่า มนุษย์เรามีความทรงจำมากมาย แต่ถ้าเราเจอเหตุการณ์ใดที่กระทบกับจิตใจมากๆ เวลาเราคิดถึงเหตุการณ์นั้น ไม่ใช่เพียงแค่สมองที่ทำให้เรานึกย้อนถึงเหตุการณ์ในอดีตเท่านั้น แต่ร่างกายยังทำให้เราสามารถย้อนถึงอารมณ์และความรู้สึก ณ ช่วงเวลานั้นอีกด้วย

เวลา ๖.๑๓ นาฬิกา ของเช้าวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ปีเฮเซที่ ๒๓

สมองและร่างกายฉันได้บันทึกความอบอุ่นจากตัวลูกสาวเป็นครั้งแรก

ในขณะเดียวกัน ทั้งสองสิ่งยังบอกให้ฉันจดจำด้วยอีกว่า จากวินาทีนี้ไป การเดินทางของจริงได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

 

Don`t copy text!