ฉัตรกนก บทที่ 3 : วันทำบุญ

ฉัตรกนก บทที่ 3 : วันทำบุญ

โดย : พงศกร

Loading

‘ฉัตรกนก’ โดย พงศกร เรื่องราวของโรงพิมพ์ผ้าตราฉัตรกนกของ มรว. ฉัตรกนก ที่กำลังเป็นที่นิยม เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น โดยมี ตวงฤทธิ์ ชายลึกลับเข้ามาเกี่ยวข้อง…ชายผู้ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นฆาตกรหรือโจรขโมยหัวใจกัน ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอา

หากติดใจอยากอ่านต่อ สามารถหาซื้อ #ฉัตรกนก ฉบับรวมเล่มได้แล้ววันนี้ ในรูปแบบหนังสือที่ร้านนายอินทร์ และร้านหนังสือชั้นน้ำทั่วไป หรือสั่งซื้อกับสำนักพิมพ์ กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง ได้โดยตรงที่ www.groovebooks.com  และในรูปแบบอีบุ๊ก สามารถดาวนโหลดได้ที่ Meb > https://bit.ly/2SS52RK

……………………………………………………………….

-3-

 

ด้วยเหตุที่ครั้งนี้หม่อมอุ่นอรุณไม่ได้เดินทางมาด้วย อีกทั้งยังมีธุระมากมายรออยู่ที่พระนคร คุณหญิงฉัตรกนกจึงพำนักอยู่ที่บางเบิดได้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ

เธอชอบบางเบิด ทะเลที่นั่นเป็นสีครามสวย หาดทรายขาวสะอาด อาหารทะเลอร่อย ยังจะผักและผลไม้จากฟาร์มที่คุณหญิงเปลวกนกปลูกอีก ทุกครั้งที่ได้มาที่นี่ คุณหญิงฉัตรกนกจะรู้สึกถึงความผ่อนคลายโดยแท้จริง

คุณหญิงโดยสารเรือกลไฟของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊กกลับพระนคร คราวนี้เธอกลับไปพร้อมกับนายแก่นตามคำแนะนำของคุณหญิงเปลวกนก ส่วนท่านชายเปรมปุษาณ หม่อมกนกอร และคุณหญิงเชิญกนก ยังคงพักอยู่ที่บางเบิดอีกระยะหนึ่ง

หลังจากได้รู้เรื่องความกังวลของคุณหญิงฉัตรกนกจากลูกพี่ นายแก่นก็อาสาคุณหญิงเปลวกนกมาพระนครในทันที ข้างนายกลอยนั้นตกลงกับพี่ชายว่าจะยังอยู่ที่บางเบิด เพื่อช่วยคุณหญิงเปลวกนกทำฟาร์ม และช่วยดูแลครอบครัวของนายแก่นให้ระหว่างที่เขาอยู่พระนคร

หม่อมอุ่นอรุณส่งรถมารับหลานสาวคนโปรดที่ท่าเรือ และจัดที่พักให้นายแก่นอยู่ที่เรือนของข้าหลวงที่ตอนนี้มีห้องว่างอยู่หลายห้อง ภารกิจแรกหลังจากกลับมาถึงพระนครของคุณหญิงฉัตรกนกก็คือ ไปวัดปทุมวนารามเป็นเพื่อนหม่อมอุ่นอรุณ เพื่อร่วมงานทำบุญเลี้ยงพระครบรอบ 100 วันเสียชีวิตของคุณหญิงมโนปกรณนิติธาดา อังคารของคุณหญิงบรรจุไว้ที่ระเบียงแก้วหน้าวิหาร

ตอนแรกพระยามโนปกรณนิติธาดาตั้งใจจะทำบุญเงียบๆ บอกเฉพาะคนสนิทคุ้นเคยกันเท่านั้น หากกลายเป็นงานพิธีใหญ่ไปในที่สุด เพราะในหลวงและพระราชินีเสด็จมาเป็นการส่วนพระองค์ หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว บรรดาแขกเหรื่อคนอื่นๆ จึงค่อยมีโอกาสได้โอภาปราศรัยกัน

ส่วนมากแล้วเป็นคนคุ้นหน้ากัน หนึ่งในนั้นคือหม่อมแก้ว ชายาของหม่อมเจ้านวพิธโภไคย และคุณชายทวีฤทธิ์ ผู้ที่ครั้งหนึ่งหม่อมอุ่นอรุณเคยหมายตาอยากได้มาเป็นเขย

“ต๊าย…หม่อมอา…สบายดีนะคะ” หม่อมแก้วทักหม่อมอุ่นอรุณเสียงแหลม เธอเรียกหม่อมย่าของคุณหญิงฉัตรกนกว่าหม่อมอา เพราะเสด็จในกรม พระบิดาของหม่อมเจ้าเปรมปุษาณมีศักดิ์เป็นอาของหม่อมเจ้านวพิธโภไคยผู้เป็นสวามี “ไม่เห็นหน้ากันไม่นาน หญิงฉัตรโตเป็นสาวแล้ว สวยเสียด้วย…นี่ไงจ๊ะ หญิงฉัตร ที่แม่เล่าให้ชายฟังบ่อยๆ”

ประโยคหลัง หม่อมแก้วหันไปกล่าวกับคุณชายทวีฤทธิ์ที่ยืนทำหน้านิ่งๆ ดวงตาหลังแว่นวาวจ้องมองมายังคุณหญิงฉัตรกนก ส่งยิ้มให้ตามมารยาทมากกว่าจะสนใจจริงจัง

“ไม่เห็นทักทายน้องบ้างเลยชายทวีฤทธิ์ เสียมารยาทจริงๆ” ถึงบุตรชายจะเป็นหมอ หากลูกก็คือลูกเสมอ หม่อมแก้วหันไปดุคุณชายทวีฤทธิ์ที่ทำท่าทางเฉยเมย

“สบายดีไหมหญิงฉัตร” คุณชายทวีฤทธิ์จึงเอ่ยทักอย่างเสียมิได้

“สบายดีค่ะ” คุณหญิงฉัตรกนกตอบอย่างสงวนถ้อยคำ เธอรู้ว่าเขาคงรำคาญที่หม่อมมารดาเจ้ากี้เจ้าการจนออกนอกหน้า พลาดจากคุณหญิงเปลวกนกไปแล้ว หม่อมแก้วก็อยากได้เธอไปเป็นสะใภ้แทนใจจะขาด

หากคุณชายทวีฤทธิ์คงจะไม่ได้ต้องการเช่นนั้น เธอรู้รายละเอียดเรื่องนี้มาจากราตรีซึ่งเป็นเพื่อนสนิท ราตรีเป็นลูกสาวของหลวงอรรถสิทธิ์ไพศาล เธอเป็นพยาบาล ทำงานอยู่โรงพยาบาลเดียวกับคุณชาย ราตรีเล่าว่าคุณชายทวีฤทธิ์มีคนรักแล้ว เป็นหมอเหมือนกัน

‘เป็นหมอ’ คุณหญิงฉัตรกนกฟังแล้วได้แต่เลิกคิ้วสงสัย

‘ฮื่อ’ ราตรีพยักหน้า ‘คบกันมาตั้งห้าหกปีแล้วนะ’

‘แล้วทำไมยังไม่แต่งงานกันอีก’ คุณหญิงขมวดคิ้ว

‘ไม่ง่ายอย่างนั้นน่ะสิคะคุณหญิง’ ราตรีทำท่ากระซิบกระซาบ ทั้งที่อยู่กันเพียงสองคน ‘หม่อมแม่ของคุณชายไม่ยอมรับคุณหมอราชาวดี เพราะเธอเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่เป็นใครก็ไม่รู้ หม่อมแกเคยไปอาละวาดที่โรงพยาบาลด้วยนะ หาว่าคุณหมอไม่คู่ควรกับคุณชาย วันนั้นหมอหน้าซีดเหมือนไก่ต้ม ฉันละสงสารแทบแย่ ถึงเป็นเด็กกำพร้า คุณหมอก็เป็นคนดี เรียนเก่ง ได้ทุนเล่าเรียนหลวงจนจบหมอมาจากเยอรมนี แล้วก็กลับมาเป็นอาจารย์หมอที่โรงพยาบาล เป็นที่นับหน้าถือตาของใครต่อใคร ไม่รู้ทำไมหม่อมแก้วถึงไม่ยอมรับ’

คำถามของราตรีเป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้

ถ้าไม่รู้เรื่องนี้มาจากเพื่อน คุณหญิงฉัตรกนกจะไม่มีวันรู้เลยว่าภายใต้ท่าทางอ่อนโยนและรอยยิ้มหวานบนดวงหน้า หม่อมแก้วจะซ่อนความเจ้ายศเจ้าอย่าง และอาการดูถูกผู้คนเอาไว้อย่างแนบเนียน

ในขณะเดียวกัน เธอจึงไม่ประหลาดใจกับท่าทางรำคาญ และสีหน้าเบื่อหน่ายของคุณชายทวีฤทธิ์ยามที่ถูกหม่อมมารดาของเขาจับคู่กับเธอ

“โรงพิมพ์ผ้าเป็นอย่างไรบ้างจ๊ะ หญิงฉัตร…ป้าได้ข่าวว่ากิจการกำลังไปได้ดีมาก ไม่น่าเชื่อเลยนะคะหม่อม ว่ากิจการจะไปได้ดีแบบนี้…” หม่อมแก้วเห็นท่าทางบุตรชายยังแฝงความหงุดหงิดจึงรีบเปลี่ยนเรื่องคุย เธอหันไปทางหม่อมอุ่นอรุณ คราวนี้น้ำเสียงเต็มไปด้วยความชื่นชม “ตอนแรกก็นึกว่าคนคงนิยมผ้าอินเดีย เพราะราคาถูกกว่า ที่ไหนได้…”

“ผ้าพิมพ์จากอินเดียราคาถูกก็จริง แต่คุณภาพผ้าอินเดียสู้ผ้าฝ้ายบ้านเราไม่ได้ค่ะ” คุณหญิงฉัตรกนกอธิบาย

เรื่องที่ผ้าพิมพ์ลายตราฉัตรกนก มีราคาสูงกว่าผ้าพิมพ์ลายที่สั่งมาจากอินเดีย เป็นประเด็นที่เธอและหม่อมอุ่นอรุณค่อนข้างเป็นกังวล แต่ลูกค้าที่ซื้อผ้าฉัตรกนกไปใช้ เกือบทุกรายเกิดความประทับใจ เพราะลวดลายผ้าพิมพ์ได้รับการออกแบบที่ละเอียดสวยงาม แถมเนื้อผ้ายังมีคุณภาพดี นุ่มกว่าผ้ายี่ห้ออื่น ทำให้ลูกค้าบอกกันต่อไปเรื่อยๆ ทำให้ลูกค้าของผ้าพิมพ์ตราฉัตรกนกเพิ่มมากขึ้น จนระยะหลังมานี่ผลิตแทบไม่ทัน

“นี่เพิ่งสั่งเครื่องจักรใหม่มาจากเยอรมนีเชียวนะ ตอนนี้เราเลยกำลังผลิตเพิ่มมากขึ้น พิมพ์ผ้าได้วันละเป็นร้อยผืน ฉันว่าจะลองไปเปิดร้านสาขาที่เขมรกับลาวดู ไม่รู้จะเป็นอย่างไรบ้าง” หม่อมอุ่นอรุณคุยอวดเสียเลย

“ต๊าย ตาย นี่ถึงขนาดจะขยายไปค้าขายกับต่างชาติเลยเชียวหรือคะ” หม่อมแก้วเสียงแหลม ดวงตาเบิกกว้างดูแล้วน่าขัน

คุณหญิงฉัตรกนกเห็นสีหน้าของหม่อมแก้วแล้วได้แต่พยายามกลั้นยิ้มเอาไว้จนสุดความสามารถ นึกเดาได้ว่าอีกฝ่ายคงเสียดายไม่ใช่น้อย เพราะตอนแรกที่หม่อมอุ่นอรุณมีความคิดอยากลงทุนทำโรงงานพิมพ์ผ้า หม่อมย่าของเธอเคยเอ่ยปากชวนให้หม่อมเจ้านวพิธโภไคยมาร่วมทุนด้วยกัน หากหม่อมแก้วเป็นคนที่คัดค้านไม่เห็นด้วย เธอให้เหตุผลว่าพระสวามีเคยทำแต่ราชการ ออกมาทำธุรกิจแบบนี้คงไม่ถนัด หากที่จริงแล้วคุณหญิงฉัตรกนกรู้ดีว่า ฝ่ายโน้นกลัวสูญเงินเพราะไม่มั่นใจว่ากิจการจะไปได้ด้วยดีมากกว่า

เมื่อถูกปฏิเสธอย่างไม่ไว้หน้า หม่อมอุ่นอรุณจึงฮึดสู้ สตรีสูงวัยรวบรวมเงินทองและทรัพย์สินทั้งหมดที่มี ทุ่มลงทุนกับโรงงานผ้าพิมพ์แห่งนี้ โดยมีอนาคตของวังเกษกนกและลูกหลานเป็นเดิมพัน

“ก็ว่าจะลองดู เพราะทุกวันนี้ก็มีพ่อค้ามารับเอาผ้าส่งไปขายที่เขมรและลาวอยู่แล้ว ฉันว่าไหนๆ ก็เป็นแบบนี้ ทำไมเราไม่ไปเปิดตลาดเสียเองเลย”

“ต๊าย…ดีจริง” หม่อมแก้วทำตาโต “ถ้าหม่อมอาอยากหาคนร่วมลงทุนเพิ่มละก็ บอกได้นะคะ”

“เห็นจะไม่ละ” หม่อมอุ่นอรุณปฏิเสธเสียงราบเรียบ “ตอนนี้ทุนหมุนเวียนของโรงงานมีมากพอ ไม่จำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มให้ยุ่งยาก มากคนก็มากความ ทุกวันนี้มีฉันกับหญิงฉัตรคอยตัดสินใจกันสองคนก็ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปขอความเห็นใคร”

“อ้อ…ค่ะ แบบนั้นก็ดีนะคะหม่อมอา” หม่อมแก้วหน้าเจื่อนไป “แต่หลานเคยได้ยินมาว่า พวกเขมรกับลาวนี่ค้าขายด้วยยาก อย่างไรหม่อมอาต้องระวังให้มากไว้ ถ้าไม่แน่ใจอย่างไรให้ชายณรงค์ช่วยได้นะคะ ชายณรงค์คล่องแคล่ว ฉลาด พูดได้หลายภาษา”

“ชายณรงค์ฤทธิ์ ได้ข่าวว่าไปเรียนที่เยอรมนี…กลับมาแล้วหรือ” หม่อมอุ่นอรุณเลิกคิ้ว หม่อมราชวงศ์ณรงค์ฤทธิ์เป็นน้องชายคนเล็กของหม่อมราชวงศ์ทวีฤทธิ์

“ส่งข่าวว่าเรียนจบแล้ว กำหนดกลับคงเร็วๆ นี้ละค่ะ แต่มาถึงสยามเมื่อไรนั้นยังไม่ทราบเลยค่ะ ชายณรงค์เป็นคนแปลกๆ ชอบทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่ค่อยบอกอะไรให้พ่อแม่รู้หรอก” สีหน้าของหม่อมแก้วดีขึ้น เพราะท่าทางของหม่อมอุ่นอรุณดูจะสนใจบุตรชายคนนี้ของเธออยู่บ้าง “ถ้ากลับมาแล้ว หลานจะพาไปกราบหม่อมอาที่วังนะคะ”

“ก็ลองนัดดูแล้วกัน” หม่อมอุ่นอรุณตอบกลางๆ หลังจากเกิดเหตุเรื่องเงินลงทุนในครั้งนั้น หม่อมย่าของคุณหญิงฉัตรกนกก็ได้เห็นธาตุแท้ของหม่อมเจ้านวพิธโภไคยและหม่อมแก้ว ว่าไม่พร้อมจะร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน ความกระตือรือร้นที่อยากให้สองวังดองกันจึงหมดลง หม่อมอุ่นอรุณไม่เคยเคี่ยวเข็ญให้คุณหญิงฉัตรกนกต้องไปพบกับคุณชายทวีฤทธิ์หรือโอรสคนอื่นๆ ของหม่อมเจ้านวพิธฯ อีกเลย

ขณะกำลังตกอยู่ในสภาวะอึดอัด ใครบางคนก็ผ่านมาทางที่หม่อมอุ่นอรุณกับคุณหญิงฉัตรกนกยืนอยู่พอดี

“อุ๊ย…คุณบุปผา” หม่อมอุ่นอรุณส่งเสียงเรียกด้วยความตื่นเต้น “มาด้วยหรือคะ”

“หม่อมสบายดีนะคะ” หญิงสาววัยเบญจเพส ผู้มีเรือนร่างสูงโปร่ง ผิวสีน้ำตาลเนียนอย่างคนสุขภาพดียกมือขึ้นไหว้หม่อมอุ่นอรุณ ส่งยิ้มเลยมาทางคุณหญิงฉัตรกนกที่ยืนเยื้องอยู่ทางด้านหลัง

สตรีสวยเก๋ แต่งกายสวยงามทันสมัยผู้นี้ คือ หม่อมหลวงบุปผา กุญชรฯ เป็นธิดาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์กับหม่อมมาลัย เธอเป็นบุคคลที่สังคมจับตามอง เพราะเป็นสุภาพสตรีเพียงไม่กี่คน ที่ยึดอาชีพนักเขียนในเวลานั้น

“สบายดีค่ะ” หม่อมอุ่นอรุณหัวเราะชอบใจ เธอชะโงกตัวไปใกล้อีกฝ่าย ป้องปากกระซิบกระซาบถามว่า “ขอถามนิดสิคะ…ตกลงวไลจะกลับไปอยู่กับหลวงปราโมทย์หรือเปล่า”

“ตายจริง” หม่อมหลวงบุปผาเป็นฝ่ายหัวเราะบ้าง “ต้องติดตามอ่านสิคะหม่อม ถ้าเฉลยเสียตอนนี้แล้ว ก็ไม่สนุก”

“แหม…ไทยเขษมนี่ก็ออกช้าเหลือเกิน ออกมาเดือนละเล่ม ไม่ทันใจเอาเสียเลย จนฉันอยากจะไปเกาะรออ่านที่หน้าโรงพิมพ์ให้รู้แล้วรู้รอด…ออกเป็นรายวันได้น่าจะดี อยากรู้เหลือเกิน ว่าวไลจะตัดสินใจอย่างไร”

ได้คุยเรื่องที่ถูกใจ หม่อมอุ่นอรุณเลยไม่สนใจหม่อมแก้วและบุตรชายอีกต่อไป

ข้างหม่อมแก้วกับคุณชายทวีฤทธิ์ไม่ชอบอ่านหนังสือ จึงไม่รู้จะหาหัวข้ออะไรมาสนทนาด้วย สองคนนั้นรู้สึกราวกับเป็นคนนอก จึงเดินเลี่ยงไปทางอื่นในที่สุด

“หญิงเดาว่าวไลต้องไม่กลับไปกับหลวงปราโมทย์แน่ๆ” น้ำเสียงของคุณหญิงฉัตรกนกเริ่มสนุกขึ้นมาบ้าง

เธอชอบอ่านหนังสือมาก อ่านทุกประเภท ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ชอบที่สุดคือนวนิยาย นวนิยายเรื่องโปรดของเธอก็คือ ‘ความผิดครั้งแรก’ ของ ‘ดอกไม้สด’ หรือหม่อมหลวงบุปผา กุญชรฯ ที่กำลังลงตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารไทยเขษมนั้นเอง

เรื่องราวดำเนินมาถึงตอนที่วไล นางเอกของเรื่อง พบว่าหลวงปราโมทย์ที่เป็นสามี แอบไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น เธอจึงเสียใจและรู้สึกผิดหวัง จึงหอบเอาบุตรชายกลับมาที่บ้านเดิมของบิดา นวนิยายตอนล่าสุดหลวงปราโมทย์มาง้อภรรยาที่บ้านพ่อตา และขอรับเธอกลับบ้าน หากวไลไม่ยอม เธอยื่นคำขาดว่าจะกลับไปก็ต่อเมื่อหลวงปราโมทย์รับปากว่าจะเลิกรากับภรรยาน้อยเสียก่อน

นวนิยายจบลงตรงนั้น ทิ้งให้ผู้อ่านรอคอยตอนต่อไปว่าหลวงปราโมทย์จะตัดสินใจอย่างไร และวไลจะกลับไปบ้านสามีหรือไม่

“ทำไมถึงคิดเช่นนั้นคะ”

‘ดอกไม้สด’ ถามคุณหญิงฉัตรกนก

“เพราะวไลเป็นคนเด็ดเดี่ยวค่ะ” คุณหญิงฉัตรกนกตอบ “อ่านตั้งแต่บทแรกก็รู้เลยว่าวไลเป็นคนหัวสมัยใหม่ เมื่อแต่งงานกับใครแล้ว ชายคนนั้นต้องรักเธอคนเดียว ถ้าหากเขาไปมีผู้หญิงอื่น นั่นหมายความว่าหลวงปราโมทย์ผิดคำสัญญา และผู้หญิงที่มีความเด็ดเดี่ยวอย่างวไล จะไม่มีทางยอมให้อภัยเด็ดขาด”

“คุณหญิงวิเคราะห์เก่งมาก” หม่อมหลวงบุปผาชมจากใจจริง แม้จะชื่นชมคุณหญิงฉัตรกนกมาก หากเธอไม่ยอมใจอ่อน “ต้องมารอดูตอนต่อไปนะคะ ว่าวไลจะตัดสินใจอย่างไร”

“ให้วไลใจอ่อนยอมกลับไปเถอะค่ะ สงสารหลวงปราโมทย์ แกอุตส่าห์มาง้อแล้ว” หม่อมอุ่นอรุณเชียร์ตัวละครเอกฝ่ายชาย

“ไม่นะคะ อย่าให้กลับไปเลย” คุณหญิงฉัตรกนกกลับเห็นต่าง “ผู้ชายอย่างปราโมทย์เห็นผู้หญิงเป็นของเล่น ผู้ชายแบบนี้ไม่ควรให้อภัย ขืนกลับไป วไลไม่มีความสุขแน่ๆ”

“เอ๊ะ” หม่อมย่าชักไม่ปลื้ม “หญิงฉัตรนี่ยังไงนะ…สงสารหลวงปราโมทย์แก”

“ผู้ชายแบบนี้ ไม่เห็นจะน่าสงสารเลยค่ะหม่อมย่า” คุณหญิงฉัตรกนกส่ายหน้า

“เอาละค่ะ พอที…”

หม่อมหลวงบุปผาหัวเราะชอบใจที่เห็นย่าหลานถกเถียงกัน ราวกับนวนิยายของเธอคือเรื่องของคนจริงๆ

“อย่าเถียงกันเลย ดิฉันเขียนเรื่องนี้จบแล้ว ส่งไปให้บรรณาธิการจนจบทั้งเรื่อง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว อย่างไรรอติดตามตอนต่อไปนะคะ รับรองว่ามีเรื่องให้ต้องตื่นเต้นอีกหลายเรื่องแน่นอน”

“ดีใจจริงๆ ที่ได้พบคุณบุปผาวันนี้” ดวงตาของหม่อมอุ่นอรุณเปล่งประกายวะวับ ดีใจที่ได้พบนักเขียนคนโปรด

“นี่ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าคุณจะมาวัด ฉันจะหอบเอาหนังสือมาขอลายเซ็น”

เธอเป็นแฟนพันธุ์แท้ของดอกไม้สด ติดตามนวนิยายทุกเรื่องที่สุภาพสตรีผู้นี้เขียน นวนิยายสามเรื่องแรกที่ลงในนิตยสารไทยเขษม อันได้แก่ ศัตรูของเจ้าหล่อน, นิจ และนันทวัน เมื่อลงเป็นตอนๆ จนจบบริบูรณ์จากนิตยสาร ก็ได้รับการรวมเล่มเป็นหนังสือปกแข็ง ขายดิบขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำ หม่อมอุ่นอรุณก็ซื้อเก็บเอาไว้ทุกเล่ม

“เป็นเกียรติกับดิฉันมากๆ ค่ะ” หม่อมหลวงบุปผายิ้มกว้าง “โอกาสหน้าสิคะ พระนครแคบแค่นี้เอง เราคงได้พบกันอีกอย่างแน่นอน”



Don`t copy text!