กลม ๆ แบน ๆ

กลม ๆ แบน ๆ

โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม

Loading

ในการเขียนนวนิยาย นักวิจารณ์และนักวิชาการมักให้ความสำคัญกับการสร้างตัวละครให้ ‘กลม’  หมายถึงการสร้างตัวละครให้มีความเป็นมนุษย์ ให้มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย

ตัวละครแบบกลม (Round Character) ได้รับการยกย่องว่ามีความสมจริง ตรงกันข้ามกับตัวละครประเภทที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งอย่างชัดเจนด้านเดียวไม่เปลี่ยนแปร แบบที่เรียกว่าแบน (Flat หรือ Type Character) ซึ่งไม่เป็นที่โปรดปรานของนักวิจารณ์และนักวิชาการ

แต่นั่นคือทฤษฎีทางวรรณกรรม ซึ่งดิฉันต้องสารภาพว่าตลอดเวลาแห่งการทำงาน นับตั้งแต่ตัวละครตัวแรกออกมาสู่สายตาของผู้อ่านนิตยสาร ‘สกุลไทย’ ในเรื่องสั้นขนาดยาวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน คำว่ากลมหรือแบนไม่เคยมีอยู่ในใจเมื่อยามคิดสร้างตัวละครเลย

วันนี้จึงขอมาเล่าว่า ‘คนทำงาน’ อย่างดิฉันสร้างตัวละครขึ้นมาได้ด้วยหลักการใด ซึ่งต้องขอบอกว่านี่เป็นการแบ่งปัน… เล่า… ประสบการณ์ในการทำงานเท่านั้น

เล่าเพื่อเปิดอีกแง่มุมหนึ่งให้อ่านกันค่ะ เพราะนักเขียนแต่ละคนย่อมมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน แล้วยังแตกต่างจากมุมมองและการทำงานของนักวิจารณ์หรือนักวิชาการด้วย

หลักการที่ ๑ สร้างตัวละครให้ ‘ชัดเจน’ …ตัวละครยิ่งสำคัญเท่าไหร่ เราต้องเห็นเขา รู้จักเขาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เราต้องเห็นเขาทุกแง่ทุกมุมในใจของเรา ให้เห็นชัดเจนจนเหมือนจะยื่นมือออกไปจับต้องเนื้อตัวได้… สูงแค่ไหน ผิวขาว ผิวสองสี ตาโต ตาเฉียง ฟันเก ผมสั้น ผมยาว ฯลฯ นี่คือความชัดเจนทางกายภาพ

นอกจากนี้เราต้องรู้จักเขาให้ชัดเจนในเรื่องภูมิหลัง ลูกใคร หลานใคร พี่น้องกี่คน โคตรเหง้าเหล่าตระกูลเป็นอย่างไร รู้จักชัดเจนไปจนถึงนิสัยใจคอ ชอบรับประทานอะไร พูดแบบไหน มีความหลังฝังใจเรื่องอะไร มีความใฝ่ฝันแบบไหน ต้องรู้จักความเชื่อและระดับศีลธรรมจริยธรรมของเขาด้วย

รายละเอียดแบบนี้ยิ่งมากจะยิ่งทำให้ผู้อ่านพลอยเห็นเขาอย่างชัดเจนจนมีตัวตนไม่ใช่แค่จินตนาการ

หลักการที่ ๒ สร้างตัวละครให้ ‘ดึงดูด’ … ดึงดูดให้ผู้อ่านติดตาม ตัวละครนั้นจะเป็นคนนิสัยดี หรือเป็นคนร้ายกาจ จะครึ่งๆ กลางๆ จะแบนจะกลม จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ หรือยึดมั่นอยู่กับลักษณะเดิมของตัว ก็ได้ทั้งสิ้น ขอแต่เพียงตัวตนและลักษณะนิสัยของเขาต้องเป็นคนที่จะสามารถดึงดูดให้ผู้อ่านอยากติดตาม

ผู้อ่านจะติดตามตัวละครที่น่ารัก น่าสงสารด้วยการเอาใจช่วย จะติดตามตัวละครที่เก่งกาจมาดมั่นด้วยความรู้สึกว่าอีกสักครู่พวกเขาจะทำให้เราได้ทึ่งในพฤติกรรมและความคิดของเขา จะติดตามตัวละครริษยาเลวทรามด้วยการอยากรอดูว่าเขาจะชั่วไปถึงไหนและได้รับผลกรรมเมื่อไร

เลือกแค่ด้านใดด้านหนึ่งของพวกเขา แม้เขาจะมีด้านอื่นๆ ให้เขียนถึงด้วย ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนลงละเอียดทุกด้านมากจนเกินไป การเลือกให้ถูกต้องและให้น้ำหนักที่เหมาะสมจะสร้างแรงดึงดูดได้

หลักการที่ ๓ สร้างตัวละครให้ ‘ผลักดัน’… ตัวละครต้องผลักดันเรื่องให้เป็นไปในทิศทางที่เราต้องการ ตัวละครต้องกลมกลืนและมีความหมายกับเรื่อง ตัวละครไม่ว่าจะกลมหรือแบน หากแปลกแยก ไม่มีผลกับเรื่องโดยรวมจะกลายเป็นส่วนเกินและพาให้นวนิยายทั้งเรื่องพังพาบลงไปได้ง่ายๆ

ขอยกตัวอย่างตัวละครอย่างทราย ในเรื่อง ทรายสีเพลิง และแม่วันจากเรื่อง ในวารวัน ทั้งคู่ล้วนพาเรื่องให้ก้าวไปข้างหน้าได้ คนแรกผลักดันเรื่องทั้งเรื่องและตัวละครร่วมเรื่องของตัวไปได้ด้วย ความงาม เสน่ห์ทางเพศและความเป็นคนแรงร้ายในอารมณ์แต่ก็มีความอ่อนโยนในหัวใจแทรกซ้อนอยู่ ขณะที่คนหลังก็พาเรื่องไปได้ด้วยการเผชิญหน้ากับเคราะห์ในชีวิต ด้วยความสดใส ซื่อตรง ทรหดอดทน อารมณ์ขัน และการเชื่อมั่นในความดี

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวละครทั้งคู่ ทำและคิดในนวนิยายทั้งสองเรื่อง… ไม่ใช่เพื่อความกลมความแบน แต่เพื่อผลักดันพาเรื่องราวของตัวเองให้เป็นไปจนสุดทาง

ตัวละครคือเสาหลักเสาหนึ่งที่ค้ำเรื่องทั้งเรื่องไว้… วิธีการสร้างเขาขึ้นมาไม่ยากเลย แค่เห็นเขาเป็นมนุษย์ เขียนเขาให้เป็นมนุษย์ แต่ไม่จำเป็นต้องเขียนทุกด้านของความเป็นมนุษย์นั้น

เขียนด้านที่พวกเขาจะ ‘ดึงดูด’ ผู้อ่าน ‘ผลักดัน’ เรื่องให้ก้าวไป และเขียนพวกเขาให้ ‘ชัดเจน’ ก็เพียงพอแล้ว

 

Don`t copy text!