
บ่วงเวรา บทที่ 8 : ต่อรองผ่อนหนัก
โดย : สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ
บ่วงเวรา นวนิยายรางวัลรองชนะเลิศ โครงการอ่านเอาก้าวแรก ๓ โดย สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ กับเรื่องราวของวังวนความรักและความแค้น ความมุ่งมั่นที่จะตอบแทน ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้สาสม แล้วความรักจะเยียวยาใจแก้ไขความแค้นได้จริงหรือ…อ่านเอาขอเชิญทุกท่านร่วมเพลิดเพลินไปกับนวนิยายพีเรียดสุดเข้มข้นเรื่องนี้ที่ anowl.co
ตั้งแต่วันนั้นจางวางอู๋ก็ถือว่าตนเป็นนายประกัน จึงทำหน้าที่เฝ้าสองย่าหลานด้วยการพำนักอยู่ในเรือนของนายแม้น แม้จะอ้างว่าต้องควบคุมดูแลไม่ให้หลบหนี แต่ความจริงแล้วจางวางอู๋ไม่ไว้วางใจต่อสถานการณ์ เขาเกรงว่าหากออกญายมราชกลับมาเล่นงานสองย่าหลานอีก เขาจะได้ยื่นมือช่วยเหลือได้ทันท่วงที
นางเภาและมาศหลานชายนิ่งสงบสุขุมอย่างน่าประหลาดใจ แต่ในความนิ่งสงบนั้น จางวางอู๋ก็สังเกตได้ว่าทั้งสองมีความกังวลแฝงอยู่ไม่น้อย ด้วยเพราะไม่ยอมกินดื่มสิ่งใด
“รับข้าวเสียหน่อยเถิดแม่นาย แม่นายไม่กิน เจ้ามาศก็ไม่กินตามแม่นายไปด้วย” จางวางอู๋กล่าวขึ้น
“ฉันไม่หิวดอกท่านจางวาง มันตื้อตันไปหมดสิ้น กลืนอะไรไม่ใคร่ลง” นางเภาตอบ
“ฝืนเสียหน่อยเถิด ฉันจะให้บ่าวต้มข้าวให้ออกเละๆ สักหน่อย แม่นายจะได้กลืนคล่องๆ…เจ้าเล่าเจ้ามาศ ใคร่กินอะไรบ้างหรือไม่”
มาศส่ายหน้าเป็นคำตอบ
“ฉันให้คนไปสืบดูละแวกต่อเขตแดนระหว่างอโยธยากับยโสธรปุระแล้ว ไม่นานน่าจะได้ข่าวพ่อแม้นมาบ้าง แต่อย่างไรเสียแม่นายต้องดูแลตัวเองให้ดี เจ้ามาศยังต้องมีแม่นายเป็นที่พึ่งพา”
นางเภาเหลือบตาไปมองหลาน นางโอบหลานมากอดแล้วลูบหัวด้วยความสงสาร ‘จริงสิ บัดนี้พ่อแม้นก็ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีประการใด หากนางต้องล้มหายตายจากไปอีกคน หลานน้อยที่น่าสงสารผู้นี้จะอยู่อย่างไร’ นางเภาคิดได้แล้วจึงร้องสั่ง
“สอ เอ็งไปยกสำรับมาเถิด ทอดปลาเห็ดมาให้พ่อมาศด้วยสักจาน…พวกเอ็งก็หาอะไรใส่ปากใส่ท้องบ้างเถิดหนา อย่ามาอดตามข้าเลย”
นางสอรับคำแล้วรีบลงเรือนไปเตรียมสำรับคับค้อนตามคำสั่ง
ยังไม่ทันได้ตั้งสำรับอาหาร ออกญายมราชก็ย่ำขึ้นเรือน ตามมาด้วยบริวารจำนวนมาก ไม่ทันได้ถามไถ่ คนของออกญายมราชก็จู่ลู่เข้าไปค้นทรัพย์สมบัติมีค่าออกมาตั้งไว้กลางเรือน อีกส่วนก็ตามไปคร่าบ่าวไพร่ข้าทาสข้าไทของเรือนนี้
นางเภายังคงสงบนิ่งเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัว นางยึดเอาตัวหลานชายมากอดไว้แน่น เหมือนกับว่าหลานชายผู้นี้คือสมบัติมีค่าเดียวที่นางไม่อาจละวางไปได้ เป็นจางวางอู๋ที่เป็นเดือดเป็นร้อน ร้องถามด้วยความตระหนก
“นี่มันอะไรกันท่านออกญา…”
“พ่ออยู่หัวทรงมีพระราชบัญชาลงมาแล้ว…” ออกญายมราชตอบเพียงเท่านั้น แล้วเร่งให้คนของตนรื้อค้นข้าวของ และคร่าคอบ่าวไพร่มากองรวมกัน
ออกญามากเล่ห์เลี่ยงที่จะไม่ตอบว่าทรงมีพระราชบัญชาให้จัดการตามสมควร เขาอ้างแต่เพียงว่ามีพระราชบัญชา และปล่อยให้ทุกคนเข้าใจไปเองว่าสิ่งที่เขาลงมือกระทำนั้นคือพระราชบัญชา
นางเภานิ่งดูเป็นครู่ จึงบอกแก่จางวางอู๋ว่า “ท่านจางวางเจ้าคะ เห็นทีว่าพ่ออยู่หัวจะทรงให้ริบระบาดเรือนของฉันแล้ว รบกวนท่านจางวางช่วยเป็นธุระด้วยเถิด…ในเรือนของฉันมีอวิญญาณกทรัพย์จำพวกเงินคำก้อน ทั้งเครื่องประดับ เครื่องกระเบื้อง เครื่องทองและตำรับตำราจำนวนมาก ส่วนวิญญาณกทรัพย์จำพวกวัวควายช้างม้าและข้าคนก็มาก ขอให้ท่านจางวางช่วยทำบาญชีของที่ต้องริบนี้ถวายแด่พ่ออยู่หัวด้วยเถิด…ส่วนอ้ายอีพวกนั้น”…นางเภาชี้ที่ไปนางสอและคนงานอีกพวกหนึ่ง “…มันเป็นข้าไทหาใช่ข้าทาส มันเป็นสิทธิ์ขาดแก่ตัวเอง ฉะนั้นขอให้ท่านไล่มันออกไปให้พ้นเรือน จะริบระบาดพวกมันหาได้ไม่…ส่วนพวกทาสที่มีสารกรมธรรม์ซื้อขายนั้นก็สุดแล้วแต่จะจัดการ สมบัติในเรือนนี้ล้วนแล้วแต่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ได้มาแต่ครั้งพ่อแม่ของข้าและผัวข้าได้สร้างสั่งสมมาด้วยเพราะพระบารมีของพ่ออยู่หัวได้อุปถัมภ์ค้ำชู หากจะทรงริบระบาด ข้าก็ได้แต่หวังใจว่าของทุกอย่างจะกลับเข้าเป็นของหลวงเท่านั้น” นางเภาชี้แจงอย่างมีความนัย
จางวางอู๋ระลึกขึ้นได้ก็เรียกข้าของตนมาจดทำบัญชีโดยเร่งด่วน
ออกญายมราชรู้ดีว่าเรือนนี้มีทรัพย์อยู่จำนวนมาก ด้วยท่านผู้เจ้าของเรือนนอกจากเป็นช่างแล้ว ยังรู้จักการค้าขาย และเลือกหาสินค้าที่เป็นที่ต้องใจของวาณิชต่างแดน แว่วว่าเมื่อคราวก่อนได้ตกลงค้าขายขนนกกระเต็นกับวาณิชชาวจีนได้ทองก้อนมาหลายร้อยตำลึงนัก แต่แรกเมื่อเห็นโอกาสเขาก็ตั้งใจว่าทำอุบายริบระบาดทรัพย์ในเรือนนี้แล้วยักไว้เป็นส่วนของตัวสักส่วนหนึ่ง ที่เหลือจึงนำส่งเข้าเป็นของหลวง เขามองทรัพย์สินที่มากองรวมกันตรงหน้า ‘โถพื้นขาวเขียนลายน้ำเงินเข้มใบนั้น น่าจะเป็นเครื่องกระเบื้องสมัยราชวงศ์ฮั่น แค่โถนี้ใบเดียวก็มีมูลค่าที่สามารถเลี้ยงไพร่ทาสในบ้านเขาได้เกือบทั้งปี’
คิดมาก็น่าเสียดาย หากจางวางอู๋นั้นทำบัญชีทรัพย์สินที่ริบระบาดขึ้นมาอีกฉบับ ของทั้งหมดก็ต้องเข้าเป็นของหลวง เขาไม่อาจยักเก็บไว้เป็นประโยชน์ตนแม้แต่เบี้ยเดียว…สมองคนคดย่อมแล่นฉิวในทางคด พลันก็คิดทางหาประโยชน์เข้าพกเข้าห่อได้
“ในเมื่อท่านจางวางกรุณาช่วยทำบาญชีแล้ว กระผมก็คงไม่ต้องลำบาก เช่นนั้นผมมาจัดการแม่กับลูกอ้ายคนกบฏแล้วกัน…เฮ้ย พวกมึงเอาขื่อคามาจำอีสองย่าหลานนี้ไว้ วันนี้กูจะเอามันไปจำไว้ที่ตะรางในเรือนกูเสียก่อน”…เขาแสร้งพูดต่อดังๆ หนักๆ ว่า “…พ่ออยู่หัวให้สิทธิ์กูในการจัดการพวกมันตามสมควร กูก็ใคร่ได้ตรึกตรองให้ดีว่าจะจัดการกับพวกมันอย่างไรดี…ถึงจะสมควร”
จางวางอู๋ได้ยินคำว่า ‘จัดการตามสมควร’ ก็รู้ว่าแท้จริงแล้วพ่ออยู่หัวไม่ได้โปรดจะเอาชีวิตสองย่าหลาน อาจจะเพราะยังทรงแคลงพระทัยกับเหตุการณ์ที่เกิดว่ายังมีหลักฐานไม่หนักแน่นพอ หรืออาจจะเพราะเกรงใจเจ้านายและขุนนางที่เป็นญาติเกี่ยวดองกับคนในเรือนนี้ จึงไม่อาจจัดการอย่างเด็ดขาดรุนแรง จึงผลักภาระทั้งปวงให้ออกญายมราชรับผิดชอบ เมื่อคิดได้ดังนี้ก็เห็นทางรอดของสองย่าหลาน ชีวิตคนสำคัญกว่า อ้ายเชื้อผู้นี้โลภโมโทสันหากได้ผลประโยชน์ชิ้นใหญ่คงน่าจะพอทำให้มันละเว้นสองย่าหลานนี้ได้กระมัง
จางวางอู๋จึงเริ่มทิ้งเหยื่อล่อชิ้นแรก
“ใต้เท้า ความจริงกระผมก็เกลียดนักเรื่องการทำบาญน้ำบาญชี ซับซ้อนวุ่นวาย หากใต้เท้าไม่รังเกียจจะรับเป็นธุระให้กระผมก็ยินดี ส่วนทางกระผมก็จะได้ช่วยจัดการสองย่าหลานนี้แทนใต้เท้า…เนรเทศเป็นอย่างไรขอรับ…” จางวางอู๋ชิงเสนอหนทางที่สองย่าหลานจะได้ไม่โดนโทษประหาร “…ต้องพระราชอาญาริบราชบาทว์กับเนรเทศก็น่าจะเพียงพอนะขอรับ”
ออกญายมราชนิ่งคิด จางวางอู๋เริ่มเห็นว่าออกญายมราชน่าจะคล้อยตาม จึงกล่าวเปิดช่องให้เขาได้ผลประโยชน์ชิ้นใหญ่
“กระผมเห็นแล้วว่าทรัพย์สมบัติในเรือนนี้มีเพียงน้อยนิด แต่ถึงอย่างไรใต้เท้าก็ต้องใช้ความรอบคอบในการจัดการ ดังนั้นกระผมจึงขอรับอาสาเป็นธุระจัดการเอาสองย่าหลานนี้เนรเทศไปจากอโยธยา ส่วนเรือน ทรัพย์สินที่ต้องถูกริบระบาดนี้ก็ต้องขอความกรุณาใต้เท้าจัดการแต่ลำพังเถิดขอรับ” จางวางอู๋กล่าวเปิดทางให้ออกญายมราชหาประโยชน์จากการริบทรัพย์ในเรือนนี้ เพื่อหวังให้เขาละจากสองย่าหลาน
“เนรเทศหรือท่านจางวาง…” ออกญายมราชถามขึ้น จางวางอู๋พยักน้ารับ “…เนรเทศไปที่ใดดีเล่าขอรับ” ออกญายมราชถามหยั่งเชิง
“ส่งไปพริบพรีดีไหมล่ะขอรับ…” จางวางอู๋คิดมาแต่ต้นว่า เมืองพริบพรีหรือเพชรบุรีนั้นแล้วที่ควรส่งสองย่าหลานไปอยู่ ด้วยสภาพบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ไม่แร้นแค้น ไม่มีศึกติดเมืองอย่างหัวเมืองฝ่ายเหนือขณะนี้ อีกทั้งเขายังรู้จักกับออกญาเพชรบุรีและมีเพื่อนชาวจีนค้าสำเภาคุมบริเวณปากอ่าวเพชรบุรี ได้ฝากฝังสองย่าหลานไว้ที่นั้นคงพอวางใจ
“เมืองพริบพรี กระผมไม่เห็นสม ด้วยปากอ่าวเมืองพริบพรีสามารถลงเรือข้ามไปเมืองกัมพุชได้ กระผมส่งพวกมันไปพริบพรีก็ไม่เท่ากับปล่อยเสือเข้าป่าหรือขอรับท่านจางวาง…” ออกญายมราชท้วงขึ้น
จางวางอู๋ได้ฟังก็ประเมินได้ว่า ออกญายมราชน่าจะงับผลประโยชน์คือทรัพย์สมบัติของเรือนนี้ที่เขาวางล่อไว้ ด้วยเขาไม่ได้ขัดเรื่องโทษเนรเทศ…เอาเถิดโอนอ่อนไปก่อน รักษาชีวิตไว้ได้ก็ยังพอมีความหวัง เหลือขุนเขาไว้ไยต้องกลัวขาดแคลนฟืน
“เช่นนั้นใต้เท้าเห็นว่าควรเนรเทศไปอยู่ที่ใดดีเล่าขอรับ…”
“หลายวันก่อนเห็นกรมการเมืองเชลียงที่คุมเตาเผาเครื่องกระเบื้องของหลวงเปรยว่าขาดคนงาน”
“ก็มีข่าวว่าจะเกิดสงครามชิงเมืองเชลียงขึ้นหนาหูเช่นนั้น ผู้คนก็ล้วนหลบหนีภัยสงครามกันไปอยู่ตามเมืองต่างๆ เสียสิ้น จะเหลือใครมาทำงานกันเล่าขอรับ” จางวางอู๋ท้วงขึ้น
“เพราะเช่นนั้นอย่างไรขอรับ กระผมจึงคิดว่าควรเนรเทศมันไปใช้แรงงานที่เมืองเชลียง อย่างน้อยๆ มันจะได้มีโอกาสทำคุณไถ่โทษบ้าง…”
จางวางอู๋ทบทวนความทรงจำและข่าวสารเกี่ยวกับเมืองเชลียงที่กำลังมีข่าวหนาหูว่า กำลังจะมีศึกระหว่างอโยธยาศรีรามเทพนครกับนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เพื่อชิงเมืองเชลียงนี้ แม้ภายนอกจะเป็นศึกเพื่อประกาศพระบรมเดชานุภาพของกษัตริยาธิราชเจ้าทั้งสองอาณาจักร แต่แท้จริงแล้วเมืองเชลียงนี้กลับมีความสำคัญในเชิงการเป็นเมืองสะสม ด้วยเชลียงสามารถผลิตเครื่องกระเบื้องชั้นดีส่งขายไปทั่วละแวกนี้ ดังนั้นจึงหมายความว่าเมืองเชลียงเป็นแหล่งผลิตสินค้าชั้นดีที่สามารถนำรายได้เข้าสู่อาณาจักรที่ครอบครอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งสองอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เสมอกันจะขับเคี่ยวเพื่อแย่งชิงเมืองนี้
นั่นคือเรื่องของเจ้านายผู้ปกครอง ส่วนอาณาประชาราษฎรที่อยู่ท่ามกลางสงครามนั้นเหล่าคือผู้ที่ได้ยาก จางวางอู๋กังวลว่าหากสองย่าหลานต้องถูกเนรเทศไปใช้แรงงานยังเตาเผาเครื่องกระเบื้องที่เมืองเชลียงนั้น นอกจากความทุกข์ยากจากการใช้แรงงานแล้ว ยังต้องหวาดระแวงกับสงครามที่กำลังจะก่อตัวขึ้นอีกประการหนึ่ง
เมืองเชลียงไร้ปราการป้องกัน อยู่ห่างจากเมืองศรีสัชชนาลัยซึ่งสร้างใหม่ภายหลังเมืองเชลียงออกไปประมาณสองถึงสามร้อยเส้น เดินทางเร่งรีบเพียงครึ่งวันก็ถึงศรีสัชชนาลัย จางวางอู๋ทบทวนความทรงจำก็ระลึกได้ว่าศรีสัชนาลัยเป็นเมืองใหญ่มีกำแพงปราการมั่นคง หากเกิดศึกสองย่าหลานอพยพหนีเข้าศรีสัชนาลัยก็คงพอที่จะปลอดภัย เอาเถิดเดี๋ยวเราหาเส้นสายเพื่อนพ่อค้าที่ซื้อขายวายล่องอยู่ในละแวกนั้น ฝากฝังให้ดูแลสองย่าหลานนี้พอประทังไปก่อน วันหน้าค่อยขยับขยายให้ทั้งสองอยู่ดีขึ้น
“เนรเทศไปเชลียงก็ได้ขอรับใต้เท้า…กระผมจะส่งสองย่าหลานไปเสียวันนี้เลย รบกวนใต้เท้าจัดการเรื่องริบระบาดทรัพย์ในเรือนนี้ให้เรียบร้อยเถิด” จางวางอู๋รีบอาสาด้วยเกรงว่าออกญาผู้เจ้าเล่ห์จะเปลี่ยนใจ
“อ้ายเสม พรุ่งนี้เช้าเอ็งกับพวกอีกสามคน ตามคนของท่านจางวางคุมอีเภาไปส่งไว้ที่เชลียง เอาหนังสือของกูไปส่งไปแก่นายเตาที่อีเภาต้องไปใช้แรงงานด้วย…อ้ายบางมึงและพวกคุมอ้ายมาศบุตรชายอ้ายแม้นไปไว้ที่ตะรางในเรือนกูเสียบัดเดี๋ยวนี้…พ้นวันพระนี้ก็จะล้างให้สิ้น…ละไว้ก็จะเป็นเสี้ยนหนามต่อพ่ออยู่หัว !”
- READ บ่วงเวรา บทที่ 43 : พยาบาทคือเพลิงผลาญใจ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 42 : เก็บกวาด
- READ บ่วงเวรา บทที่ 41 : สำเร็จโทษ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 40 : ยาพิษ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 39 : คนมุ่งร้ายไม่ได้มีผู้เดียว
- READ บ่วงเวรา บทที่ 38 : ข่าวร้าย – ข่าวดี
- READ บ่วงเวรา บทที่ 37 : อุบายล่อเสือออกจากถ้ำ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 36 : จางวางอู๋วางหมาก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 35 : ปลูกสิ่งไรย่อมได้ผลนั้น
- READ บ่วงเวรา บทที่ 34 : ไขกลย้อนเกล็ด
- READ บ่วงเวรา บทที่ 33 : ย้อนเกล็ด
- READ บ่วงเวรา บทที่ 32 : เล่ห์หึงสา
- READ บ่วงเวรา บทที่ 31 : ระทดใจ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 30 : หนักหน่วงอก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 29 : ลังเลรัก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 28 : คืนสู่เจ้าของเดิม
- READ บ่วงเวรา บทที่ 27 : ข่าวจากแดนไกล - ดอกไม้เริ่มผลิบาน
- READ บ่วงเวรา บทที่ 26 : แหวนรอบของมารดา
- READ บ่วงเวรา บทที่ 25 : แก้กล
- READ บ่วงเวรา บทที่ 24 : มิตรจิตมิตรใจ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 23 : อ้ายใบ้หลานยายอุ่ม
- READ บ่วงเวรา บทที่ 22 : จารจดคุณไว้ในดวงจิต
- READ บ่วงเวรา บทที่ 21 : ผูกน้ำใจด้วยไมตรี
- READ บ่วงเวรา บทที่ 20 : ดอกไม้ช่อใหม่ในกุณฑี
- READ บ่วงเวรา บทที่ 19 : พาลใส่ไคล้ – พยานปากเอก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 18 : ธิดาออกหลวงโชฎึกฯ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 17 : ไฟสุมขอน
- READ บ่วงเวรา บทที่ 16 : เกิดมาเป็นเจ้าใครเขาก็คิดว่าสุขสบาย
- READ บ่วงเวรา บทที่ 15 : นางฉาย
- READ บ่วงเวรา บทที่ 14 : ปัทมราช
- READ บ่วงเวรา บทที่ 13 : วันเวลาผันผ่าน
- READ บ่วงเวรา บทที่ 12 : ชัยชนะอันแสนขม
- READ บ่วงเวรา บทที่ 11 : ตัดไม้อย่าไว้หนามหน่อ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 10 : สนองคุณ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 9 : ทางรอดเดียว
- READ บ่วงเวรา บทที่ 8 : ต่อรองผ่อนหนัก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 7 : ทางรอดที่ริบหรี่
- READ บ่วงเวรา บทที่ 6 : แก้ต่าง
- READ บ่วงเวรา บทที่ 5 : อุบายหมายประทุษ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 4 : เค้าลางหายนะ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 3 : พระเยาวราช
- READ บ่วงเวรา บทที่ 2 : ผูกบ่วงเวรา
- READ บ่วงเวรา บทที่ 1 : เรือนราชนิกูลแห่งกัมพุช