
แก่นไม้หอม บทที่ 41 : อามาลัย
โดย : กิ่งฉัตร
แก่นไม้หอม นวนิยายออนไลน์ โดย กิ่งฉัตร ที่อ่านเอาอยากให้คุณได้อ่านออนไลน์ กับเรื่องราวที่จะทำให้คุณได้รู้ว่าผู้หญิงเป็นเมียและแม่ไม่ต่างจากแก่นไม้ที่แข็งแกร่ง มั่นคงและทรหดที่ยึดให้ใบได้แผ่กว้าง และหากโลกนี้เชื่อว่าผู้ชายเป็นใหญ่ แต่จริงๆ แล้วทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนเป็นหยินที่โอบหยางทั้งสิ้น
ซิ่วเฮียงมองสีหน้าเจ็บช้ำน้ำใจเหลือแสนของลูกชายคนโตด้วยความปวดใจไม่ต่างกัน หญิงสาวยอมรับแต่โดยดีว่า
“เป็นความผิดม้าเอง หั่ง…ม้าไม่ได้คิดจะแก้ตัว แต่ตอนที่ม้าตามพนมมา…ม้าอายุแค่สิบหก ม้าโง่ ตาบอดเห็นขี้เป็นทองเหมือนอย่างที่อากงหั่งว่าไม่มีผิด เขามาทำดีด้วยพูดจาหวาน ๆ ม้าก็เชื่อหลงตามเขามา นึกว่าจะมีชีวิตใหม่มีคนที่รักและอยู่ด้วยกันไปได้ตลอดชีวิต รักและพึ่งพากันช่วยกันสร้างครอบครัวดี ๆ แต่สุดท้ายก็เป็นแค่ความฝัน ม้าถูกหลอก ผู้ชายคนนั้นไม่ได้รักม้าจริง เขารักความสุขความสะดวกสบายมากกว่ารักม้า ม้าผิดหวังม้าเจ็บปวด แต่หั่งรู้ไหมม้าไม่เคยเสียใจ ไม่เคยเสียใจเลยที่วันนั้นตามผู้ชายคนนั้นมา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะม้ามีหั่ง การมีหั่งถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตม้าจากเรื่องนี้”
ซิ่วเฮียงจับแขนลูกชายคนโตไว้ อุ่นใจที่เขาไม่ได้สะบัดหนี หาญแค่ทำเสียงขื่นขมในลำคอ ย้อนกลับมาว่า
“ถึงจะดีแค่ไหนก็เกิดจากความผิดพลาดของม้า เกิดจากความไม่ตั้งใจ…”
“ม้าตั้งใจ ม้าอยากมีหั่งจริง ๆ พนมเองก็รักหั่ง แต่ความรักของเขาไม่เหมือนพ่อคนอื่นเท่านั้น ยังมี…มีพ่อสันต์…ปู่ของหั่งก็รักหั่งมากนะ จำพระใบมะขามที่หั่งสวมติดตัวจนห้าหกขวบได้ไหม นั่นปู่สันต์เป็นคนให้มา ตอนม้าพาหั่งกลับไปสุพรรณ ปู่ของหั่งร้องไห้เสียใจเพราะรักหั่งห่วงหั่ง ม้าผิดพลาดแต่หั่งไม่เคยเป็นความผิดพลาดของม้าหรือของใคร ๆ นะ”
หาญยังคงมีท่าทางฮึดฮัดแต่สีหน้าอ่อนลงไปมาก
“แล้วม้าจะให้หั่งทำยังไงกับ…คนบ้านนั้น” เด็กหนุ่มยังถามแบบพาล ๆ ลืมหมดแล้วว่าเป็นเขาที่ร้องขอให้มารดาพามาพบชายผู้ให้กำเนิดสักครั้ง
“ขึ้นอยู่กับหั่ง ถ้าหั่งยังอยากติดต่อกับเขาม้าก็จะไม่ห้าม อายุครบแล้วจะบวชให้แม่พิกุลม้าก็ไม่ว่า แต่ถ้าหั่งไม่อยากข้องเกี่ยวอะไรกับเขาอีก เราก็ไม่ต้องมาเหยียบที่นี่อีก”
“ทำแบบนั้น…คน…เขาไม่ว่าหั่งอกตัญญูหรือม้า” หาญถามเสียงขมขื่น
“ชีวิตของหั่ง มีแค่สองคนเท่านั้นที่หั่งต้องกตัญญูคืออากงกับอาม่า ส่วนคนอื่น…ใครจะว่ายังไงหั่งไม่ต้องสนใจ”
“แม้แต่ม้าหั่งก็ไม่ต้องกตัญญูหรือม้า” เด็กหนุ่มย้อนถามอย่างท้าทาย
“ไม่ต้อง” ซิ่วเฮียงตอบได้ทันที “การที่หั่งเป็นคนดี เติบโตมาดี แข็งแรง มีชีวิตที่ดี แถมยังรักและดูแลอากงอาม่าแทนม้า ทั้งหมดนี่พอแล้ว กตัญญูพอแล้ว ม้าไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านี้แล้ว”
“ม้า…” เสียงของหาญอ่อนลงมาก แต่ทว่ายังไม่ทันพูดอะไรก็มีเสียงเรียกอย่างตื่นเต้นดังมาจากถนนว่า
“พี่เฮียง พี่เฮียงใช่หรือเปล่า”
เด็กหนุ่มตกใจนึกว่าวาสนาตามออกมาเพราะเสียงที่เรียกนั้นคล้ายกันอยู่ แต่ซิ่วเฮียงมองไปที่ต้นทางเห็นผู้หญิงคนหนึ่งโผล่หน้าออกมาเรียกอย่างตื่นเต้นก็ยิ้มกว้างจนดวงตายิบหยี ทักกลับอย่างดีใจว่า
“ลัย นึกว่าคุณนายที่ไหนมาลัยนี่เอง”
มาลัยหรือคุณมาลัยตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปจากสาวน้อยลัยขี้อายขี้กลัวคนเดิมมาก แม้ใบหน้าจะเหมือนเดิมแต่ผิวพรรณได้รับการบำรุงอย่างดีจึงเนียนละเอียดและขาวขึ้นมาก ผิดกับเดิมที่ดำคล้ำเพราะตากแดดตากลมทะเลงมหอยจับปลาทั้งวัน รูปร่างหล่อนก็สมส่วนขึ้นแต่งตัวดีแม้จะไม่ทันสมัยจ๋าเหมือนสาว ๆ ในกรุงเทพฯแต่ก็ถือว่าเสื้อผ้าตัดเย็บประณีตไม่ตกยุค
ที่สำคัญนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงรูปกายภายนอกคือความเปลี่ยนแปลงจากภายใน มาลัยตอนนี้มั่นอกมั่นใจในตัวเองมาก หล่อนไม่ยอมให้อดีตพี่สะใภ้และหลานชายหนีไปไหน รีบต้อนทั้งคู่ขึ้นรถ พร้อมถามขึ้นว่า
“พี่เฮียงกับหลานมาเยี่ยมพี่พนมหรือ ดูสิไม่ได้เจอกันตั้งนานหลานอาโตเป็นหนุ่มแล้ว หล่อเหลือเกินลูกเอ๊ย…” พูดแล้วมาลัยก็ลูบไม้ลูบมือเด็กหนุ่มสะอื้นอย่างตื้นตันใจ
หาญไม่เลี่ยงหลบเหมือนที่ทำกับวาสนาเพราะเห็นแล้วว่าอาคนนี้ต่างออกไป อาลัยที่ม้าแนะนำว่าเป็นน้องสาวคนโตของพ่อไม่ได้มองเขาเหมือนเสือหิวมองก้อนเนื้อชิ้นโต อาลัยมองอย่างรักใคร่ชื่นชมจริงใจ อีกทั้งม้าก็คุยกับอาคนนี้อย่างสนิทสนมเป็นอย่างดี ซิ่วเฮียงตอบอีกฝ่ายว่า
“ให้หาญมารู้จักไว้ แต่เข้าไปแล้วกำลังจะกลับ”
“ไม่อยากเข้าไปอีกใช่ไหม” มาลัยบอกอย่างเข้าใจดี ก่อนพยักหน้าให้เสริมว่า “ไม่เป็นไรพี่ พี่เฮียงไม่ต้องรีบกลับใช่ไหมจ๊ะ เราไปหาที่สบาย ๆ นั่งคุยกันให้หายคิดถึงกันเถอะ”
หญิงสาวสั่งคนรถให้ไปที่ร้านอาหารใหญ่ในตลาดมหาชัย แม้จะรู้ว่าสองแม่ลูกกินข้าวกลางวันกันมาแล้ว มาลัยก็ยังสั่งอาหารมาเต็มโต๊ะ มีทั้งหอยจ๊อ กรรเชียงปู ไก่เหล้าแดง ของกินเล่นที่เด็ก ๆ รวมถึงวัยรุ่นน่าจะชอบทั้งนั้น
ระหว่างนั้นซิ่วเฮียงก็เล่าถึงชีวิตตัวเองสั้น ๆ ก่อนตบท้ายอย่างภาคภูมิใจว่า
“ตอนนี้หาญเรียนอยู่ที่เชียงใหม่ เพิ่งเข้าปีแรก หลานลัยคนนี้เก่งทั้งเรียนทั้งกีฬาเลยนะ”
“หล่อด้วย” มาลัยไม่ประหยัดคำชมหลานชาย ก่อนเอ่ยถึงลูกชายตัวเองว่า “อามีลูกชายสองคน โตขึ้นหวังว่าคงเรียนเก่งเหมือนหาญนะ”
“ลัยมีลูกสองคนหรือ กี่ขวบแล้ว”
“คนโตเพิ่งจะห้าจ้ะ คนเล็กสามขวบ ฉันมีลูกช้า กว่าจะแต่งกับพ่อไอ้สองหน่อนั้นได้ก็ทำงานให้บ้านเขามาเกือบสิบปีแน่ะ…”
มาลัยยิ้มแย้มท่าทางมั่นใจผิดกับมาลัยคนเดิมลิบลับ หล่อนคะยั้นคะยอให้หลานชาย ‘กินเยอะ ๆ’ สลับกับการเล่าชีวิตของตัวเองว่า หลังจากที่พนมถูกตีจนพิการ สันต์หนีเสียงก่นด่าของเมียไปอยู่วัดเสียเป็นส่วนใหญ่และไม่ยอมฟังคำพูดของเมียอีก พิกุลจึงใช้ให้ลูกสาวคนโตไปตาม ‘นังเฮียง’ กลับมาดูแลพนม
นังเฮียงฟังถึงตรงนี้แล้วหัวเราะ บอกว่า
“แม่ของลัยนี่คิดได้นะ นึกว่าต่อให้ลัยเจอพี่ พี่จะยอมกลับหรือ เห็นพี่เป็นควายหรือไง…” เพราะเห็นแก่ลูกชายและอดีตน้องสามี ซิ่วเฮียงจึงยอมละไว้ไม่เอ่ยคำหยาบคายอย่างที่ใจคิด
“ฉันรู้ว่าพี่คงไม่กลับ แต่ถ้าไม่ไปฉันก็กลัวถูกแม่ตี เลยคิดว่าไปตายเอาดาบหน้า…”
มาลัยนั่งเรือเมล์แดงมาสุพรรณ แต่เพราะไม่รู้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับซิ่วเฮียงเลยจึงไล่ถามเปะปะไปทั่ว เดินเท้าถามไปเรื่อย ๆ เพิ่งมารู้วันนี้นี่เองว่ายิ่งเดินก็ยิ่งผิดทิศผิดทาง เดินห่างจากบ้านของซิ่วเฮียงไปเรื่อย ๆ
สุดท้ายเงินน้อยนิดที่ติดตัวมาก็หมดลง มาลัยที่ทั้งหิวทั้งเหนื่อยและเปียกฝนจนเนื้อตัวชุ่มน้ำได้แต่อาศัยนอนอยู่ที่ศาลารถประจำทาง จะกลับมหาชัยก็ไม่กล้าเพราะพิกุลสั่งไว้ว่าถ้าพานังเฮียงกลับมาไม่ได้ก็ไม่ต้องกลับมา
เล่าถึงตรงนี้หาญมองอาสาวคนนี้ของเขาอย่างแปลกใจ ไม่คิดว่าจะมีคนเชื่อฟังคำสั่งของแม่มากขนาดยอมเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงแบบนี้ แต่ซิ่วเฮียงที่เคยรู้จักมาลัยคนเก่าเข้าใจดี มาลัยตอนนั้นอายุสิบหกสิบเจ็ดแล้ว แต่ถูกเลี้ยงมาไม่ให้คิดหรือตัดสินใจอะไรเลย แม่ด่าทุกวัน พี่ชายใช้งานเหมือนทาสน้องสาวก็ข่มเหมือนไม่ใช่พี่สาวร่วมสายเลือด มาลัยจึงมีนิสัยเหมือนเด็กเจ็ดแปดขวบที่ขี้ขลาดและเชื่อฟังผู้ใหญ่อย่างถวายหัวมากกว่าสาวน้อยที่คิดอ่านอะไรเองได้
โชคดีที่สมัยนั้นโจรผู้ร้ายไม่ชุกชุม ดวงของมาลัยเองก็ดีทำให้เด็กสาวอาศัยอยู่ในศาลารถประจำทางสองสามวันโดยไม่เกิดเหตุร้ายอะไร และหลังจากทนหิวดื่มแต่น้ำฝนรองท้องมาสามสี่วันโชคชะตาบทใหม่ของเด็กสาวก็เริ่มต้นขึ้น คุณนายลัดดาเศรษฐีนีเจ้าของตลาดในตัวเมืองนครปฐมขึ้นมาเยี่ยมญาติที่สุพรรณ ขามาก็เห็นเด็กสาวตัวดำ ๆ คนหนึ่งในศาลารอรถเอามือรองน้ำฝนดื่ม วันรุ่งขึ้นขากลับวิ่งผ่านเส้นทางเดิมก็เห็นเด็กคนเดิมรองน้ำฝนดื่มอีก รองไปก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นไป
คุณนายลัดดารู้สึกเวทนาจึงจอดรถถามไถ่ มาลัยก็เล่าให้ฟังซื่อ ๆ โดยไม่ปิดบังอะไร
คุณนายที่มีลูกชายสามคนพยายามกล่อมให้มาลัยกลับบ้านเพราะเชื่อว่าแม่ของเด็กสาวต่อให้ร้ายกาจแค่ไหนก็ไม่มีทางตีลูกสาวให้ตายอย่างที่ขู่ไว้เป็นแน่ แต่เด็กสาวไม่เชื่อ ยังยืนกรานซื่อ ๆ ว่าพิกุลทำได้
คุณนายจนปัญญา อีกทั้งนึกถูกชะตาและชอบใจความซื่อของเด็กสาวเลยพามาลัยกลับไปนครปฐมด้วย
มาลัยนั้นแต่เดิมเป็นคนซื่อและซื่อสัตย์ ขยัน ทำงานหนักเอาเบาสู้อยู่แล้ว ยกเว้นเรื่องทำกับข้าวไว้อย่าง งานอื่นหล่อนทำคล่อง ทำดี ตั้งใจทำด้วยเพราะคิดว่าถ้าเก็บเงินเดือนไว้ก้อนนึงแล้วเอาเงินกลับไปให้พิกุล พิกุลคงจะไม่โกรธจนตีหล่อนตาย เด็กสาวทำงานอยู่หนึ่งปี สองปี สามปี…ทำอย่างอดทนและขยันขันแข็งไปเรื่อย ๆ สุดท้ายจากเด็กสาวทำงานบ้านก็ขยับขึ้นมาเป็นมือขวาคุณนายลัดดา และจบลงด้วยตำแหน่งลูกสะใภ้
คุณนายลัดดานั้นแต่เดิมเป็นแม่ค้าขายหมูในตลาด แต่ด้วยหน้าตาสะสวย ขยันขันแข็ง ค้าขายเก่งเลยสะดุดตาหนุ่มใหญ่เจ้าของตลาด ไม่นานจากนังดาก็กลายเป็นคุณดาเมียเจ้าของตลาด ลัดดาเป็นคนเก่ง นอกจากจะมีลูกชายให้สามีสามคนแล้วหล่อนยังช่วยงานสามีแข็งขัน ช่วยขยายจากตลาดเล็ก ๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักกลายเป็นตลาดใหญ่โต กิจการรุ่งเรืองร่ำรวยเงินทอง
แต่โชคไม่ดีที่ดำรงค์ลูกชายคนโตของลัดดานั้นเป็นโปลิโอขาลีบตอนวัยรุ่น การที่จู่ ๆ ต้องกลายเป็นคนพิการใช้ไม้เท้าพยุงตัวทำให้ชีวิตที่คาดว่าจะสดใสของเด็กหนุ่มพลิกคว่ำเหมือนคว่ำหน้ามือเป็นหลังมือ เขาไม่ยอมเรียนหนังสือต่อ เก็บตัวอยู่กับบ้าน จากคนอารมณ์ดีกลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ เอะอะอาละวาดเสียงดัง
หลังจากลูกชายคนโตป่วยได้ไม่นาน สามีที่อายุมากกว่าลัดดาเกือบสิบห้าปีก็จากไปด้วยโรคไต ลัดดาที่ต้องดูแลกิจการทั้งหมดแทนสามีกัดฟันทำงานหนักเลี้ยงลูกคนเดียวจนลูก ๆ โตเป็นหนุ่ม ลูกสองคนหลังนั้นดีหน่อย พอเรียนจบแต่งงานแต่งการก็ย้ายบ้านไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง คนหนึ่งย้ายไปเปิดร้านอาหารที่อเมริกา อีกคนสอบชิงทุนของมหาวิทยาลัยได้ ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศก่อนกลับมาทำงานเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น
เหลือแต่ดำรงค์ที่ไร้ความฝันใด ๆ ต้องอยู่บ้านเพื่อรับช่วงตลาดจากแม่ ที่สำคัญน้องสองคนแต่งงานมีความสุขไปแล้ว แต่ ‘ไอ้เป๋’ อย่างเขายังโสดอยู่กับบ้าน ผู้หญิงดี ๆ มีเงินไม่มีใครสนใจ
เพราะไม่อยากมีสามีพิการแถมยังเป็นคนเจ้าอารมณ์ชอบอาละวาดใช้กำลัง แม้ในอนาคตจะมีตลาดใหญ่ติดตัวเป็นสมบัติก้นถุง แต่คนทำงานไม่เป็นอย่างดำรงค์นั้นไม่มีใครคิดว่าเขาจะรักษาสมบัติเดิมของพ่อแม่ไว้ได้
ส่วนผู้หญิงที่หวังจับผู้ชายรวย ๆ โดยไม่สนว่าขาจะเป๋อารมณ์จะเหมือนน้ำเดือดตลอดเวลานั้น คุณนายลัดดาก็กั้นไว้ไม่ให้เข้าถึงตัวลูกชายที่หล่อนรักและสงสารเป็นที่สุด
มาลัยทำงานอยู่ที่บ้านคุณนายลัดดาอยู่หลายปี ทำตั้งแต่กวาดบ้านถูบ้านขัดห้องน้ำจนกระทั่งขยับไปเดินเก็บค่าเช่าตลาดเป็นเพื่อนคุณนาย คุณนายสอนทำบัญชี สอนการทำงาน หล่อนก็เรียนรู้อย่างตั้งใจ
มาลัยรู้ว่าหล่อนไม่ใช่คนฉลาด ติดจะช้าเสียด้วยซ้ำ คิดช้าทำงานช้า แต่เด็กสาวที่ตอนนั้นเติบโตเป็นหญิงสาวเต็มตัวมีความอดทน มีความมุ่งมั่นและความตั้งใจที่จะเรียนรู้ สุดท้ายความรู้ความสามารถของคุณนายลัดดาก็ถ่ายทอดให้มาลัยจนหมด
ส่วนความสัมพันธ์ของหล่อนกับดำรงค์นั้น แรก ๆ ชายหนุ่มก็ไม่ชอบหน้าไม่ถูกชะตาแม่สาวที่มารดาเก็บตกมาจากศาลารถประจำทางเท่าไหร่นัก รังเกียจรังงอนว่าหล่อนรูปชั่วตัวดำแถมยังโง่เง่าอีก ดำรงค์ที่เปลี่ยนไปตั้งแต่พิการไม่เคยออมปากประหยัดคำ เจอหน้ามาลัยเขาก็ด่าว่าหล่อนทั้งซึ่ง ๆ หน้าและจิกกัดกระทบกระเทียบด่าลมด่าแล้งไปตามเรื่อง ด่าแล้วก็โกรธที่เห็นนังกุลามาลัยเอาแต่ยิ้ม ๆ ไม่โกรธไม่เดือดร้อนอะไร
เล่าถึงตรงนี้มาลัยก็หัวเราะแล้วบอกกับอดีตพี่สะใภ้ว่า
“คุณดำของฉันน่ะนึกว่าตัวเองแน่ ทำอะไรให้ช้าหรือไม่ถูกใจก็พูดจาว่าฉันหาว่าตัวดำเป็นเหนี่ยง หาว่าสมองเหมือนลิงที่เขาเคาะหัวเอาไปตุ๋นกินแล้ว หาว่าโง่บ้าง เป็นนางยักษ์หลุดมาจากหนังสือพระอภัยมณีบ้าง พอฉันยิ้มเขาก็โกรธหาว่าซื่อบื้อถูกด่าแล้วยังยิ้มอีก หนังหนาไม่รู้จักเจ็บร้อน โถ…พี่เฮียงจะไม่ให้ยิ้มได้ไง เทียบกับแม่แล้วคุณดำก็เด็กอ่อนสอนเดินดี ๆ นี่เอง แถมด่าอย่างเดียวไม่ได้จิกพุงหรือฟาดเอาตีเอาแบบแม่ด้วย แล้วฉันจะไปกลัวหรือเดือดร้อนอะไรล่ะ”
มาลัยก็เหมือนกับซิ่วเฮียง ถ้าทนกับพิกุลได้ก็ทนกับทุกคนได้หมด
ดังนั้นในบ้านนอกจากคุณนายลัดดาแล้วเด็กคนงานอื่นไม่มีใครทนดำรงค์ได้ ไม่มีใครจู้จี้ให้เขากินข้าวได้ ไม่มีใครกระตุ้นให้เขายอมออกจากห้องที่ซ่อนตัวมาช่วยงานมารดาได้ แต่มาลัยกลับทำได้ หล่อนทนฟังเสียงด่า ทนเวลาที่เขาอารมณ์เสียหรือน้อยใจในโชคชะตาได้ หล่อนพูดจาชักชวนตรง ๆ ให้เขากินข้าวได้ ทำให้เขารู้สึกฮึดสู้ยอมลุกขึ้นมาดูงานบัญชีหรือวางแผนเรื่องต่าง ๆ ของตลาดได้
เผลอเดี๋ยวเดียวมาลัยก็ทำงานที่นครปฐมมาเจ็ดแปดปี วัน ๆ อยู่ในบ้านกับตลาดแทบจะไม่ต้องออกแดด จากเด็กสาวผิวกระดำกระด่างหน้าตาขี้ริ้วก็ขยับเป็นหญิงสาวผิวสีน้ำผึ้งนวลเนียน ร่างกายที่หนาไม่มีทรวดทรงก็เริ่มมีอกมีเอวดูอวบอิ่ม แม้ไม่งามสะดุดตาแต่ก็มีความสวยในแบบของหล่อน แถมพอไม่ถูกมารดาและน้องสาวกดหัว ได้รับการสั่งสอนอย่างดีจากคุณนายลัดดา มาลัยคนซื่อก็พัฒนาความคิดความสามารถจนกลายเป็นคนคล่องแคล่ว เชื่อมั่นในตัวเอง หญิงสาวเริ่มมีชื่อเสียงเรื่องความขยันรู้จักค้าขายกลายเป็นคุณลัยที่แม่ค้าพ่อค้าในตลาดให้ความยำเกรง ไม่นานก็มีหนุ่มเจ้าของร้านอาหารดังแถวพระปฐมเจดีย์มาตามจีบ อยากจะขอมือขวาคุณนายลัดดาไปช่วยคิดเงินที่ร้านอาหาร
คุณนายลัดดากับมือขวายังไม่ทันแสดงความคิดเห็นอะไร ดำรงค์ก็อาละวาดใหญ่โต ประกาศว่ามารดาเขาลงทุนลงแรงเลี้ยงดูแลสอนงานมาลัยตัวดำมาหลายปี กว่าจะเก่งกว่าจะดีขัดคราบไคลจนสะอาดเอี่ยมหมดจดเหมือนวันนี้หมดเงินหมดเวลาไปไม่น้อย แล้วจะให้คนอื่นมาชุบมือเปิบไปง่าย ๆ ได้อย่างไร
หลังอาละวาดเสร็จ ดำรงค์ก็กะโผลกกะเผลกจูงนางเข้าห้องไป ดังนั้นจากมาลัยเด็กทำงานในบ้านสุดท้ายกลับเป็นคุณนายมาลัยผู้รับช่วงดูแลตลาดจากแม่สามี ระหว่างที่สามีดูแลบ้านแม่สามีเกษียณงานมาเลี้ยงลูกให้ มาลัยก็จัดการเก็บค่าเช่าแผง บริหารงานตลาด ขยายงานขยายตลาดหาเงินหาทองเข้าบ้านอย่างแข็งขัน
ส่วนน้องชายสองคนของดำรงค์นั้นแรก ๆ ก็กระอักกระอ่วนใจไม่น้อยที่พี่ชายยกเด็กในบ้านขึ้นเป็นเมียออกหน้าออกตา แต่ทั้งคู่เห็นและเข้าใจว่าพี่ชายทั้งพิการทั้งเจ้าอารมณ์ยากจะมีผู้หญิงดี ๆ จริงใจด้วย มีแต่มาลัยนี่แหละที่ทนเขาได้มาตลอด พอแต่งงานแล้วดำรงค์เองก็ดีขึ้นมาก ไม่หดหู่หรือฉุนเฉียวง่ายเหมือนเมื่อก่อน เริ่มกระตือรือร้นเรื่องงานแถมยังยอมออกงานออกการมากขึ้น ยิ่งพอลูกชายคนแรกเกิด เขาก็เริ่มยิ้มแย้มแจ่มใสคล้ายกลับเป็นพี่ชายคนเดิมที่ทั้งคู่รู้จัก ความคับข้องใจเรื่องฐานะชนชั้นของมาลัยจึงเริ่มจางไป
แต่สิ่งสำคัญสุดที่ทำให้น้องชายทั้งคู่มีท่าทีที่ดีขึ้นกับพี่สะใภ้คือการที่มาลัยนั้นทำงานเก่งจริง ๆ พอรับช่วงต่อจากคุณนายลัดดาไม่นานตลาดก็ขยายใหญ่ขึ้น จากตลาดหนึ่งเป็นตลาดสองตลาดสาม เงินส่วนแบ่งที่ต้องส่งให้น้องชายทั้งสองทุก ๆ สามเดือนก็มีแต่เพิ่มขึ้นไม่มีลดลง ทั้งคู่รวมถึงสะใภ้ทั้งสองบ้านจึงให้ความเคารพพี่สะใภ้คนนี้ในระดับหนึ่ง
มาลัยที่ตอนนี้ไม่ได้ใสซื่อเหมือนเมื่อก่อนแล้วก็ไม่ได้ทะนงตัวแต่อย่างไร หล่อนกลับบอกเสียอีกว่า
“พี่เฮียง ฉันน่ะรู้แล้วว่าอะไรก็ไม่สำคัญเท่าเงินหรอก ศักดิ์ศรีหน้าตาหรือความดีอะไรก็ไม่เท่ากับเงินปันผลที่ส่งให้ตามกำหนด ยิ่งแบ่งให้มากคนเขาก็ยิ่งเกรงใจเรามาก พี่น้องรักกันก็รักกันอยู่ แต่เงินก็ขาดไม่ได้เหมือนกัน”
สรุปแล้วเพราะแม่สามีสอนมาดี มาลัยเองก็เก่งและไม่มีนิสัยงกหรือคิดเล็กคิดน้อยกับบรรดาน้องชายของสามี เรื่องทางครอบครัวนั้นจึงไม่มีปัญหาอะไร แต่เรื่องทางมหาชัย…มาลัยที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากกลับไม่ค่อยกล้าเสียอย่างนั้น
“ตอนที่จะแต่งงานนายแม่ก็บอกว่าอยากจะมาขอฉันกับพ่อกับแม่ตามธรรมเนียม แต่ฉันกลับไม่อยากให้มา ไม่ใช่กลัวแม่จะตีตายเหมือนตอนที่ไปสุพรรณแล้วไม่กล้ากลับมหาชัยหรอกนะ” หล่อนหัวเราะนิดหนึ่งก่อนถอนใจยาว
“แต่คงเพราะเวลามันผ่านไปนานเหลือเกิน ไอ้ฉันนะอยากจะกลับบ้านทุกปี แต่ปีแรกไม่กล้า ปีสองไม่กล้า ปีสามไม่กล้า พอผ่านไปนาน ๆ จากที่ไม่กล้าก็กลายเป็นกลัวไปแล้ว กลัวว่าถ้ากลับไปตอนนี้แม่กับพ่อจะโกรธจะเกลียดจะไม่ยอมรับฉัน พอจะแต่งงานก็กลัวอีก กลัวว่าแม่จะทำให้นายแม่นึกรังเกียจ คนไทยมีคำสอนว่าดูช้างให้ดูหางดูนางให้ดูแม่ ฉันก็กลัวว่านายแม่เห็นแม่พิกุลแล้วจะกลัวว่าวันหนึ่งฉันอาจจะเหมือนแม่…” เพราะรูปลักษณ์ภายนอกของมาลัยเหมือนพิกุลจริง ๆ มาลัยจึงกลัวตรงนี้จับใจ “แล้วจะไม่ยอมให้คุณดำแต่งฉันเป็นเมีย ฉันก็นะ…เห็นแก่ตัวเหมือนกัน กลัวไปสารพัดอย่าง เลยไม่ได้กลับบ้านตอนนั้น”
“แล้วทำยังไงลัยถึงได้กลับมาล่ะ” ซิ่วเฮียงถาม
“พอมีลูกแหละพี่เฮียง มีลูกเองแล้วถึงได้เข้าใจว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ยังไงก็ตัดลูกไม่ขาดหรอก ฉันเลยตัดสินใจกลับบ้าน โหย…วันแรกที่กลับไป…ร้องไห้ตาบวมเป็นลูกมะกรูดเลยพี่ รู้สึกผิดที่ทำไมไม่รีบกลับมาก่อนหน้านี้ เป็นบ้าอะไรถึงทนรออยู่ตั้งหลายปี ด่าตัวเองว่าทำไมมัวแต่กลัวจนปล่อยให้แม่จัดการบ้านกับพี่พนมจนเละไปหมด พ่อก็อยู่บ้านไม่ได้ต้องไปอยู่วัด…”
“เออ…พูดถึงเรื่องพ่อสันต์แล้วพี่เสียใจด้วยนะลัย เสียดายที่พี่ไม่ได้กราบขออโหสิกรรมกับพ่อสันต์เป็นครั้งสุดท้าย หาญเองก็ไม่เคยเห็นปู่” เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่ซิ่วเฮียงรู้สึกผิดจริง ๆ
“อย่าโทษตัวเองเลยพี่เฮียง พ่อแกไม่โทษพี่เฮียงหรอก พ่อแกบอกว่าเป็นความผิดของแกที่ไม่อบรมพี่พนมกับหนาให้ดี ปล่อยให้แม่ทำไม่ดีกับพี่เฮียงโดยไม่ได้ช่วยปกป้องอะไรเลย และการที่แกยอมแม่ไม่เคยลุกขึ้นมาค้านอะไรถือเป็นความผิดที่สุด ที่พี่พนมเป็นแบบนี้หนามันเป็นแบบนี้ก็เพราะพ่อแกยอมตามแม่มากไปทั้งนั้น”
สองสาวนิ่งไปครู่เหมือนระลึกถึงสันต์ ก่อนซิ่วเฮียงจะถามว่า
“พ่อสันต์เสียที่วัดใช่ไหมลัย เห็นหนาบอกว่าพ่อแกตรอมใจ…”
“โอ๊ยอย่าไปเชื่ออะไรหนามันเลยพี่” มาลัยโบกมือเหมือนย้ำว่าสิ่งที่น้องสาวพูดล้วนเป็นเรื่องไร้สาระ “พ่อแกป่วยตายที่โรงพยาบาล หนามันรู้อะไรเสียที่ไหน ตอนนั้นมันอยู่กรุงเทพฯมั้ง หนามันเพิ่งกลับมหาชัยมาเมื่อปีก่อนนี่เอง มาถึงก็ขออยากไปอยู่กับฉันที่นครปฐม แต่ฉันไม่ให้ไป บ้านช่องฉันอยู่ที่ไหนฉันยังไม่บอกมันเลย กลัวมันจะหน้าหนาตามไปอยู่ด้วยแล้วทำให้ครอบครัวฉันที่นั่นมีปัญหา”
พูดแล้วหญิงสาวก็นึกได้รีบถามต่อว่า
“นี่พี่เฮียงไม่ได้บอกใช่ไหมว่าหาญเรียนอยู่เชียงใหม่”
“ไม่ได้บอก แค่บอกว่าอยู่ทางเหนือ”
“โล่งอกไปที” มาลัยยกมือลูบอกประกอบ สองสาวสบตากันแล้วเข้าใจกันดี จากนั้นอาสาวก็หันไปทางหลานชายที่กินอาหารบนโต๊ะจนกินอะไรต่อไม่ไหวแล้ว หล่อนเตือนว่า
“ฟังอาลัยนะหาญ ถ้าหนามันไปหาไปขออะไรหรือจะให้ไปไหนกับมัน หาญปฏิเสธไปเลยนะ อย่าไปสนใจ ไม่ว่าหนามันจะพูดอะไรก็ไม่ต้องไปฟัง คนบางคนยิ่งเกรงใจก็ยิ่งเอาแต่ใจ ยิ่งให้ก็ยิ่งเรียกร้องเพิ่มไม่หยุดไม่หย่อน ตัดไปเลยดีต่อหาญที่สุดนะลูกนะ”
หาญพยักหน้าในขณะที่ซิ่วเฮียงมองอดีตน้องสามีคนนี้ด้วยความทึ่ง ใครจะไปคิดว่าในหมู่พี่น้องสามคนลูกแม่พิกุล มาลัยคนที่ดูอับแสงที่สุด อ่อนแอที่สุด อนาคตเลือนลางที่สุด…สุดท้ายกลับมีชีวิตที่สมบูรณ์ มีพร้อมทั้งสามีดีและลูกชายแข็งแรง แม้จะทำงานหนักแต่ก็สุขสบายทั้งกายและใจ แถมยังมั่งคั่งร่ำรวยจนกลายเป็นเสาหลักของบ้าน เป็นคนที่ดูแลสันต์ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เป็นคนออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างในบ้าน เลี้ยงดูทั้งแม่พี่ชายและน้องสาว…
ชีวิตไม่สามารถคาดเดาหรือทำนายได้เลยจริง ๆ
สุดท้ายก่อนแยกจากกันมาลัยกับซิ่วเฮียงแลกที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ที่บ้าน มาลัยกอดหลานชายอย่างอาลัย ยืนโบกมือส่งแม่ลูกที่นั่งรถกลับสุพรรณจนลับตา
ซิ่วเฮียงพาหาญกลับสุพรรณอย่างโล่งใจ หญิงสาวคิดว่าการได้พูดเปิดใจกับหาญและการพบกับมาลัยโดยบังเอิญจะช่วยเยียวยาความรู้สึกผิดหวังของลูกชายได้บ้าง หล่อนไม่นึกเลยว่าพอถึงบ้านจะมีเรื่องใหญ่
หาญไม่ยอมกลับไปเรียนหนังสือต่อ
เด็กหนุ่มบอกว่าอายเพื่อนเพราะเพื่อนพูดความจริง เขามันไอ้ลูกไม่มีพ่อ
คนทั้งบ้านตกใจกับการตัดสินใจของหาญ มีหลีกังคนเดียวที่ทั้งตกใจทั้งโกรธ แน่ละว่าต้องโกรธลูกสาวคนโตที่พาอาหั่งไปเจอเรื่องแย่ ๆ มาจนอาหั่งไม่อยากเรียนหนังสือต่อ หลีกังด่าซิ่วเฮียงชนิดที่เรียกว่าถ้าเขายังหนุ่มแน่นมีเรี่ยวแรงคงถือไม้เรียวไล่ตีลูกสาวไปรอบบ้านแน่
อาการพยศของหาญกินเวลาสองสามวัน เริ่มต้นเมื่อกลับถึงสุพรรณและจบลงเมื่อเส่งที่รู้ข่าวเดินทางลงมาพบหลานชาย
เจอหน้ากันเส่งมองหลานชายนิ่ง ๆ ก่อนถามเสียงเรียบว่า
“เพื่อนพวกนั้น สำคัญกับหั่งมากเลยหรือ”
“ก็…ไม่ได้สำคัญอะไร” เด็กหนุ่มก้มหน้าไม่กล้าสบสายตากับกู๋เส่ง
“งั้นก็คงมีบุญคุณกับหั่งมากเลยสินะ”
หาญเงียบก่อนส่ายหน้า
“อะไร ไม่สำคัญและไม่มีบุญคุณอะไรงั้นหรือ ถ้าไม่มีอะไรเลยทำไมหั่งต้องทิ้งอนาคตทั้งชีวิตเพราะคนเหล่านั้นด้วย คนปากหมาปากเปราะพวกนั้น ข้าวก็ไม่ได้ให้ลื้อกินสักเม็ด น้ำก็ไม่ได้ให้สักอึก ทำไมลื้อต้องยอมเอาชีวิตตัวเองไปให้เขากระทืบด้วย แล้วม้าลื้อล่ะ…ม้าลื้อทำงานหาเงินมาเลี้ยงลื้อหาเงินส่งลื้อเรียน ม้าลื้อไม่สำคัญอะไรเลยหรือ ยังอากงอาม่าที่จูงลื้อไปโรงเรียน คอยไปรับลื้อจากโรงเรียนทุกวันตั้งแต่เด็กจนโต อากงอาม่าไม่มีบุญคุณอะไรเลยใช่ไหม แล้วยังกู๋กับอาโกวลื้อ…เวลาที่พวกเราสอนลื้อเขียนหนังสืออ่านหนังสือสอนทำการบ้าน ทั้งหมดไม่มีค่าอะไรเลยใช่ไหม ลื้อถึงได้ไม่เห็นความสำคัญไม่ยอมเรียนหนังสือเพราะคำพูดของคนอื่นแต่ไม่เคยนึกถึงพวกเราที่ทำกันทุกอย่างเพื่อให้ลื้อมีการศึกษาสูง ๆ มีอนาคตที่ดีเลย”
“กู๋เส่ง…” น้ำตาของเด็กหนุ่มหยดแหมะ
“ไม่ต้องเรียกกู๋ หั่งหันไปมองหน้าอากง แล้วบอกอากงว่าลื้อจะไม่เรียนต่อแล้วเพราะลื้อให้ความสำคัญกับลมปากเหม็นเน่าของคนอื่นมากกว่าความรักและความหวังดีของคนในบ้านนี้ พูดเลยแล้วกู๋จะตามใจไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับลื้ออีก”
“พอแล้ว ดุหลานพอแล้ว ลื้ออย่าพูดมากอีกเลย” อากงที่รักหลานรีบเข้ามาปกป้อง ดุหลานอั๊ว…อั๊วก็ดุลื้อเสียงเขียวได้เหมือนกัน
ส่วนหาญ…เด็กหนุ่มเอาแต่สะอึกสะอื้นไม่ยอมปริปากพูดแม้แต่คำเดียว
หลังจากนั้นพอครบกำหนดภาคทัณฑ์ เส่งก็พาหลานชายขึ้นไปส่งที่มหาวิทยาลัย ดูแลให้กลับเข้าไปเรียนใหม่เรียบร้อยแล้วจึงกลับไปทำงานตามเดิม
พอหาญไม่มีปัญหาเรื่องเรียน และไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องพ่อผู้ให้กำเนิดอีก ซิ่วเฮียงก็วางใจและเดินทางกลับกรุงเทพฯอย่างเบาใจ ความรู้สึกเหมือนได้ปลดตุ้มถ่วงลูกหนึ่งที่แขวนห้อยในหัวใจมาสิบกว่าปีลงเรียบร้อย
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 44 : ฝันสลาย
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 43 : รอยร้าว
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 42 : สัญญา
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 41 : อามาลัย
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 40 : พบหน้า
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 39 : ลูกไม่มีพ่อ
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 38 : หมากฝรั่งบุหรี่
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 37 : พิราบขาว
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 36 : คนนอก
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 35 : ผู้ชนะ (ตอนที่ 2)
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 34 : ผู้ชนะ (ตอนที่ 1)
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 33 : คดในข้องอในกระดูก
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 32 : สัญญาที่ไม่เป็นธรรม?
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 31 : แม่ม่ายลูกกำพร้า
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 30 : ฟ้าถล่ม
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 29 : ลูกชายลูกชาย
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 28 : ไม่มีอะไรแน่นอน
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 27 : เด็กน้อยของซิ่วเฮียง
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 26 : สันดานคนยากจะเปลี่ยน
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 25: รถจี๊ปสีเขียว
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 24 : หวังดีเกินไป รักเกินไป
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 23 : เรื่องที่เข้ากันได้
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 22 : หยี่แจ้ โอ่ยแจ้
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 21 : แต่งงาน
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 20 : สู่ขอ
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 19 : ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 18 : เห็นขี้ดีกว่าไส้
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 17 : กระต่ายก็กัดเป็น
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 16 : เลิกกับผัวแล้ว
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 15 : ปุ๋ยดีไม่ควรปล่อยให้ไหลลงนาผู้อื่น
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 14 : ลานมะเกลือ
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 13 : ศาลองค์แป๊ะกง
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 12 : เข้ากรุง
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 11 : ส้วมที่แตกแล้ว
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 10 : บ้าน
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 9 : หันหลังกลับ
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 8 : พยอม
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 7 : หมดสิ้น
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 6 : หาญ
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 5 : วาสนา
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 4 : ดอกไม้ผ้า
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 3 : ตุ้มหูทอง
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 2 : แม่ผัว
- READ แก่นไม้หอม บทที่ 1 : ซิ่วเฮียง