แรมสิบห้าค่ำนี้มีปาฎิหาริย์ บทที่ 7 : เจ้าสาวอยู่ไหน (2)

แรมสิบห้าค่ำนี้มีปาฎิหาริย์ บทที่ 7 : เจ้าสาวอยู่ไหน (2)

โดย : ณรัญชน์

Loading

แรมสิบห้าค่ำนี้มีปาฎิหาริย์ นวนิยายเรื่องล่าสุดจาก ณรัญชน์ ที่อ่านเอาคัดสรรมานำเสนอ กับเรื่องราวของกระจกโบราณที่สามารถทำนายอนาคตมนุษย์ทุกคนได้อย่างแม่นยำ ‘วิศรุต’ จึงใช้มันมาลิขิตชะตาชีวิตตัวเอง แม้นั่นจะหมายถึงการทำลายล้างคนรอบข้างอย่างโหดเหี้ยม ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงที่เขารัก นวนิยายออนไลน์จาก www.anowl.co

 

การประกวดสาวงาม ‘เพชรยอดพธู’ จัดขึ้นโดยสมาคมพ่อค้าแห่งหนึ่งในพระนคร หญิงสาวผู้เข้าประกวดมาจากหลากหลายที่มา มีทั้งที่ร้านค้าต่างๆ เป็นสปอนเซอร์และคนที่มาประกวดเองโดยไม่มีผู้สนับสนุน

แสงไฟสว่างจ้าสาดจับผิวสีน้ำผึ้งอ่อนนวลของหญิงสาวที่กำลังตอบคำถามอยู่บนเวที เผยให้เห็นวงหน้ารูปหัวใจ ดวงตาดำสนิทในหน่วยตายาวกว้างพราวระยับ รวมถึงรูปร่างระหงอ้อนแอ้นที่จับตาผู้ชมไม่แพ้ผู้ประกวดคนใดบนเวทีเดียวกัน

นับเป็นโชคดีที่นาราได้เค้าหน้าหวานคมและผิวพรรณเนียนละเอียดมาจากตวงพรที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยถึงขนาดเคยเป็นนางเอกละครมาก่อน ประกอบกับการอบรมอย่างมืออาชีพของคุณนายชม้อย พี่เลี้ยงนางงามที่ส่งเธอเข้าประกวด หลังจากผ่านไปถึงรอบสุดท้าย ในที่สุดนาราก็สามารถคว้าตำแหน่งรองนางงามมาครองอย่างเหนือความคาดหมายในความรู้สึกของเจ้าตัว

ถ้าจะพูดกันตามตรงธิปกคิดว่านารามีโอกาสจะได้ตำแหน่งชนะเลิศเสียด้วยซ้ำ หากมีเวลาเตรียมตัวอบขมิ้นบ่มผิว ฝึกหัดกิริยาท่าทางยามเยื้องกรายบนรองเท้าส้นสูงให้พร้อมสำหรับการประกวดมากกว่านี้ ไม่ใช่โทร.หาเขาตามเบอร์โทรศัพท์ที่ธิปกเคยให้ไว้ บอกด้วยเสียงกระซิบเหมือนกลัวใครจะมาได้ยินว่า

‘ที่คุณปกรณ์จ้างให้ฉันช่วยเปลี่ยนความคิดของชาวบ้านที่มีต่อคุณ และทำให้ห้างเรืองอำพันมีภาพพจน์ดีขึ้น เอาเป็นว่าฉันตกลงนะ และตอนนี้ฉันก็มีแผนแล้วด้วย’

ขณะนั้นเข็มนาฬิกาบนผนังห้องโถงบอกเวลาห้าทุ่มเศษ ดึกดื่นจนสาวใช้ที่วรรณาสั่งให้ตามควบคุมนาราทุกฝีก้าวหลับสนิทไปแล้ว รอบด้านเงียบเชียบปราศจากผู้คน กระนั้นนาราก็ยังต้องหรี่เสียงให้เบาที่สุดเมื่ออธิบายสถานการณ์ของตัวเองและบอกแผนการให้ธิปกรู้

วันต่อมาธิปกก็ไปพบนพมาศ ขอให้ช่วยพาพนักงานนิตยสารลัดดาวัลย์มาเป็นกองหนุน เพื่อให้แผนการหลบหนีของหญิงสาวสำเร็จราบรื่น

บ้านสีไข่ไก่บนถนนบ้านหม้อที่ธิปกพานาราไปส่งหลังจากหนีแต่งงาน เป็นบ้านของคุณนายชม้อยซึ่งหาลำไพ่พิเศษด้วยการส่งนางงามเข้าประกวด นาราเพิ่งจะมาขอสัมภาษณ์หล่อนไปลงนิตยสารลัดดาวัลย์เมื่อสองสัปดาห์ก่อนนี่เอง

ระหว่างที่คุยกันคุณนายถูกใจความสวยสดใสกับรูปร่างเพรียวระหงของนารามาก ถึงขนาดชวนให้ลาออกจากนิตยสารเพื่อมาเก็บตัวประกวดนางงาม ‘เพชรยอดพธู’ ที่กำลังจะมีขึ้นต้นเดือนหน้า แต่นาราปฏิเสธไป

จนกระทั่งสถานการณ์บีบคั้นเข้ามาทุกๆ ด้าน เธอก็คิดถึงคุณนายชม้อยขึ้นมาได้ จึงให้ธิปกมาเจรจากับคุณนายไว้ล่วงหน้า ก่อนที่เธอจะมาเก็บตัวอบรมความรู้อย่างเข้มข้น เพื่อลงประกวดนางงามในคืนนี้

หลังพิธีมอบรางวัลจบลง สาวงามทั้งหมดก็พากันลงจากเวที นักข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ธิปกเตรียมไว้รีบเข้ามาสัมภาษณ์นารา และแน่นอนว่าพรุ่งนี้คำพูดทั้งหมดจะเป็นข่าว กระจายไปในหมู่คนทั่วทั้งพระนคร

“ดิฉันมาประกวดเพราะความจำเป็นทางการเงินค่ะ” นาราบอกเมื่อเมื่อถูกถามถึงแรงบันดาลใจในการมาประกวดนางงาม “พี่เลี้ยงของดิฉันทำแจกันลายครามของเขาแตก ดิฉันเลยเป็นหนี้ ต้องหาเงินไปคืนเขา”

“ก็หมายความว่าไม่ใช่ความผิดของคุณสิครับ แล้วอย่างนี้คุณจะรับใช้หนี้ทำไม”

“พี่เลี้ยงดูแลดิฉันมาตั้งแต่เล็กๆ ผูกพันกันเหมือนเป็นญาติสนิท ดิฉันยอมให้พี่เลี้ยงลำบากไม่ได้หรอกค่ะ”

“แหม! คุณนารานี่ทั้งสวยทั้งมีจิตใจงามจริงๆ ครับ ขนาดพี่เลี้ยงไม่ใช่แม่แท้ๆ ยังกตัญญูรู้คุณ” นักข่าวอาวุโสชื่นชม

นารายิ้มหวาน ก่อนจะเข้าเบนเข้าสู่เป้าหมายสำคัญ

“ในโอกาสนี้ดิฉันขอขอบพระคุณห้างสรรพสินค้าเรืองอำพันที่เป็นสปอนเซอร์ส่งเข้าประกวดค่ะ คุณธิปกผู้จัดการห้างท่านรู้ปัญหาของดิฉัน เห็นใจว่าดิฉันอับจนหนทางที่จะหาเงินมาใช้หนี้ ถึงได้ช่วยผลักดันให้ดิฉันมาประกวดนางงาม”

“ห้างนี้กำลังถูกคนแจกใบปลิวโจมตีอยู่ไม่ใช่หรือครับ” นักข่าวถาม

“ใครโจมตีคะ แล้วเรื่องที่โจมตีน่ะมีหลักฐานหรือเปล่า” นาราทำเสียงซื่อ ดวงหน้านวลผ่องดูใสบริสุทธิ์ “ขนาดคนที่โจมตียังไม่ยอมเปิดเผยตัวเองด้วยซ้ำ แล้วจะเชื่อถือได้หรือคะ คนคนนั้นอาจจะเป็นคู่แข่งทางการค้าที่อิจฉาห้างนี้อยู่ เลยแกล้งใส่ร้ายกันก็ได้ แต่ดิฉันสิได้พบความมีน้ำใจของผู้จัดการห้างที่กรุณาช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากมาด้วยตัวเอง นี่ต่างหากที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีหลักฐานมีพยาน ตัวดิฉันเป็นพยานบุคคลสามารถยืนยันได้”

นักข่าวป้อนคำถามอีกสองสามข้อ นาราก็ตอบอย่างลื่นไหลไม่มีติดขัด สาระสำคัญเป็นการแก้ต่างให้ห้างเรืองอำพันทั้งสิ้น

เธอและธิปกมั่นใจว่าพอข่าวแพร่ออกไป ลูกค้าที่เคยเชื่อคำใส่ร้ายในใบปลิวจะต้องเปลี่ยนใจหันมาเชื่อคำพูดของนาราบ้างละ

ก็ทุกคนพร้อมจะเชื่อสาวน้อยแสนสวย มีฐานะน่ายกย่องเป็นถึงรองนางงาม ทั้งยังได้ชื่อว่ากตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ที่สำคัญมีชีวิตลำเค็ญต้องผจญกับหนี้สินพะรุงพะรังไม่ผิดกับพวกเขาอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

ถ้าจะเปรียบง่ายๆ ก็เหมือนกับดาราเจ้าน้ำตาที่มีคนหลงรักทั้งประเทศนั่นละ ไม่ว่าจะพูดอะไรประชาชนก็พากันคล้อยตามไปหมดเพราะความเอ็นดูที่มีให้เป็นทุนเดิม

แก้ต่างให้ธิปกครบถ้วนกระบวนความแล้ว ทีนี้ก็มาถึงปัญหาของตัวเองบ้าง นาราเดาว่าแม่เลี้ยงจะต้องเล่นงานเธอด้วยไพ่ตายที่มีอยู่ในกำมือ อีกไม่กี่วันหรอกเจ๊เกลียวจิตจะต้องเอาสัญญาเงินกู้ที่นาราเซ็นชื่อไว้ มาบังคับให้เธอจ่ายหนี้ก้อนใหญ่ทั้งหมด ไม่ยอมให้ขาดไปแม้สักสตางค์แดงเดียว

ถ้าเป็นไปได้นาราก็อยากจะคืนเงินเพื่อยุติปัญหาอยู่เหมือนกัน ปัญหาคือเธอไม่มีเงินนี่สิ…

“ในโอกาสนี้ดิฉันอยากจะฝากขอบคุณไปถึงคุณนายเกลียวจิต เจ้าของร้านเครื่องลายคราม ‘ศิลป์สยาม’ ที่บางลำพูด้วยค่ะ ขอบพระคุณที่มีใจเมตตายอมให้ดิฉันผ่อนชำระค่าแจกันที่พี่เลี้ยงของดิฉันทำแตก ท่านเป็นคนดีมีน้ำใจงาม ไม่บีบบังคับให้จ่ายหนี้ทั้งก้อนเหมือนพวกเจ้าหนี้ใจดำอำมหิตทั้งหลาย ดิฉันซาบซึ้งในความกรุณาของคุณนายมากค่ะ”

ถ้าเจ๊เกลียวยังกล้าทวงหนี้สองหมื่นห้าพันบาทคืนหมดในคราวเดียว ก็ต้องนับว่ามีหัวใจและใบหน้าที่แข็งแกร่งผิดมนุษย์มนาไปมาก เพราะนั่นแปลว่าหล่อนจะต้องเผชิญกับคำนินทาของคนทั้งย่านบางลำพู แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากเกลียวจิตยอมให้นาราผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ หล่อนก็จะได้ชื่อว่าเป็นแม่พระผู้แสนดีมีน้ำใจประเสริฐสมดังที่หญิงสาวสรรเสริญไว้

เกลียวจิตจะเลือกแบบไหน…นารามั่นใจว่าไม่มีใครเลือกแบบแรกแน่นอน

คำสัมภาษณ์ของนาราถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ธิปกยังให้คนถ่ายสำเนาทำเป็นใบปลิวไปโปรยที่บางรักและราชประสงค์ซึ่งห้างเรืองอำพันทั้งสองสาขาตั้งอยู่ เพื่อลบภาพพจน์ดำมืดที่คู่ปรปักษ์ป้ายสีไว้ด้วย เมื่อรวมกับการลดแลกแจกแถมอื่นๆ ยอดขายที่เคยตกต่ำก็ดีขึ้นจนน่าพอใจ

สำหรับนารา นายปกรณ์ขอให้เธอลาออกจากนิตยสารลัดดาวัลย์มาเป็นประชาสัมพันธ์ให้กับห้างเรืองอำพัน เขาว่า

“ห้างเราถูกคนจ้องเล่นงานอยู่ ต้องมีกองโฆษณาการคอยประชาสัมพันธ์ตลอดเวลา จะเอาแต่ขายของเงียบๆ ไม่ได้”

ตอนแรกนาราไม่อยากรับปากทว่านพมาศกลับเห็นด้วยกับความคิดนี้

“ไม่ใช่ว่าพี่ไม่เสียดายนารานะคะ แต่ว่าห้างของคุณธิปกยังมีปัญหา หนูไปช่วยที่นั่นเถอะแล้วค่อยเขียนคอลัมน์พิเศษมาส่งให้ลัดดาวัลย์เป็นครั้งคราวก็ได้”

เมื่อเจ้านายเก่าคะยั้นคะยอ ประกอบกับเธอเองก็ติดค้างบุญคุณที่ห้างเรืองอำพันเป็นสปอนเซอร์ส่งประกวดนางงาม นาราจึงยอมตกลงมาทำงานกับธิปกหลังจากสิ้นเดือนนั้น

นารากำลังหยิบลูกปิงปองสีส้มสดที่ติดหมายเลขไว้ด้านบนออกมาจากตะกร้า เพื่อสุ่มหาลูกค้าผู้โชคดีที่จะได้รับของสมนาคุณไปใช้ งานประชาสัมพันธ์แบบนี้จะมีขึ้นสัปดาห์ละครั้งหมุนเวียนกันไปที่ห้างเรืองอำพันทั้งสองสาขา จัดทีไรก็มีลูกค้ามาออกันเต็มห้างเพื่อมายลโฉมนางงามคนโปรด

ธิปกยืนเงียบๆ อยู่ที่มุมหนึ่ง ทอดสายตามองหญิงสาวในชุดเดรสสีเหลืองอ่อนที่กำลังเป็นศูนย์กลางความสนใจของทุกคน เขามองเสี้ยวหน้าละมุนแต่งแต้มเครื่องสำอางไว้จนนวลผ่อง ผมด้านหน้าหวีเปิดขึ้นรัดไว้ด้วยโบคาดผมสีเดียวกับเสื้อ ปล่อยส่วนที่เหลือยาวเคลียไหล่ม้วนปลายเป็นทรงสวอนตามสมัยนิยม ริมฝีปากรูปกระจับคลี่รอยยิ้มสดใส เห็นฟันซี่เล็กๆ เรียงกันราวกับไข่มุก

นาราดูเฉิดฉันผิดไปจากเมื่อก่อนราวกับเป็นคนละคน ทำให้เขาคิดถึงนิทานเรื่องลูกเป็ดขี้เหร่ที่วันหนึ่งเจ้าลูกเป็ดตัวน้อยก็แปรเปลี่ยนเป็นหงส์แสนงาม ให้ผู้คนที่เคยดูถูกมันมองจนตาค้าง คงมีแต่เขาที่ยังเห็นนาราเป็นเจ้าเป็ดขี้เหร่ตัวเดิม…

เป็ดเจ้าแผนการที่พาตัวฝ่าคลื่นลมไปได้อีกครั้งเพราะอาศัยเล่ห์กลที่เจ้าตัวถนัด

น่าแปลกที่นายปกรณ์กลับเอ็นดูนารานักหนา เขาหัวเราะร่วนตอนที่ธิปกเล่าว่านาราใช้กลอุบายอะไรพาตัวเข้าไปทำงานในบริษัทของนพมาศ และหลังจากหญิงสาวแก้ปัญหาของห้างเรืองอำพันได้สำเร็จ นายปกรณ์ก็ชมเปาะ

“ไอ้เด็กคนนี้มันร้าย” เขาว่า “แต่แสบๆ แบบนี้ละถึงจะเอาตัวรอดได้ เท่าที่ฟังเธอเล่ามา นาราคงถูกพี่สาวกับแม่กมลเนตรอะไรนั่นรังแกไม่เว้นแต่ละวัน แม่เลี้ยงเองก็น่าจะตะเภาเดียวกัน ไม่อย่างนั้นคงไม่จับลูกเลี้ยงแต่งงานใช้หนี้ที่ตัวเองเป็นคนก่อ”

“ผมอยากให้เขาตรงไปตรงมากว่านี้ ไม่ใช่วางอุบายหลอกลวงใครๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ”

ธิปกปรารภ ความรู้สึกคล้ายขัดใจ…หรือเสียดาย…อะไรบางอย่างที่เจ้าตัวก็ยังระบุไม่ได้

นายปกรณ์บรรจุยาเส้นลงในไปป์ วางไว้ข้างตัวก่อนจะหันมาคุยกับเขา สีหน้าของชายชราบอกความเข้าใจ

“เธอเป็นคนซื่อสัตย์ แต่กลับถูกนายวิศรุตใช้เล่ห์เหลี่ยมเล่นงาน เธอก็เลยไม่อยากให้นาราเป็นคนเจ้าเล่ห์แบบเดียวนายวิศรุต แต่ฉันถามจริงๆ นะธิปก เธอคิดว่าคนที่มีครอบครัวอย่างนารา ถ้าหากเป็นผู้หญิงซื่อๆทำตัวอ่อนหวานอย่างที่เธอต้องการ ชีวิตจะเป็นยังไง”

เห็นธิปกนิ่งอึ้งอย่างจนคำตอบ นายปกรณ์ก็พูดต่อไป “เธอคิดว่านาราเป็นคนเลวร้ายหรือ ฉันขอถามตรงๆ”

เลวร้ายอย่างนั้นหรือ…ไม่เลย ธิปกยังจำแววตาห่วงใยยามนารามองร่างบาดเจ็บของนายปกรณ์ได้ดี หญิงสาวยอมเอาสวัสดิภาพของตัวเองมาเสี่ยง รับคนแปลกหน้าสองคนขึ้นรถพาไปส่งโรงพยาบาล เพราะไม่อาจดูดายทิ้งคนเจ็บไว้ตามยถากรรม ทั้งๆ ที่การกระทำนั้นอาจนำภัยมาให้ถ้าชายหนึ่งในสองคนนั้นเป็นโจรร้ายขึ้นมา

และพอไปถึงโรงพยาบาล เมื่อเห็นเขา…ผู้ชายในชุดเก่าโทรมดูยากไร้ นาราก็ยังอุตส่าห์หยิบยื่นเงินจำนวนหนึ่งเพื่อให้ธิปกจ่ายเป็นค่ารักษานายปกรณ์

“เรื่องที่เธอเคยถูกใส่ร้ายจนเกือบหมดอนาคต ถ้าหากเธอไปเกลี้ยกล่อมพวกนายชัชวาล นายเผด็จให้สารภาพความจริง คิดหรือว่าเขาจะยอมทำตาม ฉันถึงอยากให้นารามาช่วยเธอแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่ว่าฉันดูถูกมันสมองของเธอหรอกนะธิปก เธอเป็นคนฉลาด เก่งในการค้าขาย แต่นิสัยตรงไปตรงมาของเธอเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะขวางไม่ให้เธอพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้สำเร็จ เธอต้องการคนมีน้ำใจแต่รู้จักคดเคี้ยวมาเป็นผู้ช่วย”

คนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนตบบ่าชายหนุ่ม ทิ้งท้ายไว้ก่อนจะจุดไฟลนยาเส้นแล้วเอนหลังสูบไปป์อย่างสบายใจ

“ฉันเข้าใจดีว่าเธอเกลียดการใช้กลอุบาย แต่ฉันไม่คิดว่านาราเป็นคนแบบเดียวกับนายวิศรุต เอาเถอะ ฉันจะไม่ก้าวก่ายการตัดสินใจของเธอ จะให้นาราช่วยเรื่องชัชวาลหรือเปล่าเธอพิจารณาเอาเองก็แล้วกัน”

ธิปกใช้เวลาไตร่ตรองคำพูดของนายปกรณ์ผู้ที่เขาเชื่อถือในความเฉียบคมของวิจารณญาณอยู่หนึ่งคืนเต็มๆ อีกไม่กี่วันต่อมาเป็นวันชำระหนี้ ร้านของเกลียวจิตจึงมีโอกาสต้อนรับนาราอีกครั้ง แต่คราวนี้ท่าทางของเจ้าของร้านดูเอื้ออารีผิดไปเป็นคนละคน ใบหน้าที่เคยบึ้งตึงใส่หญิงสาวประดับด้วยรอยยิ้มกว้าง

นาราไม่ปิดบังสายตาหวาดระแวงเมื่อมองอีกฝ่าย เกลียวจิตจึงหัวเราะเขินๆ

“แหม! หนูนาราทำไมมองฉันเหมือนไม่เคยเห็นกันมาก่อนอย่างนั้นละ เราคนกันเองทั้งนั้น”

“ค่ะ กันเองก็กันเอง” นาราไม่อยากเท้าความถึงเรื่องเก่าๆ เลยไม่พูดมาก เธอเปิดกระเป๋าหยิบเงินสดออกมาวางบนโต๊ะ “ฉันเอาเงินมาจ่ายหนี้งวดนี้”

“วุ้ย! จะมาจ่ายทำไม ก็คุณธิปกเขามาใช้หนี้ให้หมดแล้ว หนูนารารู้จักคนรวยระดับผู้จัดการห้างก็น่าจะบอกกันตั้งแต่แรก” คนพูดหัวเราะเสียงใส “ทีหลังมีอะไรให้ช่วยก็บอกมาได้เลยนะจ๊ะ เจ๊น่ะไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำหรอก ง่า…อย่างคราวก่อนที่ทำตามคุณวรรณานั่นก็เพราะรู้จักกัน เขาขอร้องมาไอ้เราก็เป็นคนมีน้ำใจเลยต้องช่วย”

หล่อนงึมงำในประโยคท้าย แล้วรีบโบกไม้โบกมือปัดอดีตที่ไม่น่าจดจำทิ้งไปแบบเดียวกับปัดแมลงวัน “แต่เรื่องแล้วไปแล้ว หนูก็อย่าถือสาเลยนะ”

เกลียวจิตอ้อมแอ้มแก้ตัวอีกครู่หนึ่ง นาราฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ตรงไหนที่คิดว่าจำเป็นต้องรู้ไว้ก็ซักถามจนกระจ่าง จากนั้นก็ขึ้นสามล้อไปขอพบธิปกที่บ้านของนายปกรณ์

“คุณไปใช้หนี้ของฉันที่ติดคุณนายเกลียวจิตอยู่ทำไม” พอเห็นหน้าชายหนุ่มนาราก็เข้าประเด็นทันที

ผิวแก้มคนถามแดงปลั่งเพราะถูกบ่มด้วยอากาศร้อนอบอ้าวมาตลอดทาง วันนี้เป็นวันหยุดนาราจึงไม่แต่งหน้า ไรผมอ่อนๆ รุ่ยร่ายระกรอบหน้าใสสะอาด เสื้อเชิ้ตแขนสั้นและกางเกงสี่ส่วนพอดีตัวทำให้ดูสบายๆ ไม่ต่างจากผู้หญิงคนเก่าที่ธิปกรู้จัก

ธิปกวางซองเอกสารลงบนโต๊ะกระจกที่ตั้งคั่นกลางระหว่างตัวเขากับแขก

“นี่เป็นเอกสารกู้ยืมที่คุณเซ็นชื่อไว้กับคุณเกลียวจิต มีใบรับรองพร้อมลายเซ็นคุณนายว่าคุณได้คืนเงินครบแล้วด้วย เอากลับไปสิ”

นาราเหลือบมองแต่ไม่ได้เอื้อมมือมารับ

“คุณจ่ายหนี้ให้ฉันทำไม” สีหน้าคนพูดเต็มไปด้วยความเคลือบแคลง

“ผมไม่ได้จ่ายให้เปล่าๆ หรอก” ธิปกเลื่อนเอกสารอีกแผ่นให้ดู “นี่เป็นเอกสารกู้ยืมแผ่นใหม่ แปลว่าตอนนี้คุณก็แค่เปลี่ยนเจ้าหนี้จากคุณเกลียวจิตมาเป็นผมเท่านั้นเอง”

นารามองตัวเลขในเอกสาร จำนวนหนี้ของเธอลดลงจากสองหมื่นห้าพันบาทเป็นหนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน

“หนึ่งหมื่นบาทนั่นเป็นค่าแรงที่คุณช่วยแก้ปัญหาเรื่องใบปลิวโจมตีห้างของผม” ธิปกเฉลยข้อข้องใจ “ส่วนหนี้สินที่เหลืออีกหมื่นห้า คุณค่อยมาผ่อนชำระไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด”

ค่าจ้างงามกว่าที่คิดไว้เสียอีก!

หญิงสาวร้องกรี๊ดกราดอยู่ในใจ แต่ภายนอกยังปั้นหน้าขรึมเหมือนโกรธคนจุ้นจ้านไว้ตามเดิม

“คุณน่าจะถามความเห็นฉันก่อนที่จะทำอะไรลงไป เราไม่ได้สนิทกันถึงขนาดจะมาจ่ายหนี้แทนกันหรอกนะ” เธอทำเสียงอย่างเสียไม่ได้ “แต่ก็เอาเถอะ…ไหนๆ ก็ทำไปแล้ว”

นาราหยิบเอกสารขึ้นมาตั้งใจอ่านอย่างละเอียดก่อนเซ็นชื่อ แต่แล้วหญิงสาวก็ขมวดคิ้ว ชี้ไปที่ตัวอักษรในบรรทัดหนึ่ง

“นี่อะไรน่ะ ลูกหนี้สามารถชำระหนี้สินเป็นแรงกายได้ ด้วยการทำงานตามที่เจ้าหนี้เสนอ ราคาของชิ้นงานขึ้นอยู่กับความพอใจของเจ้าหนี้เป็นหลัก”

พอเธอเงยหน้าขึ้นมองก็ได้คำตอบว่า “เวลาคุณทำงานพิเศษให้ผม ผมจะลดหนี้ให้ตามความยากง่ายของงาน ถือว่าจ้างกันเป็นชิ้นๆ ไป คุณจะได้ไม่ต้องมาผ่อนชำระเดือนละแปดร้อยบาททุกเดือนไง”

คนฟังเข้าใจทันที “เหมือนอย่างแก้ปัญหาเรื่องใบปลิวที่ฉันเพิ่งทำไปน่ะหรือ”

“ถูกต้อง” ธิปกพยักหน้ารับ “ว่าแต่คุณอยากฟังปัญหาต่อไปของผมไหมล่ะ ชิ้นนี้ผมให้ค่าจ้างอีกห้าพันบาท”

เห็นนาราพยักหน้ารับอย่างกระตือรือร้น ธิปกก็พลอยกระปรี้กระเปร่าตามไปด้วย เขาชะโงกตัวเข้าไปใกล้หญิงสาว เริ่มเล่าเหตุการณ์ที่วิศรุตใส่ร้ายให้ฟัง



Don`t copy text!