Hey, Little Ant

Hey, Little Ant

โดย :

Loading

ฉันวางหนังสือนิทานระหว่างเรา คอลัมน์เกี่ยวกับ “นิทาน” ในรูปแบบวรรณกรรมเยาวชนทั้งที่เคยได้อ่านในวัยเด็กและวัยนี้ ที่ ‘ศุภสวัสดิ์’ คัดเลือกมาเล่าให้อ่านกันที่ อ่านเอา เว็บไซต์ที่ไม่ได้มีดีแค่นวนิยายออนไลน์ แต่เรายังมีคอลัมน์ต่างๆ รอให้คนรักการอ่านได้อ่านออนไลน์

**********************************

“มีปริศนาสองข้อที่พี่อยากขอให้ช่วยกันคิดก่อนเคนจิกลับ หนึ่งคือช่วยแปลความลับของคุณตา สองคือตามหาจดหมายที่หายไป… ทำยังไงพวกเราถึงจะได้อ่านกัน”

“แต่เคนว่ามันไม่ยากอะไรนี่ พี่ก็แค่ไปถามคุณตาอีกทีเรื่องจดหมาย ส่วนภาษาญี่ปุ่นที่คุณตาพูดไป มาแชร์กันหน่อยไหมใครฟังคำไหนออกบ้าง…”

ว่าแล้วพวกเราก็ต่างพากันนิ่งคิด ด้วยความรู้ภาษาญี่ปุ่นอันน้อยนิดที่แม่เคยสอน

“คือริวก็ค่อนข้างไม่มั่นใจ แต่มีคำหนึ่งที่คุณตาพูดออกไป ‘ยากุโซกุ’ ใช่ไหม ที่แปลว่าคำสัญญา” เคนจิค่อยๆ พยักหน้าพร้อมทำทีท่าเหมือนเฉยๆ

“แหละใช่… ถูกต้องเลย จะแปลว่าคำสัญญาหรือการนัดหมายก็ได้ แต่สัญญาอะไร นัดหมายกับใคร เราไม่มีทางรู้อยู่ดี… ฟังออกแค่คำเดียวแบบนี้คงไม่มีประโยชน์อะไร…”  ริวแอบหน้าเจื่อนๆ ไปโดยที่เคนจิไม่สังเกตเห็น

 

วันรุ่งขึ้นเวลาเช้าตรู่ อากาศยังคงอุดอู้ และคุณตายังคงหลับอยู่บนที่นอน ยายว่าแกงอนที่แม่กับเคนจิจะหนีกลับกรุงเทพฯ ไป “แต่เอาเถอะ เดี๋ยวฉันจัดการให้ รีบกลับไปทำงานซะ ไป แล้วก็ไม่ต้องห่วงสองคนนี้” แม่เดินมากอดผมกับริวคนละที พร้อมกับขยี้หัวแล้วสั่งให้เชื่อฟังคุณยาย… เราสองคนโบกมือบ๊ายบาย แม่สตาร์ทรถแล้วกำลังจะขับออกไป แต่ไม่รู้จู่ๆ คุณตามาจากไหน รีบวิ่งเข้าไปกระโดดขวางรถไว้ทันที… จากนั้นคุณตาก็ค่อยๆ เดินไปที่นั่งฝั่งเคนจิ  “เอ้า! รับไปสิ… นิทานตาหามาให้ เก็บไว้อ่านตอนอยู่บ้าน คงน่าจะมีเรื่องที่หลานชอบอยู่บ้างล่ะ ตาเลือกมาเฉพาะที่เหมาะกับเราทั้งนั้น” ตาพูดจบแล้วก็พลันหันหลังกลับเข้าบ้านไปทันที “เรื่องที่น่าจะเหมาะกับเคนจิอย่างนั้นหรือ…” ผมคิดสงสัยใคร่รู้อยู่เหมือนกัน

ยังไม่ทันที่รถจะเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินที่ 3199 เคนจิก็หาวออกมาแล้วเกือบยี่สิบครั้ง “ทำไมเคนไม่เอนเบาะไปข้างหลัง มาทนฝืนนั่งแบบนี้ แม่ว่าดูไม่สบาย” เคนจิส่ายหน้า แค่รู้สึกว่าไม่อยากปล่อยให้แม่ขับรถกลับไปตามลำพัง ยิ่งมาระยะหลังแม่ก็ดูยุ่งเสียจนแทบจะไม่ได้พักผ่อน…  เคนจิอาศัยจังหวะตอนที่รถกำลังเลี้ยว แอบเอี้ยวไปหยิบนิทานจากเบาะหลัง กะเอามานั่งเปิดดูแก้ง่วง “ระวังเอกสารแม่ร่วงลงไปด้วยนะ จะให้แม่จอดแวะที่ปั๊มมั้ย…” ยังไม่ทันขาดคำ เคนจิก็ทำข้าวของหล่นกระจาย ที่คว้ามาได้ติดมือมีแค่นิทานเล่มนึง หน้าปกเป็นเด็กหน้าบึ้งกับมดอีก 1 ตัวทางด้านขวา “หึหึ คุณตาต้องเล่นตลกอะไรอีกแน่ แม่ดูสิเด็กคนนี้หน้าเหมือนผมมั้ย…” หรือว่าคุณตาแอบจะบอกอะไร นิทานที่ฝากมาให้ต้องมีสาส์นอะไรซ่อนอยู่อย่างแน่นอน เดี๋ยวเรารอไว้ให้ถึงบ้านก่อน แล้วค่อยโทรปรึกษาพี่เรียวตะกะริวทีหลัง… “แม่… ระวัง!” เสียงเบรกลากดังเอี๊ยดอยู่สองวินาที ผมหลับตาปี๋อยู่นานกว่านั้น รถของเราหมุนวนอยู่กลางถนนอยู่สักพัก เหมือนว่าเมื่อกี้แม่หักหลบอะไรบางอย่าง รถเราแฉลบไปชนจนเกือบตกข้างทาง…

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ตอนที่ 6 : Hey, Little Ant (July, 1998) เรื่องโดย Phillip และ Hannah Hoose ภาพประกอบโดย Debbie Tilley

Hey, Little Ant ถูกเขียนขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1992 โดย Phillip Hoose และลูกสาววัย 9 ขวบของเขา Hannah Hoose ซึ่งความตั้งใจแรกของพ่อลูกคู่นี้คือการแต่งเป็นเพลงเพื่อใช้ประกอบการสอนเรื่องธรรมชาติและการอยู่ร่วมกันอย่างเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ให้กับเด็กวัย 4-7 ขวบ  จนกระทั่ง 6 ปีต่อมา (1998) Debbie Tilley จึงได้นำเนื้อเพลงดังกล่าวมาถ่ายทอดเป็นภาพวาดที่มีลายเส้นสนุกสนานไม่เหมือนใคร และได้กลายมาเป็นหนังสือนิทานที่มียอดขายทั่วโลกเกือบสองล้านเล่ม ได้รับการแปลมามากกว่า 10 ภาษา รวมถึงมีรางวัลหนังสือเด็กจาก Jane Addams Peace Association, Reading Rainbow Book และ Scholastic Book Club เป็นการการันตี

Phillip Hoose เกิดเมื่อปี 1947 ที่รัฐอินดิอานา ประเทศสหรัฐอเมริกา จบการศึกษาจาก Yale School of Forestry and Environmental Sciences, Indiana University เขาทำงานอยู่ที่องค์การเพื่อสิ่งแวดล้อม The Nature Conservancy เป็นถึงเวลา 37 ปี อุทิศตนเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ป่ามาโดยตลอด งานของเขามีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาระบบนิเวศวิทยาทางธรรมชาติของโลก เพื่อปกป้องและค้นหาแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์

อีกด้านหนึ่งของ Phillip Hoose เขายังเป็นนักแต่งเพลง และนักดนตรี เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Children’s Music Network (1986) และยังเป็นสมาชิกของวงดนตรี Chipped Enamel (2006) อีกด้วย นอกเหนือจากนี้เขายังเขียนหนังสือ เรื่องสั้น บทความ และวรรณกรรมสำหรับเด็กอีกมากมาย ทั้งที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ และที่ได้รับชนะเลิศรางวัลในระดับประเทศประจำปี (National Book Award for Young People’s Literature) อย่างหนังสือสารคดีเรื่อง Claudette Colvin: Twice Toward Justice (2009) และรางวัลเดียวกันนี้ในปีล่าสุดอย่าง Attucks!: Oscar Robertson and the Basketball Team That Awakened a City (2020) หนังสือที่เล่าถึงเรื่องเส้นทางการแข่งขันบาสเกตบอลระดับไฮสกูลของโรงเรียน Indianapolis จนได้รับชัยชนะในปี 1955

นิทาน (เพลง) เรื่อง Hey, Little Ant นี้ เป็นเรื่องราวของมดผู้กล้าหาญกับเด็กผู้ชายคนหนึ่ง และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นภายใต้รองเท้าของเด็กคนนั้น… จุดไคลแม็กซ์ของเรื่องน่าจะอยู่ตรงบทสนทนาของเจ้ามดตัวน้อยที่กำลังร้องขอชีวิต โดยให้เหตุผลว่าทำไมเขาถึงไม่ควรถูกบี้ให้แบน ‘ฉันก็มีบ้านและครอบครัว และฉันก็กินแค่เศษขนมปังเท่านั้น’ แต่เหตุผลของเด็กชายก็ฟังดูน่าสนใจ ‘เพื่อนๆ ฉันบอกว่าก็การบี้มดมันเป็นเกม และพวกเขาก็กำลังรอดูอยู่’ ความกดดันนี้ยิ่งเกิดขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อเด็กชายคนนั้นได้ยินคำเยาะเย้ยถากถางถึงความลังเลและความไม่กล้าของเขา ภาพสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้คือเท้าของเด็กที่ยังคงยกอยู่เหนือเจ้ามดตัวน้อย กับคำถามสุดท้ายที่ว่า “ถ้าคุณเป็นเด็กคนนั้นคุณจะทำอย่างไร”

การตั้งคำถามเกี่ยวกับสัตว์ในฐานะสิ่งมีชีวิตร่วมโลก ความคิดเห็นอกเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือแค่ให้ได้ลองจินตนาการว่าพวกเขาจะมีความรู้สึกเจ็บปวดและหวาดกลัวเหมือนกับเราหรือไม่ ถูกสอดแทรกเข้าไปในนิทานอย่างไม่รู้ตัว เด็กๆ จะได้เรียนรู้ผ่านบทบาทสมมติของตัวละครผ่านการอ่านออกเสียงหรือร้องเป็นเพลงอย่างสนุกสนาน และสำหรับ Hey, Little Ant ฉบับครบรอบ 20 ปีนี้ ผู้เขียนได้แอบใส่ประโยคคำถามคลาสสิกไว้ประโยคหนึ่งที่ปกหน้าด้านในเพื่อให้เด็กๆ ได้ขบคิดอีกด้วย “To squish, or not to squish, that is the question.”

นิทานเล่มนี้เป็นนิทานที่หลายโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาเลือกนำมาใช้ทำกิจกรรมในห้องเรียนเพื่อปลูกฝังเรื่อง Empathy ให้กับเด็กๆ แค่ได้ลองอ่าน (ออกเสียง) ดูเราจะรู้สึกเพลิดเพลินไปกับความคล้องจองของถ้อยคำ เสียงสัมผัสของสระและอักษรที่วางไว้อย่างลงตัวในทุกช่วงท้ายของประโยค หรือถ้าใครอยากร้องเป็นเพลงพร้อมเล่นดนตรี ท้ายเล่มก็จะมีโน้ตเพลงและคอร์ดที่ผู้เขียนแนบไว้ให้ หรือถ้าใครสนใจอยากได้ยิน Phillip และ Hannah ร้องให้ฟัง ก็สามารถเข้าไปฟังได้ทันทีที่ https://soundcloud.com/curious-city/hey-little-ant เช่นกัน

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่งที่องค์ดาไลลามะได้กล่าวไว้… เมื่อครั้งที่ท่านถูกใครคนหนึ่งถามถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสอนเด็กๆ ว่าคืออะไร ท่านตอบไปเพียงไม่กี่คำว่า “Teach them to love the insects.”

นั่นอาจเป็นเพราะถ้าหากเด็กๆ สามารถเรียนรู้ที่จะ ‘รัก’ บางสิ่งที่ทั้งมีความแตกต่างมากๆ แถมบางครั้งยังน่าขยะแขยงอีกด้วยแล้วล่ะก็… ความรักนั้นคงต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างมาก… คนเรามักจะหลับหูหลับตาฆ่าแมลงต่างๆ โดยไม่ต้องคิดทบทวน ไม่เคยรับรู้หรือตระหนักว่าจริงๆ แล้วพวกเขาเหล่านั้นมีความซับซ้อนและประณีตมากเพียงใด… ไม่ว่าจะประหลาด น่าเกลียด หรือ สวยงาม แมลงทุกชนิดก็มีแง่มุมที่น่าสนใจ และนี่อาจจะเป็นพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ อาจจะเป็นจุดเริ่มของความเมตตาที่จะสามารถเกิดขึ้นมาในจิตใจมนุษย์สักคนก็เป็นได้

Don`t copy text!