เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ

เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

ถ้าโอลิมปิกมีความสำคัญกับวงการกีฬาฉันใด เวนิสเบียนนาเล่ก็มีความสำคัญกับวงการศิลปะฉันนั้น ฟังดูโอเวอร์แต่เป็นเรื่องจริง เพราะเทศกาลแสดงผลงานศิลปะที่ว่านี้เป็นเทศกาลที่ทั้งเก่าที่สุดเพราะจัดต่อเนื่องกันมากว่าร้อยปีแล้ว ทั้งใหญ่ที่สุดเพราะใช้พื้นที่แทบจะทั้งเมือง และฮิตที่สุดเพราะกลายเป็นจุดนัดพบของผู้คนครึ่งล้านที่บ้างานศิลปะ และหนึ่งในไอ้คนที่ว่าบ้าก็คือตัวเราเอง

วันนี้เป็นเช้าตรู่วันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน เราก็ตื่นขึ้นมาในบ้านของคนอื่นที่เราไม่รู้จัก ในเมืองที่เราไม่คุ้นเคย เพราะที่เวนิสกำลังมีงานเวนิสเบียนนาเล่ 2019 โรงแรมที่เล็งๆ ไว้เต็มหมด ส่วนที่ยังว่างอีกน้อยนิดก็ขึ้นราคาแบบบ้าบอคอแตก เราเลยตัดสินใจจองห้องพักผ่านแอร์บีเอ็นบี เสียเงินเท่าโรงแรมแต่ได้บ้าน 2 ชั้นพร้อมสนามหญ้าที่กว้างจนคนวิ่งไม่รอบมาอยู่แทน เตียงก็นุ่ม ห้องน้ำก็กว้าง สายฉีดก้นก็มี ครัวก็อลังการ เสียอย่างเดียวบ้านหลังนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนเกาะเวนิส เช้านี้เราเลยต้องนั่งรถไฟไปอีก 15 นาทีเพื่อจะไปให้ถึงที่หมาย

ป้ายประชาสัมพันธ์งานเวนิสเบียนนาเล่

บนรถไฟ เสียงเครื่องจักรดังฉึกฉัก หัวใจเราก็เต้นตึกตัก ถึงเราจะเคยมาเวนิสแล้วแต่จะให้มาใหม่กี่ทีก็ยังไม่หายตื่นเต้นอยู่ดี ไม่รู้ชาติที่แล้วเราเกิดเป็นใครหรือตัวอะไรในเมืองนี้หรือเปล่า ชาตินี้ถึงได้หลงเสน่ห์มหานครเวนิสอย่างหัวปักหัวปำ ไหนๆ ก็มีเวลานิดหน่อยบนรถไฟ ก่อนจะพาเข้างานเลยจะขอเล่าให้รู้คร่าวๆ ก่อนว่า ‘เวนิสเบียนนาเล่’ นี่มันคืออะไร และมีที่มายังไง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เวนิส (ภาพจาก นิตยสารศิลปากร ปีที่ 54 ฉบับที่ 5)

ที่เรียกชื่องานว่าเวนิสเบียนนาเล่ เพราะจัดกันที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ส่วนเบียนนาเล่นั้นมาจากคำว่า biennial ในภาษาอิตาเลียน แปลว่าทุกๆ 2 ปี งานนี้ริเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1895 เพื่อเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์อัมเบอร์โตที่ 1 และสมเด็จพระราชินีแห่งอิตาลี และก็จัดต่อมาเรื่อยๆ แบบปีเว้นปี ในช่วงปีแรกๆผลงานศิลปะแทบทั้งหมดที่นำมาจัดแสดงนั้นเป็นของศิลปินชาวอิตาเลียนล้วนๆ แม้งานจะยังไม่อินเตอร์แต่ก็ดึงดูดผู้คนจากทั่วสารทิศให้มาร่วมงานในแต่ละครั้งได้ถึงสองแสนกว่าคน ขนาดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงเคยเสด็จฯ ร่วมงานนี้ถึงสองครั้งสองคราในปี ค.ศ.1897 และ ค.ศ. 1907 ดังที่มีพระราชหัตถเลขาความว่า

“…วันนี้เช้า 5 โมง ดู๊กมารับไปเที่ยวดูสวน ซึ่งมีตึกภาพสีน้ำมันตั้งอยู่เปนสถานย่อมๆ มีต้นไม้ของเมืองหนาวปลูกต่างๆ… ที่โรงพิพิธภัณฑ์นี้ไม่สู้ใหญ่ มีห้องที่แขวนรูปต่างๆ เปนอันมาก บางรูปงามดี…

…ซึ่งเหลือที่จะเล่าว่ารูปอะไรเปนอย่างไร… บางแผ่นน้ำยาเหมือนหอยแครงหยอดเกาะกันไปเปนรูปพร่าๆ บางแห่งเหมือนเอาเส้นแมกกาโรนีย้อมสีแดง สีเขียว สีเหลือง กองไว้ตามแต่จะนึกว่ารูปอะไร ยังมีอีกอย่างหนึ่งนั้น เปนดินสอดำเส้นเดียวลากเหมือนกันกับเด็ก เด็กมันเขียนเล่นที่เมรุฤๅที่ศาลาวัด…

…สีก็ใช้สีแปร๋ปร๋า เงาก็ไม่ต้องมี ระบายก็ไม่ต้องระบาย ป้ายลงไปเฉยๆ เส้นก็ไม่ต้องเดิน ดูๆ ก็เปนที่ท้อใจ…

…นานไปรูปเขียนจะหาซื้อไม่ได้ จะกลายเป็นรูปป้าย รูปปา รูปแปะ ฤๅรูปขีดเท่านั้น…”

ดูๆ จากพระราชหัตถเลขาแล้ว ในหลวงรั ชกาลที่ 5 คงมิได้ทรงโปรดศิลปะแนวใหม่ซึ่งเพิ่งถือกำเนิดในยุโรปยุคนั้นอย่างแนวอิมเพรสชันนิสม์ แนวเอ็กเพรสชันนิสม์ที่วาดเร็วๆ ด้วยสีหนาๆ หรือแนวแอบสแตรกต์ที่ดูไม่รู้เรื่องสักเท่าไหร่ แต่ในงานเวนิสเบียนนาเล่นี้ก็ยังมีผลงานในรูปแบบคลาสสิกที่พระองค์ทรงโปรดปรานมาจัดแสดงด้วย จึงทรงได้ซื้อหาผลงานกลับมาประดับประดาพระราชวังและพระที่นั่งน้อยใหญ่ในบ้านเรา รวมถึงยังได้ทอดพระเนตรผลงานของศิลปินอย่าง กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ที่นำผลงานมาแสดงเป็นที่ถูกพระราชหฤทัยจนได้รับคัดเลือกให้มาช่วยวาดเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม และสร้างผลงานศิลปะประดับประดาสถานที่สำคัญอื่นๆ ในประเทศไทยอีกมากมาย

งานเวนิสเบียนาเล่เริ่มโกอินเตอร์ขึ้นในปี ค.ศ. 1907 เมื่อมีประเทศต่างๆ มาสร้างอาคารจัดแสดงผลงานศิลปะของตัวเองแบบถาวรหรือที่เรียกกันว่าพาวิลเลียน (Pavillion) ในสวนสาธารณะที่รู้จักกันในชื่อจาร์ดินี (Giardini) โดยเจ้าแรกที่มาสร้างอาคารไว้ก่อนเพื่อนคือประเทศเบลเยียม ตามด้วยอาคารของประเทศฮังการี เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีถัดมา หลังจากนั้นก็มีพาวิลเลียนของชาติต่างๆ ทยอยสร้างขึ้นมากันอีกเป็นพรวน ผนวกกับอีกมากมายหลายประเทศที่ไม่มีที่สร้างตึกถาวรเป็นของตัวเองก็เลยใช้วิธีเช่าและดัดแปลงสถานที่ต่างๆ รอบเมืองเวนิสให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ ทำให้รวมๆแล้วงานเวนิสเบียนนาเล่ทุกวันนี้มีพาวิลเลียนจากชาติต่างๆ ผุดขึ้นเป็นร้อย

บรรยากาศของพาวิลเลียนในสวนจาร์ดินี

ส่วนเรื่องผลงานศิลปะที่จัดแสดงกันนั้น แต่ละชาติต่างก็จ้างภัณฑารักษ์มือฉกาจฉกรรจ์สรรหาศิลปินตัวท็อปของประเทศตน ขนมาประชันแบบไม่มีใครยอมใคร ผลงานของศิลปินชื่อก้องโลกส่วนใหญ่ก็เลยล้วนเคยมาจัดแสดงในงานเวนิสเบียนนาเล่แล้วแทบทั้งนั้น ยกตัวอย่างที่ชื่อคุ้นๆ พอเป็นน้ำจิ้ม เช่น คลิมท์ (Klimt), เรอนัวร์ (Renoir), กูร์แบ (Courbet), ปีกัสโซ (Picasso), ชากาล (Chagall) และอีกเป็นพันเป็นหมื่นชื่อที่ยังไงก็สาธยายได้ไม่ครบ

บรรยากาศของพาวิลเลียนในสวนจาร์ดินี

งานเวนิสเบียนนาเล่นั้นจัดต่อเนื่องกันมาโดยตลอด จะมีตะกุกตะกักว่างเว้นไปบ้างตอนที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 รูปแบบงานในช่วงแรกๆ จะมีทั้งการแสดงและการขายผลงานศิลปะ ชิ้นไหนขายได้ทางผู้จัดงานก็จะหักค่าต๋งเอาไว้ 10% เป็นค่าดำเนินการ จนเมื่อ ค.ศ. 1968 ถึงได้มีการยกเลิกการขายผลงานศิลปะในงานเวนิสเบียนนาเล่ โดยมุ่งที่จะเน้นโชว์อย่างเดียว คนมาดูถ้าถูกใจอยากได้ผลงานของใครก็ให้ไปติดต่อคุยกันเองหลังไมค์

พอรถไฟไปเทียบที่ชานชาลาสถานีเวเนเซีย ซานตา ลูเซีย (Venezia Santa Lucia) สถานีรถไฟหลักของเมืองเวนิส เราก็รีบเดินจ้ำอ้าวไปยัง 2 ร้านไอติมเจ้าโปรด เบียนนาล่งเบียนาเล่เอาไว้ทีหลัง เช้านี้ขอเติมพลังก่อน เราแวะร้านกรอม (Grom) ซัดไอติมไปหนึ่งลูก ก่อนจะไปสวาปามอีกลูกที่ร้านเวนชี่ (Venchi) ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกันในสถานีรถไฟ พอระดับน้ำตาลขึ้นสมองจนพอใจหายวิงเวียน ถึงได้ตีตั๋วเรือตรงไปยังจาร์ดินีเพื่อไปชมงานในนั้นก่อน ใครๆ ที่เคยไปเวนิสแล้วคงรู้ดีว่าเมืองนี้ไม่มีรถ จะไปไหนก็ต้องใช้เรือเป็นหลัก พอมาถึงที่หมายซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของสวนลุมฯ เราก็จัดแจงต่อแถวซื้อตั๋ว ค่าเข้างานราคา 25 ยูโรหรือคิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ แปดร้อยกว่าบาท ตั๋วใบนี้ใช้ดูได้หมดทั้งงานที่จัดอยู่ในสวนจาร์ดินี และอีกที่ที่เขาเรียกว่าอาร์เซนาเล่ (Arsenale) ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันคืออะไร กะว่าไว้ตอนบ่ายๆ จะเดินไปดูให้หายสงสัย

จาร์ดินีนั้นเป็นสวนที่เต็มไปด้วยพรรณไม้เมืองหนาว และอาคารขนาดย่อมๆ รูปทรงแปลกๆ เหมือนที่ในหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงบรรยายไว้ไม่มีผิดเพี้ยน เพราะกำลังงงๆ หลงทิศ เราตัดสินใจเดินเข้าไปตั้งต้นในตึกที่ดูเก่าที่สุดที่ตั้งอยู่ตรงกลางสวนก่อน ตึกที่มีอายุกว่าร้อยปีนี้เป็นทรงสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐด้านหน้ามีเสาสีขาวต้นใหญ่เรียงเป็นตับ พอเข้าไปภายในก็จ๊ะเอ๋เข้ากับผลงานศิลปะชิ้นสำคัญที่ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้เห็น ภาพวาดบนเพดานอันสวยงามอ่อนหวานเกินคำบรรยายฝีมือ กาลิเลโอ คินี ที่รู้ทันทีว่าใครวาดไม่ใช่เพราะเราเก่งฉกาจอะไรหรอก แต่เพราะตรงที่เรายืนอยู่นี้เขาเรียกว่าศาลาคินี (Sala Chini) แล้วภาพบนเพดานในนี้จะเป็นฝีมือคิโน่นคินั่นได้อย่างไร เราแหงนดูอยู่พักใหญ่จนตะคริวกินคอถึงเริ่มเดินวนดูผลงานศิลปะร่วมสมัยที่เขาเอามาจัดแสดงกันให้พรึ่บในพาวิลเลียนต่างๆ

พาวิลเลียนที่แต่ละชาติบรรจงสร้างเอาไว้นั้นมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกันเลย และทุกๆ อาคารนั้นดูเก๋ไก๋มีสไตล์แบบกินกันไม่ลง ถึงแม้บางแห่งจะถูกสร้างมานับศตวรรษแล้วก็ไม่ได้ดูเชยหรือสวยน้อยกว่าอาคารหน้าตาอวกาศจากบางประเทศที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาใหม่เลย เอาเป็นว่าแค่ได้เดินทอดน่องชมสวนชมสถาปัตยกรรมก็คุ้มค่าตั๋วแล้ว ภายในแต่ละพาวิลเลียนนั้นจัดแสดงผลงานศิลปะฝีมือศิลปินจากประเทศเจ้าของตึก มีแค่ตึกใหญ่ตรงกลางอาคารเดียวที่จัดแสดงผลงานศิลปะจากหลากหลายประเทศแบบรวมๆ กัน ท่ามกลางผลงานทั้งหมด เราได้เห็นศิลปะประเภทที่คุ้นตาอย่างภาพวาดและรูปปั้นอยู่บ้าง ในขณะที่ผลงานส่วนใหญ่เป็นแนวคอนเซ็ปชวลมากๆ ประเภทที่ถ้าไม่บอกก็แทบจะไม่รู้เลยว่านี่คืองานศิลปะ ยกตัวอย่างเช่นผลงานที่เป็นรั้วเหล็กใส่มอเตอร์หมุนไปทางซ้ายทีทางขวาทีให้ไปกระแทกกับกำแพงทั้ง 2 ด้าน ทำอย่างนั้นซ้ำไปซ้ำมาจนเกิดเป็นรอยแตกบนกำแพงรูปร่างเหมือนรั้ว อีกชิ้นใกล้ๆ กันเป็นรูปปั้นวัวปลอมขนาดเท่าวัวจริงมีล้อยึดไว้กับรางให้เลื่อนไปรอบๆ เป็นวงกลม ในห้องถัดมามีแขนกลไฮโดรลิกขนาดใหญ่เหมือนที่ใช้ในโรงงานหมุนไปหมุนมาคอยปาดสีที่ไหลเยิ้มอยู่บนพื้นให้มากองรวมกันอยู่ตรงกลาง ตรงกันข้ามมีกำแพงอิฐเก่าๆ กับรั้วลวดหนามอยู่ข้างบน ตึกอื่นๆ เท่าที่จำได้นั้นมีวิดีโอโชว์การเต้นสะบัดก้นแบบบราซิล เครื่องบินเล็กที่กลับด้านเอาเครื่องเอาเบาะนั่งที่อยู่ข้างในมาไว้ข้างนอก ทะเลจำลองที่เต็มไปด้วยกองขยะ

ด้วยความงงเต๊กจนถึงขีดสุดกับสิ่งที่ได้เห็นอยู่รายล้อม เรานึกถึงเสด็จพ่อ ร.5 และเข้าใจหัวอกพระองค์ท่านขึ้นมาทันใด เพราะร้อยกว่าปีที่แล้วขณะที่งานศิลปะกำลังสวยๆ งามๆ ดูง่ายสบายตาอยู่ดีๆ ก็มีอีตาบ้ากลุ่มหนึ่งเริ่มคิดที่จะวาดภาพแบบปาดๆ ป้ายๆ ไม่เน้นประณีต แต่เน้นอารมณ์ของตูเป็นสิ่งสำคัญ ผลงานเลยออกมาเหมือนเส้นสปาเกตตีบ้าง เหมือนหอยแครงบ้าง เหมือนเด็กวาดบ้าง แล้วแต่ใครจะเห็นเป็นอะไร แต่พอกาลเวลาผ่านไปผลงานเหล่านี้เปรียบดั่งไวน์ดีที่ได้รับการหมักบ่มจนเข้าที่ สาธารณชนรวมถึงตัวเราเองพอได้รับรู้ถึงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์อันนอกกรอบก็ต่างแห่แหนมาชื่นชมบูชาอีตาบ้ากลุ่มนั้นแทน นี่ถ้าเป็นสมัยก่อนตอนที่เรายังไม่ค่อยอินกับศิลปะสักเท่าไหร่ ถ้าได้เห็นผลงานที่เขาเรียกว่าอาร์ตประเภทที่เด็กแถวบ้านทำเองก็ได้อย่างนี้ รับรองว่าโดนเราสวดเละเทะแน่นอน แต่เดี๋ยวนี้ถึงเราจะงงงวยแค่ไหนก็จะเพียงปลอบใจตัวเองว่าเรานั้นอาจจะมาผุดมาเกิดเร็วไปสักร้อยปี เดี๋ยวชาติหน้าเกิดมาใหม่ก็คงจะเข้าใจได้เอง

ดื่มด่ำกับสวนจาร์ดินีกันจนหอมปากหอมคอแล้วแล้วก็มุ่งหน้าไปยังทางออกเพื่อไปดูที่อื่นๆ ต่อ และแล้ว ณ ตรงนั้นเองเราก็ได้พบกับไทยพาวิลเลียน ซึ่งจัดอยู่ในตึกร้านอาหารบริเวณทางออกของสวนพอดีเป๊ะ ถึงประเทศไทยจะไม่ได้มีพาวิลเลียนใหญ่โตโอ่อ่าเป็นของตัวเอง แต่เรื่องโลเคชันนี่ต้องถือว่าของเรากินขาด รับประกันได้เลยไม่ว่าใครหน้าไหนถ้าเดินออกจากสวนจาร์ดินีจะต้องปะทะกับประติมากรรมรูปม้ากัณฐกะทำจากสเตนเลสสีเงินวาววับกับป้ายไทยพาวิลเลียนแน่นอน

ผลงาน ‘ตู้ประวัติศาสตร์’ โดย กฤช งามสม ใน ไทยพาวิลเลียน

เรารีบกุลีกุจอเข้าไปดูว่าข้างในไทยพาวิลเลียนมีอะไรให้ตื่นเต้น เพราะตรงนั้นเป็นร้านอาหาร รีเซ็ปชันเลยถามเราว่ายูจะมาดูงานหรือมาทานพิซซ่า เราไม่รอช้าตอบกลับไปว่าไออยากจะดูด้วยกินด้วยเพราะตอนนั้นก็ใกล้จะบ่าย แคลอรีจากไอติมสองเจ้าที่โซ้ยไปเมื่อเช้านั้นถูกเผาผลาญไปจนหมดแล้ว ระหว่างที่รอโต๊ะเราก็เข้าไปดูในส่วนจัดแสดงผลงานศิลปะ ในนั้นเราได้เห็นผลงานชิ้นอื่นๆ ของ กฤช งามสม ศิลปินคนเดียวกับที่สร้างม้าตัวเมื่อกี้ที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าตึก ผลงานของกฤชมีอยู่หลายชิ้นแต่ชิ้นที่โดดเด่นที่สุดนั้นเป็นตู้ประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการตัดอะคริลิกแผ่นใสๆ ให้เป็นรูปสถาปัตยกรรมสไตล์อิตาลีที่มีความสำคัญในเมืองไทย อย่างสถานีรถไฟหัวลำโพง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล แล้วส่องด้วยไฟสีต่างๆ เพิ่มความร่วมสมัยให้กับรูปทรงตึกที่ดูโบราณ

ในไทยพาวิลเลียนนั้นยังมีผลงานศิลปะของศิลปินอาวุโสซึ่งเป็นถึงระดับศิลปินแห่งชาติถูกนำมาจัดแสดงด้วยอย่าง ปัญญา วิจินธนสาร ได้นำภาพคัดลอกฝาผนังหอไตร วัดบางแคใหญ่ และจิตรกรรมฝาผนังวัดสุทัศน์มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะเพื่อให้ชาวต่างชาติได้มีโอกาสสัมผัสจิตรกรรมแนวประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ในขณะที่ สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงศ์ สร้างผลงานศิลปะในรูปแบบภาพนามธรรมจัดเรียงเป็นคู่ๆ แสดงภาพที่เกิดขึ้นจริง เปรียบเทียบกับภาพที่อิงนิยาย เพื่อเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานเรื่อง แม่นากพระโขนง กับเรื่องสุสานทหารสัมพันธมิตร เราเดินดูอยู่เกือบครึ่งชั่วโมงโต๊ะก็ยังไม่ว่างสักที พี่คนไทยที่เขาอาสามาเฝ้าพาวิลเลียนเลยแนะให้ไปลองทานร้านอาหารไทยของเพื่อนพี่เขาซึ่งอยู่แถวๆ สะพานรีอัลโต (Rialto Bridge) ด้วยความโมโหหิวเราเลยตัดสินใจออกเดินทางต่อโดยยังไม่ทันได้กินข้าว

บรรยากาศของพาวิลเลียนในอาร์เซนาเล่

เพราะอยู่ระหว่างทางไปร้านอาหารพอดี เราเลยว่าจะแวะดูอาร์เซนาเล่ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงอีกส่วนหนึ่งของงานเวนิสเบียนนาเล่สักแป๊บนึง อาร์เซนาเล่นี่เดิมเป็นอู่ต่อเรือและโกดังคลังแสงอายุหลายร้อยปี แต่เมื่องานเวนิสเบียนนาเล่ใหญโตขึ้นพื้นที่ส่วนนี้ก็เลยถูกดัดแปลงให้เป็นอาคารจัดแสดงผลงานศิลปะสำหรับให้เช่า ที่นี่เราได้เห็นพาวิลเลียนจากหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ อิตาลี ฯลฯ ส่วนผลงานศิลปะแต่ละชิ้นที่จัดอยู่ในอาร์เซนาเล่นี้ก็ดูแปลกตาไม่แพ้ที่จาร์ดินีเลย เราได้เห็นแผงขายผลไม้ทำจากกระเบื้อง ตู้กดน้ำหน้าตาประหลาด ขวดโค้กกับหลอดไฟ มือยักษ์ที่ยื่นขึ้นมาจากน้ำ และผลงานศิลปะอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน อาร์เซนาเล่นั้นตรงทางเข้าดูเล็กนิดเดียวแต่ภายในมีพื้นที่ใหญ่กว่าที่คิดมาก รู้ตัวอีกทีก็เดินเพลินไปแล้วเกือบ 4 ชั่วโมงจนลืมหิว

บรรยากาศของพาวิลเลียนในอาร์เซนาเล่

สรุปว่าวันนั้นทั้งวันเราอยู่ในงานเวนิสเบียนนาเล่ตั้งแต่เช้าตรู่จนมืดค่ำ ขนาดสวมวิญญาณชะโงกทัวร์แบบแทบจะวิ่งดูแล้วก็ยังมีอีกหลายพาวิลเลียนที่ตกหล่นไม่มีเวลาไปแวะเวียน อย่าว่าแต่กระนั้นเลย ขนาดข้าวปลายังลืมกิน ฉี่ก็ไม่ปวด เอ๊ะ หรือว่าเราจะเริ่มอินกับศิลปะของยุคนี้สมัยนี้เข้าให้แล้ว

บรรยากาศของพาวิลเลียนในอาร์เซนาเล่

สโลแกนของงานเวนิสเบียนนาเล่ปีนี้คือ ‘May You Live in Interesting Times’ แปลตรงๆ ได้ว่า ‘ขอให้คุณได้อยู่ในยุคสมัยที่น่าสนใจ’ ฟังดูเผินๆ ก็ดีอยู่หรอก แต่ประโยคนี้มาจากคำการสาปแช่งแบบประชดประชันในภาษาจีน เพราะยุคสมัยที่น่าสนใจนั้นจริงๆ แล้วหมายถึงยุคสมัยที่วุ่นวายเต็มไปด้วยปัญหาจิปาถะให้ได้ขบคิดแก้ไข ศิลปะนั้นมีพลังมาก ขนาดเราที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร ได้มาดูงานนี้ยังทำให้กลับมาครุ่นคิดถึงเรื่องที่แสนจะไกลตัว เพราะจู่ๆ อยู่ดีๆ เราก็ตระหนักถึงความลำบากของนักเต้นระบำเกย์จากสลัมในบราซิล ระบบทุนนิยมอันเน่าเฟะในโปแลนด์ ชุมชนชาวอินูอิตพื้นเมืองในแคนาดาที่ถูกรัฐจับย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในเมืองอันทันสมัยที่ไม่คุ้นเคย และประเด็นทางสังคมอีกมากมายที่เราไม่เคยคิดแม้แต่จะสนใจรับฟังด้วยซ้ำ ศิลปะในทุกวันนี้จึงไม่ได้เป็นแค่สิ่งสวยงามที่ใช้ประดับประดาผนังอีกต่อไป แต่เป็นเสมือนเครื่องมือที่เป็นภาษาสากลในการสะท้อนเรื่องราวต่างๆ รอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือเรื่องร้าย

ถึงวันนี้เราจะไม่ได้เห็นผลงานศิลปะแบบที่เราคุ้นตา ไม่เห็นภาพนางฟ้านางสวรรค์ที่สวยงาม ไม่มีภาพวิวทิวทัศน์อันเย็นตา แต่พอจบวันเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าขาดอะไร และงีบหลับไปด้วยความอิ่มเอมไปอีกแบบ

Don`t copy text!