นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT? 

นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT? 

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

กระแสในวงการศิลปะตลอดปี พ.ศ. 2564 คงไม่มีเทรนด์ไหนร้อนแรงซู่ซ่าไปกว่าการเข้ามาเป็นที่นิยมแบบปุ๊บปั๊บรับโชคของ NFT เท่าที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่ผลงานศิลปะประเภทหนึ่งจู่ๆ ก็ทะยานขึ้นมาจากสิ่งที่นักสะสมสายคริปโตแค่หยิบมือเทรดกันเองในวงแคบๆ และแล้วภายในเวลาไม่ถึงปีก็กลายเป็นสินทรัพย์ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมทั้งที่เข้าใจและไม่เข้าใจพูดถึง แถมนับวันยิ่งมีคนตกลงปลงใจเข้ามามีเอี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นทวีคูณ อารมณ์ประมาณว่าถ้าไม่กระโดดเข้าไปตอนนี้จะกลายเป็นบุคคลล้าหลังที่ตกรถด่วนขบวนสำคัญ ดูแค่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจากกรกฎาคมถึงกันยายน ทั่วโลกมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ NFT กันเป็นมูลค่าทะลุ 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าจาก 3 เดือนก่อนหน้าที่ใครๆ ก็คิดว่าฮอตจนลุกเป็นไฟแล้ว

NFT ซึ่งย่อมาจากคำว่า Non-Fungible Token นั้นคือข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชนซึ่งเกิดจากการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายใหญ่โตมโหฬารเกินจินตนาการของคอมพิวเตอร์ทั่วโลก NFT แต่ละชิ้นนั้นเป็นตัวแทนของของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่มีซ้ำกัน สามารถระบุความเป็นเจ้าของ และสามารถโอนต่อๆ ไปให้คนอื่นได้ คิดง่ายๆ มันก็เหมือนคอนเซ็ปต์ของโฉนดที่ดิน ที่ไม่มีโฉนดฉบับไหนที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเดียวกัน แต่ละโฉนดมีเจ้าของชัดเจน และซื้อขายเปลี่ยนมือได้

“Burning of Metadata” พ.ศ.2564 เทคนิค NFT ศิลปิน Line Censor

ที่ผ่านมาการแสดงความเป็นเจ้าของไฟล์ต่างๆ บนอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นเรื่องยาก ใครโหลดอะไรขึ้นไป จู่ๆคนอื่นมาเจอเข้าก็ก๊อบปี้ไปใช้ต่อได้ง่ายๆ ทำให้ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าไฟล์ไหนคือไฟล์ออริจินัลที่ถูกอัพโหลดสู่โลกอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก มีไฟล์หน้าตาซ้ำๆ กันนับไม่ถ้วนล่องลอยอยู่บนออนไลน์เหมือนสัมภเวสีโดยไม่รู้ว่าของใครเป็นของใคร แต่ด้วยอานิสงส์ผลบุญของเทคโนโลยี NFT ทำให้ความเป็นเจ้าของของไฟล์เหล่านี้สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าใครคือผู้สร้าง และถ้ามีการเปลี่ยนมือยังสามารถตามไปดูต่อได้อีกว่าใครคือเจ้าของเดิม ใครคือเจ้าของใหม่ ซื้อขายกันเมื่อไหร่ ด้วยราคาค่างวดแค่ไหน พอเป็นซะอย่างนี้ไฟล์บางอย่างจึงเริ่มมีราคาหากทำขึ้นมาเป็น NFT ไฟล์ที่น่าสนใจจนมีคนยอมควักกระเป๋าซื้อหาเอาไปเก็บไว้ก็มีหลากรูปแบบตั้งแต่ ข้อความ, รูป, คลิปภาพเคลื่อนไหว, เสียง, และในบรรดาไฟล์เหล่านี้ สิ่งที่มีผู้คนให้ค่ามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นผลงานศิลปะ

NFT ที่เป็นอาร์ตจะมีคนให้ค่าจนมีราคาสูงแค่ไหน บอกใบ้ให้ว่าสูงสุดฤทธิ์สุดเดชเกินจินตนาการ NFT ราคาทะลุล้านบาทขึ้นไปนั้นเห็นกันเยอะแยะ และมีการซื้อขายจ่ายตังค์กันจนเป็นเรื่องปกติ ชิ้นที่ยังครองแชมป์ราคาสูงที่สุด ณ ตอนนี้ยังเป็นผลงานที่ชื่อว่า ‘Everyday: the First 5000 Days’ โดย Mike Winkelman หรือที่โลกศิลปะเรียกเฮียแกว่า ‘Beeple’ โดยผลงานไฟล์ภาพดิจิทัลชิ้นนี้ถูกประมูลไปโดย Christie’s สถาบันการประมูลระดับโลกเมื่อต้นปี 2564 โดยเสร็จสรรพจบกันไปในราคา 69.3 ล้านเหรียญเหนาะๆ หรือแปลเป็นเงินไทยก็แค่ 2 พันกว่าล้านบาทเอง เห็นตัวเลขสูงๆ แบบนี้ยิ่งเป็นการสุมไฟให้ทั้งศิลปินและนักสะสมคึกคักกันใหญ่

หลายๆเดือนที่ผ่านไม่ว่าครั้งไหนที่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับนักสะสมศิลปะด้วยกัน หัวข้อสนทนาที่โผล่มาให้ได้ถกเถียงกันอยู่เสมอจึงมักหนีไม่พ้นเรื่องราวเกี่ยวกับ NFT ส่วนแต่ละท่านจะมีความคิดเห็นอย่างไร จับอารมณ์ได้จากประโยคฮิตที่เข้าหูเราอยู่เป็นประจำอย่างเช่น

‘NFT คืออะไร พี่ไม่เก็ต’ ไม่ใช่นักสะสมศิลปะทุกท่านจะรู้จัก NFT แม้แต่นักสะสมรุ่นใหญ่ในวงการที่มีชั่วโมงบินสูงมีคอลเลกชันระดับตำนานหลายท่านก็ยังไม่คิดจะทำความรู้จัก ถึงจะได้ยินคนพูดถึงบ่อยๆ ก็เถอะ เหตุเพราะนักสะสมศิลปะตั้งแต่อดีตกาลนานโพ้นต่างคุ้นเคยกับผลงานที่จับต้องได้อย่าง ภาพวาด รูปปั้น รูปแกะสลัก อะไรทำนองนี้ ถึงหลังๆ จะมี VDO Art ในรูปแบบไฟล์ภาพเคลื่อนไหวอัดใส่ flash drive ขายพร้อมใบรับรองที่มีลายเซ็นศิลปิน แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าผลงานศิลปะในรูปแบบเดิมๆที่กอดจูบลูบคลำได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นหากจะหวังให้ท่านเหล่านั้นกระโดดข้ามไปเก็บไฟล์ในโลกอินเตอร์เน็ตเลยน่าจะยาก คงต้องค่อยเป็นค่อยไป ทุกวันนี้นักสะสมศิลปะในรูปแบบ NFT ส่วนใหญ่เลยยังเป็นคนละกลุ่ม ไม่ค่อยโอเวอร์แลปกับนักสะสมศิลปะแบบดั้งเดิม เมื่อไหร่ที่ทั้งสองฝั่งเปิดใจไขว้ไปไขว้มากันได้วงการศิลปะโดยรวมจะขยายใหญ่กว่าเดิมอีกเป็นทวีคูณ

จริงๆ การจะทำ NFT ให้ดูจับต้องได้ถูกใจนักสะสมในโลกจริง ก็พอจะมีอยู่หลายวิธี เช่น ถ้าผลงานชิ้นนั้นเป็นภาพนิ่งก็อาจจะพ่วงภาพพิมพ์พร้อมลายเซ็นสักชิ้นให้คนซื้อเอาไปด้วย เผื่อเขาจะเอาไปใส่กรอบนั่งจ้อง หรือสมัยนี้เห็นมีทีวีรุ่นจอแบนๆ ขายคู่กับเฟรมเอาไว้ใช้แขวนผนังฉายภาพงานศิลปะสลับไปสลับมาแทนการแขวนรูป โปรโมตดีๆ ให้นักสะสมมีจอแบบนี้ติดบ้านไว้คนละเครื่องสองเครื่อง NFT จะได้มีที่โชว์เป็นเรื่องเป็นราว ใครมาเห็นก็ถามถึง กลายเป็นของที่มีตัวตน ไม่ใช่อยู่แต่ในจอมือถือเล็กๆ จะดูแต่ละทีก็ต้องซูมแล้วซูมอีกเสียอรรถรส อย่าลืมนะว่านักสะสมรุ่นเดอะเขาสายตายาว ไม่มาเล็งอะไรเล็กๆ ใกล้ๆ หรอก

‘ไฟล์แบบนี้กดดู หรือก๊อบปี้มาฟรีๆก็ได้ ทำไมต้องจ่ายตังค์ซื้อ NFT’ นักสะสมศิลปะแบบดั้งเดิมชินกับความเอ็กซ์คลูซีฟ เช่น ภาพวาดที่มีอยู่ชิ้นเดียวในโลก เจ้าของภาพมีสิทธิ์ให้ใครดูหรือไม่ให้ดูก็ได้ถ้าอยากดูก็ต้องดั้นด้นมาดูผลงานชิ้นจริง ถึงแม้วันดีคืนดีมีใครถ่ายรูปภาพวาดนี้ไปเผยแพร่หรือเอาไปพิมพ์ รูปที่กระจายออกไปนั้นก็เป็นแค่รูปถ่ายให้อารมณ์เท่าของจริงไม่ได้อยู่ดี คนละคอนเซ็ปต์กับ NFT ที่ถูกโชว์หราอยู่บนอินเทอร์เน็ต ใครจะดูเมื่อไหร่ก็ดูได้ ใครจะก๊อบปี้ไฟล์ไปใช้ก็ได้แถมยังเหมือนต้นฉบับเป๊ะ เจ้าของ NFT ได้แต่นั่งมองทำตาปริบๆ

เรื่องนี้มันอยู่ที่ทัศนคติ ทุกวันนี้นักสะสมศิลปะรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากรุ่นก่อนๆ มาก จากที่เคยมีแต่ประเภทที่หวงนักหวงหนา เก็บซ่อนผลงานศิลปะไว้ในหลืบมืดหลบเลี่ยงสายตาผู้คน ทุกวันนี้หลายท่านเลือกจะสร้างพิพิธภัณฑ์ทั้งแบบเป็นตึกจริงๆ เปิดให้สาธารณชนเข้าชม หรือบ้างก็ทำเป็นพิพิธภัณฑ์แบบ virtual ให้เข้าเว็บไซต์มาดูได้ นักสะสมที่ไม่ได้มีเยอะเข้าขั้นพิพิธภัณฑ์ก็เริ่มแชร์ผลงานสะสมใน Facebook, Instagram, กรุ๊ปแชต หรือไม่ก็ให้ยืมไปโชว์ตามแกลเลอรีต่างๆ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งๆ กันดูแบบนี้วงการจะได้คึกคัก ดีกว่าต่างคนต่างเก็บแบบลับๆ ล่อๆ เมื่อทัศนคติของนักสะสมเริ่มเบนไปทางนี้ อีกหน่อยการเข้าถึงได้ง่ายของผลงานศิลปะแบบ NFT อาจจะไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป

“Cause I Know How to Make You Smile” พ.ศ.2564 เทคนิค NFT ศิลปิน Suntur

‘NFT พวกนี้ใครทำขึ้นมาก็ไม่รู้ ไม่เห็นจะเวิร์กเลย’ ปฏิเสธไม่ได้เมื่อ NFT กลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงขนาดนี้ แถมยังมีสถิติการประมูลเป็นตัวเลขที่ยั่วตาล่อใจ ชาวบ้านร้านตลาด ลูกท่านหลานเธอ ศิลปิน ศิลปลอม ใครก็ได้ทั้งที่มีฝีมือบ้างไม่มีบ้าง เข้าใจศิลปะบ้างไม่เข้าใจบ้าง ต่างก็แห่แหนมาสร้างผลงาน NFT กันยกใหญ่ อารมณ์ประมาณว่าขายได้ไม่ได้ไม่รู้ตูขอแค่ปั๊มออกมาเยอะๆ ก่อน ถ้าดวงดีเดี๋ยวคงมีคนที่งงๆ พอๆ กันมาซื้อไปเอง ทุกวันนี้โลก NFT เลยท่วมท้นไปด้วยผลงานที่ไม่ได้เรื่องได้ราว ขาดพรสวรรค์ ไร้ซึ่งสไตล์ คอนเซ็ปต์ที่ตื้นเขิน ห่างไกลจากคำว่าศิลปะประมาณฟ้ากับเหว  ก็เป็นซะอีหรอบนี้เลยเข้าใจได้ว่าทำไมเวลานักสะสมศิลปะที่มีประสบการณ์ทดลองโผล่เข้าไปเลือกดูผลงาน NFT จะมักลงเอยด้วยการถอนหายใจ ส่ายหน้า และเกาหัวแกรกๆ

‘คนซื้อ NFT ทำไมมีแต่นักลงทุนเก็งกำไร’ ด้วยราคาที่พุ่งไร้เพดานของสินทรัพย์ต่างๆ ในโลกดิจิทัล ผู้คนมากมายจึงมองสิ่งเหล่านี้เป็นการลงทุนประเภทหนึ่งซึ่งให้ผลตอบแทนมหาศาล จะสะสมอะไรแล้วหวังกำไรมันไม่ผิดหรอก แต่ถ้าเอาเป้าหมายเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ มาเป็นเป้าหมายหลักของการสะสมศิลปะ ใครคิดแบบนี้บอกเลยไม่ค่อยจะเวิร์กเท่าไหร่ นักสะสมศิลปะรุ่นเก๋าสอนเราเสมอว่าให้ซื้อหาผลงานศิลปะที่เรารักเราชอบ เห็นแล้วทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เกิดอารมณ์ร่วม สร้างแรงกระเพื่อมในจิตใจอะไรบางอย่าง เมื่อได้มาแล้วก็ใช้ชีวิตอยู่กับเขาให้คุ้มค่า ดื่มด่ำสุนทรียภาพที่ผลงานศิลปะดีๆ มีมอบให้ได้ นั่นล่ะคือกำไรที่แท้จริง ส่วนในแง่มูลค่าถ้าจะเพิ่มมากน้อยแค่ไหนสิ่งนั้นคือผลพลอยได้ ถ้าไม่สนใจศิลปะหวังแค่จะได้กำไรไวๆ เยอะๆ แนะให้ไปซื้อหุ้นซื้อเหรียญคริปโตเหอะ ขึ้นๆ ลงๆ และมีสภาพคล่องมากกว่า NFT เยอะ

‘NFT เอาไปทำอะไรได้บ้าง’ นอกจะเอาไว้สะสม ดูเล่น อวดเพื่อน หรือเก็บไว้เป็นสินทรัพย์แล้ว NFT บางประเภทที่สร้างออกมาเป็นตัวละครหน้าตาต่างๆ ไม่ซ้ำกัน ยังเหมาะจะนำมาใช้เป็นภาพโปรไฟล์แทนตัวเราในแอพพลิเคชันต่างๆ หรือใช้เป็นร่างอวตารของตัวเราใน metaverse จักรวาลนิรมิต ดินแดน virtual แห่งอนาคตที่บริษัทใหญ่ๆ ของโลกกำลังขับเคลื่อนเข้าไปสู่ ส่วนลูกเล่นอื่นๆ ที่เคยเห็นNFT สมนาคุณให้นักสะสมเช่นให้ร่วมลุ้นรับโชค ได้ของแถม มีสิทธิ์ร่วมกิจกรรมเอ็กซ์คลูซีฟ และอีกมากมายแล้วแต่คนสร้างจะประเคนให้ เหมือนจะทำอะไรได้หมดยกเว้นเอาไปทำการค้า เช่น เอาภาพ NFT ที่เรามีไปสกรีนเสื้อ สกรีนแก้วกาแฟแล้วไปวางขายนั้นถือว่าผิด เพราะโดยหลักการแล้ว NFT ก็ไม่ต่างจากผลงานศิลปะประเภทอื่นๆ คือเราในฐานะเจ้าของมีอำนาจถือครองเฉพาะกรรมสิทธิ์ของผลงานชิ้นนั้นๆ ลิขสิทธิ์ยังถือเป็นของศิลปินอยู่ดี และที่ NFT เอื้อศิลปินยิ่งกว่าผลงานในรูปแบบอื่นคือการที่ผู้สร้างสามารถระบุส่วนแบ่งจากการขายผูกไว้กับผลงานได้ นั่นหมายความว่าเมื่อมีการเปลี่ยนมือครั้งใดศิลปินจะมีเอี่ยวได้เปอร์เซ็นต์จากการขายทุกครั้งไป

“The Darkness” พ.ศ.2564 เทคนิค NFT ศิลปิน Gongkan

‘NFT ซื้อขายยังไง ทำไม่เป็น’ จากประสบการณ์ส่วนตัวเราเองก็ไม่ใช่คนโลว์เทคอะไร แต่บอกตามตรงว่าการจะเริ่มซื้อขาย ทำความเข้าใจมันไม่ง่ายเลย ทั้งต้องสมัครกระเป๋าตังค์ดิจิตอลไว้ใช้เก็บเหรียญคริปโต แลกเงินเป็นคริปโตย้ายจากสกุลนั้นเป็นสกุลนี้ สร้างที่เก็บ NFT เลือกซื้อในตลาดต่างๆ ในบล็อกเชนที่หลากหลาย โอ๊ยปวดกบาล นี่ขนาดเรายังเกือบเอาตัวไม่รอด ถ้าเป็นนักสะสมศิลปะรุ่นใหญ่สไตล์ดั้งเดิมเขาคงบ๊ายบายตั้งแต่เว็บไซต์หน้าแรกแล้ว ไม่รู้เป็นไปได้ไหมถ้าจะมีใครทำให้มันง่ายๆ ไม่ยุ่งยากหลากหลายขั้นตอน โอนเงินสดซื้อขายได้เลยเผื่อใครไม่อยากแลกเหรียญคริปโต หรือไม่ก็มีน้องๆ ดูแลบัญชีให้เหมือนหุ้น จะซื้อจะขายอะไรก็โทรบอกเขาเดี๋ยวคอยจัดการให้ มีอะไรควรรู้ก็โทรมาเจ๊าะแจ๊ะแนะนำ จะให้ดีขอเป็นสุภาพสตรีเสียงใสๆ วัยไม่เกิน 25

นี่ล่ะคือประโยคที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ อันแสดงถึงทัศนคติของนักสะสมศิลปะแบบดั้งเดิมที่มีต่อ NFT แล้วในอนาคตล่ะ NFT ในวงการศิลปะบ้านเราจะไปทางไหน คอยดูเถอะเราว่าอีกไม่นานสถานการณ์จะเปลี่ยนไปเมื่อศิลปินตัวจริงเสียงจริงเริ่มเข้าใจ แล้วค่อยๆ ทยอยเข้ามาสำแดงพลังในโลก NFT แล้ววันนั้นเราจะได้เห็นทฤษฎี Survival of the Fittest ของ Charles Darwin เกิดขึ้นคาตาเพราะในที่สุดงาน NFT อะไรก็ไม่รู้ที่ล้นตลาดอยู่ก็จะค่อยๆ ทยอยล้มหายตายจากไป เหลือแต่ผู้ที่มีความสามารถ มีพรสวรรค์ มีความตั้งใจจริง และสร้างสรรค์งานที่ถูกจริตนักสะสม ถึงจะยืนหยัดอยู่ได้

และเมื่อศิลปินตกลงปลงใจเข้ามาร่วมสร้าง NFT มากขึ้น แฟนคลับของศิลปินเหล่านั้นจากเคยสะสมแต่ผลงานสไตล์ดั้งเดิมก็เริ่มที่จะอุ่นใจตามมาเก็บ NFT ด้วยความชื่นชอบผลงานเป็นทุนเดิมและยังมั่นใจอยู่อย่างเต็มอกอีกว่า NFT เหล่านี้ยังไงก็มีค่าไม่ต้องกลัวราคาร่วงติดดิน เพราะการันตีด้วยชื่อเสียงที่ถูกพิสูจน์แล้วของศิลปิน

นับวันวงการศิลปะ NFT จะยิ่งเติบใหญ่ เมื่อนักสะสมค่อยๆ เริ่มเปิดใจไม่ไปคิดสรตะอะไรให้ซับซ้อน แค่มองว่าผลงานในรูปแบบดิจิทัลนี้ก็เป็นอีกวัสดุหนึ่งซึ่งศิลปินเลือกมาใช้สร้างสรรค์งานศิลปะ คิดดูสิตั้งแต่อดีตกาลมนุษย์เคยเอามือเปล่าๆ จุ่มสีวาดภาพบนผนังถ้ำ แล้ววันหนึ่งก็มีพู่กันเอาไว้ป้ายสีน้ำมันบนผ้าใบ หรือจากที่เคยนั่งปั้นแต่ดินเหนียว พอเวลาผ่านไปมนุษย์ก็หล่อบรอนซ์เป็นพัฒนาการยังไงมันก็เป็นไปตามทางของมัน ไม่มีใครไปขวางได้ วันนี้เมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัล ถ้าศิลปินเขาจะอินเทรนด์ทำงานเป็น NFT เราในฐานะนักสะสมก็ไม่เห็นจะต้องไปตื่นเต้นตัดสินว่าเป็นเรื่องถูกเรื่องผิด เดือดเนื้อร้อนใจ หรือตีโพยตีพายอะไร ถ้ารักถ้าชอบผลงานของเขาก็เก็บ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องเก็บ คิดแค่นั้นง่ายจะตายไป แต่ยังไงก็ควรศึกษาทำความเข้าใจเอาไว้บ้าง เวลาร่วมบทสนทนาจะได้ไม่ต้องนั่งนิ่งอ้าปากหวอ โดนเด็กหาว่าเป็นมนุษย์ยุคหิน

Don`t copy text!