การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 4 : เด็กน้อยห่อผ้าดอกมะลิ

การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 4 : เด็กน้อยห่อผ้าดอกมะลิ

โดย : อลิสา กัลยา

Loading

อ่านเอา มี นิยายออนไลน์ ให้คุณได้อ่านเพลิดเพลิน มีคอลัมน์หลากหลายให้ได้เปิดโลก และ “การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง” เรื่องราวของคุณแม่ชาวไทยในโอซาก้าที่พบว่าลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาออกมาดูโลกนี้มีเพียงหัวใจแค่ครึ่งดวง จะเต็มไปด้วยความสุข ความทุกข์และความรู้สึกต่างๆ ที่ถาโถมจนทำให้การเดินทางครั้งนี้ประทับใจไม่รู้ลืม

…………………………………………………

-4-

 

หลังจากคลอดลูกได้ ๓-๔ ชั่วโมง พยาบาลสาวคนหนึ่งเดินมาบอกฉันที่เตียงว่าให้ลองเดินดู

ห้องพักฟื้นที่ฉันอยู่เป็นห้องรวมสี่เตียง นอกจากเตียงฉันแล้ว มีว่าที่คุณแม่ที่ยังดูเด็กมากๆ อยู่เตียงตรงข้าม

ฉันลองลุกขึ้นเพื่อเดินไปเข้าห้องน้ำ เนื้อตัวไม่เจ็บปวดอะไรมาก แต่มีอาการเพลียมากกว่า นี่สินะ ที่เขาว่าคลอดธรรมชาติจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า

พอเดินกลับมานอนที่เตียง ว่าที่คุณแม่ยังสาวเดินโฉบมาทักทายฉัน

เธอยิ้มแย้มแสดงความยินดีกับการคลอดครั้งนี้

ฉันเลยถามเธอกลับว่าตั้งครรภ์ได้กี่เดือนแล้ว ถามพลางเหลือบตามองไปที่ท้องเล็กๆ ของเธอ

“๗ เดือนได้แล้วค่ะ”

ได้ยินแล้วฉันมองไปที่ท้องของเธออีกที เพราะดูจากขนาดแล้วเหมือนเพิ่งจะตั้งท้องได้ไม่น่าเกิน ๔-๕ เดือน

“เด็กตัวเล็กมากเลยค่ะ นี่เข้าสามเดือนสุดท้ายแล้ว ยังน้ำหนักแค่ ๘๐๐ กรัมเอง”

เธอตอบ พร้อมทำหน้าเหมือนรอให้ฉันพูดอะไรบางอย่าง อยู่ๆ ฉันก็นึกขึ้นมาได้ว่า  คุณแม่ทั้งหลายที่คลอดที่โบะชิเซนเตอร์นี้ จะต้องมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้มีความจำเป็นต้องมาคลอดที่นี่

“ฉันมาคลอดที่นี่เพราะลูกเป็นโรคหัวใจน่ะค่ะ นี่ก็รอให้พยาบาลอนุญาตให้เดินไปดูลูกอยู่”

บทสนทนาสั้นๆ ระหว่างเราจบลง เมื่อพยาบาลเดินลากรถเข็นเล็กๆ ที่มีโน้ตบุ๊กวางอยู่เข้ามา

ฉันเดินกลับไปนั่งที่เตียง รอให้พยาบาลวัดไข้และวัดความดัน

“คุณแม่คิดชื่อให้ลูกได้หรือยังคะ?

ตายล่ะ ฉันลืมเรื่องชื่อลูกไปเสียสนิท จริงๆ มีที่คิดไว้แล้วอยู่ ๒-๓ ชื่อ แต่ตกลงกับสามีไว้แล้วว่า ขอรอให้คลอดออกมาก่อนแล้วค่อยตัดสินใจก็ยังไม่สาย ฉันบอกพยาบาลไปว่า ไว้อีก ๒-๓ วัน คงตัดสินใจได้

ซื้อหนังสือที่ www.naiin.com ไม่ว่าเล่มใดก็ตาม

ทุกยอดการสั่งซื้อจะมีส่วนแบ่งกลับมาเพื่อสนับสนุนเว็บไซต์อ่านเอา

ชุมชนแห่งการอ่านของพวกเรา : )

หลังจากตรวจร่างกายเสร็จแล้ว พยาบาลบอกว่าเดี๋ยวจะพาฉันไปหาลูกที่แผนกโรคหัวใจเด็กที่ตั้งอยู่บนชั้น ๓ ของอีกตึกหนึ่ง พอประตูลิฟต์เปิด พยาบาลเดินนำไปที่ประตูใสบานใหญ่ข้างหน้า เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค ทางโรงพยาบาลจำกัดให้เพียงแค่ญาติสนิทของคนไข้ คือ พ่อ แม่ และปู่ย่าตายายเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปเยี่ยมได้ ถ้าเป็นพี่น้องก็ต้องอายุ ๑๓ ปีขึ้นไป โดยก่อนเข้าไปในแผนกต้องล้างมือและใส่หน้ากากอนามัยเสียก่อน

ตอนมาตรวจครรภ์ก่อนจะคลอดไม่นานนัก ฉันเคยมาแผนกโรคหัวใจเด็กแล้วครั้งหนึ่ง

เพราะหลังคลอดแล้ว เด็กอาจต้องยังอยู่โรงพยาบาลอีกสักพัก จึงเป็นการดีหากฉันได้คุ้นเคยกับแผนกนี้ไว้แต่เนิ่นๆ

พยาบาลผลักประตูบานใหญ่เข้าไป พาฉันเดินผ่านห้องคนไข้ ห้องเด็กเล่น เดินลึกเข้าไปยังห้องข้างในสุด

เสียงเด็กร้องอื้ออึงกับเสียงดังลั่นจากอุปกรณ์การแพทย์ ดังผสมกันลอยมาจากห้องนั้น

ครั้งแรกที่ฉันเข้าในแผนกนี้ ฉันได้แค่เพียงเดินผ่าน พยาบาลอธิบายเพียงแค่สั้นๆ ว่า เป็นห้องพักฟื้นสำหรับเด็กที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด แต่พอได้เดินเข้ามาดูเองแล้ว ห้องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยเตียงนอนเด็ก ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก มีโต๊ะขนาดใหญ่อยู่กลางห้องสำหรับวางคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การแพทย์นับสิบเครื่อง เหมือนเป็นห้องไอซียูเล็กๆ ในแผนกหัวใจเด็กอย่างไรอย่างนั้นเลย

เด็กน้อยนอนอยู่ในตู้อบ คุณหมอสองสามคนยืนล้อมอยู่รอบตู้ พอเห็นฉันเดินเข้ามา คุณหมอที่ดูเด็กที่สุดในกลุ่มหันมาคุยกับฉัน

“สวัสดีครับคุณแม่ ผมเป็นหมอดูแลลูกคุณระหว่างที่อยู่โรงพยาบาลนี้นะครับ” พูดพลางคุณหมอโชว์บัตรประจำตัวให้ดู  “ผมชื่อ อิชิอิ ครับ” ฉันโค้งคำนับคุณหมอ ตาอ่านชื่อคุณหมอในบัตรที่ถูกโชว์ให้ดู ‘อิชิอิ เรียว แพทย์ประจำแผนกโรคหัวใจเด็ก’

คุณหมอเรียวอธิบายว่า จำเป็นต้องทำการสวนหัวใจ เพื่อจะได้รู้ถึงการทำงานของหัวใจ การหมุนเวียนของกระแสเลือด รวมไปถึงความดันในหัวใจ แล้วหลังจากนั้นจะสามารถวินิจฉัยโรคและตัดสินใจได้ว่าต้องทำการผ่าตัดอย่างไรบ้าง เอาเถอะ มาถึงจุดนี้แล้ว สมองฉันแทบไม่อยากรับศัพท์ทางการแพทย์เท่าไรแล้ว ขอแค่ให้ลูกมีชีวิตต่อไปได้ก็พอ

ผละจากคุณหมอ ฉันเดินรี่ไปยังหน้าตู้อบ  “ดูสิ ลูกเราเหมือนดักแด้เลย” สามีหันมาบอกฉันพร้อมหัวเราะ

ฉันมองไปที่เด็กทารกในตู้อบ ดูภายนอกแล้วเธอดูครบสมบูรณ์ดีทุกอย่าง

พยาบาลคนหนึ่งส่งเสียงถามฉันว่า อยากจะอุ้มลูกหรือเปล่า ฉันถามเธอกลับไปว่า ตอนนี้อุ้มได้จริงเหรอ เพราะมีอุปกรณ์การแพทย์รอบตัวลูกไปหมด เธอไม่รอคำตอบจากฉัน ทว่าเดินเข้ามาใกล้ตู้อบ จัดแจงสายไฟและสายพลาสติกทั้งหมด อุ้มเด็กน้อยขึ้นมา ส่งเธอมาในอ้อมกอดฉัน

อุ้มลูกครั้งแรกเป็นแบบนี้นี่เอง เต็มไปด้วยความเก้ๆ กังๆ กลัวจะทำเด็กน้อยตัวเล็กตกเสียเหลือเกิน

เธอดูบอบบางมาก นอนหลับตาพริ้ม นิ้วมือเล็กกระจ้อยร่อย กลิ่นทารกจากตัวเธอแตะจมูกฉันมาก

สักพัก พยาบาลคนเดิมเดินกลับมาถามพวกเราว่า “ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจชื่อลูกได้แล้ว ฉันจะเปลี่ยนป้ายชื่อเธอได้เลยนะคะ” ถูกถามด้วยคำถามเดิมในรอบครึ่งวัน ทำให้ฉันรู้สึกได้ว่า ทางโรงพยาบาลคงเร่งอยากได้ชื่อจากพวกเราเร็วๆ แม้ว่าจะจบด้วยคำพูดทำนองว่า “ค่อยๆ คิดก่อนก็ได้นะคะ” ก็ตาม

อลิสะ เมอิ และมิอุ เป็นสามชื่อเข้ารอบสุดท้าย

เมอิ ดูมีความเป็นไปได้น้อยสุด ด้วยเพราะชื่อพ้องกับดาราหญิงญี่ปุ่นคนหนึ่ง ความจริงฉันชอบดาราคนนี้อยู่ไม่น้อย แต่สามีดูเหมือนจะไม่ปลื้มเท่าไรนัก

อลิสะ เป็นชื่อที่ฉันชอบที่สุด ฉันตั้งใจไว้แล้วว่าอยากตั้งชื่อลูกที่มีเสียงพ้องได้หลายภาษา อลิสะในภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษสามารถออกเสียงแปลงเป็นอลิซได้ ส่วนภาษาไทยให้ชื่อว่า อลิสา

ส่วนชื่อสุดท้าย มิอุ ฉันรู้สึกกลางๆ กับชื่อนี้ สามีคิดชื่อนี้เพียงเพราะเรียกง่าย ฟังแล้วดูน่ารัก แถมยังชื่อพ้องกับน้องสาวของเขา

“เอาชื่อมิอุมั้ย?” สามีฉันถามอีกครั้ง

“เนี่ย ผมลองไปค้นหาดูแล้วนะ ถ้าเราตัดสินใจเอาชื่อนี้ ผมจะเอาคันจิตัวที่มีความหมายว่า ดอกมะลิ เป็นตัวแรก แล้วตามหลังด้วยคันจิที่แปลว่า ห่อผ้า รวมกันแล้วอ่านออกเสียงว่า มิอุ”

คนญี่ปุ่นเวลาตั้งชื่อมักจะคิดเสียงเรียกชื่อขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงเลือกตัวคันจิมาเขียนชื่อเพื่อสื่อเป็นความหมาย ดังนั้น เวลาถามคนญี่ปุ่นถึงความหมายของชื่อ คนญี่ปุ่นจะอธิบายเป็นความหมายของตัวคันจิในชื่อของตัวเอง การตั้งชื่อ ยังคำนึงถึงการออกเสียงให้พ้องกับนามสกุลที่ต้องฟังรื่นหู บางครอบครัวอาจพิถีพิถันมาก เคร่งไปถึงเรื่องจำนวนขีดของตัวคันจิก็มี

“ที่ไทยเขาใช้ดอกมะลิกันเยอะใช่มั้ย? ไม่ดีเหรอ เด็กน้อยที่เป็นเหมือนห่อผ้าดอกมะลิของพ่อแม่ เธอมีความหอมของดอกไม้ที่ทำให้คนรอบข้างหลงรักเธอได้ มันอาจฟังแปลกๆ สำหรับคนญี่ปุ่นน่ะนะ แต่ผมชอบ” สามีฉันยังคงไม่ลดละความพยายาม ปกติสามีฉันเป็นคนไม่มีความละมุนละไมเสียเท่าไร คราวนี้ฉันจึงทึ่งในความพยายามของเขาเสียไม่ได้

มิอุ, เด็กน้อยห่อผ้าดอกมะลิ, ไม่ใช่เพียงแค่ชื่อนี้แสดงถึงความเป็นลูกครึ่งไทยญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ดอกมะลิยังเป็นสัญลักษณ์แห่งวันแม่ ชื่อ ‘มิอุ’ ยังแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นแม่ลูกกัน ระหว่างฉันและมิอุด้วย

เย็นวันนั้น สามีกลับบ้านไปตั้งแต่บ่ายแก่ๆ แล้ว ฉันเดินมาเยี่ยมลูกที่แผนกโรคหัวใจเด็กอีกครั้ง

ตู้อบถูกย้ายไปที่ใหม่ ใกล้กับโต๊ะทำงานของพยาบาล

ฉันเดินเข้าไปใกล้ๆ ใช้สายตาเช็กกระดาษที่เขียนชื่ออีกครั้งเพื่อความแน่ใจ

ชื่อบนกระดาษถูกเปลี่ยนจาก ‘ทาคามูระ B (ทาคามูระ Baby)’ เป็น ‘ทาคามูระ มิอุ’ แล้ว

 

…………………………………………………

อ่านตอนอื่นๆ ของ : การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 12 : กลับสู่ชีวิตในโรงพยาบาลอีกครั้ง

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 11 : ของขวัญ

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 10 : คำอธิษฐานในฤดูหนาวหนึ่ง

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 9 : ริกะจัง สาวน้อยผู้มีริมฝีปากคล้ำตลอดเวลา

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 8 : ชีวิตดั่งนั่งรถไฟเหาะตีลังกา

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 7 : ตกหลุมรักฤดูใบไม้ร่วงอีกครั้งหลังการผ่าตัดครั้งที่สอง

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 6 : คุณหมอเรียว – หมอโรคหัวใจคนแรกของมิอุ

การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 5 : การผ่าตัดครั้งแรก

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 4 : เด็กน้อยห่อผ้าดอกมะลิ

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 3 : จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 2 : ความเศร้าในใจยามใบไม้เปลี่ยนสี

– การเดินทางของเด็กน้อยหัวใจครึ่งดวง ตอนที่ 1 : กล่องคุกกี้แห่งความฝัน

 

Don`t copy text!