ละเล่นลานรัก บทที่ 17 : ผิดทั้งสองคน
โดย : กุลวีร์
ละเล่นลานรัก นวนิยายออนไลน์จากอ่านเอา anowl.co โดย กุลวีร์ เมื่อนักกิจกรรมบำบัดสาวที่ต้องคอยแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยมือถือ ต้องการช่วยเหลือหนุ่มรุ่นน้องข้างบ้านที่ไม่กล้าออกไปนอกบ้าน เธอจึงใช้กิจกรรมการละเล่นไทยเป็นตัวช่วย จนเขาได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะหัวใจตัวเอง แต่เธอก็มีทั้งคนเก่าและคนใหม่มาให้เลือก
บริเวณโต๊ะหินอ่อนหน้าบ้านใกล้ประตูทางเข้าออก หญิงสาวมองดูสามีกับภรรยาที่นั่งตรงข้ามกันด้วยความอ่อนอกอ่อนใจ เหมือนต่างฝ่ายจงใจประจันหน้ากันโดยมีเธออยู่ตรงกลางซึ่งนั่งบนเก้าอี้อีกด้านของโต๊ะ ทว่าสามีภรรยาคู่นี้ก็ยังไม่ยิ้มหรือทักทายกันเลยสักคำเดียวตั้งแต่ได้พบหน้ากัน
ทางด้านขวามือของเธอคือเก่งกาจหรือผู้เป็นสามี เมื่อมาถึงที่นี่ก็ขอไปหาลูกชายซึ่งอยู่ในบ้านกับศศิก่อนจะออกมานั่งรอภรรยาพร้อมกับเธอ จนเวลาล่วงเลยมาประมาณสิบห้านาที สิตางค์หรือฝ่ายภรรยามาถึงบ้านหลังนี้ เดินมานั่งเก้าอี้ว่างทางซ้ายมือของเธอโดยไม่ได้เข้าไปพบหน้าลูกเหมือนสามี
การพูดคุยถึงปัญหาของเด็กให้ผู้ปกครองรับรู้ซึ่งพ่อกับแม่มารถคนละคันยังไม่พอ ตอนนั่งคุยกันก็นั่งเก้าอี้คนละตัวและอยู่คนละด้านจนเธอไม่รู้ว่าขณะที่พูดคุยนั้นจะมองคนไหน หรือต้องหันซ้ายทีหันขวาทีตลอดระยะเวลาของการสนทนากัน
ปรียานุชเพิ่งได้ประสบเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีอาชีพเป็นนักกิจกรรมบำบัดในเด็ก หากเท่าที่สังเกตและรับรู้ในบางเรื่องราว ฝ่ายชายคงจะพูดคุยให้เข้าใจกันได้ง่ายกว่าฝ่ายหญิง
เมื่อเธอแจ้งเวลานัดหมายเป็นช่วงเย็นย่ำหลังจากเลิกงาน ศศิก็รีบติดต่อคนทั้งสองจนสำเร็จ ตอนแรกแต่ละคนจะมาพบเธอคนละวัน แต่ที่เป็นเช่นนี้เพราะเก่งกาจขอเปลี่ยนเป็นวันเดียวกับสิตางค์
“ดิฉันชื่อปรียานุช จะเรียกว่าปรีก็ได้ค่ะ เป็นนักกิจกรรมบำบัดในเด็ก” เธอแนะนำตัวเอง ก่อนจะเริ่มเข้าสู่การพูดคุยอย่างจริงจัง
หากสิตางค์ทำหน้าตาเฉยเหมือนคนถูกบังคับให้มานั่งฟังเธอพูด ส่วนเก่งกาจยกมุมปากขึ้นเล็กน้อยแสดงให้เห็นถึงความมีไมตรีต่อกัน เพราะรู้ว่าที่ต้องมานั่งคุยกับเธอสืบเนื่องมาจากลูกชายคนเดียว
“มีอะไรก็ว่ามาสิ ที่ฉันมาวันนี้แค่อยากมาเจอหน้ากีตาร์บ้างเท่านั้นเอง” สิตางค์เอ่ย พลางหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่นอย่างคนไม่รู้จักกาลเทศะ
เก่งกาจถอนหายใจ
สิตางค์เงยหน้ามองคนที่นั่งด้านตรงข้าม “ถ้าไม่พอใจหรือรำคาญตาก็กลับไปสิ จะมานั่งทนอยู่ทำไม ฉันทำอะไรคงผิดไปหมดสำหรับคุณ”
“เกรงใจคุณปรีบ้าง เขาหวังดีกับลูกของเรา” เก่งกาจเอ่ยเสียงเบา แล้วส่งยิ้มน้อยๆ ให้เธอ
ปรียานุชเบาใจขึ้นมานิดหน่อย อย่างน้อยก็มีผู้เป็นพ่อที่ยังคำนึงถึงลูก
ก่อนที่สามีภรรยาจะมีปากเสียงกันมากกว่านี้ เธอเข้าสู่ประเด็นทันทีโดยไม่เกริ่นนำใดๆ “พวกคุณเลี้ยงลูกด้วยมือถือใช่ไหมคะ”
เก่งกาจมองภรรยาซึ่งก้มหน้าก้มตามองโทรศัพท์มือถือราวกับไม่ได้ยินคำถามของเธอ
ปรียานุชไม่สนใจจึงเอ่ยต่อ “พวกคุณรู้ไหมคะ ควรงดหน้าจอทุกชนิดในเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสองขวบ ส่วนเด็กสองขวบถึงสี่ขวบก็ไม่ควรให้เด็กใช้มือถือเพียงลำพังและควรจำกัดเวลาในการดูจอไม่เกินหนึ่งชั่วโมงต่อวัน ถ้าเป็นเด็กติดจอหรือลูกติดมือถือจะส่งผลเสียกับเด็กยังไงบ้างคะ”
“ถ้าไม่ให้มือถือ เด็กก็แหกปากร้องน่ะสิ เธอไม่เคยมีลูกคงรู้ไม่หรอก การเลี้ยงเด็กให้โตมาขนาดนั้นได้มันเหนื่อยแค่ไหน ยิ่งซนเหมือนกีตาร์ ถ้าไม่ได้มือถือ ป่านนี้ฉันคงเป็นโรคประสาทไปก่อนแล้ว ไม่ได้มาคุยกันอย่างนี้หรอก” สิตางค์เอ่ยโดยไม่มองหน้าใคร แค่ให้รู้ว่ายังรับฟังทุกถ้อยคำของเธอ ทั้งที่สายตากับมือยังวุ่นอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
ปรียานุชพยายามไม่แสดงท่าทีเหนื่อยหน่ายใจให้กับคนที่เหมือนไม่พร้อมจะเลี้ยงดูเด็ก แต่ก็ยังเลี้ยงมาได้ “การเล่นมือถือเป็นเรื่องปกติตามวัยของเด็ก ถ้าหากการเล่นนั้นขาดการควบคุมที่ดี ขาดการดูแลอย่างเหมาะสม อาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหากับเด็กในระยะยาวได้ค่ะ” เธอยังคิดว่าอย่างน้อยการให้ข้อมูลแก่อีกฝ่ายอาจจะทำให้เข้าใจหรือสนใจกันมากขึ้น “เด็กที่เป็นเด็กติดจอหรือติดมือถือ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กสมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง เท่านั้นยังไม่พอ เด็กอาจจะพูดช้าหรือพูดไม่เป็นไปตามวัย พวกคุณเคยสังเกตตอนที่กีตาร์พูดไหมคะ” เธอถามให้ฉุกคิด ไม่ได้หวังคำตอบจากคนทั้งสอง จึงพูดต่อ “ถ้าปล่อยไปอย่างนั้น ให้ลูกติดมือถือจนยากที่จะกลับคืนมาได้ เด็กอาจจะกลายเป็นเด็กออทิสติกเทียมได้นะคะ”
“อย่ามาว่าหรือใส่ร้ายลูกของฉันนะ กีตาร์เป็นเด็กปกติ” สิตางค์เงยหน้ามองเธอ โพล่งออกมาเสียงดัง
ปรียานุชจะอธิบายต่อ แต่เก่งกาจพูดแทรกขึ้นมาก่อน
“คุณตั้งใจฟังบ้างสิจะได้เข้าใจ ไม่ใช่โวยวาย แค่ได้ยินคำบางคำไม่เข้าหู”
“ในสายตาคุณ ฉันทำอะไรก็คงไม่ดีไปหมดทุกอย่าง ว่าฉันอีกสิ ว่ามาเลย” สิตางค์ท้าทายสามีด้วยการจ้องมองไม่วางตา
เก่งกาจพยายามข่มอารมณ์ขุ่นมัวไว้ เพราะอยู่ต่อหน้าหญิงสาวที่เพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเอ่ยถึงภรรยา
“เพราะคุณเลี้ยงลูกด้วยมือถือ กีตาร์ถึงเป็นแบบนี้ คุณน่าจะรู้ตัวได้แล้ว”
“ถ้าคุณรู้ว่าฉันเลี้ยงลูกอย่างนั้นมันไม่ดี ทำไมไม่บอกตั้งแต่แรกๆ เพิ่งจะมาบอกตอนนี้แล้วมันจะได้อะไร คุณมัวแต่โทษฉันฝ่ายเดียว แต่ไม่มองดูตัวเองบ้างเลย”
“ผมบอกคุณให้รู้ ที่ลูกไม่ยอมอยู่นิ่งๆ ไม่ยอมเล่นกับผม ไม่สนใจพ่ออย่างผม สนใจมือถือมากกว่าผมก็เพราะคุณสอนให้ลูกอยู่กับมือถือ คุณไม่เข้าใจอีกเหรอ”
“ฉันทำผิดอะไร พูดมาให้หมด พูดมาทีเดียวจะได้จบๆ พูดมาอีกสิ ฉันเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกไม่ดีเอง แต่คุณเป็นพ่อคุณเคยสนใจฉันกับลูกบ้างไหมล่ะหรือสนใจแค่งานกับเงิน”
ปรียานุชนั่งฟังสามีภรรยาโต้เถียงกันจนเริ่มมองเห็นถึงปัญหาครอบครัวที่ต่างคนไม่คิดจะปรับตัว โดยโยนความผิดให้กันไปมาอย่างที่ไม่มีใครยอมรับความจริงว่าลูกเป็นแบบนั้น ไม่ใช่สาเหตุจากฝ่ายใดฝ่ายเดียว
“ผิดทั้งสองคนนั้นแหละค่ะ อย่าทะเลาะกันเลยนะคะ” เธอเอ่ยออกมาตรงๆ เพราะอยากให้คนทั้งสองมองเห็นถึงความผิดของตัวเอง
เก่งกาจและสิตางค์เงียบปากพร้อมกัน ต่างก็หันมองเธอเป็นจุดเดียว
หากปรียานุชยังนั่งทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาว พูดเข้าเรื่องที่ต้องมาคุยกันในวันนี้ “ดิฉันอยากให้พวกคุณนึกถึงลูกให้มากๆ ช่วยกันทำให้กีตาร์ดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ตอนนี้ ทั้งเป็นเด็กมีพัฒนาการสมวัย เข้ากับผู้อื่นได้ เล่นกับผู้อื่นได้สนุก ไม่ใช่แค่เล่นอยู่ในโลกของตัวเอง”
เธอขอให้ทั้งสองร่วมมือกัน ทั้งที่ขณะนี้มีความแตกแยกให้เห็นชัดเจน ถ้าไม่บอกกล่าวให้รู้กันไว้ คงจะหมดทางหาแนวร่วมหรือคนที่จะช่วยเด็กชายผู้นั้นได้
หญิงสาวยังพูดต่อ “จะปล่อยให้ดิฉันช่วยแก้ไขอยู่ฝ่ายเดียวคงได้ไม่ดีเท่าพ่อแม่ของเด็กเองหรอกค่ะ ถ้าพวกคุณมัวแต่ทะเลาะกันอย่างนี้ แล้วเมื่อไหร่กีตาร์จะหายจากสิ่งที่เป็นอยู่ล่ะคะ พวกคุณทำให้เด็กเกิดมาแล้วก็ต้องทำให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี หรือจะปล่อยให้ลูกโตไปทั้งที่ยังเป็นแบบนั้น จะดีเหรอคะ”
“ลูกของฉันต้องไม่เป็นไปตามที่คุณพูดแน่นอน” สิตางค์ส่ายหน้าไปมา หากยังรับไม่ได้ที่ลูกอาจจะเป็นไปตามคำกล่าวของเธอ
ปรียานุชอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจ “ออทิสติกเทียมเป็นพฤติกรรมคล้ายออทิสติก เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมกับลูก จึงปล่อยให้ลูกอยู่กับมือถือมากเกินไป ทำให้เด็กขาดการกระตุ้นในการสื่อสารกับผู้อื่น เพราะเด็กจะได้รับสารเพียงทางเดียว เด็กจึงเกิดอาการบกพร่องทางพัฒนาการด้านสังคม ด้านภาษา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสาเหตุความผิดปกติทางสมองอย่างโรคออทิสติกจริงๆ ดังนั้นเด็กที่เป็นออทิสติกเทียม ถ้าได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายได้ค่ะ”
สิตางค์จ้องหน้าเธอด้วยสายตาซึ่งแฝงไปด้วยคำถาม คล้ายจะไม่เชื่อในคำพูดของเธอ
“ถ้าพวกคุณไม่แน่ใจ หรือหาว่าดิฉันคิดมากไปเอง ลองนำกีตาร์ไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ค่ะ” เธอเอ่ยขึ้นมาอีก
ปรียานุชอยากให้คู่สามีภรรยาตรงหน้าทราบว่าทุกเรื่องที่พูดไปตั้งแต่ต้นนั้นเป็นความจริงที่ได้ศึกษาเรียนรู้และประสบพบเจอกับตัวเองมาพอสมควร ซึ่งเห็นจากบรรดาเด็กน้อยที่เคยเข้ามารับการบำบัดกับเธอโดยตรง
“ถ้าผมไม่อยากให้กีตาร์เป็นอย่างที่คุณปรีพูดมา ต้องทำยังไงบ้างครับ” เก่งกาจเป็นฝ่ายเอ่ยถามหนทางแก้ไข ขณะที่สิตางค์เริ่มมีท่าทีรับฟังกันมากขึ้น
“อันดับแรกที่พวกคุณจะต้องทำคือหันหน้ามาคุยกัน ดิฉันไม่รู้ว่าทำไมพวกคุณต้องเป็นเช่นนี้ และที่สำคัญต่อหน้าเด็กไม่ควรเถียงกันหรือทะเลาะกันอย่างต่อหน้าดิฉัน ถ้าพวกคุณยังทำไม่ได้ ดิฉันก็ไม่ได้บังคับและจะพยายามในทางของดิฉันให้ดีที่สุดเพื่อกีตาร์ค่ะ ดิฉันสงสารเด็ก”
เก่งกาจพยักหน้าอย่างคนเข้าใจดี หันมองไปทางภรรยาซึ่งคงรู้ตัวว่าถูกมองก็ยังค้อนขวับให้สามีหนึ่งที
เมื่อความขุ่นข้องหมองใจของคนทั้งสองเบาบางลงหลังจากได้ยินคำพูดของเธอที่มีความปรารถนาดีต่อเด็กไม่เสื่อมคลาย ปรียานุชจึงชี้แจ้งรายละเอียดทันทีที่สามีภรรยาเปิดใจรับฟังกันมากขึ้น
“หลังจากที่พวกคุณหันหน้ามาคุยกันแล้ว ต้องรับกีตาร์กลับไปอยู่ด้วยกัน เด็กอยู่กับพ่อแม่จะดีที่สุดค่ะ จากนั้นพวกคุณต้องหากิจกรรมทำร่วมกับเด็ก เริ่มทำกิจกรรมกันตอนอยู่บ้านได้เลยนะคะ แต่ไม่ใช่การนั่งใกล้ๆ กันเพื่อดูทีวีหรือเล่นมือถือของใครของมัน ถ้าให้ยกตัวอย่างก็ทำกับข้าว ปลูกต้นไม้ หาเกมกระดานมาเล่นด้วยกัน ดิฉันไม่อยากให้พวกคุณแค่หวังพึ่งดิฉันหรือน้าศิจะช่วยลูกคุณได้ เพราะครอบครัวจะอยู่กับเด็กได้นานกว่าพวกดิฉันค่ะ”
บางครั้งเธอต้องใช้คำพูดกับผู้ปกครองให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดเพื่ออยากให้ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่บางครั้งเธอก็ใช้ถ้อยคำละมุนละม่อม ค่อยๆ พูดให้เข้าใจกัน เพราะมีผู้ปกครองบางท่านที่อาจจะรับฟังคำของเธอไม่ได้ ดังนั้นปรียานุชมักจะประเมินผู้ปกครองของเด็กอยู่เสมอ แต่สองคนตรงหน้านี้ต้องพูดกันด้วยความชัดเจน คงเข้าใจง่ายกว่าที่จะใช้ถ้อยคำโอนอ่อนแก่กัน
“ส่งมือถือให้กีตาร์ไปสิ จะมาเล่นด้วยกันให้เสียเวลาอีกทำไม” สิตางค์พูดจบก็ลุกขึ้นยืน ก้าวขาผละออกไปอย่างเร็วไว มุ่งหน้าไปที่รถยนต์ของตัวเอง โดยไม่มีแม้คำกล่าวลาและไม่ได้เข้าไปพบลูกชายตามความตั้งใจเดิม
เก่งกาจยิ้มให้เธอพร้อมค้อมศีรษะเล็กน้อยแสดงคำขอโทษแทนภรรยา พอสิตางค์ขับรถออกไปก็เริ่มพูดถึง “เมื่อไหร่จะรู้สักทีว่าเป็นสิ่งไม่ดี ทำให้ลูกเป็นอย่างนั้น”
เธอได้ยินเสียงถอนหายใจของเก่งกาจ หากก่อนจะเอ่ยปาก อีกฝ่ายก็เอ่ยขึ้นมาอีก
“เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งจะรู้ว่าลูกไม่ปกติ ผมพยายามหาข้อมูลจากที่ต่างๆ มาอ่าน ผมคาดว่ากีตาร์น่าจะเป็นเหมือนที่คุณปรีพูดไว้ไม่มีผิด ผมพยายามอธิบายให้สิตางค์เข้าใจ จะได้เลิกเลี้ยงลูกแบบนั้น แต่สิตางค์ก็หาว่าผมโทษแต่เธอคนเดียว ผมเองก็ผิดที่มัวแต่ทำงานจนไม่สนใจลูกกับเมียเลย ยิ่งผมได้ฟังจากคุณปรี ยิ่งรู้ว่าพวกเราเลี้ยงลูกกันแบบผิดๆ มาตลอด”
ด้วยเหตุผลดังกล่าว เก่งกาจจึงยอมรับฟังเธอโดยดี เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าบุตรชายเป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงลูกให้ติดมือถือ
“เรื่องแบบนี้ต้องช่วยกันนะคะ ไม่ใช่จะให้ใครปรับหรือเปลี่ยนฝ่ายเดียว กีตาร์ยังมีพ่อมีแม่ ดังนั้นพ่อและแม่ต้องช่วยลูกค่ะ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่พวกเราจะร่วมมือกัน”
เธอเชื่อมั่นเสมอว่าการช่วยเหลือส่งเสริมจากคนในครอบครัวคือกำลังสำคัญที่ดีที่สุดที่จะช่วยบำบัดรักษาลูกให้ดีขึ้นได้
“ขอบคุณครับ ผมจะพยายามไปคุยกับสิตางค์ให้เข้าใจกันก่อน” เก่งกาจส่งยิ้มกว้างมากขึ้นให้กับผู้ที่หวังดีกับลูกชายของตน
เธอดีใจที่เก่งกาจเข้าใจกันและพร้อมที่จะทำเพื่อลูกชาย “เป็นกำลังใจให้นะคะ”
“ผมขอตัวก่อนนะครับ” เก่งกาจคาดว่าคงหมดเรื่องที่จะพูดคุยกันจึงลุกขึ้นยืน
ปรียานุชยังย้ำให้ได้ยิน “ไปปรับความเข้าใจกันให้ดีก่อน ค่อยมารับกีตาร์ก็ได้ค่ะ ดิฉันไม่อยากให้ทะเลาะกันหรือโยนความผิดให้กันต่อหน้าเด็ก ตอนที่กีตาร์อยู่กับน้าศิก็มีพฤติกรรมหลายอย่างดีขึ้นจากวันแรกที่ได้เจอ ถึงเด็กอาจจะไม่เรียกร้องหาพ่อแม่ แต่ดิฉันเชื่อว่าเด็กทุกคนต้องการอยู่กับพ่อแม่มากกว่าอยู่กับคนอื่นนะคะ มาช่วยกันปรับพฤติกรรมของเด็กและส่งเสริมทักษะทางภาษาการเข้าสังคมให้เด็กต่อไป หรือจะให้เด็กทำกิจกรรมบำบัดไปพร้อมกันก็ได้ค่ะ”
เก่งกาจพยักหน้ารับคำของเธอ
ก่อนที่อีกฝ่ายจะก้าวขาเดินห่างออกไป เธอกล่าวถึงเรื่องกิจกรรมที่จะจัดขึ้นเพื่อให้เด็กและผู้ปกครองได้ใช้เวลาร่วมกัน เก่งกาจแสดงท่าทีสนอกสนใจ แม้จะยังไม่รับปาก แต่เธอเชื่อว่าคนเป็นพ่อจะต้องทำเพื่อลูกได้แน่นอน
ปรียานุชรับนามบัตรของเก่งกาจมาถือไว้ในมือ ก่อนที่จะยืนมองอีกฝ่ายผละออกไปโดยไม่เข้าไปหาลูกชายเช่นเดียวกับภรรยา
นอกจากจะหวังให้เด็กผู้ชายคนนั้นไม่ต้องเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เธอยังหวังว่าอีกไม่นานคงจะกลับมามีครอบครัวอบอุ่นได้เหมือนก่อน
หากทุกอย่างที่หวังไว้จะเป็นจริงได้นั้น คงต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันต่อไป
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 35 : ใครเห็น...ใครก็ต้องคิด
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 34 : สุดแสนเสียดาย
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 33 : คนหนึ่งแพ้ย่อยยับ หนึ่งคนชนะขาดรอย
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 32 : ช่วงชิงชัย
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 31 : ขอลงแข่ง
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 30 : ตัวเลือกไม่รู้ตัว
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 29 : ต้องลองอีกสักครั้ง
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 28 : คืนของให้แก่กัน
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 27 : ดมดอกไม้
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 26 : ท่าควายกับท่าสีซอ
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 25 : คิดผิดถนัด
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 24 : ต้นเหตุความกลัว
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 23 : แหวนแฟนเก่า
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 22 : ขอหวนคืน
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 21 : มัวรอรี ไม่รีรอ
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 20 : ฉันจะตีก้นเธอ
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 19 : งูกินหาง...ห้ามใกล้กัน
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 18 : หลายอย่างช่างถูกจังหวะ
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 17 : ผิดทั้งสองคน
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 16 : สัญญาณเหมือนจะดี
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 15 : จ้ำชิงหลัก
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 14 : หลานชายก่อกวน
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 13 : กำทายขอถาม
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 12 : ต้องตาต้องใจ
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 11 : ตัดไฟแต่ต้นลม
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 10 : กิจกรรมวันแรกเริ่ม
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 9 : ปัญหาเกินกว่าหนึ่ง
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 8 : ตบแผละแซะคำตอบ
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 7 : เด็ก (เริ่ม) มีปัญหา
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 6 : เด็กชายวุ่นวาย
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 5 : ร่วมด้วยช่วยกัน
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 4 : หาทางเข้าหา
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 3 : เหตุจากหิน
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 2 : หินเข้าห้อง
- READ ละเล่นลานรัก บทที่ 1 : เสียงลือเสียงเล่าอ้าง