เที่ยวสิบสองปันนา

เที่ยวสิบสองปันนา

โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์ 

…………………………………………..

– เที่ยวสิบสองปันนา –

 

ตั้งแต่จำความได้ราวๆชั้นประถม เริ่มมีความรู้สึกผูกพันกับสิบสองปันนา (Xishuangbanna) หรืออีกชื่อหนึ่งคือเมืองเชียงรุ้ง ตั้งใจว่าสักวันคงมีโอกาสได้ไปเที่ยว เพราะเหมือนเป็นบ้านพี่เมืองน้องของไทย ตั้งแต่สมัยโบราณ

ดินแดนแถบนี้เราเชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดถิ่นฐานรกรากของคนไทย จากบางตำรา กล่าวว่า 4 เชียง อันได้แก่เชียงแสน, เชียงตุง (ในพม่า), เชียงทอง (ในลาว หรือที่รู้จักกันว่าล้านช้าง) และเชียงรุ้ง (สิบสองปันนา) ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายเดียวกันที่มีชื่อว่าชาวไต (TAI) ที่ประวัติศาสตร์ขยายว่ามาจากคำว่า อัลไต (Altai) หรือเทือกเขาอัลไตที่คนรุ่นเก่าอย่างเราเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ว่าด้วยที่มาของชนชาติไทย

อีกคำที่ทุกคนควรจะจำได้คือ ‘อาณาจักรน่านเจ้า’ ที่ชาวไตอาศัยอยู่นั้น ปัจจุบันก็คือเมืองต้าหลี่ ในมณฑลยูนนานนั่นเอง ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ว่าชนชาติไตในปัจจุบันกระจายไปอยู่อาศัยในมณฑลต่างๆ ของจีน โดยเฉพาะมณฑลยูนนานและมณฑลกวางสีที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย รัฐบาลจีนจึงกำหนดให้เป็นเขตปกครองตนเอง เพื่อให้ชนพื้นเมืองดั้งเดิมได้รักษาวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต

ผมค้นไปอ่านไปเลยยิ่งทำให้อยากไปดูเมืองและดูชุมชนที่สิบสองปันนาให้ได้ แล้วปีนี้ก็หาเวลาไป ‘เชียงรุ้ง’ จนได้ ข้อแม้ก่อนการเดินทางมีอย่างเดียวคือขอไกด์ท้องถิ่น ถ้าได้คนไทลื้อจะดีมากสำหรับการพาตะลอนให้ทั่วเจาะลึก แวะดูบ้าน ดูชุมชน เข้าวัดพุทธ และขอไปกินอาหารพื้นเมืองด้วย

คนที่ไปสิบสองปันนา (เชียงรุ้ง) มาแล้วจะมีความรู้สึกเดียวกันคือ… แปลกใจ… เอ… ที่ผู้คนท้องถิ่นดั้งเดิม (ชาวไทลื้อ) แต่ทำไมแต่งกายผ้าเสื้อคล้ายคนเหนือของเรา โดยเฉพาะผู้หญิง นุ่งผ้าซิ่น กางจ้อง มีดอกไม้เสียบผมที่เกล้ามวย พอเข้าไปในชุมชนยิ่งฉงนสงสัยหนักเข้าไปอีก เพราะสภาพบ้านเรือนของคนไทลื้อจะปลูกสร้างเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ๆ คล้ายบ้านเก่าทรงโบราณในภาคเหนือ ซึ่งมักจะมีใต้ถุนเตี้ยๆ ไม่สูงมากนัก มีระเบียงไม้อยู่กลางหรือหน้าบ้าน ส่วนนี้จะไม่มีหลังคาคลุม ไม่มีฝากั้น แบบที่คนไทยเราเรียกว่านอกชาน ใช้เป็นบริเวณอเนกประสงค์ แต่ลักษณะบ้านในสิบสองปันนาดูขัดแย้งกับสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงเช้าและค่ำแม้จะเป็นฤดูร้อนเพราะตัวบ้านโล่งโปร่ง รับลมทุกทิศทาง ไม่ปิดทึบ ลักษณะบ้านแบบนี้ถ้าเป็นในฤดูหนาวยิ่งจะต้องเย็นมากๆ

ส่วนแผนผังของหมู่บ้านคล้ายเมืองไทยเรา มีวัดพุทธใกล้หรือในชุมชน มีศาลาของชุมชน มีบึงน้ำ มีตลาดนัดและลานร้านค้า เป็นที่พบปะกัน นี่มันคนไทยชัดๆ ใช่คนจีนคนยูนนานที่ไหนกัน!?  

เมื่อนั่งรถเข้าไปในตลาด ผ่านย่านการค้า ริมถนนปลูกต้นมะพร้าว กล้วย ต้นหางนกยูง ลั่นทม เฟื่องฟ้า เหมือนบ้านเราเปี๊ยบ ร้านค้าก็คึกคักมีผู้คนมาค้าขายกันมาก เวลาราชการที่เมืองนี้ทราบจากไกด์ว่า ทำงานตั้งแต่ 8.00-12.00 น. แล้วมาต่อที่ 15.00-18.00 น. ต่างจากเมืองอื่นตรงพักเที่ยงมากกว่า 1 ชั่วโมง เป็น 3 ชั่วโมง เนื่องจากช่วงเที่ยงวันนั้นมีสภาพอากาศร้อนมากกว่ามณฑลอื่นที่อยู่เหนือขึ้นไป  

ทั้งเมืองแม้จะมีคนจีน คนฮั่น มาค้าขายและอาศัยอยู่ แต่สถาปัตยกรรมบ้านเรือนก็ยังมีรูปลักษณ์เป็นไทย เช่น มีกาแลที่หน้าจั่ว มุงหลังคาด้วยกระเบื้องแป้นเกล็ด มีรูปปั้นช้างตกแต่งตามสี่แยก ตามริมกำแพงอาคาร หลายสิบแห่ง 

วัด 2 แห่งในเชียงรุ้งที่เราควรต้องไปคือวัดป่าเชต์ ซึ่งตั้งอยู่นอกเมือง และวัดเจดีย์ใหญ่จิงฮงซึ่งตั้งอยู่ในเมือง ริมแม่น้ำโขง ทั้งสองวัดมีทั้งโบสถ์ เจดีย์ พระประธาน ที่คนไทยไปร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์ และทำบุญกันต่อเนื่อง โดยที่วัดป่าเชต์แห่งนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินเมื่อปี พ.ศ. 2541  

ผมนั่งรถผ่านลานคนเมือง ด้านหน้าศาลากลางจังหวัด ยังเหลือร่องรอยจากงานสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป 2-3 วันก่อน  ไกด์สาวคนไทลื้อบอกว่า เล่นสาดน้ำกัน 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-15 เมษายน มีประเพณีสาดน้ำ แข่งเรือ รดน้ำดำหัว ฟ้อนรำ แห่พระพุทธรูป สรงน้ำพระ เหมือนคนไทย

ขากลับออกเดินทางจากเชียงรุ้งไปคุนหมิง ด้วยถนนซูเปอร์ไฮเวย์ คือเส้นทางสาย R3a แบบ 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 800 กม. ไม่บินแต่ ขอนั่งรถย้อนกลับคุนหมิง เพราะอยากไปดูถนนที่สวยงามที่สุดทั้งด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ …อิ่มตาอิ่มใจกับวิวทิวทัศน์และป่าไม้ตลอดสองข้างทาง ข้ามสะพานโค้ง ผ่านสะพานแขวนหลายสิบแห่ง มุดลอดอุโมงค์ 29 แห่งที่เจาะทะลุภูเขา นับได้ 20-30 กิโลเมตร ทั้งยังได้ชื่นชมกับความเรียบเนียนของผิวจราจร และความลาดโค้งที่สอดรับลงตัวกับความเร็วรถทำให้ไม่สะเทือน ไม่สั่น นั่งนุ่มนวลตลอดทาง

การเดินทางครั้งนี้ ผ่านจุดไฮไลต์ 1 จุดคือ สะพานใหญ่หงเหอ (Honghe) ที่กำลังจะถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ สะพานนี้เคยเป็นสะพานที่สูงที่สุดในโลก มีความยาว 801 เมตร กว้าง 20 กว่าเมตร ความสูงจากพื้นสะพานถึงผิวน้ำ 163 เมตร สูงเท่าตึก 61 ชั้น หลังสร้างเสร็จถือได้ว่าเป็นสะพานที่สูงที่สุดในโลกจากสะพานประเภทเดียวกัน อลังการจริงๆ สำหรับจุดหมายแห่งนี้ แม้เพียงแค่ผ่านก็ตาม

เชียงรายห่างจากสิบสองปันนาเพียง 590 กิโลเมตร เท่ากับกรุงเทพฯ ไปลำปาง พอจะนึกภาพเขตพื้นที่บริเวณและความสัมพันธ์ในอดีตของชนเผ่าไทต่างๆ ที่มีการย้ายถิ่นฐาน การไปมาหาสู่ ทำการค้าขาย  การสู้รบตบมือกันได้… ที่แน่ๆ อาณาบริเวณของภาคเหนือของไทย พม่า ลาว และมณฑลยูนนาน (ภาคใต้สุดของจีน) ก็คือดินแดนบ้านพี่เมืองน้องของเรานั่นเอง

Don`t copy text!