สร้อยหงส์แสง ภาคต้น บทที่ 1 : ถ้ำหงส์แสง

สร้อยหงส์แสง ภาคต้น บทที่ 1 : ถ้ำหงส์แสง

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

สร้อยหงส์แสง สิ่งล้ำค่าที่ไม่มีใครเคยรอดชีวิตกลับมาจากการตามหา ผลงานจากศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อ. มาลา คำจันทร์ ที่มอบความไว้วางใจให้ อ่านเอา ได้เป็นผู้เผยแพร่นวนิยายเรื่องล่าสุดของท่าน ในรูปแบบ นิยายออนไลน์ ที่เราอยากให้ทุกคนได้ติดตามและ อ่านออนไลน์ ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอา และหากติดใจอย่างอ่านต่อสามารถติดตามฉบับรวมเล่มที่ออกโดย สำนักพิมพ์ Groove www.groovebooks.com

 

ร้อยหงส์แสง

ภาคแรก มกราคม-เมษายน ๒๔๙๔

 

1

 

ดวงเดือนคืนขึ้น ๑๔ ค่ำแจ่มแจ้งส่องใส แสงนวลใยอ่อนโยนส่องลงพื้นพ่าง ส่องไปทั่วทั้งหมู่บ้านและภูไพรใหญ่สูง ไกลจากบ้านห้วยดอกอูนออกไปไกลโพ้นมีป่าใหญ่แห่งหนึ่งเป็นดอยดงหงหลวงกว้างไกลใหญ่ยาวนัก ในป่าดงดิบดำล้ำลึกแถบนั้นมีถ้ำอันหนึ่งชื่อว่าถ้ำหงส์แสง

“เป็นใดถึงชื่อว่าถ้ำหงส์แสงล่ะยาย”

“เพราะว่าในถ้ำนั้นมีหงส์แสงตัวหนึ่ง” บัวลาผู้เป็นยายยื่นมือสวมกำไลเงินวงหนึ่ง ไปหยิบใบตองมาขดเป็นกรวย  “สร้างจากทองคำ ประดับด้วยแก้วแดงแสงก่ำงามนัก จึงชื่อว่าถ้ำหงส์แสง”

“อีพ่อเคยไปถ้ำหงส์แสง ไปเอาหงส์แสงตัวนั้นใช่ไหมยาย”

“ถามแม่เอ็งดู”

นางบัวลาตัดบทหลานสาวเอาดื้อๆ

แม้เพิ่งหัวค่ำ แต่แสงเดือนหน้าหนาวก็ช่างงดงามนัก ชักชวนยวนใจให้หนุ่มลงเรือนไปแอ่วสาว และเย้ายวนชวนใจสาวให้ตามไฟเติ๋น รอให้พี่อ้ายชายบ่าวมาแอ่วมาอู้อยู่ที่เติ๋นเรือน เติ๋นคือโถง สาวใดได้คู่แล้วก็ไม่ต้องตามไฟเติ๋นที่โถงเรือน  

ค่ำคืนตามหมู่บ้านชนบทสมัยนั้น หากเรือนใดตามไฟเติ๋น แสดงว่าเรือนนั้นมีลูกเป็นสาว บ่าวใหม่ไม่เคยมีเมีย หรือบ่าวเก่าเคยมีเมียมาแล้วต่างมีสิทธิ์ขึ้นเรือนหลังนั้นได้ ไปทักไปถาม ไปแอ่วไปอู้หวังได้คู่ครอง สาวใดไม่ต้อนไม่รับ ดับไฟต่อหน้าพี่อ้ายชายบ่าวแล้วหนีเข้านอน สาวนั้นจะถูกติฉินนินทาว่าเป็นคนไม่รู้จารีตฮีตฮอย จะเสื่อมเสียไปถึงพ่อแม่ว่าไม่รู้จักสั่งสอนลูกหลานให้อยู่ในลู่คลองที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน

“เมื่อตายังอยู่” หลานสาวถามอีก “ตาเคยเข้าถ้ำหงส์แสงหรือไม่”

“บ่เคย บ่มีกิจจำเป็นอันใด บ่มีไผไปถ้ำหงส์แสงหรอกเอ็ง”

“แล้วพ่อล่ะ พ่อมีกิจจำเป็นอันใด ถึงไปถ้ำหงส์แสง”

“บอกแล้วว่าให้ถามแม่เอ็ง”

ดวงเดือนเคลื่อนขึ้นฟ้าทางด้านตะวันออก  นอกหมู่บ้านทางด้านนั้นเป็นทุ่งนากว้างขวาง กั้นอยู่ระหว่างบ้านห้วยดอกอูนกับบ้านป่าไผ่ ส่วนทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านเป็นป่าแพะหรือป่าละเมาะ ถัดไปเป็นบ้านทุ่งล้อม ทุ่งพร้าว ทุ่งข้าวหาง ถัดแต่นั้นเข้าไปบ้านคนจะลดน้อยลง เป็นแพะพงดงดิบที่เริ่มแน่นทึบตึบตันยิ่งขึ้น กระทั่งเข้าเขตดอยดงหงหลวง ก็จะไม่มีหมู่บ้านคนเมืองอีกเลย

ยายกับหลานเย็บกรวยใบตองอยู่ที่โถงบ้าน ยายชื่อว่าบัวลา หลานสาวชื่อว่าคำสร้อย พรุ่งนี้ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ เป็นวันศีลหลวง นางเป็นคนเอากรวยดอกไม้ไปใส่ขันแก้วทั้งสามที่วัด นางเป็นคนไปวัด บัวไหลลูกสาวนางไม่ยอมเป็นคนไปวัด

นางรู้ ทำไมบัวไหลจึงไม่ชอบไปวัด

เพิ่งหัวค่ำ แสงนวลยังส่องอ่อน แต่เสียงกลองบูชาก็ดังขึ้นแล้ว เป็นจารีตฮีตฮอยสืบเนื่องกันมายาวนาน คืนก่อนวันศีลหรือวันพระ จะตีกลองบูชาที่วัด ตีเพื่อบอกเตือนชาวบ้านว่าพรุ่งนี้เป็นวันศีล ควรถือศีลกินทานสำรวมจิตใจ และเป็นการบอกกล่าวแก่ท้าวทั้งสี่ผู้ดูแลรักษาโลกว่าบ้านนี้ยังอยู่ในศีลกินในธรรมพระเจ้า จงจดชื่อหมายนามไปรายงานแก่พญาอินทร์เจ้าฟ้าสองสวรรค์ จงปกปักรักษาคนในหมู่บ้านให้สวัสดีทีฆาเที่ยงเท้าตลอดไป

“แสงเฮือง ออกไปเปลี่ยนตุ๊แดง”

ตุ๊ลุงเจ้าอาวาสออกคำสั่งแก่คนที่ท่านไปรับเอามาจากหล่ายสาย ประเทศพม่า สามเณรแสงเฮืองยอมือไหว้สารับคำสั่งแล้วไปลั่นกลองแทนรองเจ้าอาวาสชื่อตุ๊แดง แสงเฮืองสูงยาวโย่งเย่งตีกลองทำนองออกศึก ท่าท้าวก้าวย่างเหมาะเหม็ง ยามยื่นค้อนไปเคาะกลองใบใดก็แม่นยำเพราะแขนยาวขายาว หน้าค้อนฟาดถูกหน้ากลองทุกใบ ไม่ฟาดไปโดนขอบกลองทำให้รสไพเราะทางเสียงหย่อนลง

“หน่วยก้านมันดี”

มีเสียงกล่าวชมจากทางด้านหลัง ตุ๊ลุงเจ้าวัดมัวเพลินในในรสทางเสียงถึงกับสะดุ้ง

“ครูบา!  มาเมื่อใด”

หันกลับไปแล้วยกมือไหว้โดยอัตโนมัติ พระเณรรูปอื่นที่ตบฉาบตีฆ้องประกอบจังหวะ เห็นท่านผู้เฒ่าเข้ามาก็รวนเรระส่ำระสาย แต่คนตีกลองหันหน้าเข้าหากลองจึงมองไม่เห็นท่านผู้เฒ่าผู้เพิ่งเข้ามา

“ครูบาออกมาถ่ายเบา” ท่านผู้เฒ่าผอมบางอย่างจะปลิวลมกล่าวตอบ แต่ตายังมองไปที่คนตีกลอง “ได้ยินเพลงออกศึก เลยมาดูว่าผู้ใดตี  แรงข้อแรงแขนหนักแน่นดี”

“เณรแสงเฮืองเป็นคนตี” ตุ๊หลวงหรือเจ้าอาวาสยกมือไหว้ประกอบคำตอบ “ที่ครูบาให้ข้าไปรับมาเมื่อเนิ้น”

“ระบำออกศึกฮึกห้าวดีแท้ แต่ว่า…แต่ว่า…”ท่านผู้เฒ่าเหมือนจะกล่าวข้อความอะไรอีกแต่กลับชะงักไว้เสีย “ครูบากลับละ”

ท่านผู้เฒ่าย่างไหวไปทางหลังวิหาร ท่านถือสันโดษ ปลีกวิเวกอยู่ตัวคนเดียวที่กุฏิน้อยท้ายวัด สิบกว่าปีมาแล้ว นับแต่ปลงภาระหน้าที่ลงจากบ่า ท่านก็แทบไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในวัดอีกเลย

คนเรียกขานท่านว่าครูบาตาทิพย์ แต่ท่านพอใจให้เรียกว่าครูบาป่ากล้วยมากกว่า

 

หนาวหน้าหนาวเนื้อ แต่ว่าเพิ่งหัวค่ำยังทนหนาวได้ คนยังไม่นอน ดวงเดือนยังงดงามแจ่มแสง ยามเดือนส่องฟ้า ดาวก็หมองแสง พี่รักนางแพง เจ้าเดือนปลอดฝ้า…เสียงขับลำนำดังมาแว่วๆ เสียงกลองบูชาก็ยังแว่วจากวัด เพิ่งเข้าคืนไม่นาน หย่อมย่านบ้านคนทั้งหลายยังไม่หลับไม่นอน เสียงกระอือกระแอมดังเข้ามาในเขตบ้าน คำสร้อยกวาดเก็บเศษใบตองมารวมกันใกล้ตัว เพื่อเปิดพื้นที่บนเสื่อตรงหน้าให้โล่งกว้างขึ้น มาแล้ว คนที่เธอจดจ่อรอคอยขึ้นเรือนมาแอ่วมาอู้เธอแล้ว บัวลาผู้เป็นยายปลีกตัวไปสมทบบัวไหลกับคำสายยังอยู่ปลายชานด้านหลัง

“คำสร้อย กินข้าวแล้วกา?”

“กินแล้ว”

สาวงามบ้านห้วยดอกอูนไม่กล้าสบตาที่มีแสงตาคมกล้าชวนหนาวๆ ร้อนๆ  ข่าวคราวลอดพุ่มลอดพงมาว่าพี่อ้ายชายงามชาวป่าไผ่ผู้นี้ไม่ได้แอ่วหาแต่เธอผู้เดียว สันป่าตึงเป็นตำบลใหญ่ สาวงามตำบลนี้มีหลายคนหลายบ้าน พี่น้อยผู้นี้อาจไปเลียบไปเคียงเมียงมองส่องสอด ผู้ใดหนอที่พี่น้อยพึงใจ สาวใดหนอจะมัดใจหนุ่มหล่อตาคมผู้นี้ได้ กลัวจะไม่ใช่เธอ แม่เองก็เหมือนไม่ค่อยชอบพี่อ้ายชายงามคนนี้นัก แม่มีใจใฝ่มักไปทางอ้ายบุญธรรมลูกเศรษฐีใหญ่คนนั้น

“กินข้าวกับหยัง คำสร้อย”

“คั่วผำ”

“คั่วผำเขาว่าฅ่ำผัว แต่เอาเถิด ถ้าอ้ายได้เป็นผัว ยินดีให้คำสร้อยฅ่ำ”

หน้าแดงไปถึงใบหู ดูเอาเถิด ยายกับแม่ยังไม่นอน แต่พี่อ้ายชายหาญผู้นี้กลับกล้ากล่าวถ้อยร้อยคำเป็นเมียเป็นผัว

วางกรวยใบตองเย็บแล้วลงในจานแบน แล้วเอาไปไว้ที่ร้านน้ำแล้วเลยขลุกอยู่กับยาย แม่และน้องสาวที่กระบะไฟชานหลัง อ้ายสุธนคนหล่อคนงามก็ยังติดตามมา พูดจาทักทายกับคนในเรือนพอรู้จักคุ้นเคยกันแล้วค่อยลาลงเรือน

ค้อนยังกระทั่งหน้ากลองใบใหญ่ ฉาบยังตบให้จังหวะสม่ำเสมอ ฆ้องหมู่อีกเจ็ดแปดใบไล่เรียงเล็กใหญ่ก็ยังเคาะพร้อมเพรียงให้เสียงผสมกลมกล่อม แต่ดั้งเดิมมา ร้อยบ้านล้านนายึดถือกันว่าเสียงอันเป็นมังคละมีสามประการ คือเสียงฆ้องเสียงกลอง เสียงมองตำข้าว และเสียงตุ๊เจ้าอ่านธรรม ที่ว่าเป็นมังคละหรือเป็นมงคลเพราะเสียงทั้งสามบอกถึงความสุขสงบร่มเย็น เสียงฆ้องเสียงกลอง บอกถึงรมณียะ สุนทรียะ  เสียงมองตำข้าวบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ เสียงตุ๊เจ้าอ่านธรรมบอกถึงอุดมคติทางศาสนา

แสงเฮืองยังร่ายรำระบำกลองบูชา หลวงลุงเจ้าอาวาสขยอกหมากในปากช้าๆ  ท่ายกเท้าก้าวย่างของสามเณรต่างบ้านต่างเมืองผู้นี้เหมาะเหม็งเล็งแม่นเหมือนจะถอดแบบไปจากท่านเมื่อวัยยังหนุ่ม ฆ้องและฉาบยังกำหนดจังหวะแม่นยำถูกต้อง แต่ค้อนกลองที่ตีหน้ากลองคล้ายจะคร่อมจังหวะไปเสียแล้ว ท่านผู้เฒ่ารู้ได้เลยว่าคนตีกลองใจลอยอีกแล้ว

คงลอยไปหาสาวหน้านวลผู้ชื่อคำสร้อยคนนั้นอีกแล้ว

 

เดือน ๔ เพ็ญ คนห้วยดอกอูน ป่าไผ่ สันป่าตึงและบ้านอื่นๆ ตื่นกันแต่หัวรุ่ง หนาวแสนหนาว แต่ประเพณีเดือนสี่เพ็ญกินข้าวใหม่ เป็นศีลใหญ่ทานหลวง จะเห็นแก่คร้าน มักหลับมักนอนเมื่อตอนใกล้แจ้งอย่างวันศีลอื่นไม่ได้ หากไม่ไปวัดในวันศีลอื่นยังไม่เป็นไร แต่ไม่ไปในวันศีลหลวงอย่างเดือนสี่เพ็ญ จะเป็นที่ซุบซิบนินทาแก่คนทั้งหลาย

คำสร้อยลุกมาก่อไฟนึ่งข้าวแต่ดึก แต่คนที่ตื่นก่อนคือแม่

“แม่ฝันบ่ดี”

“ฝันอะหยัง อีแม่”

“ฝันว่านกเค้าหลวงโฉบเอาเอ็งไป” นางว่ากล่าวเป็นจริงเป็นจังจนลูกสาวพลอยวิตก

“นกเค้าหลวงคืออะหยัง อีแม่”

“คือผีกละหลวง พึงกลัวนัก”

สาวสิบเจ็ดเอามือคลำหัวโดยอัตโนมัติ ลืมไปว่าเพิ่งลุกมาจากที่นอน แก้มวยออกแล้ว ยังไม่ได้เกล้ากลับตามเดิม ปิ่นปักผมที่บรรจุเม็ดฟ้าอุกาบาตไม่ได้อยู่บนหัว แต่ก็ไม่พรึงพรั่นหวั่นไหวอะไรเพราะยังอยู่บนเรือน ผีหอผีเรือนทั้งหลายยังดูแลเธอ

ควายลองเขาโกกกาก คำใสพี่ชายคนรองยังอยู่ในคอกควาย หากพ่อยังเป็นคนอยู่ เวลาเช้าๆ อย่างนี้  พ่อก็คงอยู่ในคอกควาย ปิ่นปักผมอันนี้แม่ว่าพ่อเอาให้แม่แต่เมื่อยังสาว บรรจุเม็ดฟ้าอุกาบาตป้องกันผีร้ายพรายแรงนานาสารพัด แม่เอาออกจากมวยผมแม่ให้เธอ แต่เมื่อพี่อ้ายชายงามชาวป่าไผ่มาแอ่วมาหาครั้งแรก หัวค่ำวันนั้นก่อนที่อ้ายจะขึ้นเรือนมา เธอเองลงเรือนไปอาบน้ำทื่ซุ้มน้ำ นกเค้าโฉบมาเฉี่ยวมวยผมเธอ

นกเค้ามีหลายอย่าง แต่ไม่ว่าเค้าโมง เค้าแมว เค้าเหมยหรือเค้าใดๆ ชาวห้วยดอกอูนถือว่ามันเป็นพาหนะของผีกละ

แม่กลัวว่าอ้ายสุธนจะเป็นผีกละหลวง ฤทธิ์แรงแข็งกล้ายิ่งกว่าผีกละทั่วไป เพราะอ้ายสุธนผู้นี้ ยิ่งนานก็ยิ่งหล่อเหลาเลาเลิศยิ่งกว่าบ่าวใด ยิ่งนานก็ยิ่งเข้มแข็งแกร่งกล้ากว่าผู้ใด

ป่าดิบดงดำใดๆ ใครไม่กล้าเข้า แต่อ้ายกล้า

 

เดือนดวงนวลแขวนลอยคล้อยเคลื่อนอยู่ทางตีนฟ้าเบื้องตะวันตก น้ำค้างน้ำคืนยังชื่นฉ่ำตกต้อง เดือนสี่เป็นช่วงหนาวจัด ดวงเดือนหน้าหนาวงดงาม ขึ้นก็งาม ตกก็งาม บางคืนมีนางนกฟ้าออกมาฟ้อนละเมอเดือน ว่ากันว่านั่นคือนกโกกิลาผู้ไม่ดื่มกินอะไรเลย นอกจากน้ำค้างในแสงจันทร์ แก้วเสียงเรียงไรจึงไพเราะนัก

เดือนลอยคล้อยต่ำเกือบแตะสันเขา ดงดอยทางด้านนั้นเชื่อกันว่ามีถ้ำลึกลับแห่งหนึ่งชื่อถ้ำหงส์แสง นานนักแล้ว แต่เมื่อสมัยพญากาวิละแผ่แสนยานุภาพของล้านนาขึ้นไปทางเหนือ พญาล้านนายกทัพขึ้นไปเทเมืองยองเมืองเขิน ทะลุไปถึงเมืองลื้อหลายบ้านหลายเมือง เมืองเหล่านั้นคร้ามเกรงก็ยอมเข้าเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ยอมือไหว้สาขอส่งส่วยบรรณาการ ยังมีเมืองอันหนึ่งดูเหมือนจะชื่อเมืองมาง เจ้าเมืองส่งบรรณาการเป็นสร้อยหงส์แสงแพงค่า ทว่ามาไม่ทันถึงเมืองเชียงใหม่ ถึงเพียงเมืองพร้าว สร้อยหงส์แสงสูญหายระหว่างทาง เขาอ้างว่าผีเฝ้าถ้ำแย่งเอาไป เจ้าเมืองมางกลัวความผิดติดตัว กลัวพญากาวิละจะไม่พอใจแล้วส่งไพรพลคนรบมารื้อเมือง จึงขับไล่ราชทูตกลุ่มนั้นออกจากเมือง สาปแช่งไว้ว่าตราบใดสูไม่นำสร้อยหงส์มาส่งคืน จงอย่าได้เห็นแสงเดือนแสงตะวัน  

“เมืองมางอยู่ทางใดหือ ตุ๊ลุง”

“เมืองมาง…พู้น ทางตะวันออกเฉียงเหนือ เลยเมืองยองขึ้นไปอีก มาถามอันใดเกี่ยวกับเมืองมาง”

“ข้าไม่รู้” สีหน้าสามเณรหนุ่มดูเลื่อนลอย… “คลับคล้ายคลับคลา มันคุ้นๆ แต่ข้ากลับนึกอันใดไม่ออก”

เสียงเด็งดังมาแว่วๆ เป็นเสียงสดใส ฝ่าหมอกหนาวเหมยหนาไปบอกกล่าวแก่ศรัทธาสาธุชนทั้งหมู่บ้านว่าจวนได้เวลาประกอบกิจกุศลกรรมอันยิ่งใหญ่แล้ว  ให้รีบมาวัดไวๆ ประเพณีทานข้าวใหม่มักจะกำหนดเอาเดือนสี่เพ็ญเป็นส่วนมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดูดีเหมาะสมที่สุด หากเป็นเดือนสามเพ็ญก็จะเร็วไป ข้าวกล้าในนายังไม่เก็บเกี่ยวโล่งเตียนทุกทุ่ง บางทุ่งที่เป็นนาโห้ง หรือนาห้วง หรือนาที่ลุ่มต่ำเหมือนแอ่งก้นกระทะ ข้าวจะสุกช้ากว่านาดอน ที่สุกช้ากว่าเพราะปลูกล่ากว่า  ต้องรอให้น้ำลดก่อนจึงเริ่มปลูก หาไม่น้ำจะขังนาน ข้าวกำลังสร้างกอสร้างลำจะถูกน้ำกลบท่วมถึงขั้นเสียหายได้ แต่หากประเพณีทานข้าวใหม่ไปกำหนดเอาเดือนห้าเพ็ญก็จะช้าเกินไป อาจสร้างความอึดอัดไม่สบายใจแก่เจ้านา เพราะว่าข้าวใหม่เก็บเกี่ยวมาใส่ยุ้งนานแล้ว ยังไม่ได้ถวายข้าวใหม่จะเอากินก่อนทานก็เหมือนมานก่อนแต่ง เป็นสิ่งที่โบราณนานเนาไม่นิยมกระทำ

“เร็วหน่อยคำสร้อย เด็งดังแล้ว”

“เร็วอยู่แล้ว ยาย”

   ข้าวใหม่อยู่ในกระบุงพร้อมแล้ว เดือนยังไม่ตก นกกาเริ่มร้องรอตะวันรุ่งจะออกจากรัง สาวน้อยหน้านวลดั่งเดือนงามลงมาจากเรือน ยายรออยู่แล้ว ยายแก่แล้วอายุตั้งเจ็ดสิบ แต่เธอเองยังสาวสะพรั่งพริ้งเพราเพราะเพิ่งได้สิบเจ็ดขวบข้าว จะให้ยายหาบข้าวเปลือกพร้อมถั่วงาแฟงฟักหนักแอ้ ส่วนตัวเองเดินนวยนาดเฉิดฉายได้อย่างไร

ยายเป็นหม้าย แม่เองก็เป็นหม้าย ยายเป็นหม้ายเกือบสองปี แต่แม่เป็นหม้ายมาห้าปีแล้ว

“เป็นใดแม่บ่ไปวัด แม่ยึดถือข้อห้ามอันใดหรือยาย”

“ไปถามแม่เอง”

ผู้เป็นยายตัดบท

ถึงวัด คำสร้อยปลงหาบข้าวเปลือกไว้ภายนอกวิหารแล้วตามยายเข้าไปไหว้พระใส่ขันแก้วทั้งสาม คนมาก่อนหน้าก็มาก คนมาตามหลังก็หลาย ผู้ชายเขานั่งทางด้านหน้า ผู้หญิงนั่งทางด้านหลัง ยายได้ที่นั่งใกล้เสา สาวน้อยนั่งข้างหลังถัดจากยาย แม่เลี้ยงแสงคำ เมียใหม่พ่อเลี้ยงนันทิขยับมาใกล้ ใส่เพชรใส่ทองล้นหลามแพรวพราวอยู่ทางนอกเสื้อ

“บัวไหลบ่มาหรือ?”

“บ่มา บัวไหลต้องวางควักข้าวผีเรือน ผีก้อนเส้าเตาไฟ ผีหัวกระได”

“อย่างนั้นหรือ”

สีหน้าท่าทางแม่เลี้ยงแสงคำยิ้มเยาะ บัวลานางหม้ายเฒ่ารูดกำไลที่ข้อมือให้ขึ้นไปทางต้นแขน ตัดบทโดยหันไปสั่งหลานสาวให้ยกกระบุงข้าวเปลือกเข้ามา สาวน้อยคลานด้วยเข่าผ่านหน้าอี่แม่อี่ป้าอี่น้าทั้งหลาย ออกไปยกหาบข้าวเปลือกถั่วงาและฟักแฟงแตงเต้าผ่านช่องเดินตรงกลางวิหาร ด้านหน้าสุดของศรัทธาชาวบ้าน มีกองข้าวเปลือกกองใหญ่ เป็นข้าวออกใหม่ทั้งนั้น ยึดถือสืบเนื่องกันมาว่าหากยังไม่ได้ถวายข้าวใหม่เป็นทานแก่วัดวาพระศาสนา ไม่ควรเอาข้าวออกมากิน

เทียนเล่มน้อยนับร้อยเล่มเรืองไรล้อมแวด ที่ราวเทียนใกล้กับแท่นแก้วก็มีเทียนเป็นร้อย แท่นแก้วก่อสูง พระเจ้านั่งสูงอยู่บนแท่น แก้มท่านนวล หน้าท่านอิ่ม ปากท่านอมยิ้ม สายตาท่านทอดต่ำลงมา เหมือนว่าสายตาท่านโอบอุ้มคนในวิหารไว้หมด สายตาพระเจ้ามองเห็นทั่ว ความอบอุ่นอ่อนโยนแจกจ่ายไปทั่ว เวลาเข้าวิหารจึงรู้สึกอุ่นอ่อนสบายใจ เสียงเด็งดังครั้งที่สอง คำสร้อยเอากระบุงออกไปนอกวิหารแล้วกลับมานั่งข้างหลังยาย แม่เลี้ยงแสงคำย้ายไปนั่งที่เดิม

“พระเจ้าวัดเรางามนัก  ยาย”

“เอ็งเห็นองค์เล็กๆ ทางซ้ายนั่นไหม” ยายเอามือข้างที่สวมกำไลเงินเกลี้ยงชี้ให้ดู “องค์นั้นละ ฝีมือตาเอ็ง”

“คนแก่คนเฒ่าเขาว่าหากตาไม่สึก วัดเราอาจเป็นวัดเจ้าคณะตำบล”

“ตาเอ็งสึก ตุ๊ลุงเลยไม่สึก”

“ข้าไม่เข้าใจ เกี่ยวข้องกันอันใด”

“เขาเป็นศิษย์พี่ศิษย์น้องกัน “บัวลาตอบเลี่ยงๆ “ผู้หนึ่งไป ผู้หนึ่งก็ต้องอยู่”

ถ้อยคำยายฟังดูคลุมเครือยากแก่การเข้าใจ แต่คำสร้อยก็ไม่มีเวลาจะซัก  ถึงซักยายก็คงไม่ตอบ พระเณรเถรต้นเข้ามาแล้ว เข้าทางประตูน้อยใกล้กับผนังด้านหลังของพระวิหาร ศรัทธาชาวบ้านเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงท่านั่ง ตุ๊แดงรองเจ้าอาวาสขึ้นนั่งแท่นถัดจากตุ๊ลุง คำว่าตุ๊ตัดมาจากสาธุ เป็นคำเรียกนักบวชมาแต่เก่าแก่ดั้งเดิม ตาเคยพูดให้ลูกหลานฟังนานแล้ว

ตาเอ็งสึก ตุ๊ลุงเลยไม่สึก …คำพูดของยายฟังดูมีเงื่อนงำกำกวม

ถัดจากตุ๊แดง พระพี่แสงเฮือง สามเณรอายุมากที่สุดขึ้นนั่ง พระพี่กวาดสายตาวอบแวบ พอมองเห็นเธอก็เหมือนมีอาการดีใจอยู่ในท่าที แล้วเหมือนมีถ้อยคำตัดพ้ออยู่ในสายตา   

คำสร้อยยังทันได้เห็นสายตาหลวงลุงมองมาที่ยาย ส่วนยายกลับก้มหน้าหลบสายตาหลวงลุง

-โปรดติดตามตอนต่อไป-

 


สร้อยหงส์แสง สิ่งล้ำค่าที่ไม่มีใครเคยรอดชีวิตกลับมาจากการตามหา ผลงานจากศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อ. มาลา คำจันทร์ ที่มอบความไว้วางใจให้ อ่านเอา ได้เป็นผู้เผยแพร่นวนิยายเรื่องล่าสุดของท่าน ในรูปแบบ นิยายออนไลน์ ที่เราอยากให้ทุกคนได้ติดตามและ อ่านออนไลน์ ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอา และหากติดใจอย่างอ่านต่อสามารถติดตามฉบับรวมเล่มที่ออกโดย สำนักพิมพ์ Groove www.groovebooks.com



Don`t copy text!