
บ่วงเวรา บทที่ 10 : สนองคุณ
โดย : สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ
บ่วงเวรา นวนิยายรางวัลรองชนะเลิศ โครงการอ่านเอาก้าวแรก ๓ โดย สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ กับเรื่องราวของวังวนความรักและความแค้น ความมุ่งมั่นที่จะตอบแทน ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้สาสม แล้วความรักจะเยียวยาใจแก้ไขความแค้นได้จริงหรือ…อ่านเอาขอเชิญทุกท่านร่วมเพลิดเพลินไปกับนวนิยายพีเรียดสุดเข้มข้นเรื่องนี้ที่ anowl.co
แสงจันทร์สาดส่องมาตามช่องโหว่ของตับจากมุงหลังคาที่ขาดหวิ่น ผสมกับควันไฟที่ผู้คุมสุมไฟกันยุงริ้นไรทำให้บรรยากาศในโรงนอนหรือที่เรียกว่าตะรางนี้ดูขมุกขมัวยิ่งขึ้น
มาศนั่งกอดเข่าดูข้อเท้าของตนที่ถูกล่ามด้วยตรวนเส้นใหญ่ ดึกหนักหนาแล้ว แต่เด็กชายหาได้มีความรู้สึกง่วงแต่สักนิด ใจพะวงห่วงหาถึงย่าที่ไม่เคยพลัดพรากจากกัน เมื่อไรหนอจะได้พบย่าอีกครั้ง คิดไปน้ำตาก็พานจะหยด เด็กชายฝืนกลั้นน้ำตา ‘ต้องไม่ร้อง ต้องไม่แสดงความอ่อนแอให้พวกมันเยาะเย้ยเอาได้’
เด็กชายกวาดสายตามองไปรอบตัว ตั้งแต่ถูกจับกุมมา เขาก็ไม่มีกะใจจะสนใจสิ่งอื่นใด คนคุมตัวจับเขาโยนเข้ามาในโรงคุมขังแห่งนี้ กล่าวกับผู้คุมเพียงสองสามคำก็จากไป เขานั่งกอดเข่าจมอยู่ในความคิดของตนเองจนถึงเวลานี้
ในความมืดที่มีเพียงแสงจันทร์สาดเพียงรำไรนั้น เขาเห็นผู้คนนอนเบียดเสียดกันแน่นขนัด บางคนถูกล่ามไว้กับเสา บางคนนอนจมกองปฏิกูลของตนเอง ส่งกลิ่นคละคลุ้งไปทั่ว บางคนนอนครางโอดโอยเพราะความเจ็บปวดจากบาดแผลที่ถูกทรมานให้รับสารภาพ น่าเวทนายิ่งนัก
เมื่อความสนใจของเขาเปลี่ยนไปยังที่อื่นมากกว่าความทุกข์ของตนเอง ก็ระลึกได้ว่าตนเองนั้นหิวหนักหนา เพราะตั้งแต่เที่ยงมายังไม่ได้กินอะไรแม้แต่น้อย ท้องที่ว่างก็ส่งเสียงโครกครากร้องขออาหาร แต่ก็จนใจว่าจะหาสิ่งใดกินประทังหิว…หากอยู่เรือน เพียงเอ่ยปาก อาหารเอมโอชประดามีก็มาวางไว้ตรงหน้าตน แต่บัดนี้เพียงน้ำลูบท้องยังยาก
มาศเอามือลูบท้องที่ส่งเสียงร้องดัง ด้วยความเวทนาตนเอง
“เอ้า…กินนี้เสียสิเจ้าหนู พอปะทะประทังได้อยู่ดอก…” เจ้าของเสียงยื่นกลักกระบอกไม้ไผ่ที่อุดปากกระบอกด้วยจุกผ้า มาศรับกระบอกไม้ไผ่นั้นมาเปิดด้วยความงุนงง ภายในบรรจุด้วยข้าวตอกปริมาณสักครึ่งกระบอก มาศรู้จักข้าวตอกแต่เคยกินอย่างที่สดใหม่ กินคู่มะพร้าวทึนทึกขูดกับน้ำตาล แต่ด้วยความหิวข้าวตอกกลิ่นหืนๆ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ท้องหิว
มาศเทข้าวตอกกำมือหนึ่งกรอกใส่ปากด้วยความหิว เด็กน้อยเคี้ยวข้าวตอกแห้งๆ อย่างไม่รู้รสเหมือนเคี้ยวกระดาษ เขาฝืนกลืนมันอย่างฝืดคอ หญิงคนนั้นส่งกระบอกน้ำให้เขา “เอ้า กินน้ำตามเสียหน่อยสิเจ้าหนู จะได้อิ่ม” น้ำหลายอึกใหญ่ทำให้มาศรู้สึกอิ่มขึ้น
มาศยกมือไหว้ขอบคุณน้ำใจหญิงแปลกหน้าผู้นั้น แล้วถามว่า “น้ามาติดตะรางเพราะเหตุใดจ๊ะ”
หญิงผู้นั้นถอนหายใจแล้วเล่าว่า นางติดตามสามีที่ต้องโทษเพราะส่งส่วยแทนการเกณฑ์ใช้แรงงานได้ไม่มากพอเท่าออกญายมราชพอใจ การติดตะรางอยู่ที่นี่นั้นหากไม่มีญาติมาส่งเสียเลี้ยงดู ก็ต้องอดอยาก เพราะตะรางแห่งนี้ไม่ได้เลี้ยงดูคนโทษแต่อย่างใด อย่างดีตกเย็นก็แค่ปล่อยให้ออกไปขุดหาเผือกมัน หรือหยวกกล้วยในละแวกนั้นมาต้มกินให้พอปะทะประทังไปเท่านั้น คนโทษบางคนที่ไม่มีญาติส่งเสียเลี้ยงดู ต้องอดอยากผอมโซเหมือนผีเปรตอยู่ก็หลายคน
“ตะรางของมูลนายบางคนที่ท่านเมตตา ก็เลี้ยงดูคนโทษในตะรางของท่านบ้างตามสมควร แต่ตะรางในเรือนของออกญายมราชนี้มันแร้นแค้นน้ำใจนัก น้าได้ยินว่ามีคนโทษอดตายเสียหลายคนก็เป็นห่วงผัว ทุกสามวันห้าวันต้องเอาเสบียงกรังของแห้งมาส่ง ไม่อย่างนั้นมันคงอดตายตั้งแต่ยังไม่พ้นคดี กรรมของน้ากับผัวแท้ๆ ที่ต้องมาเจอมูลนายใจร้ายใจฉกาจเช่นนี้” นางพร่ำพรรณนา
หญิงผู้นั้นเล่าความทุกข์ยากเพราะตนไม่สามารถหาส่วยมาจ่ายได้มากพอเท่าที่ออกญายมราชจะพอใจ สามีของนางจึงถูกจองจำจนกว่าลูกชายจะหาส่วยหรือเงินทองที่มีมูลค่ามากพอเท่าส่วยที่ต้องจ่ายจึงจะพ้นโทษออกไป ส่วนนางก็ต้องเที่ยวไปกลับเพื่อมาส่งเสบียงอาหารให้สามี แต่วันนี้ที่กลับเรือนไม่ได้นั้นเพราะสามีของนางจับไข้เพราะฤทธิ์หวายเมื่อวาน
“มันโหดร้ายเหมือนยักษ์มาร…” นางบุ้ยปากไปเรือนใหญ่ที่จุดไฟสว่างไสว ให้มาศรู้ว่ากำลังพูดถึงใคร “…รีดนาทาเร้นเป็นที่สุด เรามันคนจนคนหนึ่งจะไปทำอะไรได้…อย่างดีก็แค่ดิ้นรนให้รอดพ้นไปเป็นคราวๆ” นางพูดด้วยความโกรธแค้น แล้วก็ปลงชะตากรรมของตนเองในที่สุด
“แล้วเอ็งเหล่าไอ้หนู ยังเด็กอยู่แท้ๆ น้าพิศดูผิวพรรณละก็เสื้อผ้าที่นุ่งห่ม ดูแล้วไม่ใช่ไพร่สาธารณ์เข็ญใจอย่างพวกน้า เหตุใดจึงมาถูกจองจำเช่นนี้” นางถามขึ้นด้วยความห่วงใย
มาศเล่าเรื่องทั้งหมดเท่าที่ตนทราบมาให้แก่หญิงผู้นั้น นางถึงแก่ตบเข่าฉาด…
“คนดีๆ อย่างนายแม้นกับแม่นายเภานั้นรึจะเป็นกบฏ…กูไม่เชื่อ ทุด…ไอ้สันดานชั่วมันใส่ความคนดีๆ ได้ถึงเพียงนี้เลยรึ”
“น้ารู้จักพ่อกับย่าของฉันหรือจ๊ะ” มาศถาม
“น้ารู้จักดีทีเดียว ถ้าไม่ได้แม่นายเภาและนายแม้น ไอ้หนูลูกน้าตายเสียแต่ยังเด็กแล้ว…”
นางเล่าถึงความหลังครั้งเก่าว่า ลูกชายของตนเองป่วยหนักเจียนตาย ตนและสามีไม่มีเงินทองจะรักษา จึงบ่ายหน้าไปขอพึงสมภารเจ้าวัดพุทไธศวรรย์ ขอให้ท่านเจียดยาให้ตามมีตามเกิด แต่สมภารท่านไปกิจนอกวัด นายแม้นซึ่งขณะนั้นยังศึกษาในสำนักวัดพุทไธศวรรย์จึงถามไถ่กิจธุระ นางเล่าทั้งน้ำตาถึงอาการเจ็บป่วยของบุตรชาย นายแม้นได้ฟังจึงกล่าวปลอบโยนว่า
‘เจ้าอย่าปรารมภ์ไปเลย อาการเช่นนี้กินยาสักสองเทียบก็หายแล้ว ไม่ใช่โรคร้ายแรงอันใด”
‘จะไม่ให้กังวลได้ฉันใดล่ะเจ้าคะนาย ยาหยูกนั้นแพงแรงนัก ลำพังตัวยาพื้นๆ ยังพอเสาะหามาต้มรักษากินกันเอง แต่ยาบางตัวไปขอเจียดที่ร้านซินแสขายยาก็แพงนัก ฉันคงหมดปัญญา’ นางพ้อขึ้น
นายแม้นยิ้มให้นางอย่างเมตตา แล้วสั่งบ่าวคนสนิทที่ติดตามมารับใช้นายที่วัดว่า ให้พานางไปที่เรือนแล้วเรียนแม่นายเภามารดาของตนว่า ขอยาห้ารากสำหรับแก้ไข้สองเทียบให้นางผู้นี้ไปรักษาลูก
ฝ่ายแม่นายเภาเมื่อทราบความก็ไม่ได้อิดเอื้อน สั่งให้บ่าวไปหยิบยาที่ห่อใส่กระดาษไว้แล้วมามอบให้นาง พลางพิศดูรูปร่างที่ซูบเซียวก็ถามด้วยความเมตตา ก็ทราบว่านางและสามีเป็นชาวบ้านนอก เพิ่งอพยพหนีโจรผู้ร้ายเข้ามาอยู่ใกล้พระนคร รับจ้างหากินไปวันๆ ซ้ำพอลูกล้มป่วยก็เลยไม่ได้ออกรับรับจ้างแลกข้าวมาไว้กิน
แม่นายเภาทราบก็ปรานี ร้องสั่งบ่าวไพร่ให้ไปตวงข้าวในยุ้งของเรือนและปลาแห้งที่มีมาให้หญิงผู้นี้
‘ข้าวเปลือกสองถังนี้ เอ็งไปตำไปสีคงพอได้กินไปสักเดือน ส่วนนี้ปลาแห้งไว้กินกับข้าวหนา กินข้าวอย่างเดียวไม่พอให้ฟื้นแรงดอก…หากมีอะไรขาดเหลือเอ็งก็มาขอปันที่เรือนข้าได้ บอกนางสอมันก็ได้…’
นางไม่ได้กลับไปที่เรือนของนายแม้นและแม่นายเภาอีก ลูกชายของนางกินยาเพียงเทียบเดียวก็หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อลูกชายหายดีนางและสามีก็ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน สุดท้ายได้ช่องทางเช่านาของเจ้าของที่ทำนา โดยแบ่งผลผลิตที่ได้แต่ละปีกันคนละครึ่งกับเจ้าของที่นา หมดหน้านาปีนั้นนางก็พ้นสภาพคนอดอยาก มีข้าวกินพอปากกันทั้งครอบครัว นางรำลึกคุณแม่นายเภาได้ไม่ลืม เมื่อได้ข้าวปีแรกนางก็ขนใส่เรือไปกราบแม่นายเภา แม่นายเภาเองก็ยินดีนักที่หญิงผู้นี้และสามีสามารถเลี้ยงตัวรอดได้ แม้จะไม่อยากรับสิ่งของแทนคุณ แต่ก็ไม่อยากให้อีกฝ่ายเสียน้ำใจ
‘สอ เอาสัดมาตวงข้าวเปลือกประมาณสักหนึ่งสัดตวงพอ’ แม่นายเภาสั่งบ่าวคนสนิท แล้วหันมาพูดกับหญิงคนนี้ว่า ‘ข้าขอบน้ำใจเอ็งนักที่คิดถึงข้า…บ้านข้าไม่ขาดแคลนข้าวเปลือกข้าวสารดอก แต่ข้าก็ขอรับไว้เพื่อฉลองน้ำใจเอ็งที่นึกถึงข้า…คราวหน้าไม่ต้องดอกนะ แค่เอ็งและผัวเลี้ยงดูตัวเองและลูกได้รอดปลอดภัยไม่อดอยากข้าก็ดีใจแล้ว’ แม่นายเภากล่าวด้วยความปรานี นางก้มกราบด้วยความสำนึกในพระคุณ ในใจก็มุ่งหมายจดไว้ว่าหากมีโอกาสต้องตอบแทนคุณแม่นายเภาและนายแม้นให้จงได้
บัดนี้นางได้มีโอกาสตอบแทนคุณแม่นายเภาและนายแม้นแล้ว…
“ทางเรือนของแม่นายคงถูกออกญายมราชกักบริเวณไม่ให้ไปไหนได้เป็นแน่แท้แล้ว เช่นนั้นใครเล่าจะส่งอาหารมาเลี้ยงดูคุณได้…” นางเปลี่ยนสรรพนามจากเจ้าหนูเป็นคุณทันทีเมื่อรู้ว่ามาศคือใคร “เอาเถิดฉันจะคอยส่งอาหารและของจำเป็นให้คุณเอง…อดทนเสียหน่อยเถิดนะเจ้าคะ ฉันเชื่อว่าที่เรือนของคุณคงหาทางช่วยคุณไปจากที่นี่อย่างเต็มที่ ทั้งนายแม้นและแม่นายเภาก็เมตตาช่วยเหลือคนไว้มาก คงไม่มีใครปล่อยให้คุณเป็นอันตรายไปดอกเจ้าค่ะ…ดึกแล้วนอนเสียหน่อยเถิดนะเจ้าคะ…ขยับมานอนกงนี้ดีกว่าเจ้าค่ะ กงนั้นมันมีช่องโหว่ของหลังคา ดึกหนักน้ำค้างตกใส่คุณจะป่วยเอาได้…” พูดไปนางก็จัดที่หลับที่นอนให้มาศอย่างตามมีตามเกิด นางเอาห่อสัมภาระของนางต่างหมอนให้มาศหนุน แล้วเอาผ้าขาวม้าอีกผืนที่นางเตรียมมาห่มคลุมให้มาศ…
“นอนเถิดหน้าเจ้าค่ะ…วันเวลายังอีกยาวไกล…” นางร้องเพลงกล่อมฮึมฮัมในลำคอ เหมือนกล่อมลูกน้อยที่กำลังร้องโยเยให้หลับใหล
ในวันที่เลวร้าย ในสถานที่ที่น่าหวาดกลัวสำหรับเด็กอย่างเขา การได้พบหญิงผู้นี้ทำให้มาศรู้สึกอบอุ่นหัวใจขึ้นมาบ้าง ก่อนที่เขาจะผล็อยหลับไปนั้น เขาได้พึมพำถามขึ้นว่า “น้าชื่ออะไรจ๊ะ…”
“จันจ้ะ…น้าชื่อจัน”
‘โอละเห่เอย เจ้าเหมือนตกทะเลละลอก
คลื่นซัดมาเหมือนจอก ละลอกซัดเหมือนแหน
พลัดพ่อและพลัดย่า น้านี่จะเลี้ยงดูแล
เจ้าหน้านวลอย่างดวงแข ข้าดูแลเพื่อแทนคุณ อุแม่นา…’
- READ บ่วงเวรา บทที่ 43 : พยาบาทคือเพลิงผลาญใจ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 42 : เก็บกวาด
- READ บ่วงเวรา บทที่ 41 : สำเร็จโทษ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 40 : ยาพิษ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 39 : คนมุ่งร้ายไม่ได้มีผู้เดียว
- READ บ่วงเวรา บทที่ 38 : ข่าวร้าย – ข่าวดี
- READ บ่วงเวรา บทที่ 37 : อุบายล่อเสือออกจากถ้ำ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 36 : จางวางอู๋วางหมาก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 35 : ปลูกสิ่งไรย่อมได้ผลนั้น
- READ บ่วงเวรา บทที่ 34 : ไขกลย้อนเกล็ด
- READ บ่วงเวรา บทที่ 33 : ย้อนเกล็ด
- READ บ่วงเวรา บทที่ 32 : เล่ห์หึงสา
- READ บ่วงเวรา บทที่ 31 : ระทดใจ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 30 : หนักหน่วงอก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 29 : ลังเลรัก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 28 : คืนสู่เจ้าของเดิม
- READ บ่วงเวรา บทที่ 27 : ข่าวจากแดนไกล - ดอกไม้เริ่มผลิบาน
- READ บ่วงเวรา บทที่ 26 : แหวนรอบของมารดา
- READ บ่วงเวรา บทที่ 25 : แก้กล
- READ บ่วงเวรา บทที่ 24 : มิตรจิตมิตรใจ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 23 : อ้ายใบ้หลานยายอุ่ม
- READ บ่วงเวรา บทที่ 22 : จารจดคุณไว้ในดวงจิต
- READ บ่วงเวรา บทที่ 21 : ผูกน้ำใจด้วยไมตรี
- READ บ่วงเวรา บทที่ 20 : ดอกไม้ช่อใหม่ในกุณฑี
- READ บ่วงเวรา บทที่ 19 : พาลใส่ไคล้ – พยานปากเอก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 18 : ธิดาออกหลวงโชฎึกฯ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 17 : ไฟสุมขอน
- READ บ่วงเวรา บทที่ 16 : เกิดมาเป็นเจ้าใครเขาก็คิดว่าสุขสบาย
- READ บ่วงเวรา บทที่ 15 : นางฉาย
- READ บ่วงเวรา บทที่ 14 : ปัทมราช
- READ บ่วงเวรา บทที่ 13 : วันเวลาผันผ่าน
- READ บ่วงเวรา บทที่ 12 : ชัยชนะอันแสนขม
- READ บ่วงเวรา บทที่ 11 : ตัดไม้อย่าไว้หนามหน่อ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 10 : สนองคุณ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 9 : ทางรอดเดียว
- READ บ่วงเวรา บทที่ 8 : ต่อรองผ่อนหนัก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 7 : ทางรอดที่ริบหรี่
- READ บ่วงเวรา บทที่ 6 : แก้ต่าง
- READ บ่วงเวรา บทที่ 5 : อุบายหมายประทุษ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 4 : เค้าลางหายนะ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 3 : พระเยาวราช
- READ บ่วงเวรา บทที่ 2 : ผูกบ่วงเวรา
- READ บ่วงเวรา บทที่ 1 : เรือนราชนิกูลแห่งกัมพุช