เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ “ครอบครัวในอินเดีย”

เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ “ครอบครัวในอินเดีย”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

ฟ้ากระจ่างของฤดูร้อนปี 1896 ในอังกฤษ ยังไม่สดใสเท่ากับวัยหนุ่มในชุดสีขาวหลายคนที่วิ่งอยู่ในสนามหญ้าเขียวตัดเรียบราวลาดด้วยสักหลาดชั้นดี มีเสียงเชียร์จากขอบสนามกระตุ้นให้ฮึกเหิมอยู่เป็นระยะ แล้วเสียงร้องอย่างถูกใจก็ดังขึ้นอีกครั้งเมื่อเด็กหนุ่มร่างสูงกระโดดรับลูกหนังที่ขว้างมาได้ วิ่งต่อไปเพื่อทำแต้มให้กับทีมคริกเก็ตของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

วิลเลียม! วิลเลียม!

เสียงร้องเชียร์วิลเลียม บรูค ดังทุกครั้งที่เขาแสดงฝีมือในสนาม

ในที่สุดการแข่งขันอันยาวนานเกือบหกชั่วโมงก็จบลงด้วยชัยชนะของทีมออกซ์ฟอร์ด ท่ามกลางการอวยชัยแสดงความยินดี มีเสียงยกย่องว่าส่วนหนึ่งของชัยชนะนี้มาจากวิลเลียม

“สมแล้วที่ได้รางวัลฟิลเดอร์”

คนพูดหมายถึงรางวัลสำหรับตำแหน่งคนรับลูกในสนามยอดเยี่ยม ซึ่งวิลเลียมเพิ่งได้รับไม่นานนี้

เด็กหนุ่มยิ้มรับคำชมและคำยินดีด้วยสีหน้าชื่นบาน หากที่ทำให้ความสุขอิ่มเต็มคือเจ้าของดวงตาสีฟ้าใสเช่นเดียวกับท้องฟ้าในเวลานี้ ชุดสีชมพูอ่อนจางส่งให้หล่อนเป็นกุหลาบอังกฤษแรกแย้มที่โดดเด่นขึ้นมาในสายตาเขาท่ามกลางฝูงชนที่เป็นกองเชียร์

หล่อนโบกมือน้อยๆ มาแต่ไกล เป็นทั้งคำทักทายว่าหล่อนอยู่ตรงนี้ และแสดงความยินดีแก่ทีมผู้ชนะไปพร้อมกัน จากนั้นจึงหันหลังกางร่มลูกไม้เดินห่างออกไป

วิลเลียมใช้เวลาอีกพักใหญ่ในการถ่ายรูปร่วมกับทีมและถ้วยรางวัล ปลีกตัวได้จึงรีบวิ่งตามหาหล่อนเพื่อจะได้พบปะพูดคุยตามลำพัง แม้เพียงไม่กี่คำก็ยังดี ยิ้มกว้างสมใจเมื่อเห็นว่าหล่อนยังอยู่ในบริเวณนั้น

“ฉันดีใจที่หาเธอพบ ถ้าเธอกลับไปเสียก่อนได้คุยกัน ฉันคงผิดหวังไปตลอดคืนนี้”

“จะมีอะไรน่ายินดีกว่าชัยชนะของทีมออกซ์ฟอร์ดอีกหรือ” หญิงสาวแกล้งเย้า

“ก็การพบเธอยืนอยู่ตรงนี้ ตรงหน้าฉัน ห่างไปไม่ถึงฟุตนี่อย่างไรเล่า”

เบ็ตตี้ยิ้มสดใสอวดฟันขาวราวสร้อยมุกในขณะที่เอียงหน้าหลบด้วยความอายที่ฝ่ายนั้นใช้วาจาลดเลี้ยวเกี้ยวพาหล่อน

“ฉันยินดีกับเธอและทีมด้วย ฉันคงพูดได้เท่านี้ เพราะนี่ก็ค่ำแล้ว”

หญิงสาวบอกเป็นนัยว่าต้องรีบกลับบ้านขณะที่เดินเคียงกันไปช้าๆ ตามทางเดิน เวลาค่ำที่หล่อนว่า หากเป็นเวลาตามนาฬิกาก็จวนหกโมงเย็น ในขณะที่เวลาตามความรู้สึกไม่ผิดกับเพิ่งพ้นเที่ยงวันมาได้สักสองชั่วโมง เพราะแสงตะวันยังกระจ่างทาบทาไปทั่วบริเวณ ร่มลูกไม้ยังจำเป็นสำหรับการบังแดดมิให้แผดเผาผิวเนียนละเอียดให้เกิดฝ้าและประกาศความเป็นผู้ดีชนชั้นกลางไปพร้อมกัน ฤดูคิมหันต์ในอังกฤษ กว่าอาทิตย์จะลับดวง ฟ้ามืดเป็นยามค่ำคืนก็ราวสามทุ่มเกือบสี่ทุ่มนั่นแล้ว ช่วงเวลากลางวันจึงยาวนาน หากกระนั้นหญิงสาวก็ยังรำพึงเบาๆ ให้คนเดินเคียงกันได้ยิน

“ป่านนี้ที่บ้านคงรู้แล้วว่าฉันออกมาข้างนอก”

หล่อนเลี่ยงไม่พูดตรงๆ ว่า…ออกมาพบเธอ

“ฉันต้องกลับไปให้ทันมื้อค่ำ สวดมนต์หลังอาหารพร้อมกับพ่อ แม่ และพี่สาวของฉัน”

“น่าเสียดายจริงๆ” น้ำเสียงของวิลเลียมผิดหวังนิดๆ ไม่ถึงกับเป็นทุกข์ใหญ่หลวง “ฉันตั้งใจจะชวนเธอไปหาของกินเบาๆ สักหน่อย”

เบ็ตตี้หัวเราะน้อยๆ อวดฟันสวยอีกครั้ง ดวงตาสีฟ้าใสดุจลูกแก้วฉายแววขบขัน

“เธอไม่ต้องอยู่ฉลองกับเพื่อนๆ หรอกหรือ”

ยังไม่ทันที่วิลเลียมจะให้คำตอบแก่หล่อน ลีรอย เพื่อนสนิทที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นมัธยมที่ทรินิติ คอลเลจ เมืองพอร์ตโฮป ออนตาริโอ ประเทศแคนาดา ก็วิ่งเข้ามาหาเพื่อแจ้งเรื่องสำคัญ

“ถ้วยรางวัลที่เราสั่งทำไว้เสร็จแล้วนะ เด็กที่ร้านมาบอกเมื่อครู่นี้” ลีรอยทำตามีนัยเมื่อมองมาทางเบ็ตตี้ “เรียกนายไว้ไม่ทัน เห็นลุกลี้ลุกลนรีบวิ่งออกมา ราวกับว่าจะตามหาของสำคัญสักอย่างหนึ่ง ตอนนี้ฉันได้คำตอบแล้ว”

เบ็ตตี้เอียงหน้าหลบด้วยเขินอาย ในขณะที่วิลเลียมบอกกับลีรอยด้วยเรื่องที่เขาแจ้งมา

“ถ้าอย่างนั้นก็ดีเลย เราจะได้มอบให้โรงเรียนทันแข่งขันฤดูกาลนี้”

สีหน้าของเบ็ตตี้ไม่ถึงกับพิศวงแต่ก็ไม่เข้าใจสิ่งที่สองหนุ่มเจรจากัน วิลเลียมจึงเล่าที่มาของเรื่องนั้น

“ฉันกับลีรอยและเพื่อนอีกสองคนที่จบจากทรินิติ คอลเลจ แล้วมาเรียนที่ออกซ์ฟอร์ดด้วยกันนี่ ลงความเห็นกันว่า เราน่าจะทำถ้วยรางวัลในการแข่งขันครอสคันทรีมอบให้โรงเรียนของเรา”

“พวกเราคิดว่า” ลีรอยหมายรวมถึงเพื่อนอีกสองคนที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน “เราน่าจะตั้งชื่อถ้วยนี้ว่า ออกซ์ฟอร์ดชาเลนจ์คัพ นายคิดว่ายังไง”

น้ำเสียงของลีรอยทั้งตื่นเต้น ดีใจ และภาคภูมิใจอย่างปิดไม่มิด มันแสดงออกมาในทุกอิริยาบถของเขา ราวกับเป็นจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่และในวันนี้มันก็สำเร็จลุล่วงดังใจหมายทุกประการ ยิ้มกว้างขยายเต็มที่เมื่อวิลเลียมไม่คัดค้าน

“ดีทีเดียว เพราะพวกเราที่จบจากที่นั่น ก็มาอยู่ด้วยกันที่ออกซ์ฟอร์ด”

ลีรอยจึงบอกต่อไป

“ฉันให้ร้านสลักชื่อของเราสี่คนไว้ที่ฐานถ้วยรางวัล พรุ่งนี้เราไปรับด้วยกัน แล้วถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกดีไหม”

“ดีสิ ดีแน่นอน” วิลเลียมเห็นด้วยกับข้อเสนอทุกอย่างของลีรอย

“แบบนี้ก็แสดงว่า อีกไม่นาน พวกเธอก็จะเดินทางไปแคนาดาน่ะสิ” เบ็ตตี้ถาม

“จริงแท้แน่นอน เบ็ตตี้” ลีรอยว่า “เราต้องมอบถ้วยนี้ให้กับมือของเราเลยทีเดียว”

หมดธุระจะพูดกับวิลเลียมและคิดว่าตนเข้ามาขัดจังหวะของคู่รักนานเกินไปแล้ว ลีรอยจึงขอตัวกลับไปเปลี่ยนชุด ไม่ลืมนัดแนะกับวิลเลียมเพื่อฉลองชัยที่คลับประจำของทีม

“ฉันจะตามไปหลังจากส่งเบ็ตตี้กลับบ้าน”

หญิงสาวยิ้มน้อยๆ อย่างพึงใจ กดหน้าอกตัวเองไว้มิให้ความปราโมทย์แสดงตัวออกมามากนัก

“ฉันไม่เคยไปที่ไหนไกลกว่าอังกฤษเลย” เบ็ตตี้รำพึงแกมตัดพ้อให้กับชีวิตของตนเองอยู่ในที “น่าอิจฉาพวกเธอที่เป็นผู้ชาย ดูเหมือนพระเจ้าจะให้การผจญภัยเป็นของขวัญสำหรับบุรุษ ในขณะที่ผู้หญิงอย่างฉัน พระผู้เป็นเจ้ามอบโอกาสให้อยู่เพียงในครัวและหน้าเตาผิง”

“ไม่จริงหรอก ตอนที่ฉันเดินทางไปแคนาดา ก็มีสตรีอังกฤษหลายคนอยู่บนเรือลำเดียวกัน”

เบ็ตตี้เม้มปากน้อยๆ ข่มอารมณ์บางอย่าง ทว่าวิลเลียมไม่สังเกตเห็น

หล่อนรู้ดีว่าสตรีอังกฤษที่สามารถเดินทางข้ามทะเล ข้ามประเทศหรือข้ามทวีปได้ มีเพียงสองประเภท หนึ่งคือสตรีชั้นกลางและชั้นสูงที่เป็นภรรยาของนายทหารอังกฤษ ติดตามสามีผู้เดินทางไปรับหน้าที่เพื่อชาติในต่างแดน อันส่วนใหญ่คือดินแดนที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ และอีกกลุ่มหนึ่งคือหญิงรับใช้ผู้ติดตามนายสาวไปทุกหัวระแหง

ขณะเดียวกัน เบ็ตตี้ก็รู้ว่าสถานภาพครอบครัวหล่อนเป็นอย่างไร

บิดาและมารดาของหล่อนไม่รังเกียจถ้าลูกสาวจะสมรสไปกับนายทหารสักคนหรือนักบวชประจำโบสถ์สักแห่ง ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นหนุ่มโสดหรือพ่อหม้าย เพราะการได้เป็นภรรยาออกหน้าของคนกลุ่มนี้ถือว่ายังมีเกียรติและได้รับการยกย่องว่าเป็นชนชั้นกลาง หากไม่ใช่สองอย่างนี้ ก็ควรเป็นนักธุรกิจที่มั่งคั่ง เพื่อยังคงรักษาสถานภาพชนชั้นกลางในสังคมอังกฤษไว้ได้

ครอบครัวของเบ็ตตี้อยู่ในระดับกลางก็จริง แต่ก็เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ที่ถ้าหากว่ามีเส้นแบ่งชนชั้นขีดไว้ชัดเจน พ่อแม่ของหล่อนก็กำลังเหนี่ยวรั้งเส้นนั้นไว้อย่างสุดความสามารถมิให้ตกร่วงลงไปสู่การเป็นคนชั้นล่าง ที่ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในไร่นาหรือลำบากตรากตรำในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแลกกับค่าจ้างเพียงไม่กี่ปอนด์

หากถึงกระนั้น บิดาของเบ็ตตี้ก็ไม่สนับสนุนให้ลูกเป็นหญิงสาวคนเลี้ยงม้า ที่เรียกกันว่า a pretty housebreaker หรือ a sporting housebreaker เพราะแม้พวกเจ้าหล่อนจะแต่งชุดสวยกรีดกรายอยู่บนหลังม้าขี่อวดอย่างสง่าในสวนสาธารณะอย่างคนชั้นสูง แต่ในความเป็นจริงพวกหล่อนก็คือเมียน้อยของเศรษฐีที่ชาวอังกฤษมองว่าเป็นเพียงโสเภณีชั้นสูงเท่านั้น

เมื่อเบ็ตตี้คบหากับวิลเลียม บรูค ครอบครัวของหล่อนจึงไม่คัดค้าน หากก็มิได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะแม้วิลเลียมจะได้ชื่อว่าเรียนออกซ์ฟอร์ดซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นที่ชุมนุมของลูกหลานตระกูลเก่าแก่ของอังกฤษทั้งชนชั้นกลางและสูง แต่วิลเลียมก็เข้าเรียนในฐานะนักเรียนทุน เป็นกลุ่มที่เรียกว่า ‘นักศึกษาที่ไม่สังกัดวิทยาลัย’ มิได้จ่ายด้วยทุนทรัพย์ของตนเอง บิดาของเบ็ตตี้จึงสรุปว่า ฐานะของวิลเลียมไม่เป็นปึกแผ่นมั่นคงพอที่จะปล่อยลูกสาวไปเต็มตัว

“บางที…ถ้าคุณพ่ออนุญาต…”

เบ็ตตี้รำพึงแผ่วเบาราวพูดถึงสิ่งที่ไม่มีวันเป็นไปได้ ประโยคนั้นจึงเจือริ้วแห่งความปลงอยู่ในที ทว่าวิลเลียมยังคงสนองด้วยประกายตาสดใส

“ถ้าเธอไปด้วยกันได้ก็วิเศษเลย ฉันจะเป็นไกด์ พาเธอเที่ยวชมแคนาดาด้วยตัวเอง”

“ฉันก็พูดเพ้อเจ้อไปอย่างนั้นเอง” เบ็ตตี้ดึงความคิดของเขาและความฝันของหล่อนมากลับมาสู่โลกความจริง “เธอก็รู้ว่าผู้หญิงอังกฤษที่เดินทางไกลข้ามน้ำข้ามทะเลไปสุดขอบโลก มีแต่ภรรยาที่เดินทางไปกับสามี และหญิงรับใช้ที่ติดตามนายสาว”

แก้มของเบ็ตตี้เป็นสีจัดขึ้นเหมือนกลีบกุหลาบ เหลือบมองชายหนุ่มที่เดินเคียงกันมาด้วยความอาย เกรงว่าเขาจะรู้ความนัยที่แฝงอยู่ในคำพูดนั้น ทว่าวิลเลียมเพียงแต่ยิ้มในหน้า ชวนหล่อนเดินเข้าไปในสวนสาธารณะเล็กๆ ใกล้บ้านของหล่อน ดอกโครคัสสีม่วงที่บานกระจายเต็มพื้นหญ้าร่วงโรยไปแล้วเหลือแต่พุ่มใบ ทว่าสีเหลืองสดใสของแดฟโฟดิลชูช่อขึ้นมาแทนที่ สร้างบรรยากาศกระจ่างใสไปทั่วบริเวณ

“ฉันยังพอมีเวลาอีกเล็กน้อย เธอเล่าให้ฉันฟังหน่อยสิว่า ตอนที่เดินทางไกลครั้งแรกเป็นอย่างไร” น้ำเสียงของเบ็ตตี้เจือเศร้าเมื่อหล่อนว่า “ถ้าชั่วชีวิตนี้ ฉันไม่มีโอกาสได้เดินทางไกลอย่างนั้น ก็ขอให้ฉันได้รู้จากเธอบ้าง”

วิลเลียมชวนนั่งในศาลาเล็กๆ สีขาวที่ตั้งอยู่กลางสวน เป็นศาลาโล่ง โปร่ง และเปิดเผยไม่ว่าจะมองมาจากทิศใด ก็จะเห็นว่าชายหนุ่มและหญิงสาวนั่งห่างกันในระยะพองาม มิได้ทำกิริยาเสื่อมทรามอันจะนำไปสู่ข้อตำหนิทางศีลธรรม ถ้อยคำจากปากชายหนุ่มนำตัวเองและกุหลาบอังกฤษวัยแรกแย้มย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน

“ตอนอายุ 15 แม่ส่งฉันไปอยู่กับพี่ชายที่แคนาดา นั่นคือครั้งแรกที่ฉันเดินทางออกจากอังกฤษ ไปอยู่ในดินแดนอื่น ที่ห่างไกลจากบ้านเกิด”

 

วิลเลียมเป็นเด็กกำพร้า

เขาเกิดที่ลอนดอน สามวันหลังจากบิดาเสียชีวิตในโรงแรมที่เซาแธมป์ตัน

พ่อของวิลเลียมคือสาธุคุณแอชลีย์ บรูค มิชชันนารีชาวเวลส์นิกายแองกลิกัน ประจำอยู่ที่หมู่บ้านเมกะนันนะปุรัม เมืองติรุเนลเวลี ทางตอนใต้ของอินเดีย ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นมิชชันนารีผู้ยิ่งใหญ่แห่งติรุเนลเวลี

วัยเยาว์ของวิลเลียมจะว่าสุขสบายไม่ขัดสนก็คงไม่ผิดนัก เพราะตั้งแต่จำความได้ วิลเลียมก็พบว่าตัวเองอยู่ในบ้านเทอร์เรซเฮาส์สี่ชั้นบนถนนเกย์ตันย่านแฮมพ์สเต็ด ห้องใต้หลังคาเป็นของน้าชาย พี่ชายคนโตและคนรองมีห้องส่วนตัวคนละห้อง ส่วนวิลเลียมกับพี่ชายคนที่สามนอนห้องเดียวกัน แม่มีห้องส่วนตัวที่เต็มไปด้วยภาพถ่ายของพ่อและตา นอกจากครัวที่แม่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในนั้น ก็ยังมีสวนหย่อมเล็กๆ หลังบ้านที่แม่ปลูกสมุนไพรและดอกไม้หลายชนิด ตัดมาใส่แจกันประดับโต๊ะอาหาร และในวันที่อากาศดี แม่ก็จะมีแขกมาจิบน้ำชายามบ่ายสนทนากันอย่างเพลินอารมณ์

วิลเลียมรู้เหตุผลที่แม่ซื้อบ้านหลังนี้ในอีกหลายปีต่อมาเมื่อเขามีประสบการณ์ชีวิตพอสมควรแล้วว่า แม่ต้องการรักษาสถานภาพทางสังคมให้ยังเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นชนชั้นของผู้มีอันจะกิน เศรษฐี คหบดี นายทหาร และนักบวช

วิลเลียมเป็นลูกคนสุดท้อง เป็นน้องเล็กของพี่ชายสามคน เป็นคนเดียวที่ไม่รู้ว่าอินเดียเป็นอย่างไร ชีวิตในดินแดนที่เขารู้จักแต่เพียงชื่อหากไม่เคยได้สัมผัสถูกถ่ายทอดจากคนรอบกาย คือแม่ พี่ชาย และน้าอีวาน

เริ่มจากแม่…แมรี เจน บรูค

ทุกครั้งที่แมรีเล่าอดีตในอินเดียให้ลูกชายคนเล็กฟัง สีหน้าของหล่อนจะเปี่ยมสุขเหมือนได้หวนไปสู่คืนวันอันรุ่งโรจน์อย่างนายหญิงผู้มีอารยธรรมจากบริติชราช รายล้อมด้วยบริวารชาวพื้นเมืองที่เชื่อฟังและเชื่องเหมือนสัตว์ที่ถูกเลี้ยงมาอย่างดี

“ตอนอยู่อังกฤษ แม่เข้าโรงเรียนที่อิสลิงตัน” น้ำเสียงประกาศความภูมิใจอยู่ในที เพราะที่นั่นเป็นโรงเรียนสำหรับลูกนักบวชซึ่งถือเป็นกลุ่มชนชั้นสูง “พอคุณพ่อ…ตาของวิลเลียม ต้องไปที่อินเดีย แม่เลยต้องตามคุณตาไปด้วย ทีแรกแม่ก็หวั่นใจว่าจะไปเจออะไรบ้างในดินแดนไกลโพ้น มีแต่ผู้คนที่เล่าลือกันว่าป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม แต่ที่ไหนได้” รอยยิ้มและเสียงหัวเราะน้อยๆ ดังขึ้น “แม่กลับอยู่สุขสบายอย่างไม่น่าเชื่อ บ้านของเรากว้างใหญ่ บริเวณกว้างขวาง ผู้คนที่นั่นนับถือยกย่องเรา ก็เราเป็นชาวอังกฤษนี่นะ เป็นบริติชราช เราจึงมีหน้าที่ในการดึงคนพวกนั้นให้เจริญขึ้นมาเป็นผู้มีอารยธรรมให้ได้”

“แม่เหนื่อยไหมครับ ที่ต้องอบรมคนพวกนั้น” วิลเลียมถาม

“ไม่หรอกลูก ในดินแดนที่เต็มไปด้วยคนพื้นเมืองผิวดำที่โง่เง่า เราคือแสงสว่างและความหวังในชีวิตของพวกเขา ยิ่งบ้านเรา…แม่หมายถึงครอบครัวคุณตา เป็นสาธุคุณที่มีคนยกย่อง ชีวิตของแม่ที่นั่นเลยไม่ลำบากอย่างที่กลัวในตอนแรก”

หลายครั้งที่วิลเลียมฟังแม่เล่าเรื่องครอบครัว เด็กชายค่อยรู้เอาเองว่าแม่มีความภาคภูมิใจในความเป็นคนอังกฤษที่แตกต่างจากคนผิวขาวทั่วๆ ไป เพราะแม่มักย้ำเสมอว่า

“ผิวขาวเหมือนกันก็ใช่ว่าจะเหมือนกัน ถึงอังกฤษจะอยู่ในยุโรป แต่เราไม่ใช่ชาวยุโรป”

“แล้วเราเป็นอะไรล่ะครับแม่”

“เป็นชาวอังกฤษ” แมรีตอบบุตรชายอย่างภูมิใจในเชื้อชาติของตน

วิลเลียมรู้ขึ้นมาเองในวันหนึ่งเมื่อเขาเติบโตขึ้นว่า แมรี เจน…แม่ของเขาค่อนข้างจริงจังกับเรื่องชาติกำเนิด ชนชั้นวรรณะ และชนชั้นทางสังคม จากหลายครั้งที่แม่เล่าถึงเรื่องเหล่านี้ด้วยน้ำเสียงกึ่งดูแคลน ‘คนที่นั่น’ ในขณะที่น้ำเสียงยามเอ่ยถึง ‘ความเป็นอังกฤษ’ จะภาคภูมิใจระคนหยิ่งทะนง

“หมู่บ้านที่เราอยู่ชื่อปาลายัมกอตเต อยู่ในเขตอำเภอติรุเนลเวลี รัฐทมิฬนาฑู ทางใต้สุดของอินเดีย ที่นั่นกันดาร เต็มไปด้วยดงตาลโตนด มีอันตรายอยู่รอบด้าน ทั้งจากสัตว์ร้ายและผู้คนที่ป่าเถื่อน”

วิลเลียมนิ่งฟัง เพราะเป็นสิ่งที่ตนไม่เคยได้พบ

“คนที่นั่นแบ่งชนชั้นวรรณะ ที่ถูกยกย่องให้เป็นชนชั้นสูงคือวรรณะพราหมณ์…เป็นพวกนักบวชน่ะลูก สืบวรรณะกันโดยชาติกำเนิด พวกนี้จะฐานะดี มีการศึกษา รวมกลุ่มกันเองไม่ปะปนกับใคร ถัดลงมาคือวรรณะศูทร พวกนี้ก็ร่ำรวยมีฐานะ ที่แม่จำได้มีอยู่สองพวก คือพวกเวลลาลา กับมาราวาร์”

แววตาของวิลเลียมฉายรอยฉงนว่าต่างกันอย่างไร แมรีจึงอธิบาย

“พวกเวลลาลาถูกยอมรับเกือบเท่าพราหมณ์ ถึงแม้จะกินอาหารร่วมกับพวกพราหมณ์ไม่ได้ แต่ก็ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกันได้ เพราะพวกเวลลาลาให้ลูกหลานเข้าโรงเรียนเดียวกับลูกของพราหมณ์ เลยมีโอกาสได้คุยกันที่โรงเรียน จนบางที…” แมรีหัวเราะอย่างนึกขันระคนสมเพช “พวกเวลลาลาก็ทำตัวเป็นพราหมณ์เสียเอง ซ้ำยังเคร่งกว่าพราหมณ์แท้ๆ จนชวนหมั่นไส้”

“อีกพวกหนึ่งล่ะครับ”

“พวกมาราวาร์…ในภาษาของเขาแปลว่านักรบ แต่พวกนี้เป็นแค่โจรคอยปล้นชาวบ้านเท่านั้นแหละ สร้างความเดือดร้อนให้เรามาก ต้องปราบกันไม่หวาดไม่ไหว” น้ำเสียงที่เอ่ยออกไปบอกความรำคาญราวกับมีแมลงหวี่มาบินวนอยู่ตรงหน้า “ต่ำกว่านี้คือพวกชาวชานาร์ มีมากที่สุดในแถบนั้น รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ก็จริง แต่ก็ถูกกดขี่จากพวกที่วรรณะสูงกว่า ถูกกีดกันหลายอย่าง เช่นว่า ห้ามใช้บ่อน้ำสาธารณะ ห้ามรีดนมวัว ห้ามใช้ร่ม ห้ามใส่ทอง พวกผู้หญิงห้ามถือหม้อน้ำไว้ข้างสะโพก ต้องเทินไว้บนหัวอย่างเดียวเท่านั้น ร่างกายท่อนบนก็ห้ามห่มอะไรปกปิดไว้ ถ้าใส่เสื้อนะ จะถูกคนปรี่เข้ามาทุบตีทำร้าย ฉีกทึ้งเสื้อผ้าให้ขาด หรือร้ายถึงขั้นเฉือนเต้านมทิ้งก็มี…ป่าเถื่อนอะไรอย่างนั้นก็ไม่รู้”

แมรีเล่าพลางลูบแขนไปมาเพราะขนลุกชัน เพราะธรรมเนียมการแต่งกายของสาวยุควิคตอเรียนนั้นย่อมไม่เปิดเผยเนื้อตัวในที่สาธารณะ

“เรื่องชนชั้นวรรณะนี้เคร่งครัดกันมาก พวกชานาร์จะเข้าใกล้พวกพราหมณ์ไม่ได้ ต้องเดินห่างอย่างน้อยสามสิบหกก้าวเสมอ อย่าพูดถึงเรื่องเข้าไปในวิหารของเทพปีศาจ” บ่อยครั้งที่แมรีมักใช้คำว่า เทพปีศาจ เมื่อเอ่ยถึงเทพเจ้าของฮินดู “กระทั่งบ้านช่องก็ต้องสร้างแบบชั้นเดียว จะสะเออะสร้างหลายชั้นอย่างคนวรรณะอื่นไม่ได้ คงเพราะถูกกดขี่ไม่เป็นธรรมอย่างนี้ละมัง พวกชานาร์จึงหันหน้ามาหาความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้ามากที่สุด”

วิลเลียมพอจะนึกออกว่า ในบ้านที่คุณตาและพ่อเป็นนักบวชในคริสต์ศาสนาจะแวดล้อมไปด้วยบริวารชาวชานาร์ ที่อาจมิได้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นหนทางที่จะเป็นอิสระจากการถูกกดขี่จากคนเชื้อชาติเดียวกัน ทว่าต่างวรรณะ

“พวกชานาร์เป็นแรงงานชั้นดี ในฤดูที่ตาลออกรวง พวกนี้ก็จะรับจ้างปีนขึ้นไปปาดตาล ที่ติรุเนลเวลีมีตาลโตนดเยอะ ชาวบ้านจึงใช้ประโยชน์ตั้งแต่รากไปถึงยอด ใช้ใบตาลมุงหลังคา งวงตาลเป็นยาบำรุงและยารักษาโรคหลายชนิด ยิ่งน้ำตาลนี่…จะกินสดหรือจะเคี่ยวทำน้ำตาลปึกก็ได้ เอาไปทำน้ำส้มสายชูหมักก็ได้อีกเหมือนกัน กระทั่งเอาไปหมักเหล้า เป็นกระแช่หรือน้ำเมา อีวานชอบนักละ” หล่อนพาดพิงไปถึงหลานชายของสามีที่บัดนี้อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน

“เขาปีนขึ้นไปยังไงครับ” วิลเลียมถาม เพราะเคยเห็นรูปต้นตาลว่าเพรียวสูงสู่ฟ้า เหนือหลังคาโบสถ์ แต่ไม่มีกิ่งก้านให้เกาะเกี่ยวขึ้นไปเหมือนกับที่เขาปีนต้นเบิร์ชเพื่อดูลูกนกในรัง

“เขาก็คาบมีดแล้วปีนขึ้นไปด้วยมือเท้าเปล่าเหมือนลิง แต่แม่ว่าเหมือนกบไต่ต้นไม้ ทั้งขำทั้งหวาดเสียว”

“เคยมีคนตกลงมาบ้างไหมครับ สูงขนาดนั้น ถ้าตกลงมาไม่น่ารอด”

“ก็ตกลงมาตาย…จนชินไปแล้วละลูก” แมรีเอ่ยอย่างไม่เห็นเป็นเรื่องตื่นเต้นนัก “อากาศร้อน ปีนขึ้นไปสูงอย่างนั้น ทั้งเหนื่อยทั้งหน้ามืด บางคนก็ดื่มน้ำตาลเมาจนตาแดงเยิ้มก่อนปีนขึ้นไป ไม่ร่วงลงมาอย่างไรไหว”

“คนใช้ในบ้านเรา” วิลเลียมหมายถึงบ้านในอินเดีย “เป็นชาวชานาร์ใช่ไหมครับ”

“ใช่จ้ะ แต่ยังน้อยกว่าพวกปารายาร์”

“พวกนี้เป็นใครครับ”

“ปารายาร์…พวกนี้อยู่ในวรรณะจัณฑาล เป็นคนชั้นต่ำ” แมรีนิ่งพลางนึกหาคำอธิบายที่ง่ายขึ้น “เหมือนขอทานน่ะลูก น่ารังเกียจ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้”

“ทำไมเขาจึงเป็นจัณฑาลครับ”

“ก็เพราะเป็นลูกที่เกิดจากพ่อแม่คนละวรรณะกันน่ะสิ” แมรีตอบบุตรชาย

“ไม่แฟร์เลย…เขาไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเสียหน่อย” วิลเลียมพึมพำ แต่แมรีไม่เก็บมาใส่ใจหรือพยายามอธิบายให้กระจ่าง คงเล่าถึงชีวิตของคนวรรณะจัณฑาลต่อไป

“พวกนี้ไม่มีความคิดอะไรหรอก วันหนึ่งๆ ก็แค่หาอาหารกินให้พอประทังชีวิต รับจ้างทำงานทั่วไปในไร่นา ตัดหญ้า ให้อาหารแกะ แล้วแต่นายจะสั่ง บางวัน…ถ้าไม่มีใครจ้าง ก็ไปคุ้ยขยะตามข้างถนน แม่ถึงว่าเหมือนขอทานยังไงละ” น้ำเสียงของหล่อนค่อนข้างสมเพช หากแล้วก็กลับเปลี่ยนเป็นความอิ่มเอมใจ เมื่อเล่าต่อไปว่า “คุณตาช่วยเหลือพวกนี้ไว้หลายคน รายหนึ่งเป็นหญิงท้องแก่ คุณตาก็ซื้อมาทำงานรับใช้ในบ้าน เท่าไหร่แม่ก็จำไม่ได้ สามรูปีมั้ง แต่ไม่ถึงสิบรูปีแน่ๆ”

“แล้วลูกของเขาล่ะครับ”

“ก็ต้องเป็นของเราสิจ๊ะ พอคลอด เด็กคนนั้นก็เป็นสิทธิ์ของนายจ้างด้วย ก็เราให้ทั้งที่อยู่ ให้ทั้งอาหาร ดูแลกันอย่างนี้ จะไม่เป็นทาสในเรือนเบี้ยของเราได้ยังไง”

วิลเลียมเม้มริมฝีปากอย่างยากจะเดาได้ว่าเขาคล้อยตามหรือคัดค้านความคิดของมารดา

 

 แมรีติดตามบิดาไปในกิจการของศาสนาหลายหน จนในวันหนึ่ง…วันที่หญิงสาวเหมือนดอกไม้ผลิบานอวดความงามเต็มที่ แมรีก็ได้พบกับสาธุคุณหม้ายผู้หนึ่ง…ภรรยาของเขาเพิ่งเสียชีวิตไปด้วยโรคร้ายที่เจ้าตัวไม่ยอมรักษา หลังพิธีศพ ลูกชายลูกสาวซึ่งโตกันแล้วก็แยกย้ายกันไปตามวิถีของตน เมื่อสาธุคุณแอชลีย์ บรูค เอ่ยปากขอแต่งงานกับแมรีหลังจากพบกันได้ไม่นานและหล่อนตกลง ระฆังวิวาห์ก็ดังขึ้นที่โบสถ์ในติรุเนลเวลี

“ตอนนั้นแม่เพิ่งสิบแปด แต่คุณพ่อสามสิบกว่าแล้ว”

 



Don`t copy text!