คุยกับครูกิฟท์ ถึงเสน่ห์งาน craft กับช่วงเวลาแสนเพลิดเพลิน
โดย : YVP.T
ทำความรู้จักครูกิฟท์ เจ้าของคอลัมน์ AnowlCraft และรู้เรื่องงานคราฟต์ในมุมมองที่ต่างออกไป เพราะงานคราฟต์ไม่ต้องมีฝีมือก็ทำได้…ชื่อ ‘ครูกิฟท์-กิติยา คลังเพ็ชร์’ เริ่มต้นเป็นที่รู้จักจากการทำหนังสือกับสำนักพิมพ์บ้านและสวน เมื่อ 15 ปีก่อน พร้อมๆ กับการก่อตั้ง ‘Country Hobby Studio’ เปิดสอนเพนต์ และเดคูพาจ สไตล์คันทรี
“ครูกิฟท์ทำงานคราฟต์มาตั้งแต่จำความได้ค่ะ เพราะคุณแม่มีโรงเรียนสอนตัดเสื้อก็จะมีวัตถุดิบเยอะเลย บวกกับมีนิตยสาร สกุลไทย ขวัญเรือน กุลสตรี ทุกฉบับ ซึ่งนิตยสารเหล่านี้จะมีการสอนทำ มีแพตเทิร์นแทรกอยู่ในเล่ม ส่วนคุณพ่อก็เป็นครูสอนช่างก่อสร้าง ทำให้เราได้หัดวาดรูปบ้านตามแบบที่พ่อใช้สอนนักเรียน มันเลยเหมือนเป็นการปลูกฝังความชอบในงานศิลปะให้กับเรามาเรื่อยๆ ซึ่งพอสนใจด้านศิลปะมากๆ ก็เลยตัดสินใจเรียนด้านออกแบบตกแต่ง และก็สามารถสอบเข้าที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้”
ในระหว่างที่เรียนอยู่ ครูกิฟท์ทำของไปฝากขายตามร้านตกแต่งบ้าน แล้วยังหุ้นกับเพื่อนเปิดร้านของของทำมือที่สวนจตุจักร แถมสินค้าที่ทำขายก็ได้รับความสนใจมากมายจนได้ลงหนังสือหลายเล่มอยู่เหมือนกัน แต่เพราะยิ่งเรียนในชั้นปีที่สูงขึ้น งานที่ต้องทำส่งอาจารย์มีมากขึ้น จึงต้องหยุดทำร้านไปก่อน คงเหลือแต่ของที่ฝากขายตามร้านขายของแต่งบ้าน
“พอเรียนจบไปเรียนต่อ ก็ทำของใช้เองค่ะ เพราะที่เมืองนอกของทุกอย่างราคาแพงมาก แต่ของแฮนด์เมดก็น่ารักมากเช่นกัน เราก็เลยดูแบบแล้วกลับมาทำใช้เอง จนเรียนจบกลับมาช่วยงานธุรกิจของครอบครัวซึ่งเปิดเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ที่จังหวัดสระบุรี ก็เปิดมุมขายของแต่งบ้านด้วย และมีของขวัญพิเศษให้กับลูกค้า อย่างถ้าเรารู้ว่าลูกค้ากำลังตกแต่งห้องหอ ก็จะขอการ์ดเขามาตกแต่งใส่กรอบมอบให้เป็นของขวัญ เค้าก็เอาไปตั้งโชว์ตรงหน้างาน… โอย นี่แค่ประสบการณ์งานคราฟต์สมัยเพิ่งเรียนจบ ยังไม่แต่งงาน มีลูกเลยนะคะ เอาเป็นว่าทำงานคราฟต์มาตลอดชีวิตค่ะ เป็นอาชีพบ้าง ทำสนุกบ้างแล้วแต่จังหวะของชีวิต
“แต่ตอนนี้ทำอาชีพอื่นที่มีรายได้มั่นคงดีกว่า แล้วทำงานคราฟต์เป็นงานอดิเรกทำให้รู้สึกสนุกกว่าเมื่อก่อนเยอะ อาจจะเพราะเราติสต์มากไปหน่อย เจอออเดอร์อะไรซ้ำๆ ก็ไม่อยากทำแล้ว… การสอน การทำหนังสือ และการได้ทำ ‘อ่านเอาคร้าบ’ จึงตอบโจทย์ที่สุด ได้คิดอะไรใหม่ๆ ไม่จำเจ สนุกมากค่ะ”
งานคราฟต์ไม่ใช่งานฝีมือ?
ครูกิฟท์บอกว่า ถ้าเรียกเป็นคำไทย งานคราฟต์น่าจะตรงกับคำว่า ‘งานประดิษฐ์’ ไม่ใช่ ‘งานฝีมือ’ เพราะเราแค่ประดิษฐ์คิดทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่ต้องการฝีมือมากมาย เน้นความคิดมากกว่า ซึ่งตัวครูกิฟท์เองเก่งงานประดิษฐ์ แต่งานฝีมือถือว่าย่ำแย่
“สมัยเรียนวิชาการฝีมือ ถ้าครั้งไหนให้ประดิษฐ์สิ่งของจากเศษวัสดุเหลือใช้ ด.ญ. กิติยาจะได้ 10 เต็ม แต่ถ้างานฝีมือเช่นถักโครเชต์ ได้ 6 คะแนน เพราะครูเมตตาในฐานะที่เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งวาดรูป ถ้าครูไม่เมตตาคงสอบตกแน่ๆ ค่ะ ดังนั้นจึงขอยืนยันว่าคนละทักษะกัน ใครไม่เก่งงานเย็บปักถักร้อยก็สามารถทำงานคราฟต์ได้ แต่ใครที่เก่งอยู่แล้วก็ยิ่งสบายเลยค่ะ”
แล้วงาน Craft สำหรับครูกิฟท์คืออะไรกันล่ะ
“ถ้ารวมทั้งหมด คราฟต์คืองานหัตถกรรม คืออะไรที่ทำมือ ต้องใช้ความคิดและทักษะบางอย่าง มีหลายอย่างที่เป็นคำติดปาก เช่น D.I.Y คำนี้ คือการทำของต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยเน้นการใช้งาน อาจไม่ต้องสวย หรือมีสไตล์ซึ่งก็ถือเป็นงานคราฟต์อีกแขนง แต่ในงานคราฟท์ของครูกิฟท์เป็นงานประดิดประดอยที่มีความอาร์ต คือมีความงามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยค่ะ”
เงินเท่าไหร่ถึงจะทำงานคราฟต์ได้
มีหลายคนตั้งข้อสังเกต (รวมถึงสงสัย) ว่า เวลาจะทำงานประดิษฐ์ หรือทำงานคราฟต์ใดๆ เราต้องมีต้นทุนมากหรือน้อย แล้วต้นทุนที่ว่า คืออะไรบ้าง เอ… ฮูกก็สงสัยเหมือนกันนะ
“ต้นทุนอย่างเดียวที่ ‘ต้องมี’ (เน้นเสียงเลยนะคะ 555) คือ ‘ใจ’ ที่อยากทำค่ะ อย่างอื่นไม่ต้องเยอะ อุปกรณ์ไม่มี ก็ใช้เท่าที่มี เอาวัสดุเหลือใช้มาทำอะไรได้อีกตั้งมากมาย ฝีมือไม่ดี ก็ฝึกได้ ไอเดียไม่ดี มีตัวอย่างให้ดูเยอะแยะไป แต่ถ้าไม่มีใจ ยังไงก็คงรั้งเธอไม่อยู่… (เอ๊ะ ใช่มั้ยคะครู 555)
“ถ้ามีเงินทุนซื้อเครื่องไม้เครื่องมือก็ทำให้สนุกไปอีกขั้นค่ะ อันนี้เป็นความชอบส่วนตัว อย่างครูกิฟท์ไม่ซื้อแหวน ซื้อสร้อย ไม่ใช้กระเป๋าแบรนด์เนม ไม่ซื้อเครื่องสำอาง เอาเงินมาซื้อเครื่องตัดกระดาษ หรือตรายางดีกว่า ลิปสติกแท่งนึง ซื้อกระดาษสแครปบุ๊กได้ทั้งเซต ดังนั้น จะใช้เงินมากน้อยแค่ไหน จึงอยู่ที่ว่าให้ความสําคัญกับอะไรมากกว่ากันค่ะ”
คนเมืองยุคนี้ ทำงานคราฟต์แล้วดีนะ
แม้จะอยู่ในสภาพสังคมที่ทุกอย่างเร่งรัดเร่งรับไปหมด แต่เชื่อเถอะค่ะว่า การที่คุณเจียดเวลามาให้กับงานคราฟต์เป็นการเติมพลังชีวิตได้อีกทางอย่างไม่รู้ตัว นั่นเพราะว่า…
“งานคราฟต์ช่วยสร้างสมาธิค่ะ คุณไม่มีทางทำงานคราฟต์ได้โดยไม่มีใจจดจ่อ ซึ่งในช่วงที่ใจกำลังจดจ่อความเครียดจะหายไป ความสุขใจจะเข้ามาแทนที่ และบางคนอาจไปได้ไกลกว่าการมีสมาธิ คือภาวนาร่วมไปด้วยอย่าง คอยดูใจ คอยดูกาย มือขยับตัดกระดาษ ก็ให้รู้เนื้อรู้ตัวไว้ ซึ่งได้ความเบิกบานใจกลับมา แถมได้หน้าใสเป็นผลพลอยด้วยนะคะ อยากรู้ว่าจริงไหม ต้องลองเอง
“อันดับสอง คือได้คุณค่าทางใจ คุณค่าของงานแฮนด์เมดนั้นตีเป็นมูลค่าไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้เป็นของขวัญ เพราะอย่างน้อยความใส่ใจที่ผู้ให้มีต่อผู้รับก็ประเมินค่าไม่ได้แล้วนะคะ
“อันดับสาม ประหยัด ไม่ใช่แค่ว่าทำเองถูกกว่าไปซื้อนะคะ แต่ประเด็นความประหยัดเนี่ย ครูกิฟท์จะยกตัวอย่างชัดๆ ให้ดูสักอย่าง เช่น ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เราใช้เวลาทำงานคราฟต์อยู่กับบ้านแทนการออกไปข้างนอก เราประหยัดได้ทั้งค่าเดินทาง ค่ากิน ค่ากาแฟ ไหนจะของไม่จำเป็น แต่อดใจซื้อเพราะราคาเซลไม่ได้ เห็นไหมละ นั่งทำตามโปรเจกต์ต่างๆ ใน ‘อ่านเอาคร้าบ’ ดีกว่า ประหยัดได้ตั้งเยอะ”
สิ่งที่ครูกิฟท์ AnowlCraft อยากบอก
“เริ่มทำเลยค่ะ อย่าคิดมาก ขั้นแรกทำเหมือนในแบบไปก่อน อย่างสมัยคุณแม่คุณยายทำการฝีมือในนิตยสาร ในหนังสือบอกว่าลูกโซ่ 8 โซ่ แล้วจบแถว ขึ้นแถวใหม่ ก็ทำตามนั้นไม่มีอิดออด จะทำงานคราฟต์ก็เหมือนกัน ถ้ายังงงๆ ก็ทำตามไปก่อนค่ะ พอกล้ามเนื้อนักประดิดประดอยแข็งแรงขึ้นแล้ว กล้ามเนื้อส่วนช่างคิดช่างออกแบบก็จะแข็งแรงตามมา ซึ่งถ้าชอบและอยากทำ ให้จัดเวลาค่ะ เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในระยะเอื้อมถึง พออยากทำปุ๊บ เปิดกล่องอุปกรณ์มามีทุกอย่างพร้อม จะทำให้เรามีกำลังใจทำต่อ อาจมีมุมน้อยๆ ไว้ทำงานคราฟต์ของเรา เวลาทำค้างไว้ก็ใส่ตู้ ใส่กล่องเก็บ พอว่างก็มาทำต่อค่ะ
“และคำแนะนำข้อสุดท้าย ถ้าไม่ได้เริ่มจริงๆ ก็อ่าน ‘อ่านเอาคร้าบ’ ไปพลางๆ ก่อน แล้วจินตนาการว่าจะได้ทำตามนั้น อ่านเลยว่าใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง เจออะไรที่น่าจะใช้ได้ก็เก็บไว้ก่อน พอจังหวะชีวิตได้เราจะมีโอกาสได้ลงมือทำแน่นอนค่ะ… ถ้าอยากให้โอกาสมาเร็วกว่านั้นต้องอ่านแล้วแชร์ด้วยนะคะ ”
ติดตามคอลัมน์ “AnowlCraft ได้ ‘ที่นี่‘ ค่ะ”