แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ

แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

“ไม่อาจหาญเสนอตนเท่าเทียมผู้อื่น เพราะน้อยปัญญา ศึกษาเพียงอนุปริญญาทางศิลป์

มิได้มีบารมี เช่นเขาอื่น

เพียงเผชิญชีวิตในเมืองไทยบ้านเกิด และอาจเป็นเมืองตาย

ได้แต่ปลอบใจตนเองด้วยคติเต๋าที่ว่า

ผู้อยู่ในห้อง ก็อาจรู้โลกภายนอกได้”

 

ศิลปะกับเรื่องดราม่าเป็นของคู่กัน ผลงานศิลปะที่ดูดีมีสไตล์ ถ้าศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนั้นๆ มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจก็จะยิ่งเกื้อหนุนกันไปใหญ่ อย่างผลงานของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ ศิลปินชื่อกระฉ่อนโลกชาวดัตช์ที่วาดด้วยสีหนาๆ เป็นก้อนๆ นั้น ถ้าดูเผินๆ แบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรก็สวยดี แต่พอได้รู้ว่าทั้งชีวิตแวนโก๊ะนั้นทุ่มเทบูชาศิลปะ ตั้งหน้าตั้งตาวาดภาพทั้งวี่ทั้งวันทั้งๆ ที่ขายผลงานไม่ได้เลยซักกะชิ้น อดอยากปากแห้งแต่ก็ยังพอประทังชีวิตอยู่ได้เพราะมีน้องชายคอยช่วยเหลือ วันดีคืนดีเครียดจัดตัดหูตัวเองส่งไปรษณีย์ มิหนำซ้ำต่อมาก็นึกครึ้มอกครึ้มใจอะไรไม่รู้เดินไปยิงตัวตายอยู่ในทุ่ง เพราะมีชีวิตที่ไม่ธรรมดายิ่งทำให้ผลงานศิลปะนั้นดูพิเศษมากขึ้นอีกโข ที่เกริ่นมาแบบนี้เพราะครั้งนี้คันไม้คันมืออยากจะเล่าถึงศิลปินไทยท่านหนึ่งที่มีชีวิตที่ตกระกำลำบากไม่ต่างจากแวนโก๊ะ แถมยังเลือกที่จะถ่ายทอดความทุกข์ยากที่ประสบพบเจอออกมาเป็นภาพวาดสีหนาเตอะจนได้รับฉายาว่า ‘แวนโก๊ะเมืองไทย’

“ทุ่งนา” เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 63×63 เซนติเมตร

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 สองสามีภรรยาชาวจีน นายยิ้มถิ่นกวง และ นางยี แซ่หยิ่ม ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อมาทำงานในเมืองไทย ได้ให้กำเนิดบุตรชายและตั้งชื่อว่า ซิวเจียง แซ่หยิ่ม ที่ย่านบางคอแหลม เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ครอบครัวเล็กๆ ที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูกสาวคนโต และลูกชายคนสุดท้อง มีอันต้องระหกระเหินแยกทางกันไปเมื่อพ่อและแม่เดินทางกลับเมืองจีน และเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ไม่รู้เพราะหลังจากนั้นลูกๆ ก็ไม่ได้ข่าวคราวจากท่านทั้งสองอีกเลย พี่สาวซึ่งขณะนั้นมีอายุประมาณ 20 เลยต้องรับภาระแทนทั้งพ่อทั้งแม่ดูแลเลี้ยงน้องซิวเจียง ซึ่งเพิ่งจะมีอายุได้เพียง 10 ขวบเศษๆ ด้วยความรักที่มีต่อน้อง พี่สาวเลยต้องมุมานะทำงานหนักเกินตัวเพื่อส่งเสียน้องให้ได้รับการศึกษาที่ดี ซิวเจียงเลยได้เรียนหนังสือจนจบ ม.6 ในช่วงวัยมัธยมนี้เองที่เด็กชายซิวเจียง แซ่หยิ่ม ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สุเชาว์ ยิ้มตระกูล

สุเชาว์อดๆ อยากๆ มาตั้งแต่เล็ก ถึงพี่สาวจะพยายามทำงานหาเงินมาเลี้ยงน้อง แต่ก็ยังไม่ค่อยจะพอ ทั้งคู่เลยต้องพากันอดมื้อกินมื้ออยู่กันไปแบบตามมีตามเกิด พอสุเชาว์เรียนจบมัธยมก็ต้องเลิกเรียนมาหางาน ลองทำงานอย่างนู้นอย่างนี้ ที่นู่นที่นี่ไปเกือบ 20 แห่ง ด้วยความเป็นคนเบื่อง่าย ติสต์แตก บางทีไปทำงานแค่วันเดียวก็ลาออกซะดื้อๆ สุเชาว์ใช้เวลาช่วงกลางวันทำงานหาเลี้ยงปากท้อง ส่วนเวลากลางคืนก็เริ่มฝึกฝนในกิจกรรมที่ตัวเองเริ่มจะตระหนักว่าหลงใหลที่สุดในชีวิตนั่นก็คือการวาดภาพ เพราะในภวังค์แห่งศิลปะ สุเชาว์สามารถปลดปล่อยอารมณ์ให้เตลิดไปพร้อมๆ กับการปลดเปลื้องความทุกข์ร้อนของชีวิตในแต่ละวันแม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาประเดี๋ยวประด๋าวก็ยังดี ถ้าจะให้เดาคงเป็นเพราะความรักในศิลปะอีกนั่นแหละที่ทำให้สุเชาว์ตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลอีกทีเป็น ‘ศิษย์คเณศ’ ปวารณาตนเป็นศิษย์ของพระคเณศ เทพแห่งศิลปวิทยการ แบบออฟฟิเชียลไปซะเลย

ความใฝ่ฝันของสุเชาว์ตั้งแต่เพิ่งเรียนจบมัธยมคือการได้เรียนต่อทางด้านศิลปะ แต่ด้วยความไม่พร้อมทั้งเรื่องเวลาและทุนทรัพย์ สุเชาว์จึงต้องเน้นฝึกฝนด้วยตนเองเป็นหลัก และแล้วโชคชะตาก็พาสุเชาว์ไปพบกับ เฉลิม นาคีรักษ์ อาจารย์โรงเรียนเพาะช่าง ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็นจิตรกรมือระดับพระกาฬของประเทศ สุเชาว์ขอฝากตัวเป็นศิษย์นอกห้องเรียนของเฉลิมเพื่อเรียนรู้เทคนิคการวาดภาพด้วยสีน้ำ หลังจากนั้นสุเชาว์ยังได้พบกับ ทวี นันทขว้าง สุดยอดจิตรกรฝีมือขั้นเทพของไทยอีกท่านหนึ่ง สุเชาว์ขอใช้เวลาที่ว่างจากงานประจำมาเข้าคอร์สวิธีการใช้สีน้ำมันจากทวี พอได้ครูดีถึง 2 ท่าน สุเชาว์เลยยิ่งอินจัด ฝึกวาดภาพอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ดึกๆ ดื่นๆ ไม่รู้จักหลับจักนอนอยู่ครึ่งปี ก่อนที่จะตัดสินใจส่งภาพวาดเข้าร่วมประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 ภาพที่ส่งประกวดเป็นภาพบ้านที่มีต้นไม้ไหม้ไฟสีดำเมี่ยมยืนโด่เด่เป็นตอตะโกอยู่ด้านหน้า ภาพนี้วาดด้วยสีน้ำมันหนาๆ ตัดเส้นเน้นรูปทรงต่างๆ คล้ายกับสไตล์งานของ ทวี นันทขว้าง แต่ภาพวาดของสุเชาว์จะดูเหงาๆ เศร้าๆ กว่าหน่อย ในการประกวดครั้งนั้น ปรากฏว่าผลงานของสุเชาว์ชิ้นนี้ ดันไปถูกใจคณะกรรมการ ทำให้ได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญเงินมาครอบครอง สร้างความกระชุ่มกระชวยเพราะเหมือนจะเห็นทางสว่างที่ตัวเองถนัด

ผลงานของ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ที่ได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญเงินในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 พ.ศ. 2496 (ภาพจากหนังสือสุเชาว์ ศิษย์คเณศ ชีวิตและงาน)

ในปีเดียวกันนั้น สุเชาว์เลยตัดสินใจทำตามฝันโดยการสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปศึกษา พอจบแล้วก็ย้ายไปเรียนต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ในยุคนั้นสุเชาว์โชคดีได้เรียนกับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยตรง สุเชาว์ หรือ ‘นายเจ๊ก’ ฉายาที่อาจารย์ศิลป์ใช้เรียกนั้น น่าจะเป็นนักศึกษาที่มีอายุมากที่สุดในชั้นเพราะหลังจบมัธยม สุเชาว์ต้องเลิกเรียนไปทำงานจิปาถะอยู่ร่วมสิบปีกว่าจะกลับมาเรียนต่อ นอกจากจะแก่ที่สุดแล้ว สุเชาว์ก็น่าจะเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ยากจนที่สุดด้วย สมัยเรียนค่ารถก็แทบจะไม่มี สุเชาว์ต้องเดินเท้าไปกลับจากที่พักย่านบางคอแหลมซึ่งก็โคตรไกลเพื่อมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเป็นประจำ บางวันกลับไม่ไหวก็อาศัยนอนตามบ้านเพื่อนที่อยู่ใกล้กว่า ส่วนข้าวปลาอาหารก็มีกินบ้างไม่มีกินบ้างตามยถากรรม เรื่องกินสุเชาว์ทรหดกว่าเพื่อนๆ ตรงที่สามารถหม่ำข้าวบูดที่คนอื่นเขาโยนทิ้งแล้วได้โดยไม่ป่วย

เมื่อสุเชาว์เรียนจบอนุปริญญาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี พ.ศ. 2502 ก็ไปสมัครเป็นอาจารย์วิชาศิลปะที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนเด็กๆ อยู่ 4 ปีก่อนจะลาออกจากงานประจำอีกครั้งมาเป็นศิลปินอิสระอย่างเต็มตัว สุเชาว์ไปเช่าห้องเล็กๆ ถูกๆ ไว้ซุกหัวนอน และใช้เป็นที่ทำงานศิลปะ รายได้ไม่มากมายที่เอาไว้ใช้ดำรงชีวิตก็มาจากการวาดภาพส่งขายตามแกลเลอรี สุเชาว์ไม่ได้วาดภาพดอกไม้ ภาพหญิงสาว ภาพวิว ที่ดูสวยๆ เจริญหูเจริญตา แต่เลือกที่สะท้อนชีวิตอันรันทดหดหู่ของตัวเองออกมาเป็นผลงาน ภาพที่สุเชาว์มักวาดบ่อยๆ เช่น ภาพพี่น้องหน้าตาอิดโรยยืนรอความเมตตา ภาพจานข้าวที่ว่างเปล่ามีแต่ก้างปลา ภาพต้นไม้ยืนต้นตายเหลือแต่กิ่ง ภาพบ้านในอุดมคติที่สุเชาว์ไม่มีโอกาสจะได้มี ผลงานของสุเชาว์นั้นถ้าดูเผินๆ นั้นเหมือนจะวาดง่ายๆ สุเชาว์เลือกใช้รูปทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม แสนจะซิมเปิ้ลมาประกอบเป็นภาพ ดูไปดูมาจะไปคล้ายกับผลงานที่เด็กวาดด้วยซ้ำ พอเป็นซะอย่างนี้ผลงานศิลปะของสุเชาว์ในช่วงแรกๆ ก็เลยไม่เป็นที่นิยม ไม่มีราคาค่างวดอะไร บางครั้งสุเชาว์ยกผลงานให้คนอื่นไปฟรีๆ คนที่ได้รับไปก็ยังขอเอากลับมาคืนเพราะดูน่ากลัว แขวนไว้ที่บ้านเดี๋ยวเด็กๆ จะขวัญผวาป่วยไข้ไปเสียก่อน ถึงผลงานจะยังไม่เป็นที่ยอมรับแต่สุเชาว์ก็ยังซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานจากอารมณ์จริงๆ ในรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนออกมาเรื่อยๆ

สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ในวัยหนุ่ม (ภาพจากหนังสือสุเชาว์ ศิษย์คเณศ ชีวิตและงาน)

สุเชาว์ใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายโดยปราศจากครอบครัว ลำพังตัวเองยังแทบจะเอาตัวไม่รอด ถ้าให้เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียอีกมีหวังซี้แหงแก๋ ภาพลักษณ์ของสุเชาว์สำหรับคนภายนอกนั้นเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพเรียบร้อย ดูแล้วเหมือนจะมีความสุขดี สุเชาว์เลือกที่จะเก็บงำความทุกข์ร้อนเอาไว้คนเดียวไม่ไปพร่ำบ่นสาธยายให้ใครฟัง ท่านมีความคิดว่าทุกชีวิตมีทุกข์อยู่แล้ว จึงไม่ควรไประบายความทุกข์ร้อนเพิ่มเติมให้ผู้อื่น หนทางที่สุเชาว์จะระบายความรู้สึกลึกๆ ในใจที่อัดแน่นออกมาได้คือผ่านทางสมุดบันทึกส่วนตัว และผลงานศิลปะ สุเชาว์เคยเขียนถึงชีวิตของตัวเองไว้อย่างเจียมเนื้อเจียมตัวว่า

“ไม่อาจหาญเสนอตนเท่าเทียมผู้อื่น เพราะน้อยปัญญา ศึกษาเพียงอนุปริญญาทางศิลป์

มิได้มีบารมี เช่นเขาอื่น

เพียงเผชิญชีวิตในเมืองไทยบ้านเกิด และอาจเป็นเมืองตาย

ได้แต่ปลอบใจตนเองด้วยคติเต๋าที่ว่า

ผู้อยู่ในห้อง ก็อาจรู้โลกภายนอกได้”

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่กว่าจะมีคนเห็นคุณค่าของผลงานของสุเชาว์ จนเริ่มมีผู้นิยมซื้อหาไปสะสม เวลาในชีวิตของท่านก็เหลืออยู่ไม่มากแล้ว สุเชาว์นั่งอุดอู้ทำงานเงียบๆ คนเดียวในห้องแคบๆ ไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันอยู่เป็นเวลานานจนร่างกายเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ในวัยใกล้จะ 60 สุเชาว์ค้นพบว่าตัวเองป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายเป็นหนักจนเพื่อนที่มาเจอต้องหามส่งโรงพยาบาลก่อนที่อาการจะแย่ลงจนเป็นอัมพาตทั้งตัว ในช่วงเวลานั้นยังดีที่เพื่อนๆ ที่รักสุเชาว์ช่วยกันลงขันดูแลค่ารักษาพยาบาล แถมยังช่วยออกเรี่ยวออกแรงจัดนิทรรศการรวบรวมผลงานของสุเชาว์ขึ้นที่หอศิลป์ พีระศรี ในปลายปี พ.ศ. 2528 ภาพประวัติศาสตร์สุดดราม่าภาพหนึ่งที่จะเป็นที่จดจำในวงการศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยตลอดไปคือภาพพยาบาล เพื่อนๆ ศิลปิน และนักสะสมงานศิลปะ ค่อยๆ เข็นเตียงพยาบาลพาสุเชาว์ที่นอนนิ่งไม่ไหวติงให้ได้ชมนิทรรศการผลงานของท่านเอง สุเชาว์ไม่สามารถขยับเขยื้อนหรือพูดจาสื่อสารกับใครได้ ท่านแสดงความรู้สึกได้เพียงทางแววตา ที่มีทั้งทุกข์จากโรคภัยที่สร้างความทรมานอย่างแสนสาหัส และสุขจากน้ำใจที่มิตรสหายรอบข้างมอบให้ หลังจากงานแสดงครั้งนั้นไม่นานสุเขาว์ก็ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2529

สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ในวัยกลางคน (ภาพจากหนังสือสุเชาว์ ศิษย์คเณศ ชีวิตและงาน)

เราได้เห็นภาพผลงานของสุเชาว์เป็นครั้งแรกจากในหนังสือศิลปะ ว่ากันตามตรงตอนนั้นเราก็มีความคิดคล้ายๆ กับคนอื่นๆ อีกหลายคนว่าภาพฝีมือยังกับเด็กแบบนี้ใครๆ ก็น่าจะวาดได้ จนได้เห็นผลงานจริงของท่าน ได้เห็นรายละเอียดสีที่ใช้ในแต่ละปื้นแบบใกล้ๆ กลับต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เพราะภายในรูปทรงเรขาคณิตในภาพที่ดูง่ายๆ นั้น แสนจะระยิบระยับเป็นประกายไปด้วยสีหลากหลายเฉดที่สุเชาว์เลือกสรรมาผสมผสานได้อย่างลงตัว มานั่งไล่นึกเปรียบเทียบรูปแบบผลงานของศิลปินไทยยุคเก่าๆ แล้วผลงานของสุเชาว์นั้นน่าจะเรียกได้ว่าเป็นแนวเอ็กซเพรสชันนิสม์คนแรกๆ ของเมืองไทยก็ว่าได้ เพราะภาพที่ท่านวาดไม่เน้นเหมือนจริงแต่ใช้สีและสัญลักษณ์เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกแทน ยิ่งพอได้รับทราบเรื่องราวชีวิตของท่าน ได้รับรู้ถึงความหมายของภาพแต่ละภาพที่ศิลปินกลั่นกรองออกมาจากชีวิตจริงอันรันทดอย่างไม่เสแสร้งเราก็ยิ่งอินเข้าไปใหญ่ จากที่เคยเฉยๆ พอรู้มากเลยอยากได้ผลงานของสุเชาว์มาเข้าคอลเลกชันบ้าง

ตอนที่เริ่มซอกแซกตามหาผลงานของสุเชาว์ ก็รู้สึกได้เลยว่าโลกนี้ช่างไม่ยุติธรรมกับท่านเสียเหลือเกิน ตลอดชีวิตสุเชาว์ต้องอยู่อย่างแร้นแค้นเพราะการวาดภาพไม่เคยสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ แต่หลังจากที่สุเชาว์เสียชีวิตไปแล้วภาพวาดสีน้ำมันแบบเดียวกับที่ท่านวาดส่งแกลเลอรีในราคาชิ้นละหลักร้อยหลักพันนั้นกลับกลายเป็นผลงานศิลปะชั้นครูที่ซื้อขายกันในราคาชิ้นละหลักแสนหลักล้าน และพอภาพวาดของสุเชาว์เริ่มจะมีราคาสูงปรี๊ดก็ดันมีมิจฉาชีพพากันก๊อบปี้ผลงานของท่านออกมาเร่ขายกันให้ควั่ก ไม่สิ้นเวรสิ้นกรรมกันซะที

เห็นไหมล่ะว่าชีวิตและผลงานของสุเชาว์นั้นสุดแสนจะดราม่าไม่ได้น้อยหน้าแวนโก๊ะเลย ถ้าอย่างนั้นเราตั้งฉายา วินเซนต์ แวนโก๊ะ ให้ใหม่ว่า ‘สุเชาว์เมืองกังหัน’ บ้างก็น่าจะเหมาะ

 

Don`t copy text!