
บ่วงเวรา บทที่ 9 : ทางรอดเดียว
โดย : สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ
บ่วงเวรา นวนิยายรางวัลรองชนะเลิศ โครงการอ่านเอาก้าวแรก ๓ โดย สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ กับเรื่องราวของวังวนความรักและความแค้น ความมุ่งมั่นที่จะตอบแทน ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้สาสม แล้วความรักจะเยียวยาใจแก้ไขความแค้นได้จริงหรือ…อ่านเอาขอเชิญทุกท่านร่วมเพลิดเพลินไปกับนวนิยายพีเรียดสุดเข้มข้นเรื่องนี้ที่ anowl.co
“ใต้เท้า…ไหนว่าท่านเห็นด้วยกับโทษเนรเทศ ไยจึงสั่งคนให้คุมตัวเจ้ามาศด้วยเล่า” จางวางอู๋ท้วงขึ้นด้วยความร้อนรน
“โทษเนรเทศ?…กระผมหมายแต่อีเภาเท่านั้น ส่วนอ้ายมาศบุตรอ้ายแม้นเลี้ยงไว้ไม่ได้ วันหน้ามันจะเอาเยี่ยงอย่างพ่อของมัน แว้งกัดทรยศพ่ออยู่หัว…โบราณท่านว่าตัดไม้อย่าไว้หนามหน่อ ขืนกระผมปล่อยไว้ให้มันสืบเชื้อสืบพันธุ์ วันหน้าพ่ออยู่หัวจะได้ยาก ส่วนกระผมก็คงไม่พ้นเช่นกัน” ออกญายมราชลอยหน้ากล่าว
จางวางอู๋รู้ตัวแล้วว่าเสียรู้ที่ไม่กล่าวให้ชัดเจนว่า ขอแลกสิทธิ์การจัดการริบระบาดสมบัติในเรือนนี้กับชีวิตสองย่าหลาน ออกญายมราชจึงเล่นแง่เอาเช่นนี้ เขาเร่งเค้นสมองหาทางต่อรองอีกครั้ง อย่างน้อยก็ต้องรักษาชีวิตเจ้ามาศไว้ให้ได้
นางเภาตระหนกยิ่งเมื่อรู้ว่าออกญายมราชหมายจะสังหารหลานของตน โถ…เจ้ามาศหลานย่า อายุยังไม่ทันจะครบตัดจุกก็จะต้องมาตายตกเสียแล้ว…นางตั้งท่าจะโต้แย้งปกป้องหลาน ทายาทเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ แต่จางวางอู๋ส่ายหน้าทำนองให้นิ่งอยู่ก่อน นางจึงสงบวาจาทั้งที่ในใจยังระทึกท้อ
“ละไว้ไม่ได้หรือใต้เท้า…” จางวางอู๋กล่าวขึ้น ความคิดในสมองก็วิ่งจี๋ว่าจะหาอะไรมาต่อรองออกญาเจ้าเล่ห์คนนี้ดี ทรัพย์สมบัติของเรือนนี้ก็หมดไปแล้ว สมบัติที่ตนมีแล้วออกญาผู้นี้อยากได้ก็ให้ไปจนหมด… ‘คงต้องอ้างบารมีพระเยาวราชแล้วกระมัง’ ความคิดนี้เกิดขึ้นในใจ เขาไม่ใช่คนที่อ้างบารมีเจ้านายเหนือหัว ด้วยรู้เห็นแก่ใจมาตั้งแต่ต้นว่า เจ้านายทั้งหลายได้ยากเมื่อภายหลังเพราะบริวารแอบอ้างบารมีไปเรียกรับผลประโยชน์ เขาจึงรังเกียจยิ่งนัก แต่บัดนี้อับจนหนทางจริงๆ เขาจึงเลือกที่จะใช้วิธีการนี้
“…กระผมขอเตือนใต้เท้าว่า พระเยาวราชทรงเมตตาเจ้ามาศผู้เป็นญาติผู้น้องคนนี้ยิ่งนัก หากเจ้ามาศมีอันเป็นไปเพราะน้ำมือใต้เท้า กระผมเกรงว่าพระเยาวราชจะเสียพระทัย และจดจำเรื่องนี้ไม่ลืมเลือน” จางวางอู่เริ่มใช้ไม้แข็งกล่าวข่มขู่
“พระเยาวราชเมตตามันจริงหรือขอรับ…” ออกญายมราชกล่าวพร้อมทั้งหัวเราะในลำคอ “…หากจริงกระผมก็อยากเห็นพระเมตตานั้น”
“ใต้เท้าหมายความว่ากระไร”
ออกญาเจ้าเล่ห์ดีดลูกคิดรางแก้วมาแล้วอย่างดี เขาวางแผนมานาน รอบคอบและรัดกุม เขาหาได้ต้องการเห็นเพียงความฉิบหายล่มจมของวงศ์ตระกูลไอ้แม้นอย่างเดียวไม่ เขาต้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากแผนการครั้งนี้ให้ได้มากที่สุดด้วย
เขาตระหนักดีว่า แม้พระเยาวราชจะไม่ใช่พระราชโอรสที่จะได้ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพ่ออยู่หัวพระองค์ต่อไป แต่พระบารมีของพระเยาวราชอันเกิดจากความโปรดปรานของพ่ออยู่หัว และบรรดาพระญาติฝั่งพระมารดาที่หนาแน่นและมั่นคง ส่งผลให้พระเยาวราชเป็นเจ้านายที่มีผู้คนเกรงใจและเกรงบารมี หากเขาได้เกี่ยวดองแล้ว โอกาสในการหาประโยชน์ก็จะง่ายดายยิ่งขึ้น อีกทั้งเขายังประเมินว่าพระเยาวราชมีพระอุปนิสัย ‘อ่อน’ หากรู้วิธีและจุดอ่อนแล้ว เขาก็จะสามารถชักเชิดได้ง่าย เมื่อคิดได้ดังนี้เขาจึงเสนอว่า
“กระผมมีบุตรสาวที่รักปานดวงใจคนเดียว อายุอานามก็ถึงวัยควรออกเรือน หากได้แต่งออกไปกับคนดีๆ สักคน กระผมก็หมดห่วง”
“ใต้เท้าหมายใจให้…” จางวางอู๋ตกใจและคาดไม่ถึงว่าออกญายมราชจะหมายสูงถึงปานนั้น
“…เกี่ยวดองเป็นญาติกัน การใดๆ ก็เจรจากันง่ายขึ้น เพราะถือว่าเราเป็นคนกันเอง ท่านจางวางเห็นด้วยกับกระผมใช่ไหมขอรับ”
จดหมายลับของจางวางอู๋ถูกส่งไปถวายพระเยาวราชโดยด่วน ชีวิตของเจ้ามาศจะอยู่รอดปลอดภัย หรือต้องแตกดับไปก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพระเยาวราช
ระหว่างที่รอข่าวการตัดสินพระทัยของเจ้าชายหนุ่ม บรรดาทรัพย์สินต่างๆ ที่ถูกริบราชบาทว์ก็ถูกส่งเข้าคลังของหลวง ข้าทาสถูกส่งไปเป็นทาสหลวงประจำที่ต่างๆ ตามควร และแน่นอนว่าทั้งทรัพย์สินเงินทองมีค่า และข้าทาสบางส่วนออกญายมราชได้ยักยอกไปเป็นของส่วนตนได้อย่างแนบเนียน
เมื่อแรกออกญายมราชเร่งจะให้คุมตัวนางเภาเนรเทศไปยังเมืองเชลียงตามที่ได้ตัดสินไว้ แต่นางเภาร้องขออยู่อาศัยที่เรือนของตนจนกว่าจะได้รับข่าวจากพระเยาวราช โดยมีนางสอซึ่งเป็นข้าไทที่พ้นจากการถูกริบราชบาทว์ยืนยันที่จะอยู่รับใช้นายของตนต่อไป
ออกญายมราชไม่ยินยอมแต่แรก แต่เมื่อคิดอะไรได้บางอย่างก็ยิมยอมให้นางเภาอาศัยอยู่ที่เรือนรอข่าวจากพระเยาวราชได้ ‘อยู่ก็ดีเหมือนกัน มันจะได้เห็นความพินาศสูญสิ้นของวงศ์ตระกูลมันกับตาตัวเอง’
มาศถูกออกญายมราชจับไปจองจำไว้ที่ตะราง จางวางอู๋เพียรขอความเมตตาให้หลานได้อยู่กับย่ามากมายเพียงไรก็ไร้ผล ก่อนจากออกญายมราชทิ้งวาจาทำนองข่มขู่ไว้ว่า “ชีวิตของไอ้เด็กนี่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินพระทัยของพระเยาวราชแล้ว”
มาศไม่ร้องสักแอะเมื่อยามที่ถูกคร่าตัวไปจากอกนางเภาผู้เป็นย่า สองตามองกร้าวไปยังออกญายมราช เมื่อสบตานั้นออกญายมราชได้แต่รำพึงขึ้นในใจว่า ดวงตาอ่อนใสนั้นเหมือนกับดวงตาของแม่วาดที่มองเขายิ่งนัก แต่ก็แฝงด้วยแววตาที่เยาะเหยียดเดียดฉันท์เหมือนที่ไอ้แม้นพ่อของมันมองเขาทุกครั้ง แววตาที่ทำให้รู้สึกว่าเขาเป็นรองมันทุกทาง ยิ่งเห็นยิ่งรู้สึกเกลียด เกลียดจนอยากจะควักดวงตาของมันออกมา
นางเภาผู้เข้มแข็งมาได้ตลอดวัน มาบัดนี้น้ำตาที่เก็บงำไว้ทั้งหลายพรั่งพรูออกมาจนสิ้น นางเสียลูกชายไปแล้ว บัดนี้นางต้องเสียหลานไปอีกคนหรือ นางอยากจะวิ่งไปยื้อหลานชายเอาไว้ อยากปกป้องให้พ้นภัย แต่จางวางอู๋ยุดมือนางไว้ ส่งสายตาห้ามปราม นางได้แต่ยั้งใจไว้… ‘อย่างน้อยวันนี้ก็พอรักษาชีวิตของเจ้ามาศให้ยืดออกไปก่อน’ ความหวังเดียวของนางอยู่ที่พระเยาวราชแล้ว…
สายตาที่เริ่มฝ้าฟางมองส่งหลานน้อยที่ถูกพรากลงเรือจนหายลับตาไป
เรือลับหาย เหมือนใจของนางเภาจะลับขาดจากร่างไปเช่นกัน
จดหมายลับของจางวางอู๋ถึงมือของพระเยาวราชในอีกสองวันถัดมา จางวางอู๋ใช้คนที่ไว้ใจได้ถือจดหมายไปโดยไม่ใช้พิราบสื่อสารด้วยเกรงว่าข่าวสารจะรั่วไหล
เมื่ออ่านจดหมายจบพระเยาวราชก็ขยำจดหมายแน่นอย่างลืมองค์ ตั้งแต่วัยเยาว์ที่เริ่มรู้ความ พระมารดาก็สั่งสอนให้ทรงรู้จักความสุขุมคัมภีรภาพ ไม่แสดงอาการให้ใครจับความรู้สึกได้โดยง่าย บริวารที่เห็นอาการของพระเยาวราชในคราวนี้ก็รู้ดีว่า ต้องทรงกริ้วโกรธอย่างมากจนทรงลืมองค์แสดงอาการไปได้เช่นนี้
พระเยาวราชรู้สึกชิงชังบุตรีของออกญายมราชขึ้นมาทันทีทั้งที่ยังไม่เคยเห็นหน้า
ตั้งแต่จำความได้ พระมารดาก็สั่งสอนให้รู้จักการมองสีหน้า และวางตนให้เป็นมิตรต่อทุกคน พระเยาวราชทราบดีว่า แม้พระมารดาของพระองค์จะเป็นเจ้าหญิงจากวงศ์พระร่วงสุโขทัย ซึ่งร่วมวงศ์มาแต่พระอัยยิกาเจ้าผู้เป็นพระราชมารดาของพ่ออยู่หัว แต่พระองค์ก็ไม่ลืมเช่นกันว่าพระมาตุลาบางพระองค์นั้นก็เป็นเสมือนหอกข้างแคร่ของพ่ออยู่หัว ดังนั้นการวางองค์จึงเป็นเรื่องสำคัญ พระมารดาปลูกฝังให้พระองค์ตระหนักเสมอว่าทรงเป็นเจ้านายในวงศ์สุพรรณภูมิ แต่ก็ต้องรักษาน้ำใจพระญาติวงศ์ฝ่ายสุโขทัยข้างพระราชมารดา โดยจะต้องไม่มากไปจนพ่ออยู่หัวต้องระแวงแคลงพระทัย หรือน้อยเกินไปจนพระญาติข้างพระราชมารดาจะน้อยพระทัย หรือขัดเคืองจนไม่ให้การสนับสนุนพระองค์
ด้วยเหตุนี้พระเยาวราชเองจึงไม่อาจทำอะไรได้ตามพระทัยแม้เพียงสักครั้ง แม้แต่คู่ชีวิต พระมารดาก็สรรหาคนที่มีฐานอำนาจที่จะช่วยสนับสนุนพระองค์ มากกว่าเป็นหญิงที่พระองค์ต้องพระทัย ดังนั้นลึกๆ ในพระทัยแล้ว พระเยาวราชจึงทรงเกลียดการถูกบังคับและบงการ แต่ด้วยความจำเป็นจึงทรงจำยอมรับด้วยความดุษณี แต่ครานี้ออกญายมราชใช้ความเป็นความตายของญาติผู้น้องของพระองค์มาเป็นเครื่องต่อรองและบงการชีวิตของพระองค์ จึงทรงรู้สึกชิงชังทั้งออกญายมราชและบุตรสาวขึ้นมาจนระงับอาการมิได้
เมื่อแรกความมุ่งหมายในพระทัยของพระเยาวราชคือท้าทาย ไม่ยอมรับข้อต่อรองของออกญายมราช เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาของพระองค์นั้นล้วนแล้วแต่ต้องยอมจำนนต่อสถานะและโชคชะตาที่ถูกชักเชิดไปตามสถานการณ์ เพื่อความอยู่รอดและปลอดภัย แต่คราวนี้พระองค์ใคร่อยากจะลองดีต่อโชคชะตา ไม่ขอยอมรับข้อต่อรองนี้
แต่เพียงเมื่อสงบสติอารมณ์ที่ฉุนเฉียวได้ ก็ทรงระลึกได้ว่านายแม้นผู้น้าเขยนั้นมีบุญคุณต่อพระองค์ตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระองค์ยังอยู่ในพระครรภ์ หากแม้ไม่ได้น้าเขยผู้นี้พระองค์เองอาจประสูติมาพร้อมกับความหวาดระแวงของพระราชบิดา ซึ่งก็หมายความว่าชีวิตของพระองค์จะได้พบแต่ความยากลำบาก ส่วนน้าวาดเล่าก็เป็นน้องสาวของพระมารดา แม้จะเป็นน้องสาวที่เกิดจากหม่อมเล็กๆ ในบ้าน แต่ก็สนิทและภักดีต่อพระมารดาของพระองค์ยิ่งนัก
ทรงนึกหวนไปยังวันที่น้าวาดกำลังจะสิ้นใจเพราะความเจ็บไข้ แม้จะทรงเยาว์อยู่แต่ก็ระลึกคำนั้นไว้ได้มั่นคง ‘น้าฝากลูกไว้กับสมเด็จด้วยนะเพคะ น้าถวายไว้เป็นข้ารองพระบาท…’ ซึ่งพระองค์ก็รับคำน้าสาวผู้ใกล้วายปราณ ดั่งหนึ่งเป็นสัจวาจา
หักพระทัยยอมรับโชคชะตาที่พระองค์ต้องยอมรับโดยไม่อาจเลือกอีกหน
“แดง เอ็งเร่งกลับไปบอกท่านจางวางว่า เรายอมรับข้อเสนอ แต่ขอให้เว้นโทษเนรเทศเจ้ามาศ และต้องให้เจ้ามาศมาเป็นข้าในวังของเรา หากออกญายมราชยินยอม ก็ให้ออกญายมราชนำบุตรสาวมาถวายแก่เรา หากมิยอมตามที่เราขอ ก็ยุติเรื่องที่เจรจาไว้เท่านี้”
- READ บ่วงเวรา บทที่ 43 : พยาบาทคือเพลิงผลาญใจ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 42 : เก็บกวาด
- READ บ่วงเวรา บทที่ 41 : สำเร็จโทษ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 40 : ยาพิษ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 39 : คนมุ่งร้ายไม่ได้มีผู้เดียว
- READ บ่วงเวรา บทที่ 38 : ข่าวร้าย – ข่าวดี
- READ บ่วงเวรา บทที่ 37 : อุบายล่อเสือออกจากถ้ำ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 36 : จางวางอู๋วางหมาก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 35 : ปลูกสิ่งไรย่อมได้ผลนั้น
- READ บ่วงเวรา บทที่ 34 : ไขกลย้อนเกล็ด
- READ บ่วงเวรา บทที่ 33 : ย้อนเกล็ด
- READ บ่วงเวรา บทที่ 32 : เล่ห์หึงสา
- READ บ่วงเวรา บทที่ 31 : ระทดใจ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 30 : หนักหน่วงอก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 29 : ลังเลรัก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 28 : คืนสู่เจ้าของเดิม
- READ บ่วงเวรา บทที่ 27 : ข่าวจากแดนไกล - ดอกไม้เริ่มผลิบาน
- READ บ่วงเวรา บทที่ 26 : แหวนรอบของมารดา
- READ บ่วงเวรา บทที่ 25 : แก้กล
- READ บ่วงเวรา บทที่ 24 : มิตรจิตมิตรใจ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 23 : อ้ายใบ้หลานยายอุ่ม
- READ บ่วงเวรา บทที่ 22 : จารจดคุณไว้ในดวงจิต
- READ บ่วงเวรา บทที่ 21 : ผูกน้ำใจด้วยไมตรี
- READ บ่วงเวรา บทที่ 20 : ดอกไม้ช่อใหม่ในกุณฑี
- READ บ่วงเวรา บทที่ 19 : พาลใส่ไคล้ – พยานปากเอก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 18 : ธิดาออกหลวงโชฎึกฯ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 17 : ไฟสุมขอน
- READ บ่วงเวรา บทที่ 16 : เกิดมาเป็นเจ้าใครเขาก็คิดว่าสุขสบาย
- READ บ่วงเวรา บทที่ 15 : นางฉาย
- READ บ่วงเวรา บทที่ 14 : ปัทมราช
- READ บ่วงเวรา บทที่ 13 : วันเวลาผันผ่าน
- READ บ่วงเวรา บทที่ 12 : ชัยชนะอันแสนขม
- READ บ่วงเวรา บทที่ 11 : ตัดไม้อย่าไว้หนามหน่อ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 10 : สนองคุณ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 9 : ทางรอดเดียว
- READ บ่วงเวรา บทที่ 8 : ต่อรองผ่อนหนัก
- READ บ่วงเวรา บทที่ 7 : ทางรอดที่ริบหรี่
- READ บ่วงเวรา บทที่ 6 : แก้ต่าง
- READ บ่วงเวรา บทที่ 5 : อุบายหมายประทุษ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 4 : เค้าลางหายนะ
- READ บ่วงเวรา บทที่ 3 : พระเยาวราช
- READ บ่วงเวรา บทที่ 2 : ผูกบ่วงเวรา
- READ บ่วงเวรา บทที่ 1 : เรือนราชนิกูลแห่งกัมพุช