จากอดีตสมัย ตอน “หลวงอาสาสำแดง (แตง) – คุณท้าว”

จากอดีตสมัย ตอน “หลวงอาสาสำแดง (แตง) – คุณท้าว”

โดย : สิริทัศนา

Loading

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา พระสนมเอกในรัชกาลที่สี่ พระราชชนนีแห่งสมเด็จพระนางเรือล่ม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

*********************************

ภาพกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 3 คาดว่าถ่ายประมาณปี พ.ศ. 2388-2390 เป็นภาพพิมพ์ลายเส้นจากรูปถ่ายกล้องดาแกร์ฝีมือสังฆราชปาเลอกัวซ์และบาทหลวงลาโนร์ดี ลงในหนังสือ  Description du Royaume Thai ou Siam พิมพ์ที่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2397

ในปีพุทธศักราช 2367 สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้รับพระฉายา ‘วชิรญาณภิกขุ’ คนทั่วไปขานพระนามว่า ‘พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ’

หลังจากผนวชได้เพียงสองสัปดาห์ พระบรมราชชนกก็เสด็จสวรรคตด้วยพิษไข้ โดยมิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาท

พระบรมวงศานุวงศ์และเหล่าเสนาบดีประชุมกันแล้วกราบบังคมทูลเชิญพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ และทรงมีบทบาทสำคัญทั้งด้านการปกครองและการค้า

เมื่อรัชกาลที่สามทรงรับราชสมบัติแล้ว พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎก็ทรงดำรงสมณเพศต่อไป ในช่วงแรกทรงจำพรรษาที่วัดสมอราย ซึ่งอีกนานต่อมาได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชาธิวาส วชิรญาณภิกขุทรงศึกษาพระธรรม และเสด็จพระราชดำเนินทรงออกธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ

เล่ากันว่า ระหว่างที่ทรงออกธุดงค์ มีลูกศิษย์ติดตามอยู่ 4 คน หนึ่งในนั้นคือหลวงอาสาสำแดง (แตง) สมุหบัญชีกรมมหาดเล็กเวรฤทธิ์ อายุประมาณสี่สิบปีเศษ

เหตุใดข้าราชการกรมมหาดเล็กที่น่าจะหาความก้าวหน้าในราชสำนัก จึงตัดสินใจออกติดตามพระภิกษุเจ้าฟ้าออกธุดงค์… ไม่มีบันทึกคำตอบอย่างเป็นทางการ แต่มีต้นเค้าอยู่ว่า

หลวงอาสาสำแดง (แตง) เป็นบุตรพระยาจินดารังสรรค์ (แก้วแขก) จางวางกรมช่างสิบหมู่ ท่านแก้วแขกผู้นี้เกิดในตระกูลขุนนางอยุธยาสายพราหมณ์ศิริวัฒนะ เป็นหลานปู่ของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) มีเอกภรรยาคือท่านผู้หญิงน้อย ซึ่งรัชกาลที่สี่ ทรงกล่าวถึงในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง ปฐมวงศ์ ว่า เป็นป้าของเจ้าขรัวเงิน หรือ เจ้าข้าวเงิน พระอัยกาของพระองค์

“พระภัสดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ นั้น มีนามว่า เจ้าข้าวเงิน…”

และ ‘พระมารดา’ ของเจ้าข้าวเงิน “เป็นน้องร่วมพระมารดากับภรรยาเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ว่าที่โกษาธิบดีในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราช”

หนังสือ เลาะวัง ของคุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ เล่าว่า พระยาจินดารังสรรค์ (แก้วแขก) เป็นหลานย่าของท่านผู้หญิงน้อย แต่เอกสารบางฉบับว่า ย่าของท่านแก้วแขก เป็น ‘เมียพระราชทาน’ จากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังจากท่านผู้หญิงถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม สรุปได้ว่า หลวงอาสาสำแดง (แตง) น่าจะมีสายสัมพันธ์กับทางพระราชวังเดิมของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระพันปีหลวงในรัชกาลที่สี่มาก่อน

ระหว่างที่พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จพระราชดำเนินทรงออกธุดงค์ หลวงอาสาสำแดง (แตง) โดยเสด็จในตำแหน่งนายท้ายเรือพระที่นั่ง หรือเรียกว่าเป็นผู้แจวเรือถวาย

ขบวนเสด็จประพาสเมืองเหนือแวะพักที่แพของคหบดีชาวจีนที่ปากน้ำโพ เป็นที่ซึ่งหลวงอาสาสำแดง (แตง) ได้พบสตรีสาวผู้หนึ่ง ซึ่งมีความงามเป็นที่เลื่องลือ…

พระปรางค์วัดอรุณ คาดว่าถ่ายประมาณปีพ.ศ. 2388-2390 เป็นภาพพิมพ์จากรูปถ่ายฝีมือสังฆราชปาเลอกัวซ์และบาทหลวงลาโนร์ดี ลงในหนังสือ  Description du Royaume Thai ou Siam พิมพ์ที่ฝรั่งเศสในปีพ.ศ. 2397

ระหว่างที่ขบวนเสด็จเมืองเหนือของพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎแวะพักยังแพของชาวจีนที่เมืองปากน้ำโพ หลวงอาสาสำแดง (แตง) นายท้ายเรือพระที่นั่งวัยห้าสิบปีเศษ ได้พบหญิงสาวจีนคนหนึ่งวัยยี่สิบเอ็ด

เล่ากันว่า เธอเป็นธิดาคหบดี แซ่จีนของบรรพบุรุษ ออกเสียงภาษาฮกเกี้ยนว่า ตัน ภาษาจีนกลางว่า เฉิน ภาษาแต้จิ๋วว่า ตั้ง คุณนาคเป็นสาวสวย ถึงเล่าลือกัน แต่อาจด้วยพรหมลิขิต เธอจึงยังครองตัวเป็นโสดจนอายุล่วงยี่สิบปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างมากในยุคสมัยนั้น เมื่อข้าราชการจากเมืองหลวงที่ถือว่าคู่ควรมาพบและติดต้องใจ ก็ยังมีอุปสรรค ทั้งด้วยวัยและระยะทาง

หลวงอาสาสำแดง (แตง) ยังต้องตามเสด็จพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎต่อไปอีกนานหลายเดือน กว่าจะมีโอกาสย้อนกลับไปยังปากน้ำโพ และสู่ขอท่านนาค มาตั้งบ้านเรือนอยู่ด้วยกันบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่าถนนตีทอง อยู่ใกล้วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดสุทัศนเทพวราราม ในกรุงเทพฯ

ช่วงนั้นน่าจะอยู่ในปีพุทธศักราช 2375-76  เพราะตามบันทึกว่าหลวงอาสาสำแดง (แตง) กับคุณนาคมีธิดาสองคน เสียชีวิตแต่ยังเล็ก มาได้บุตรชายคนแรกในปีพุทธศักราช 2378 ให้ชื่อว่า ‘หงษ์’

ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงอาราธนาพระภิกษุสมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎฯ จากวัดสมอราย เสด็จไปทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร โดยจัดขบวนแห่เหมือนอย่างพระมหาอุปราช เป็นนัยยะว่าทรงสถิตย์อยู่ในตำแหน่งวังหน้า สืบต่อจาก สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล วังหน้าพระองค์ก่อน ซึ่งทรงสร้างวัดบวรฯ ไว้

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพนั้นทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่หนึ่ง กับเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ซึ่งเป็น ‘ลูกพี่ลูกน้อง’ กับพระยาจินดารังสรรค์ (แก้วแขก) บิดาหลวงอาสาสำแดง (แตง) ดังปรากฏในประชุมพงศาวดารเล่มที่ 46-47 ว่า

“ฝ่ายเจ้านคร เข้ามารับราชการสนองพระเดชพรคุณอยู่ ณ กรุงธนบุรี ด้วยความอุตสาหะสัตย์ซื่อมั่นคงตลอดมา เจ้านครมีธิดาที่ตามสืบได้ความ คือ 1. เจ้าหญิงสั้น เป็นภริยาพระยาวิเศษสุนทร (นาค นกเล็ก) ตั้งแต่ก่อนกรุงเก่าแตก ครั้งนั้นพระบิดาเจ้าหญิงสั้นยังดำรงตำแหน่งปลัดเมืองนครศรีธรรมราช… 2. เจ้าหญิงนวล เป็นชายาพระมหาอุปราช (พัฒน์) แห่งนครศรีธรรมราช มีธิดาสององค์ คือเจ้าหญิงนุ้ยใหญ่ พระชนนีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่สาม …”

เจ้านครนี้ ในสมัยกรุงธนบุรีนับเป็นเจ้าประเทศราช ต่อมารัชกาลที่หนึ่งโปรดฯ ให้รับราชการต่อไปในตำแหน่งเจ้าเมือง บันทึกในยุคต่อมาจึงเรียก ‘เจ้าหญิงสั้น’ มารดาพระยาจินดารังสรรค์ (แก้วแขก) ว่า ‘คุณหญิงสั้น’

พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวรวิหารต่อมาจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน ปีพุทธศักราช 2394 จึงทรงลาผนวชเพื่อรับราชสมบัติตามมติของพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี โดยทรงมีเงื่อนไขให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระอนุชาธิราชร่วมพระชนนีขึ้นครองราชย์ด้วย

แผ่นดินที่สี่ของกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังผลัดแผ่นดินได้เพียงปีเดียว หลวงอาสาสำแดง (แตง) เจ้ากรมเรือต้นซ้าย ก็ถึงแก่อนิจกรรม

คุณนาคในวัยต้นสี่สิบกลายเป็นหม้าย ต้องดูแลบุตรหญิงชายหลายคน คุณหงษ์ บุตรชายคนใหญ่อายุสิบเจ็ดปี บุตรสาวสองคนคือคุณเหมกับคุณเปี่ยม เพิ่งโกนจุกได้ไม่นาน อายุราวสิบสี่และสิบสาม ไล่เรียงกับคุณโคและคุณหล่อ เป็นชายวัยสิบขวบเศษ คู่สุดท้ายเป็นแฝดชื่อเหมือนกับปุก เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเล็ก กับบุตรบุญธรรมอีกหนึ่ง เป็นลูกสาวกำพร้าของหลวงอาสาที่เกิดจากภรรยาอื่น คุณนาครับมาเลี้ยงตั้งแต่ยังแบเบาะให้ร่วมนมกับคุณหงษ์

ท้าวทองพยศ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นท้าวสุจริตธำรง (นาค)

ในสมัยรัชกาลที่สี่ คุณนาครับราชการ เป็นท้าวทองพยศ ตำแหน่งนายวิเสทกลางสำรับหวาน และเป็นผู้ควบคุมเลกวัดสุทัศน์ แต่จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เมื่อใด ไม่มีบันทึกไว้

ตำแหน่ง ‘วิเสท’ นี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทำหน้าที่ประกอบเครื่องเสวย ท้าวอินทรสุริยา สรรพาหารพิจาริณี เป็นตำแหน่งคุณท้าวว่าการห้องวิเสท มีผู้ช่วยในแผนกหวานคาว หมากพลู เป็นท้าวทองพยศ ท้าวทองกีบม้า ท้าวเทพภักดี ท้าวมังศรี เป็นต้น

ส่วนเลก คือพลเมืองสามัญที่เป็นชายวัยหนุ่ม สักข้อมือขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบเกณฑ์แรงงานของทางบ้านเมือง เลกวัดสุทัศน์ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของท้าวทองพยศในเวลานั้นคือ ชายฉกรรจ์ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานมาให้ทำงานในวัด เช่น ก่อสร้าง ทำความสะอาด ทำสวน และรับใช้พระสงฆ์ เมื่อเป็นเลกวัดแล้ว ก็ได้รับการยกเว้นไม่ถูกเกณฑ์ไปทำงานอื่นๆ  

ช่วงต้นแผ่นดินที่สี่ คุณหงษ์เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่แล้ว น้องสาวที่สองเป็นหญิงชื่อคุณเหม อยู่ช่วยงานมารดา คนที่สาม คุณเปี่ยม เข้าไปหัดละครในวังหลวง น้องเล็กอีกสองคนคือคุณโคและคุณหล่อ เพิ่งสิบขวบเศษ 

 

ภาพละครรำ ลายเส้นจากหนังสือ The English Governess at the Siamese Court ของนางแอนนา ลีโอโนเวนส์

การละครในตอนต้นรัชกาลนั้นเฟื่องฟูขึ้นมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระองค์เจ้าโสมนัสในรัชกาลก่อน ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางนาฏบรมอัครราชเทวี

พระนางเธอทรงเป็น ‘หลานปู่’ ในรัชกาลที่สาม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษ มีตำหนักที่อยู่หลังพระมหาปราสาท พระฐานะเรียกได้ว่าเทียบกับเจ้าฟ้า และทรงหัดละครเด็กผู้หญิงในพระตำหนักนั้น โดยที่สมเด็จพระอัยกาธิราชมิได้หวงห้าม ทั้งที่ไม่โปรดการร้องรำและไม่มีคณะละครหลวง

เด็กที่เข้ามาหัดรำ เป็นพระญาติฝ่ายเจ้าจอมมารดาและลูกขุนนาง ส่วนครูคือละครในตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สอง คุณแย้ม อิเหนา, คุณน้อย จรกา, คุณมาลัย ย่าหรันและพระสังข์, คุณจาดล่าส่ำ, คุณบัว ท้าวสามนต์, คุณขำเงาะ, คุณน้อยงอก ไกรทอง, คุณพัน อินทรชิต, คุณน้อยยักษ์, คุณภู่ หนุมาน, คุณขำ บาหยัน, คุณพุ่ม กัญจหนา และคุณองุ่น สีดา สังเกตได้จากชื่อว่าอยู่ในบทละครหลวงที่ทรงพระราชนิพนธ์เรียบเรียงใหม่ในรัชกาลที่สอง คือเรื่อง อิเหนา รามเกียรติ์ อุณรุท และ สังข์ทอง ส่วน ไกรทอง เป็นบทละครนอก

การหัดละครในของพระนางโสมนัส สำหรับเด็กเล็กวัยแปดเก้าขวบเริ่มจากจัดระเบียบร่างกายและวางท่วงท่าจากเพลงพื้นฐาน เพลงช้า เพลงเร็ว แม่บท ระบำสี่บท ส่วนรุ่นโตขึ้นมาฝึกซ้อมเรื่อง อิเหนา* 1

ฝึกกันมาสองปีเศษ จนกระทั่งพระนางได้เป็นพระมเหสี ทรงจัดละครแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรขณะเสวยบ้าง แต่ไม่ทันได้ออกโรงใหญ่ พระนางเธอก็สวรรคตในปีพุทธศักราช 2395 เจ้าจอมมารดางิ้วพระชนนีได้นำครูละครขึ้นถวายตัวในรัชกาลที่สี่  แต่ยังมิได้เรียกว่าคณะละครหลวง

ตำนานละคร อิเหนา พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงจุดเริ่มต้นของละครหลวงในรัชกาลที่สี่ว่า “ในรัชกาลที่สามไม่มีละครหลวง เผอิญไม่ได้ช้างเผือกตลอดรัชกาล เมื่อสมโภชพระวิมลรัตนกิริณีในรัชกาลที่สี่ยังไม่มีละครหลวง เห็นจะโปรดให้ขอแรงละครหลวงรัชกาลที่สองที่ยังมีตัวเหลืออยู่ เล่นสมโภช

“ในรัชกาลที่สี่มีช้างเผือกแรกมาสู่พระบารมี (คือพระวิมลรัตนกิริณี) ทำนองพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงปรารภถึงการที่เคยมีละครหลวงสมโภชช้างเผือก เมื่อในรัชกาลที่สอง จึงโปรดให้รวมละครของสมเด็จพระนางโสมนัส ฝึกหัดเป็นละครหลวง ทันออกโรงเล่นสมโภชช้างเผือกตัวที่สอง (คือพระวิสุทธรัตนกิริณี) เมื่อปีขาล

“ความข้อนี้ทราบที่พบสำเนาหมายรับสั่ง ปรากฏว่าทำพิธีครอบละครหลวงเมื่อต้นปีขาล พระวิสุทธรัตนกิริณีมาในปลายปีขาล” คือพุทธศักราช 2397  “จึงได้มีละครหลวงขึ้นในรัชกาลที่สี่แต่นั้นมา…”

——————————-

* 1 มณิศา วศินารมณ์ (2549). นาฏยประดิษฐ์ของเจ้าจอมมารดาเขียน

** ภาพประกอบสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา และ ท้าวทองพยศ จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ส่วนภาพอื่นๆ จาก – https://archive.org/

Don`t copy text!