
บ่วงเวรา บทที่ 23 : อ้ายใบ้หลานยายอุ่ม
โดย : สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ
บ่วงเวรา นวนิยายรางวัลรองชนะเลิศ โครงการอ่านเอาก้าวแรก ๓ โดย สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ กับเรื่องราวของวังวนความรักและความแค้น ความมุ่งมั่นที่จะตอบแทน ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้สาสม แล้วความรักจะเยียวยาใจแก้ไขความแค้นได้จริงหรือ…อ่านเอาขอเชิญทุกท่านร่วมเพลิดเพลินไปกับนวนิยายพีเรียดสุดเข้มข้นเรื่องนี้ที่ anowl.co
หมู่บ้านชาวบ้านป่ากลางดงตั้งอยู่ชายขอบขัณฑสีมาอโยธยาต่อแดนกับยโสธรปุระ ชาวบ้านไม่ได้กำหนดว่าตนเป็นข้าขอบขัณฑสีมาอาณาจักรใด หากมีมูลนายฝั่งใดมาเรียกเก็บส่วยสาอากรเป็นของป่าพวกเขาก็ส่งให้ตามแต่เท่าที่มี หมู่บ้านนี้ไกลโขนักจึงไม่ค่อยมีมูลนายเข้ามาหาสู่บ่อยๆ นอกจากมีของต้องประสงค์จึงเข้ามาหามาสู่
ชาวหมู่บ้านพูดได้ทั้งภาษาสยามและภาษาชาวยโสธรปุระ แม้สำเนียงจะแปร่งปร่าแต่ก็สื่อสารกันรู้เรื่อง
ย่ำค่ำเข้าไต้เข้าไฟ ชายร่างร้ายผู้หนึ่งยังนั่งสานหวายเป็นเสื่อลำแพน เขากะเกณฑ์ว่าจะไว้ทำพื้นเตียงตั่งให้ยายอุ่มได้นอนพักกลางวัน เขาว่าเสื่อลำแพนที่สานด้วยหวายนี้ เมื่อประกอบกับโครงไม้ขอบเตียงตั่งแล้ว คนแก่ได้นอนก็สบายตัวนัก เพราะไม่นิ่มยวบยาบและร้อนระคายเหมือนนอนบนเมาะนอนในตอนกลางวัน แต่ก็ไม่แข็งกระด้างเหมือนนอนพื้นไม้กระดานทั่วไป
“เจ้าใบ้มากินข้าวเสียก่อนเถิด แล้วค่อยทำต่อ…” เสียงยายอุ่มเรียกชายร่างร้ายผู้นั้น
ชายที่ยายอุ่มเรียกว่าเจ้าใบ้ลุกขึ้นมากินอาหารอย่างว่าง่าย ยายอุ่มยังคิดถึงวันที่พบชายร่างร้ายที่นางเรียกว่าใบ้ได้ดี
วันนั้นเย็นย่ำหนักหนา ยายอุ่มเดินหาของป่าเพลิดเพลินจนเกินเวลา อีกเพียงชั่วหม้อข้าวเดือด ตะวันก็จะชิงพลบความมืดยามค่ำคืนจะเข้ามาแทน
ยามย่ำสันธโยบาตรวันนั้นน่ากลัวจนจับใจ ท้องฟ้าเป็นสีแดงคล้ำราวกับถูกละเลงด้วยเลือด อากาศรอบตัวก็นิ่งจนแน่นอัด ยายอุ่มรู้ด้วยสัญชาติชาวป่าว่าค่ำนี้น่าจะเกิดพายุใหญ่ จากตรงนี้ไปหากเดินตามทางที่สัญจรเมื่อขามา ก็น่าจะค่ำมืดเสียกลางทาง คบไต้คบไฟหาได้นำติดตัวมาจะลำบากในกลางทาง นางเฒ่าชำนาญทางในป่าจึงหมายลัดดงป่าละเมาะที่จะย่นระยะทางได้กว่าครึ่ง เพียงแต่จะต้องพบทางรกชัฏย่างเดินลำบากอยู่บ้าง แต่ก็น่าจะถึงกระท่อมก่อนพลบและยังพอทันที่จะเก็บงำข้าวของหุงหาอาหารได้ก่อนที่พายุจะเกิด
กลางป่าปกติไม่มีคนสัญจร นางอุ่มกำหนดหมายได้ว่าที่กึ่งทางลัดนี้จะมีลานดินอัดแน่นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ฤดูผสมพันธุ์ของนกยูงก็จะเห็นเหล่านกยูงตัวผู้มาลำแพนหางโอ้อวดเกี้ยวพานตัวเมีย ลางทีก็พบรอยเท้าเสือสางทิ้งรอยด้อมด้ามล่าเหยื่ออยู่ นางอุ่มเร่งสาวเท้าเต็มกำลังจนถึงลานดินที่ว่านั่น
แม้จะเป็นบ้านป่าแดนเถื่อน แต่ยายอุ่มก็ไม่เคยพบเห็นภาพชวนสยดสยองเช่นนี้ ภาพผู้คนนับสิบนอนตายเกลื่อนกล่นเลือดแดงฉานทั้งพื้น
‘ฉิบหายละทีนี้…’ นางอุ่มอุทานในใจ ‘…คาวเลือดคลุ้งไปอย่างนี้ อีกสักกะเดี๋ยวสัตว์ร้ายกินเนื้ออย่างเสือสาง จิ้งจอก หมาใน ที่หากินตอนกลางคืนต้องตามกลิ่นมากินซากเป็นแน่แท้’ นางอุ่มกลัวว่าตนจะได้อันตรายจากสัตว์ร้ายกินซาก จึงหมายเร่งไปให้พ้นลานดินกลางป่า
จังหวะที่จะก้าวเท้าข้ามผ่านร่างหนึ่งไป พลันก็มีเสียงร้องครางเบาๆ ดังขึ้น แล้วมือหนึ่งก็คว้าที่ข้อเท้านางอุ่มก่อนจะหลุดออกด้วยเพราะไร้เรี่ยวแรง
นางอุ่มร้องหวีดด้วยตกใจ ก่อนหันไปดูเจ้าของมือนั้น แต่แรกคิดว่าเป็นซากผีที่เส้นเอ็นกระตุกตามธรรมชาติ แต่เมื่อหันกลับไปเพ่งพิศใกล้ๆ ก็เห็นว่าที่คิดว่าเป็นซากผี แท้จริงยังคงมีชีวิตอยู่ แม้จะมีลมหายใจอยู่รวยรินก็ตาม
แต่แรกนางอุ่มจะฝืนใจดำปล่อยให้ตายไปตามยถากรรม แต่เมื่อจ้องหน้าชายผู้นั้น พลันความรู้สึกโศกศัลย์เก่าๆ ที่นอนเนืองอยู่ในใจก็เกิดฟุ้งขึ้นมา ร่างที่เต็มไปด้วยบาดแผล บางแผลก็ฉกรรจ์นัก คราบเลือดแห้งแข็งเกรอะกรังจนดูน่าบัดสีทุเรศใจ นางอุ่มพิศร่างที่น่าสังเวชก็หวนคิดถึงลูกชายที่จากไปของนาง หากมันยังไม่ตายจากอายุมันคงเท่าอ้ายผู้นี้
นางอุ่มเป็นหม้ายผัวตายมาหลายปี โชคยังดีที่มีลูกชายไว้ค่อยพึ่งพิงดูแล หลังจากเสียผัวไปไม่นาน ลูกชายที่นางหวังพึ่งพิง ก็มาร่ำลาตามขบวนคนเที่ยวค้าไปค้าของป่ามีค่าต่างๆ ด้วยหวังว่าจะเก็บหอมรอมริบเงินทองที่ได้จากการค้าขายให้มากพอ จะได้พานางอุ่มไปตั้งตัวในเมือง ให้แม่ตัวได้อยู่ช่างอยู่ดี แต่การไม่เป็นดังหวัง
วันหนึ่งมีคนวิ่งมาบอกนางว่า ขบวนเที่ยวค้าที่ลูกของนางอาศัยไปด้วยนั้นถูกโจรป่าดักปล้นกลางทาง ผู้คนทั้งหลายต่างทิ้งทรัพย์สินหนีตายกันอลหม่าน เมื่อกลับมาร่วมตัวกันก็ไม่พบลูกชายของนางเสียแล้ว
นางอุ่มแทบสิ้นสติเมื่อฟังข่าว นางลุกแล่นตามลูกเข้าป่าไปทันที นางวิ่งสุดแรงหมายทางตามที่คนบอกข่าวแจ้งไว้ ชั่วครึ่งวันนางอุ่มพบร่างลูกชายของนางนอนฟุบหน้า เลือดที่ไหลท่วมนั้น บัดนี้แห้งเกรอะกรังเสียแล้ว นางเห็นภาพแสนทรมานใจ ภาพรอยเลือดถูไถเป็นทางยาวเรื่อยมา ลูกชายของนางคงกระเสือกกระสนหมายจะกลับบ้านจนหมดลมตรงนี้ ถ้าวันนั้นมีใครสักคนช่วยพาลูกสุดใจของนางกลับบ้านเขาก็คงไม่ตาย แต่ถ้าเขาสิ้นบุญต้องตาย ก็คงจะได้ตายในอ้อมอกแม่อย่างนาง ไม่ต้องอ้างว้างเป็นผีไร้ญาติเท้งเต้งในกลางป่าอย่างนี้
‘ถ้าวันนั้นมีคนช่วย ลูกข้าคงไม่ตายอย่างอนาถกลางป่า…ถ้าวันนั้นมีคนช่วย ลูกข้าคงไม่ต้องตายอย่างอนาถ’ เมื่อภาพของลูกชายกลับซ้อนทับภาพชายคนที่กำลังจะสิ้นใจลงต่อหน้า ทำให้นางอุ่มเกิดความรู้สึกอยากช่วยให้เขารอดพ้นจากความตาย นางอุ่มอยากบรรเทาความผิดบาปในใจที่ไม่อาจช่วยเหลือลูกชายของตนได้ทันท่วงที แรงฮึดของหญิงสูงวัยที่กรำงานหนักมาทั้งชีวิต ทำให้นางสามารถยกชายคนหนึ่งขึ้นใส่หลังแบกพากลับมายังบ้านอย่างทุลักทุเล ท่ามกลางพายุฝนที่เริ่มคะนองอย่างอึงอล
นางอุ่มดูแลรักษาพยาบาลชายนิรนามอย่างประคบประหงม ชาวบ้านไถ่ถามว่าเขาเป็นใคร นางอุ่มก็มุสาว่าเป็นหลานชายที่มาเยี่ยมแต่ถูกโจรป่าดักปล้น ชาวบ้านได้ฟังก็ได้แต่ทอดถอนใจสงสารชะตากรรมของนางอุ่มที่ทั้งลูกทั้งหลานต้องมาเป็นเหยื่อสังเวยให้โจรชั่ว
ผ่านไปหลายเดือน กว่าชายนิรนามที่นางช่วยจะแข็งแรง นางอุ่มแปลกใจที่ไม่ว่านางจะถามอะไรชายผู้นี้ก็ไม่ตอบ แต่แรกคิดว่าเขาเป็นหูหนวกและเป็นใบ้ นางจึงเรียกเขาว่าเจ้าใบ้ซึ่งเขาก็ไม่ได้มีทีท่ารังเกียจรังงอนชื่อนี้
แม้จะแก่จะเฒ่าแต่นางอุ่มก็รู้จักสังเกตสังกา นางสังเกตจนแน่ใจว่าเจ้าใบ้นี้ฟังนางพูดรู้เรื่องและเข้าใจทุกประการไม่ได้หูหนวก เมื่อไม่ได้หูหนวกปากก็ไม่น่าจะใบ้ เพียงแต่เขาไม่ยอมพูดเท่านั้นเอง ‘พูดน้อยเรื่องก็น้อย ไม่พูดก็ไม่มีเรื่อง ก็ดีเหมือนกัน’
พอเจ้าใบ้หายจากอาการบาดเจ็บก็เริ่มลงมือทำงาน แรกๆ เขาก็เรียนรู้การหาของป่าต่างๆ จากนางอุ่มและเพื่อนบ้าน เมื่อชำนาญไพรแล้ว เขาก็ออกแสวงหาของป่าแต่เพียงผู้เดียวให้นางอุ่มได้พักอยู่บ้าน
นางอุ่มประหลาดใจอยู่ไม่น้อยที่เจ้าใบ้รู้ว่าของป่าใดมีราคามากน้อยเมื่อนำไปขายในเมือง ซ้ำยังรู้ว่าของใดควรเก็บงำไว้ขายภายหน้าจะได้ราคาสูง โดยให้นางอุ่มออกหน้านำไปขาย อีกสิ่งที่นางอุ่มประหลาดใจคือเจ้าใบ้มีวิชาช่างที่ชำนาญ หลังจากปีแรกที่อยู่กับนางจนชำนาญทางในป่าไพรแล้ว เขาก็เริ่มเสาะหาต้นไม้ใหญ่แข็ง ตัดแล้วว่าจ้างให้ช้างชักลากมาไว้ในบริเวณบ้าน ตากจนไม้แห้งดีแล้วค่อยแปรรูปเป็นเสาเป็นฝาเรือน เขาทำทีละนิดละน้อยจนส่วนประกอบครบ ก็ขอแรงเพื่อนบ้านมาช่วยยกเรือนให้นางอุ่ม แม้จะขนาดไม่ใหญ่นักแต่ก็มันคงแข็งแรงกว่ากระท่อมที่ทำจากฟากไม้ไผ่
สิ่งที่นางอุ่มประหลาดใจอีกอย่างคือ คราใดที่นางและเจ้าใบ้เอาของป่าเข้าไปขายในเมือง เจ้าใบ้จะขอให้นางค้างในเมืองเสียก่อนหลายๆ คืน แล้วมันก็หายไปเป็นวันบ้าง สองถึงสามวันบ้าง เมื่อกลับมานางถามว่าหายไปที่ใดมันก็ไม่ตอบเป็นเช่นนี้เสมอจนนางคร้านที่จะถาม
เจ้าใบ้และนางอุ่มต่างดูแลกันและกันอย่างดีราวกับเป็นแม่ลูกกันแท้ๆ จนวันนี้เวลาก็ผ่านล่วงไปเป็นปีที่สิบ นางอุ่มเริ่มชราลงกว่าเดิม หูตาฝ้าฟางเรี่ยวแรงก็ถดถอยลงทำงานได้สักหน่อยก็อ่อนล้า กลางวันต้องนอนพักเอาแรงนานกว่าเคยตามประสาคนสูงอายุ
เมื่อหลายวันก่อนนางเปรยว่านอนบนตั่งไม้กระดานก็ปวดหลังนัก จะเอาเมาะมาปูรองนอนก็ร้อนเหงื่อออกให้ระคายผิว เจ้าใบ้ได้ยินเช่นนั้นก็ลงมือตีโครงขอบตั่งแล้วลงมือสานหวายเป็นเสื่อลำแพนเพื่อทำเป็นพื้นตั่งให้นางอุ่มนอนพัก เสื่อลำแพนหวายไม่แข็งกระด้างเวลานอนอ่อนยวบพอดีซ้ำยังระบายอากาศได้ดี เหมาะแก่การให้นางอุ่มนอนพักคลายร้อนและเหนื่อยล้าในช่วงกลางวัน…นางอุ่มชื่นใจนักหนา ไม่ว่านางจะเอ่ยปากอะไร เจ้าใบ้ก็ไม่เคยเพิกเฉย เขาพยายามดูแลให้นางเป็นสุขเสมอตามอัตภาพชาวบ้านป่า เช่นนี้มิไยที่นางอุ่มจะรักเจ้าใบ้ดั่งลูกในอุทร
แม้ลึกๆ นางอุ่มจะรู้ว่าเจ้าใบ้คนนี้หาใช่คนธรรมดาสามัญ เพราะทั้งความรู้และกิริยาก็ไม่สมเป็นชาวบ้านป่า จะว่าเป็นผู้ดีชาวกรุงก็ว่าได้ เพียงแต่รูปร่างที่พิกลพิการผิดไปเพราะได้รับบาดเจ็บแต่เท่านั้น นางอุ่มรู้ดีว่าเขาต้องมีอะไรบางอย่างที่ไม่อาจบอกนาง และรู้ว่าวันหนึ่งเขาต้องจากนางไปตามทางของเขา เพียงแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไรเท่านั้นเอง…
- READ บ่วงเวรา บทที่ 43 : พยาบาทคือเพลิงผลาญใจ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 42 : เก็บกวาด
- READ บ่วงเวรา บทที่ 41 : สำเร็จโทษ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 40 : ยาพิษ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 39 : คนมุ่งร้ายไม่ได้มีผู้เดียว
- READ บ่วงเวรา บทที่ 38 : ข่าวร้าย – ข่าวดี
- READ บ่วงเวรา บทที่ 37 : อุบายล่อเสือออกจากถ้ำ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 36 : จางวางอู๋วางหมาก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 35 : ปลูกสิ่งไรย่อมได้ผลนั้น
- READ บ่วงเวรา บทที่ 34 : ไขกลย้อนเกล็ด
- READ บ่วงเวรา บทที่ 33 : ย้อนเกล็ด
- READ บ่วงเวรา บทที่ 32 : เล่ห์หึงสา
- READ บ่วงเวรา บทที่ 31 : ระทดใจ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 30 : หนักหน่วงอก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 29 : ลังเลรัก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 28 : คืนสู่เจ้าของเดิม
- READ บ่วงเวรา บทที่ 27 : ข่าวจากแดนไกล - ดอกไม้เริ่มผลิบาน
- READ บ่วงเวรา บทที่ 26 : แหวนรอบของมารดา
- READ บ่วงเวรา บทที่ 25 : แก้กล
- READ บ่วงเวรา บทที่ 24 : มิตรจิตมิตรใจ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 23 : อ้ายใบ้หลานยายอุ่ม
- READ บ่วงเวรา บทที่ 22 : จารจดคุณไว้ในดวงจิต
- READ บ่วงเวรา บทที่ 21 : ผูกน้ำใจด้วยไมตรี
- READ บ่วงเวรา บทที่ 20 : ดอกไม้ช่อใหม่ในกุณฑี
- READ บ่วงเวรา บทที่ 19 : พาลใส่ไคล้ – พยานปากเอก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 18 : ธิดาออกหลวงโชฎึกฯ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 17 : ไฟสุมขอน
- READ บ่วงเวรา บทที่ 16 : เกิดมาเป็นเจ้าใครเขาก็คิดว่าสุขสบาย
- READ บ่วงเวรา บทที่ 15 : นางฉาย
- READ บ่วงเวรา บทที่ 14 : ปัทมราช
- READ บ่วงเวรา บทที่ 13 : วันเวลาผันผ่าน
- READ บ่วงเวรา บทที่ 12 : ชัยชนะอันแสนขม
- READ บ่วงเวรา บทที่ 11 : ตัดไม้อย่าไว้หนามหน่อ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 10 : สนองคุณ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 9 : ทางรอดเดียว
- READ บ่วงเวรา บทที่ 8 : ต่อรองผ่อนหนัก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 7 : ทางรอดที่ริบหรี่
- READ บ่วงเวรา บทที่ 6 : แก้ต่าง
- READ บ่วงเวรา บทที่ 5 : อุบายหมายประทุษ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 4 : เค้าลางหายนะ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 3 : พระเยาวราช
- READ บ่วงเวรา บทที่ 2 : ผูกบ่วงเวรา
- READ บ่วงเวรา บทที่ 1 : เรือนราชนิกูลแห่งกัมพุช