ยลศิลป์ไทยในต่างแดน

ยลศิลป์ไทยในต่างแดน

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

“แทนที่จะเน้นโชว์แต่ศิลปะจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองเพียงอย่างเดียว

เขากลับรวบรวมเอาผลงานศิลปะจากหลายๆ ชาติมาจัดแสดงไว้ให้ครบจบในที่เดียว

แล้วตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางทางศิลปะของภูมิภาคนั้นๆ ไปซะเลย”

 

โอ๋… อย่าน้อยใจเลย ถ้าหากไปเดินดุ่มๆ ดูพิพิธภัณฑ์ในเมืองนอกแล้วหาผลงานศิลปะสมัยใหม่ฝีมือคนไทยไม่เจอเลยสักชิ้น เรื่องพรรค์นี้ต้องนึกถึงใจเขาใจเรา อยู่บ้านเขา เขาก็อยากโชว์ของของบ้านเขาก่อนเป็นธรรมดา เรื่องอะไรจะมาโชว์ของบ้านเราให้เด่นเกินหน้าเกินตา จริงรึเปล่า

แต่ก็ไม่ใช่ทุกพิพิธภัณฑ์จะคิดแบบนี้เสมอไป เพราะบางแห่งเขาคิดใหญ่ทำใหญ่ทำอะไรข้ามเสต็ป แทนที่จะเน้นโชว์แต่ศิลปะจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองเพียงอย่างเดียว เขากลับรวบรวมเอาผลงานศิลปะจากหลายๆ ชาติมาจัดแสดงไว้ให้ครบจบในที่เดียว แล้วตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางทางศิลปะของภูมิภาคนั้นๆ ไปซะเลย

ในทวีปเอเชีย พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้าแบบนี้ยังมีอยู่ไม่กี่แห่ง และเจ้าที่คิดริเริ่มก่อนเพื่อนเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วก็น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียที่ตั้งอยู่ในเมืองฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ครั้งแรกที่เราดั้นด้นไปดูให้เห็นกับตา จำได้แม่นว่าหลงทางเละเทะอยู่พักใหญ่ ประเทศนี้ป้ายภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาญี่ปุ่นนั้นแทบจะไม่มี จะถามทางจากพี่ยุ่นด้วยภาษาอังกฤษก็ไม่มีใครฟังรู้เรื่อง จะใช้ภาษาใบ้ก็ไม่รู้ว่าถ้าจะหาทางไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะต้องทำท่าอะไร โชคยังดีที่มีกูเกิ้ลคอยบอกทางเลยนำไปถึงหน้าประตูพิพิธภัณฑ์จนได้ แต่แม้ว่าจะไปถึงแล้วเราก็ยังคิดว่าตัวเองหลงทางอยู่ดี เพราะพิพิธภัณฑ์นั้นซ่อนอยู่ในอาคารที่ดูเหมือนตึกออฟฟิศ ถ้าอยากดูงานศิลปะต้องกดลิฟต์ขึ้นไปที่ชั้น 7 ถึงจะเจอ จากที่เห็นแค่ภายนอก บอกตามตรงว่าไม่ประทับใจเท่าไร แต่พอประตูลิฟต์เปิดส่งเราที่ชั้นพิพิธภัณฑ์เท่านั้นแหละ แวบแรกที่เห็นข้างในต้องบอกเลยว่าไม่ธรรมดา ชั้น 7 ทั้งชั้นรวมถึงอีกสองสามชั้นถัดขึ้นไปถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีเพื่อใช้หมุนเวียนจัดแสดงผลงานศิลปะมากกว่า 3,000 ชิ้นที่รวบรวมมาจาก 23 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเซีย อันรวมถึงผลงานศิลปะที่เห็นแล้วน้ำลายหกจากเมืองไทยก็มีเก็บไว้ เช่น รูปปั้น ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ ของ เขียน ยิ้มศิริ, ภาพคนร่ายรำบูชายัญสีสันสดใสของ ถวัลย์ ดัชนี สมัยที่เรียนจบศิลปากรใหม่ๆ, ภาพต้นตาลพลิ้วไสวลู่ลมพิมพ์นิยมของ ทวี นันทขว้าง, ภาพน้ำค้างบนใบบัวของ ประเทือง เอมเจริญ, บาตรพระของ มณเฑียร บุญมา, ภาพหน้าตัวเองชุดแรกๆ ของ ชาติชาย ปุยเปีย, และชิ้นเด็ดๆ อื่นๆ อีกเพียบ เรียกได้ว่าญี่ปุ่นเขาเลือกเป็น ซื้อเป็น ไม่มั่วซั่ว

“JUST NOT A FLOWER” เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 110 x 90 เซนติเมตร ศิลปิน สมโภชน์ อุปอินทร์

ยลศิลป์จนอิ่มอกอิ่มใจแล้ว ก่อนกลับเราจึงแวะซื้อของกระจุกกระจิกที่ร้านขายของในพิพิธภัณฑ์เพื่อขนเอามาฝากญาติมิตร ที่นั่นเขานำงานศิลปะที่มีมาทำเป็นลวดลายใส่ในหมวก ร่ม ปากกา โปสต์การ์ด จาน ชาม หม้อ ไห หรือแม้แต่กางเกงใน ญี่ปุ่นนี่เขาทำอะไรก็ดูน่ารักคิกขุอาโนเนะไปหมด เงินเยนในกระเป๋าสตางค์เราก็เลยมลายหายไปหมดเช่นเดียวกัน

จากญี่ปุ่นบินลัดฟ้าลงใต้มาที่สิงคโปร์ เกาะเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอะไรมากมาย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะด้วยมันสมองและสองมือ เขาก็พัฒนาตัวเองจนใกล้จะกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อยู่มะรอมมะร่อแล้ว นอกจากเรื่องค้าขายเงินๆ ทองๆ เรื่องการท่องเที่ยวเขาก็จัดหนัก จะมัวแต่สร้างห้างติดแอร์เย็นฉ่ำให้คนมาช้อปปิ้งเหมือนอย่างสมัยก่อนก็ใช่เรื่อง เพราะยุคนี้สมัยนี้ ของแบรนด์ไหนก็มีขายทั่วโลกเหมือนกันหมด แถมนอนเกาพุงอยู่บ้านซื้อของออนไลน์ได้ ง่ายจะตาย ประเทศที่เจริญแล้วเขาเลยเน้นชูศิลปวัฒนธรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเป็นหน้าเป็นตาของประเทศชาติมากกว่า

ผลงานศิลปะของถวัลย์ ดัชนี ที่จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียในเมืองฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น (ภาพจากโปสการ์ดที่ระลึกพิพิธภัณฑ์บ้านดำ)

คราวนี้พอรัฐบาลสิงคโปร์คิดสรตะจะสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะเจ๋งๆ ขึ้นมาแล้ว ก็ดันติดประเด็นตรงที่ว่าสิงคโปร์ไม่ได้มีศิลปินมากมายพอที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ให้ใหญ่โตดึงดูดคนดูจากทุกสารทิศได้ รัฐบาลเลยใจป๋า อนุมัติงบเพื่อมากว้านซื้อผลงานศิลปะจากชาติเพื่อนบ้าน ขนกันมาโชว์ให้ครบครัน แล้วก็ตั้งตัวเองให้เป็นศูนย์กลางทางศิลปะสมัยใหม่ของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ให้รู้แล้วรู้รอด

หลายปีที่แล้วก่อนที่พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่นี้จะเปิด เรามีโอกาสได้เลี้ยงข้าวทีมภัณฑารักษ์จากสิงคโปร์ที่มาตระเวนหาข้อมูลและไล่ซื้องานศิลปะจากเมืองไทย คุยไปคุยมาก็รู้สึกได้ทันทีว่าความรู้เกี่ยวกับศิลปินไทยที่เขามีนั้นแน่นปึ้ก เราเลยถามด้วยความสงสัยว่าศิลปินไทยหลายๆ คนข้อมูลก็สุดจะหายาก กดเสิร์ชในเน็ตก็ไม่เจอ ต่อให้มีอยู่บ้างก็อยู่ในหนังสือเก่าเก็บไม่กี่เล่มที่เป็นภาษาไทย แล้วพวกคุณจะรู้รายละเอียดชีวิตและผลงานของคนเหล่านี้ได้อย่างไร? เขาตอบด้วยความมั่นใจว่า หนังสือหนังหาหรือบทความที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าเกี่ยวข้อง เขาได้จัดการรวบรวม จ้างแปล และอ่านจนครบจบหมดแล้ว แค่นั้นยังไม่พอ ทีมงานลอดช่องยังไปตามสัมภาษณ์ศิลปินคนที่เขาสนใจตัวเป็นๆ ในทุกประเด็นที่อยากรู้ หรือถ้าศิลปินลาโลกไปแล้วไม่อยู่ให้ถาม เขาก็ไปตามพูดคุยกับลูกกับเมียจนรู้เรื่องราวตื้นลึกหนาบาง อะไรมันจะขยันขนาดนั้น ฟังดูแล้วเหนื่อยแทน

ครั้งนั้นทีมงานสิงคโปร์ไม่ได้เพียงทำเรากระอักด้วยความรอบรู้ แต่ยังทำเรากระอักแทบสำลักน้ำแกงด้วยความใจกล้าบ้าบิ่นทุ่มเงินซื้อผลงานศิลปะไทยชิ้นที่เขาคัดสรรมาแล้วว่าสุดยอดในราคาบรมแพงประมาณสามเท่าห้าเท่าจากที่เราเคยเห็น ราคาผลงานศิลปะของศิลปินไทยขวัญใจสิงคโปร์อย่าง เฟื้อ หริพิทักษ์, ประสงค์ ปัทมานุช, สมโภชน์ อุปอินทร์, จ่าง แซ่ตั้ง ฯลฯ เลยขึ้นพรวดพราดค้างเต่ออยู่จนถึงทุกวันนี้ ทำเอาเราไม่มีปัญญาหามากอดได้ในราคาเหมือนเมื่อวันวาน แต่ยังไงลึกๆ ก็แอบดีใจที่เห็นต่างชาติมาช่วยติดจรวดให้ราคาผลงานศิลปะไทยทะยานไกลจนใกล้จะถึงดวงดาว

ผลงานศิลปะของสมโภชน์ อุปอินทร์ ที่จัดแสดงอยู่ ณ หอศิลป์แห่งชาติ ประเทศสิงคโปร์ (ภาพจากหนังสือ สมโภชน์ อุปอินทร์ 1934-2013)

งบประมาณในการซื้อผลงานศิลปะของสิงคโปร์ไม่รู้มีมากมายเท่าไร เพราะพอถามไปเขายังเฉไฉไม่ยอมตอบ แต่งบประมาณการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่เขาจะเรียกชื่อว่า ‘เนชั่นแนล แกลเลอรี’ อันแปลว่าหอศิลป์แห่งชาตินี้ เขาเปรยมาว่ามีอยู่ไม่มาก แค่ 500 กว่าล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือหมื่นกว่าล้านบาทไทยเอง ได้ยินดังนั้นเราเลยหูผึ่ง ปลากะพงทอดน้ำปลาแทบจะพุ่งพรวดออกจากปาก ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันหายจากอาการสำลักความใจกล้าเมื่อห้านาทีก่อน

เพื่อเนรมิศหอศิลป์แห่งชาติขึ้นมานี้ สิงคโปร์เขาไม่ได้สร้างตึกใหม่ แต่ใช้วิธีปรับปรุงอาคารศาลาว่าการเมือง และอาคารศาลฎีกาหลังเบ้อเริ่มเทิ่มที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคโคโลเนียลเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วให้เชื่อมเข้าด้วยกันด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ พอสร้างเสร็จก็เลยดูทั้งขลังทั้งทันสมัยในเวลาเดียวกัน

ในที่สุดหอศิลป์แห่งใหม่นี้ก็เปิดเมื่อปลายปี พ.ศ. 2558 เพราะกลัวจะตกเทรนด์เราเลยต้องรีบจองตั๋วบินไปดูให้รู้ว่าเป็นยังไง พอได้เห็นแล้วต้องสารภาพตามตรงว่าโอ่อ่าอลังการมากจนเพื่อนบ้านอย่างเรามีหนาว ณ หอศิลป์มาตรฐานโลกแห่งนี้เราได้พบกับผลงานศิลปะจากเมืองไทยถูกจัดแสดงไว้หลายชิ้น เท่าที่จำได้ก็เช่น พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝีมือ พระสรลักษณ์ลิขิต, ภาพหน้าคนในสไตล์คิวบิสม์ของ เฟื้อ หริพิทักษ์, รูปปั้นแม่อุ้มลูกของ สมโภชน์ อุปอินทร์, ภาพสะท้อนการเมืองชื่อ ‘ผักบุ้งแดง ปืนเน่า’ ของ ประเทือง เอมเจริญ, ภาพนักกล้ามของ อังคาร กัลยาณพงศ์, ชามก๋วยเตี๋ยวเรียงซ้อนกันเป็นกำแพงล้อมรอบโต๊ะจีนของ มณเฑียร บุญมา, ผลงานยุคเริ่มแรกของ ชาติชาย ปุยเปีย และ ประสงค์ ลือเมือง แต่ละชิ้นนี่ทำเอาเราหยุดยืนดูได้พักใหญ่ เพราะที่เขาเลือกมาล้วนเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่หาดูได้ยากแทบทั้งสิ้น นับว่ามาถูกทางเป็นอย่างยิ่ง

ที่หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ เขายังคอยจัดนิทรรศการหมุนเวียนเอาของชิ้นใหม่ๆ สลับมาโชว์อยู่เรื่อยๆ คนดูจะได้ไม่เบื่อ มาดูแล้วก็จะมาดูซ้ำได้ และที่เราว่าฉลาดสุดๆ คือไอเดียการจัดนิทรรศการหนึ่งที่เขาเพิ่งจัดไป ในครั้งนั้นเขาเอาผลงานศิลปินชั้นแนวหน้าของอาเซียน ไปจัดแสดงคู่กับผลงานศิลปินชั้นแนวหน้าของโลกที่ทางสิงคโปร์ไปยืมมาจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ปอมปิดูในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นิทรรศการครั้งนั้นโลกเลยได้เห็นภาพวาดฝีมือ สมโภชน์ อุปอินทร์, ประสงค์ ปัทมานุช, จ่าง แซ่ตั้ง แขวนเคียงบ่าเคียงไหล่ประชันกับภาพวาดฝีมือ ปาโบล ปีกัสโซ, อองรี มาติส, มาร์ก ชากัลล์ ที่รวมๆ กันแล้วมีมูลค่ามากกว่าตึกพิพิธภัณฑ์เสียอีก ไม่ได้จะยกยอให้เกินจริง แต่ถ้าลองไปเดินดูแล้วไม่มองป้ายชื่อให้บิลด์กันไปเอง เราว่าผลงานชิ้นเยี่ยมที่เห็นอยู่ตรงหน้า ไม่ว่าของเราหรือของฝรั่งนั้นดูสูสีกินกันไม่ลง การเอามาแขวนเทียบกันแบบที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนอย่างนี้ ช่วยยกระดับให้ศิลปะของอาเซียนดูมีคุณค่าขึ้นอีกมากโข ผลงานศิลปะไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่สิงคโปร์ได้มาก่อนหน้านี้ต่อให้เสียเงินไปมากแค่ไหน ก็พลันดูโคตรถูกไปเลยสำหรับของอะไรที่สามารถจะต่อกรกับภาพวาดระดับโลกที่มีราคามากกว่าเป็นพันเท่าหมื่นเท่าไหว

ผลงานศิลปะของ สมโภชน์ อุปอินทร์ และ ประสงค์ ปัทมานุช จัดแสดงร่วมกับผลงานของศิลปินระดับโลก ณ หอศิลป์แห่งชาติ ประเทศสิงคโปร์ (ภาพจาก หนังสือ Reframing Modernism)

ย้อนมองดูพี่ไทยเราบ้าง อย่าเพิ่งไปวาดฝันว่าเราจะได้ไปกวาดซื้อผลงานศิลปะของประเทศเพื่อนบ้านแล้วตั้งตัวเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเลย เพราะกว่าจะถึงวันนั้นผลงานศิลปะชิ้นเด็ดๆ ที่เคยซื้อหากันได้คงจะราคาขึ้นไปไกลจนเราซื้อกันไม่ไหวแล้ว ที่เราพอจะฝันได้ในวันนี้คือให้รัฐบาลลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ที่เก็บเฉพาะผลงานศิลปะของไทยเอาไว้ให้ครบๆ ดีๆ มีมาตรฐานไม่อายใคร และที่สำคัญ ขอแบบที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยทั้งเทศไปง่ายหน่อยด้วยรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ไม่ใช่อะไรๆ ก็รังสิต ปทุมธานี ที่ถ้าคนไม่บ้าศิลปะจริงๆ หรือครูไม่บังคับให้ไปทำรายงาน ก็คงไม่ถ่อสังขารเหมารถไป

ถ้ารัฐบาลตั้งใจจะทำให้เด็ดๆ แต่งบประมาณยังขาดๆ ก็ลองไปคุยกับบริษัทบิ๊กเบิ้มในประเทศที่มีงบซีเอสอาร์ไว้ช่วยเหลือสังคมปีละสิบล้านร้อยล้านดู ขนาดหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ที่มีงบเป็นหมื่นล้านเขายังมีแบรนด์ธนาคารมาสปอนเซอร์งบให้เลย และเพื่อตอบแทนน้ำใจ หอศิลป์เขาก็เลยตั้งชื่อห้องจัดแสดงให้ตามชื่อธนาคาร แถมยังยอมให้แปะโลโก้หราโชว์ชาวประชาให้เห็นกันไปตลอดชั่วกัลปาวสานอีกต่างหาก ดูยั่งยืนและฉาบฉวยน้อยกว่าเอางบไปแจกขนมเก็บขยะเป็นไหนๆ

ส่วนเรื่องผลงานศิลปะที่จะนำมาโชว์ เรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะใครๆ ก็รู้ว่าผลงานดีๆ ที่หลวงหมกไว้ในคลังแล้วไม่ได้นำออกมาจัดแสดงนั้นมีอยู่เพียบ ถ้ายังไม่พอก็ขอยืมจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เพาะช่าง เขาก็ไม่น่าจะว่าอะไร ยิ่งหากพิพิธภัณฑ์มีมาตรฐานในการเก็บรักษาและดูแลความปลอดภัยสูงพอที่จะทำให้ ศิลปิน ทายาทศิลปิน และนักสะสมอุ่นใจได้ เชื่อว่าท่านเหล่านี้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีก็ยินดีจะช่วยส่งผลงานมาจัดแสดงให้เต็มพรึ่บไปหมด ดีไม่ดีถ้าพิพิธภัณฑ์สามารถเทคแคร์ของที่เขารักได้เป็นที่น่าพอใจ พาลจะมีคนใจป้ำยกคอลเล็กชันให้ฟรีๆ แลกกับการมีชื่อแปะไว้เป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูลยันหลานเหลน เพราะถ้าขืนแขวนไว้กับบ้าน วันดีคืนดีตายไป มีหวังทายาทเอาไปขายกินหมด

ในวันข้างหน้า ถ้าหากฝันที่วาดไว้ได้เกิดขึ้นจริง เวลามีเพื่อนต่างชาติมาเมืองไทย จะรีบพาไปดูพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ที่ใหญ่โตโอ่อ่า กล่อมให้เขาเคลิ้มว่าศิลปะไทยมีความพิเศษอย่างไร ภูมิใจที่ได้ชี้โบ๊ชี้เบ๊ให้ดูว่าชิ้นนั้นชิ้นนี้เราไม่งกยกให้ เจริญตาเจริญใจกว่าพาเขาไปเดินช้อปของก๊อปแล้วไปดูระบำจิ๊มิมหัศจรรย์เปิดฝาเบียร์เยอะ ถึงเพื่อนจากต่างแดนจะชอบก็เถอะ

 

Don`t copy text!