มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์

มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้ได้ อ่านออนไลน์

เคยเกาหัวแกรกๆ แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมอยู่ดีๆ มาสนใจผลงานของ มณเฑียร บุญมา ที่แสนจะฉีกกฎเกณฑ์ไปจากงานศิลปะในแบบปกติอย่างภาพวาดและรูปปั้นได้ มิหนำซ้ำผลงานบางชิ้นของท่านยังแทบจะเหมือนกับเศษวัสดุที่มีใครมากองทิ้งไว้ ช่างดูห่างไกลจากภาพผลงานศิลปะในอุดมคติอันงดงามเสียเหลือเกิน จะยกเข้าบ้านแต่ละทีก็ต้องเอาไปซ่อนภรรยาสุดที่รักให้มิดชิด ไม่อย่างนั้นมีหวังโดนเฉ่งหาว่าซื้ออะไรมา ไม่น่ารื่นรมย์

เพื่อจะหาคำตอบเลยต้องขอนึกย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่ได้ไปเตร็ดเตร่เที่ยวดูพิพิธภัณฑ์ทั่วยุโรปเป็นครั้งแรก ตอนนั้นไล่เรียงดูศิลปะตะวันตกตั้งแต่ยุคกรีก โรมัน เรเนซองส์ นีโอคลาสสิก อิมเพรสชั่นนิสม์ ได้เห็นผลงานศิลปะทั้งภาพเขียนรูปปั้น เทวดา นางฟ้า ทิวทัศน์ พระราชา ขุนนาง ผ่านตาเรานับพันนับหมื่นชิ้น แต่ละชิ้นสวยสมบูรณ์หมดจดไปเสียหมด จนวันหนึ่งขณะที่ร่อนเร่พเนจรอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ช่วงเช้าเราก็ไม่พลาดที่จะแวะไปทักทายภาพวาดโมนาลิซ่าและผลงานศิลปะชิ้นสำคัญอีกโขยงใหญ่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ คงเป็นเพราะเห็นของสวยๆ งามๆ ที่ดูคล้ายๆ กันเยอะเกินไปจนเริ่มเอียน ตอนบ่ายเลยกะว่าจะไปดูผลงานศิลปะแบบอื่นๆ บ้างเพื่อแก้เลี่ยน

“โลกที่เปลี่ยนแปลง” พ.ศ. 2526 เทคนิคสื่อผสม ขนาด 80 x 55 เซนติเมตร

สรุปไปจบที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ปอมปิดูที่อยู่ห่างกันไม่ไกล ที่นั่นมีผลงานศิลปะหน้าตาแปลกๆ จัดแสดงอยู่มากมายภายในตึกพิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบมาพิลึกพิลั่นพอๆ กัน แต่ที่เตะตาเรามากที่สุดเห็นจะเป็นผลงานศิลปะที่มีชื่อว่า ‘เดอะเฟาว์เท่น’ ที่แปลว่าน้ำพุ โดยศิลปินนามว่า มาร์แชล ดูชองป์ เป็นการนำโถฉี่แบบปกติที่เห็นตามห้องน้ำชายมาวางกลับหัวแล้วเซ็นชื่อแค่นั้นเลย ตอนนั้นก็คิดในใจว่าทำอย่างนี้ก็เป็นศิลปะได้ด้วยหรือ เย็นวันนั้นพอกลับถึงโรงแรมที่พัก ไม่รู้ทำไม ภาพโถฉี่กลับหัวก็ยังคงติดตาถึงขนาดเก็บเอาไปฝัน เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นเลยทนไม่ไหว ขอกูเกิ้ลดูให้รู้กันทีว่าไอ้โถฉี่กลับหัวนี่มันยังไง

หาอยู่สักพักจนได้ใจความว่า มาร์แชล ดูชองป์ นี่ไม่ใช่ศิลปินโนเนม แต่เป็นถึงบิดาแห่งศิลปะคอนเซ็ปชวล (ศิลปะที่ไม่เน้นสวย แต่เน้นแนวคิด) เดิมทีดูชองป์เริ่มเป็นศิลปินด้วยการวาดภาพเหมือนศิลปินปกติ วาดเก่งและมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ดูชองป์วาดภาพจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว แต่ด้วยความคิดที่อยากจะให้สาธารณชนเลิกมองศิลปะเป็นของสูงส่งที่ต้องเชิดชูขึ้นหิ้งเหมือนที่เคยเป็นมาตลอดในอดีต ดูชองป์เลยหยุดวาดภาพแล้วหันมาสร้างผลงานศิลปะในรูปแบบใหม่แทน ท่านหยิบจับเอาสิ่งของรอบตัวที่วางเกลื่อนกลาดไว้รอบบ้านและดูไม่ค่อยจะแพงอย่างล้อจักรยาน เก้าอี้ กระจก กรงนก มาสร้างเป็นงานศิลปะ แนวความคิดของดูชองป์คือ ของอะไรก็ตามแม้จะไร้ค่าไร้ราคาแค่ไหน ถ้าศิลปินเห็นคุณค่าคู่ควรจะหยิบจับขึ้นมาให้เป็นงานศิลปะ ของชิ้นนั้นก็เป็นศิลปะได้ งานศิลปะจึงไม่ควรยึดติดกับตัววัตถุ แต่ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการตกผลึกทางความคิดของศิลปินมากกว่า

ถ้าจะให้มองกันในแง่นั้น งานนี้ถือว่าโถฉี่ทำสำเร็จเพราะทำเอาเราไปฝัน แถมติดตาสลัดไม่ออกจนต้องแหกขี้ตาตื่นแต่เช้าไปค้นคว้าทำความเข้าใจกับแนวคิดของดูชองป์ ศิลปะแบบนี้ถึงจะไม่สุนทรีย์เหมือนมองภาพวิว ภาพดอกไม้ แต่ก็สร้างแรงกระตุ้นให้คนดูเอาไปขบคิดต่อ เพิ่มไอคิวและริ้วในสมองได้อีกสองสามขยัก ที่ร่ายมาเสียยาวเพราะความรู้สึกคล้ายๆ กับตอนที่ไปจ๊ะเอ๋กับโถฉี่ กลับเกิดขึ้นอีกทีเมื่อได้เห็นผลงานของ มณเฑียร บุญมา แถมดูแล้วยังสะดุ้งยิ่งกว่าเพราะผลงานของมณเฑียรที่เปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นตะวันออกนั้นกระทบจิตใจคนไทยอย่างเราได้มากกว่าโถฉี่ของฝรั่งเป็นไหนๆ

ผลงานจากการแสดงนิทรรศการจิตรกรรมสีน้ำของกลุ่มไวท์และปกสูจิบัตร ตั้งแต่ครั้งที่ 1-9

(ภาพจากนิตยสารไฟน์อาร์ท ฉบับที่ 105)

พอเริ่มสนใจผลงานของมณเฑียร ก็เลยเริ่มจากการไปค้นดูประวัติชีวิตส่วนตัวของท่านเพื่อให้เข้าใจตัวตนที่แท้จริงของศิลปิน ได้ใจความว่า มณเฑียร บุญมา เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ที่กรุงเทพฯ ช่วงวัยเด็กต้องย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีอยู่พักใหญ่ กลับมาอยู่เมืองหลวงอีกทีตอนอายุย่างเข้า 18 และสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนเเพาะช่าง มณเฑียรมุ่งมั่นจะเป็นศิลปินมากจนบอกกับเพื่อนๆ ว่า ‘หากเราไม่ประสบความสำเร็จเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง เราจะฆ่าตัวตาย’ ท่านเรียนเพาะช่างอยู่ 3 ปี และเข้าเรียนต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร มณเฑียรเป็นคนทุ่มเท ทำอะไรจริงจัง สุภาพ ขี้เกรงใจ และเป็นที่รักของเพื่อนๆ เลยได้รับเลือกให้เป็นประธานนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ หลังเรียนจบจากศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2521 มณเฑียรไปทำงานสอนศิลปะอยู่ที่วิทยาลัยช่างศิลป์อยู่หลายปี จนในปี พ.ศ. 2529 ท่านไปบวช สึกออกมาและแต่งงานกับ จันทร์แจ่ม มุกดาประกร ที่รักกันมายาวนานตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร

หลังแต่งงานมณเฑียรเดินทางไปเรียนต่อด้านศิลปะด้วยทุนของรัฐบาลที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี และที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ปริญญากลับมาเมืองไทยในปี พ.ศ. 2531 มณเฑียรไปเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขณะที่ครอบครัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่ต้องห่างจากภรรยาสุดที่รักและลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่พึ่งเกิดใหม่เพราะครั้งหนึ่งเคยมีหมอดูทักว่าถ้าอยู่ใกล้ชิดกันภรรยาจะอายุสั้น ถึงจะพยายามจะอยู่ไกลกัน แต่ด้วยความคิดถึงทั้งคู่ก็ไปมาหาสู่กันเป็นประจำในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ทั้งๆ ที่ระยะทางก็แสนจะไกล แต่ถัดจากนั้นเพียงไม่กี่ปีจันทร์แจ่มก็ป่วยด้วยโรคมะเร็งก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. 2539 เพื่อที่จะกลับมาดูแลลูก มณเฑียรย้ายจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็ย้ายมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มณเฑียรเริ่มรู้สึกวูบๆ เป็นลมอยู่บ่อยครั้งแต่คิดว่าไม่เป็นอะไร คงเป็นแค่ผลพวงจากการทุ่มเททำงานหนัก เป็นมากเข้าเลยไปหาหมอ ตรวจร่างกายพบว่าเป็นมะเร็ง มณเฑียรไม่คิดว่าตัวเองจะตาย ขณะอยู่ที่โรงพยาบาลยังคิดทำงานศิลปะอยู่อย่างไม่หยุดหย่อน จนในที่สุดท่านก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลศิริราชในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2543

เมื่อกลับไปดูผลงานตั้งแต่สมัยเรียนของ มณเฑียร บุญมา เห็นได้ชัดว่าท่านฉายแววแหวกแนวมาตั้งแต่แรกแล้ว เช่นสมัยตอนเป็นนักศึกษาปี 4 ที่ศิลปากร ขณะที่คนอื่นๆ เขาวาดภาพส่งอาจารย์ มณเฑียรกลับไปต่อโต๊ะโดยใช้หลักเพอร์สเปกทีฟ หรือหลักการวาดที่ทำให้ภาพ 2 มิติดูมีความลึกเหมือน 3 มิติ พอวาดรูปโต๊ะโดยใช้หลักการนี้ก็ดูปกติดี แต่พอมณเฑียรต่อโต๊ะขึ้นมาจริงๆ เป็น 3 มิติโดยใช้มุมและเส้นสายเดียวกับในภาพ โต๊ะที่ได้กลับเอียงกระเท่เร่ใช้งานไม่ได้จริง เป็นการพิสูจน์ว่าหลักการเพอร์สเปกทีฟเป็นเพียงการลวงตาในภาพ 2 มิติเท่านั้น หลักการดีทฤษฎีล้ำแต่พอแบกโต๊ะไปส่งอาจารย์กลับไม่ผ่านเสียอย่างนั้น ต่อมามณเฑียรได้แรงบันดาลใจใหม่ กะว่าจะลองทำศิลปะอีโรติกดูบ้าง แทนที่วาดรูปโป๊โชว์นมโชว์เนิน ท่านกลับเอากล้องถ่ายรูปไปถ่ายซอกรักแร้ ซอกเข่า ซอกแขนเพื่อน ถ่ายแบบซูมใกล้ๆ ให้ดูคล้ายๆ จะเป็นอวัยวะอื่นที่เป็นจุดซ่อนเร้น เสร็จแล้วล้างอัดภาพออกมาระบายสีเพิ่มเติมก่อนยกไปส่งอาจารย์ พออาจารย์เห็นก็ยังไม่ให้ผ่านอีกตามระเบียบ มณเฑียรเลยต้องกลับไปสร้างผลงานชุดใหม่ คราวนี้ไปนั่งถ่ายภาพในสนามม้า เริ่มตั้งแต่ตอนอัฒจันทร์ร้างไม่มีคน ถ่ายไปเรื่อยๆ จนคนบนอัฒจันทร์แน่นเอี้ยด เอาไปส่งอาจารย์ผลออกมาก็เป็นอีหรอบเดิมคือไม่ผ่าน มณเฑียรเห็นท่าไม่ดี ขืนจะแหวกแนวต่อไปอีกมีหวังได้ซ้ำชั้นแน่นอน ท่านจึงกลับมาวาดภาพส่งอาจารย์เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ แต่ก็ยังไม่วายขอแหวกแนวนิดๆ โดยการใช้แอร์บรัชวาดซึ่งสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีใครเขาทำกัน ในที่สุดก็เลยรอดตัวเรียนจบมาจนได้

มณเฑียรคงจะรู้สึกเหมือนถูกบังคับ ภาพวาดสีน้ำมันชุดที่วาดตอนเรียนจบเลยเป็นภาพป้ายสัญลักษณ์จราจรที่ห้ามทำนู่นทำนี่ ในมุมมองผ่านรั้วเหล็กที่กั้นขวางห้ามเข้าซ้อนเอาไว้อีกชั้น และตั้งชื่อผลงานชุดนี้ว่า ‘กฎเกณฑ์ของสังคม’ หลังจากนั้นมณเฑียรก็สร้างผลงานภาพวาดออกมาอีกสองสามชุด ถ้าเห็นแต่ผลงานยุคหลังๆ ของมณเฑียรอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าท่านวาดภาพไม่เก่งเลยไปทำอย่างอื่นแทน แต่จริงๆ แล้วมณเฑียรมีฝีมือในการวาดภาพมาก และแต่ละภาพก็มีแนวคิดลึกซึ้ง สาเหตุที่ท่านเลิกวาดภาพแล้วมาสร้างผลงานในรูปแบบใหม่เพราะมณเฑียรมองว่าผ้าใบและสีที่ใช้วาดนั้นเปรียบเสมือนกรอบที่จำกัดจินตนาการ

มณเฑียร บุญมา กับผลงานจิตรกรรม

(ภาพจากหนังสือ ตายก่อนดับ การกลับมาของ มณเฑียร บุญมา)

พอคิดได้เช่นนี้แล้ว ผลงานในยุคต่อๆ มาของท่านเลยสร้างอย่างนอกกรอบไปเลยจนคาดเดาไม่ได้ เริ่มด้วยผลงานชุด ่โลกที่เปลี่ยนแปลง’ ที่ทำขึ้นมาในปี พ.ศ. 2526 และแสดงงานร่วมกันกับเพื่อนๆ ศิลปิน ‘กลุ่มไวท์’ ที่มณเฑียรเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิก การแสดงในครั้งนั้นโจทย์ที่ศิลปินทุกคนในกลุ่มได้รับคือการสร้างสรรค์จิตรกรรมสีน้ำ แทนที่จะเอาพู่กันจุ่มสีแล้วป้ายลงบนกระดาษให้เป็นภาพเหมือนที่ปกติเขาทำกัน มณเฑียรไม่ได้คิดถึงพู่กันหรือแม้แต่สีเลยด้วยซ้ำ ท่านคิดว่าสีน้ำคืออะไรก็ได้ที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย คราวนี้ก็เลยเอาสนิมและครามมาละลายน้ำแทนสี ราดลงบนจานกระดาษที่มีเม็ดข้าวสารเรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมสามเหลี่ยมเหมือนตามร้านอาหารที่ชอบเอาข้าวอัดลงถ้วยมาคว่ำใส่จานให้เป็นรูปทรงก่อนเอามาเสิร์ฟ บางจานเม็ดข้าวก็เรียงเป็นรูปปลาหัวหักๆ เหมือนปลาทูในเข่ง เสร็จแล้วเอาจานมาติดเรียงกันด้วยกาวที่ทำเองจากกระเจี๊ยบแบบช่างไทยสมัยโบราณ ผลงานชุดนี้มณเฑียรต้องการจะแสดงให้คนดูตระหนักว่าโลกที่เราอยู่นั้นกำลังถูกเปลี่ยนไปโดยอารยธรรมสมัยใหม่ ข้าวปลาที่เรากินกำลังถูกปนเปื้อนด้วยปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารพิษอื่นๆ ภาพต่อๆ มาในชุดเดียวกันนี้มณเฑียรใช้ยางรถยนต์มากลิ้งทับสีที่ยังไม่แห้งให้เกิดเป็นรอยบนกระดาษ โดยรอยล้อรถที่วิ่งไปสื่อถึงถนนหนทางสมัยใหม่ที่มาแทนที่ทางเกวียนและทางเท้า คุกคามความเป็นอยู่แบบเดิมๆ ของคนไทย

ผลงานของมณเฑียรมีความแปลกใหม่ขึ้นเป็นลำดับ จากงานจิตรกรรมภาพเขียน กลายเป็นศิลปะในรูปแบบสื่อผสมที่นำวัสดุต่างๆ มารวมกันเพื่อสร้างเป็นผลงานที่นับวันยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มณเฑียรเลือกเอาวัสดุอุปกรณ์ง่ายๆ บ้านๆ ที่มีอยู่รอบตัวเรา อย่างเช่น ดิน กระสอบ สุ่มไก่ ถังปูน ขี้เถ้า ฟาง ผงซักฟอก ลังไม้ ลังกระดาษ เทียนไข จอบ เสียม เครื่องปั้นดินเผา เขาควาย ฯลฯ มาสร้างเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนแง่มุมต่างๆ ในสังคมอย่างชาญฉลาด ผลงานในยุคหลังๆ ของมณเฑียรไม่เพียงแค่สัมผัสได้ด้วยตา แต่สามารถกระตุ้นประสาทสัมผัสอื่นๆ ของคนดูไปได้พร้อมๆ กันด้วยเสียงจากเทปที่เล่นคลอๆ ไว้ และกลิ่นอบอวลจากสมุนไพรที่เอามาฉาบไว้กับผลงาน

   

มณเฑียร บุญมา กับผลงาน “เรื่องราวจากท้องทุ่ง”

(ภาพจากหนังสือ ไทยทไ มณเฑียร บุญมา)

มณเฑียรเป็นศิลปินที่มีความสามารถมากในการต่อยอดศิลปะแบบสื่อผสมโดยสร้างผลงานขึ้นมาเป็นพิเศษแล้วนำไปวางตามสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมตรงนั้น หรือที่ตามตำราศิลปะเขาเรียกว่า ‘ศิลปะแบบจัดวาง’ ที่เก่งนี่ไม่ใช่เก่งระดับประเทศ แต่เก่งระดับนานาชาติจนถูกรับเชิญไปแสดงผลงานทั้งแบบแสดงเดี่ยวและแบบแสดงเป็นกลุ่มเคียงบ่าเคียงไหล่กับศิลปินเบอร์ต้นๆ ของโลก ไปโชว์มาแล้วจนหมดแทบจะทุกที่ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น บราซิล เยอรมนี สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส ออสเตรีย ออสเตรเลีย ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา คิวบา แคนาดา อินเดีย ไต้หวัน อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และที่อื่นๆ อีกร้อยแปด เอาเป็นว่าในยุคของท่าน มณเฑียร บุญมา เป็นศิลปินไทยที่ก้าวล้ำนำหน้าที่สุด โกอินเตอร์ไปได้ไกลที่สุดเท่าที่วงการศิลปะสมัยใหม่ของไทยเคยมีมา ถ้ามะเร็งไม่คร่าชีวิตของมณเฑียรไปเสียก่อนในวัยแค่ 40 กว่าๆ ยอมให้ท่านได้มีเวลาผลิตผลงานให้ชาวโลกได้ตะลึงต่อ รับประกันได้เลยว่าป่านนี้มณเฑียรคงมีชื่อเสียงกระฉ่อนขึ้นอีกเป็นทวีคูณจนต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ศิลปะของโลก

ถ้าดูประวัติของศิลปินที่ประสบความสำเร็จอย่าง มณเฑียร บุญมา หรือ มาร์แชล ดูชองป์ จะเห็นว่าไม่ใช่อยู่ดีๆ ศิลปินเหล่านี้จะเอาเศษวัสดุมากองๆ หรือเอาส้วมมาตะแคงแล้วจะดังเลย ศิลปินที่จะเป็นที่ยอมรับต้องมีพื้นฐานทางศิลปะซึ่งต้องฝึกมาอย่างช่ำชอง ไม่ให้ใครมาดูถูกได้ จะวาดภาพให้สวยก็ต้องวาดได้ จะปั้นรูปปั้นให้เหมือนก็ต้องปั้นได้ แล้วหลังจากนั้นจะพัฒนารูปแบบไปยังไงก็ไม่มีใครว่า เวรละ! อย่างนี้ก็แย่สิ พรุ่งนี้กะว่าจะไปซื้อโถอึจากโฮมโปรแล้วเอามาห้อยเพดานอวดเพื่อนว่าเป็นงานศิลปะเสียหน่อย อดเลย

Don`t copy text!