คุ้มเจ้าเมืองเหนือ 2 : คุกทาส

คุ้มเจ้าเมืองเหนือ 2 : คุกทาส

โดย : จินต์ชญา

Loading

ไม่ใช่แค่ นิยายออนไลน์ เพียงอย่างเดียวที่มีให้อ่านได้ อ่านดี อ่านฟรี ที่อ่านเอา แต่เรามีเรื่องให้ อ่านออนไลน์ กันมากมาย เช่นเดียวกับคอลัมน์ คอลัมน์  ‘เรื่องผีที่ฉัน (อยาก) เล่า’ ของ ‘จินต์ชญา’

ทุกคนต่างสะดุ้งตกใจสอบถามเรื่องราวได้ความว่า

ขณะที่กำลังเดินลงบันไดอยู่

เหมือนมีมือประหลาดยื่นออกมาจับขาไว้อย่างแรง

จนสะดุดหกล้ม

 

เมืองแพร่ นับว่าเป็นเมืองแห่งประตูล้านนา และเป็นเมืองที่นอกจากจะสามารถดำรงวัฒนธรรมประเพณีทางเหนือไว้ได้ค่อนข้างดีแล้ว ยังเป็นเมืองที่สมัยก่อนเรียกว่าเมืองผ่าน คือเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวขึ้นเหนืออาจมาเที่ยวแวะชมแต่ไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางที่จะไปเที่ยวจริงๆ นอกจากแวะไหว้พระธาตุช่อแฮ ที่เป็นพระธาตุประจำปีของคนที่เกิดนักษัตรปีขาล ที่คนปีขาลต้องมาไหว้สักครั้งในชีวิต

ประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ไม่มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรง จึงมีที่มาของชื่อเมืองจากหลักฐานอื่นคือ เมืองพล นครพล หรือพลรัฐนคร เป็นชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมที่สุดที่พบในตำนานเมืองเหนือ ฉบับใบลาน พ.ศ. 1824 กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า เจ้าเมืองลำปางได้ส่งคนมาติดต่อเจ้านครพลให้ไปร่วมงานนมัสการ และฉลองวัดพระธาตุลำปางหลวง และจากตำนาน พระธาตุลำปางหลวงตอนหนึ่งได้กล่าวถึงเจ้าเมืองพลยกกำลังผู้คนไปขุดหาพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุไว้ในพระธาตุ แต่ไม่พบ

พอพูดถึงเจ้าเมืองพล เมืองพลอยู่ที่ไหน ??  เมื่อศึกษาตำแหน่งที่ตั้งของนครพลตามตำนานดังกล่าว พบว่า คือที่ตั้งเมืองแพร่ในปัจจุบัน

ในอีกตำนาน ชื่อพลนครปรากฏเป็นชื่อวิหารในวัดหลวง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเชื่อกันว่าวัดนี้เป็นวัดที่สร้างมาพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่และเจ้าเมืองแพร่ให้ความอุปถัมภ์มา หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ‘เวียงโกศัย’ นั้น มาจากสมัยพระนางจามเทวี ช่วงขอมเรืองอำนาจ ระหว่างปี พ.ศ. 1470-1560 เข้าครอบครองปกครองล้านนา ได้เปลี่ยนชื่อเมืองจากเมืองพลนคร เป็น ‘โกศัยนคร’ ซึ่งแปลว่า ‘ผ้าแพร’

เจ้าเมืองเมืองโกศัย เป็นชื่อที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองเงิน ยางเชียง ซึ่งชื่อเมืองในอาณาจักรล้านนาเปลี่ยนเป็นภาษาบาลีตามความในยุคนั้น เช่น น่านเป็นนันทบุรี ลำพูนเป็นหริภุญไชย ลำปางเป็นเขลางค์นคร เป็นต้น   ต้นสายปลายเหตุน่าจะมาจากชื่อดอยที่เป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ คือดอยโกสิยธชัคบรรพต หมายถึง ดอยแห่งผ้าแพร เมืองแพล เป็นชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหลักที่ 1 ด้านที่ 4 โดยคำว่าแพล น่าจะมาจากศรัทธาของชาวเมืองที่มีต่อพระธาตุช่อแพร หรือช่อแฮที่สร้างขึ้น ภายหลังการสร้างเมืองต่อมาจึงได้เรียกชื่อเมืองของตนว่า เมืองแพล และได้กลายเสียงเป็นเมืองแพร่ปัจจุบัน

ในอดีตมีเจ้าครองนครแพร่ได้เคยปกครองเมืองในสมัยโบราณและเป็นประเทศราชในปกครองของสยามร่วมกับหัวเมืองฝ่ายเหนือเมืองอื่นๆ  ดังที่เคยเล่าในตอนที่แล้วว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามกำลังถูกคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิค เพื่อเป็นการผูกใจ ได้ทรงยกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และน่าน ให้มีตำแหน่งเป็นเจ้าในปี พ.ศ. 2399 ยกเว้นเมืองแพร่เพราะเจ้าผู้ครองเมืองมิได้ลงไปเฝ้าเมื่อมีพิธีราชาภิเษก มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เจ้าพิริยะเทพวงศ์ เป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้ายในปี พ.ศ. 2443

เจ้าพิริยะเทพวงศ์ มีชายาหลายองค์ ที่รู้จักกันดีคือ แม่เจ้าบัวไหลราชเทวีที่เป็นมเหสีเอก เพราะหย่ากับแม่เจ้าบัวถามหาเทวี เนื่องจากไม่มีราชบุตรด้วยกัน นอกนั้นก็เป็นหม่อม ชายาเล็กๆ ซึ่งมีผู้สืบตระกูลมากมาย หลายคนเป็นที่รู้จักของสังคม

เรื่องราวของคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ก็เริ่มมา ณ บัดนั้น…

คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ตั้งอยู่กลางเมือง  เป็นที่พำนักของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย ก่อนที่จะมีการก่อกบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2435 เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น ซึ่งมีรูปทรงเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป โคโลเนียลสไตล์ มีลายฉลุสวยงามที่เรียกกันว่าทรงขนมปังขิงซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น และจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2435 หลังคาสูงทรงปั้นหยา 2 ชั้น มีลวดลายเถาไม้แกะสลักประดับตัวบ้าน มีประตู หน้าต่างทั้งหมด 72 บาน ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนทั้ง 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็ม แต่ใช้ไม้ซุงท่อนเป็นไม้เนื้อแข็งรองรับฐานเสาทั้งหลัง

ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2445 พวกเงี้ยวได้ก่อการกบฏขึ้นโดยยึดสถานีตำรวจ ศาลากลาง ปล้นเงินคลังและปล่อยนักโทษออกจากคุก ดังที่เล่าไปในตอนที่แล้วว่าทางสยามได้ส่งขุนนางมาปราบปราม และเมื่อสืบความได้ ก็ไม่ได้อยากจะประหารเจ้านายฝ่ายเหนือ เกรงว่า เจ้านายเมืองอื่นๆ และประชาชนชาวล้านนาจะไม่พอใจจนเกิดความระส่ำระสาย จึงดำเนินนโยบายปล่อยให้เจ้าพิริยะชัยเทพวงศ์ลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบางและถึงแก่พิราลัยใน ปี พ.ศ. 2452 นับแต่นั้นมาก็ไม่มีเจ้าผู้ครองนครแพร่อีกเลย

ดังนั้น สยามจึงได้ยึดราชสมบัติและคุ้มของเจ้าหลวง และได้ใช้เป็นที่ตั้งของกองทหารม้าจากกรุงเทพฯ ที่ส่งมารักษาความสงบเรียบร้อยในเมืองแพร่อยู่ระยะหนึ่ง คุ้มเจ้าหลวงในที่สุดกลายเป็นจวนหรือบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ช่วงนั้นเคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อคราวเสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2501 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   ได้เสด็จประทับแรม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2536 นอกจากนั้นอาคารหลังนี้ยังได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ เมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2536 อีกด้วย

จนเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2547 องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ได้รับมาดูแล มีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นจนถึงปัจจุบัน และนอกจากนั้น ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ เยี่ยมชมอีกหลายพระองค์ อาทิ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จฯ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2549 ส่วนจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สร้างจวนใหม่อยู่ด้านหลังคุ้มนี้ในปัจจุบัน

คุ้มนี้ มีเสียงเล่าขานในสมัยก่อนว่า ‘ผีดุที่สุด’ มีเรื่องราวตำนานมากมายที่เล่าขานต่อๆ กันมา โดยเฉพาะเรื่องเสียง เรื่องการพบเห็น ‘อะไร’ แต่ที่บันทึกไว้แน่ๆ ก็คือตอนที่เป็นจวนผู้ว่าที่ผีดุมาก จริงๆ แล้วฉันได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับจวนผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ที่ผีดุมาหลายที่แล้ว เช่น จวนผู้ว่าฯ จังหวัดสงขลา จวนเก่าที่นครพนม ฯลฯ  เพราะส่วนใหญ่เป็นวังเก่า หรือบ้านเจ้าเมืองเก่าทั้งนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบระดับกัน ที่นี่… อาจจะมีชื่อเสียงที่สุดเลยก็ได้ ที่มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็คือ สมัยนายธวัช รอดพร้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ปี พ.ศ. 2528 ในบทความของ สำเริง มณีวงศ์ ได้เขียนไว้ใน สยามอารยะ ถึงอำนาจมืดภายในคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ว่า…

“หลังจากที่นายธวัช รอดพร้อม ได้เข้ามาพักอาศัยจวนหลังนี้ได้เพียงชั่วคืนก็เกิดเหตุการณ์ประหลาด เมื่อญาติของผู้ว่าฯ คนหนึ่งกำลังเดินลงบันไดจากชั้นบนลงมาชั้นล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว ก็เกิดหกล้มกลิ้งตกบันได ทุกคนต่างสะดุ้งตกใจสอบถามเรื่องราวได้ความว่า ขณะที่กำลังเดินลงบันไดอยู่เหมือนมีมือประหลาดยื่นออกมาจับขาไว้อย่างแรง จนสะดุดหกล้ม

นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นภายในจวนผู้ว่าฯ อีกหลายประการ จนผู้ว่าราชการฯ ธวัช รอดพร้อม ได้อัญเชิญพระพุทธรูปวิโมกข์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากหลวงปู่โง่น โสรโย จากจังหวัดพิจิตร นำมาประดิษฐานบนแท่นใต้ต้นโพธิยักษ์เก่าแก่อายุกว่า 200 ปีข้างๆ อาคารคุ้มเจ้าหลวง และจัดทำพิธีทำบุญล้างจวนอุทิศให้แก่วิญญาณที่นี่”

ฉันไปเยี่ยมคุ้มเจ้าหลวงในตอนกลางวันแสกๆ นำดอกไม้สีแดงไปกราบเจ้าของบ้านที่ศาลด้านหลังตามคำบอก และเดินเข้าไปเยี่ยมชมคุ้มเจ้าหลวง รวมทั้งคุกใต้ถุนอาคารที่มีเสียงเล่าลือมากว่ามีวิญญาณมากมายเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยในอดีตบริเวณใต้ถุนอาคารหลังนี้เคยเป็นที่คุมขังนักโทษมานานนับศตวรรษ ลักษณะเป็นห้องใต้ดินขนาดใหญ่ แบ่งเป็นห้อง ลึก 2 ชั้น มีพื้นที่โล่งด้านหน้าสำหรับควบคุมตรวจตราบรรดานักโทษ ห้องด้านหน้าด่านแรกแยกเป็น 3 ห้องเรียงกันกว้าง 15 เมตร แต่ละห้องมีปล่องซี่กรงเหล็กที่เพิ่งเจาะขึ้นทีหลัง แสดงว่าในสมัยก่อนที่ขังทาสน่าจะมืดมิดไม่มีปล่องให้เห็นเดือนเห็นตะวัน และที่นี่เคยใช้เป็นที่คุมขังทาสมาไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษ… จวบจนกระทั่ง… พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกทาส คุกทาสแห่งนี้เลยกลายมาเป็นที่คุมขังนักโทษทั่วๆ ไปของเจ้าเมืองหรือข้าหลวงในสมัยต่อๆ มา จนกระทั่งมีการสร้างเรือนจำเมืองแพร่ขึ้นอย่างเป็นทางการ

คุกทาสที่เป็นที่กักขังคนที่เหมือนไม่ใช่คนของคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่จึงว่างลง…

หลงเหลือแต่คำเล่าลือถึงความดุเฮี้ยนของวิญญาณ… ณ… ที่แห่งนี้

 

Don`t copy text!