เปิดหู เปิดตา… เปิดใจ ในศรีลังกา ตอนที่ 8 : จากหอพระธาตุ สู่หอพิพิธภัณฑ์

เปิดหู เปิดตา… เปิดใจ ในศรีลังกา ตอนที่ 8 : จากหอพระธาตุ สู่หอพิพิธภัณฑ์

โดย : อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีบทความอ่านเอาสบายอีกเพียบ อย่างซีรี่ย์สารคดีท่องเที่ยวศรีลังกาจากมุมมองของตุ๊กตาบันนี่กระต่ายน้อยชุดนี้ โดย อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์ ให้ได้ อ่านออนไลน์กันเพลินๆ 

——————————————————

 จองโรงแรมในเครือ  Accor Hotels ทุกการเข้าพักและชำระเงิน 

จะมียอดสนับสนุนเข้าสู่เว็บไซต์อ่านเอาของพวกเรา :)

คุณลุงมหินทร์เล่าคร่าวๆ ว่าช้างเชือกนี้มีความสำคัญกับชาวศรีลังกามาก เนื่องจากเป็นช้างเชือกที่พระธาตุเขี้ยวแก้วใช้เป็นพาหนะในการทำพิธี ‘เปราเฮร่า’ (Perahera)

พิธีเปราเฮร่านั้นจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคม ลุงมหินทร์บอกว่า น่าเสียดายที่พวกเราไม่ได้มาศรีลังกาในช่วงเวลานั้น ไม่อย่างนั้นจะได้เข้าร่วมพิธีเปราเฮร่านี้ด้วย

แต่จากที่กระต่ายน้อยดูจากภาพบรรยากาศของพิธีดังกล่าว เห็นว่ามีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวศรีลังกาเดินทางมาชมพิธีดังกล่าวกันมากมาย พลางคิดว่าถ้าขืนมาตอนนั้น มีหวังผมต้องถูกกองทัพคน (และช้าง) เหยียบแบบแต๊ดแต๋แหงๆ เลย ว่าแล้วก็หยุดคิดพิเรนทร์ แล้วหันไปฟังคุณลุงมหินทร์เล่าต่อ

เปราเฮร่าคืองานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วไปรอบเมืองแคนดี้ สมัยก่อนจะใช้ทำพิธีขอฝน จวบจนพระธาตุเขี้ยวแก้วได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังเมืองแคนดี้นี่ละ จึงค่อยๆ พัฒนา เปลี่ยนเป็นการแห่องค์พระธาตุเขี้ยวแก้วแทน

ขบวนแห่ยาวเหยียดจะเริ่มด้วยการแสดงเป็นชุดๆ ด้วยชาวศรีลังกาที่แต่งกายด้วยชุดสวยๆ แบบโบราณ มีการฟ้อนรำประกอบจังหวะดนตรี ซึ่งถูกเล่นผ่านเครื่องปี่พาทย์ โดยมีแตรและกลองเป็นเครื่องดนตรีหลัก

ส่วนที่สำคัญที่สุดของบวนแห่เปราเฮร่านั้นก็คือ ขบวนช้างเชือกสำคัญที่ใช้เป็นพาหนะนำเสด็จพระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งช้างเชือกนั้นจะถูกประดับประดาด้วยผ้าสีแดงเข้มปักลายดอกสีทองที่เมื่อต้องกับแสงไฟคบเพลิงแล้ว จะเกิดเป็นประกายระยับระยิบ

และแน่นอนว่าช้างตัวที่ถูกสตัฟฟ์และจัดแสดงเอาไว้ภายในหอพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก็คือช้างเชือกแรกที่ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้นั่นเอง

กระต่ายน้อยแอบมองไปที่ร่างของพี่ช้างไร้วิญญาณ แล้วก็อดชื่นชมในบารมีของเขาไม่ได้ นี่ละนะที่เขาว่า เมื่อตัวตาย คุณงามความดีที่เคยทำสมัยยังมีชีวิตอยู่จะเป็นสิ่งที่ผู้อื่นจดจำ ผมก็ได้แต่หวังให้วิญญาณของพี่ช้าง จงพบแต่ความสุขอยู่ที่ไหนสักแห่งก็แล้วกันนะฮะ

 

จากสงบในวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว สู่ความวุ่นวายใจกลางเมืองแคนดี้

หลังจากใช้เวลาชื่นชมกับความงดงามของวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วอยู่เกือบ 3 ชั่วโมง ท้องของผมก็ส่งเสียงร้องจ๊อกๆ เป็นการโอดครวญให้พี่ๆ ได้ยินว่าผมหิวขนาดไหน พวกเราจึงตัดสินใจหาอะไรกินง่ายๆ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องอยู่ในใจกลางเมืองแคนดี้เท่านั้น เพราะเราจะได้เดินกระทบไหล่ชาวศรีลังกากันบ้าง

คุณลุงมหินทร์พาพวกเรามาปล่อยที่ย่านธุรกิจใจกลางเมือง ซึ่งมีร้านค้าต่างๆ ทั้งร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงสถานที่ราชการต่างๆ มากมาย

พวกเราตัดสินใจเข้าร้านไก่ทอดชื่อดัง ยี่ห้อเดียวกันกับที่บ้านเรามี ด้วยเพราะพี่กรู๊ฟรู้สึกว่าเรากินแต่แกงกะหรี่มากจนเกินไปแล้ว ขอกินอาหารธรรมดาๆ บ้าง (ผมว่าพี่กรู๊ฟคงเริ่มเบื่อ เลยหาข้ออ้าง แต่ผมก็รู้สึกอย่างเดียวกัน เลยไม่ได้ทักท้วงแต่อย่างใด) เมื่อหลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จเรียบร้อย ก็ถึงเวลาเดินย่อย ตะลุยใจกลางเมืองแคนดี้กันแล้วละ

เมืองแคนดี้เป็นเมืองขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 500 เมตร เป็นเมืองที่ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกอีกแห่งหนึ่งของศรีลังกา และเมืองนี้คือเมืองหลวงแห่งสุดท้ายของกษัตริย์สิงหล ก่อนจะเสียดินแดนให้กับอังกฤษในช่วงปี ค.ศ. 1815 และเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีประธานาธิบดีเป็นผู้บริหารประเทศ และย้ายเมืองหลวงไปที่โคลอมโบในภายหลังที่ได้รับเอกราช

แต่เดิมเมืองแคนดี้ ถูกเรียกว่า ‘สิงหขันธนคร’ ซึ่งคำว่า ‘ขันธะ’ ก็หมายถึงภูเขา ส่วนคำว่า ‘สิงหะ’ และ ‘นคร’ นั้นคงไม่ต้องอธิบายกันใช่ไหมฮะ และเมื่อถูกอังกฤษเข้ายึดครอง คำว่า ‘ขันธะ’ จึงถูกออกสำเนียงตามภาษาของพวกฝรั่งว่า ‘แคนดิ’ หรือ ‘แคนดี้’ นั่นเอง 

ด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนาที่เข้มแข็งและยังคงบริสุทธ์ในประเทศศรีลังกา วัดวาอารามต่างๆ ในเมืองนี้ (รวมถึงเมืองอื่นๆ ด้วย) จึงยังคงรักษาขนบประเพณีของชาวพุทธเอาไว้ได้เป็นอย่างดี และที่เมืองนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพุทธศาสนิกชนในศรีลังกาและทั่วโลก เพราะเป็นที่ตั้งของวัดธาตุพระเขี้ยวแก้ว ที่ซึ่งเราเพิ่งไปชมมาเมื่อสักครู่นั่นเอง 

เนื่องจากเมืองแคนดี้มีความสูงกว่า 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และมีลักษณะเป็นเมืองบนขุนเขา ที่นี่จึงมีอากาศเย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี ส่วนอาคารบ้านเรือนก็ไม่แออัดมากนั้น นั่นเป็นเพราะส่วนหนึ่งนิยมไปสร้างที่พักอยู่ยังบริเวณเชิงเขา เหมือนกับโรงแรม Randholi ที่เราเพิ่งไปพักมาเมื่อคืนนั่นละ

เราเดินไปตามถนนเพื่อมองดูร้านค้าสองข้างทาง ด้วยความเพลิfเพลิน ตอนแรกผมก็ตั้งใจจะหาซื้อของที่ระลึกไปฝากเพื่อนๆ กระต่ายของผมบ้าง แต่ยิ่งเดินก็ยิ่งเหนื่อยแถมยังไม่พบของอะไรที่น่าสนใจ มารู้ภายหลังว่าร้านค้าซึ่งขายของที่ระลึกนั้นไม่ได้อยู่ยังบริเวณนี้ แต่ไปอยู่อีกถนนหนึ่ง เป็นทางเดียวกับที่เราจะเดินทางกลับไปยังโคลอมโบนั่นล่ะ ซึ่งคุณลุงมหินทร์จะพาเราไปหลังจากนี้ โธ่… แล้วปล่อยให้ผมเดินเสียจนขาลาก

 

จากเมืองแคนดี้ สู่โคลอมโบ

หลังจากเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า (แต่สนุกและไม่เสียสตางค์เลยสักรูปีเดียว) พวกเราก็เดินกลับไปยังอาคารจอดรถ ที่ซึ่งนัดหมายกับคุณลุงมหินทร์ คนขับรถของเราเอาไว้ เพื่อที่จะได้อำลาเมืองแคนดี้ กลับไปยังเมืองโคลอมโบเสียที และระหว่างทางไปยังโคลอมโบ คุณลุงมหินทร์ได้พาเราไปช้อปปิ้งยังร้านค้าที่ขายของที่ระลึก ซึ่งมีมากมายตลอด 2 ฝั่งทาง

ของที่ระลึกของที่นี่นั้นอาจจะไม่ได้ดูหวือหวาหรือตระการตาเหมือนเวลาเราไปเที่ยวที่อื่น ส่วนใหญ่ก็เป็นของที่ทำจากไม้ จำพวกหน้ากาก ซึ่งใช้ในการแสดงนิทานพื้นบ้าน

หน้ากากบางอันหน้าตาน่ากลัวจนผมแอบตกใจเมื่อเดินเข้าไปใกล้ แต่บางอันก็น่ารัก ผมเลยอ้อนให้พี่กรู๊ฟซื้ออันเล็กๆ 4-5 อันเพื่อเอากลับมาฝากเพื่อนๆ ด้วย

นอกจากนั้นก็ยังมีของจำพวกผ้าไหม โสร่ง และส่าหรี ซึ่งพวกเรา 3 หนุ่มไม่มีใครสนใจเลยแม้แต่นิดเดียว เนื่องจากดูไม่เป็น และคนที่บ้านกำชับนักหนาว่าไม่ต้องซื้อผ้าไหมหรืออะไรไปฝาก เพราะเชื่อว่าพวกเราเลือกผ้าสวยๆ ไม่เป็นกันแน่ๆ

อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือของที่เป็นรูปช้าง ซึ่งจำลองมาจากช้างทรง เชือกที่ใช้ในการประกอบพิธีแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วนั่นละ ผมเห็นมีทั้งช้างไม้ ช้างโลหะ รวมถึงตุ๊กตาช้างที่แต่งองค์ทรงเครื่องเสียเต็มยศ เหมือนกันตอนที่ประกอบพิธีเปราเฮร่านั่นล่ะ ซึ่งพี่โอ๊ตเกิดติดใจในความน่ารักเลยตัดสินใจซื้อมาตัวหนึ่งในราคา 1,200 รูปี ตกเป็นเงินไทยก็ประมาณ 350-400 บาทเท่านั้นเอง

หลังจากพยายามจัดการเงินรูปีที่มีอยู่ในกระเป๋า หมดไปกว่า 10,000 รูปี พวกเราก็มุ่งหน้าเดินทางไปสู่โคลอมโบทันที โดยมีคุณลุงมหินทร์ขับรถ ส่วนผม พี่โอ๊ต และพี่กรู๊ฟนั้นทำหน้าที่ “หลับ” ไปตลอดเส้นทาง

ระหว่างทาง คุณลุงมหินทร์จอดรถให้พวกเราหยุดพักลงไปยืดเส้นยืดสาย ก่อนที่จะเสนอความเห็น ว่าอันที่จริงแล้วบ้านของคุณลุงมหินทร์ซึ่งอยู่ที่เมือง Maimbula นั้น อยู่ใกล้กับสนามบินมากกว่าเมืองโคลอมโบเสียอีก และใช้เวลาเดินทางจากที่บ้านไปยังสนามบินเพียง 45-50 นาทีเท่านั้น ต่างจากโคลอมโบซึ่งต้องใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง

ไหนๆ พวกเราก็ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องกลับไปยังโคลอมโบอยู่แล้ว และไม่มีที่จะพักเพื่ออาบน้ำหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าด้วย ถ้าไม่รังเกียจ คุณลุงมหินทร์อยากเชิญพวกเราไปที่บ้านเพื่อรู้จักกับครอบครัวของเขาแทน

“โห… ไม่รังเกียจเลยฮะ” ผมรีบตอบรับโดยไม่ฟังความเห็นของคนอื่นๆ แหม… นาทีนี้ ถ้าได้อาบน้ำ ได้นอนแผ่สบายๆ แทนที่จะต้องมานั่งอยู่ในรถแบบนี้ เป็นใครจะปฏิเสธกันเล่า และพี่ๆ ทั้งสองคนก็ตอบตกลงอย่างว่าง่าย ไม่มีใครคัดค้านแม่แต่นิดเดียว

คุณลุงมหินทร์ใช้เวลาไม่นานก็พาเราลัดเลาะเข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งอยู่เข้าไปลึกพอสมควร บ้านของลุงมหินทร์นั้นดูเรียบง่าย ตามแบบฉบับของชาวศรีลังกา พอเราไปถึงภรรยาของคุณลุงและลูกชายทั้งสามคนก็มารอต้อนรับพวกเราด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มและเป็นมิตร

หลังจากที่ปล่อยให้พวกเราอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าเรียบร้อยแล้ว ก็ชักชวนเรามานั่งคุยเรื่องสัพเพเหระต่างๆ เพราะชาวศรีลังกาเองก็อยากรู้จักประเทศไทย พวกเขาถามถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนไทย ภูมิอากาศ อาหาร และแน่นอนว่าไม่พลาดที่จะถามถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งพวกเขารู้ว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก ซึ่งคนไทยเคารพรักเป็นอย่างมาก

จากนั้นก็ชวนพวกเราทานอาหารค่ำ ซึ่งภรรยาของคุณลุงปรุงอย่างสุดฝีมือ นั่นก็คือแกงกะหรี่ไก่และเครื่องเคียงต่างๆ อีก 5-6 อย่าง

หลังจากท้องอิ่มก็ถึงเวลาเดินทางไปสนามบินแล้ว พวกเขาบอกว่าถ้ามีโอกาสมาเที่ยวศรีลังกาอีกในคราวหน้า ก็ไม่ต้องไปพักที่โรงแรมแล้ว ให้มาพักกับพวกเขาได้เลย และเดี๋ยวพวกลูกๆ จะอาสาเป็นคนพาพวกเราไปเที่ยวเอง… กระต่ายน้อยอย่างผมก็ได้แต่ตื้นตันใจในมิตรภาพของเพื่อนใหม่ชาวศรีลังกาที่มีให้กับพวกเราจริงๆ

และแล้วการเดินทางผจญภัยในประเทศศรีลังกาตลอด 5 วัน 5 คืน ของพวกเราก็กำลังจะจบลง เมื่อพวกเราเดินทางมาถึงสนามบินบันดราไนยเก คุณลุงมหินทร์บอกลาพวกเรา และให้พวกเราสัญญาว่าถ้ามีโอกาสจะต้องกลับมาเยี่ยมเขาอีก และแน่นอนว่าเราทุกคนก็ตอบตกลง

ระหว่างนั่งรอขึ้นเครื่องบินเที่ยวตีหนึ่งครึ่ง ผมพลางคิดทบทวนถึงประสบการณ์ตลอดหลายวันที่ผ่านมา แล้วผมก็พบว่า ความรู้สึกที่ผมมีต่อประเทศซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ที่ตั้งบนคาบสมุทรอินเดียแห่งนี้ ไม่ได้เป็นอย่างที่ผมคิดเอาไว้ตอนแรกเลยแม้แต่น้อย

ที่นี่ไม่ใช่เมืองแขกที่หลายคนนึกกลัว ผู้คนมีอัธยาศัยดีและเป็นมิตร รวมทั้งมีรอยยิ้มเจืออยู่บนใบหน้าทุกที ที่พบหน้ากัน ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพก็ไม่แพง ผู้คนส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้และสำเนียงก็ฟังง่ายเสียด้วย ที่สำคัญ หากใครที่ชอบท่องเที่ยวเมืองที่รุ่มรวยไปด้วยประวัติศาสตร์ และความงดงามของวัดวาอารามตามแบบฉบับของศาสนาพุทธ ที่นี่น่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเลยละฮะ

เสียงเจ้าหน้าที่สายการบินประกาศเรียกผู้โดยสารเที่ยวบิน UL888 แล้ว ถึงเวลาที่พวกเราจะเดินทางกลับบ้านเสียที ผมมองออกไปนอกหน้าต่างเพื่ออำลาประเทศศรีลังกา-ไข่มุกแห่งคาบสมุทรอินเดียเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ตาทั้งข้างของผมจะค่อยๆ หรี่ลงๆ และหลับไปในที่สุด

 

ทิปการเดินทางจากกระต่ายน้อย 🙂

  • หากมีโอกาสไปท่องเที่ยวที่ใดก็ตาม เราควรจะเปิดหู เปิดตา และเปิดหัวใจเพื่อต้อนรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะได้พบ ได้สัมผัส อย่าตั้งความหวังหรือมีอคติ เพื่อที่เราจะได้ท่องเที่ยวเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเรียนรู้จากวัฒนธรรมของสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสนุกและมีความสุขมากที่สุดฮะ

 

จบบริบูรณ์

Don`t copy text!