The Remember Balloons

The Remember Balloons

โดย :

ฉันวางหนังสือนิทานระหว่างเรา คอลัมน์เกี่ยวกับ “นิทาน” ในรูปแบบวรรณกรรมเยาวชนทั้งที่เคยได้อ่านในวัยเด็กและวัยนี้ ที่ ‘ศุภสวัสดิ์’ คัดเลือกมาเล่าให้อ่านกันที่ อ่านเอา เว็บไซต์ที่ไม่ได้มีดีแค่นวนิยายออนไลน์ แต่เรายังมีคอลัมน์ต่างๆ รอให้คนรักการอ่านได้อ่านออนไลน์

**********************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

คืนนั้น… คุณยายเข้ามาปูฟูกยางบางๆ ให้พวกเรานอนอยู่ตรงกลางระหว่างชั้นวางหนังสือนิทานกับเตียงของตา เราสามคนเคยนอนเรียงเบียดกันแน่นอยู่บนพื้นแบบนี้มาตั้งแต่เล็ก ตอนที่เรายังเด็กมันคือ เกมเข่งปลาทู ที่แม่มาชวนแข่งแกมบังคับเพื่อให้พวกเราเข้านอนกันอย่างพร้อมเพรียง… ผมนอนลืมตาอยู่ตรงกลางระหว่างน้องชายทั้งสองคน มองไปรอบๆ ห้องเก่า สติ๊กเกอร์ของเรายังไม่ถูกแกะ รูปวาดยังถูกแปะไว้ข้างหน้าต่าง รอยด่างของสีเทียนที่เขียนไว้บนผนัง โปสเตอร์ที่เคยคลั่งไคล้ในตอนเด็ก ขบวนการโจรสลัดโกไคเจอร์ ตุ๊กตุ่น หุ่นยนต์เหล็ก ไดโนเสาร์ตัวเล็กๆ ในตู้โชว์ เราตั้งใจทิ้งของเหล่านี้ไว้หรือลืมพวกมันไปตั้งแต่เมื่อไหร่กัน…

คืนนั้น… คุณตาก็ไม่ได้ตื่นขึ้นมาอ่านนิทานก่อนนอนให้พวกเราฟัง ท่านคงกำลังหลับเพื่อลำดับเรื่องราวในความทรงจำใหม่อีกครั้ง ผมหวังว่ายาที่ตากินเข้าไปจะออกฤทธิ์แบบนี้… เราสามคนกำลังนอนนึกย้อนอดีตเป็นเพื่อนคุณตาอยู่ในห้อง ผมจ้องมองดูสติ๊กเกอร์รูปดาวเรืองแสงบนเพดานที่ยังไม่มีใครแกะออก แสงของมันยังคงเรืองรองสะท้อนออกมา ยิ่งเวลาที่เพิ่งดับไฟแม้ว่าจะไม่สุกสกาวเท่าเก่า แต่ชื่อกลุ่มดาวที่พวกเราเคยตั้งกันไว้เล่นๆ ก็ผุดขึ้นมาในความทรงจำให้ได้ขำกันก่อนนอน บนหลังตู้มีกรอบรูปขนาดกลางวางอยู่ รูปหมู่รวมญาติของเราในวันสงกรานต์สักปี ไม่มีใครจำไม่ได้แล้วว่านานแค่ไหน แต่ในรูปยังมีพ่อยืนอยู่ด้วย…

สี่ทุ่มกว่า… เราสามคนยังไม่มีใครหลับ แต่ละคนนอนกระสับกระส่ายไปมา แม้ว่าจะอยู่ในห้องแอร์ แต่กาญจนบุรีในช่วงเดือนเมษายนคือความร้อนที่เหลือทนในความทรงจำ บางทีที่พ่อทิ้งพวกเราไปไม่ยอมกลับมาก็อาจจะเป็นเพราะว่าความร้อนอบอ้าวแบบนี้ที่เป็นสาเหตุ

 

“อยากจะฟังนิทานก่อนนอนกันไหมล่ะ” เสียงคุณตาดังขึ้น ผมตกใจรีบลุกขึ้นนั่งแล้วหันไปมอง มันคงเป็นเสียงก้องมาจากความเคยชิน ไม่มีใครแว่วได้ยินเสียงนี้… มีเพียงเสียงเครื่องปรับอากาศในห้องและเข็มวินาทีของนาฬิกาเก่าเท่านั้นที่เคลื่อนไหว เข็มวินาทีที่ตะเกียกตะกายเดินไปข้างหน้าด้วยแรงไฟจากถ่านที่จวนหมด ผมเริ่มกังวลถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่แล้ว..

“ดูนี่สิ! มีซองอะไรไม่รู้อยู่ใต้เตียง ดูเหมือนจะเป็นหนังสือ” “สงสัยตาจะเอามาซ่อนไว้ไม่อยากให้ยายรู้” “แต่ถ้าตากำลังหาอยู่ แบบไม่รู้ว่าเอาไปวางไว้ที่ไหนล่ะ” ทั้งสองคนมองมาทางผมเหมือนถามความเห็น ผมยื่นมือไปรับซองกระดาษสีน้ำตาลขนาดใหญ่มาถือไว้ในมือ ตั้งใจจะลุกเอาไปวางบนชั้นหนังสือ แต่แล้วผมก็เหลือบไปเห็นชื่อของพวกเราสามคนเขียนอยู่บนหน้าซอง..

“สำหรับหลานรักทั้งสาม เรียวตะ เคนจิ ริว   

 

ผมอ่านออกมาเบาๆ แล้วเราสามคนก็มองหน้ากัน ผมรีบเปิดซองนั้นออกมาดู ข้างในเป็นหนังสือนิทานปกแข็ง เล่มสีขาวดูสะอาดตา ‘The Remember Balloons’ หน้าปกเป็นชายชราหน้าคล้ายคุณตานั่งอยู่บนม้าโยก ผมเปิดหน้าแรกออกมาดู ทันใดนั้นก็มีจดหมายฉบับหนึ่งร่วงหล่นลงไปที่พื้น…

 

ตอนที่ 2 : ‘The Remember Balloons’ (August, 2018)

เรื่อง Jessie Oliveros ภาพ Dana Wulfekotte

ย้อนกลับไปในปี 1984 หรือ 37 ปีก่อนหน้านี้ เคยมีหนังสือนิทานภาพอยู่เล่มหนึ่งที่พูดถึงเรื่อง ‘ความทรงจำ’ เป็นอีกเล่มที่ทำให้รู้สึกซาบซึ้งได้ทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาอ่าน ถือเป็นหนึ่งในนิทานที่อยู่ในใจผมมาโดยตลอด นั่นก็คือเรื่อง Wilfrid Gordon McDonald Partridge แต่งโดย Mem Fox นักเขียนชาวออสเตรเลีย*  

Wilfrid Gordon McDonald Partridge เป็นชื่อของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง อายุประมาณ 6 ขวบ บ้านของเขาอยู่ติดกับบ้านพักคนชรา ทุกวันเขาจะเข้ามาขลุกอยู่กับบรรดาผู้สูงอายุเหล่านี้ แต่จะมีหญิงชราวัย 96 ปีคนหนึ่งที่เขาสนิทด้วยมากๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ วิลฟริดคิดเอาเองว่านั่นอาจจะเป็นเพราะเธอเป็นคนเดียวมีชื่อยาวสี่คำเหมือนกันกับเขา นั่นก็คือ Miss Nancy Alison Delacourt Cooper

อยู่มาวันหนึ่ง วิลฟริดได้ยินพ่อกับแม่ของเขาคุยกันว่า ‘ความทรงจำ’ ของ Miss Nancy Alison นั้นหายไป ..แต่คำว่า ‘ความทรงจำ’ แปลว่าอะไร วิลฟริดไม่เข้าใจ… เขาจึงไปตามถามความหมายจากสมาชิกในบ้านพักคนชราทุกคน แล้วก็ออกไปค้นหาความทรงจำเหล่านั้นตามคำบอกต่างๆ อย่างที่เขาเข้าใจ เก็บมารวบรวมไว้ใส่ในตะกร้า และนำมามอบให้ Miss Nancy Alison ในวันหนึ่ง… เรื่องราวจบลงอย่างซาบซึ้งแต่อาจจะไม่สวยงาม… ถ้ามีโอกาสอยากให้ได้ติดตามตอนจบกัน…

สำหรับเรื่อง The Remember Balloons นี้ก็อธิบายถึงเรื่องภาวะสมองเสื่อม (Dementia) หรือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ได้อย่างตรงไปตรงมา ความจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้าและต้องยอมรับ เราจะอยู่กับมันได้อย่างไรเพื่อไม่ให้มันทำร้ายจิตใจเรามากจนเกินไป… อ่านถึงบรรทัดสุดท้ายหลายคนอาจซาบซึ้งจนถึงขั้นน้ำตาซึมออกมาได้เหมือนกัน สมกับที่มีรางวัลใหญ่หลายรางวัลการันตีอย่าง Schneider Family Honor Award (2019), Golden Kite Award for Picture Book Text (2019), Chicago Public Library’s Best of the Best (2018) และอีกมากมาย

Jessie Oliveros (ผู้เขียน) เคยเป็นพยาบาลวิชาชีพในแผนกโรคหัวใจมา 7 ปี ในขณะที่เธอมีลูกคนที่ 2 เธอก็ตัดสินใจลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านและแต่งหนังสือนิทานไปพร้อมกัน นิทานเรื่อง The Remember Balloons นี้ถือเป็นหนังสือเล่มแรกของเธอที่ได้รับการตีพิมพ์ภายหลังจากที่เธอลาออกมาได้ 10 ปี และเขียนนิทานมาเกือบ 10 เรื่อง แรงจูงใจในการเขียนนิทานเล่มนี้คือการต้องอธิบายให้ลูกชายเข้าใจถึงอาการอัลไซเมอร์ของคุณปู่ของเธอ “ถ้าจะทำให้ความทรงจำกลายเป็นวัตถุที่จับต้องได้ และสามารถเก็บไว้โดยไม่มีใครลืมจะต้องทำอย่างไร” เจสซีจึงเริ่มอัดเสียงคุณปู่ของเธอตอนที่เล่าเรื่องราวต่างๆ ไว้ในโทรศัพท์มือถือตั้งแต่เมื่อรู้ว่าเริ่มมีอาการ และไอเดียเรื่องการใช้ลูกโป่งสีสันต่างๆ แทนความทรงจำในแต่ละเรื่องก็เริ่มมาจากตรงนี้ หนังสือเล่มนี้เคยถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ต่างๆ มาแล้ว 12 แห่งภายในระยะเวลาสามเดือน จนกระทั่งได้ตีพิมพ์ในที่สุดในปี 2018

ส่วน Dana Wulfekotte (ผู้วาด) นั้นเกิดที่เกาหลีใต้ แต่มาเติบโตที่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเธอเป็นทั้งนักวาดภาพประกอบ (Illustrator) นักออกแบบ และนักสร้างภาพการ์ตูนภาพเคลื่อนไหว (Animator) ที่ทำงานร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ อยู่หลายเรื่อง ส่วนนิทานที่เป็นผลงานของเธอคนเดียวนั้นมีเพียงเรื่อง ‘Rabbit & Possum’ เท่านั้น ที่พูดถึงการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ในการช่วยเหลือเจ้าพอสซัมที่ฝันร้ายแล้วเผลอตะกายไปติดอยู่บนต้นไม้ให้ลงมาได้อย่างปลอดภัย

ในเรื่อง The Remember Balloons นี้ผู้วาดกำหนดให้ภาพโดยทั่วไปเป็นสีขาวดำ มีเพียงภาพในความทรงจำเท่านั้นที่จะมีสีสันสดใสเหมือนอยู่ภายในลูกโป่งสีโปร่งแสง และการเลือกวาดให้ครอบครัวมีหลากหลายเชื้อชาติ (Mixed-race family) ก็น่าสนใจ สามารถเชื่อมโยงกับแนวคิดสมัยใหม่ (Contemporary views) ในเรื่องครอบครัวและวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี และสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านได้มากกว่าการให้ครอบครัวเป็นอเมริกันชนหรือคนเอเชียเพียงอย่างเดียว

ทางสำนักพิมพ์ระบุไว้ว่า The Remember Balloons เหมาะสำหรับเด็กอายุ 5-9 ปี ซึ่งน่าจะเป็นวัยที่ระบบสัญลักษณ์ (Symbolization) เริ่มทำงาน เด็กๆ สามารถคิดในเชิงนามธรรมแทนที่รูปธรรมได้มากขึ้น รู้จักการอุปมาอุปไมย (Metaphor) และจินตนาการเปรียบเทียบได้แล้ว การอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับปู่ย่าตายายของเขาคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เด็กจะทราบได้อย่างไรว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้สูงอายุที่เคยรักเคยกอดเขา วันหนึ่งจะกลับจำเขาไม่ได้ขึ้นมา ภาวะสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวอย่างกะทันหัน ไม่ทันให้เราเตรียมใจหรือรับมือ บางทีก็ทำใจได้ยากลำบากอยู่เหมือนกัน

The Remember Balloons ทำให้ผมเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ครอบครัว’ มากขึ้น อยากใช้เวลาพูดคุยกับผู้สูงวัยในครอบครัวมากขึ้น มันคงประหลาดดีถ้าเราตั้งคำถามหรือชวนคุยกันเรื่องความทรงจำกับคนในบ้าน “ความทรงจำระหว่างเราที่ชอบมากที่สุดคือเรื่องอะไร… ทำไมถึงยังจำเหตุการณ์นี้ได้… ตอนนั้นมันเริ่มอย่างไรนะเหมือนจะลืมไปแล้ว…” เพราะบางทีความทรงจำที่เรามั่นใจนักหนาอาจกลายเป็นหนังคนละม้วนกัน ภาพจำ สี หรือรายละเอียดของแต่ละเหตุการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละคนในครอบครัวคงไม่เหมือนกันซะทีเดียว Elizabeth Phelps นักประสาทวิทยาที่ค้นคว้าเรื่องความทรงจำมานานได้บอกไว้ในสารคดี Explained บน Netflix ว่า “รายละเอียดความทรงจำราวครึ่งหนึ่งเปลี่ยนไปในระยะเวลาหนึ่งปี แม้เราจะเชื่อว่าเราจำสิ่งนั้นได้แม่นยำก็ตาม” ผมว่าถ้าเรามีโอกาสได้มานั่งคุยกัน แชร์กัน เล่าความหลัง หรือแบ่งปันเรื่องราวในอดีตให้คนในครอบครัวฟังบ้างก็คงจะดี ครอบครัวคงไม่ใช่แค่คนที่อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกันแต่ต่างคนต่างอยู่ เราอาจจะไม่ค่อยมีเวลาทำกันแล้วตอนนี้ แต่ก็ยังไม่สายเกินไป เหมือนที่ Jessie Oliveros เขียนไว้ในหน้าคำอุทิศว่า “We have your balloons, Grandpa.” เรามีลูกโป่งของท่านเหล่านี้บ้างหรือยัง

*ปัจจุบัน Mem Fox มีอายุ 75 ปี เธอหยุดเขียนนิทานมาเกือบ 5 ปีแล้ว นิทานเรื่อง Wilfrid Gordon McDonald Partridge ที่เธอเขียนในปี 1984 เธอได้เอาชื่อจริงบิดาของเธอเองมาตั้งเป็นชื่อเรื่อง

Don`t copy text!