เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง ตอนที่ 2 :  ประตูวังสี่ทิศของคยองบกกุง

เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง ตอนที่ 2 :  ประตูวังสี่ทิศของคยองบกกุง

โดย : ลีซังกุง

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวของดินแดนแห่งแสงสว่างยามเช้าและคำบอกเล่าของกาลเวลา โดย ลีซังกุง ให้ทุกคนได้ อ่านออนไลน์ กันเพลินๆ ในคอลัมน์ เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง

…………………………………………..

 จองโรงแรมในเครือ  Accor Hotels ทุกการเข้าพักและชำระเงิน 

จะมียอดสนับสนุนเข้าสู่เว็บไซต์อ่านเอาของพวกเรา :)

– 2 –

 

สวัสดีในตอนที่ 2 ค่ะ หลังจากที่แนะนำประวัติของคยองบกกุงคร่าวๆ ไปแล้ว ซังกุงก็จะมาว่าด้วยประตูสี่ทิศที่อยู่ในคยองบกกุง ทุกประตูมีชื่อและมีความสำคัญตามหลักฮวงจุ้ยค่ะ แต่ก่อนจะเข้าประตูนี้เราจะเห็นรูปปั้นสิงโตขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านสง่างาม ตามภาษาเกาหลีเรียกว่าแฮแท ที่มีร่างกายของสิงโต มีเขาหนึ่งเขา และมีกระพรวนที่คอ ต้นราชวงศ์โชซอน แฮแทปรากฏอยู่มากในสถาปัตยกรรมต่างๆ

รูปแฮแทจาก Pixabay.com

เพราะเชื่อกันว่าแฮแท (해태) มีอำนาจป้องกันเมืองฮันยางหรือโซลในปัจจุบันจากพิบัติภัยธรรมชาติ และรักษาความสงบเรียบร้อยของพลเมือง ฉะนั้น โซลจึงใช้แฮแทเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำเมืองตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ความเชื่อเรื่องแฮแทนั้นเชื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกค่ะ แฮแทจะมีชื่อเรียกในภาษานั้นๆ อย่างที่จีน สัตว์ชนิดนี้ก็จะมีศิลปะแบบจีนและเรียกว่า ‘เซี่ยจื้อ’ ส่วนญี่ปุ่นจะเรียกว่า ‘ไคชิ’ ค่ะ  แฮแทจึงถือเป็นสัญลักษณ์แห่งกระบวนการยุติธรรมของทั้งจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่จริงควางฮวามุนที่เห็นในรูปตำแหน่งของแฮแทจะอยู่ห่างจากประตูหลักมากนะคะ

ภาพแฮแท ช่วงปี 1900 น่าจะอยู่ห่างจากประตูควางฮวามุนมากกว่าตำแหน่งปัจจุบัน ภาพโดยสำนักข่าวยอนฮับ

มาถึงประตูควางฮวามุนแล้วค่ะ

ประตูหลักควางฮวามุน ภาพจาก pixabay.com

ควางฮวามุนเป็นประตูหลักที่อยู่ทางทิศใต้ของพระราชวังคยองบกกุง สร้างในปี ค.ศ. 1395 เดิมไม่ได้ชื่อว่าควางฮวามุนหรอกนะเจ้าคะ ควางฮวามุนมีชื่อแรกเริ่มคือ ‘โอมุน’ 오문 (午門) ต่อมาในสมัยพระเจ้าเซจงมหาราช พระองค์ได้เปลี่ยนชื่อจากโอมุนมาเป็นควางฮวามุน ชื่อควางฮวามุนสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของกษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศ  ประตูควางฮวามุนจะแบ่งเป็นสามช่อง จะมีรูปเขียนสีเป็นรูปหงส์สีแดงค่ะ เรียกว่า ‘ชูจัก’ (주작) สัตว์เทพแห่งทิศใต้ ตัวแทนของฤดูร้อน สีประจำตัวคือสีแดง อยู่ในธาตุไฟ เป็นสัญลักษณ์ของความรอบรู้ ความเป็นสิริมงคล และความจงรักภักดี ในลักษณะตัวแทนของผู้ให้และผู้รับที่ทำให้เกิดความสมดุล นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนของจักรพรรดินีด้วยค่ะ

บนผนังประตูตรงกลางจะมีรูปหงส์สีแดงในรูปซ้ายล่าง ตรงกลางคือทางเดินของกษัตริย์ รูปขวาบนเป็นรูปกิเลน รูปขวาล่างเป็นรูปเต่า เป็นช่องทางของเหล่าขุนนางและข้าราชบริพารค่ะ

ในอดีตช่องตรงกลางจะเป็นเส้นทางเสด็จของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ส่วนด้านซ้ายและขวาจะเป็นประตูของขุนนางและข้ารับใช้ บนผนังของควางฮวามุนจะมีภาพเขียนสี ถือเป็นจิตรกรรมชิ้นเอกเลยค่ะ

ควางฮวามุนทรุดโทรมและได้รับการบูรณะหลายครั้ง แต่ในช่วงที่เกาหลีถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น ควางฮวามุนถูกรื้อออกเพื่อสร้างสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งโชซอน หรือโชซอนชุงดกบู (조선총독부/Governor-General of Korea) อาคารแห่งนี้เป็นอาคารสำนักงานข้าหลวงใหญ่ของญี่ปุ่นในเกาหลี ญี่ปุ่นได้สร้างไว้เมื่อทำการผนวกเกาหลีแล้ว การก่อสร้างได้ทำการรื้อถอน ประตูหลักควางฮวามุนและประตูรองออก

การสร้างอาคารสำนักข้าหลวงใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อญี่ปุ่นปกครองเกาหลีเต็มตัว การสร้างอาคารใหญ่โตขนาดนี้เป็นการแสดงอำนาจของญี่ปุ่นที่มีเหนือกว่าเกาหลี เพราะการสร้างวังของเกาหลีจะคล้ายกับจีนอย่างหนึ่งคือสร้างตามหลักฮวงจุ้ย การรื้อประตูนี้ออกก็เป็นการทำลายแผนผังตามฮวงจุ้ยเดิมลงไปด้วยเจ้าค่ะ

ซื้อหนังสือที่ www.naiin.com ไม่ว่าเล่มใดก็ตาม

ทุกยอดการสั่งซื้อจะมีส่วนแบ่งกลับมาเพื่อสนับสนุนเว็บไซต์อ่านเอา

ชุมชนแห่งการอ่านของพวกเรา : )

 

เมื่อเกาหลีเป็นอิสระจากญี่ปุ่น อาคารนี้ยังอยู่ค่ะ และยังอยู่เรื่อยมาจนถึงหลังสิ้นสุดสงครามเกาหลี และถูกทำลายเมื่อปี 1995 เดือน สิงหาคม วันที่ 15 ซึ่งเป็นวันประกาศอิสรภาพของเกาหลี

จากประตูทิศใต้เราจะยังไม่เข้าไปในวังนะคะ วันนี้ซังกุงจะพาไปรู้จักประตูสี่ทิศก่อน เพื่อจะได้เห็นถึงภาพรวมๆ ของประตูในทิศตะวันออก ประตูนี้ติดกับพระตำหนักทงกุงที่เป็นที่ประทับขององค์รัชทายาทและพระชายา ประตูนี้มีชื่อว่าคอนชุนมุนค่ะ ประตูคอนชอนมุนมีความหมายว่าทิศตะวันออกเหมือนกับฤดูใบไม้ผลิ แสงสว่างของฤดูกาลคือการเริ่มต้น

บนผนังของคอนชอนมุนจะมีรูปของ ‘ชองรยง’ (청룡) หรือมังกรเขียวในภาษาเกาหลี สัตว์เทพแห่งทิศตะวันออก เป็นตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิ สีประจำตัวคือสีเขียวหรือสีฟ้า อยู่ในธาตุไม้ บางความเชื่อก็ว่าอยู่ในธาตุลม เป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดี ความอ่อนโยนสงบสุข และความมั่นคงของบ้านเมือง นอกจากนี้ยังใช้เป็นตัวแทนของจักรพรรดิ ซึ่งเป็นเทพคุ้มครองประตูทิศตะวันออกค่ะ

ประตูคอนชอนมุนเป็นประตูที่ถูกทำลายในสงครามอิมจิน ส่วนที่เป็นไม้ถูกเผาทำลายเสียหายเป็นอย่างมาก มาในสมัยพระเจ้าโกจง แทวอนกุนฮึงซอน พระบิดาของพระองค์ ได้ทำการบูรณะขึ้นมาใหม่ค่ะ ตรงนี้ก่อนออกไปจะมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่จะเป็นสถานที่แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีค่ะ ถ้าท่านใดได้มาเที่ยวพระราชวังคยองบกก็อย่าลืมไปดูในพิพิธภัณฑ์นี้นะคะ

ต่อมาเป็นประตูยังชุนมุนหรือประตูวังด้านทิศตะวันตก ในความหมายก็จะหมายถึงฤดูใบไม้ร่วง ประตูนี้ถูกทำลายลงในสงครามอิมจินเช่นกันค่ะ พอในสมัยพระเจ้าโกจงปีที่สอง พระบิดาของพระองค์คือองค์ชายแทวอนกุน ได้บูรณะขึ้นมาใหม่เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1865  

บนผนังทางเข้าประตูแห่งนี้ก็จะมีภาพเขียนสีข้างบนเป็นรูปเสือขาวหรือที่เรียกในภาษาเกาหลีคือแบคโฮ ( 백호) สัตว์เทพแห่งทิศตะวันตก ตัวแทนของฤดูใบไม้ร่วง อยู่ในธาตุทอง บางความเชื่อก็ว่าอยู่ในธาตุลม เป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องและคุ้มครอง คอยขับไล่ปีศาจ เป็นราชาแห่งขุนเขา นอกจากนี้ยังถือเป็นสัญลักษณ์ในการรบและการทหาร ประตูนี้คนส่วนมากที่ผ่านเข้าออกมักจะเป็นขุนนาง และข้าราชบริพารที่ทำงานกันอยู่ในวังค่ะ ลักษณะของประตูจะเป็นช่องเดียว ในสมัยปลายโชซอนรอบๆ จะเป็นถนนทางวิ่งของรถราง ว่ากันว่าเพราะรถรางมาวิ่งบริเวณนี้ ทำให้สิ่งปลูกสร้างโดยรอบเสียหายเพราะการสั่นสะเทือนของรถรางนั่นเอง ประตูแห่งนี้ก็ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่และเปิดใช้งานในปี 1926 ค่ะ  

และประตูสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในบทนี้ก็คือประตูประจำทิศเหนือ ประตูชินมูมุน ประตูนี้จะอยู่ส่วนท้ายของพระราชวังเลยค่ะ ถ้าเดินออกจากประตูนี้จะเห็นบลูเฮาส์ ที่เป็นที่พำนักของประธานาธิบดีเกาหลี ด้านหลังจะเป็นภูเขาพุกอักซาน ที่เราสามารถมองเห็นได้เลยค่ะ ประตูชินมูมุนเป็นประตูช่องเดียว

ด้านบนเพดานประตูจะมีรูปเขียนสีเป็นรูปเต่าดำ หรือที่เรียกในภาษาเกาหลีว่า ‘ฮยอนมู’ (현무) เต่าดำจะเป็นสัตว์เทพแห่งทิศเหนือ ตัวแทนของฤดูหนาว อยู่ในธาตุน้ำ บางความเชื่อก็ว่าอยู่ในธาตุดิน  เต่าดำคือสัญลักษณ์ของความศรัทธา อายุที่ยืนยาว และมีความสุข

แรกเริ่มเดิมทีประตูชินมูมุนไม่ได้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแทโจหรอกนะคะ ประตูแห่งนี้สร้างครั้งแรกในสมัยพระเจ้าเซจงมหาราช และเมื่อสร้างแล้วก็ไม่ได้ใช้งานบ่อยนัก ในอดีตมันจึงถูกปิดไว้เกือบตลอดเวลาค่ะ

ในตอนนี้เราก็ได้รู้จักกับประตูทั้งสี่แล้ว ในตอนหน้าซังกุงจะพาทุกท่านเข้าไปในประตูสู่พระที่นั่งหลักที่อยู่ในคยองบกกุงค่ะ

 

ซื้อหนังสือที่ www.naiin.com ไม่ว่าเล่มใดก็ตาม

ทุกยอดการสั่งซื้อจะมีส่วนแบ่งกลับมาเพื่อสนับสนุนเว็บไซต์อ่านเอา

ชุมชนแห่งการอ่านของพวกเรา : )

– โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ –

…………………………………………………

อ่านตอนอื่นๆ ของ เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง

–  ตอนที่ 2 :  ประตูวังสี่ทิศของคยองบกกุง

–  ตอนที่ 1 :  ‘พระราชวังแห่งพรที่ส่องสว่าง’ คยองบกกุง พระราชวังของเกาหลีในอดีต

Don`t copy text!