เมื่อคิดสร้างโยงใย ตอนที่ ๒ “ไร้แผน”
โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม
“เมื่อคิดสร้างโยงใย” ตอนที่ ๑ ได้เล่าที่มาไปแล้วว่า การเขียนนวนิยายที่ทุกเรื่องมีเครือข่ายโยงใยถึงกัน ด้วยเหตุการณ์บ้างด้วยตัวละครบ้าง ของ “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” มาจากจุดประสงค์เล็ก ๆ เพียงแค่สองประการเท่านั้น คือ
๑. ต้องการส่งข่าวแก่ผู้อ่านว่าตัวละครที่ท่านเคยรักและติดตามนั้นมีความเป็นอยู่และบทสรุปอย่างไร
๒. เอาตัวละครที่มีอยู่แล้วในเรื่องเก่า ๆ มาใช้งานให้ได้ประโยชน์สูงสุด แม้จะมีที่มาเพียงเท่านี้ แต่ความคิดของนักเขียนคือความคิดที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้การสร้างเครือข่ายโยงใยของตัวละครและเหตุการณ์แตกแขนงงอกงามออกไปจากจุดเล็กๆ เมื่อเริ่มต้นอีกไกล…
ครั้งนี้จึงขอเล่าถึงการสร้างเรื่องและตัวละครให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยที่ไม่ได้คิดวางแผนไว้ตั้งแต่แรกนะคะ
วิธีการนี้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะงอกงามออกมาเมื่อเขียนถึงตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องหนึ่งแล้วเกิดความรู้สึกว่าคุณสมบัติของเขาลึกซึ้งและซับซ้อนเกินกว่าที่จะจบลงในเรื่องเดียว หรือเขียนถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งแล้วเกิดความคิดว่าเรื่องนี้ น่าจะมีที่มาที่ไปที่ลึกล้ำกว้างขวางกว่าแค่เท่าที่ปรากฏในช่วงนี้
เช่น น้าโชค หรือนำโชค ซึ่งมีบทบาทครั้งแรกในเรื่อง ระบำดาว …เขาเป็นคนขวางโลก ปากร้ายแต่มีความคิดลึกซึ้งและซื่อตรงอย่างยิ่ง คนคนนี้ควรจะต้องมีเบื้องหลังที่รุนแรงสะเทือนอารมณ์ จึงถูกหยิบมาเป็นตัวเอกเพื่ออธิบายความเป็นมาของบุคลิกและความคิดของเขาในเรื่องดอกไม้ในป่าหนาว เพราะการจะอธิบายถึงความเป็นมาของน้าโชคในเรื่อง ระบำดาว จะทำให้ประเด็นความคิดที่ต้องการจะนำเสนอใน ระบำดาว เบี่ยงเบนไป โครงสร้างของเรื่องก็จะไปป่องออกตรงเรื่องของน้าโชค ซึ่งจะมีน้ำหนักมากจนถ่วงพล็อตของ ระบำดาว ทำให้เสียรูปไปได้
หรือคุณพัทธ์ที่เคยเป็นผู้ร้ายผู้ดี มีบทแค่ไม่กี่บทในตอนท้ายๆ ของเรื่อง ดอกไม้ในป่าหนาว เช่นกัน เขามาเป็นพระเอกในเรื่อง ใต้ร่มไม้เลื้อย ได้ก็ด้วยแนวคิดนี้ และด้วยแนวความคิดที่ว่า คนเรานั้นต้องมีหลายแง่และหลายมุม สุดแต่ว่าเราจะพลิกแง่ใดและมุมไหนให้ใครมองเท่านั้นเอง… จากการเป็นผู้ร้ายผู้ดีที่ทรงอิทธิพลมากมาย แม้จะมีบทบาทอยู่เพียงแค่ไม่กี่บทในเรื่อง ดอกไม้ในป่าหนาว ความโดดเด่นของบุคลิกและความคิดของเขาก็ทำให้ดิฉันต้องแยกเขาออกมาเขียนเรื่อง ใต้ร่มไม้เลื้อย เพื่อจะเปิดชีวิต คลี่ความเป็นมาและเงื่อนปมในชีวิตของเขาอย่างละเอียดที่นี่ ซึ่งตอนที่เขียน ดอกไม้ในป่าหนาว และคุณพัทธ์ออกมามีบทบาท ดิฉันไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าเลยว่าจะเขียนเรื่องของเขา
บุคคลิก ความคิด จิตใจเด็ดขาดกว้างขวาง ความกล้าได้กล้าเสียและกล้าฉกฉวย ของคุณพัทธ์ ในเรื่องดอกไม้ในป่าหนาว ทำให้เกิดความคิดว่า คนคนนี้ต้องมีความเป็นมาและเบื้องหลังที่ลึกซึ้ง ซับซ้อน และโดยธรรมชาติของคนเราไม่ว่าจะแข็งแกร่งสักแค่ไหน ย่อมต้องมีจุดอ่อน เป็นจุดที่จี้เข้าไปแล้วเขาต้องแพ้พ่าย… คนอย่างคุณพัทธ์มีความเป็นมาและจุดอ่อนอยู่ที่ไหน? เป็นเรื่องที่น่าค้นหาและเรียนรู้… แต่เช่นเดียวกับเรื่องของน้าโชคใน ระบำดาว… ถ้าดิฉันเขียนถึงเขาอย่างละเอียดในเรื่อง ดอกไม้ในป่าหนาว ก็จะทำให้โครงสร้างของเรื่อง ดอกไม้ในป่าหนาว เสียไป เพราะ ดอกไม้ในป่าหนาว มีประเด็นสำคัญที่ต้องค้นหามากพออยู่แล้ว จึงตัดสินใจเขียนเรื่อง ใต้ร่มไม้เลื้อย เป็นโยงใยที่งอกเพิ่มออกมาเพื่อเล่าเรื่องของคุณพัทธ์ และ ‘จุดอ่อน’ ของเขา ซึ่งคือหญิงสาวที่มีชื่อว่า อรพิม
และเช่นกัน เมื่อเขียนเรื่อง ใต้ร่มไม้เลื้อย เล่าความเป็นมาและความสัมพันธ์ของหนุ่มสาว… ‘เพื่อน’ ที่เติบโตมาด้วยกันอย่างพัทธ์และอรพิม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครึ่งเรื่องหลังก็สร้างเด็กน้อยที่ชื่อพิมลพัทธ์ขึ้นมา และก็ไม่ต่างจากตัวอย่างข้างต้น ดิฉันมองเห็นว่า เรื่องนี้ ‘ต่อ’ ได้ เพราะพิมลพัทธ์ต้องเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีปมมากมายอยู่ในใจแน่นอน แต่การจะแก้ ‘ปม’ ในใจของพิมลพัทธ์ใน ใต้ร่มไม้เลื้อย จะทำให้โครงสร้างและจุดมุ่งหมายโดยรวมของเรื่อง ใต้ร่มไม้เลื้อย รวนไปทั้งหมด ฉะนั้น สร้างเรื่องใหม่แล้วแยกมาแก้ปมนี้ที่เรื่องใหม่จะดีกว่า… เรื่อง “เรือนศิรา” จึงเกิดขึ้นในวินาทีนั้นโดยที่ไม่ได้มีแผนเตรียมไว้ล่วงหน้า
นอกจากบุคลิกและบทบาทของตัวละครจะจุดประกายแล้ว สถานที่และสิ่งของก็ทำให้เกิด “งานงอก” เป็นเรื่องใหม่อีกเรื่องที่มีโยงใยถึงกันได้เช่นกันค่ะ เช่น ขณะที่ดิฉันเขียนเรื่อง เรือนศิรา บรรยายถึงฉากพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ได้เขียนถึงข้าวของเปี่ยมคุณค่าที่สะสมอยู่ในเรือนริมบึง เขียนถึงความเป็นตระกูลใหญ่ของ ศิขริน ศุษิระ มากเข้า ความคิดก็งอกออกมาว่า ตระกูลใหญ่อย่างนี้ น่ามีเรื่องราวบางอย่างแอบแฝง และเราสามารถเล่าได้อย่างยืดยาวอีกเรื่อง ดิฉันจึงเขียนซิ่นไหมปักเป็นรูปแมลงปอให้พิมลพัทธ์นุ่ง เขียนฉากเจดีย์สีขาวในดงไม้สีชมพูทิ้งไว้ เพื่อรองรับเรื่อง “รากนครา”
ทั้งหมดนี้งอกออกมาเป็นโยงใยมากมาย ได้เป็นเรื่องราวยืดยาวก็จริง แต่นี่คือการเขียนสร้างโยงใยอย่าง “ไร้แผน” ค่ะ
อย่างไรก็ตาม ถึงการสร้างโยงใยแบบนี้จะไร้แผน ไม่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า สุดแต่ว่าเขียนไปแล้วจะไปสะดุดที่สถานที่ สิ่งของ บทบาทและบุคลิกของใคร แต่การที่ไร้แผนนี้ยิ่งเป็นความรับผิดชอบให้ผู้เขียนต้องคิดละเอียด คิดระมัดระวังอุดรูรั่วให้รอบด้านและทุกย่างก้าว โดยเฉพาะเรื่องช่วงเวลาในเรื่องแต่ละเรื่อง รวมทั้งช่วงอายุของตัวละครให้สอดคล้องถูกต้องที่สุดด้วย
(ติดตามอ่านตอนที่ ๓ ของ “เมื่อคิดสร้างโยงใย” ชื่อตอน “วางแผน” ได้ที่นี่)