คุ้มเจ้าเมืองเหนือ 1 :  เจ้านายฝ่ายเหนือ

คุ้มเจ้าเมืองเหนือ 1 : เจ้านายฝ่ายเหนือ

โดย : จินต์ชญา

ไม่ใช่แค่ นิยายออนไลน์ เพียงอย่างเดียวที่มีให้อ่านได้ อ่านดี อ่านฟรี ที่อ่านเอา แต่เรามีเรื่องให้ อ่านออนไลน์ กันมากมาย เช่นเดียวกับคอลัมน์ คอลัมน์  ‘เรื่องผีที่ฉัน (อยาก) เล่า’ ของ ‘จินต์ชญา’

……………………………………………………….

 

ห้องใต้ดินขนาดใหญ่ใต้ตึก

เขาว่าไว้ขังทาสที่มีความผิด

สมัยก่อนคนเป็นทาสไม่มีโอกาสเห็นแสงตะวันเลย

ต้องถูกจองจำในคุกจนพ้นโทษหรือจนเสียชีวิต

 

เมื่อเราพูดถึงหัวเมืองฝ่ายเหนือ เรานึกถึงเชียงใหม่เป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว คำว่า ‘หัวเมืองฝ่ายเหนือ’ หมายถึงดินแดนทางเหนือที่เคยเป็นอาณาจักรล้านนา อยู่ระหว่างแม่น้ำสาละวินถึงลุ่มแม่น้ำโขง มีเมืองสำคัญได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แพร่ น่าน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน แต่เดิมเคยตกเป็นประเทศราชของไทยและพม่าสลับกันไปมา จนช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็กลายเป็นประเทศราชของสยามเด็ดขาด คือต้องถวายบรรณาการทุกๆ 3 ปี แม้ว่าเป็นสถานะประเทศราช แต่เจ้าผู้ครองนครก็มีอำนาจสิทธิ์ขาดปกครองดินแดนของตน เพียงแต่มีหน้าที่ต้องส่งเครื่องบรรณาการถวายราชสำนักสยามเพื่อแสดงความจงรักภักดีเท่านั้น  

ส่วนการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือในอดีต นครเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน ต่างมีฐานะที่เท่าเทียมกัน เพราะรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ได้แต่งตั้งเจ้าผู้ครองเมืองให้มีศักดิ์เป็นพระยาตลอดจนตำแหน่งต่างๆ เสมอกันทั้งหมด จนในสมัยรัชกาลที่ 3 เชียงใหม่จะมีอำนาจเหนือเมืองลำปางและลำพูน มีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองเมืองลำปางและลำพูนได้  หัวเมืองฝ่ายเหนือจะมีโครงสร้างการปกครองที่คล้ายกัน อำนาจในการปกครองเป็นของเจ้าผู้ครองเมืองและมีผู้ช่วยอีก 4 ตำแหน่ง คือ พระยาอุปราช พระราชบุตร พระยาราชวงศ์และพระยาเมืองแก้วหรือพระยาบุรีรัตน์ รวมกับตำแหน่งพระยาเมืองจะรวมเรียกว่า เจ้าขัน 5 ใบ

พอมาสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งอีก 3 ตำแหน่งคือเจ้าราชภาคิไนย พระยาอุดรการโกศลและพระยาไชยสงคราม ต่อมาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งเพิ่มอีก 3 ตำแหน่งคือ เจ้าราชภาติกวงศ์ เจ้าราชสัมพันธวงศ์ และเจ้าสุริยวงศ์ และใน พ.ศ. 2438 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเพิ่มอีก 6 ตำแหน่งคือ เจ้าทักษิณนิเกตน์ เจ้านิเวศอุดร เจ้าประพันธพงษ์ เจ้าวรญาติ เจ้าราชญาติ และเจ้าไชยวรเชษฐ์

แม้ว่าเจ้านายฝ่ายเหนือจะมีสถานะเป็นเจ้าในเมืองของตน แต่ในสยามไม่ได้มีสถานะเช่นนั้น คือเป็นเจ้าที่นครที่ตนครองเมือง แต่มาที่สยามก็เป็นคนธรรมดาไม่ได้ยกเป็นเจ้าเทียบกับเชื้อพระวงศ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามกำลังถูกคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคม เพื่อเป็นการผูกใจ ได้ทรงยกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูนและน่าน ให้มีตำแหน่งเป็นเจ้าใน พ.ศ. 2399 ยกเว้นเมืองแพร่เพราะเจ้าผู้ครองเมืองมิได้ลงไปเฝ้าเมื่อมีพิธีราชาภิเษก

เรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อเจ้าดารารัศมี ธิดาของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เจ้าอินทวิชยานนท์ และแม่เจ้าทิพเกสร เข้ารับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนม ไม่ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้านายในราชวงศ์มีตำแหน่งเป็นพระชายาเหมือนพระภริยาเจ้าองค์อื่นๆ เมื่อมีพระธิดา ก็เปลี่ยนพระนามเป็นเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ทรงมีพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี มีพระชันษาเพียง 3 ปี 4 เดือน 18 วัน ก็สิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเสียพระราชหฤทัยมาก ทรงมีรับสั่งกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวโทษพระองค์เองว่ามิได้สถาปนาพระยศพระราชธิดาให้เป็น ‘เจ้าฟ้า’ ตามศักดิ์แห่งพระมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงพระราชธิดาในพระเจ้าประเทศราช เป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์

จนกระทั่งปี 2451 ที่เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยือนนครเชียงใหม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ขึ้นเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง ดำรงพระอิสริยยศ ‘พระราชชายา’ และดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้านายในราชวงศ์จักรีนับแต่นั้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชทานกระบวนเสด็จอย่างเต็มยศตามโบราณราชประเพณีเสมอด้วยทรงครองพระอิสริยยศพระมเหสีในตำแหน่ง ‘พระอัครชายาเธอ’ เลยทีเดียว

จากการที่สยามลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่งใน พ.ศ. 2398 มีคนอังกฤษเข้ามาทำการค้าไม้ และเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้านายและคนในบังคับอังกฤษ ทำให้ในหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงแก้ไขปัญหาก่อนที่อังกฤษจะเข้ามาแทรกแซง โดยโปรดให้รวมนครเชียงใหม่, นครน่าน, นครลำปาง, นครลำพูน, แพร่, เถิน เข้าเป็นมณฑลลาวเฉียง และทรงแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ประจำนครเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2427

จนหลัง พ.ศ. 2437 เมื่อมีการปฏิรูปการปกครอง จึงทรงยกเลิกการปกครองแบบประเทศราชเพื่อรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่กรุงเทพฯ จึงกลายเป็นเมืองภายใต้มณฑลพายัพและสิ้นสุดความเป็นนครรัฐอิสระมาตั้งแต่นั้น โดยเฉพาะ ตำแหน่งเจ้าประเทศราชก็ให้สิ้นสุดเมื่อเจ้านครนั้นถึงแก่พิราลัย

ตระกูลเจ้านายผู้สืบเชื้อสายในราชวงศ์ที่เคยปกครองอาณาจักรหัวเมืองเหนือ มีสามสายคือ สายเชื้อเจ็ดตน (ทิพยจักราธิวงศ์) สายติ๋นหลวงมหาวงศ์ และสายแพร่-เชียงตุง  เราเจอตระกูลเจ้านายฝ่ายเหนือปะปนอยู่ทั่วไปในวงสังคม ซึ่งยังใช้คำยกย่องว่า ‘เจ้า’ กันอยู่ แต่ในทางการนั้น ไม่มีคำนำหน้าแบบสมาชิกราชตระกูล เป็นนาย นาง นางสาว เป็นสามัญชนทั่วไป เจ้าฝ่ายเหนือที่เป็นชาย สมรสแล้ว ลูกยังได้รับการขานนามว่าเจ้าอยู่ แต่หากเจ้าผู้หญิงสมรส ดูจะไม่ได้รับการเรียกนามว่าเจ้า เช่น เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ ที่ท่านจากไปแล้ว ลูกชายท่านก็ถึงแก่กรรมแล้วเช่นกัน พี่ทินกร อัศวรักษ์ ก็ไม่ได้รับการขานนามว่าเป็นเจ้า สรุปได้ว่า การเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือจึงสืบเชื้อสายได้ไกลว่าราชสกุลที่เมื่อหมดหม่อมหลวงแล้วก็กลายเป็นคนธรรมดา  

อีกอย่างที่คนอาจจะรู้น้อย คือ ผู้หญิงที่สมรสกับเจ้านายฝ่ายเหนือชั้นสูง จะกี่คนก็ตาม คนจะเรียกว่า ‘หม่อม’ เหมือนกับคุณชวดหญิงของฉัน ที่เป็นภรรยาคนที่สองของคุณชวดเจ้าพระยา เพราะภรรยาเอก จะเป็นท่านผู้หญิง ภรรยารอง เขาเลยเรียกว่า หม่อม เหมือนกัน ไม่จำเป็นจะต้องแต่งงานกับหม่อมเจ้าเสมอไป

ปัจจุบันเจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์ทิพย์จักรยังคงมีการสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น และยังมีการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี พ.ศ. 2501 ในนาม มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ ส่วนนามสกุลพระราชทานของเจ้านายฝ่ายเหนือ นอกจากใช้ ณ ต่างๆ เช่น ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง ณ น่าน ณ ลำพูน ฯลฯ คือสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงและเจ้านายผู้ใหญ่โดยตรง แล้ว ยังมีนามสกุลอื่นๆ อีกมากที่สืบมาจากเจ้านายฝ่ายเหนือ เช่น พรหมวงศ์นันท์ มหาวงศนันท์ มหายศนันท์ สิโรรส มหายศปัญญา วังซ้าย ตุงคนาคร ธนัญชยานนท์ ลังกาพินธุ์ วงศ์ดาราวรรณ ขุนศึกเมงราย เทพวงศ์ แพร่พันธุ์ วงศ์วรรณ ฯลฯ เป็นต้น

ฉันเพิ่งเคยไปเมืองแพร่เป็นครั้งแรก ทั้งๆ ที่ไปเมืองอื่นในภาคเหนือมานับครั้งไม่ถ้วน แพร่วันนี้  มีการพัฒนาเมืองมากขึ้น แม้ว่าจะเนิบช้าสักหน่อย ที่ผ่านมาดูจะเป็นเมืองผ่านมากกว่าเมืองที่แวะเป็นจุดหมาย  แต่ข้อดีคือ ทำให้เราสามารถแพลนการเจริญเติบโตของเมืองได้ ทั้งการวางยุทธศาสตร์ การวางผังเมือง ฯลฯ เมื่อมาถึงเมืองแพร่ สิ่งก่อสร้างที่ใหญ่และเด่นเป็นสง่ากลางเมืองแพร่ ก็น่าจะเป็น ‘คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่’ เคยเป็นจวนข้าหลวงหรือบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่มาช้านาน ตอนนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้

มีเรื่องราวใหญ่โตเกี่ยวกับกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ พะกาหม่องผู้นำกบฏเข้ายึดเมืองแพร่ในปี พ.ศ. 2445  และพระยาพิริยวิไชย เจ้าหลวงเมืองแพร่ ได้ร่วมทำพิธีสาบานตนต่อต้านกองทัพรัฐบาลสยาม ส่วนพระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) ข้าหลวงประจำเมืองแพร่ถูกจับและถูกสังหาร มีการเข่นฆ่าขุนนางสยามกวาดล้างครั้งใหญ่ ทำให้ทางรัฐบาลสยามต้องส่งกองทัพจากเมืองใกล้เคียง เช่น พิชัย สวรรคโลก สุโขทัย ตาก น่าน และเชียงใหม่ เข้ามาปราบปรามและให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) นำกองทัพหลวงขึ้นมาปราบปราม พร้อมทั้งให้ดำเนินการสอบสวนสาเหตุการปล้นครั้งนี้ด้วยและให้ถือว่าเป็น ‘กบฏ’ ด้วย

มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการเมือง สยามมีนโยบายไม่ต้องการประหารชีวิตเจ้าหลวงหรือเจ้านายฝ่ายเหนือซึ่งเป็นญาติกันหมดทั้งภาค ทำให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้สอบสวนพยานหลายคน โดยยึดถือตามแนวนโยบายที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงกำชับไว้ คือ ไม่ให้ตั้งข้อสงสัย หรือกล่าวหาเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานล่วงหน้า แต่เมื่อสอบสวนกลับพบหลักฐานต่างๆ ผูกมัดเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานบางคน เช่น เจ้าราชบุตรเพราะเมื่อพวกกองโจรเงี้ยวปล้นเมืองแพร่สำเร็จแล้ว เจ้าเมืองแพร่ได้แสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนพวกโจรเงี้ยวอย่างเด่นชัด โดยเกณฑ์ข้าวสารชาวบ้านหลังคาละ ๒ ทะนาน อาวุธปืน กระสุนดินดำ เงิน และกองกำลัง จำนวน ๕๐ คน ส่งไปช่วยต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล ทำให้มีข่าวลือว่าจะประหารขีวิตผู้สมคบคิดกันทุกคน ทำให้เจ้าราชวงษ์และภริยาก็ตกใจกลัวความผิดดื่มยาพิษฆ่าตัวตายเสียก่อน เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเกรงว่าจะเป็นการสร้างความ เข้าใจผิดกันว่ารัฐบาลกระทำการรุนแรงต่อเจ้านายเมืองแพร่ ถ้าสอบสวนต่อ เจอหลักฐาน อาจจะต้องประหารชีวิตจริงๆ จะกระทบกระเทือนใจเจ้านายฝ่ายเมืองเหนือและราษฎรทั้งหลายในลานนาไทย

ดังนั้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงพยายามผ่อนปรนต่อเจ้านายเมืองแพร่ และไม่ให้เข้าไปหาอังกฤษเพราะจะทำให้เรื่องยุ่งยากมากยิ่งขึ้น จึงปล่อยข่าวว่าจะมีการจับกุมตัวเจ้าเมืองแพร่และ เจ้าราชบุตร ตอนดึกคืนนั้น เจ้าเมืองแพร่พร้อมด้วยคนสนิทอีกสองคนก็หลบหนีออกจากเมืองแพร่และ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้หลับตาเสียข้าง ปล่อยให้หนีไปหลวงพระบางเป็นผลสำเร็จ พอหนีได้ 15 วันถือว่าละทิ้งราชการ สามารถออกคำสั่งถอดเจ้าพิริยเทพวงษ์ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองแพร่ทันที พร้อมกับสั่งอายัดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้หลวงที่เจ้าเมืองแพร่ค้างกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดจากยศตำแหน่ง ริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมดคืน ท่านจึงไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว และได้พำนักอยู่ที่นั่นจนกระทั่งถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2455 สำหรับคดีความผิดฐานร่วมก่อการกบฏก็เป็นอันต้องระงับโดยปริยาย ไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นอีก

คุ้มเจ้าหลวงที่เมืองแพร่ที่ถูกยึดมา จึงได้ใช้เป็นที่ตั้งกองทหารม้าจากกรุงเทพฯ เป็นโรงเรียนพิริยาลัย เป็นจวนข้าหลวงหรือบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด เคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวเสด็จมาเยี่ยมเยืยนราษฎรจังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2501 และปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์  อาคารหลังนี้ยังได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2536 อีกด้วย

คุ้มนี้มีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ผีดุมาก’ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในหมู่ชาวแพร่  สาเหตุอาจจะเพราะใต้อาคารมีคุกที่คุมขังนักโทษมานานนับครึ่งศตวรรษ เป็นห้องใต้ดินขนาดใหญ่ใต้ตึก เขาว่าไว้ขังทาสที่มีความผิด สมัยก่อนคนเป็นทาสไม่มีโอกาสเห็นแสงตะวันเลย ต้องถูกจองจำในคุกจนพ้นโทษหรือจนเสียชีวิต จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกทาส คุกทาสแห่งนี้เลยกลายมาเป็นที่คุมขังนักโทษทั่วๆ ไปของเจ้าเมืองหรือข้าหลวงในสมัยต่อๆ มา จนกระทั่งมีการสร้างเรือนจำเมืองแพร่ขึ้น คุกทาสของคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่จึงว่างลง…

ว่างน่ะเฉพาะคน…

แต่สำหรับวิญญาณ…

ยังอยู่กันเต็มเหมือนเคย!!!



Don`t copy text!