รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา

รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

ว่ากันว่ารำมะนาไม่มีสเก็ตช์

ชิตแกะสลักออกมาจากท่อนไม้กลมๆ

ตามอารมณ์ล้วนๆ

 

ประมาณช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เพื่อนของเราที่เป็นนักอนุรักษ์งานศิลปะชื่อดังในวงการ นัดแนะให้เราไปพบกับคณะนักเขียนชาวฝรั่งเศสเพื่อคุยโปรเจ็กต์การทำหนังสือเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษสำหรับพิมพ์เผยแพร่ทั่วโลกให้ทันงาน ‘บางกอก อาร์ต เบียนนาเล’ งานศิลปะครั้งใหญ่ยักษ์ที่จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ตอนปลายปี เราในฐานะนักสะสมผลงานศิลปะหน้าใหม่ไปเตะตาเขาอีท่าไหนก็ไม่รู้ได้รับคัดเลือกให้ไปเผือกอยู่ในหนังสือเล่มใหม่นี้ด้วยประมาณหน้าสองหน้า ก็เลยจำเป็นต้องงัดเอาผลงานศิลปะชิ้นต่างๆ ที่ซุกไว้ออกมาให้ทีมงานฝรั่งเขาพิจารณากันว่าชิ้นไหนเหมาะจะนำไปเป็นภาพประกอบ

ดูจากแต่ละชิ้นที่เขาจิ้มๆ มาทำให้รู้เลยว่าคนไทยเราชอบอะไร ฮิตอะไร ไม่ใช่ว่าฝรั่งมังค่าเขาจะอินไปด้วยกับเราทั้งหมด ผลงานศิลปะฝีมือศิลปินไทยในสไตล์ฝรั่งจ๋านั้นไม่น่าตื่นเต้นสำหรับพวกเขาเท่าไรเพราะเห็นกันมาตั้งแต่เกิด ส่วนแบบที่เป็นไทยจ๋าฟูฟ่องไปด้วยสวรรค์ วิมาน เทพยดา นางฟ้า ป่าหิมพานต์ กินนร กินรี เห็นครั้งแรกทีมงานก็ร้อง โอ้วว! มายก๊อดด! ดูเหมือนจะตื่นเต้นดี แต่ไปๆ มาๆ ก็ยังไม่เก็ตเพราะเนื้อหาช่างดูห่างไกลตัวพวกเขาเสียเหลือเกิน

“คอย” พ.ศ. 2507 เทคนิคแกะสลักไม้มะฮอกกานี ขนาด 46 x 38 เซนติเมตร

พอเขาเลือกกันเสร็จ เรารู้สึกแปลกใจอยู่หน่อยๆ เพราะหนึ่งในผลงานศิลปะที่ถูกจริตทีมงานผมทองตาน้ำข้าวกลุ่มนี้มากที่สุด เป็นผลงานประติมากรรมของ ชิต เหรียญประชา ศิลปินรุ่นอาวุโสที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าฝรั่งเขาจะรู้จัก ด้วยความฉงนเรา เลยถามด้วยสำเนียงปารีเซียงว่า “วายดูยูชูสชิต” ก็ได้คำตอบว่า การที่พวกเขาชื่นชมผลงานของชิตเพราะสามารถผสมผสานความเป็นไทยให้เข้ากับความเป็นสากลในแบบที่พวกเขาเข้าใจได้อย่างสวยงามลงตัว

เอาวะไหนๆ จะอินกันแล้ว งั้นเราช่วยจัดแจงบิลด์ต่อไปเลยดีกว่าว่า ดูยูโนแดท ชิต เหรียญประชา นั้นเป็นนักแกะสลักแนวสร้างสรรค์คนแรกๆ จากยุคบุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย ที่มีฝีไม้ลายมือเก่งจัดจนได้รับยกย่องให้เป็นทั้งศิลปินชั้นเยี่ยมและศิลปินแห่งชาติ พ่วงไปเลย 2 ตำแหน่ง แถม อาจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย เคยถึงกับเอ่ยปากชมผลงานของชิตว่า ‘เรื่องแกะสลักนี่ หาใครมีฝีมือเทียบเทียมไม่ได้แล้วในรัตนโกสินทร์ยุคนี้’

แต่กว่าจะมาเป็นศิลปินชั้นนำของประเทศ ชิต เหรียญประชา ก็ผ่านอะไรมามากมาย ท่านเกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2451 ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ในครอบครัวชาวนา เมื่อจบมัธยมก็เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง เรียนๆไปจนเหลืออีกแค่ปีเดียวก็จะจบ ท่านกลับตัดสินใจลาออกไปเลี้ยงไก่ขายอยู่กับบ้านซะอย่างนั้น เมื่ออายุครบ 20 ชิตโดนบรรจุเป็นทหารเกณฑ์ และด้วยความรู้ทางศิลปะที่มีติดตัวมาก็เลยถูกเลือกให้ไปช่วยงานอยู่ที่กรมทหารช่าง หลังจากนั้นชิตสอบเป็นนายสิบได้สำเร็จ ทำงานรับราชการทหารในอัตราเงินเดือนเดือนละ 8 บาท พอเริ่มจะมีครอบครัวเงินเดือนก็ชักไม่พอกิน ชิตเลยต้องลาออกจากกรมกองมาเป็นช่างอิสระรับจ๊อบเขียนลายรดน้ำปิดทองโต๊ะหมู่บูชา

“คอย” (ภาพจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ นายชิต เหรียญประชา)

ประมาณปี พ.ศ. 2473 ชิตได้งานประจำเป็นช่างแกะแม่พิมพ์อยู่ที่ร้าน ‘ศิลปาคาร’ รับเงินเดือน 20-30 บาท อยู่ไปอยู่มาเจ้าของร้านดันกินเหล้าเมาเพลินจนไม่มีเงินจ่ายลูกน้อง ต้องจ่ายเป็นเครื่องมือช่างแทน ชิตเลือกเครื่องมือที่พอจะมีประโยชน์ไว้ แล้วออกมาเป็นช่างอิสระอีกหน รับจ้างเขียนเจว็ด งงไหม ‘เจว็ด’ คืออะไร? เจว็ดคือแผ่นไม้รูปเทวดาที่ใช้ตั้งอยู่ในศาลพระภูมิ

ชิตได้งานประจำอีกครั้ง เป็นช่างแกะบล๊อกอยู่ที่ร้าน ‘ห้องศิลป์’ อยู่ไปสักพักก็ลาออก ตอนนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ชิตได้รับงานผลิตตราขององค์การสงเคราะห์ประชากรยามสงคราม ขายไปนับแสนชิ้นจนสะสมเงินได้ก้อนหนึ่งมาเปิดร้านของตัวเองชื่อว่าร้าน ‘ช.ช่าง’ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กระทรวงมหาดไทย ชิตรับจ้างทำงานแกะสลักทุกชนิด และด้วยความรักในศิลปะหากมีเวลาว่างจากงานที่ร้าน ชิตก็มักจะปล่อยจินตนาการให้ล่องลอยและสรรค์สร้างผลงานแกะสลักในแบบฉบับของตนเองออกมาเก็บไว้ดูเล่นเพลินๆ

จนในปี พ.ศ. 2492 มีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ภายในงานมีการจัดประกวดประขันผลงานศิลปะประเภทต่างๆ ชิตส่งรูปแกะสลักไปประกวดด้วยสนุกๆ ชิ้นที่ส่งไปมีชื่อว่า ‘เถิดเทิง’ เป็นประติมากรรมรูปผู้ชายกำลังตีกลองยาวในท่ากระโดดโลดเต้นแกะสลักจากไม้มะฮอกกานีสีน้ำตาลทอง ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญเงิน สร้างขวัญกำลังใจให้ชิตเป็นอย่างยิ่ง

ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ในปีถัดมา ชิตส่งผลงานที่แกะสลักจากไม้มะฮอกกานีเข้าประกวดอีก ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘รำมะนา’ เป็นรูปผู้ชายนั่งขัดสมาธิเอี้ยวตัวรัวกลองรำมะนาที่วางอยู่บนตัก ชายไว้หนวดผู้นี้มีสีหน้าที่เคลิ้มลอย ผมปลิวไหว มีนิ้วมือและนิ้วเท้าที่ดูเหมือนจะกระดกได้ตามจังหวะกลองที่ตีไป ว่ากันว่ารำมะนาไม่มีสเก็ตช์ ชิตแกะสลักออกมาจากท่อนไม้กลมๆ ตามอารมณ์ล้วนๆ ไม่แปลกใจเลยที่ในปีนั้นท่านจะสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ

“รำมะนา” (ภาพจากหนังสือ การแสดงผลงานประติมากรรมของ ชิต เหรียญประชา ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ระหว่างวันที่ 22-31 ตุลาคม 2530)

ต่อมาในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2494 ชิตส่งผลงานที่ชื่อว่า ‘หญิงไทย’ ที่แกะสลักจากงาช้างเข้าแข่งขันและได้เหรียญทองอีก และ อีก 2 ปีให้หลังในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ท่านก็ได้รับเหรียญเงินจากผลงานแกะสลักงาช้าง ‘พระพุทธรูปนาคปรก’ ด้วยสถิติ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน ครบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ท่านจึงถูกยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในปีเดียวกันนั้น

ในด้านงานส่วนรวม ชิตเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง ‘จิตรกรปฏิมากรสมาคมแห่งประเทศไทย’ ร่วมกับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และ ศิลปินอาวุโสอีกหลายท่าน เพื่อเป็นการรวมตัวของช่างที่จบจากเพาะช่าง ศิลปากร และสถาบันอื่นๆ ให้เกิดเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีปากมีเสียงในการเรียกร้องเรื่องต่างๆ สมาคมฯ ดำเนินการอยู่หลายปี แต่ในที่สุดก็ต้องเลิกราไปเพราะขาดทุนทรัพย์

เพราะชิตได้ส่งผลงานเข้าร่วมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติอย่างต่อเนื่องทุกปี และเป็นนายกสมาคมจิตรกรปฏิมากรสมาคมแห่งประเทศไทย ท่านจึงสนิทสนมกับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์นอกชั้นเรียนของท่าน อาจารย์ศิลป์ตั้งฉายาให้ศิษย์ผู้นี้ว่า ‘นายชิต ปืนใหญ่’ อย่าคิดลึก ที่เรียกชื่อนี้ไม่ใช่เพราะอาจารย์ศิลป์ไปแอบเห็นอะไร แต่ที่เรียกเพราะชิตเป็นคนเปิดเผยตรงไปตรงมา พูดจาโผงผางเสียงดัง บางอารมณ์ก็เรียกชิตว่า ‘คนนอกคอก’ เพราะเวลาได้รับรางวัลอะไรชิตก็ไม่ค่อยแยแสที่จะมาร่วมพิธีเหมือนคนอื่นเขา ชิตไปมาหาสู่เพื่อขอคำแนะนำจากอาจารย์ศิลป์เป็นประจำ จนสามารถพัฒนาแนวคิด และทักษะให้ก้าวล้ำนำหน้าจนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่ว

นอกจากผลงานศิลปะที่ได้รับรางวัล ชิตยังได้รับความไว้วางใจมอบหมายให้ทำงานสำคัญระดับชาติอีกหลายอย่าง เช่น สร้างฝาบาตรไม้มะเกลือประดับลวดลายงาช้างแกะสลัก เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 ขณะทรงผนวช ออกแบบพระพิมพ์ 25 พุทธศตวรรษ และ แกะสลักเรือพระราชพิธีจำลองให้รัฐบาลไทย เพื่อมอบให้กับแขกบ้านแขกเมือง

ตั้งแต่วัยหนุ่มถึงวัยชรา ชิตยึดอาชีพทำงานศิลปะตลอดมา งานแกะสลักที่ท่านถนัดนั้นไม่ใช่งานง่าย ส่วนตัวเราว่ายากกว่าการวาดหรือการปั้นด้วยซ้ำ เพราะการแกะสลักต้องใช้ความประณีตสูง ใช้เวลานาน ใช้แรงมาก แถมถ้าแกะพลาดก็เสียไปเลยจะแก้ไขก็ลำบาก ตลอดช่วงชีวิตของท่านจึงไม่ได้มีผลงานออกมาเยอะแยะมากมายเหมือนศิลปินที่สร้างผลงานศิลปะในรูปแบบอื่นๆ และถึงผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ออกมาไม่กี่ชิ้นของท่านจะขายได้ราคา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะคุ้มค่ามันสมอง หยาดเหงื่อ และเวลาที่เสียไปหรือเปล่า แต่ด้วยความรักในศิลปะ ชิตจึงยังคงยืนหยัดอยู่บนเส้นทางนี้อย่างมุ่งมั่นจนได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2530

ชิต เหรียญประชา ขณะสร้างสรรค์งานศิลปะ (ภาพจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ นายชิต เหรียญประชา)

ชิต เหรียญประชา ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ทิ้งไว้แต่เพียงตำนานและผลงานให้พวกเราดูต่างหน้า ทุกวันนี้ถ้าอยากชื่นชมผลงานของท่านก็ไปตามหาดูได้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป บนถนนเจ้าฟ้า ไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์คือผลงานประติมากรรมยุคบุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ของไทยที่โด่งดังที่สุด 2 ชิ้นฟีเจอริ่งกัน โดยมี ‘รำมะนา’ ของ ชิต เหรียญประชา กำลังตีกลองให้จังหวะ กับ ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ ของ เขียน ยิ้มศิริ ที่ตั้งอยู่ไม่ห่าง

ถึงห้องจัดแสดงจะเงียบสงัด แต่ลีลาท่าทางของนักดนตรีทั้งคู่นั้นสามารถสร้างความอึกทึกครึกโครมให้ภายในใจของผู้ชมได้โดยไม่ต้องมีเสียงอะไรเล็ดลอดออกมาเลยสักนิด นี่แหละพลังที่แสนวิเศษของผลงานศิลปะชั้นครู “ดูยูเอเวอร์ฟีลแดท?” เราถามทีมงานฝรั่งที่กำลังนั่งฟังอ้าปากหวอ

Don`t copy text!