ทะเลน้อย@พัทลุง…แดนสนธยาในจังหวัดที่ถูกลืม

ทะเลน้อย@พัทลุง…แดนสนธยาในจังหวัดที่ถูกลืม

โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์ 

 

4 ปีก่อนเคยนั่งทบทวนว่ามีจังหวัดอะไรบ้างที่ไม่เคยไป? คำตอบคือ 3 จังหวัด ช่วงกลางปี 2558 เพื่อนมัธยมปลายนัดบินลงใต้ไปสตูลและนั่งเรือไปนอนเกาะหลีเป๊ะและข้ามชายแดนไปจอร์ชทาวน์ (ปีนัง) พอขึ้นปี 2559 ออกพรรษาตั้งใจว่าต้องไปนั่งดูบั้งไฟพญานาคที่รัตนบุรี จ.บึงกาฬ ให้ได้ก็… สมใจ

ปีถัดมาจึงเหลือ ‘พัทลุง’ เป็นจังหวัดสุดท้าย เพื่อนอีกกลุ่มอยากไป ก็เลยอาสาจัดโปรแกรมตอบสนองตัณหาทันที หลังรับกระเป๋าจากสายพานสนามบินหาดใหญ่ก็ขึ้นรถตู้เช่าดิ่งตรงไปรองท้องมะตะบะ โรตี ข้าวยำ ที่ครัวมุสลิมอันซิส แวะชิมขนมเปี๊ยะกุหลาบโกไข่ ตามโพย แล้วให้ GPS นำทางลงไปไล่ตีโพนของพัทลุงทั่วเมืองทั้ง 6-7 จุดกับกราบไหว้พระคู่บ้านคู่เมืองที่วัดถ้ำคูหาสวรรค์ พระอารามหลวงแห่งแรกในจังหวัดพัทลุง ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ และพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามผนัง ด้านหน้าผนังถ้ำมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์ของเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ปรากฏอยู่ ทั้ง ร.5, ร.7, ร.9 และพระราชินี บนแผ่นหิน… ดูขลังดีจัง แล้ววนไปจอดตีนภูเขาอกทะลุ สัญลักษณ์ประจำจังหวัดพัทลุง ที่มีความสูงประมาณ 250 เมตร มีลักษณะเป็นเขาหินปูน บริเวณตรงกลางมีช่องขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร สามารถมองลอดทะลุยอดภูเขา เห็นบรรยากาศของเมืองพัทลุงได้อย่างชัดเจน

 

ต้องเดินเท้าไต่ขึ้นบนบันไดคอนกรีต 1,066 ขั้น เป็นจุดชมวิวที่ ‘ต้องไป’ เสียดายขาดการจัดการการดูแล ความสะอาด ทั้งขยะ ใบไม้ เกลื่อนพื้นที่ขึ้นลง และต้นไม้รกบดบังวิวทิวทัศน์ บังลมด้วย เดินไปก็ยังนึกถึงความอันตรายที่น่าจะสุ่มเสี่ยงต่อคนชรา เด็ก และสุภาพสตรีได้ เที่ยวไปบ่นไปนะครับ แล้ววนรอบตัวตลาดเมืองพัทลุงจนหนำใจ

บ่ายๆขับรถออกจากเมืองไปที่ ต.ศรีปากประ และ ต.ลำปำ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ไปย่ำหาดริมทะเลน้อยและตรงไปลากูนรีสอร์ตใหม่เอี่ยม ริมทะเลน้อย ที่มีความสมบูรณ์ในระบบนิเวศน์และป่าพรุแห่งเดียวของเมืองไทย ที่นี่ใครชอบธรรมชาติ รักทะเลสาบ ชอบดูนก ดูปลา และควายน้ำ กับวิถีชีวิตชาวบ้าน จะได้สัมผัสกันอย่างเต็มอิ่มตา ไม่ผิดหวังเลย ขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าทะเลสาบสงขลา แต่ทะเลน้อยถือเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลาทางภูมิศาสตร์ แนะนำช่วง 4-5 โมงเย็น แดดอ่อนๆ ควรขับรถขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์บนสะพานเอกชัย สะพานปูนคอนกรีตเสริมเหล็กสีขาว 2 เลน (ชื่อทางการว่า สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550) ชาวบ้านมักเรียกกันว่า สะพานเอกชัย หรือ สะพานไประโนด เริ่มจากทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ไปสู่ อ.ระโนด จ.สงขลา รวมระยะทาง 14 กิโลเมตร น่าจะเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีจุดชมวิวเป็นระยะๆ สามารถชมความงามทั้งฝั่งทะเลสาบสงขลา และฝั่งทะเลน้อยได้วิวสวยงามที่แปลกตาไม่สามารถหาที่ไหนได้อีก มองไปซ้ายขวาพานอรามา สุดขอบฟ้า ขอบน้ำ สวยงามในยามโพล้เพล้ของแสงอาทิตย์ตกดิน ชอบกันแน่นอน ไปหน้าไหนฤดูไหนก็ไม่ร้อน ลมพัดเอื่อยอ่อนสลับกรรโชก ชื่นใจ

จะท่อง ‘ทะเลน้อย’ ให้ถึงแก่นอย่างแท้จริง ควรมานอนค้าง 1 คืน แล้วนั่งเรือหางยาวไปชมวิวทิวทัศน์ ตอนเช้ามืด 6 โมง เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงหลากหลายชีวิตในจังหวัดพัทลุง

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งสัตว์ป่า สัตว์น้ำ พรรณพืช โดยเฉพาะนกสายพันธุ์ต่างๆ ทำให้พื้นที่ทะเลน้อยได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ ‘แรมซาร์ ไซด์’ (Ramsar Site) แห่งแรกของไทย

มีทัศนียภาพที่งดงาม ได้เห็นวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านที่ออกทำมาหากินกันตั้งแต่เช้าตรู่ ไฮไลต์สำคัญของการท่องเที่ยวทะเลน้อยคือ ‘ทะเลบัวแดง’ ที่ออกดอกสีแดงสดบานสะพรั่งเต็มท้องน้ำ ช่วงสายสักนิดดอกบัวยังบานไม่หุบ ถ่ายรูปออกมาสวยเลย สีแดงชมพูตัดกับผืนน้ำได้ชัดเจน

และดูฝูงเหล่านกหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพมาจากที่อื่นตามฤดูกาล เช่นที่คุ้นตาพอจำชื่อได้ นกกระยาง นกกระสา นางนวล ฯลฯ และที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของทะเลน้อยคือ ‘ควายน้ำ’ ที่มีเป็นฝูงหากินอย่างอิสระในพื้นที่ทะเลน้อย ควายเหล่านี้ก็คือควายบ้านที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้โดยปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ สามารถปรับตัวให้เข้ากับฤดูกาลต่างๆ ในช่วงที่น้ำในทะเลน้อยลดต่ำเห็นสันดอนโผล่พ้นน้ำ เจ้าควายน้ำก็จะขึ้นมาเล็มกินหญ้าบนบก แต่ถ้าเป็นหน้าน้ำที่น้ำท่วมแหล่งหากิน เจ้าควายน้ำเหล่านี้ก็จะปรับตัวมากินพืชน้ำต่างๆ แทน จนเป็นที่มาของชื่อ ‘ควายน้ำ’ นั่นเอง

นอกจากพันธุ์สัตว์ต่างๆ ในทะเลน้อย ความหลากหลายของพันธุ์พืชก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ทั้ง ผักตบชวา จอก แหน สาหร่ายชนิดต่างๆ กก และต้นเสม็ดที่ยืนต้นในพื้นบก

 

ทะเลน้อยยังเป็นแหล่งกำเนิดของพืชพันธุ์สำคัญคือ ‘กระจูด’ ที่นำมาใช้ในงานจักสาน ในพื้นที่ใกล้เคียงกับทะเลน้อยแห่งนี้มีหลากหลายชุมชนที่นำ ‘กระจูด’ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ… ยินดีกับชุมชนรอบทะเลน้อย สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ หล่อเลี้ยงชีพได้ ทั้งรีสอร์ต โฮมสเตย์ ร้านอาหาร เรือหางยาว รถรับจ้าง ขายผลิตภัณฑ์ในตลาดนัด ผัก ผลไม้ ปู ปลา หอย อาหารสดจากสัตว์น้ำและแปรรูปตากแห้ง

ทะเลน้อย หลังการล่องเรือดูแสงแรก อิ่มตากับสีสันสดใส อิ่มใจกับการฟอกปอดอย่างเต็มที่ คือสถานที่ที่ควรไปเช็กอิน แวะค้างแรม เยี่ยมเยียนมากที่สุดในปีนี้ แต่ก็น่าประหลาดใจที่คนไทย 100 คนไม่รู้จักพัทลุง ถึง 95 คนก็ว่าได้ ทริปนี้คุ้มค่าจริงๆ ที่ได้รู้จัก ‘ทะเลน้อยและพัทลุง’ จังหวัดสุดท้ายที่รอคอยมานานแสนนาน…

Don`t copy text!