เปิดหู เปิดตา… เปิดใจ ในศรีลังกา ตอนที่ 7 : จากจุดมุ่งหมาย สู่ปลายเส้นทาง

เปิดหู เปิดตา… เปิดใจ ในศรีลังกา ตอนที่ 7 : จากจุดมุ่งหมาย สู่ปลายเส้นทาง

โดย : อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีบทความอ่านเอาสบายอีกเพียบ อย่างซีรี่ย์สารคดีท่องเที่ยวศรีลังกาจากมุมมองของตุ๊กตาบันนี่กระต่ายน้อยชุดนี้ โดย อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์ ให้ได้ อ่านออนไลน์กันเพลินๆ 

——————————————————

และแล้วก็มาถึงวันสุดท้ายแห่งการเดินทางท่องเที่ยวในศรีลังกาของพวกเราสามหนุ่ม คุณลุงมหินทร์คนขับรถใจดีมารับพวกเราตั้งแต่ 9 โมงเช้า เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแห่งสุดท้ายของทริปนี้ ซึ่งก็คือ ‘วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว’ (The Temple of the Tooth Relic) ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี

อ๋า… กระต่ายยังไม่เข้าใจว่าพระธาตุเขี้ยวแก้วคืออะไร และพี่กรู๊ฟผู้ซึ่งเก็บเรื่องนี้เป็นความลับมาตลอด ก็เอาแต่อมพะนำและไม่ยอมหันสบตากันเลย พอผมรุกหนักเข้า ก็พูดอ้อมแอ้มๆ ว่า “ไปถามพี่โอ๊ตเอาก็แล้วกัน”

โธ่เอ๊ย… ที่แท้ก็ไม่รู้ แล้วทำมาเป็นมีความล้งความลับ ปกปิดกันมาตลอด ให้มันได้อย่างนี้สิเจ้านายผม สุดท้ายเลยตกเป็นหน้าที่ของพี่โอ๊ต พี่ชายใจดีที่จะมาเป็นผู้ไขความลับของสถานที่แห่งนี้ ว่าทำไมถึงได้สำคัญจนทำให้พวกเราต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงประเทศศรีลังกา

พี่โอ๊ตรีบเฉลยให้บันนี่เข้าใจขณะนั่งรถผ่านใจกลางเมืองแคนดี้ เพื่อไปยังวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วว่า “ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คือ วัดพระธาตุเขี้ยวแก้วที่เรากำลังจะไปชมกันนี้ เป็นที่ประดิษฐานของพระทันตธาตุ หรือกระดูกส่วนฟันของพระพุทธเจ้านั่นเอง”

“อะไรนะ… ฟันของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นศาสดาของพุทธศาสนาน่ะเหรอฮะ” กระต่ายน้อยอย่างผมถึงกับอึ้งไปเลย เพราะไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าในชีวิตนี้ จะมีโอกาสได้พบได้เห็นและได้ใกล้ชิดกับหลักฐานชิ้นสำคัญ ซึ่งยืนยันถึงการมีตัวตนของพระพุทธเจ้าแบบนี้

พี่โอ๊ตยังเล่าต่อว่า ‘พระเขี้ยวแก้ว’ นั้นมีอยู่ทั้งหมด 4 องค์ แต่องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกานี้ เป็นพระทันตธาตุเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระเขมเถระได้อัญเชิญหลังจากการถวายพระเพลิง ไปถวายพระเจ้าพรหมทัตแห่งนครทันตปุระ ซึ่งอยู่ที่แคว้นกลิงค์ ประเทศอินเดีย ซึ่งพระทันตธาตุได้ประดิษฐานอยู่ที่นั่นจนถึงสมัยพระเจ้าคุหสีวะ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้ามหาเสนะแห่ง ‘ลังกา’ (ชื่อของศรีลังกาในสมัยนั้น)

ต่อมาเมื่อมีข้าศึกบุกยกทัพมาประชิดเมืองพระนคร พระเจ้าคุหสีวะทรงประจักษ์ว่าพระองค์กำลังจะปราชัยต่อข้าศึก และเกรงว่าพระทันตธาตุจะต้องตกไปอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าหญิงเหมมาลา ซึ่งเป็นพระธิดาของพระองค์ กับเจ้าชายทันตกุมารที่เป็นพระสวามีของเจ้าหญิง อัญเชิญพระทันตธาตุเสด็จสู่ลังกาบ้านพี่เมืองน้อง เพื่อถวายพระเจ้าเกียรติเมฆวรรณซึ่งครองราชย์อยู่ ณ เมืองอนุราธปุระในขณะนั้น

หลังจากนั้นพระทันตธาตุก็ประดิษฐานอยู่ในสถานที่ต่างๆ ของเกาะลังกา เช่น เมืองอนุราธปุระ และโปโลนนารูว่า จนในที่สุดพระเจ้าวิมลธรรมสุริยะที่ 2 จึงได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาจากเมืองพุลดาน เพื่อมาประดิษฐาน ณ วัดศรีดาลดามาลิกาวะ หรือวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น และพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ก็ยังคงได้รับการดูแลรักษาเอาไว้เป็นอย่างดีอยู่ที่นี่ ตราบจนปัจจุบัน

พี่โอ๊ตยังบอกอีกว่า ปกติทางวัดจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมเพียงวันละ 3 เวลา นั่นก็คือตอน 7 โมงเช้า, 10 โมงเช้า และตอน 1 ทุ่ม ซึ่งในการเปิดแต่ละครั้งจะเปิดเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนนำดอกไม้ไปสักการะพระธาตุ แต่จะอนุญาตให้เข้าใกล้มากที่สุด ก็แค่เพียงบริเวณโถงระเบียงซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของห้องที่พระธาตุประดิษฐานอยู่เท่านั้น

โดยจะต้องมองผ่านทะลุประตูถึง 2 ชั้น ซึ่งถัดจากโถงระเบียงเข้าไป มีห้องด้านในซึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมที่อนุญาตให้แต่บุคคลสำคัญของประเทศเข้าไปได้เท่านั้น ส่วนห้องเล็กที่อยู่ด้านในสุดซึ่งเป็นห้องประดิษฐานของพระธาตุ จะไม่เปิดโอกาสให้ใครเข้าไปยกเว้นแต่เพียงสมเด็จพระสังฆราชของศรีลังกา เพราะพระพระธาตุเขี้ยวแก้วเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับประชาชนชาวศรีลังกา และจะต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ผมคิดว่าคงจะอารมณ์เดียวกันกับที่คนไทยหวงแหน และให้ความสำคัญกับพระแก้วมรกตนั่นละฮะ

หลังจากนั่งรถมาได้สักประมาณ 20 นาที คุณลุงมหินทร์ก็พาเรามาถึงวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วในที่สุด ผมเห็นว่าในบริเวณนี้มีผู้คนมากมายเดินกันให้ขวั่กไขว่ และยังมีแผงขายดอกไม้และน้ำมันเตาสำหรับใช้ในการสักการะบูชาพระธาตุอีกเพียบ

หลังจากวนหาที่จอดรถจนเกือบจะถอดใจ สุดท้ายก็มีคุณพี่พนักงานในชุดสีเหลืองมาโบกให้เราไปจอดตรงที่ว่างที่หนึ่ง ซึ่งอยู่เลียบกับประตูวัด โอ้โฮ… ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นวีไอพีชะมัด ว่าแล้วจึงขอถ่ายรูปพี่สาวคนสวยเอาไว้เป็นที่ระลึกด้วย

ลุงมหินทร์รีบเร่งให้เราเดินเข้าทางประดูด้านหน้า เพราะใกล้ถึงเวลาที่ห้องที่ประดิษฐานพระธาตุจะปิดแล้ว ไม่อย่างนั้นเราคงทำได้แค่เพียงวางดอกไม้บูชาและจ้องมองประตูห้องเท่านั้น

ตลอดสองข้างทางเพื่อเดินทางไปสู่หอพระธาตุนั้นช่างร่มรื่นและสดชื่นที่สุด ส่วนหนึ่งก็เพราะมีทะเลสาบขนาดใหญ่อยู่ด้านข้างวัด และอีกส่วนหนึ่งก็เพราะต้นไม้น้อยใหญ่ที่ทางวัดได้ปลูกเอาไว้

ผมเห็นประชาชนชาวศรีลังกาพาลูกหลานและครอบครัวเดินทางมาที่นี่กันเยอะแยะ รวมทั้งยังมีเด็กนักเรียนมาทัศนศึกษากันมากมายด้วย เห็นแล้วรู้สึกดีจริงๆ

เมื่อทำการฝากรองเท้าซึ่งของนักท่องเที่ยวจะแยกกันกับประชาชนชาวพื้นเมือง และต้องเสียเงินนิดหน่อย พวกเราก็รีบวิ่งเข้าสู่หอพระธาตุ ผมวิ่งหอบแฮ่กๆ ลิ้นห้อยตามคุณลุงมหินทร์และพี่ๆ ทั้งสองคนด้วยความเร็วที่มากที่สุดเท่าที่ขาสั้นๆ ของผมจะวิ่งได้ แต่ก็ยังตามแทบไม่ทัน

พอไปถึงบริเวณโถงที่อยู่ชั้น 2 ซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องที่ประดิษฐานพระธาตุเขี้ยวแก้ว ความรู้สึกบางอย่างก็แล่นปราดเข้ามาสู่หัวใจ ที่นั่น… เต็มไปด้วยชาวพุทธที่หัวใจเปี่ยมล้นไปด้วยความศรัทธา กลิ่นของดอกไม้หอมหวลตลบอวบอวลระคนกับกลิ่นไม้ ที่เป็นโครงสร้างของตัวอาคาร และเหมือนว่าความความสงบร่มเย็นนั้นได้แผ่ซ่านไปทั่วอาณาบริเวณ

พอผมวิ่งไปทันพวกพี่ๆ ก็พบว่าประตูห้องที่ประดิษฐานพระธาตุเขี้ยวแก้วนั้นได้ถูกปิดลงไปเสียแล้ว หมดเวลาที่เปิดให้ชม (แบบห่างๆ)… ว้า แบบนี้ก็มาเสียเที่ยวสิฮะ ผมรู้สึกเสียดายเป็นที่สุด

คุณลุงมหินทร์กลัวว่าพวกเราจะเสียความตั้งใจ แกเลยใช้ความพยายามเฮือกสุดท้าย โดยเข้าไปขอคุยกับทางเจ้าหน้าที่ แล้วบอกพวกเขาว่า พวกเราเป็นคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธเหมือนกับชาวศรีลังกา ตั้งใจเดินทางมาเที่ยวที่นี่เพื่อตั้งใจจะมาสักการะพระธาตุเขี้ยวแก้ว แล้ววันนี้เป็นวันสุดท้ายที่พวกเราจะอยู่ที่ศรีลังกา เนื่องจากจะต้องเดินทางกลับไปยังโคลอมโบ และเตรียมตัวขึ้นเครื่องบินในคืนนี้

ทางเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลประตูรั้วเตี้ยๆ ที่อยู่ด้านข้างของห้องชั้นในได้ฟังดังนั้นก็เดินหายลับไป ปล่อยให้พวกเรายืนมองหน้ากันอย่างมีความหวัง

ความเงียบเข้าปกคลุมหัวใจของกระต่ายน้อยและพวกเราทุกคนนานกว่า 5 นาที จนในที่สุดเจ้าหน้าที่คนเดิมก็เดินกลับมา พร้อมกับเอื้อมมือมาปลดสลักกลอนของรั้วเตี้ยๆ ซึ่งกั้นขวางพวกเราเอาไว้ แล้วผายมือเชื้อเชิญพวกเราเดินเข้าไปข้างใน

พูดแล้วผมยังรู้สึกขนลุก ในวินาทีนั้นพวกเราทุกคนต่างดีอกดีใจ แต่ไม่ได้โห่ร้องอะไรออกมาเพราะจะต้องสำรวม แต่ดูจากแววตาของทุกคนแล้วผมก็แน่ใจว่าทุกคนกำลังตื่นเต้นเป็นอย่างมาก และก่อนจะเข้าไปในห้องโถงชั้นใน เจ้าหน้าที่ขอให้พวกเราช่วยเก็บกล้องและสัมภาระต่างๆ ที่ติดตัวมา ฝากไว้ทางด้านนอกก่อน

เมื่อเข้าไปถึงชั้นใน ผมก็ต้องตกตะลึงกับความวิจิตรสวยงามของการตกแต่งภายในห้องนั้น ซึ่งผมมาทราบภายหลังว่าเขาเรียกห้องนั้นว่า ‘หอมณเฑียร’

ภายในหอมณเฑียรได้รับการประดับตกแต่งด้วยเครื่องเงินเครื่องทองซึ่งมีลวดลายวิจิตรงดงาม แต่สิ่งที่ดึงดูดสายตาทั้ง 4 คู่ของพวกเรากลับเป็น ‘สถูปทองคำ’ ซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ภายในห้องขนาดเล็กซึ่งอยู่เบื้องหน้า… ใช่แล้ว… ภายในสถูปทองคำนั้นเอง มีพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ในนั้น!

พระเจดีย์หรือสถูปทองคำ มีจำนวน 7 ชั้นซ้อนกัน มีขนาดตั้งแต่เล็กไล่ออกมาจนถึงขนาดใหญ่ชั้นนอกสุด ถูกประดับด้วยแก้วแหวนเพชรนิลจินดาที่ส่องแสงสะท้อนแพรวพราว บนยอดพระเจดีย์มีสร้อยสังวาลย์หลายสาย แต่ละสายได้รับการประดับด้วยอัญมณีที่มีค่าหลากหลายชนิด คล้องโยงไปโยงมาอยู่หลายเส้น

ตอนแรกพวกเราตั้งใจจะนั่งคุกเข่าลงในหอมณเฑียรเพื่อสักการะกราบไหว้พระเขี้ยวแก้ว แต่ทันใดนั้นก็มีพระสงฆ์รูปหนึ่งกวักมือเรียกพวกเราให้เข้าไปภายในห้องเล็กๆ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุเขี้ยวแก้ว พร้อมกับส่งกลีบดอกไม้ให้พวกเราคนละ 1 กำมือ เพื่อให้เรานำไปถวายแด่พระธาตุเขี้ยวแก้ว

ผมนำดอกไม้ที่ได้รับจากพระสงฆ์รูปนั้น โรยไปบนแท่นบูชาซึ่งอยู่ด้านหน้าของพระธาตุ พวกเรายืนอยู่ใกล้มากเสียจนถ้าพวกเขาอนุญาต ผมจะขอเอื้อมมือไปสัมผัสองค์พระธาตุด้วยตัวเองสักครั้งหนึ่ง

เหมือนเป็นนาทีที่เงียบงัน เหมือนทุกสิ่งในห้องนั้นอันตรธานหายไป เหลือเพียงผมกับสิ่งมหัศจรรย์ซึ่งอยู่เบื้องหน้า ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเจ้าหน้าที่มาเชิญพวกเราออกไป เนื่องจากเป็นเวลาอันสมควรแล้วที่จะปิดหอมณเฑียรแห่งนี้

ผมเดินลอยๆ ออกมาเหมือนกับว่าสติยังไม่ไดกลับเข้าสู่ตัว ตกลงนี่เป็นความฝันหรือความจริง เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสักครู่นี้ช่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

แต่ความอัศจรรย์ยังไม่หมด เมื่อพวกเราก้าวพ้นประตูหอมณเฑียรออกมา แล้วหันไปกล่าวขอบคุณทางเจ้าหน้าที่ของวัดเรียบร้อย ลุงมหินทร์รีบพูดอย่างตื่นเต้นกับพวกเราว่า “รู้ไหมว่าพระสงฆ์องค์ที่ยืนอยู่ด้านใน องค์ที่ยื่นดอกไม้ให้พวกเรานั้นเป็นใคร”

กระต่ายน้อยส่ายหน้า เช่นเดียวกันกับพี่ๆ ทั้งสองคนที่ไม่ได้ตอบอะไร จนกระทั่งคุณลุงมหินทร์ได้บอกพวกเราเป็นภาษาอังกฤษว่าพระสงค์รูปนั้น ถ้าเทียบกับในทางศาสนาคริสต์ ก็มีตำแหน่งเท่ากับ Pope หรือพระสันตปาปานั่นล่ะ

“หา… ! สมเด็จพระสังฆราชนี่นา” พี่กรู๊ฟอุทานเสียงดังจนชาวศรีลังกาที่ยืนอยู่บริเวณนั้นหันมามองเป็นตาเดียว

หลังจากตกอกตกใจได้ไม่นาน คุณลุงมหินทร์จึงพาพวกเราเดินต่อ เพื่อไปชมความสวยงามภายในบริเวณวัด ซึ่งได้จัดแสดงประวัติและความเป็นมาของพระธาตุเขี้ยวแก้วเอาไว้ ซึ่งบรรยายทั้งภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นที่เข้าใจง่ายและละเอียดเป็นอย่างมาก

ออกจากหอพระธาตุเขี้ยวแก้วแล้ว พวกเรามุ่งหน้าไปทางพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดแสดงช้างที่ถูกสตัฟฟ์เอาไว้ ว่าแต่… พี่ช้างเชือกนี้มีความสำคัญอย่างไรหนอ แล้วทำไมจึงต้องนำเขามาสตัฟฟ์ไว้ที่นี่ด้วยละ กระต่ายน้อยเริ่มเกิดความสงสัยขึ้นในใจ

 

ทิปการเดินทางจากกระต่ายน้อย 🙂

  • ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน ให้ตรวจสอบเวลาเปิด-ปิด ให้ดีเสียก่อน เพราะไหนๆ ก็อุตส่าห์ดั้นด้นไปจนถึงแล้ว แต่ถ้าไปไม่ทันเวลา ก็อาจจะอดเข้าชม น่าเสียดายเป็นที่สุด

 

อ่านตอนต่อไป  –

Don`t copy text!