ระลึกคุณ คุณป้าสุภัทร สวัสดิรักษ์ : ตอนที่ 5

ระลึกคุณ คุณป้าสุภัทร สวัสดิรักษ์ : ตอนที่ 5

โดย : ศรัณยา ชินะโรจน์

หลงรักตัวอักษร จึงเลือกทำงานสายสื่อสิ่งพิมพ์ เริ่มต้นที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้า นิตยสารโลกวรรณกรรม แล้วมายืนหยัดยาวนานร่วมยี่สิบปีที่กองบรรณาธิการ นิตยสารสกุลไทย  ปัจจุบันรับเขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากเขียน

 

“…บรรณาธิการก็เหมือนสะพาน

ป้าเป็นสะพานให้นักเขียนเดินข้ามฝั่ง

… ป้าพอใจแล้ว”

 

ฉันยังไม่เคยเล่าถึงแง่มุมในการประชุมกองบรรณาธิการทุกสัปดาห์ โดยมีคุณป้าสุภัทร สวัสดิรักษ์ เป็นประธานการประชุม คุณวราภรณ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ เข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง

คุณป้าท่านไม่เพียงแต่จุดไฟให้นักเขียนเท่านั้น สำหรับทีมงานกอง บ.ก. ก็เหมือนกัน  พวกเราได้รับเชื้อไฟจากคุณป้าอยู่ตลอด เนื่องจากท่านเป็นผู้บังคับบัญชาที่เปิดใจกว้างเสมอ ยอมรับฟังความคิดเห็นของทีมงานทุกคน

ทุกครั้งในที่ประชุม ใครมีไอเดียใหม่ๆ มานำเสนอ พบแหล่งข่าวที่น่าสนใจ หรือความคิดอื่นๆ ท่านรับฟังทุกคน ไม่เคยสกัดความคิดสร้างสรรค์ของพวกเรา มีแต่คอยส่งเสริมสนับสนุนให้เราเขียนงานหรือสร้างสรรค์งานได้สำเร็จ

หากว่าบางความคิดที่เรานำเสนอออกไปไม่เหมาะสมนัก คุณป้าก็จะอธิบายอย่างแจ่มแจ้งว่าท่านไม่เห็นด้วยเพราะอะไร นอกจากสิ้นสงสัยแล้ว เรายังได้เพิ่มพูนวิสัยทัศน์มากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น จึงเป็นการประชุมที่สร้างแรงใจและไฟฝันแก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างแท้จริง

จำได้ว่าการประชุมครั้งแรกของฉันในฐานะที่เพิ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกอง บ.ก. สกุลไทย เราประชุมเรื่องจัดทำฉบับวันสตรีสากล กอง บ.ก. แต่ละคนจึงนำเสนอไอเดียของตัวเองซึ่งผ่านการทำการบ้านมาระดับหนึ่งแล้ว

ฉันเรียนคุณป้าว่าอยากสัมภาษณ์หมอผ่าศพ แพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ (ขณะนั้นคุณหญิงหมอยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ จากในหลวง รัชกาลที่ 9)  ท่านกำลังเป็นที่รู้จักของประชาชนจากคดีฆ่าหั่นศพ ซึ่งเป็นข่าวดังระดับประเทศ

คุณป้าสุภัทรถามเหตุผลว่าเพราะอะไรฉันจึงอยากสัมภาษณ์ เมื่อตอบออกไป ท่านก็เปิดโอกาสเต็มที่ ให้ฉันได้ประลองฝีมือ ไม่ต่างจากกอง บ.ก. คนอื่น ๆ

อีกภาพจำหนึ่งในการทำงาน เนื่องจากกอง บ.ก. สกุลไทย  ทุกคนได้รับโอกาสสลับหมุนเวียนไปทำข่าวที่ต่างประเทศตามคำเชิญของแหล่งข่าว คราใดที่ฉันต้องทิ้งงานในหน้าที่ประจำไปเป็นเวลาหลายวัน บางครั้งเกินกว่าหนึ่งสัปดาห์ สองสัปดาห์ก็เคย คุณป้าสุภัทรก็จะเอ่ยปากด้วยน้ำใจเมตตาทุกครั้งว่า

“หนูมีอะไรให้ป้าช่วยทำ หนูเขียนโน้ตและวางงานไว้ที่โต๊ะป้าได้เลย”

ฉันซาบซึ้งเหลือจะกล่าว รู้สึกเกรงใจท่านเสมอ จึงเคยเรียนท่านว่า “หนูไม่ออกไปสัมภาษณ์หรือทำงานข้างนอกก็ได้ จะได้ช่วยคุณป้าอยู่ในออฟฟิศ”

แต่คุณป้าสุภัทรไม่เห็นด้วย เมื่อโอกาสมาถึง ท่านก็อยากให้เราเปิดหูเปิดหา เห็นโลกกว้างขึ้น…

ดังนั้น ทุกครั้งที่ถึงคิวของฉันที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศ ฉันก็จะเขียนโน้ตฝากงานให้คุณป้าช่วย โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

นึกคิดขึ้นมาทีไร ฉันขอกราบขอบพระคุณในน้ำใจอันประเสริฐของท่าน มิเคยลืม

 

……………………………………………………………

 

เช้าวันหนึ่ง คุณป้าสุภัทรกระซิบบอกพวกเรา “สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงอ่าน สกุลไทย

เนื่องจากคุณป้าทราบจากคุณข้าหลวงในพระองค์ท่านหนึ่ง

ยังความปลาบปลื้มมาสู่พวกเราคนทำหนังสือยิ่งนัก ทำให้เกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้  

ถึงกระนั้น พวกเรามิเคยกระจายข่าวนี้แก่ผู้ใด โดยเฉพาะคุณป้าสุภัทรผู้มีจริยวัตรอันถึงพร้อม ท่านรู้ดีว่าเป็นเรื่องมิบังควรที่จะนำไปคุยโอ้อวดแก่ใคร

พวกเราจึงเต็มตื้นชุ่มชื่นหัวใจกันเองภายใน

ฉันเข้าใจทีเดียวว่าเหตุใดคุณป้ารักษาคุณภาพมาตรฐาน สกุลไทย  มาโดยตลอด และนับวันมาตรฐานของคุณป้าสุภัทรยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แต่เฉพาะนวนิยาย ฉันเห็นจากการสร้างสรรค์คอลัมน์ต่างๆ รวมทั้งการเชิญนักเขียนคอลัมนิสต์มาเขียนให้แก่ สกุลไทย  คุณป้ามองทะลุ และคำนึงบริบทสังคมในช่วงเวลานั้น รวมทั้งมองไกลถึงอนาคตข้างหน้า

ท่านเป็นบรรณาธิการมืออาชีพผู้หนึ่งที่สลัดอารมณ์ส่วนตัวไว้ข้างหลัง ท่านคำนึงอารมณ์สังคมเป็นสำคัญ แล้วจึงนำ สกุลไทย เข้าไปเติมเต็มในส่วนนั้น หรืออีกนัยหนึ่ง หากสำรับ สกุลไทย ยังขาดรสอะไร ท่านต้องเลือกเฟ้นมือเขียนระดับคุณภาพ รู้แจ้งรู้จริงในสิ่งนั้น มาเติมรสชาติให้แก่ สกุลไทย เพื่อให้เกิดความเต็มอิ่มอย่างกลมกล่อมแก่ผู้อ่าน  ท่านไม่เคยเลือก ‘อะไรก็ได้’ เข้ามาในสำรับ สกุลไทย แม้แต่บรรทัดเดียว

คุณป้าสุภัทรเป็นคนทำหนังสือที่เข้าใจความต้องการของผู้อ่านอย่างถ่องแท้ และท่านยังมีความเป็นนักการตลาดตัวยง ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัด ครูส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศล้วนรับ สกุลไทย ไว้ที่โรงเรียนและที่บ้าน ก็เพราะเห็นว่า สกุลไทย เป็นศาสตร์และศิลป์ด้านสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและยังประโยชน์ต่อทั้งผู้สอนผู้เรียน

อีกทั้งคุณป้าให้ความสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นอันมาก ฉันกล้าพูดได้เต็มปากว่า ศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนงที่มีในประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดหกสิบกว่าปีของ สกุลไทย ได้มีส่วนช่วยภาครัฐส่งเสริมสนันสนุนเผยแพร่แก่สาธารณชนไปยังทั่วทุกภาคของประเทศมาแล้วแทบทั้งสิ้น

คอลัมน์ ‘ร่วมใจใช้ผ้าไทยฯ’ ซึ่งริเริ่มโดยคุณป้าสุภัทร ถือว่าท่านมองการณ์ไกลบวกการตลาดที่แหลมคม นับตั้งแต่ฉันเข้ามาทำงานใน สกุลไทย คอลัมน์นี้มีอยู่แล้ว กระแสผู้อ่านและกระแสจากแหล่งข่าวต่างๆ ล้วนตอบรับดีมากๆ หลายหน่วยงานของภาครัฐ กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ตลอดจนบริษัทธุรกิจเอกชน ต่างโทรกันเข้ามาจองคิว ‘หน้าผ้าไทย’ กันอย่างคึกคักล้นหลาม คิวยาวมากจริง ๆ ต้องรอคิวกันสองถึงสามเดือน กว่ากลุ่มผู้บริหารองค์กรนั้นๆ จะได้ปรากฏโฉมตนเองในชุดผ้าไหมไทยผ้าฝ้ายไทยอย่างสง่างาม เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรของตน

ถามว่าตรงส่วนนี้นิตยสาร สกุลไทย ได้อะไร คุณป้าสุภัทรมิได้มองเป็นเม็ดเงิน หากแต่ท่านเล็งเห็นถึงการต่อยอดของหนังสือ ท่านทำให้ สกุลไทย ที่ว่ากันว่าวางอยู่ตามร้านทำผม อยู่ห้องสมุดโรงเรียน และห้องสมุดต่างๆ ทั่วประเทศ หรืออยู่ในมือแม่บ้าน ได้เข้าไปวางอยู่บนโต๊ะทำงานของข้าราชการระดับสูง บุคคลผู้เป็นครีมของประเทศ ผู้นำของชาติ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี… ฯลฯ

 

…………………………………………………………

 

ฉันไม่เคยเห็นคุณป้าหาประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่การงาน ท่านมีแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

เหตุนี้กระมัง คุณป้าสุภัทรสามารถพา สกุลไทย มาถึงจุดศรัทธาของมหาชนคนอ่านด้วยยอดจำหน่ายสูงสุด ณ ช่วงเวลานั้น ความสำเร็จนี้เกิดจากความแยบคายทางความคิด สติปัญญาอันเฉียบแหลม และจรรยาบรรณในวิชาชีพ ภายใต้รอยยิ้มที่สดใสเป็นนิจ

บุคลิกภาพอันอ่อนโยนภายนอกของท่าน แฝงความเด็ดขาดไว้ข้างในอย่างน่าทึ่ง

ทุกคนที่ทำงาน สกุลไทย ต่างทราบดีว่า คุณสุภัทรไม่ใช่เจ้านายที่เข้าถึงยาก เก้าอี้หน้าโต๊ะคุณป้าว่างเสมอสำหรับทุกคน เพียงแต่อาจจะมีสักฝ่ายหนึ่งที่เข้าถึงคุณป้ายากเหลือเกิน

อยากให้ท่านผู้อ่านลองทายกันดูว่าคือฝ่ายใด?

หลายท่านคงทายถูก!  

ฝ่ายโฆษณาซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหาแหล่งเงินเข้าบริษัท สกุลไทย จะอยู่ได้หรือไม่ นอกจากแรงศรัทธาจากผู้อ่านแล้ว เม็ดเงินหน้าโฆษณาก็มีส่วนสำคัญยิ่งยวด แต่กลับไม่สามารถเจาะทะลุทะลวงอุดมการณ์การทำหนังสือของคุณป้าสุภัทรได้เลย

ตรงกันข้าม หากเรื่องใด งานใด กิจกรรมใด ไม่ว่าของหน่วยงานไหน ที่ก่อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม สังคม ประเทศชาติ สมควรได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญให้เป็นที่ประจักษ์ สกุลไทย ในฐานะสื่อสารมวลชนด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ยินดีเผยแพร่เรื่องนั้นๆ กิจกรรมนั้นๆ ออกไปสู่สายตาประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยปราศจากข้อแม้เงื่อนไขใดๆ

กล่าวคือ หน้าโฆษณา ก็อยู่ส่วนพื้นที่โฆษณา  คุณป้าสุภัทรไม่ยอมให้โฆษณารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่งานเขียนของ สกุลไทย โดยเด็ดขาด  ท่านเด็ดเดี่ยวเหลือเกินในเรื่องนี้ มิยอมให้ ‘ลูกค้าโฆษณา’ มาจับมือกอง บ.ก. เขียนเป็นอันขาด

แม้กระทั่งมาในยุคของคุณวราภรณ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ ก็เช่นกัน  คุณวราภรณ์ยึดมั่นหลักปณิธานเดียวกับคุณสุภัทร เธอเป็นบรรณาธิการบริหารที่ฝ่ายโฆษณาเข้าถึงยากไม่แพ้กัน เป็นต้นว่า งานกิจกรรมผักชีโรยหน้า หรือเปรียบดั่งตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่ว่าของภาครัฐหรือเอกชน คุณวราภรณ์ไม่สนองต่อฝ่ายโฆษณาเลยทั้งสิ้น กล่าวตรงไปตรงมาก็คือ อยากซื้อหน้าโฆษณาก็ซื้อไป แต่อย่าหวังกอง บ.ก. จะช่วยเชิดชูให้

ปณิธานดังกล่าวข้างต้น นับว่าฝ่ายโฆษณาทำงานลำบากไม่น้อย เนื่องเพราะต้องแข่งขัน มีลดแลกแจกแถม เช่นว่า แถมบทสัมภาษณ์ หรือแถมสกู๊ป หรือแม้แต่ยื่นข้อเสนอซื้อหน้าบทสัมภาษณ์  ซื้อหน้ารายงาน โจทย์เหล่านี้ไม่สามารถสร้างความหวั่นไหวให้แก่กอง บ.ก.

เมื่ออุปสงค์อุปทานไม่สอดคล้องต้องกัน ฝ่ายผู้หาโฆษณาจึงทำงานยากลำบากยิ่ง ขณะที่ความรักความศรัทธาของผู้อ่านที่มีต่อเรากลับมั่นคงแข็งแรงต่อเนื่องมายาวนานถึงหกทศวรรษเศษ

 

บทส่งท้าย

วันที่คุณป้าสุภัทรเข้ามาเคลียร์งานใน สกุลไทย ฉันไม่สะกิดใจเลยว่านั่นคือวันสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นต่อมาอีกสองปี ท่านไม่ได้เข้ามาที่ สกุลไทย อีกเลย แต่ยังคงทำงานอยู่ที่บ้านและที่โรงพยาบาล ตราบจนท่านสิ้นลมหายใจ

วันสุดท้ายที่ สกุลไทย วันนั้น… ช่วงเวลาประมาณเที่ยงกว่าๆ… ใครคนอื่นออกกองไปทำงานข้างนอกกันหมด

ท่านกล่าวกับฉันขึ้นมาว่า

“ป้ารัก สกุลไทย เหมือนลูก ป้าเหมือนเอาลูกคนอื่นมาเลี้ยง… วันหนึ่งป้าต้องคืนเขาไป…”

และอีกประโยคหนึ่งซึ่งฉันคิดว่าท่านกลั่นออกมาจากหัวใจ

“…บรรณาธิการก็เหมือนสะพาน ป้าเป็นสะพานให้นักเขียนเดินข้ามฝั่ง… ป้าพอใจแล้ว”

 

ฉันไม่สามารถกล่าวอะไรออกมาได้อีก นอกจากขอกราบคารวะคุณป้าสุภัทร สวัสดิรักษ์ ชั่วนิรันดร์

Don`t copy text!