เวียงวนาลัย บทที่ ๑ : ปัจจุบันของวันวาน “เวียงวนาลัย”

เวียงวนาลัย บทที่ ๑ : ปัจจุบันของวันวาน “เวียงวนาลัย”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

เรื่องราวของผู้คนมากมายจากปากแกรนด์ปา…ผมต้องจดไว้กันลืม และคอยเช็กความถูกต้องของเนื้อหา เพราะหลายครั้งแกอ้างชื่อคนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยที่ผมคุ้นเคยมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม

ผ่านไปครึ่งปี ผมก็ได้ต้นฉบับหนังสือหนึ่งเล่ม เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการทำป่าไม้ในภาคเหนือของไทยในอดีต ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 เรื่อยมา ยุคที่เจ้าผู้ครองนครทางเหนือให้สัมปทานป่าไม้แก่บริษัทต่างชาติ จนกระทั่งสยามคืบคลานเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นผู้จัดการสัมปทานพร้อมกับค่อยๆ ลดบทบาทของเจ้าผู้ครองนคร จนถึงวาระเกือบสุดท้ายที่บริษัทต่างชาติถอนตัวไป ปล่อยให้ทางการสยามจัดการกันเอง

ผมย้ำว่าทั้งหมดเป็น ‘เรื่องเล่า’ จากคำบอกเล่า เพื่อเซฟตัวเองจากการขุดคุ้ยของนักวิชาการบางกลุ่มที่รู้ทุกเรื่องในโลกราวกับโตมาคู่กับซากฟอสซิลทว่ายังไม่ตายจนเดี๋ยวนี้ แต่ถึงกระนั้น ผมก็อดที่จะค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้ ทีแรกผมไม่คาดว่าจะหาอะไรได้มากนักในต่างแดน เป็นเรื่องตลกร้ายนิดหน่อยที่เอกสารที่ผมสืบค้นในหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ หรือ British Library มีมากและเป็นประโยชน์มากกว่าเว็บไซต์ห้องสมุดของไทย ที่อวดอ้างว่ามี e-book ให้อ่านฟรี และยังมีเอกสารสำคัญให้บริการแบบดิจิทัล มีหลายชิ้นที่ผมสนใจ แต่เมื่อคลิกเข้าไปกลับพบว่าลิงก์เหล่านั้น…ถ้าไม่เชื่อมไปยังเว็บพนันออนไลน์ ก็ดาวน์โหลดไม่ได้…ขึ้นว่าเออเรอร์เป็นปกติ…จนผมอยากจะสรุปว่ามันค่อนข้างไร้ประโยชน์

อีกหนึ่งแหล่งข้อมูลที่ทำให้ผมตาลุกวาวคือที่ห้องสมุดของโซแอส (SOAS) (1) หรือวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและแอฟริกาศึกษา ด้วยความช่วยเหลือของอาจารย์เอกบดินทร์ที่มาเรียนต่อที่นี่ ผมพบอาจารย์เม่นโดยบังเอิญเพราะไปดูละครเวทีรอบเดียวกันเรื่อง เหยื่ออธรรม หรือ Les Misérables ผลงานการประพันธ์ของนักเขียนฝรั่งเศสนามอุโฆษ วิคเตอร์ อูโก (Victor Hugo) เราเดินชนกันแล้วต่างฝ่ายต่างอุทานออกมาเป็นภาษาไทย เลยได้ทำความรู้จักกัน หลังละครเลิกเราจึงไปกินอาหารจีนบุฟเฟต์ในร้านฝั่งตรงข้ามกับโรงละครซึ่งเป็นไชน่าทาวน์ที่เปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

คนที่มากับอาจารย์เม่น ใครเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นอะไรกัน อาจารย์เม่นบอกอย่างไม่ปิดบังว่าเคยได้ทุนไปเรียนที่เกาหลีครั้งหนึ่งแล้วไปไม่รอด จึงหาที่เรียนใหม่ที่อังกฤษ หากกระนั้นก็ถือว่าได้หนุ่มเกาหลีมาเป็นคนรู้ใจในวันนี้ อาจารย์เม่นเอื้อเฟื้อผมมากด้วยการพาไปห้องสมุดที่โซแอส สิ่งแรกที่ผมตื่นเต้นก็คือ ไม่คิดว่าจะได้เห็นหนังสือภาษาไทยให้บริการอยู่บนชั้นหนังสือที่นี่ เอกสารบางรายการผมก็อยากจะบอกว่าหาที่ไทยไม่ได้ เพราะเป็นหนังสือต้องห้าม

ที่ผมต้องขอบคุณอาจารย์เม่นเป็นอย่างสูง…ผมเขียนไว้ในคำนิยมด้วย…คือการที่อาจารย์เม่นพาไปรู้จักโปรเฟสเซอร์หลายท่านที่ศึกษาเรื่องราวต่างๆ ในพื้นที่อุษาคเนย์อย่างจริงจัง

ผมส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา มันเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือวิชาการมายาวนาน เรียกว่าไม่เด่น ไม่ทำกำไรปรู๊ดปร๊าด แต่ก็ไม่ตาย ผมเสนอไปโดยไม่ภาวนาว่าเขาจะพิมพ์หรือไม่ เพราะรู้ดีว่าหนังสือหลายเล่มที่เขียนมาจากงานวิจัยนั้น อีกสิบปีต่อมามันก็ยังนอนนิ่งอยู่ในโกดัง กระดาษเก่าเหลือง จนกระทั่งเอามาใส่กระบะโละขายเล่มละยี่สิบบาท คนซื้อยังไม่รู้จะซื้อไปทำอะไร แต่ไม่ได้เอาไปอ่านแน่ๆ

งานชิ้นล่าสุดของผมไม่ถูกส่งลงตะกร้า ซ้ำยังติดอันดับหนังสือขายดีอยู่สามวัน สำนักพิมพ์ก็เลียบๆ เคียงๆ ถามเรื่องพิมพ์ซ้ำและจองพิมพ์เล่มถัดไปหากผมจะเขียนทำนองนี้อีก พอดีกับลูกหลานเจ้าของสำนักพิมพ์นี้ต้องขึ้นมาดำเนินงานต่อ แต่ไม่ชอบงานวิชาการจ๋า เลยแตกสาขาออกไปพิมพ์นิยาย ผู้ประสานงานที่ติดต่อผมมายาวนานจึงปรารภกึ่งโน้มน้าวให้ผมเขียนเรื่องปางไม้อีกสักเล่ม แต่ออกไปทางนิยาย เพราะที่พิมพ์ขายอยู่นี้เขาคงเห็นแววว่าผมมีลีลาการเล่าเรื่องที่หลุดขนบของงานวิชาการไปแล้ว

ครั้นผมเล่าให้แกรนด์ปาฟัง แกก็สนับสนุนให้ผมเขียน แถมยังค้นข้าวของอีกมากมายที่แกไม่เคยบอกผมมาก่อนหน้านี้ว่ามี มาใช้ประกอบการเขียน…ผมคิดว่าแกไว้ใจผมจนเปิดหมดแล้วนะนี่ กลับกลายเป็นว่ามียักไว้อีกหลายขยัก ผมเลยขู่แกกลายๆ ว่า ถ้าจะให้ผมเขียน แกรนด์ปาต้องเล่าทุกอย่างให้ผมรู้…ทุกอย่างที่แปลว่าทุกอย่าง

แกรนด์ปาก็รับปาก

ผมมารู้ในตอนหลังว่าแกรนด์ปามิได้แค่อยากให้ผมบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้ แต่แกอยากให้ ‘ครอบครัวที่ไทย’ ได้อ่าน

ทุกครั้งก่อนที่ผมกับแกรนด์ปาจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เราจะเปิดเพลง Spanish Cavalier จากจานเสียงแผ่นเก่า เมื่อถึงท่อนร้องที่ว่า I will return to you, dear…ฉันจะกลับไปหาเธอ ยอดรัก…แววตาของแกรนด์ปาจะหม่นลง

มีบางอย่างระหว่างผมกับแกรนด์ปาที่เรารู้กัน…แต่ไม่เอ่ยออกมาเพื่อยืนยันหรือซักถามให้สิ้นสงสัย

แกรนด์ปารู้ว่าผมเป็นใคร พูดให้ถูกก็คือ แกรู้ว่าผมเป็นลูกเต้าเหล่าใคร

เช่นเดียวกับที่ผมรู้ว่าแกรนด์ปาเกี่ยวข้องกับครอบครัวผมอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่แกรนด์ปาขอไว้และย้ำซ้ำๆ ยามพบกันครั้งหลังเมื่อหนังสือเล่มถัดมาที่ผมขยายรายละเอียดจากเล่มแรกติดอันดับขายดีนานขึ้นอีกนิดหน่อย ก็มีสาวน้อยคนหนึ่งตั้งกระทู้ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ตามหาสมาชิกในครอบครัวที่สูญหายโดยเริ่มต้นจากข้อมูลในหนังสือของผม

แกรนด์ปาขอร้องมิให้ผมบอกว่าแกคือใคร

“เราอาจเป็นฮีโร่ในชีวิตของเรา และเราก็อาจเป็นคนชั่วร้ายในชีวิตของใครสักคน”

นั่นคือเหตุผลของแกรนด์ปา ผมจึงรับปากและยึดมั่นคำสัญญาไว้อย่างเหนียวแน่น

เมื่อเราคุยกันถึงปางไม้ แกรนด์ปาไม่ใช่ชายชราเซื่องๆ นั่งบนเก้าอี้เก่ารอวันสิ้นลมอีกต่อไป แต่กลายเป็นเด็กหนุ่มในวัยยี่สิบต้น เล่าความโลดโผนในการผจญภัยจากเรื่องนั้นสู่เรื่องนี้ จนผมอดคิดไม่ได้ว่าถ้าตอนนี้เราอายุเท่ากัน แกคงชวนผมออกไปเล่นเทนนิส ตีกอล์ฟ โปโล หรือคริกเก็ต แต่ในความเป็นจริงเราทำได้แค่เล่นไพ่บริดจ์จิบน้ำชายามบ่ายแกล้มสโคนเนื้อนุ่ม…ไม่มีซิการ์เพราะแคลร์ห้ามเด็ดขาด

แกรนด์ปาเอ่ยถึงหนังสือเล่มหนึ่ง

มันคือ ‘Banal Life’ ที่ฉบับแปลไทยใช้ชื่อว่า ‘วิมานแดนเถื่อน’

ผมได้ยินชื่อนี้มานานด้วยเป็นประเด็นถกเถียงไม่รู้จบว่าเรื่องวีรสตรีจากตะวันตกที่เข้ามาแก้ไขความไร้อารยธรรมของคนงานปางไม้ในสยามให้เป็นผู้มีอารยธรรมอย่างที่ควรเป็นนั้น เป็นบันทึกประสบการณ์จริงหรือจินตนาการของนางแหม่มผู้เขียน เสียงสนับสนุนก็ว่ามีเค้าความจริงเพราะอาจสืบเสาะหาระบุตัวได้ว่า ‘คน’ ที่หล่อนเอ่ยถึงนั้นเป็น ‘ใคร’ ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านก็บอกว่าหล่อนเพ้อเจ้อ หยิบเรื่องนั้นมาปนกับเรื่องนี้จนมั่วไปหมด ซ้ำยัง…ถ้าพูดด้วยภาษาวัยรุ่นเดี๋ยวนี้ก็ต้องใช้ว่า…มั่นหน้า…เพราะหล่อนเป็นตัวเอกของเรื่อง เก่งกาจเหนือชายใด และแก้ปัญหาได้ทั้งปวง เห็นชัดว่าจงใจแต่งให้ตัวเองดูดีในฉากที่โลดโผน จึงควรจะจัดให้เป็นเพียงนิยายอ่านสนุกเล่มหนึ่งเท่านั้น แต่อย่าเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ต่อมายังมีผู้ ‘แหก’ งานของหล่อนออกเป็นชิ้นๆ เทียบประจานชนิดคำต่อคำว่าหล่อนคัดลอกบันทึกของใครบ้าง เอามาผสมจนเป็นนิยายผจญภัยในแดนป่าเถื่อนของสตรีชาวอังกฤษยุควิคตอเรียผู้หาญกล้า

ผมเคยอ่านเรื่องนี้นานมาแล้วสมัยเป็นนักเรียน เพราะตอนนั้นมันมีประเด็นโต้แย้งกันอยู่จากที่นิยายเล่มนี้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วขอฉายในไทย สุดท้ายก็ได้ฉายแบบที่ต้องตัดออกไปหลายฉากจนผู้อำนวยการสร้างเห็นตัวเลขขาดทุนอยู่รำไร หนังก็ลาโรงไปก่อนเวลาที่ตกลงกัน ในส่วนของหนังสือ…ผมอ่านจนจบด้วยความพยายาม…ใครจะว่าเรื่องนี้ดีงามอย่างไรก็ช่าง แต่สำหรับผมต้องถือว่าต้องทนพยายามอ่านจนจบทีเดียวด้วยความใคร่รู้ว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร แต่หาความบันเทิงไม่พบ

แล้วก็มาระลึกได้ในวันนี้ เมื่อแกรนด์ปาเอ่ยถึง

ผมคิดว่าจะซื้ออีบุ๊กมาอ่านอีกสักรอบ แต่แกรนด์ปาก็ยื่นหนังสือเล่มนี้ในสภาพกระดาษเก่าเหลืองตามกาลเวลา มันเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรก ลายเซ็นผู้เขียนยังประทับอยู่บนหน้าแรกเหนือข้อความที่ประกาศอย่างองอาจอหังการว่า เนื้อหาในเล่มนี้เขียนจากเรื่องจริง 75 เปอร์เซ็นต์ และอีก 25 เปอร์เซ็นต์เป็นประสบการณ์จริงของผู้เขียน

ก็คือจะโอ่นั่นแหละว่า ทั้งหมดนี้คือเรื่องจริง

ผมถามแกรนด์ปาไปตรงๆ ว่ามันคือเรื่องจริงหรือเหลวไหล แกรนด์ปาก็บอกให้ผมอ่านเองอีกสักรอบ ความรู้สึกในตอนนั้นกับตอนนี้อาจเปลี่ยนไป ด้วยวัยที่มากขึ้นและมีสติปัญญาพอพิจารณาได้ว่ามันควรเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง

ที่ผมสนใจเพราะในช่วงหนึ่งที่เราคุยกันเรื่องปางไม้ ผมก็เห็นเงาของหล่อนปะปนอยู่สังคมของชาวตะวันตกที่นั่น…ในเวลานั้น จึงคิดว่ามันน่าจะมีอะไรเกี่ยวพันกันอยู่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมพบว่าแกรนด์ปาครอบครองไว้คือสมุดภาพวาด

ต้องบอกก่อนว่าหลังจากที่ผมและแกรนด์ปาตกลงเป็นคู่หูต่างวัย เราก็ไม่สนใจแคลร์อีก ต่อให้หล่อนไม่เห็นด้วยกับทุกอย่างที่เราทำ โกรธโมโหหัวฟัดหัวเหวี่ยง เราก็ถือว่านั่นเป็นปัญหาของหล่อน ผมขับรถพาแกรนด์ปาออกไปปิกนิกนอกบ้านมากขึ้น อันที่จริงแคลร์น่าจะดีใจว่าสุขภาพของแกรนด์ปาดีขึ้นมาก แต่เมื่อหล่อนยังตีลูกขัดทุกเรื่องที่ผมทำ ผมก็เลิกสนใจอย่างถาวร มองทะลุหล่อนเป็นอากาศธาตุไปเลย

สถานที่หนึ่งที่แกรนด์ปาเรียกร้องอยากไปคือสวนคิว หรือคิวการ์เดนส์ ซึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ชานกรุงลอนดอน นั่งรถไฟจากสถานีวอเตอร์ลูไปลงที่สถานีริชมอนด์หรือสถานีคิวการ์เดนส์ชั่วโมงเดียวก็ถึง

จากประตูทางเข้าหลัก แกรนด์ปาจะตรงไปที่ Shirley Sherwood Gallery of Botanical Art ก่อน ในอาคารจัดแสดงคอลเลกชันภาพวาดทางพฤกษศาสตร์จากศิลปินทั่วโลกซึ่งมิสซิสเชอร์ลีย์ เชอร์วูด เป็นเจ้าของ ผมตื่นเต้นมากเมื่อเจอชื่อคนไทยใต้ภาพดอกไม้หลายภาพ…พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก…ผมชี้พลางอวดแก่แกรนด์ปา

ผมไม่รู้จักมิสซิสเชอร์ลีย์ผู้เป็นเจ้าของคอลเลกชันเหล่านี้ แต่แกรนด์ปาสะกิดผมพลางลากเข้าไปทักทายหล่อนในครั้งหนึ่งที่เราบังเอิญพบที่นั่น วันนั้นเองผมจึงได้รู้ว่าแกรนด์ปาพกสมุดภาพเล่มหนึ่งมาด้วย แกส่งให้มิสซิสเชอร์ลีย์ดูอย่างไม่อ้อมค้อม ทีแรกผมคิดว่าหล่อนจะดูผ่านๆ แล้วส่งคืนพร้อมคำขอบใจและปฏิเสธอย่างสุภาพว่าหล่อนไม่สนใจภาพวาดเหล่านี้

แต่ผิดคาด เพราะหล่อนเชิญผมและแกรนด์ปาเข้าไปจิบชากุหลาบในห้องรับรองเพื่อให้เวลาหล่อนได้พลิกดูภาพวาดดอกไม้ไปทีละหน้าอย่างพินิจพิจารณาช้าๆ จนถึงภาพสุดท้ายโดยที่แกรนด์ปาไม่ขัดหรือเร่งเร้าแต่อย่างใด

ภาพทั้งหมดเป็นดอกไม้ในป่าทางภาคเหนือของไทย ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้ทั้งที่ผมรู้จักและไม่รู้จัก มิสซิสเชอร์ลีย์พินิจนานที่ภาพสุดท้ายราวกับว่าจะให้มันลอยออกมาเป็นภาพสามมิติ ในขณะที่ผมคิดในใจว่า หล่อนคงจับโกหกแกรนด์ปาได้แล้วว่า บังอาจย้อมแมวเอาภาพวาดฝีมือพอใช้มาเสนอขายแก่หล่อน

“กล้วยไม้ชนิดนี้ ฉันไม่เคยพบเลย”

มิสซิสเชอร์ลีย์ดูลายมือที่เขียนชื่อกำกับไว้เป็นภาษาอังกฤษที่หาคำแปลไม่ได้ ผมจึงอ่านใหม่ด้วยสำเนียงไทย แกรนด์ปาก็พยักหน้าว่าผมเรียกชื่อถูกต้อง…ชื่อกล้วยไม้ภาษาไทยที่คนวาดคงตั้งให้เอง มิใช่ชื่อที่แท้จริงของกล้วยไม้ชนิดนั้น

มิสซิสเชอร์ลีย์ขอซื้อสมุดภาพเล่มนั้นเป็นราคาสูงหลายหมื่นปอนด์ คิดจากภาพวาดเป็นรายชิ้นเลยทีเดียว

แต่แกรนด์ปาไม่ขาย

แน่ะ…เล่นตัวเสียด้วย…ร้ายนักนะตาเฒ่า มายั่วให้อยากแล้วจากไป

มิสซิสเชอร์ลีย์ไม่รบเร้า แต่เอาใจด้วยการให้สิทธิ์แก่ผมและแกรนด์ปาเข้าชมสวนคิวได้ฟรีโดยไม่ต้องสมัครสมาชิก เรียกว่าเป็นแขกกิตติมศักดิ์กันเลยทีเดียว ด้วยหวังว่าแกรนด์ปาจะใจอ่อนยอมขายให้สักวันหนึ่ง

“เขาเสนอราคาให้สูงขนาดนี้ ทำไมแกรนด์ปาไม่ขายล่ะครับ”

คำตอบที่ผมได้รับคือ

“ต้องให้ทายาทเขาเป็นคนตัดสินใจ”

มิสซิสเชอร์ลีย์ติดต่อผมเป็นระยะเรื่องภาพวาด ผมก็บอกเหตุผลไปตามจริง แล้วก็จนปัญญาหาคำตอบให้หล่อนว่า ‘ทายาท’ ผู้แกรนด์ปายืนยันว่ายังมีลมหายใจนั้นเป็นใคร

“เธอพอจะติดต่อให้หน่อยได้ไหมจ๊ะ”

แหม…ผมคิดในใจ…ถ้ารู้ตัวก็ดีสิ จะได้พามาแสดงตัวแล้วขอหักค่านายหน้าเสียหน่อย

แต่ความจริงก็คือ แม้แต่กับผมที่แกรนด์ปาสนิทด้วยที่สุดในตอนนี้ แกก็ไม่ปริปากบอกว่าทายาทเจ้าของสมุดภาพเล่มนี้คือใคร

นอกเหนือจากแกลเลอรีภาพวาด อีกที่หนึ่งที่แกรนด์ปามักเข้าไปอยู่นานๆ คือเรือนกระจกขนาดใหญ่วางผังซับซ้อนลดหลั่นหลายชั้นจัดแสดงพรรณไม้เมืองร้อนชื่อ Princess of Wales Conservatory และเรือนกระจกที่เป็นสวนปาล์ม หรือ Palm House ที่ภายในปรับอุณหภูมิเหมือนเขตร้อน เดินเข้าไปถึงกับเหงื่อไหลต้องถอดเสื้อโคตพาดแขนไว้ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นลมหน้ามืดล้มลงได้เสียก่อน ทั้งที่อากาศภายนอกเย็นจนชาไปทั้งตัว

แกรนด์ปาวนเวียนอยู่ในเรือนกระจกสองหลังนี้ได้เป็นชั่วโมง ด้วยเหตุผลว่า

“เห็นต้นไม้ที่นี่ ทำให้ฉันคิดถึงที่โน่น…และคนทางโน้น”

 

สมัยที่แกรนด์ปาเป็นหนุ่ม เดินทางจากอังกฤษสู่สยาม ทำงานออฟฟิศและปางไม้ในภาคเหนือ คนที่นั่นเรียกแกรนด์ปาและเพื่อนพ้องผู้มาจากแดนไกลว่า ‘นายห้าง’

ขณะนี้ผมกำลังตรวจทานต้นฉบับ ‘ตำนานนายห้างจากอังกฤษสู่สยาม’ ที่ไม่พ้องกับชื่อภาษาอังกฤษที่ผมตั้งง่ายๆ ว่า ‘The Forest Home’ อันหมายถึง บ้าน และครอบครัว ของหลายชีวิตที่อยู่ในปางไม้ บรรณาธิการค่อนข้างพอใจว่าต้นฉบับเป็นไปในแนวทางที่แกอยากได้ คือไปทางสารคดีกึ่งนิยายมากกว่างานวิชาการที่เคร่งขรึม พร้อมกับเสนอเปลี่ยนชื่อเรื่องให้เป็นนิย้าย…นิยายมากขึ้นว่า ‘เวียงวนาลัย’

ความหมายตรงตัว…ผมคิดว่ามันออกจะวิลิศมาหราไปหน่อย แต่ก็ยังไม่รู้จะแย้งยังไงดี ก็ตีเอาว่าใช้ชื่อนี้ไปก่อนจนกว่าจะนึกชื่อใหม่ที่เหมาะใจกว่านี้ได้…ถ้าคิดออกก่อนเข้าโรงพิมพ์นะ

คำว่า ‘เวียง’ ในภาษาเหนือแปลว่า ดินแดน เมือง หรือศูนย์กลาง อันเป็นการบอกถึงพื้นที่ทั้งทางกายภาพและความรู้สึก

ส่วน ‘วนาลัย’ ก็แปลตรงตัวว่าป่าไม้และที่อยู่อาศัย

เมื่อผมไม่มีปัญญาจะหาชื่อใหม่เสนอให้ บ.ก. ผมก็ยอมตามนั้น

คำถามหนึ่งที่ บ.ก.ถาม…ผมรู้อยู่แล้วว่าใครก็ตามที่อ่านเรื่องนี้จะต้องสงสัย นั่นก็คือ ผมเป็นลูกหลานของใครในเรื่องเล่านี้

ผมไม่ตอบคำถาม รวมถึงไม่บอกด้วยว่า ‘แกรนด์ปา’ ผู้เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของผมคือใคร

เพราะผมเห็นว่ามันไม่เกิดประโยชน์กับใครทั้งสิ้น นอกจากสนองความอยากรู้อยากเห็นของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เพราะถึงอย่างไร ผมก็เป็นลูกเสี้ยวที่มีเชื้อสายอังกฤษผสมในตัวอยู่ดี

ผมอยากให้คุณอ่าน ‘เวียงวนาลัย’ อย่างน้อยก็เพื่อได้ความบันเทิงจากชีวิตของนายห้างชาวอังกฤษที่เดินทางจากแดนศิวิไลซ์ไปเผชิญชีวิตหลายรสในป่าทางภาคเหนือของสยาม เมื่ออ่านจบคุณอาจจะเป็นเหมือนท่านบรรณาธิการที่รักและเคารพของผม

คือสงสัยว่าผมเป็นลูกหลานของใครในเรื่องนี้

คุณจะเดาถูกหรือผิดก็ไม่เป็นไร เพราะต่อให้คุณเค้นให้ตาย…ผมก็ไม่เฉลย

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นั่น ที่ๆ คนทั้งหลายมาพานพบและพลัดพราก

เวียงวนาลัย…ปางไม้ สงคราม และความรัก

 

เชิงอรรถ : 

(1) SOAS – The School of Oriental and African Studies หรือ วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและแอฟริกาศึกษา เป็นหนึ่งในห้าวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยลอนดอน

 



Don`t copy text!